Issue 30

สิ่งแวดล้อมเหี่ยวเฉา? การประท้วงล่าสุดที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำกับการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม (ที่ขาดหายไป) ในประเทศไทย

ย่ำค่ำวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน ประชาชนจำนวนมหาศาลมาชุมนุมกันบนท้องถนนเพื่อประท้วงรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้การครอบงำของกองทัพ  การประท้วงครั้งนี้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยและนักเรียนมัธยมเป็นแกนนำ โดยได้รับการสนับสนุนจากศิลปิน แรปเปอร์ นักแสดงตลก นักเขียน นักวาดการ์ตูนและนักร้อง รวมถึงพนักงานบริษัท ฟรีแลนซ์หนุ่มสาว แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและผู้ค้ารายย่อย นักวิชาการ ตลอดจนอดีตคนเสื้อแดงจากภาคอีสาน  บนเวทีใหญ่มีการแสดงคึกคักและการปราศรัยของนักกิจกรรมเยาวชน  ส่วนบนถนนที่ถูกผู้ชุมนุมปิดการจราจรนั้น ยิ่งคับคั่งไปด้วยกิจกรรมหลากหลายและสร้างสรรค์มากกว่าบนเวทีเสียอีก  ข้อเรียกร้องมิใช่มีเพียงแค่ประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังมีการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมต่างๆ  ประเด็นในชีวิตประจำวันและอนาคตของประเทศ การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการแนวร่วม “ประชาชนปลดแอก” ครั้งนี้ ถือเป็นหมุดหมายหนึ่งในการทำความเข้าใจการเมืองร่วมสมัยของประเทศไทย  มันทำให้ย้อนรำลึกถึงช่วงทศวรรษ 2530 เมื่อการประท้วงตามท้องถนนกลายเป็นฉากทัศน์ทางการเมืองอันโดดเด่น การชุมนุมประท้วงที่ผุดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในใจกลางกรุงเทพ ตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียน รวมทั้งตามพื้นที่สาธารณะในหลายจังหวัดทั่วประเทศ บ่งบอกให้รู้ว่าขบวนการสังคมกลับมามีบทบาทในการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเพื่อความก้าวหน้าของประเทศอีกครั้งท่ามกลางภาวะที่ระบอบประชาธิปไตยถอยหลังตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา […]

Issue 30

การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมและลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา: การฟื้นฟูคลองภายใต้รัฐบาลทหารในประเทศไทย

อุทกภัยเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย  น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดเกือบทุกปี  เพียงแค่ฝนตกตามปรกติสักหนึ่งชั่วโมงก็ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพและในย่านชานเมืองได้  โครงการป้องกันน้ำท่วมหลายโครงการของรัฐบาลไทยมักตั้งเป้าที่การเคลื่อนย้ายชุมชนที่อาศัยตามแนวฝั่งลำคลองออกไป  ทั้งๆ ที่ปัญหาน้ำท่วมมีสาเหตุซับซ้อนหลายประการ แต่ชุมชนเหล่านี้มักถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวการที่ทำให้กระแสน้ำอุดตัน  บทความนี้จะใช้มุมมองจากด้านนิเวศวิทยาการเมือง เพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ที่คัดง้างกันระหว่างแม่น้ำลำคลอง ปัญหาน้ำท่วมและคนจนเมือง  บทความจะชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารหรือรัฐบาลภายใต้อิทธิพลของกองทัพได้ใช้มาตรการเข้มงวดบังคับให้ชุมชนริมคลองต้องย้ายออกไปโดยอาศัยการอ้างเหตุผลหลังเกิดสาธารณภัย  มาตรการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวกรุงเทพชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ต้องการให้มีชุมชนคนจนเมืองตั้งอยู่ใกล้ย่านที่อยู่อาศัยของตน  ด้วยเหตุนี้ การจับไล่ชุมชนริมคลองภายใต้รัฐบาลทหารจึงเป็นผลพวงจากสองกระบวนการผสมผสานกัน นั่นคือ การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมและลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา  คำศัพท์คำแรก (การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Gentrification) หมายถึงกระบวนการผลักดันขับไสคนจนเมืองออกไปด้วยข้ออ้างว่าเป็นการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม คำศัพท์คำที่สอง (ลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา หรือ Eco-authoritarianism) หยิบยกประเด็นปัญหาที่รัฐบาลอำนาจนิยมมีบทบาทในการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการที่แตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปไตย  ทั้งนี้เพราะรัฐบาลอำนาจนิยมสามารถเพิกเฉยต่อการอ้างสิทธิ์ของคนจนที่ต้องการริเริ่มโครงการด้านสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง การเจรจาต่อรองเกี่ยวกับชุมชนริมคลองที่ดำเนินมายืดเยื้อยาวนาน กรุงเทพอยู่ในพื้นที่ที่ยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม  […]

Issue 30

ชลประทานอีสาน: อัตลักษณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับการเมืองเรื่องของน้ำ

บทความนี้พิเคราะห์ว่า นโยบายน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (อีสาน) เชื่อมโยงภูมิศาสตร์ของภูมิภาคนี้กับประชาชนในท้องถิ่นอย่างไร มันก่อให้เกิด ขยายและบางครั้งก็ท้าทายอัตลักษณ์ทางการเมืองที่เป็นพลเมืองชั้นสองของพวกเขา  ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า การชลประทานและการสร้างเขื่อนมีบทบาทอย่างยิ่งในการรักษาความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกับรัฐไทยภาคกลาง  นโยบายน้ำไม่ได้มีความเป็นกลางทางสังคม ตรงกันข้าม มันเชื่อมโยงลักษณะเชิงภูมิศาสตร์ของอีสาน กล่าวคือ ความร้อนและแห้งแล้ง ผูกกับความสำนึกว่าชาวอีสานล้าหลัง ด้อยกว่าและมีความกระด้างกระเดื่องทางการเมือง (ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การปกครองที่เข้มงวดกว่า) อีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีทั้งหมด 20 จังหวัด  อีสานเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 22 ล้านคนหรือ 33% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ  ประชาชนในภูมิภาคนี้ที่เรียกกันว่าคนอีสาน ส่วนใหญ่พูดภาษาลาว  ตลอดประวัติศาสตร์ไทย พวกเขาถูกตีตราว่าไร้การศึกษาและล้าหลังเนื่องจากการจัดลำดับชั้นทางสังคมแบบชาตินิยม  อีสานเป็นภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศ  มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุด ที่ดินในภาคนี้ส่วนใหญ่มีลักษณะดินปนทราย เป็นกรดและไม่อุดมสมบูรณ์ ทำให้การเพาะปลูกไม่ค่อยได้ผล  ด้วยเหตุนี้ […]

Patani-Politics- Faces-of the-2019-Election Campaign DuncanMcCargo-KRSEA
Issue 28

การเมืองปาตานี: หลายโฉมหน้าในการเลือกตั้ง 2562

เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  นั่นคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นชาวมลายูมุสลิมทั้งหมด  พื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยตกอยู่ในเงาทะมื่นของการก่อความไม่สงบที่สูญเสียกว่า 7000 ชีวิตตลอด 16 ปีที่ผ่านมา  นี่เป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศทางการเมืองเฉพาะถิ่นในแบบของตัวเอง ในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ ภูมิภาคอันมีชาวมุสลิมเป็นประชากรหลักกลับมีผู้แทนในรัฐสภาส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยที่เป็นคนมลายูมุสลิมมักประสบอุปสรรคยากลำบาก  รัฐมักมีทัศนะไม่ไว้วางใจพวกเขา หรือถึงขั้นระแวงแคลงใจว่าพวกเขามีส่วนพัวพันกับความรุนแรง  แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ถูกมองว่าเป็นคนทรยศต่อความเป็นมลายูในสายตาของสมาชิกชุมชนมลายูมุสลิมบางส่วนด้วย ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างมีลักษณะแตกต่างจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในภาคใต้ตอนบน  ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ครองใจภาคใต้ตอนบนมายาวนาน ส่วนคะแนนเสียงของภาคใต้ตอนล่างนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้  จากที่นั่งในรัฐสภา 11 ที่นั่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ชนะ 9 คนมาจากพรรคที่เพิ่งตั้งใหม่หมาดในการเลือกตั้ง 2562  และมีแค่สามที่นั่งที่เป็นอดีต ส.ส. จากรัฐบาลชุดที่แล้ว ในการเลือกตั้งปี […]

Issue 28

การเจรจารอบใหม่ในประเด็นชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563  คณะพูดคุยฝ่ายไทยกับสมาชิกของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานีหรือบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional—BRN) ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอำนาจควบคุมนักรบทั้งหมดในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมพูดภาษามลายู  ทั้งสองฝ่ายนัดพบกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อประกาศว่าจะเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายตั้งตารอกันมาเนิ่นนานแล้ว  ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น การริเริ่มกระบวนการสันติภาพครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งแรกที่สภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น ซึ่งไม่เคยเปิดเผยตัวมาก่อน แต่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Dewan Pimpinan Parti (DPP) ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการส่งคณะเจรจามาร่วมโต๊ะพูดคุย  เรื่องที่ยอมรับกันเป็นการเบื้องต้นก็คือ ทั้งสองฝ่ายไปพบปะกันเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองให้แก่ความขัดแย้งยากคลี่คลายนี้  ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่ประชากรพูดภาษามลายูปะทุขึ้นมาในปลายปี 2544  แต่ยังไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการจนกระทั่งวันที่ 4 มกราคม 2547 เมื่อนักรบติดอาวุธกลุ่มใหญ่บุกค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสและปล้นอาวุธสงครามออกไปมากกว่า 350 ชิ้น  คลื่นความขัดแย้งก่อนหน้านี้เคยผุดให้เห็นเมื่อต้นทศวรรษ 1960 […]

Sheep (2017-2018) by Samak Kosem
Issue 28

มานุษยวิทยาของศิลปะและเรื่องเล่าเกี่ยวกับอมนุษย์/เควียร์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

เมื่อต้นปี 2560 ผู้เขียนเริ่มทำงานด้านชาติพันธุ์วรรณาทัศนา (visual ethnography) เพื่อการศึกษาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในจังหวัดปัตตานีในโครงการเกี่ยวกับการเป็น “เควียร์มุสลิม”  นับตั้งแต่ผู้เขียนเขียนบทความไตร่ตรองสะท้อนคิดในชื่อ “ปอแนใต้ปอเนาะ” (Samak 2017a) เล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กเกี่ยวกับความประพฤติแบบรักร่วมเพศในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งผู้เขียนเองศึกษาศาสนาในโรงเรียนปอเนาะเป็นเวลาหกปี  ประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นยังย้อนกลับมาทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามเนืองๆ ว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในสถานที่ที่ดูเหมือนต่อต้านการรักร่วมเพศอย่างรุนแรง? ในปีเดียวกันนั้นเอง มีการถกเถียงวิวาทะกันอย่างใหญ่โตในหมู่นักวิชาการและนักกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกพื้นที่สามจังหวัด “ชายแดนภาคใต้” ของประเทศไทยเกี่ยวกับการนำประเด็นความรักเพศเดียวกันมาอภิปรายอย่างเปิดกว้างต่อสาธารณะ รวมทั้งการทำให้เควียร์และอัตลักษณ์ของเควียร์มีตัวตนในชุมชน (โปรดดู Anticha 2017)  ในตอนนั้น การพูดถึงการเป็นเควียร์ในอิสลามกลายเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวมาก  ครั้นแล้วอยู่มาวันหนึ่ง อดีตเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนปอเนาะก็ตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า เคยเห็นแกะจรจัดในปัตตานีหรือไม่?  ผู้เขียนนึกฉงนว่าทำไมไม่เคยสังเกตเห็นแกะเหล่านี้ทั้งที่มันดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางพวกเรา  ทันใดนั้น คำถามก็ผุดขึ้นมาในใจอีกครั้ง  ทำไมที่นี่ถึงมีแกะเยอะ แล้วทำไมมันถึงดูสกปรกมอมแมม เดินเร่ร่อนไปทั่วเหมือนหมาจรจัด […]

Issue 28

รายการสุดท้ายในบัญชีหางว่าวของการเริ่มต้นผิดพลาด? ความริเริ่มมาราปาตานีเพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย (2558-2562)

ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการเสนอข้อคิดเห็นว่า ถึงแม้มีความแตกต่างในบางแง่มุม แต่การเจรจาสันติภาพระหว่างคณะตัวแทนผู้ก่อความไม่สงบกับรัฐไทยระหว่างปี 2558-2562 มีจุดอ่อนข้อผิดพลาดซ้ำรอยเดิมกับความพยายามผลักดันการเจรจาสันติภาพครั้งผ่านๆ มาในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2549-2557)  ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นด้วยว่า ความริเริ่มมาราปาตานีคือครั้งล่าสุดของการเริ่มต้นผิดพลาดซึ่งมีบัญชียาวเหยียดเป็นหางว่าวในการสร้างกระบวนการสันติภาพที่น่าเชื่อถือเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้นับตั้งแต่ความขัดแย้งปะทุขึ้นในปี 2547 การรัฐประหารของกองทัพในปี 2557 คือการเปิดฉากยุคสมัยการปกครองแบบอำนาจนิยมครั้งใหม่สำหรับประเทศไทย  ถึงแม้การเลือกตั้งปี 2562 เราจะได้เห็นการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ในการต่อสู้คัดง้างกับอำนาจกองทัพ แต่พรรคก็ถูกยุบไปแล้ว  ภาพโดยรวมนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ดูเหมือนประเทศไทยตกอยู่ในวงโคจรของการค้ำจุนอำนาจทหารไว้หรือกระทั่งเพิ่มบทบาทของกองทัพในการบริหารประเทศ  นับตั้งแต่ปี 2557 ระดับความรุนแรงในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง  จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายและเหตุรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกปีที่ผ่านไป  นักวิเคราะห์หลายคน ทั้งนักวิชาการที่คร่ำหวอดและนักวิชาการรุ่นใหม่ พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่ความรุนแรงลดลง  กระนั้นก็ตาม โดยรวมแล้วยังไม่มีคำอธิบายที่น่าพอใจหรือสมบูรณ์เนื่องจากเหตุผลหลายประการที่จะลำดับให้เห็นในอีกบทความหนึ่ง  ในปี 2556 ความขัดแย้งในภาคใต้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย […]

Civil Society Southern Thailand
Issue 28

ภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกับรัฐอ่อนแอ

ในอุดมคตินั้น บทบาทของรัฐบาลควรอำนวยความสุขและสวัสดิภาพแก่พลเมือง  วางกฎกติกาเพื่อคุ้มครองพลเมืองจากความขัดแย้ง รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายและสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย  มิฉะนั้นแล้ว ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลกับพลเมืองอาจเกิดขึ้น  ในทางทฤษฎีนั้น ภาคประชาสังคมอยู่นอกภาครัฐ  แต่การมีธรรมาภิบาลที่ดียากจะแยกขาดจากภาคประชาสังคม  กระนั้นก็ตาม รัฐที่อ่อนแอคือผลที่ตามมาเมื่อรัฐบาลไม่สามารถจัดการความรุนแรงภายในประเทศและเมื่อรัฐไม่สามารถกระจายจัดสรรผลดีทางการเมืองแก่พลเมืองของตนอย่างถ้วนหน้า  นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547  พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยต้องเผชิญกับความปั่นป่วนทางสังคม  องค์กรภาคประชาสังคมเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโต้ต่อการที่รัฐบาลไม่สามารถคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  รัฐบาลไทยมักกระทำการลับๆ ล่อๆ  ยุยงให้ประชาชนในพื้นที่คอยสอดแนมกันเองโดยใช้ยุทธศาสตร์กองทัพที่เรียกว่า “ยุทธการข้อมูลข่าวสาร (Information Operations—IO)  การใช้ IO ผ่านเพจปลอมในเฟซบุ๊กที่เน้นการสร้างเนื้อหาเพื่อเผยแพร่และกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังต่อเครือข่ายของฝ่ายกบฏขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) หรือ  BRN-Coordinate นอกจากนี้ […]

Isan Redshirts Indentity KRSEA
Issue 27

อัตลักษณ์ในอีสานและการกลับมาของ “คนเสื้อแดง” ในการเลือกตั้งปี 2562 และอนาคตข้างหน้า

บรรยากาศมืดมนน่าขนลุกของการเลือกตั้งปี 2562  คือสัญญาณบ่งชี้ว่า เส้นทางสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยยังถูกสกัดขัดขวางจากยามชุดเดิม กล่าวคือ ชนชั้นนำเบื้องหลังรัฐบาลทหาร  ถึงแม้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ที่สุด ได้รับคะแนนเสียงจนได้ที่นั่งเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่กลับไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้  ผลการเลือกตั้งเช่นนี้มีความหมายอย่างไรต่อผู้ลงคะแนนเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หรือที่เรียกกันติดปากว่าภาคอีสาน)?  การส่งสัญญาณชัดเจนว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลทหาร ตั้งใจจะครองอำนาจต่อไป  ประเด็นนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ปลุกให้ขบวนการคนเสื้อแดงอันทรงพลังฟื้นคืนชีพอีกครั้งหรือไม่ เมื่อคำนึงถึงว่าขบวนการนี้เป็นการแสดงออกของความคับข้องใจทางการเมืองในภาคอีสานมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร  ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพยายามตอบคำถามข้อหลังจากมุมมองของสมาชิกรากหญ้าในขบวนการทางการเมืองนี้  ผู้เขียนต้องการอภิปรายให้เห็นว่า อัตลักษณ์ของคนเสื้อแดงและอัตลักษณ์ทางการเมืองในภาคอีสานโดยรวมในปี 2562 มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่าเดิม กระนั้นมันก็ยังไม่พัฒนาเป็นขบวนการทางการเมืองเชิงชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ของ “คนเสื้อแดง” ในภูมิทัศน์การเมืองไทย ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การรัฐประหารปี 2549 และการยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่มีทั้งคนรักคนชังอย่างทักษิณ ชินวัตร ทำให้ประเทศไทยแตกแยกเป็นสองขั้ว  ฟากฝ่ายหนึ่งคือขบวนการเสื้อเหลือง […]

Ubon Thani Northeast Thailand KRSEA
Issue 27

หลอมรวมทั้งที่กีดกัน: อัตลักษณ์ชาติไทยในหมู่ชาวอีสาน

ประชากรพูดภาษาลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งมักเรียกกันว่าคนอีสาน ตกเป็นเหยื่อการเลือกปฏิบัติและกีดกันจากผลดีด้านการพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่ตกเป็นของภาคกลางและกรุงเทพมาเป็นเวลานาน อันที่จริง รัฐบาลไทยมีนโยบาย “สูบจากชนบทเหมือนสูบจากเมืองขึ้น”เพื่อส่งเสริมทุนและอุดหนุนแรงงานในเมืองมาหลายทศวรรษ  ยิ่งกว่านั้น ข้อบังคับเข้มงวดด้านภาษาในภาคการศึกษาและระบบราชการซ้ำเติมความเสียเปรียบแก่คนพื้นเมืองชาวอีสาน  ในเชิงเศรษฐกิจนั้น ภาคอีสานล้าหลังส่วนอื่นๆ ของประเทศ มีอัตราความยากจนสูงกว่า รวมทั้งประชากรทำมาหาเลี้ยงชีพในภาคเศรษฐกิจนอกระบบในอัตราสูงด้วย  ในเชิงการเมือง ภาคอีสานก็ถูกกีดกันค่อนข้างมากเช่นกัน มีชาวพื้นเมืองอีสานแค่ไม่กี่คนได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง  คนที่เคยดำรงตำแหน่งสูงในช่วงทศวรรษ 1940 ก็ถูกรัฐไทยสังหาร  นับแต่นั้นมา บุคคลที่เป็นชาวอีสานแท้ๆ ค่อนข้างน้อยคนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทางการเมือง ทั้งๆ ที่ชาวอีสานมีจำนวนเกือบ 30% ของประชากรทั้งประเทศ รูป 1. กลุ่มภาษาในประเทศไทย Source: Lewis et al. (2015); Premsrirat […]

Krabi-Thailand-Muslim-Boys-KRSEA
Issue 27

อิสลามกับภาษายาวี: อาณาบริเวณสำหรับการแสดงออกและส่งเสริมอัตลักษณ์มลายูในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

ตามคำนิยามของ Funk (2013, p.15) “อัตลักษณ์คือมโนทัศน์ของตัวตนหรือของกลุ่มที่บ่งบอกว่าการเป็นตัวเองหมายถึงอะไร”  อัตลักษณ์เป็นหัวใจของความขัดแย้งยืดเยื้อระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ก่อความไม่สงบชาวมลายูในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย (อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของจังหวัดสงขลา)  อัตลักษณ์มีส่วนชี้นำลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยที่เป็นชนกลุ่มใหญ่กับชาวมลายูที่เป็นชนกลุ่มน้อยด้วย  รัฐบาลกลางส่งเสริมอัตลักษณ์แห่งชาติของชาวไทยที่เป็นชนกลุ่มใหญ่มานานแล้ว โดยเน้นย้ำลักษณะเฉพาะของคนไทยบางประการ เช่น ชาติพันธุ์ไทย ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทยและศาสนาพุทธ  ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในหมู่ประชาชนและสร้างชาติที่แข็งแกร่ง (Abuza, 2009; Aphornsuvan, 2006; Chalk, 2008; McCargo, 2008, 2009; Melvin, 2007; NRC, 2006; Pitsuwan, 1982; Storey, 2007, 2008; […]

Issue 27

อัตลักษณ์ท้องถิ่น การเมืองระดับชาติและมรดกโลกในภาคเหนือของประเทศไทย

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกแห่งประเทศไทยได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเมืองเชียงใหม่ให้อยู่ในรายชื่อมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ระหว่างที่ยังอยู่ในบัญชีเบื้องต้นของกระบวนการพิจารณามรดกโลก กลุ่มขับเคลื่อนประเด็นนี้วางแผนที่จะยื่นเอกสารการขอพิจารณามรดกโลกรอบสุดท้ายในเร็ววัน เป็นไปได้ว่าน่าจะภายในปลายปี 2562  สำหรับทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีแรงเย้ายวนใจหลายประการ เพราะมันให้คำมั่นสัญญาถึง “เกียรติภูมิทั้งระดับชาติและระหว่างประเทศ […] ความช่วยเหลือทางการเงินและ […] ผลดีในการยกระดับความตระหนักรู้ของสาธารณชน การท่องเที่ยวและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ”  ในขณะที่แหล่งมรดกโลกของไทยแหล่งอื่นๆ เช่น สุโขทัยและอยุธยา ส่วนใหญ่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์แห่งชาติ การยื่นขอขึ้นทะเบียนเมืองใหญ่ในภาคเหนือครั้งล่าสุดนี้ รวมทั้งความพยายามอื่นๆ ก่อนหน้านั้น สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นและอัตลักษณ์ภูมิภาคเท่าๆ กับอัตลักษณ์แห่งชาติ สิ่งที่เป็นเดิมพันอยู่ตรงที่ชาวเมืองเหนือจะมีปฏิกิริยาอย่างไรในการหาทางคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างความเป็นมรดกกับความเป็นย่าน (ชุมชน/ละแวกบ้าน) ดังที่ Mark Askew เคยชี้ให้เห็นว่าเกิดขึ้นในกรุงเทพเมื่อยุคทศวรรษ 1990  การยกย่องซากปรักหักพังที่ถูกทิ้งร้างให้มีสถานะระดับชาติและระดับโลกไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในกรณีของเชียงใหม่ การขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกมีการผสมผสานทั้งซากปรักหักพังทางกายภาพของอาณาจักรทางการเมืองในอดีตกับชุมชนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน  […]

Issue 27

อัตลักษณ์ชาติไทยกับอัตลักษณ์ล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย

เว็บไซท์ CIA’s World Factbook บรรยายว่าประเทศไทยเป็นประเทศชาติพันธุ์เดียว โดยมีสัดส่วนคนไทยถึง 95% ของประชากรทั้งหมด  จินตภาพนี้สอดคล้องอย่างยิ่งกับการปั้นแต่งลักษณะเด่นของประเทศไทยฉบับทางการที่ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยยุคปลายอาณานิคม  เมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสโอบล้อมสยาม (ชื่อเดิมของประเทศไทยจนถึงปี 2482) จากทุกด้าน ชนชั้นนำของสยามเริ่มอ้างว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มใหญ่ๆ ภายในอาณาบริเวณที่ตนครองอำนาจนั้นเป็นสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยตามภาคต่างๆ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของชาวสยาม  ดังนั้น คนลาวในที่ราบสูงโคราช (ทุกวันนี้มีสัดส่วนประมาณ 30% ของประชากร) จึงกลายเป็นชาวไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคนลาวดำตามเทือกเขาทางภาคเหนือ (ทุกวันนี้มีสัดส่วนประมาณ 12% ของประชากร) จึงกลายเป็นคนไทยภาคเหนือ  โครงการชาตินิยมไทยเริ่มต้นจากจุดนี้ โดยเลียนแบบรัฐชาติยุโรปที่กำลังคุกคามพรมแดนของตน  การศึกษาภาคบังคับของภาครัฐเป็นเครื่องมือสำคัญเคียงคู่ไปกับการทำแผนที่ การรวมศูนย์ศาสนาพุทธและการโฆษณาชวนเชื่อระดับชาติ  หากจะหยิบยืมข้อเขียนอันมีชื่อเสียงของยูจีน เวเบอร์เกี่ยวกับพัฒนาการของลัทธิชาตินิยมฝรั่งเศส  กระบวนการนี้ก็คือการเปลี่ยนชาวนาให้เป็น “คนไทย” […]

Vietnam Eve Hanson KRSEA
Issue 26

มรดกจากสงครามเย็น: ความมั่นคงของระบอบการปกครองและการใช้กำลังข่มขู่บังคับในเวียดนาม

ความเป็นจริงทางการเมืองในเวียดนามทุกวันนี้เป็นผลลัพธ์จากการปะทะกันของมหาอำนาจผ่านตัวแทนที่เป็นผู้นำในฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี….[มัน]เป็นการปะทะกันที่ส่งผลลัพธ์ร้ายแรงมาก (Dr Nguyễn Đan Quế, interview, August 11, 2015) สี่สิบปีผ่านไปหลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ดร.เกว๋ นักกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเวียดนามยุคปัจจุบัน นำเสนอทัศนะเกี่ยวกับความเป็นไปของลัทธิอำนาจนิยมและฝ่ายต่อต้านในประเทศของตน  เขาเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 ก่อนที่จะมีการรวมเวียดนามเป็นประเทศเดียว  ในสมัยนั้น ดร.เกว๋กับปัญญาชนคนอื่นๆ ได้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์สภาพของการกักขังหน่วงเหนี่ยวในสาธารณรัฐเวียดนาม (ใต้)  นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหลายคนในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมมาตั้งแต่ก่อนการรวมประเทศ หรือมองว่าตัวเองสืบทอดสานต่อกลุ่มและขบวนการในยุคก่อนที่เคยจัดตั้งต่อต้านเผด็จการในเวียดนามใต้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลกอาณานิคม เวียดนามก็ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ  การต่อสู้นี้ผสมปนเปและไหลเลื่อนจนแทบกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความขัดแย้งในสงครามเย็นโดยมีความเกี่ยวเนื่องพัวพันระหว่างประเทศเป็นปัจจัยชี้ขาด  ในเวียดนามก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย การสังหารหมู่ การกดขี่ปราบปรามทางการเมืองและความป่าเถื่อนโหดร้ายเกิดขึ้นในระดับที่แทบจินตนาการไม่ถึง  ตั้งแต่ปี 1955-75 มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสามล้านคน กว่าสองล้านคนเป็นพลเรือน (Bellamy […]

National-monument-Malaysia-KRSEAjpg
Issue 26

มรดกจากสงครามเย็นในมาเลเซีย

สงครามเย็นทิ้งร่องรอยลึกซึ้งไว้ในการเมืองและสังคมมาเลเซีย  ยุคภาวะฉุกเฉินแห่งมลายา (Malaya Emergency) ซึ่งกองกำลังของเครือจักรภพอังกฤษทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์กับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมลายาระหว่างปี 1948-60 สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งชนชั้นนำในยุคอาณานิคมอังกฤษและชนชั้นนำท้องถิ่นในยุคต่อมามีความพร้อมที่จะต่อกรกับการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์ภายในประเทศมากขนาดไหน  แต่ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ยังแพร่หลายจริงๆ หรือผีคอมมิวนิสต์ที่เอามาใช้หลอกหลอนกันง่ายๆ ก็ยังสะท้านสะเทือนไปทั่วทั้งองค์สังคม จนแม้กระทั่งหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์มลายาถูกเบียดขับจนหมดความสำคัญและพ่ายแพ้ไปแล้วก็ตาม  สงครามเย็นทิ้งมรดกที่ซับซ้อนและไม่ลบเลือนไว้ทั้งในการเมืองภาครัฐและภาคประชาสังคมของมาเลเซีย  เรายังคงเห็นผลพวงของมันในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมือง แบบแผนการตั้งถิ่นฐาน การออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนการวางตำแหน่งของประเทศในภูมิศาสตร์การเมือง  โดยรวมแล้ว มาเลเซียเคยมีประสบการณ์กับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เป็นขบวนการคอมมิวนิสต์จริงๆ และมีปฏิบัติการรุกคืบแข็งกร้าวจริงๆ  และมาเลเซียก็เคยผ่านประสบการณ์ของการมีมาตรการปราบปรามการก่อกบฏ การผนวกยุทธศาสตร์ด้านจิตใจและความคิดเข้ากับการปราบปรามกดขี่ด้วยกองทัพ ซึ่งกลายเป็นเกณฑ์มาตรฐานของกองกำลังรักษาความมั่นคงในการตอบโต้ต่อการใช้ความรุนแรงแบบสุดขั้วมาจนถึงทุกวันนี้  แต่สิ่งที่ทิ้งรอยด่างลึกซึ้งไว้ยิ่งกว่ากลับมิใช่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา แต่การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ครั้งนั้นได้ปั้นแต่งหล่อหลอมภูมิทัศน์ทางอุดมการณ์ ประชากร กฎหมายและความมั่นคง กล่าวคือ การมีขบวนการต่อต้านทุนนิยมขนาดใหญ่ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและดูเป็นตัวร้ายในสายตานานาประเทศเกิดขึ้น ณ ช่วงก่อร่างสร้างตัวในพัฒนาการด้านสังคมการเมืองของมาเลเซีย ทำให้การมีอุดมการณ์ที่เป็นทางเลือกอื่นดูไร้ความชอบธรรมและยิ่งส่งเสริมการมีรัฐทุนนิยมที่เข้มแข็ง รวมศูนย์และใช้ชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากเป็นพิเศษ โดยฝังลึกอยู่ในสังคมที่ทำการเมืองให้ไม่เป็นการเมือง (depoliticized) […]

Issue 26

คุกลับประเทศไทย: มรดกทางการเมืองจากยุคสงครามเย็น

แง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจในรายงานข่าวเกี่ยวกับ “คุกลับ” ของสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ในประเทศไทยก็คือ นายสุณัย ผาสุก นักวิจัยองค์กร Human Rights Watch แสดงความคิดเห็นว่า กองทัพและตำรวจไทยรับเอาเทคนิคการทรมานของคุกลับมาใช้  “เราไม่เคยได้ยินวิธีการทรมานแบบวอเตอร์บอร์ดดิงมาก่อน….จนกระทั่งหลังจากปี 2547 หรือ 2548 ที่วิธีการนี้เพิ่งถูกนำมาใช้ที่นี่” (Los Angeles Times, April 22, 2018)  นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาทิ้ง “มรดก” สำคัญไว้ให้ประเทศไทย  การเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยในช่วงสงครามเย็นสร้างผลกระทบกว้างไกลต่อการเมืองและสถาบันการเมืองของประเทศไทยมายาวนาน พันธมิตรในช่วงสงครามเย็นก่อตั้งขึ้นท่ามกลางบริบทของการต่อสู้ทางการเมืองหลากหลายฟากฝ่าย ซึ่งสะท้อนความขัดแย้งที่กำลังก่อตัวจนกลายเป็นสงครามเย็น  ในประเทศไทย ความพัวพันอย่างลึกซึ้งกับสหรัฐอเมริการ้อยรัดกับสงครามการเมืองภายในประเทศที่ต่อกรกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 กับฝ่ายนิยมกษัตริย์ Darling […]

UP Philippines statue KRSEA
Issue 26

ย้อนมองเส้นทางสู่อำนาจของเทคโนแครตฟิลิปปินส์ผ่านยุคสงครามเย็น

การผงาดขึ้นมาเรืองอำนาจของเทคโนแครตชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับยุคกฎอัยการศึก (1972-1986) ของประเทศนี้  อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของระบอบเทคโนแครตต่อสหรัฐอเมริกามีมาก่อนหน้านั้น  ย้อนกลับไปจนถึงทศวรรษ 1950 สหรัฐอเมริกาเล็งเห็นความสำคัญของการมีนักเศรษฐศาสตร์ วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เข้ามาทำงานในภูมิภาคกำลังพัฒนา เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถชี้นำกระบวนการพัฒนาในประเทศของตนและป้องกันไม่ให้ประเทศเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของลัทธิคอมมิวนิสต์  บทความนี้จะย้อนดูเส้นทางสู่อำนาจของระบอบเทคโนแครตในฟิลิปปินส์ท่ามกลางบริบทของสงครามเย็น โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อบรรดาเทคโนแครตที่รัฐบาลเฟอร์ดินานด์ อี. มาร์กอสชุดแรกก่อนยุคกฎอัยการศึก (1965-1972) เรียกตัวเข้ามาทำงานด้วย จากนั้นเทคโนแครตชุดนี้ก็ฝังตัวเข้าสู่ระบบการปกครองแบบกฎอัยการศึกของมาร์กอสได้อย่างไม่เคอะเขิน โดยทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการวางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเผด็จการ สงครามเย็นกับการเรืองอำนาจของระบอบเทคโนแครต ใน “ความหมายทางการเมืองแบบคลาสสิก” ระบอบเทคโนแครต “หมายถึงระบบบริหารการปกครองที่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งผ่านการฝึกอบรมความรู้เชิงเทคนิคมีอำนาจปกครองเนื่องจากความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตน กอปรกับมีสถานะในสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นสถาบันหลักของบ้านเมือง” (Fischer 1990, 17)  ระบอบเทคโนแครตมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการเกิดชนชั้นกลางใหม่  ในความคิดของ C. […]

KRSEA How Long is Now: Indonesia
Issue 26

เดี๋ยวนี้คืออีกนานแค่ไหน? ว่าด้วยยุค Reformasi ของอินโดนีเซียและการทวงคืนประวัติศาสตร์สมัยสงครามเย็นที่ช้าเกินการณ์

ชื่อบทความ “เดี๋ยวนี้คืออีกนานแค่ไหน?” มาจากภาพศิลปะฝาผนังบนถนนโอราเนียนบวร์ก (Oranienburger Strasse) ในเขตมิตเตของกรุงเบอร์ลิน  ภาพศิลปะนี้วาดไว้บนผนังอาคารที่เคยเป็นศูนย์บัญชาการของหน่วยชุทซ์ชตัฟเฟิล (Schutzstaffel—SS) และคุกของนาซี จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาคารของรัฐบาลในสมัยเยอรมนีตะวันออก  จนกระทั่งหลังกำแพงเบอร์ลินพลังทลายจึงเปลี่ยนเป็นศูนย์กิจกรรมของศิลปิน  ในปัจจุบัน อาคารหลังนี้ถูกทิ้งร้าง  ศิลปะฝาผนังภาพนี้คือการมองย้อนกลับไปหาอดีตอันใกล้ของกรุงเบอร์ลินที่เต็มไปด้วยการสร้างสรรค์ระหว่างรอคอยอนาคตอันยืดเยื้อ  สำหรับผู้เขียน ศิลปะฝาผนังภาพนี้คือบทสรุปรวบยอดที่สะท้อนถึงพลวัตและชะตากรรมอันน่าเศร้าของนักศึกษาอินโดนีเซียในจาการ์ตาเมื่อสมัย 1998  ในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น พวกเขาชวนผู้เขียนบรรยายและถกเถียงจนดึกดื่นค่อนคืน  พวกเขาพยายามค้นหาวิถีทางทวงคืนประวัติศาสตร์ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่ก่อรูปมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1940 รวมทั้งค้นหาว่าทำไมขบวนการประชาชนเพื่อการปฏิรูปที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในสมัยนั้นกลับถูกกวาดล้างจนสิ้นซาก  ประชาชนราว 500,000 คนถูกกองทัพและกองกำลังติดอาวุธ “พลเรือน” สังหารทิ้งในปี 1965-66  ชั่วขณะแห่งความโปร่งใสมองเห็นยาวไกลมลายหายไป  อนาคตยังไม่ปรากฏให้เห็น  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เมื่อนานาชาติพร้อมใจกันละทิ้งซูฮาร์โตและหันไปสนับสนุนเสรีภาพกับการเลือกตั้งแทน ทว่าเก็บชนชั้นนำเดิมเอาไว้ นั่นหมายความว่ายังมีโครงกระดูกซ่อนในตู้อีกเหลือเฟือสำหรับการวิเคราะห์วิจารณ์สังคม  ในตอนนี้ความหวังว่าประธานาธิบดีโจโก […]

KRSEA-Laos-Baird-Banner
Issue 25

ทัศนะต่อที่ดินที่เปลี่ยนไปในประเทศลาว: จากอำนาจอธิปไตยของรัฐกลายเป็นการระดมทุน

วันที่ 23 สิงหาคม 2013 ผู้เขียนได้พบนางคำตัน สุรีดาราย สยารัด (Khamtanh Souridaray Sayarath) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  นางคำตันเกิดที่เมืองจำปาศักดิ์ในภาคใต้ของประเทศลาว  เธอเป็นผู้หญิงลาวคนแรกๆ ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายในเวียงจันทน์เมื่อช่วงทศวรรษ 1950  หลังจากจบการศึกษา เธอเคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการค้า  ในปี 1962 เธอรับตำแหน่งอธิบดีในกระทรวงเศรษฐกิจ รับผิดชอบการอนุมัติสัมปทานที่ดิน ป่าไม้และเหมืองในนามของราชอาณาจักรลาว  เธอดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี 1975 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ปะเทดลาวเข้ายึดครองประเทศ  เช่นเดียวกับชาวลาวจำนวนมาก เธอหนีมาอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยก่อนลงเอยด้วยการย้ายไปพำนักอาศัยในปารีส การสนทนาของผู้เขียนกับนางคำตันเกี่ยวโยงกับการพิจารณาว่ากรอบมโนทัศน์ของคนลาวที่มีต่อดินเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ไม่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาก่อนระบอบคอมมิวนิสต์และในระบอบคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่ครอบคลุมตั้งแต่มีการผลักดันนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในลาวเมื่อกลางทศวรรษ 1980 และโดยเฉพาะตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายที่ดินฉบับปี 2003 […]

Issue 25

แปลงที่ดินเป็นทุนเพื่อใคร? วิกฤตการณ์และทางเลือกของการทำให้ที่ดินเป็นสินค้าในประเทศลาว

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2017 กรรมการศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (ต่อไปนี้จะเรียกย่อๆ ว่าพรรค) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงพรรคเดียวและเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจนำในประเทศลาว ได้ลงมติเกี่ยวกับการปรับปรุงการบริหารจัดการและการพัฒนาที่ดิน  มติครั้งนี้เปรียบเสมือนการวิพากษ์นโยบายการจัดการที่ดินของรัฐบาลสมัยก่อนอย่างน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนในที่ดินและการทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า หรือตามที่รัฐบาลนิยามมาตั้งแต่ปี 2006 ว่า “การแปลงที่ดินเป็นทุน” (การหันที่ดินเป็นทุน ในภาษาลาว)   กรรมการศูนย์กลางยอมรับว่ามีปัญหาจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการแปลงที่ดินเป็นทุน โดยเฉพาะประเด็นที่ “ยังไม่มีกรอบการใช้กฎหมายที่ครอบคลุม สืบเนื่องจากรัฐบาลกับประชาชนยังไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย” และ “การเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาไม่เพียงเป็นภาระหนัก แต่ยังเป็นประเด็นอ่อนไหวที่กระทบความมีระเบียบเรียบร้อยของสังคมส่วนร่วมด้วย” มตินี้สะท้อนความกังวลของพรรคและรัฐ (มักเรียกรวมกันว่า “พรรค-รัฐ” หรือ พัก-ลัด ในภาษาลาว เพราะในทางปฏิบัติ พรรคกับรัฐเหลื่อมซ้อนกันเกือบสนิท) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งในเรื่องที่ดิน ซึ่งอาจคุกคามความชอบธรรมของตนในสายตาประชาชน  […]

KRSEA-Dwyer-Laos-lands
Issue 25

ภูมิศาสตร์ของความมั่นคง: การบีบบังคับ ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและงานบริหารประชากรในประเทศลาวยุคปัจจุบัน

ในช่วงต้นปี 1988 สภารัฐมนตรีของลาวออกคำสั่งแก่กระทรวง คณะกรรมการรัฐ องค์กรมวลชน แขวงและเทศบาลทั่วประเทศ  คำสั่งนั้นมีชื่อว่า “การยกระดับงานบริหารประชากร” ในเอกสารกล่าวถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาคชนบทของลาว เน้นความเชื่อมโยงแนบแน่นระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับความมั่นคงแห่งชาติ  เอกสารนี้อธิบายว่า งานบริหารประชากรกอปรด้วย “การรวบรวมสถิติประชากร บันทึกสถิติการเกิดและการตาย ออกบัตรประชาชน จัดการการย้ายถิ่นฐานของประชากร จัดทำแบบแผนภูมิลำเนา รวมทั้งค้นหาและสร้างนิคมใหม่ๆ ให้แก่พลเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ที่ยังไร้ที่ดินเพื่อจะได้ทำกินเลี้ยงชีพ”  นอกจากนี้ เอกสารคำสั่งยังเอ่ยถึง “หลักการพื้นฐาน” ว่า “การเอื้อให้พลเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ของลาวได้รับสิทธิเท่าเทียมตามกฎหมายในทุกแง่มุมของชีวิต ตลอดจนส่งเสริมสิทธิของพลเมืองในการมีอำนาจปกครองเป็นหมู่คณะและความคิดสร้างสรรค์เพื่อบรรลุภารกิจเชิงยุทธศาสตร์สองประการ กล่าวคือ การป้องกันประเทศและการสร้างสังคมนิยม” ในคำบรรยายว่าด้วยศิลปะของการปกครองสมัยใหม่ อรรถาธิบายของฟูโกต์มีหน้าตาคล้ายคลึงกับเทคนิคการบริหารประชากรที่แจกแจงไว้ข้างต้นอย่างน้อยก็ในบางข้อ รวมทั้งตรรกะใหญ่ของการปกครองก็มีความพ้องพานกันด้วย  ทั้งแนวคิดของรัฐบาลลาวและของฟูโกต์ต่างพยายามรู้จักประชากรผ่านสถิติเชิงประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์และการดำรงชีพ ซึ่งจะนำไปแปรเป็นสมรรถภาพในการบริหารและการปกครองด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ-การเมือง  สำหรับทั้งสองแนวคิด คำว่า […]

KRSEA-Laos-sticky-rice
Issue 25

ที่ดิน-ป่าส่วนรวมของลาวในศตวรรษที่ 21: ระบบทุนนิยมกสิกรรมและ “หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้า”

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายของนักเคลื่อนไหวที่ประสานกันอย่างกว้างขวางทั้งใน สปป.ลาวและต่างประเทศช่วยกันผลักดันให้มีการแทรกแซงเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริม “การสร้างความเข้มแข็งแก่การถือครองที่ดินเชิงจารีตประเพณี”  เป้าหมายคือการวางรากฐานความคุ้มครองทางกฎหมายแก่สิทธิของชุมชนชนบทต่อที่ดิน-ป่าส่วนรวม (forest-land commons) ในบริบทที่การล้อมเขตที่ดินกำลังแพร่สะพัดสืบเนื่องจากการยึดครองที่ดินขนาดใหญ่  การสร้างหลักประกันแก่สิทธิถือครองที่ดินควรได้รับการส่งเสริมจากกระบวนการวางแผนการใช้ที่ดินโดยประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนากระบวนการที่ทำให้เกิดสถานะทางกฎหมาย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการจดทะเบียนและให้เอกสารสิทธิ์แก่ที่ดินชุมชนหรือคณะบุคคลให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้  ถึงแม้มีการริเริ่มนำร่องบ้างแล้ว  แต่ความคืบหน้าสู่เป้าหมายก็ยังไม่ต่อเนื่อง ในระดับหมู่บ้าน กระบวนการในท้องถิ่นที่ทำให้ภาคเกษตรกรรมกลายเป็นการพาณิชย์ยังคงเดินหน้าต่อไป  การเปลี่ยนผ่านในภาคกสิกรรมของลาวมีผลตามมาคือการล้อมเขตที่ดินระบาดไปทั่ว ทั้งในแบบ “จากเบื้องบน” (กล่าวคือ การยึดครองที่ดินของรัฐ-บรรษัทเพื่อโครงการด้านธุรกิจเกษตรและโครงสร้างพื้นฐาน) และการแปรรูปที่ดิน “จากเบื้องล่าง” (กล่าวคือ ผู้ถือครองที่ดินรายย่อยหันมาปลูกพืชผลเพื่อการค้า รวมทั้งการให้เช่าและการขายที่ดินในหมู่บ้าน)  ในขณะที่การลงทุนด้านการค้าช่วยเกื้อหนุนรายได้ยังชีพส่วนสำคัญแก่ชาวชนบทจำนวนมาก  แต่สภาพการณ์ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสมบัติส่วนรวมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งประเทศลาว  ในบริบทเช่นนี้ การคุ้มครองสิทธิถือครองที่ดิน-ป่าส่วนรวมตามจารีตประเพณีของหมู่บ้านจึงเป็นประเด็นสำคัญทั้งต่อนโยบายที่ดินและเป็นปัญหาเชิงประจักษ์ที่ซับซ้อน ซึ่งท้าทายต่อการแก้ไขเชิงนโยบายแบบสูตรสำเร็จ ในการเข้ามามีส่วนร่วมครั้งนี้ เราเสนอว่าประเด็นหัวใจสำคัญเกี่ยวกับการสร้างสถานะทางกฎหมายแก่สิทธิที่ดินในลาวไม่ใช่แค่เรื่องเล่าแม่บทว่า ที่ดิน-ป่าตามจารีตประเพณีสามารถใช้เป็นพื้นฐานการยังชีพประจำวันในชนบท อีกทั้ง (อาจ) […]

KRSEA-Chen-Migrant-Workers
Issue 25

สร้างโอกาสจากทางตัน: เศรษฐกิจตลาดมืดของแรงงานย้ายถิ่นจากชนบทและหลุมพรางใน สปป.ลาว

ปรากฏการณ์ที่คนหนุ่มสาวต้องพรากจากหมู่บ้านชนบทในลาวเพื่อมาทำงานรับใช้ตามบ้านในเมืองหรือตามสถานที่อื่นๆ ในประเทศไทยกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นทั่วไปในประเทศลาวยุคปัจจุบัน  ภายในระบบเศรษฐกิจระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศลาว วงวิชาการมักทำความเข้าใจแนวโน้มนี้ผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์เชิงโครงสร้าง (เช่น Dwyer 2007)   ถึงแม้การตีความเชิงวัตถุวิสัยย่อมมีคุณประโยชน์ในตัวมันเอง แต่เมื่อผสมปนเปกับการเหมารวมด้วยความเชื่อฝังหัวว่าชาวลาวในชนบทมีบุคลิกลักษณะแบบเกษตรกรและยึดติดกับสถานที่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดวาทกรรมที่นิยมมองแรงงานย้ายถิ่นจากชนบทเป็น “เหยื่อของการพัฒนา” (Barney 2012)  เรื่องเล่าแม่บทมักถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนที่ถูกความยากจนจากนโยบายเศรษฐกิจบีบให้ละทิ้งถิ่นฐานชนบท จนต้องผันตัวเป็นแรงงานไร้ทักษะราคาถูกและทนทุกข์จากการขูดรีดกดขี่สารพัดรูปแบบ  เรื่องเล่าแม่บทแบบเหมารวมนี้ตกเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวงวิชาการว่าไม่เพียงพอต่อการอธิบายอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลที่เป็นแรงงานย้ายถิ่น  ความพยายามที่จะเล่าเรื่องใหม่จากมุมมองของ “ความสมัครใจ” ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจลาจากภูมิลำเนาในชนบทเพื่อไปหางานทำในเมือง โดยเฉพาะแรงปรารถนาต่อความทันสมัยและความอิสระ สามารถสั่นคลอน “ภาพพจน์ความเป็นเหยื่อ” ที่ถูกกระทำฝ่ายเดียวของแรงงานเหล่านี้อย่างได้ผลในระดับหนึ่ง (Riggs 2007; Portilla 2017)  อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพรรณนาถึงประสบการณ์ของแรงงานย้ายถิ่นในขั้นตอนของการทำงานจริง ภาพพจน์แบบเดิมก็ยังตกค้าง  ข้อสังเกตเกี่ยวกับแรงงานย้ายถิ่นในสถานประกอบการต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศถูกครอบงำด้วยคำพรรณนาถึงระบบค่าแรงที่กดขี่ การถูกละเมิดทำร้ายในระดับบุคคลและการถูกกีดกันทางสังคม (Phouxay and […]

Paige-Johnson-Tan-Suharto-20-years
Issue 24

ภาวะปกติใหม่: ยี่สิบปีของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียยุคหลังซูฮาร์โต

เมื่อซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียในเดือนพฤษภาคม 1998 เส้นทางของประเทศยังไม่มีความแน่นอน  การเปลี่ยนระบอบสู่ประชาธิปไตยจะเดินหน้าได้หรือไม่?  จะมีการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างจนกลายเป็นการนองเลือดดังที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียหรือไม่?  ยี่สิบปีให้หลัง อินโดนีเซียยังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ผันผวนและรอดจากภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างหวุดหวิดหลายครั้ง  บทความนี้จะใช้มรรควิธีศึกษาของ Juan Linz และ Alfred Stepan ในการทำความเข้าใจการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย (Democratic Consolidation) เพื่อประเมินระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียในช่วงยี่สิบปีหลังการโค่นล้มระบอบซูฮาร์โต  บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้อินโดนีเซียก้าวไปในทิศทางของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยในหลายๆ ด้าน กระทั่งระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นภาวะปกติใหม่ไปแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาท้าทายสาหัสสากรรจ์อีกหลายประการ เช่น องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย สื่อมวลชนที่ทำตัวเป็นภัยคุกคามและขาดความเป็นมืออาชีพ พรรคการเมืองที่ใส่ร้ายป้ายสีกัน ความอ่อนแอในหลักนิติธรรม การคอร์รัปชั่นในระบบราชการและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขเบื้องต้น: ความเป็นรัฐ สำหรับ Linz และ Stepan การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตยมีเงื่อนไขเบื้องต้นประการหนึ่ง […]

post-authoritarian-transformation-KRSEA
Issue 24

จากเอกาธิปไตยถึง “ระบบเครือข่ายประธานาธิบดี”: ความเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียหลังยุคเผด็จการ

ข้อถกเถียงจำนวนมากเกี่ยวกับอินโดนีเซียหลังยุคซูฮาร์โตเน้นไปที่คำถามว่า มีความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนในช่วงสองทศวรรษหลังจากระบอบเผด็จการสิ้นสุดลงในปี 1998  ในขณะที่นักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่า ชนชั้นนำที่มีอิทธิพลอำนาจมาตั้งแต่สมัยซูฮาร์โตฉวยโอกาสปล้นเอาสถาบันประชาธิปไตยเกิดใหม่ของอินโดนีเซียไปไว้ในกำมือของตน (Hadiz 2010)  แต่ก็มีบ้างที่ชี้ให้เห็นว่าสถาบันและการเมืองของอินโดนีเซียมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม (Tomsa 2017)  ในหลายๆ แง่ สาระสำคัญของข้อถกเถียงนี้สะท้อนอยู่ในการวิเคราะห์วิจารณ์ว่าบทบาทของตำแหน่งประธานาธิบดีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง  มีความเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่า ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหลังปี 1998 มีความแตกต่างจากซูฮาร์โตอย่างยิ่ง แต่ความเห็นพ้องต้องกันก็หยุดแค่ตรงนั้น  ถ้าเช่นนั้น ประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ดำรงตำแหน่งหลังจากการโค่นล้มซูฮาร์โตได้ใช้อำนาจตามบทบาทของตนอย่างไรกันแน่ และนั่นบอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับคุณภาพของระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซียหลังจากถือกำเนิดเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว?  ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า ระบอบเอกาธิปไตยของซูฮาร์โตได้เปลี่ยนร่างแปลงโฉมในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจนกลายเป็น “ระบบเครือข่ายประธานาธิบดี” (coalitional presidentialism) อันเป็นระบบที่ประมุขของรัฐคอยรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มสังคมการเมืองที่มีบทบาทสำคัญภายในประเทศโดยอาศัยการผูกพันธมิตรที่มีเครือข่ายกว้างขวางและเกี่ยวโยงภายในอย่างซับซ้อน  ตรงกันข้ามกับข้อเขียนเกี่ยวกับระบบเครือข่ายประธานาธิบดีที่มีอยู่  ผู้เขียนเห็นว่าไม่ได้มีเพียงพรรคการเมืองในรัฐสภาที่เป็นส่วนหนึ่งของความโยงใยนี้ แต่เครือข่ายประธานาธิบดีของอินโดนีเซียยังครอบคลุมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่มีอิทธิพล เช่น ข้ารัฐการ […]

Issue 24

อิสลามอารยะ ท่านจะไปทางไหน?: อรรถาธิบายการขยายตัวของลัทธิอิสลามนิยมในอินโดนีเซียหลังยุคปฏิรูป

การรณรงค์ “ปกป้องอิสลาม” ที่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านอดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา นายบาซูกี จาฮายา ปูร์นามา (หรือ “อาฮก”) คือหลักฐานชัดเจนว่า ลัทธิอิสลามนิยม (Islamism) กำลังขยายตัวในอินโดนีเซียหลังยุคปฏิรูป (Reformasi: หมายถึงช่วงเวลาหลังจากโค่นล้มซูฮาร์โต การปฏิรูปที่สำคัญคือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการลดบทบาทของกองทัพ–ผู้แปล)  น่าเสียดายที่ไม่มีการอธิบายประเด็นนี้มากเพียงพอในงานวิชาการเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียระยะหลัง  การขยายตัวของลัทธิอิสลามนิยมในอินโดนีเซียเกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยมาตลอดสองทศวรรษ   เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่านักวิชาการและผู้สันทัดกรณีจำนวนมากมองไม่เห็นอิทธิพลของขบวนการอิสลามอนุรักษ์นิยมแข็งกร้าวในอินโดนีเซียหลังยุคปฏิรูป  ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการโต้แย้งว่า ปัญหาเส้นผมบังภูเขาข้างต้นเกิดมาจากอิทธิพลของทฤษฎีว่าด้วยอิสลามอารยะ (Civil Islam) ซึ่งโรเบิร์ต เฮฟเนอร์นำเสนอไว้ในผลงานชิ้นเอกของเขา นั่นคือ Civil Islam (2000) ที่ตีพิมพ์ออกมาหลังจากยุค Reformasi เริ่มต้นในอินโดนีเซียเมื่อปี 1998 […]

Issue 24

ยี่สิบปีหลังยุคซูฮาร์โต: การเมืองวงศาคณาญาติกับสัญญาณของระบอบอำนาจนิยมส่วนภูมิภาค

ผ่านไปยี่สิบปีหลังจากซูฮาร์โตถูกโค่นล้มจากอำนาจในปี 1998 การเมืองวงศาคณาญาติ (dynastic politics) กลายเป็นลักษณะเด่นของการเมืองส่วนภูมิภาคในอินโดนีเซีย  ในปี 2013 กระทรวงมหาดไทยของอินโดนีเซียพบว่ามีระบบการเมืองวงศาคณาญาติอย่างน้อย 60 กลุ่มเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ  ถึงแม้ตัวเลขนี้อาจดูเหมือนเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเขต เทศบาลและจังหวัดทั้งหมด แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ระบบการเมืองวงศาคณาญาติในส่วนภูมิภาคก็มีการขยายตัวมากขึ้น (Djohan 2017)  เมื่อมีระเด็นการเมืองวงศาคณาญาติเกิดขึ้นเช่นนี้ เราควรเข้าใจการเมืองส่วนภูมิภาคของอินโดนีเซียในช่วงสองทศวรรษภายหลังการสิ้นสุดของยุคระเบียบใหม่อย่างไร? ผู้เขียนขอเสนอว่า ในปัจจุบันเรากำลังมองเห็นสัญญาณของ “ระบอบอำนาจนิยมส่วนภูมิภาค” (subnational authoritarianism) (Gibson 2013)  โดยที่การเมืองวงศาคณาญาติเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างและรักษาระบอบอำนาจนิยมดังกล่าวไว้  ถึงแม้สัญญาณและระดับของระบอบอำนาจนิยมส่วนภูมิภาคในอินโดนีเซียอาจไม่เด่นชัดเหมือนในประเทศละตินอเมริกาบางประเทศ แต่การมองข้ามสัญญาณของระบอบอำนาจนิยมส่วนภูมิภาคในพื้นที่ที่มีแนวโน้มของการเมืองวงศาคณาญาติอาจทำให้เรามองอะไรผิดไป หากเราต้องการเข้าใจการเมืองของอินโดนีเซียในช่วงเวลาหลังยุคระเบียบใหม่อย่างถ่องแท้ ด้วยเหตุนี้ เราต้องทำความเข้าใจการเมืองอินโดนีเซียให้มากขึ้นว่า มันไม่ได้มีแค่การแบ่งขั้วระหว่างฝ่ายที่ยืนยันว่าอินโดนีเซียมีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง กับฝ่ายที่แย้งว่าอินโดนีเซียมีระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้งที่อภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งสามารถปรับตัวเข้ากับกติกาใหม่เพื่อสนองผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของตัวเอง  […]

Issue 24

วิถีของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านกับความคับข้องใจในอินโดนีเซีย

ผ่านมายี่สิบปีหลังจากซูฮาร์โตสิ้นอำนาจ ประเทศอินโดนีเซียจัดการอย่างไรกับนโยบายและการกดขี่ที่ตกทอดจากระบอบเผด็จการในยุคระเบียบใหม่?  เรื่องราวของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) หรือการทบทวนอดีต คือความล้มเหลวอันน่าใจหายประการหนึ่ง ไม่มีการตัดสินลงโทษที่มีนัยสำคัญหรือการรับผิดอย่างชัดเจนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกาลก่อน  ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องราวของปณิธานมุ่งมั่นไม่ลดละ  เมื่อเส้นทางสู่ความยุติธรรมผ่านกระบวนการของรัฐมีแต่ความล้มเหลว กลุ่มนักกิจกรรมและภาคประชาสังคมจึงหันมาบุกเบิกเส้นทางใหม่ที่พึ่งพิงรัฐน้อยลงและพึ่งพิงสังคมมากขึ้น  กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การเมืองเกี่ยวกับอดีตของอินโดนีเซียยังไม่จบ วิถีทางของมันแค่ย้ายจากวิถีแบบบนลงล่างมาสู่วิถีแบบล่างขึ้นบน จากช่องทางที่เป็นทางการสู่ช่องทางไม่เป็นทางการ และจากการแก้ไขเยียวยามาสู่การตระหนักรับรู้ ถึงแม้กระบวนการผ่านช่องทางของรัฐไม่มีความก้าวหน้า  แต่แท้ที่จริงยังมีข้อเสนอและความริเริ่มมากมายหลากหลายที่จะแก้ไขทบทวนอดีต มีการผลักดันและวิวาทะกันตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งด้านการดำเนินคดีอาญา การค้นหาข้อมูล คณะกรรมการค้นหาความจริง การปฏิรูปกฎหมาย การชดเชย การจัดทำเอกสารและอนุสรณ์สถาน (ICTJ-Kontras 2011)  ความหลากหลายแม้น่าประทับใจ แต่ส่วนหนึ่งก็สะท้อนถึงจำนวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการของอินโดนีเซีย อันกอปรด้วยการสังหารหมู่ การปราบปรามความไม่สงบ การจำคุกประชาชนจำนวนมาก การบังคับเกณฑ์แรงงาน […]