คุกลับประเทศไทย: มรดกทางการเมืองจากยุคสงครามเย็น

Kevin Hewison

แง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจในรายงานข่าวเกี่ยวกับ “คุกลับ” ของสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ในประเทศไทยก็คือ นายสุณัย ผาสุก นักวิจัยองค์กร Human Rights Watch แสดงความคิดเห็นว่า กองทัพและตำรวจไทยรับเอาเทคนิคการทรมานของคุกลับมาใช้  “เราไม่เคยได้ยินวิธีการทรมานแบบวอเตอร์บอร์ดดิงมาก่อน….จนกระทั่งหลังจากปี 2547 หรือ 2548 ที่วิธีการนี้เพิ่งถูกนำมาใช้ที่นี่” (Los Angeles Times, April 22, 2018)  นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาทิ้ง “มรดก” สำคัญไว้ให้ประเทศไทย  การเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยในช่วงสงครามเย็นสร้างผลกระทบกว้างไกลต่อการเมืองและสถาบันการเมืองของประเทศไทยมายาวนาน

พันธมิตรในช่วงสงครามเย็นก่อตั้งขึ้นท่ามกลางบริบทของการต่อสู้ทางการเมืองหลากหลายฟากฝ่าย ซึ่งสะท้อนความขัดแย้งที่กำลังก่อตัวจนกลายเป็นสงครามเย็น  ในประเทศไทย ความพัวพันอย่างลึกซึ้งกับสหรัฐอเมริการ้อยรัดกับสงครามการเมืองภายในประเทศที่ต่อกรกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 กับฝ่ายนิยมกษัตริย์

Darling (1965, 104-105) คือผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เอกอัครราชทูตจากสหรัฐอเมริกาทุกคนที่มารับตำแหน่งในประเทศไทยหลังสงครามโลกที่สองล้วนเป็นนักต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวยง  แม้จะยืนยันว่าพวกเขา “ไม่มีความคิดอื่นใดนอกจากเจตนาดีที่พยายามช่วยรัฐบาลกับประชาชนไทย และคอยย้ำเตือนถึงสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ”  แต่เอกสารของซีไอเอและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยนั้นชี้ชัดว่า คำนิยามของ “เจตนาดี” ในที่นี้ก็คือ ประเทศไทยต้องเป็นพันธมิตรสงครามเย็นที่คงเส้นคงวาในการต่อสู้กับ “การรุกรานของคอมมิวนิสต์”

มีสามแง่มุมที่เกี่ยวร้อยกันในความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไทยยุคสงครามเย็น ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า “เจตนาดี” แปรเป็นปฏิบัติการที่สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมของกองทัพอย่างไรบ้าง  การสนับสนุนระบอบทหารที่มีเสถียรภาพก่อตัวขึ้นจากช่วงแรกที่สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรกับปรีดี พนมยงค์  จากนั้นสหรัฐฯ กลับลำมาทำลายอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มสนับสนุนเสรีไทยฝ่ายปรีดีในภายหลัง  ระหว่างกระบวนการนี้ สหรัฐอเมริกาและระบอบทหารในกรุงเทพก็นิยามภาคอีสานว่าเป็นแหล่งกบดานของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เป็นภัยและเรียกร้องดินแดนเป็นของตัวเอง  ภาคอีสานเป็นฐานที่มั่นสำคัญที่สนับสนุนปรีดีกับขบวนการเสรีไทย  การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในแต่ละครั้งล้วนทิ้งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเมืองของประเทศไทย

ปรีดี: จากมิตรกลายเป็นศัตรู

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปรีดีผู้เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายระดับแถวหน้า มันสมองเบื้องหลังการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในการปฏิวัติ 2475 ผู้นำขบวนการใต้ดินเสรีไทยและผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เขาเป็นพันธมิตรที่สหรัฐฯ ไว้วางใจมากที่สุดในประเทศไทย  ในปี 2489 สหรัฐอเมริกามอบเหรียญตรา Medal of Freedom แก่ปรีดีเพื่อเชิดชูการสนับสนุนที่เขามีต่อสหรัฐฯ  กระนั้นก็ตาม ความระแวงแคลงใจเริ่มก่อตัวขึ้นเนื่องจากแนวคิดสังคมนิยม ชาตินิยมทางเศรษฐกิจและการต่อต้านลัทธิอาณานิคมอย่างถึงรากถึงโคนของปรีดี (Thanet 1987; Goscha 1999)

Pridi Banomyong . File photo dated 1947. Wikipedia Commons

ฝ่ายกษัตริย์นิยมของไทยยิ่งโหมไฟให้ความเคลือบแคลงนั้นอย่างแข็งขัน  เนื่องจากขุ่นแค้นปรีดีมานาน พวกเขาจึงป่าวร้องให้ร้ายปรีดีซ้ำๆ ว่าเป็นนักสาธารณรัฐและ “บอลเชวิก”   ในช่วงแรกๆ ฝ่ายอเมริกันไม่นำพาต่อแผนการป้ายสีของฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่รายงานของสำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Services—OSS) ซึ่งทำหน้าที่แบบเดียวกับซีไอเอในสมัยนั้น กลับตอบรับนำเอาเรื่องเล่าแม่บทของฝ่ายกษัตริย์นิยมและ “ข่าวกรอง” มาตั้งคำถามต่ออุดมการณ์ของปรีดีมากขึ้นเรื่อยๆ  ในช่วงที่เกิดความระส่ำระสายทางการเมืองสืบเนื่องจากกรณีสวรรคตปริศนาของกษัตริย์อานันทมหิดลในปี 2489 รวมทั้งระหว่างช่วงเวลาก่อนเกิดรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลปรีดีในปี 2490   รายงานข่าวกรองที่เชื่อมโยงขบวนการเสรีไทยกับคอมมิวนิสต์ยิ่งทวีปริมาณขึ้น  ดังที่ Fineman (1997, 36) ชี้ให้เห็น  ฝ่ายอเมริกันเปิดไฟเขียวให้คณะรัฐประหาร “โค่นล้มรัฐบาลปรีดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยไม่ต้องรับผิดใดๆ”   เมื่อปรีดีถูกฝ่ายกษัตริย์นิยมกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับกรณีสวรรคต รวมทั้งกลายเป็นศัตรูของระบอบการปกครองและสหรัฐอเมริกาหลังจากพยายามทำรัฐประหารซ้อนแต่ล้มเหลวในปี 2492  ปรีดีก็ต้องนิราศลี้ภัยไปตลอดชีวิต

หลังจากการยึดอำนาจในปี 2490  ผู้นำกองทัพคนใหม่ของประเทศไทยยืนยันกับสถานทูตอเมริกันว่า พวกเขาต่อต้านนักสาธารณรัฐและคอมมิวนิสต์ ซึ่งหมายถึงปรีดีและขบวนการเสรีไทย  รายงานของซีไอเอ (1948a) กล่าวร้ายปรีดีว่าเป็น “คอมมิวนิสต์ที่สมคบคิดล้มล้างรัฐบาลชุดปัจจุบัน”  การที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนฝ่ายรัฐประหารสะท้อนถึงความกระหายของรัฐบาลอเมริกันที่ต้องการเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศไทย  รวมทั้งการตัดสินใจว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ยาถอนพิษที่สามารถสกัดการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์  ทัศนะเช่นนี้เปิดทางให้แก่การผูกพันธมิตรกับระบอบทหารบ้าอำนาจ

ในปลายปี 2492 เมื่อปรีดีลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนแล้ว รายงานของซีไอเอก็ยิ่งตอกย้ำเชื่อมโยงปรีดีกับลัทธิคอมมิวนิสต์จีนและกล่าวหาว่าเขาพยายามล้มล้างรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม  มีรายงานฉบับหนึ่งเชื่อมโยงปรีดีกับแผนการรุกราน ปฏิบัติการบ่อนทำลาย การตั้งศูนย์บัญชาการของขบวนการคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน ไปจนถึงการทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล ป. พิบูลสงครามโดยมีปักกิ่งคอยหนุนหลัง (CIA 1950)

เส้นทางของปรีดีจากพันธมิตรกลายเป็นภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ในสายตาอเมริกามีความหมายต่อการเมืองไทยอย่างไรบ้าง?  แน่นอน บทบาททางการเมืองของตัวปรีดีเองก็มีส่วนทำให้เขาสะดุดล้มจากอำนาจ  ปรปักษ์ของเขาเล่นเกมการเมืองได้ดีกว่า  กระนั้นก็ตาม การที่อเมริกาทอดทิ้งปรีดีก็สะท้อนถึงชัยชนะทางการเมืองครั้งสำคัญของฝ่ายกษัตริย์นิยม  ในขณะที่ ป. พิบูลสงครามเองก็ต่อต้านกษัตริย์นิยม แต่ตัวเขากับฝ่ายกษัตริย์นิยมกลับผนึกกำลังกันกำจัดทางเลือกที่เป็นระบอบประชาธิปไตยพลเรือน ซึ่งขบวนการทางการเมืองของปรีดีพยายามแผ้วถางให้เกิดขึ้น

ความพ่ายแพ้ทางการเมืองของปรีดีส่งผลให้กำลังหลักของฝ่ายต่อต้านอำนาจกองทัพในประเทศไทยอ่อนแอลงอย่างมากในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1940  เงื่อนไขนี้สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐอเมริกา  อเมริกาเลือกทิ้งขว้างพันธมิตรในช่วงสงครามโลก แล้วจัดเตรียมรากฐานทางการเมืองเพื่อปลุกชีพนักการเมืองฝ่ายกษัตริย์นิยมและสถาบันกษัตริย์ให้กลายเป็นสถาบันการเมืองที่ทรงอำนาจ  สิ่งที่สหรัฐอเมริกาได้รับตอบแทนก็คือพันธมิตรระบอบทหารที่มั่นคงและฐานทัพในเอเชียอาคเนย์ภาคพื้นทวีปสำหรับปฏิบัติการในสงครามเย็น

ภัยคุกคามจากภาคอีสาน

เนื่องจากพยายามกำจัดฐานสนับสนุนของปรีดีในขบวนการเสรีไทย รัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาจึงเชื่อมโยงขบวนการเสรีไทยกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงที่โน้มน้าวฝ่ายอเมริกันได้ดี  เอกสารและนโยบายของทางการสหรัฐฯ ที่โยงปรีดี ขบวนการเสรีไทยและนักการเมืองฝ่ายค้านกับขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดมินห์และผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวเวียดนามในภาคอีสาน มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงปลายสงครามโลก การที่ไทยสนับสนุนขบวนการเวียดมินห์ รวมถึงขายอาวุธให้ เป็นเรื่องที่ทราบกันดีในวงกว้าง  อันที่จริง การต่อต้านลัทธิอาณานิคมและความชิงชังฝรั่งเศสทำให้การสนับสนุนนี้ตัดข้ามเส้นแบ่งทางการเมือง  ดังที่ Goscha (1999) ชี้ให้เห็น ปรีดี ขบวนการเสรีไทยและนักการเมืองในภาคอีสาน อันประกอบด้วยเตียง ศิริขันธ์และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ล้วนเป็นตัวกลางสำคัญในการติดต่อกับเวียดมินห์

เมื่อ ป. พิบูลสงครามยึดอำนาจ  ฝ่ายเวียดมินห์ตระหนักดีว่า ถึงแม้ ป. พิบูลสงครามจะต่อต้านฝรั่งเศส แต่เขาก็ต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วย (Goscha 1999, ch 7)  ในขณะเดียวกัน ฝ่ายอเมริกันก็ปรับคำนิยามต่อขบวนการเวียดมินห์ จากเดิมที่นิยามเป็นขบวนการชาตินิยมก็กลายเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ และหันไปสนับสนุนฝรั่งเศสแทน  รายงานของหน่วยข่าวกรองเกี่ยวกับเงินและอาวุธที่ผ่องถ่ายจากประเทศไทยไปให้ขบวนการเวียดมินห์ล้วนถูกติดป้ายพาดพิงไปถึงปรีดีกับเครือข่ายของเขา (CIA 1948b)  มีรายงานหลายชิ้นกล่าวอ้างว่าเวียดมินห์เข้ามาตั้งค่ายฝึกขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งอ้างว่ามีกลุ่มนักศึกษาอีสานที่โกรธแค้นและมีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนถูกชักชวนไปอบรมความคิดและฝึกทหารในจีนและเวียดนาม  ข้อกล่าวอ้างเหล่านี้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ โดยน่าจะรับข้อมูลมาจากรัฐบาลและแหล่งข่าวที่เป็นฝ่ายกษัตริย์นิยม (CIA 1949a, b)  ผลที่ตามมาก็คือฝ่ายอเมริกันตัดสินใจเด็ดขาดว่าจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่รัฐบาลไทยเพื่อกวาดล้างขบวนการที่เจริญรอยตามเวียดมินห์และเสริมความเข้มแข็งให้รัฐบาลเพื่อต่อต้านฝ่ายค้านทางการเมืองภายในประเทศ

KRSEA Thailand Southeast Asia map

ในขณะที่รายงานของซีไอเอย้ายจุดโฟกัสไปที่ความหวาดกลัวการรุกรานจากเวียดนามหรือจีน รัฐบาลทหารไทยก็เดินหน้ากวาดล้างนักการเมืองที่สนับสนุนปรีดี  วาทกรรมของทางการสหรัฐฯ สอดรับกันพอดี นั่นคือชี้เป้าว่าภาคอีสานเป็นแหล่งเพาะภัยลัทธิคอมมิวนิสต์และขบวนการเรียกร้องดินแดนเป็นของตัวเอง ซึ่งขบวนการเหล่านี้เป็นฐานสนับสนุนของปรีดี  ผู้สนับสนุนปรีดีจึงถูกจัดการด้วยความรุนแรง  หลังจากการรัฐประหาร 2490 มีหลายคนถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาว่าสมคบคิดวางแผนแบ่งแยกดินแดน  หลายคนต้องหนีไปซ่อนตัว (Keyes 2014)  หลังจากมีการพยายามทำรัฐประหารซ้อนแต่ล้มเหลวในปี 2492 รัฐไทยก็ลอบสังหารผู้นำหลายคนและจำคุกจำนวนมาก  กรณีอื้อฉาวที่สุดคือตำรวจวิสามัญฆาตกรรมอดีตรัฐมนตรีสี่คนจากภาคอีสานระหว่างควบคุมตัว  รัฐบาลอเมริกันรู้ดีว่าพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นผู้สั่งการการลอบสังหาร รวมทั้ง ป. พิบูลสงครามและรัฐมนตรีหลายคนก็รับรู้แผนการสังหารนี้เช่นกัน (CIA 1949c)  กระนั้นสหรัฐฯ กลับมองว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนี้จำเป็นต่อการสร้างหลักประกันให้เสถียรภาพของรัฐบาลและสร้างความเข้มแข็งแก่การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

แต่แม้กระทั่งหลังจากกดขี่ปราบปรามเช่นนี้แล้ว ปรีดีกับขบวนการเสรีไทยก็ยังถูกมองว่าเป็นภัยต่อรัฐบาล  สหรัฐฯ เริ่มปักใจมากขึ้นว่าภาคอีสานทั้งหมด ซึ่งยังเป็นฐานสนับสนุนที่แข็งแกร่งของปรีดี คือ “ตัวปัญหา”  จุดโฟกัสจึงย้ายไปสู่ปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อ “ลดทอนอันตรายของความแข็งข้อในภาคอีสาน”  ความช่วยเหลือด้านการทหารและเศรษฐกิจจึงมุ่งเน้นไปที่การตัดถนนและสร้างทางรถไฟเพื่อ “พัฒนาจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและมีความล่อแหลมในเชิงยุทธศาสตร์” (Morgan 1953)  ความพยายามนี้ทำให้โครงการด้านการทหารของสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปที่การกำราบกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งวิลเลียม โดโนแวน เจ้าของฉายา “Wild Bill” ผู้ก่อตั้งสำนัก OSS และได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตคนใหม่ประจำประเทศไทย เรียกว่า “ไอ้พวกหัวคอมมิวนิสต์….ที่คอยปลุกปั่น [ใน] ภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย” (OH 1987)  โดโนแวนผลักดันการตัดถนนสายยุทธศาสตร์ การตั้งฐานทัพอากาศอเมริกันในภาคอีสานและให้ความสำคัญมากขึ้นแก่การปราบปรามการก่อกบฏ (Operations Coordinating Board 1954a)

การสังหารนักการเมืองที่สนับสนุนปรีดีและการนิยามภาคอีสานเป็นพื้นที่ของฝ่ายค้านและลัทธิคอมมิวนิสต์สร้างผลพวงตามมาอีกยาวนาน โดยเฉพาะการตีตราว่าภูมิภาคนี้เป็นภัยคุกคามในด้านการเรียกร้องดินแดนเป็นของตัวเองและมีประชากรที่ล้าหลัง คิดไม่ซื่อและเป็นภัยต่อชนชั้นนำทางการเมืองในกรุงเทพ (Keyes 2014)  สำหรับชาวอีสานจำนวนมาก การสังหารกวาดล้างผู้นำทางการเมืองของพวกเขาคือสิ่งที่ยืนยันว่า กรุงเทพเป็นปฏิปักษ์และแบ่งแยกกีดกันชาวอีสาน ประเด็นนี้ยิ่งตอกย้ำแนวคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของภูมิภาค

ระบอบทหารอำนาจนิยม

เมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งขว้างปรีดี แล้วหันไปอ้าแขนรับระบอบทหารอำนาจนิยม  สหรัฐอเมริกาอ้างความชอบธรรมให้หมากตานี้ว่าจำเป็นต้องสถาปนาระบอบการปกครองที่มีเสถียรภาพ ซึ่งสามารถต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และกำราบฝ่ายกบฏภายในประเทศ

ความช่วยเหลือทางการทหารต่อประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ทราบกันดี (Surachart 1988)  เมื่อรายงานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ถูกส่งกลับไปวอชิงตัน สหรัฐฯ ก็ยิ่งเสริมความเข้มแข็งให้กองทัพเพื่อเป็นปราการทางยุทธศาสตร์ในการต่อต้าน “การรุกรานแทรกซึมของโซเวียตและจีน” (OH 1976)  มีความเสียขวัญระดับหนึ่งเมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นและเสียงเรียกหาความช่วยเหลือทางการทหารยิ่งดังกว่าเดิม กระทั่งมีการลงนามในข้อตกลงความช่วยเหลือในเดือนตุลาคม 2493  ในไม่ช้าความช่วยเหลือก็ถั่งท้นเข้ามาประดุจสายน้ำเชี่ยวกราก  พร้อมกันนั้น เอดวิน สแตนตัน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย สำทับว่าการบ่อนทำลายของคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลไทย (OH 1977)  ข้อเสนอความช่วยเหลือทางการทหารจึงเพิ่มขึ้นสิบเท่าระหว่างปี 2495-2497 เป็นจำนวนเงินถึง 124.1 ล้านดอลลาร์ (Halaby 1950)

ในปี 2496 คณะทูตทหารที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย นำโดยนายพลวิลเลียม เอ็น. กิลล์มอร์ สรุปว่ายังมีเรื่องจำเป็นต้องทำอีกมาก  มีคำแนะนำให้เพิ่มการฝึกทหาร เพิ่มที่ปรึกษา และเพิ่มกำลังทหารในกองทัพไทยเป็นสองเท่าจนถึงจำนวน 120,000 นาย  กำลังตำรวจเพิ่มขึ้นอีก 5,000 นาย จนมีจำนวน 42,000 นาย  นอกจากนี้ เริ่มมีการฝึกอบรมกองอาสารักษาดินแดนที่ตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งมีแผนการที่จะเพิ่มกำลังพลจนถึง 120,000 นาย (OH 1987)

ความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของกองทัพและตำรวจไทย  สหรัฐฯ ปลุกปั้นให้กองทัพเป็นสถาบันการเมืองที่ทรงอิทธิพล  ดังที่ Darling (1965, 67) กล่าวว่า สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น “ระบอบการปกครองแบบอนุรักษ์นิยมและต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยกลายเป็นระบอบที่น่าพึงพอใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงการเมืองภายในประเทศหรือวิธีการได้มาซึ่งอำนาจ”  ส่วนนายพลกิลล์มอร์ยิ่งตรงไปตรงมากว่า เขาประกาศโต้งๆ เลยว่า  “ดังนั้น ตราบที่….เราสนับสนุนให้ระบอบคณาธิปไตยกองทัพที่โหดเหี้ยมอำมหิตรักษาอำนาจไว้  เราก็มีหลักประกันพอสมควรว่าไทยจะมีเจตจำนงในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์” (OH 1987)  แม้แต่การฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมโหฬารก็ไม่ทำให้สหรัฐฯ สะทกสะท้าน มิหนำซ้ำมีรายงานฉบับหนึ่งบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ (Morgan 1953)  อันที่จริง การคอร์รัปชั่นนี่แหละคือกาวเชื่อมประสานเหล่านายพลเข้าด้วยกัน: “นี่คือผู้คนที่ไต่เต้าขึ้นสู่ยศถาบรรดาศักดิ์ด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ด้วยความโหดเหี้ยมอำมหิตและด้วยการร่วมมือสนับสนุนซึ่งกันและกัน” (OH 1987)

การคอร์รัปชั่น ความอำมหิตและป่าเถื่อนกลายเป็นสิ่งที่เทียบเท่ากับเสถียรภาพทางการเมืองและการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน  ผู้นำกองทัพไทยเรียนรู้ว่าตนสามารถกดขี่และกอบโกยความมั่งคั่งอย่างพ้นผิดลอยนวล

บทสรุป

พันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยในช่วงสงครามเย็นนำไปสู่การสนับสนุนระบอบทหารอำนาจนิยมและการกดขี่ทางการเมือง ตลอดจนลิดรอนการเมืองภาคพลเรือนจนง่อยเปลี้ยอ่อนแอ  การทำลายปรีดีกับพันธมิตรของเขาสอดรับกับความต้องการของฝ่ายกษัตริย์นิยมและกองทัพที่เป็นปฏิปักษ์กับปรีดี  มันสอดรับกับความต้องการของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน  การเดินหมากนี้ช่วยกรุยทางให้นักการเมืองฝ่ายกษัตริย์นิยมฟื้นคืนอำนาจ  รวมทั้งการที่กษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดชมีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา (โปรดดู Handley 2006)  การกดขี่ การจับกุมและการสังหาร เป็นวิธีการตัดตอนการเมืองก้าวหน้าของฝ่ายพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน  ไม่เพียงกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายกษัตริย์นิยมและกองทัพอย่างมีเหตุผลและเป็นที่นิยมของประชาชนจะถูกกวาดล้างทำลายเท่านั้น  แต่ภาคอีสานทั้งภาคถูกนิยามว่าเป็น “อันตราย” ทางการเมืองและมีแนวโน้มจะเรียกร้องดินแดนเป็นของตัวเองด้วย  แนวความคิดนี้ยังคงเป็นแรงกระตุ้นเบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างภาคอีสานกับชนชั้นนำในกรุงเทพ  ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ ยุทธศาสตร์สมัยสงครามเย็นของสหรัฐอเมริกาบ่อนเบียนกัดกร่อนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการสนับสนุน ค้ำจุน ติดอาวุธและป่าวร้องโฆษณาให้อุดมการณ์ที่นิยมระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมแต่มีเสถียรภาพ  นับตั้งแต่สงครามเย็นเป็นต้นมา กองทัพไทยทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งล่าสุดคือในปี 2557

Kevin Hewison
Weldon E. Thornton Distinguished Emeritus Professor of Asian Studies at the Department of Asian Studies at the University of North Carolina at Chapel Hill

References

CIA. 1948a. “Intelligence Highlights No. 26,” Office of Reports and Estimates, CIA Far East/Pacific Branch.
CIA. 1948b. “Details Concerning Pridi, Luang Pibul and the Viet Minh,” Information Report, September 7.
CIA. 1949a. “Location of Viet Minh Training Camp in Siam,” Information Report, January 18.
CIA. 1949b. “Political Teachings in Chinese Private Schools in Siam,” Information Report, March 4.
CIA. 1949c. “Chinese Communists in Siam,” Information Report, May 16.
CIA. 1950. “1. Possible Communist Invasion of Thailand 2. Possible Plan of Communist Underground in Thailand,” Information Report, August 22.
Darling, F. 1965. Thailand and the United States. Washington, DC: Public Affairs Press.
Fineman, D. 1997. A Special Relationship. The United States and Military Government in Thailand, 1947-1958. Honolulu: University of Hawai’i Press.
Goscha, C. 1999. Thailand and the Southeast Asian Networks of the Vietnamese Revolution, 1885-1954. Richmond: Curzon.
Halaby, N. 1950. “Memorandum to Major General Stanley L. Scott, Department of Defense,” December 19.
Handley, P. 2006. The King Never Smiles. New Haven: Yale University Press.
Keyes, C. 2014. Finding Their Voice. Chiang Mai: Silkworm Books.
Morgan, G. 1953. “Memorandum for the Psychological Strategy Board, Revision of PSB D-23,” Psychological Strategy Board, July 28.
Office of the Historian. 1976. Foreign Relations of the United States, 1949, The Far East and Australasia, Volume VII, Part 2, Washington DC: US Government Printing Office.
Office of the Historian. 1977. Foreign Relations of the United States, 1951, Asia and the Pacific, Volume VI, Part 2, Washington, DC: US Government Printing Office.
Office of the Historian. 1987. Foreign Relations of the United States, 1952-1954, East Asia and the Pacific, Volume XII, Part 2, Washington: US Government Printing Office.
Operations Coordinating Board. 1954a. “Special Report on Thailand,” National Security Council 5405, July 15.
Surachart Bamrungsuk. 1988. United States Foreign Policy and Thai Military Rule, 1947-1977. Bangkok: Editions Duang Kamol.
Thanet Aphornsuvan. 1987. “The United States and the Coming of the Coup of 1947 in Siam,” Journal of the Siam Society, 75: 187-214.