การเจรจารอบใหม่ในประเด็นชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563  คณะพูดคุยฝ่ายไทยกับสมาชิกของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานีหรือบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional—BRN) ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอำนาจควบคุมนักรบทั้งหมดในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมพูดภาษามลายู  ทั้งสองฝ่ายนัดพบกันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อประกาศว่าจะเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายตั้งตารอกันมาเนิ่นนานแล้ว  ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น การริเริ่มกระบวนการสันติภาพครั้งล่าสุดนี้เป็นครั้งแรกที่สภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น ซึ่งไม่เคยเปิดเผยตัวมาก่อน แต่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Dewan Pimpinan Parti (DPP) ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการส่งคณะเจรจามาร่วมโต๊ะพูดคุย  เรื่องที่ยอมรับกันเป็นการเบื้องต้นก็คือ ทั้งสองฝ่ายไปพบปะกันเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองให้แก่ความขัดแย้งยากคลี่คลายนี้  ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่ประชากรพูดภาษามลายูปะทุขึ้นมาในปลายปี 2544  แต่ยังไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการจนกระทั่งวันที่ 4 มกราคม 2547 เมื่อนักรบติดอาวุธกลุ่มใหญ่บุกค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสและปล้นอาวุธสงครามออกไปมากกว่า 350 ชิ้น  คลื่นความขัดแย้งก่อนหน้านี้เคยผุดให้เห็นเมื่อต้นทศวรรษ 1960 เพื่อตอบโต้นโยบายกลืนกลายของรัฐไทยที่พยายามสลายอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์-ศาสนาของชาวมลายูปาตานี  การก่อกบฏด้วยอาวุธครั้งนั้นสงบซาลงในช่วงปลายทศวรรษ 1980  แต่เรื่องเล่าแม่บทที่สืบทอดกันมาว่าปาตานีคือมาตุภูมิทางประวัติศาสตร์ของชาวมลายู  ส่วนกองทัพไทยกับหน่วยงานราชการคือกองกำลังจากต่างประเทศที่เข้ามายึดครอง  ความเชื่อนี้ไม่เคยจางหายไปไหน

แต่วันที่ 20 มกราคม 2563 ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยประกาศต่อสาธารณะว่าจะเข้าสู่กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งกับบีอาร์เอ็นด้วยการเจรจา  ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 รัฐบาลสมัยนั้นภายใต้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเคยริเริ่มกระบวนการคล้ายๆ กันนี้มาแล้วในกรุงกัวลาลัมเปอร์เช่นกัน  การประกาศครั้งนั้นยังความประหลาดใจจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นกุญแจสำคัญทุกฟากฝ่ายตั้งตัวไม่ทัน อันได้แก่บีอาร์เอ็นและกองทัพไทย  ในท้ายที่สุด บีอาร์เอ็นยอมส่งคณะตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะเจรจา  กล่าวคือ มูฮัมมัด อาดัม นัวร์ อดีตหัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศ และอับดุลคาริม คาลิด สมาชิกจากปีกเยาวชนของบีอาร์เอ็น  แต่หน้าที่จริงๆ ของทั้งสองคือหาทางล้มกระบวนการเจรจา ซึ่งก็ทำสำเร็จจนได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556  ในตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์เองก็กำลังดิ้นรนยื้อชีวิตทางการเมืองให้รอดพ้นจากการประท้วงตามท้องถนนที่เรียกกันว่า “ชัตดาวน์กรุงเทพ” อันเป็นการกรุยทางให้กองทัพออกมารัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 และโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลุดจากอำนาจ  ถึงแม้การริเริ่มของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเป็นอะไรครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างการลักไก่กับการหวังผลสูง แต่มันก็กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นและความคาดหวังอย่างมากจากชาวบ้านท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ถึงที่สุดแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยผูกมัดตัวเองต่อสาธารณะว่าจะคลี่คลายความขัดแย้งนี้ด้วยกระบวนการทางการเมือง  น่าเสียดายที่แรงจูงใจหลักไม่ใช่การสร้างสันติภาพให้เกิดแก่พื้นที่พิพาททางประวัติศาสตร์แห่งนี้  ยิ่งลักษณ์กับนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในตอนนั้น ทั้งสองสนใจแต่การกอบโกยผลดีทางการเมืองจากการเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการสันติภาพมากกว่า

ภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557  มีการวิวาทะกันอย่างดุเดือดว่าควรดำเนินการสานต่อจากที่ยิ่งลักษณ์เริ่มต้นไว้หรือไม่  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลุ่มนายทหารระดับสูงของประเทศไทยที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ไม่มีส่วนร่วมในการเจรจาหรือการริเริ่มกระบวนการครั้งนั้นก็จริง  แต่สุดท้ายรัฐบาลทหารก็ตัดสินใจดำเนินการเจรจาต่อ แต่ด้วยเงื่อนไขว่าการเจรจาต้องครอบคลุมทุกกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้อง  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องดึงกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมลายูปาตานีทั้งหมดให้เข้ามามีส่วนร่วม อันกอปรด้วยบีอาร์เอ็น ทุกกลุ่มก๊กในองค์กรปลดปล่อยสหปาตานี (พูโล)  ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปาตานี (Gerakan Mujahidin Islam Patani–GMIP) และขบวนการแนวร่วมปลดแอกอิสลามปาตานี (Barisan Islam Pembebasan Patani–BIPP)  ขบวนการทั้งหมดนี้ต้องมาพร้อมกันและเจรจาต่อรองข้อเรียกร้องที่แตกต่างกันของตนกับรัฐไทย  รัฐบาลประยุทธ์กับกลุ่มนายทหารระดับสูงของประเทศไทยไม่พอใจกับความคิดว่าพวกเขาต้อง “ลดตัว” ไปเจรจากับผู้ก่อการกบฏมลายูปาตานี  ด้วยเหตุนี้จึงเรียกร้องให้การเจรจาต้องครอบคลุมทุกกลุ่มองค์กร  พวกเขาต้องการเจรจาทีเดียวให้จบ  นี่คือจุดยืนของฝ่ายไทย  ในเดือนธันวาคม 2557 เจ็ดเดือนหลังการรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาเดินทางไปกัวลาลัมเปอร์เพื่อแนะนำหัวหน้าคณะผู้แทนคนใหม่ พลเอกอักษรา เกิดผล  เขาต้องทำงานเคียงคู่กับอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติของมาเลเซีย ดาโต๊ะ อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกสำหรับกระบวนการสันติภาพครั้งนี้

ตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทยที่ต้องการให้การเจรจาครอบคลุมทุกกลุ่มขบวนการและอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย  มาราปาตานี (MARA Patani) กลายเป็นองค์กรร่มที่รวบรวมขบวนการแบ่งแยกดินแดนมลายูปาตานีที่เคลื่อนไหวมายาวนาน  แต่ปัญหาของการจัดการครั้งนี้ก็คือ บีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวที่ควบคุมนักรบในพื้นที่ กลับปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วม  กระนั้นก็ตาม กระบวนการเจรจาก็ดันทุรังดำเนินต่อไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ด้วยความหวังว่าการริเริ่มไปก่อนจะสร้างแรงจูงใจมากพอจนดึงบีอาร์เอ็นเข้ามามีส่วนร่วมในภายหลัง  ด้วยเหตุนี้เอง ตลอดเวลาสามปีหลังจากนั้น คณะเจรจาฝ่ายไทย มาราปาตานีและผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย ร่วมมือกันผลักดันโครงการนำร่องที่เรียกว่า “พื้นที่ปลอดภัย” (Safety Zone) ซึ่งมีแผนการจะจัดตั้งให้อำเภอในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตหยุดยิง พร้อมกับมีโครงการพัฒนาที่จะใช้เป็นต้นแบบเพื่อแสดงให้เห็นว่าสันติภาพกับการพัฒนาเป็นสิ่งที่บรรลุถึงได้หากปราศจากความรุนแรง  แต่ในความเป็นจริง มันเปรียบเสมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตนไม่ได้สักตัว เพราะกลุ่มที่ควบคุมนักรบในพื้นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้

Prayuth Chan-ocha (crop) pictured in Bangkok in 2012. Wikipedia Commons

ในเดือนตุลาคม 2561  รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่งตั้งพลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยแทนพลเอกอักษรา  พลเอกอุดมชัยมีประสบการณ์หลายปีในสนามรบของพื้นที่ชายแดนภาคใต้  เมื่อรับตำแหน่งแล้ว พลเอกอุดมชัยรีบถอนตัวจากโครงการพื้นที่ปลอดภัยทันที เนื่องจากรู้ดีว่าโครงการนี้จะล้มเหลวแน่นอนถ้าบีอาร์เอ็นไม่เข้าร่วมด้วย  การแต่งตั้งพลเอกอุดมชัยเกิดขึ้นในห้วงเวลาสองเดือนหลังจากรัฐบาลของ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามา ก็เปลี่ยนตัวดาโต๊ะซัมซามินออก แล้วแต่งตั้งตัน สรี อับดุล ราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจที่เกษียณแล้วมารับตำแหน่งผู้อำนวยความสะดวกแทน  พลเอกอุดมชัยคิดว่าเขาสามารถอาศัยผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียคนใหม่ให้กดดัน DPP มาร่วมโต๊ะเจรจา  แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้ามเมื่อนักรบในพื้นที่ตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรงระลอกใหญ่ในเดือนมกราคม 2562 ด้วยการสังหารพระในศาสนาพุทธสองรูปที่จังหวัดนราธิวาส  เดือนเดียวกันนั้นยังเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ก่อความไม่สงบยิงอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เสียชีวิตสี่คน (อาสาสมัครหน่วยนี้คือผู้ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยในท้องถิ่นสังกัดกระทรวงมหาดไทย)  นอกจากนี้ ครูโรงเรียนรัฐบาลที่เกษียณแล้วอีกคนหนึ่งก็ถูกยิงเสียชีวิตและแขวนศพไว้  รถยนต์ของเขาถูกขโมยไปและใช้เป็นคาร์บอมบ์ในวันนั้น

กลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองท้องถิ่น เช่น The Patani และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PerMAS) เพิ่มความเข้มข้นให้การรณรงค์ในท้องถิ่นมากขึ้น เรียกร้องให้นักรบบีอาร์เอ็นเคารพกฎหมายและบรรทัดฐานด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ  รวมทั้งเตือนสติผู้ก่อความไม่สงบว่า ในฐานะตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐซึ่งมีศักยภาพด้านการทหารจำกัด เป้าหมายหลักของบีอาร์เอ็นจึงควรเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า  กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตอบรับแนวคิดของการแสดงจุดยืนทางจริยธรรมเหนือกว่ารัฐไทยและยอมหลีกเลี่ยงจากการโจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอ (soft target)  ประมาณหกเดือนให้หลัง ประเทศไทยกับมาเลเซียดำเนินการกดดันมากขึ้นเพื่อให้แกนนำบีอาร์เอ็นมาร่วมโต๊ะเจรจา  ครั้งนี้บีอาร์เอ็นตอบโต้ด้วยการวางระเบิดเล็กๆ ทั่วทั้งกรุงเทพ ฉีกหน้ารัฐบาลไทยที่กำลังเป็นเจ้าภาพต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เดินทางมากรุงเทพเพื่อประชุมทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและจีน

เช่นเคย ผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซียและคณะเจรจาฝ่ายไทยเริ่มถอยออกมา  ในจุดนั้น กรุงเทพปักใจว่าราฮิม นูร์และคณะผู้อำนวยความสะดวกของเขาไม่สามารถดึงแกนนำบีอาร์เอ็นมาพูดคุยกับฝ่ายไทยโดยตรง  ด้วยเหตุนี้ คณะพูดคุยของไทยจึงเริ่มหันไปติดต่อองค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศแห่งหนึ่งที่เคยทำงานกับบีอาร์เอ็นในอดีต เนื่องจากทราบดีว่าฝ่ายมาเลเซียย่อมคัดค้านแนวคิดที่จะนำคนนอกเข้ามาร่วมในกระบวนการ  เรื่องที่น่าประหลาดใจก็คือ แกนนำของบีอาร์เอ็นกลับอนุญาตให้คณะกรรมการฝ่ายกิจการต่างประเทศที่นำโดยอานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งคือฮีพนี มะเระ) มาพบปะกับฝ่ายไทย  ทั้งสองฝ่ายนัดพบกันในอินโดนีเซีย แล้วพบปะกันอีกครั้งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พร้อมกันนั้น องค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศก็ร่างกรอบแนวทางการทำงานร่วมกันความยาว 7 หน้านำเสนอแก่คณะเจรจาฝ่ายไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็น  คงไม่ต้องบอกว่ากัวลาลัมเปอร์ไม่พอใจที่ไม่ได้รับรู้การดำเนินการทั้งหมดนี้เลย  ส่วนเอ็นจีโอต่างชาติที่จัดการประชุมในอินโดนีเซียและเยอรมนีนั้น นี่คือโอกาสกลับมามีบทบาทอีกครั้งหลังจากถูกกันออกไปวงนอกนับตั้งแต่กรุงเทพมอบหมายหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเจรจาแก่กัวลาลัมเปอร์ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

The Muslim provinces in Thailand’s Deep South

ประเทศไทยพยายามปรับความเข้าใจกับมาเลเซียโดยอาศัยรูปแบบการประกาศต่อสาธารณะ นั่นคือการจัดประชุมเพื่อแสดงให้เห็นการบรรลุผลสำเร็จขั้นตอนใหม่โดยชี้ว่าเป็นคุณูปการจากการทำงานอย่างหนักของมาเลเซีย  การประกาศความสำเร็จขั้นตอนใหม่ที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ในกัวลาลัมเปอร์  มีการกล่าวคำสรรเสริญยกย่องรัฐบาลมาเลเซียอย่างเต็มที่  แต่ลึกลงไปนั้น ทุกฝ่ายรู้ดีว่าการพูดคุยเจรจาโดยตรงกับฝ่ายไทยในอินโดนีเซียและเบอร์ลิน รวมทั้งการจัดประชุมเพื่อเริ่มขั้นตอนใหม่เมื่อวันที่ 20 มกราคมในกัวลาลัมเปอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นการหวังผลสูงเกินจริง  ขบวนการลึกลับที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับกองกำลังความมั่นคงฝ่ายไทยมาตลอด 17 ปีกำลังย้ายไปเคลื่อนไหวในปริมณฑลใหม่ที่ตนก็ยังไม่คร่ำหวอด  ปีกการทหารและนักรบในพื้นที่ไม่สบายใจอย่างยิ่งกับแนวทางนี้ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีการหารือกับพวกเขาตั้งแต่ต้น กับอีกส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยเลยกับแนวคิดที่จะจัดเวทีให้มีกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการในเมื่อข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่เคยได้รับการตอบสนอง  ยิ่งกว่านั้น ผู้บังคับบัญชามักบอกนักรบในพื้นที่มาตลอดว่าการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของชาวมลายูที่เรียกกันว่าปาตานีถือเป็น วาจิบ (wajib) หรือพันธะทางศีลธรรม  แล้วตอนนี้มันยังเป็นวาจิบอยู่หรือเปล่า? ดูเหมือนไม่มีใครตอบได้

ในรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้งฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 ภายใต้หัวข้อ “Southern Thailand’s Peace Dialogue: Giving Substance to Form”  ขององค์กร International Crisis Group (ICG) กล่าวว่า หากมุ่งหวังให้กระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จ บีอาร์เอ็นต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าตนต้องการให้อนาคตของภูมิภาคนี้เป็นแบบไหน  ส่วนรัฐบาลไทยก็ควรทบทวนนโยบายเดิมที่ไม่ยอมอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้าร่วมในกระบวนการ  ทั้งกรุงเทพและกัวลาลัมเปอร์ควรยินยอมให้มีฝ่ายที่สามที่เป็นกลางเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย  กล่าวโดยสรุปก็คือ ICG เห็นว่ากระบวนการจำเป็นต้องได้รับการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด

ตลอดช่วง 17 ปีที่ผ่านมา มีหลายประเทศหลายองค์กรเข้ามาและจากไป ปัญหาของผู้อำนวยความสะดวกและผู้ไกล่เกลี่ยต่างชาติก็คือ พวกเขามองว่ามาเลเซียเป็นคู่แข่งของตน แทนที่จะมองว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งนี้  มาเลเซียเป็นยิ่งกว่าแค่ “ผู้อำนวยความสะดวก” หรือ “ผู้ไกล่เกลี่ย” แต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจริงจังทั้งในด้านความมั่นคง การทูตและการเมือง  อันที่จริง การริเริ่มกระบวนการสันติภาพสำหรับความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่ใช้คนกลางที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงเลย  กระนั้นก็ดี หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นจึงอนุมัติให้คณะกรรมการฝ่ายกิจการต่างประเทศของตนมาร่วมโต๊ะเจรจากับฝ่ายไทยโดยไม่หารือกับนักรบในพื้นที่และแกนนำส่วนอื่นๆ ก่อน  สมาชิกขบวนการบางคนกล่าวว่า แกนนำที่ไม่เปิดเผยตัวเหล่านี้สบายใจที่รู้ว่าคณะเจรจาอยู่ภายใต้อำนาจชักใยของตนโดยตรงและจะเรียกกลับเมื่อไรก็ได้

ส่วนเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับอาวุโสของไทยเชื่อว่า ปีกการเมืองของบีอาร์เอ็นรู้ว่า ปีกการทหารที่ทรงอำนาจไม่มีทางเห็นพ้องกับแนวคิดที่จะเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไทย  ดังนั้น ปีกการเมืองจึงต้องไปอินโดนีเซียและเยอรมนีโดยไม่หารือกับปีกการทหารก่อน  สิ่งที่บีอาร์เอ็นแตกต่างจากขบวนการปฏิวัติหรือขบวนการเอกราชอื่นๆ ก็คือ ฝ่ายที่เรียกว่าปีกการเมืองยังอ่อนแอและอ่อนด้อยประสบการณ์มาก  นักวางนโยบายฝ่ายไทยไม่เคยเสียเวลาคิดถึงผลที่ตามมาจากการเร่งรัดให้บีอาร์เอ็นส่งคณะตัวแทนมาร่วมโต๊ะเจรจา  เช่นเดียวกับบีอาร์เอ็น ฝ่ายไทยก็ไม่เคยหารือกันเองเหมือนกัน ยิ่งไม่ค่อยทำงานประสานกันในการวางยุทธศาสตร์เพื่อกระบวนการสันติภาพที่เป็นไปได้  อันที่จริง ปฏิบัติการและความเคลื่อนไหวของกองทัพไทยในพื้นที่ก็บ่งชี้ว่า พวกเขาไม่ค่อยใส่ใจพัฒนาการฟากการเมืองของสมการนี้เลย

การลาดตระเวนสอดแนมเป็นวงกว้าง ปฏิบัติการกวาดล้างหน่วยย่อยของบีอาร์เอ็นในพื้นที่ ยังคงมีการดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563  แม้กระทั่งในช่วงที่บีอาร์เอ็นพยายามแสดงท่าทีในเชิงบวก เช่น การยินยอมลงนามในคำแถลงคำมั่น (Deed of Commitment) กับองค์กร Geneva Call ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่ทำงานกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐและติดอาวุธทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในกฎการปะทะและหลักมนุษยธรรม  นอกจากนี้ บีอาร์เอ็นประกาศตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 ว่าจะหยุดปฏิบัติการที่เป็นปฏิปักษ์ทุกอย่างโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามด้านมนุษยธรรมเพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  บีอาร์เอ็นยังเรียกร้องให้มวลชนปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย  ในวันที่ 30 เมษายน กองกำลังความมั่นคงของไทยสังหารนักรบบีอาร์เอ็นสามคนในจังหวัดปัตตานี  บีอาร์เอ็นเกรงว่าหน่วยย่อยในพื้นที่จะดำเนินการล้างแค้น จึงรีบย้ำจุดยืนเดิมและยืนยันต่อนักรบกับประชาชนทั่วไปว่าการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวยังคงมีผลต่อไป  สามวันต่อมา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ในอำเภอสายบุรีของจังหวัดปัตตานี ทหารพรานสองคนถูกมือปืนขับขี่มอเตอร์ไซค์ประกบยิงเสียชีวิตจากด้านหลังและเริ่มต้นการปะทะด้วยอาวุธปืนอีกครั้ง

ทุกฝ่ายต่างชี้นิ้วกล่าวโทษบีอาร์เอ็น แต่แกนนำของขบวนการกลับเงียบเฉย  การกล่าวว่าพวกเขาให้ไฟเขียวต่อการลอบสังหารทหารพรานทั้งสองเพื่อตอบโต้กรณีที่นักรบสามคนถูกยิงตาย อาจถือว่าเป็นการสิ้นสุดการประกาศหยุดยิง ซึ่งเป็นการริเริ่มจากปีกการเมืองที่ต้องการแสดงให้ปีกการทหารที่มีอิทธิพลเหนือกว่ายอมรับว่า ปีกการเมืองก็สามารถสร้างความชอบธรรมและความนิยมยกย่องให้ขบวนการได้เช่นกัน  การกล่าวว่ามือปืนเป็นนักรบบีอาร์เอ็นที่กระทำการโดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ย่อมหมายความว่าขบวนการไม่มีอำนาจบัญชาการและควบคุมในพื้นที่มากเพียงพอ  ส่วนการนิ่งเฉยไม่กล่าวอะไรเลย ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อนี้หลังจากปรากฏตัวต่อสาธารณะและแถลงการณ์ร่วมกับคณะพูดคุยฝ่ายไทยไปแล้ว ก็ยิ่งไม่ส่งผลดีต่อความน่าเชื่อถือและความซื่อตรงของขบวนการเช่นกัน

Don Pathan
ดอน ปาทานเป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงประจำประเทศไทย