มานุษยวิทยาของศิลปะและเรื่องเล่าเกี่ยวกับอมนุษย์/เควียร์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

Sheep (2017-2018) by Samak Kosem

เมื่อต้นปี 2560 ผู้เขียนเริ่มทำงานด้านชาติพันธุ์วรรณาทัศนา (visual ethnography) เพื่อการศึกษาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในจังหวัดปัตตานีในโครงการเกี่ยวกับการเป็น “เควียร์มุสลิม”  นับตั้งแต่ผู้เขียนเขียนบทความไตร่ตรองสะท้อนคิดในชื่อ “ปอแนใต้ปอเนาะ” (Samak 2017a) เล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กเกี่ยวกับความประพฤติแบบรักร่วมเพศในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งผู้เขียนเองศึกษาศาสนาในโรงเรียนปอเนาะเป็นเวลาหกปี  ประสบการณ์ในช่วงเวลานั้นยังย้อนกลับมาทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามเนืองๆ ว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในสถานที่ที่ดูเหมือนต่อต้านการรักร่วมเพศอย่างรุนแรง?

ในปีเดียวกันนั้นเอง มีการถกเถียงวิวาทะกันอย่างใหญ่โตในหมู่นักวิชาการและนักกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกพื้นที่สามจังหวัด “ชายแดนภาคใต้” ของประเทศไทยเกี่ยวกับการนำประเด็นความรักเพศเดียวกันมาอภิปรายอย่างเปิดกว้างต่อสาธารณะ รวมทั้งการทำให้เควียร์และอัตลักษณ์ของเควียร์มีตัวตนในชุมชน (โปรดดู Anticha 2017)  ในตอนนั้น การพูดถึงการเป็นเควียร์ในอิสลามกลายเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวมาก  ครั้นแล้วอยู่มาวันหนึ่ง อดีตเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนปอเนาะก็ตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า เคยเห็นแกะจรจัดในปัตตานีหรือไม่?  ผู้เขียนนึกฉงนว่าทำไมไม่เคยสังเกตเห็นแกะเหล่านี้ทั้งที่มันดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางพวกเรา  ทันใดนั้น คำถามก็ผุดขึ้นมาในใจอีกครั้ง  ทำไมที่นี่ถึงมีแกะเยอะ แล้วทำไมมันถึงดูสกปรกมอมแมม เดินเร่ร่อนไปทั่วเหมือนหมาจรจัด

หัวข้อศึกษาว่าด้วยอมนุษย์

 การอ่าน Haraway (1991) ช่วยให้เราเกิดความคิดเกี่ยวกับตัวแสดงที่เป็นอมนุษย์ (non-human) ซึ่งท้าทายสมมติฐานเกี่ยวกับตัวแสดงทางสังคมและความผสมปนเปของมนุษย์กับอมนุษย์ในชีวิตประจำวัน  มีหนทางในการเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมมุสลิมในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยโดยอาศัยกรอบการมองแบบภาววิทยาของวัตถุ (object-oriented ontology) ในแนวคิดหลังมนุษย์นิยม (Posthumanism) (Ming 2019)  ผู้เขียนปรับปรุงยกระดับโครงการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับความเป็นเควียร์ในสังคมมุสลิมให้ครอบคลุมการพินิจพิจารณาตัวแสดงอมนุษย์ในฐานะตัวแสดงทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม เนื่องจากตัวแสดงอมนุษย์เหล่านี้ก็ดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมเดียวกับพวกเราเหล่ามนุษย์เช่นกัน

หลังจากติดตามแกะเร่ร่อนเหล่านี้มาสามเดือน ผู้เขียนจึงทราบว่ามันไม่ใช่แกะจรจัด แต่อาศัยในคอกรวมติดกับมัสยิด อยู่รวมกับแกะและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ที่เป็นของชาวบ้านในชุมชน  ผู้เขียนใช้จีพีเอสบันทึกจุดต่างๆ ที่แกะสัญจรไปทั่วย่านนั้น คล้ายๆ วิธีการที่นักมานุษยวิทยาติดตามผู้ใหญ่บ้านเพื่อเรียนรู้สภาพแวดล้อมของหมู่บ้านหนึ่งๆ  ในกรณีของผู้เขียน แกะพาเราไปตามสถานที่ต่างๆ ที่พวกมันไปเป็นกิจวัตร ซึ่งมีทั้งกุโบร์ โรงเรียนปอเนาะ มัสยิด ตลาด ร้านค้าและด่านตรวจของทหาร  เจ้าของฝูงแกะบอกผู้เขียนว่า แกะรู้ว่าไปที่ไหนได้บ้างและที่ไหนที่รุกล้ำเข้าไปไม่ได้  ดังนั้น สัตว์จึงมีการรับรู้สถานที่ในแบบของตนและบางครั้งถึงขนาดตระหนักรู้เส้นแบ่งระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวมลายูมุสลิมเมื่อดูจากจุดที่บันทึกไว้ข้างถนน

แกะคืออมนุษย์  มันเป็นสัตว์  แต่ในภายหลังผู้เขียนก็ตระหนักว่ายังมีอมนุษย์กลุ่มอื่นๆ ที่ควรนำมาเป็นหัวข้อศึกษาด้วย  ผู้เขียนสังเกตจากการใช้เวลายามค่ำในร้านน้ำชาว่า ชาวบ้านชอบเล่าเรื่องญิน (djinn) (มาจากศัพท์ภาษาอาหรับ หมายถึงสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่อัลเลาะห์สร้างขึ้นและดำรงอยู่ในโลกคู่ขนานกับมนุษย์ แต่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น  บางครั้งชาวบ้านก็ใช้คำไทยเรียกว่า ผี)  เมื่อได้อ่านหนังสือชื่อ Ghostly Desire (2016) ของ Fuhrmann ทำให้ผู้เขียนครุ่นคิดถึงความเป็นบุคคลของเควียร์  ผู้เขียนนึกเปรียบเทียบเควียร์กับญินในความเชื่อของศาสนาอิสลาม เปรียบเทียบความไม่มีตัวตนให้มองเห็นของชาวเควียร์กับญิน  แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างยิ่งก็คือ มีสิ่งที่มองไม่เห็นบางอย่างที่ชาวบ้านชอบพูดถึง แต่ก็มีสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างอื่นที่ชาวบ้านไม่พูดถึงเลย

Sheep (2560-2561) โดยสมัคร์ กอเซ็ม ได้รับการเอื้อเฟื้อภาพจากศิลปินและ Bangkok Art Biennale Collection
Festival of Sacrifice no. 3 and no. 4 (2561) โดยสมัคร์ กอเซ็ม ได้รับการเอื้อเฟื้อภาพจากคอลเล็กชั่นส่วนบุคคลในกัวลาลัมเปอร์

อมนุษย์อย่างที่สามที่ผู้เขียนติดตามศึกษาคือ “คลื่น”  ผู้เขียนพบว่าชายหาดของภาคใต้มีลักษณะเป็น “เขตหย่อนใจ” สำหรับชาวบ้านและผู้หญิงมุสลิมหลายคนขายอาหารที่นั่นเพื่อเลี้ยงชีพ  ผู้เขียนเก็บรวบรวมขยะพลาสติกจากชายหาดมาสร้างสรรค์เป็น “คลื่น” ในภาพศิลปะ  วัตถุเหล่านี้ถือเป็นผู้เล่าเรื่องด้วย  มันบอกเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงร่องรอยของชีวิตที่ดำเนินอยู่ที่นั่น  และคลื่นกลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับตัวผู้เขียน เพศสภาพและการดำรงชีวิต  ผู้เขียนติดตามนักศึกษาศิลปะกลุ่มหนึ่งไปที่หมู่บ้านในอำเภอเทพาจังหวัดสงขลาซึ่งอยู่ติดกับปัตตานี  เราได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ทั้งภาษาไทยและภาษามลายู ที่ชาวบ้านใช้เรียกคลื่นชนิดต่างๆ  และสะท้อนให้เห็นว่าคลื่นเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างไรกับสภาพแวดล้อมที่เป็นส่วนหนึ่งของการหาเลี้ยงชีพและชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่เกี่ยวร้อยกับธรรมชาติ  แต่ชาวบ้านที่นั่นกำลังอยู่ภายใต้คำสั่งของรัฐบาลให้ย้ายถิ่นฐานเพื่อเปิดทางให้แก่การสร้างโรงงานไฟฟ้าแห่งใหม่  ดังนั้น ชาวบ้านจำนวนมากจึงเดินทางไปประท้วงที่กรุงเทพ  ผู้เขียนถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเพื่อบันทึกทั้งสถานการณ์นี้และบอกเล่าความรู้สึกของคลื่นในภาคใต้ในรูปแบบของศิลปะ

“Particle on Talo Kapo” (2561) โดยสมัคร์ กอเซ็ม ได้รับการเอื้อเฟื้อภาพจากศิลปิน

ศิลปะและมานุษยวิทยาในภาคปฏิบัติ

ศิลปะไม่เพียงเป็นหัวข้อศึกษาสำหรับนักมานุษยวิทยาซึ่งมุ่งเน้นความสนใจไปที่วัฒนธรรมด้านวัตถุ  แต่ยังเป็นชานชาลาเพื่อลงมือปฏิบัติการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วย ทั้งในเชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับศิลปะและในด้านการวิวาทะเกี่ยวกับคำนิยามของศิลปะที่พัวพันกับสังคมซึ่งเชื่อมโยงกับสำนึกเชิงวัฒนธรรม (Morphy and Perkins 2006)  ผลงานวิดีโอของผู้เขียนในชื่อ “Sheep” (2560-2561) มีนัยยะถึงลำดับชั้นและความรุนแรงทางศาสนา รวมทั้งเป็นภาพแทนอีกโฉมหน้าหนึ่งของสังคมมุสลิมในวัฒนธรรมชายแดนภาคใต้  สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับอมนุษย์จากมุมมองของมนุษย์อย่างไร รวมทั้งเป็นภาพอุปลักษณ์ถึงประชาชนชายแดนภาคใต้ภายในรัฐไทยกับความรุนแรง (Thanavi 2018)  การสร้างความเชื่อเกี่ยวกับ “แกะที่มีมลทิน” ก็ไม่แตกต่างจากการที่รัฐพยายามนิยามประชาชนในชายแดนภาคใต้เช่นกัน (Samak 2017b)

ในโครงการ “ชาติพันธ์วรรณาอมนุษย์” (2560-2563) นี้ ผู้เขียนสร้างผลงานที่คร่อมข้ามสาขามานุษยวิทยาและศิลปะด้วยการทำ “บันทึกภาคสนาม” ด้วยภาพถ่าย ผสมผสานความรู้และวิธีวิทยาของการวิจัยทางวิชาการกับศิลปะร่วมสมัย  บันทึกภาคสนามนี้จัดแสดงที่งาน Bangkok Art Biennale (BAB) ครั้งที่ 1 ในปี 2561 หลังจากผู้เขียนได้ถกเถียงประเด็น “สิ่งที่แปลไม่ได้” กับแพทริก ดี. ฟลอเรสผู้เป็นภัณฑารักษ์  ผู้เขียนตัดสินใจแปลบันทึกของตนที่เดิมเขียนเป็นภาษาไทยเป็นภาษามลายูโดยใช้อักษรยาวี  นี่คือวิถีทางของผู้เขียนในการเปิดบทสนทนากับผู้ชม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องเล่ากับความรู้กลายเป็นภาระและพรมแดนต่อความเข้าใจของเราอย่างไรบ้าง  รวมทั้งต้องการสร้างให้เกิดความรู้สึกถึงความซับซ้อนของความไม่รู้และความแตกต่างในวัฒนธรรมระหว่างเรา  ซึ่งถึงแม้เป็นพลเมืองในประเทศเดียวกัน แต่ช่องว่างระหว่างภาษามลายูท้องถิ่นและอักษรยาวีกลายเป็นเครื่องขวางกั้นที่คนไทย “ธรรมดา” จากนอกภูมิภาคนี้ไม่มีทางข้ามพ้น  ดังนั้นจึงเหลือวิธีเดียวที่จะเข้าใจก็คืออาศัยภาพถ่ายหรือทัศนวัตถุ  ผลงานชุดนี้พยายามสื่อสารถึงช่องว่างของความสัมพันธ์นี้ เพื่อสะท้อนให้ผู้ชมชาวไทยเห็นว่าชีวิตในภูมิภาคนี้ถูกเพิกเฉยละเลยอย่างไรบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น  ในโครงการ “คลื่น” ผู้เขียนตั้งใจอภิปรายถึงความหมายของคลื่นต่างๆ  ปรกติคลื่นคือเสียง แต่คลื่นอาจกลายเป็นเสียงหนวกหูที่ไม่มีใครอยากได้ยิน เช่นเดียวกับเสียงของชาวบ้านมลายูมุสลิม  ‘A Thin Veil’ (2561) คือผลงานวิดีโอเงียบ ซึ่งมีอมนุษย์ต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวว่า “คลื่น” สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและผู้คนอย่างไร  ความเงียบของคลื่นในสารคดีชิ้นนี้คืออุปลักษณ์ของคลื่นชีวิตสังคมในวัฒนธรรมมลายูที่มักถูกเพิกเฉยละเลย  ชาวบ้านที่อำเภอเทพากำลังต่อสู้กับรัฐเพื่อหยุดยั้งโรงงานไฟฟ้าถ่านหินมิให้ทำลายคลื่นที่อยู่ห่างจากชายฝั่งไม่ไกลนัก  คลื่นยังมีความหมายถึงสถานการณ์เกี่ยวกับกลุ่มคลั่งศาสนา  ในภาคใต้มีการพูดกันถึง “คลื่นลูกใหม่” ซึ่งหมายถึงกลุ่มศาสนาอิสลามมูลฐานนิยม (Islamic fundamentalists) (Willis 2019)

SSheep Fieldnotes (2560) โดยสมัคร์ กอเซ็ม ได้รับการเอื้อเฟื้อภาพจาก Natasha Sidharta

“By The Shore of The Sea” (2562) วิดีโอเกี่ยวกับคลื่นชุดที่สองเป็นเรื่องเล่าของผู้หญิงคนหนึ่งกับประสบการณ์ต่อคลื่นในบ้านเกิดของเธอ รวมทั้งเรื่องราวของตัวเธอเองที่สะท้อนอัตลักษณ์และตัวตนในฐานะผู้หญิงมุสลิม  ในวิดีโอชุดนี้ เธอใช้เสียงของตัวเองเล่าเรื่องราวของตนกับเสียงของผู้หญิงอีกคนหนึ่ง  เธอยังกล่าวถึงคลื่นต่างๆ ภายในจิตใจที่เอ่ยอ้างออกมาไม่ได้  วิดีโอสั้นๆ ชิ้นนี้สำรวจเสียงทุกเสียงในฐานะรูปคลื่น  มันเป็นการปะทะกันของเสียงลมแรง คลื่นทะเลและเสียงของผู้หญิง  เพื่อค้นหาเสียงที่เราอยากได้ยิน—หรืออดทนเงี่ยหูให้ได้ยิน–คลื่นเหล่านี้กำลังม้วนตระหลบจากฝั่งหนึ่งไปสู่อีกฝั่งหนึ่งภายในจิตใจของเราเสมอ

A Thin Veil (2561) โดยสมัคร์ กอเซ็ม ได้รับการเอื้อเฟื้อภาพจาก Daisuke Miyatsu และศิลปิน
By the Shore of the Sea (2562) โดยสมัคร์ กอเซ็ม ได้รับการเอื้อเฟื้อภาพจาก MAIIAM Contemporary Art Museum และศิลปิน

เมื่อพิจารณาอมนุษย์ที่เป็นสิ่งก่อสร้าง/วัตถุ  ด่านเป็นทั้งสัญลักษณ์ถึงอำนาจควบคุมของรัฐและหัวข้อศึกษาที่ให้บริบทเกี่ยวกับการเมืองทางสังคม-วัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน  “Forever Checkpoint” (2562) ผลงานชิ้นนี้ผลิตออกมาในรูปแบบมิวสิกวิดีโอโรแมนติกเพื่อสะท้อนภาพขัดแย้งกับความรุนแรงที่ด่านเป็นสัญลักษณ์  การทำร้ายและการโจมตีด้วยความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อให้เกิดภาพพจน์ว่าสามจังหวัดชายแดนเป็น “จำเลย”  พรมแดนที่ทหารสร้างขึ้น ซึ่งมีด่านมากกว่า 2,000 แห่ง คือคำอธิบายในตัวมันเองว่าระบอบทหารสร้างความกลัวและความวิตกจริตขึ้นมาในประเทศไทยอย่างไรบ้าง  รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยมีให้พบเห็นทุกวัน ณ ด่านตรวจของทหาร  การที่ประชาชนต้องทำตัวให้ไม่มีอัตลักษณ์ ลึกลับและไม่มีตัวตน  นี่คือความพยายามของผู้เขียนที่จะสะท้อนการตีความ (Myers 2006) ความรุนแรงที่รัฐไทยก่อขึ้น

The Day I Became… (2561) โดยสมัคร์ กอเซ็มและปฏิภาณ บุณฑริก ได้รับการเอื้อเฟื้อภาพจาก Chengdong Liu และศิลปิน

ชาติพันธุ์วรรณาทัศนาของเควียร์ที่ไม่มีตัวตน

ในปลายปี 2560 ขณะนั่งรอในร้านตัดผมชายบนถนนเส้นหนึ่งใกล้มหาวิทยาลัยปัตตานี  ผู้เขียนเห็นหญิงสาวมุสลิมสองคนคลุมฮิญาบสีขาวขี่รถมอเตอร์ไซค์มาจอดที่หน้าร้าน  ทั้งสองรอสักครู่หนึ่ง กระทั่งช่างตัดผมเดินออกไปคุยด้วย  อีกประเดี๋ยวต่อมา ระหว่างตัดผมให้ผู้เขียน  ช่างตัดผมเล่าว่าพี่น้องสองสาวคู่นั้นขอให้เขาตัดผมให้พวกเธอแบบทรงผมผู้ชาย  ช่างตัดผมรู้สึกไม่สบายใจเพราะเขาแทบไม่เคยตัดผมให้ผู้หญิง  แต่เขาก็เข้าใจว่าหญิงสาวสองคนนั้นไม่มีทางเลือก  หญิงสาวสองคนที่อยากไว้ผมแบบผู้ชาย  พวกเธอจะไปไหนได้โดยไม่ถูกตัดสิน?

ข้อสังเกตนี้ ซึ่งนับเป็นการวิจัยภาคสนามอย่างหนึ่ง บันดาลใจให้ผู้เขียนสร้างงานวิดีโอศิลปะเกี่ยวกับเควียร์มุสลิม  “The Day I Became…” (2562) เป็นเรื่องราวของทอมบอย 1มุสลิมที่ละทิ้งบ้านเกิดในเมืองยะลามาทำงานในกรุงเทพ  การออกจากบ้านไม่ใช่แค่การย้ายออกมาเฉยๆ  แต่เป็นความรู้สึกด้วยว่า รส(ไม่)นิยมทางเพศของตนถูกตัดสินว่าเป็นบาปตลอดเวลา  การหนีออกจากบ้านไม่ได้มอบพื้นที่ส่วนบุคคลที่เป็น “เขตหย่อนใจ” ให้ตนในทันที ตอนนี้เขา/เธอยังต้องต่อสู้กับครอบครัวในเรื่องศาสนา การถูกตีตราทางสังคมและความอับอายของวงศ์ตระกูล  การย้ายออกไปไม่เพียงเป็นเรื่องพื้นที่  แต่เป็นการย้ายออกห่างจากศาสนาเดิมของตนด้วย  การตัดผมไม่ใช่แค่การตัดสินใจเรื่องเพศสภาพ แต่ยังเป็นทางผ่านของชีวิตไปสู่การเป็น “อดีตมุสลิม” อีกโสดหนึ่ง

การเรียนรู้ชีวิตของอมนุษย์คือการมองภาพสะท้อนชั้นที่สองที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าความเป็นเควียร์ได้รับผลกระทบจากบรรทัดฐานที่กำหนดว่าเป็นความปรกติ อีกทั้งการไม่ได้การยอมรับในวาทกรรมทางศาสนาและกฎเกณฑ์ทางสังคม  ชาวมุสลิมท้องถิ่นกล่าวว่า “ไม่มีพวกรักร่วมเพศในอิสลาม ไม่มีเกย์ในชุมชนของเรา”  คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าชาวเควียร์ต้องดำเนินชีวิตหรือรู้สึกอย่างไรในสังคมมุสลิม นั่นคือ การถูกซุกไว้ใต้พรม  ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ประชาชนไม่ได้ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์จากการปฏิบัติของรัฐต่อชาวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกลดทอนจากวิถีทางที่ชาวบ้านไม่ให้ความเคารพต่อชาวเควียร์ด้วย  ประการสุดท้าย ในการพูดถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับอมนุษย์/เควียร์ เราจะเห็นว่าทั้งญินและเควียร์เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น  แต่ในความเป็นจริง ญินยังมีพื้นที่สำหรับการบอกเล่ากล่าวถึง แต่ความเป็นเควียร์ไม่เคยมีที่ทางอยู่ในเรื่องเล่าหรือบทสนทนาเลย

สมัคร์ กอเซ็ม
นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

References:

Anticha Sangchai. 2017. “กรณีห้องเรียนเพศวิถี: สิทธิความหลากหลายทางเพศกับชายแดนใต้/ปาตานี” [SOGIE Rights and Thailand’s Southern Border Provinces/PATANI: The Case of Buku’s Gender and Sexuality Classroom], Thammasat Journal of History. Vol.4, No.1 (January-June), pp 209-268.
Fuhrmann, Arnika. 2016. Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema. (Durham: Duke University Press).
Haraway, Donna. 1991. Simians, Cyborgs, and Women: The Reinvention of Nature. (New York: Routledge)
Ming Panha. 2019. “หลังมนุษยนิยมกับวรรณคดีวืจารณ์: กรณีศึกษาด้านภววิทยาเชิงวัตถุของแกรห์ม ฮาร์แมน” [Posthumanism and Literary Criticism: A Case Study of Object-Oriented Ontology by Graham Harman]. In Suradech Chotiudompant (ed.), นววิถี: วิธีวิทยาร่วมสมัยในการศึกษาวรรณกรรม [New Turns in The Humanities: Contemporary Methodology in Literature Studies]. (Bangkok: Siam Panya Publishing).
Morphy, Howard and Perkins, Morgan (eds.). 2006. The Anthropology of Art: A Reader. (New Jersey: Blackwell Publishing).
Myers, Fred. 2006. “Representing Culture: The Production of Discourse(s) for Aboriginal Acrylic Paintings”. In Howard Morphy and Morgan Perkins (eds.), The Anthropology of Art: A Reader. (New Jersey: Blackwell Publishing).
Samak Kosem. 2017a. “ปอแนใต้ปอเนาะ: ชาติพันธุ์วรรณาย้อนมองดูตัวเองของ“เควียร์มุสลิม”และความทรงจำวัยเด็กในโรงเรียนสอนศาสนา” บPondan under the Pondok: Reflexive: Ethnography of “Queer Muslim” and Childhood Memories in the Religious School, Thammasat Journal of History. Vol.4, No.1 (January-June), pp.161-206.
Samak Kosem. 2017b. “สหสายพันธุ์นิพนธ์ของแกะเร่ร่อนในรูสะมีแล” [Multi-species of the Stray Sheep in Ru-Sa-Mi-Lae], in Thanom Chapakdee et al (eds), เปิดโลกสุนทรีย์ในวิถีมนุษยศาสตร์ (Exploring Aesthetic Dimensions in the Humanities). Conference proceeding on 11st Thai Humanities Forum, 8-9 September 2017, Srinakharinwirot University. Pp.709-719.
Thanavi Chotpradit. 2018. “Sheep (بيريڠ): Documentary of the Nonhuman”. Chiang Mai Art Conversation. <http://www.cac-art.info/users/thanavichotpradit/journal/60/> (accessed 25 April 2020).
Willis, David. 2019. “David Willis in Conversation with Samak Kosem”. Degree Critical. <https://degreecritical.com/2019/03/22/david-willis-in-conversation-with-samak-kosem/> (accessed 25 April 2020)

 

Notes:

  1. “ทอมบอย” หรือ “ทอม” ในบริบทของไทยคือเลสเบียนที่มีลักษณะการแต่งกายและ/หรือ/การพูดจาที่แสดงความเป็น “เพศชาย” อย่างชัดเจน