ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยของเมียนมา

Kai Ostwald & Kyaw Yin Hlaing

Street protest, Myanmar 2021. Photo Pyae Sone Htun, Unsplash

เมียนมา (หรือเมื่อก่อนใช้ชื่อประเทศพม่า) เคยมีระบอบประชาธิปไตยในช่วงเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1948 จนกระทั่งการรัฐประหารในปี 1962  หลังจากนั้น กองทัพพม่า (ซึ่งเรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า ตะมะดอว์) ก็ยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จมาเกือบห้าทศวรรษ  การเปิดกว้างทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไม่คาดหมาย 1 เริ่มขึ้นในปี 2010 และตามมาด้วยทศวรรษของการแบ่งปันอำนาจ 2ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง  เริ่มต้นด้วยการแบ่งปันอำนาจระหว่างกองทัพกับพรรคการเมืองที่เป็นแนวร่วม นั่นคือ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party—USDP) ตั้งแต่ปี 2011-2015  จากนั้นเปลี่ยนเป็นพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy—NLD)  ถึงแม้การปฏิรูปเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยยังมีจังหวะก้าวค่อนข้างช้า แต่ช่วงเวลาสิบปีที่มีการเปิดกว้างมากกว่าแต่ก่อน ได้ปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง และสร้างความหวังถึงอนาคตที่ดีกว่าให้แก่พลเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว

ความหวังนี้ดับวูบลงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021  หลังจากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2020  ผ่านไปไม่ถึงสามเดือน ตะมะดอว์ก็ทำการรัฐประหารและรื้อฟื้นการปกครองระบอบทหารเต็มใบอีกมาอีกครั้งด้วยการแต่งตั้งสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council–SAC)  ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยที่กอปรขึ้นจากหลายภาคส่วนเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง  แม้ต้องเผชิญกับการปราบปรามกวาดล้างด้วยความรุนแรงจากตะมะดอว์  กระทั่งทำให้ข้อเรียกร้องของขบวนการจากเดิมแค่ต้องการให้ทุกอย่างกลับคืนสภาพเดิมก่อนการรัฐประหาร เปลี่ยนไปเป็นการเรียกร้องให้กำจัดอำนาจของตะมะดอว์ออกจากภูมิทัศน์ทางการเมืองของเมียนมาอย่างสิ้นเชิง

บทความนี้นำเสนอการวิเคราะห์ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยของเมียนมาโดยสังเขป  เราวางกรอบการอธิบายโดยวิเคราะห์ว่าขบวนการประกอบด้วยเสาหลัก 3 เส้า กล่าวคือ การประท้วงของมวลชน ขบวนการพลเมืองขัดขืน (Civil Disobedience Movement—CDM) และคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw—CPRH) กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government—NUG)  เราจะพิจารณาบทบาทพิเศษของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ด้วย  ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบันแตกต่างจากขบวนการในอดีตมาก 3  กระนั้นก็ตาม ดังที่เห็นจากการปะทะกันก่อนหน้านี้ ความได้เปรียบอย่างมหาศาลของกองทัพคืออุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางมิให้ขบวนการสามารถฝ่าฟันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้  ปัญหานี้จะก่อให้เกิดความยืดเยื้อ ความเสียหาย และสุดท้ายน่าจะลงเอยด้วยทางตันที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง

Police crack down to anti-coup protesters in Yangon, Myanmar on 08 March 2021. Photo: Maung Nyan / Shutterstock.com

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

ถึงแม้มีแรงกดดันจากฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในหลากหลายรูปแบบ แต่ตะมะดอว์ก็ครองอำนาจควบคุมรัฐเกือบเบ็ดเสร็จถึงครึ่งศตวรรษจนกระทั่งปี 2011  ความยืนยงคงทนของระบอบทหารเป็นผลลัพธ์จากลักษณะหลายประการด้วยกัน  ตะมะดอว์เป็นกองทัพสมัยใหม่กองทัพเดียวในโลกที่มีส่วนพัวพันในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งโดยไม่เคยถูกขัดจังหวะ  บทบาทแกนกลางในการสถาปนาประเทศเมียนมาทำให้กองทัพมองตัวเองเป็นตัวตนของประเทศ และด้วยเหตุนี้จึงมองปรปักษ์เป็นคนทรยศต่อชาติ  การมีสถาบันของตัวเองคู่ขนานกับสถาบันสังคมในด้านต่างๆ จำนวนมาก นับตั้งแต่การศึกษาจนถึงการดูแลสุขภาพ ทำให้ทหารในกองทัพกับประชาชนพลเรือนมีปฏิสัมพันธ์กันค่อนข้างจำกัด  ลักษณะเหล่านี้เอื้อให้ตะมะดอว์สามารถใช้มาตรการรุนแรงเด็ดขาดต่ออะไรก็ตามที่กองทัพมองว่าเป็นภัยคุกคามภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ด้วย

ถึงแม้การเมืองเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านในปี 2010 แต่อิทธิพลของตะมะดอว์ยังได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดี  รัฐธรรมนูญปี 2008 รับประกันความเป็นอิสระของกองทัพ รวมทั้งมอบเก้าอี้สมาชิกรัฐสภาในสัดส่วน 25% แก่ทหาร ตลอดจนอำนาจควบคุมกระทรวงสำคัญๆ ทั้งมหาดไทย กลาโหมและชายแดน  ด้วยเหตุนี้ ตะมะดอว์จึงมีอำนาจเฉพาะกิจที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการประเทศด้วยเงื่อนไขที่จงใจให้คลุมเครือไม่ชัดเจน

กระนั้นก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงก็ยังเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ทั้งภายใต้รัฐบาลพรรค USDP และพรรค NLD  การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เปิดช่องทางให้คนหลายล้านคนเข้าถึงโลกกว้างและแนวคิดต่างๆ ได้อย่างเสรี  ภาคประชาสังคมที่มีชีวิตชีวาผุดขึ้นมา ชี้นำการถกเถียงสาธารณะในประเด็นที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามก่อนหน้านี้ อาทิ ระบอบประชาธิปไตย การเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางสังคม รวมทั้งระบอบสหพันธรัฐ  ระบบราชการเริ่มรับพลเรือนเข้ามาทำงานในตำแหน่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก  พลเรือนเหล่านี้ไม่มีสายสัมพันธ์กับตะมะดอว์  นี่เท่ากับลดทอนอำนาจควบคุมของกองทัพลงในหลายภาคส่วนของรัฐ  พัฒนาการเหล่านี้แปรเปลี่ยนพลวัตระหว่างตะมะดอว์กับประชาชนในระดับรากฐาน ทำให้ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบันมีความแตกต่างจากขบวนการสมัยก่อนในหลายประการสำคัญ

การประท้วงของมวลชน

การประท้วงของมวลชนตามท้องถนนน่าจะเป็นองค์ประกอบที่ประจักษ์ต่อสายตามากที่สุดของขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน  การประท้วงดึงดูดประชาชนหลายแสนคนจากเมืองใหญ่ เมืองเล็กและหมู่บ้านทั่วประเทศมาร่วมประท้วง  การประท้วงเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเองและไร้แกนนำด้วย กลุ่มผู้ประท้วงหลักมาจากเยาวชนรุ่นเจน Z  นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม ผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) และเอ็นจีโอ รวมทั้งชุมชนศิลปิน

การประท้วงช่วงแรกสุดก่อตัวขึ้นในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์หลังจากรัฐประหารแค่ไม่กี่วัน  การเผยแพร่ภาพข่าวของมวลชนที่มาประท้วง บวกกับกองกำลังด้านความมั่นคงยังมีความบันยะบันยังในช่วงต้นๆ กระตุ้นให้เกิดการประท้วงที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายสัปดาห์ต่อมา  สมาร์ทโฟนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเอื้อให้ประชาชนติดต่อประสานกันได้สะดวก รวมทั้งช่วยสร้างความเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกับขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยสากล อาทิ การประท้วงของพันธมิตรชานมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ซึ่งเชื่อมโยงผู้ประท้วงหนุ่มสาวชาวเมียนมากับผู้ประท้วงวัยเดียวกันในฮ่องกง ไต้หวันและประเทศไทย  ความเกาะเกี่ยวกันเช่นนี้มีพลังในเชิงสัญลักษณ์อย่างยิ่ง

แต่ความบันยะบันยังของตะมะดอว์ในช่วงต้นก็ดำรงอยู่แค่ชั่วระยะสั้นๆ  การปราบปรามอย่างโหดร้ายครั้งแรกเกิดขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์  การกวาดล้างปราบปรามที่ดำเนินต่อมาใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรวมถึงการจับกุมแบบเหวี่ยงแหและยิงใส่ผู้ประท้วง  ขณะที่เขียนบทความนี้ในเดือนพฤษภาคม 2021 มีผู้ประท้วงและผู้โดนลูกหลงเสียชีวิตแล้วกว่า 800 คน  อีกหลายพันคนถูกจับกุมคุมขังและตกเป็นเหยื่อการซ้อมทรมาน  การสั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต การสั่งปิดสื่อและสำนักข่าว 4 ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารถูกจำกัดอย่างมาก

ผู้ประท้วงตอบโต้การปราบปรามด้วยความรุนแรงโดยคิดค้นยุทธวิธีทางเลือกที่สร้างสรรค์มาก 5  หลังจากรัฐประหารเพียงไม่กี่วัน เราก็ได้เห็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์เรียกระดมให้ประชาชนคว่ำบาตรธุรกิจที่กองทัพเป็นเจ้าของและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกองทัพ  วิธีการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เบียร์ยี่ห้อ Myanmar Beer ซึ่งกองทัพเป็นเจ้าของและเคยขายดิบขายดี กลายเป็นขายไม่ออกและหายไปจากชั้นวางสินค้า  การรณรงค์เพื่อลงโทษทางสังคม ซึ่งประสานผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน ชักชวนให้คว่ำบาตรครอบครัวของนายทหารคนสำคัญ  ส่วนในโลกนอกอินเทอร์เน็ตนั้น การประท้วงแบบ “แฟลชม็อบ” ที่มีขนาดเล็กกว่า เคลื่อนไหวรวดเร็วกว่าและไม่มีการประกาศล่วงหน้า เข้ามาแทนที่การชุมนุมขนาดใหญ่ในช่วงแรกซึ่งคล่องตัวน้อยกว่า

ผู้ประท้วงแนวหน้าเริ่มหาทางปกป้องตัวเองด้วยการประดิษฐ์อาวุธป้องกันตัว รวมทั้งจัดตั้งรวมตัวกันหลวมๆ เป็น “นักรบของประชาชน” ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 20 คนจนถึง 500 คน บางกลุ่มได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการฝึกอบรมด้านกลยุทธ์จากกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations–EAOs) ถึงแม้เป้าหมายเบื้องต้นของผู้ประท้วงยังเป็นแค่การป้องกันตัว แต่การฉวยโอกาสโจมตีโดยใช้ระเบิดแสวงเครื่องเพื่อทำลายสถานีตำรวจและอาคารสำนักงานของรัฐบาลเริ่มปรากฏให้เห็นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม  ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ประกาศก่อตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force—PDF) ซึ่งเป็นกองกำลังขั้นต้นที่จะนำไปสู่การก่อตั้งกองทัพสหภาพแห่งสหพันธรัฐ (Federal Union Army)  ความเคลื่อนไหวนี้ชี้ใช้เห็นการยกระดับความขัดแย้ง ดูได้จากการที่กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อสู้รบกับตะมะดอว์ในทุกพื้นที่ของประเทศ  ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่มีการรวมศูนย์ที่ชัดเจน แต่การโจมตีตะมะดอว์ก็เพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนและระดับการประสานงาน โดยเฉพาะในรัฐของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

Demonstrators blocked a road during an anti-coup protest in Yangon, Myanmar on 07 March 2021. Photo: Maung Nyan / Shutterstock.com

ขบวนการพลเมืองขัดขืน

ขบวนการพลเมืองขัดขืน (CDM) เกิดขึ้นพร้อมกับการประท้วงของมวลชน  กลุ่มคนที่เป็นแกนนำหลักของขบวนการนี้คือข้าราชการ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล ครู พนักงานภาคคมนาคมขนส่งและข้าราชการจากหลายภาคส่วน  ขบวนการพลเมืองขัดขืนเริ่มต้นในช่วงแรกโดยไม่มีการจัดตั้ง เป็นการแสดงออกเพื่อขัดขืนต่อรัฐประหาร ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการหยุดงาน การที่พลเรือนทั่วไปเข้าสู่ระบบราชการมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา และเข้าไปแทนที่บุคลากรที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพ ทำให้ขบวนการพลเมืองขัดขืนนี้ขยายตัวในระดับที่คิดฝันไม่ถึง

ในช่วงดุเดือดที่สุดนั้น ขบวนการพลเมืองขัดขืนสามารถทำให้หลายภาคส่วนของรัฐและเศรษฐกิจเมียนมาถึงกับหยุดนิ่งได้ โรงพยาบาลไม่ดำเนินการ ธนาคารปิด สินค้าตกค้างที่ท่าเรือและเครือข่ายคมนาคมขนส่งหยุดชะงัก  ตะมะดอว์อ้างว่า การยึดอำนาจของตนเป็นไปเพื่อสร้างเสถียรภาพให้ประเทศและรับประกันว่าทุกอย่างจะหวนกลับคืนสู่ “สภาพปรกติ” อย่างรวดเร็ว  แต่การประท้วงของ CDM หักล้างข้ออ้างของตะมะดอว์อย่างตรงไปตรงมาและเห็นได้ชัด  ภาวะอัมพาตนี้มีผลกระทบเชิงสัญลักษณ์อย่างใหญ่หลวง  นอกเหนือจากนี้ ขบวนการพลเมืองขัดขืนยังทำให้ตะมะดอว์ปกครองประเทศยากมากขึ้น  รวมทั้งสร้างความปั่นป่วนต่อกระแสรายได้ที่สำคัญที่สุดของรัฐอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ขบวนการพลเมืองขัดขืนยังมีลักษณะกระจัดกระจายไม่รวมศูนย์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน  ในขณะที่ลักษณะเช่นนี้มีข้อได้เปรียบในช่วงแรก เพราะมันทำให้ตะมะดอว์มีทางเลือกในการตอบโต้ค่อนข้างจำกัด  แต่การที่ CDM ไม่สามารถประสานปฏิบัติการของตนอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ทำให้พลังขับเคลื่อนชะลอตัวลง  เมื่อการเผชิญหน้ายืดเยื้อไปเรื่อยๆ  ข้าราชการที่ยอมกลับมาทำงานก็มีจำนวนมากขึ้นๆ  ทั้งนี้มิใช่เพราะปณิธานของการขัดขืนลดน้อยถอยลง แต่เป็นเพราะเงื่อนไขในชีวิตจริงมากกว่า  เนื่องจากข้าราชการเสี่ยงต่อการถูกคุกคามจากกองกำลังความมั่นคงและการสูญเสียที่อยู่อาศัยที่รัฐจัดหาให้  พวกเขายังต้องเสี่ยงกับการสูญเสียรายได้ในช่วงเวลาที่เงินออมร่อยหรอลงหลังจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะโรคระบาดในปี 2020 อีกด้วย

คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา (CRPH) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

CRPH ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2021โดยกลุ่มสมาชิกรัฐสภาที่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจ (ส่วนใหญ่มาจากพรรค NLD) เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลพลเรือนพลัดถิ่นและต่อต้านสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC)  พร้อมกับการประกาศกฎบัตรสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Federal Democracy Charter) ในเดือนเมษายน 2021  CRPH ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่จัดวางโครงสร้างทางการเมืองในยุคแบ่งปันอำนาจระหว่างกองทัพกับพลเรือน

ในขณะที่กลุ่มประท้วงจำนวนมากยอมรับ CRPH ว่าเป็นอำนาจปกครองที่ชอบธรรม  แต่ CRPH เองต้องพยายามแสดงการนำที่มีประสิทธิภาพด้วย  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการก่อตั้งรวมตัวเฉพาะกิจ ทำให้มันขาดไร้กลไกที่จะใช้ประสานกิจกรรมของฝ่ายต่างๆ  ยิ่งกว่านั้น CRPH ยังต้องพยายามอีกมากในการรวบรวมฐานสนับสนุนที่ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์  ยกตัวอย่างเช่น มันยังไม่สามารถดึงพรรคการเมืองและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ให้รับรองกฎบัตรสหพันธรัฐได้มากพอ โดยยังมีหลายมาตราที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ (โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสภาของมลรัฐและกองทัพของสหพันธรัฐ)

การก่อตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เมื่อวันที่ 19 เมษายน คือความพยายามที่จะขยายและสร้างความชอบธรรมแก่การเป็นคู่ต่อกรกับสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC)  ถึงแม้ NUG ก่อตั้งขึ้นโดยมี CRPH เป็นแกนกลางก็ตาม แต่ NUG ก็รวบรวมผู้นำการประท้วงและตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามา ทำให้ NUG มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์มากขึ้นและมีองค์ประกอบที่รวมศูนย์อยู่กับพรรค NLD น้อยกว่ารัฐบาลชุดก่อน  อย่างไรก็ตาม ช่องทางความสำเร็จของ NUG ขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะได้รับการรับรองเป็นหลัก  มันเผชิญอุปสรรคอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งมีขวากหนามอีกหลายชั้นในการเอาชนะความไม่ไว้วางใจที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ ไม่เพียงเฉพาะกับอำนาจส่วนกลางในหมู่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เท่านั้น แต่รวมถึงภายในพรรค NLD เองด้วย

Website of the National Unity Government of the Republic of the Union of Myanmar.

ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

พรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์มีปฏิกิริยาต่อขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยแตกต่างกันไปอย่างมาก  บางพรรค อาทิ พรรคเอกภาพมอญ (Mon Unity Party) และพรรคประชาธิปไตยรัฐกะยา (Kayah State Democratic Party) ให้การรับรองและร่วมมือกับ SAC  ส่วนพรรคอื่น อาทิ พรรคสันนิบาตรัฐฉานแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (Shan Nationalities League for Democracy) ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ CRPH อย่างหนักหน่วงในประเด็นที่ไม่มีตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ยังคงสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ในขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยอยู่เงียบๆ  ส่วนกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะหลายกลุ่มที่แสดงตัวชัดเจนที่สุดภายใต้ร่มธงของคณะกรรมการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศแห่งชาติพันธุ์ (General Strike Committee of nationalities หรือ GSC-N)  พวกเขามีคุณูปการที่สร้างสรรค์และทรงพลังในขบวนการฝ่ายประชาธิปไตย แม้ว่ายังมีความตึงเครียดไม่ลงรอยกับ CRPH อยู่ก็ตาม

ความแตกต่างทำนองนี้มีอยู่ในทิศทางของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) จำนวนมากในเมียนมาเช่นกัน  บางกลุ่ม อาทิ กองกำลังแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front) และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (Lahu Democratic Union) ได้เข้าร่วมกับ NUG และตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับตะมะดอว์อย่างเปิดเผย  ส่วนกองกำลังชาติพันธุ์ที่เป็นตัวกระทำสำคัญ เช่น กองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army) และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) ยังมีท่าทีวางเชิงต่อ  CRPH/NUG แต่กระนั้นก็ร่วมมือกับขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยและช่วยฝึกอบรมผู้ประท้วง ขณะเดียวกันก็ปะทะกับตะมะดอว์ในนามของตัวเอง (มิใช่ในฐานะส่วนหนึ่งของ NUG) ต่อไปเหมือนเดิม (หรือยกระดับความขัดแย้งมากขึ้น)  กลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าเกรงขามอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ กองทัพรวมแห่งรัฐว้า (United Wa State Army) เคยพบปะกับ SAC และค่อนข้างนิ่งเฉยต่อขบวนการฝ่ายประชาธิปไตย แสดงให้เห็นเจตนาเป็นนัยๆ ว่าต้องการหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในความขัดแย้งนี้

การรวบรวมแรงสนับสนุนจากตัวกระทำที่แตกต่างหลากหลายขนาดนี้  NUG จำต้องมีกุศโลบายที่ละเอียดอ่อนล้ำลึก  ในขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ ยังไม่มีสัญญาณอะไรให้คาดหมายได้ชัดเจน  NUG ได้รับเสียงสนับสนุนพอสมควรในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ทั้งนี้เพราะ NUG เป็นทางเลือกที่ชัดเจนเพียงอย่างเดียวนอกเหนือจาก SAC  แต่ถึงแม้มีความพยายามชัดเจนที่จะเปิดรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของเมียนมามากกว่ารัฐบาลในอดีต แต่ก็มีเสียงบ่นวิจารณ์จากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) และองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ว่า ความเท่าเทียมยังเป็นสิ่งที่ขาดหายไป เพราะ CRPH ที่ถูกครอบงำจากพรรค NLD ยังเป็นผู้กำหนดทิศทางทุกอย่าง

Teachers protest against the military coup in February 2021, Hpa-An, Kayin State, Myanmar. Wikipedia Commons

มองไปข้างหน้า

เมื่อพิจารณาขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยจากหลายแง่มุมแล้ว ประชาชนชาวเมียนมาได้แสดงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในการต่อต้านรัฐประหาร  ตะมะดอว์ซึ่งประเมินความนิยมของตนในหมู่ประชาชนสูงเกินไปมาก จึงถูกบีบให้เป็นฝ่ายตั้งรับ  กระนั้นก็ตาม ค่อนข้างแน่นอนว่าขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยคงไม่สามารถรักษาความเข้มแข็งดังเช่นในช่วงต้นไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง  การปราบปรามอย่างป่าเถื่อนและการจับกุมไม่เพียงลดจำนวนการประท้วงของมวลชนลง แต่ยังขัดขวางมิให้ขบวนการสามารถประสานเสาหลักสามเส้าได้อย่างมีนัยสำคัญด้วย  เนื่องจาก CRPH/NUG ถูกตัดขาดจากสถาบันที่เป็นทางการภายในประเทศและต้องเผชิญหน้ากับความตึงเครียดกับปัญหาศูนย์กลาง-ชายขอบที่ยืดเยื้อมานาน  จึงไม่น่าแปลกใจที่มันยังไม่สามารถสร้างความเป็นผู้นำอย่างเด็ดขาด ซึ่งจำเป็นต่อการบรรลุการต่อสู้ขั้นแตกหักกับตะมะดอว์

กระนั้นก็ตาม ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่สิ้นเชื้อ  ตรงกันข้าม สมาชิกของขบวนการแสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาเต็มใจแบกรับต้นทุนหนักอึ้งในการรักษาความหวังถึงอนาคตของประชาธิปไตยให้มีชีวิตชีวาต่อไป  ทุกซากศพหรือทุกการบังคับสูญหายของเพื่อนร่วมรบที่ถมทับมากขึ้น ความเกลียดชังที่พวกเขามีต่อตะมะดอว์ก็ยิ่งทวีคูณ ยิ่งทำให้การย้อนกลับไปสู่การบริหารประเทศแบบแบ่งปันอำนาจก่อนรัฐประหารกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้  ตะมะดอว์กำลังเผชิญหน้ากับการท้าทายอันน่าตระหนก  กล่าวคือ ไม่สามารถทำลายจิตวิญญาณของขบวนการฝ่ายประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าช่องทางในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อรักษาความเป็นศูนย์กลางของตนในการเมืองก็ตีบตันลงเรื่อยๆ  ตะมะดอว์พบว่าตัวเองไม่มีทางอื่นเหลืออีกแล้ว นอกจากต้องหาทางปกครองประเทศที่กำลังซวดเซไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลว 6 ข้อสรุปที่น่าเศร้าก็คือ ภาวะอับตันที่ยืดเยื้อ 7และมีแต่ความรุนแรงน่าจะเป็นผลลงเอยที่เป็นไปได้มากที่สุด พร้อมกับการบาดเจ็บล้มตายของชาวพม่าน่าจะเลวร้ายอย่างยิ่ง

Kai Ostwald
Associate Professor, School of Public Policy and Global Affairs
University of British Columbia

Kyaw Yin Hlaing
Director, Center for Diversity and National Harmony (CDNH)
Myanmar

Notes:

  1. https://www.jstor.org/stable/41756341?seq=1#metadata_info_tab_contents
  2. https://www.iseas.edu.sg/images/pdf/ISEAS_Perspective_2015_68.pdf
  3. https://www.bbc.com/news/world-asia-56331307
  4. https://www.voanews.com/press-freedom/access-news-more-limited-myanmar-media-outlets-close
  5. https://www.bu.edu/pardeeschool/2021/04/15/mass-movements-and-state-violence-in-myanmar/
  6. https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/myanmar/b167-cost-coup-myanmar-edges-toward-state-collapse
  7. https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2021/02/ISEAS_Perspective_2021_30.pdf