อัตลักษณ์ชาติไทยกับอัตลักษณ์ล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย

Joel Sawat Selway

เว็บไซท์ CIA’s World Factbook บรรยายว่าประเทศไทยเป็นประเทศชาติพันธุ์เดียว โดยมีสัดส่วนคนไทยถึง 95% ของประชากรทั้งหมด 1  จินตภาพนี้สอดคล้องอย่างยิ่งกับการปั้นแต่งลักษณะเด่นของประเทศไทยฉบับทางการที่ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยยุคปลายอาณานิคม  เมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสโอบล้อมสยาม (ชื่อเดิมของประเทศไทยจนถึงปี 2482) จากทุกด้าน ชนชั้นนำของสยามเริ่มอ้างว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มใหญ่ๆ ภายในอาณาบริเวณที่ตนครองอำนาจนั้นเป็นสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยตามภาคต่างๆ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของชาวสยาม  ดังนั้น คนลาวในที่ราบสูงโคราช (ทุกวันนี้มีสัดส่วนประมาณ 30% ของประชากร) จึงกลายเป็นชาวไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคนลาวดำตามเทือกเขาทางภาคเหนือ (ทุกวันนี้มีสัดส่วนประมาณ 12% ของประชากร) จึงกลายเป็นคนไทยภาคเหนือ 2  โครงการชาตินิยมไทยเริ่มต้นจากจุดนี้ โดยเลียนแบบรัฐชาติยุโรปที่กำลังคุกคามพรมแดนของตน  การศึกษาภาคบังคับของภาครัฐเป็นเครื่องมือสำคัญเคียงคู่ไปกับการทำแผนที่ การรวมศูนย์ศาสนาพุทธและการโฆษณาชวนเชื่อระดับชาติ  หากจะหยิบยืมข้อเขียนอันมีชื่อเสียงของยูจีน เวเบอร์เกี่ยวกับพัฒนาการของลัทธิชาตินิยมฝรั่งเศส  กระบวนการนี้ก็คือการเปลี่ยนชาวนาให้เป็น “คนไทย” นั่นเอง 3  โครงการชาตินิยมไทยประสบความสำเร็จแค่ไหนหลังจากดำเนินการมายาวนานถึง 120 ปี?

ผู้เขียนสำรวจตรวจสอบคำถามนี้ในกลุ่มชาติพันธุ์ล้านนาทางภาคเหนือของประเทศไทย  ชาวล้านนาในภาคเหนือมีประชากรประมาณ 8 ล้านคน หรือราว 12% ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย 4  โดยทั่วไป พวกเขามักเรียกตัวเองด้วยชื่อเรียกชาติพันธุ์ว่า คนเมือง แปลตามตรงหมายถึง “ประชาชนของเมือง 5”  คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าไทยวนและไทยภาคเหนือด้วย  แต่ละชื่อมีต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์และนัยยะทางการเมืองแตกต่างกันไป  อันที่จริง เมื่อสยามผนวกดินแดนของอดีตอาณาจักรล้านนาเป็นครั้งแรกในปี 2442 ชนชั้นนำสยามยังเรียกพวกเขาว่าลาว 6  การผนวกรวมชาวล้านนาเข้ามาอยู่ในอัตลักษณ์ชาติไทยประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง?  พวกเขามองตัวเองเป็นคนไทยแค่ไหนและอัตลักษณ์อื่นๆ ยังคงหลงเหลืออยู่ในระดับมากน้อยแค่ไหน?

วิธีการหนึ่งในการตอบคำถามนี้คือสำรวจทัศนคติและความเข้าใจโดยทั่วไปของชาวล้านนา  ในขณะที่สังคมไทยมักมองกลุ่มชาติพันธุ์อีสานแบบเหมารวมในเชิงลบ  ส่วนชาวล้านนามักถูกวาดภาพเป็นคนอ่อนโยนมีวัฒนธรรม  บางทีอาจเป็นเพราะชาวล้านนาไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมที่อาศัยในประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ดังเช่นชาวอีสานมีชาติพันธุ์ร่วมกับคนเชื้อสายลาวในประเทศลาวที่เป็นเพื่อนบ้าน  หรือบางทีอาจเป็นเพราะอาณาจักรไทยุคแรกสุดมีตำแหน่งที่ตั้งตรงพรมแดนที่ประชิดกับอาณาจักรล้านนาในประเทศไทยยุคปัจจุบัน  ไม่ว่าเพราะอะไรก็ตาม ชาวกรุงเทพมองเชียงใหม่เป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยม  คนกรุงเทพมักกลับเมืองหลวงพร้อมเรื่องเล่าเกี่ยวกับความงาม ผิวพรรณขาวผ่อง คำพูดจาไพเราะอ่อนหวานและวัฒนธรรมอันรุ่มรวย

บทความนี้พยายามก้าวพ้นการมองแบบเหมารวม  รวมทั้งตอบคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ไทยของชาวล้านนาด้วยการใช้ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนัก World Values Survey (WVS)  นอกจากนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอผลลัพธ์จากโครงการ Lanna Cultural Project (LCP) ซึ่งมีการสำรวจความคิดเห็นสามครั้งที่ผู้เขียนเก็บรวบรวมในภาคเหนือระหว่างปี 2558 จนถึงปี 2562

อัตลักษณ์ชาติไทย 

ผู้เขียนใช้สองคำถามจากสำนัก WVS ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นสองครั้งในประเทศไทย คือในปี 2550 และปี 2556  WVS ตั้งคำถามว่าพูดภาษาอะไรในบ้าน ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายวัดความเป็นชาติพันธุ์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในแบบสำรวจความคิดเห็น รวมทั้งเป็นมาตรวัดอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่ดี แม้ยังไม่สมบูรณ์  เราสามารถใช้มาตรวัดนี้ตรวจสอบความเข้มแข็งของอัตลักษณ์ชาติไทยที่แตกต่างกันไป  รูป 1 แสดงผลลัพธ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์ตอบคำถามว่า “คุณภูมิใจในความเป็นคนไทยแค่ไหน?”  คำตอบจัดแบ่งตามคะแนน 4 ระดับ  1  หมายถึง “ไม่ภูมิใจเลย” และ 4 หมายถึง “ภูมิใจมาก”  ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ตอบ 3 หรือ 4 โดยมีค่าเฉลี่ยรวมของทั้งกลุ่มเกิน 3.5  ชาวไทยภาคกลาง (หรือชาวสยาม) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอำนาจในประเทศ กลับมีค่าเฉลี่ยความภูมิใจต่ำสุด  ค่าเฉลี่ยของชาวล้านนาในการสำรวจปี 2550 และปี 2556 มีระดับความภูมิใจสูงสุด รองลงมาในคะแนนที่ไม่ห่างกันนักคือชาวอีสาน

รูป 1. ระดับความภูมิใจในความเป็นคนไทยของกลุ่มชาติพันธุ์

ผลลัพธ์ข้างต้นสะท้อนรับกับคำตอบของอีกคำถาม ซึ่งวัดระดับที่ผู้ตอบคำถามมองตัวเองเป็นพลเมืองไทย  เช่นเดียวกัน  เราวัดด้วยคะแนน 4 ระดับ  รูป 2 แสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยของทุกกลุ่มอยู่ระหว่าง “เห็นด้วย” (3) กับ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” (4)  อีกครั้งที่ชาวล้านนาได้ค่าเกณฑ์เฉลี่ยสูงสุดสำหรับคำถามนี้

รูป 2. ระดับการมองตัวเองเป็นพลเมืองไทยของกลุ่มชาติพันธุ์

ถ้าเช่นนั้น เราควรสรุปเลยไหมว่าชาวล้านนามีความเป็นคนไทยมากที่สุด?  สิ่งที่แน่ใจไม่ได้ในทั้งสองคำถามนี้ก็คือ บริบทแวดล้อมเมื่อผู้ตอบแบบสอบถามตอบคำถาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครหรืออะไรคือกลุ่มภายนอกที่ผู้ตอบคำถามใช้เปรียบเทียบกับตัวเอง?  ถ้าฉันไม่ภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย แล้วฉันมีความภูมิใจในอัตลักษณ์อื่นใดหรือเปล่า?  ในทำนองเดียวกัน ถ้าฉันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชาติไทย ฉันจะเป็นส่วนหนึ่งของชาติไหน?  งานเขียนเกี่ยวกับชาติพันธุ์ยืนยันมานานแล้วว่า ปัจเจกบุคคลยึดมั่นหลายอัตลักษณ์ในเวลาเดียวกัน แต่ละอัตลักษณ์ก็ชิงดีชิงเด่นกัน ทั้งในบริบทโดยรวมและในบริบทเฉพาะ  เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพความซับซ้อนของการด่วนสรุปง่ายๆ ว่าชาวล้านนามีความเป็นไทยมากที่สุด ผู้เขียนขอเสนออีกคำถามจากสำนัก WVS นั่นคือ คำถามว่า ผู้ตอบคำถามมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน?  ในแบบสอบถามของ WVS คำถามนี้ถามต่อจากคำถามเกี่ยวกับการมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย  รูป 3. แสดงผลลัพธ์ของคำตอบ  ชาวล้านนาได้คะแนนเป็นอันดับสูงสุดอีกครั้ง ชี้ให้เห็นว่าพวกเขามีทั้งอัตลักษณ์ความเป็นชาติและความเป็นท้องถิ่นที่เข้มข้นที่สุด  แต่เราควรตีความผลลัพธ์นี้อย่างไร?  ในสายตาของหลายคน ผลลัพธ์เช่นนี้น่าพิศวงงงงวย  กลุ่มที่ยึดมั่นอัตลักษณ์ไทยเข้มข้นที่สุดควรมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นจืดจางที่สุดไม่ใช่หรือ?  ผลลัพธ์แบบนี้หมายความว่าอะไร?

รูป 3. ระดับการมองตัวเองเป็นสมาชิกชุมชนท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์

เนื่องจากการสำรวจของสำนัก WVS ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อวิเคราะห์คำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์แห่งชาติกับชาติพันธุ์ ผลสำรวจจึงบอกเราได้จำกัดเกี่ยวกับความรู้สึกของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยทั้งต่ออัตลักษณ์ชาติไทยหรืออัตลักษณ์ล้านนา  ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ผู้เขียนจึงทำการสำรวจสามครั้งที่เจาะลึกลงในคำถามเหล่านี้  ประการแรกสุด ผู้เขียนถามคำถามเดิมซ้ำ นั่นคือ “คุณภูมิใจในความเป็นคนไทยแค่ไหน?” เพื่อตรวจสอบปัญหาความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการตอบคำถามตามความปรารถนาของสังคม (desirability bias) และขีดจำกัดของคำถามของ WVS  เริ่มแรก ผู้เขียนขอให้ผู้ตอบคำถามเปรียบเทียบตัวเองกับระดับความภูมิใจของคนไทยโดยเฉลี่ย โดยเราบอกพวกเขาว่ามันเป็นค่าตรงกลาง  เหตุผลก็คือเพื่อช่วยให้ผู้ตอบคำถามรู้สึกสบายใจมากขึ้นหากจะแสดงระดับความภูมิใจที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบโดยไม่ต้องเปิดเผยถึงระดับความภูมิใจที่ต่ำโดยสมบูรณ์  ในประเทศไทย มีแรงกดดันทางสังคมอย่างเข้มข้นให้ทุกคนต้องแสดงความรู้สึกชาตินิยมในระดับสูง  ระดับที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบไม่จำเป็นต้องหมายถึงระดับต่ำอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงช่วยลดการตอบคำถามตามความปรารถนาของสังคมได้  การปรับแต่งคำถามประการที่สองเป็นเพียงการเพิ่มขีดวัดระดับให้กว้างขึ้นกว่าเดิม โดยเพิ่มจากสี่ระดับเป็น 10 ระดับ  รูป 5. แสดงผลลัพธ์จากคำตอบ  มีเพียง 11.82% เท่านั้นที่มองตัวเองอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในแง่ของความภูมิใจในความเป็นคนไทย  อีกราว ~15% มองว่าตัวเองมีระดับความภูมิใจต่ำกว่าค่าเฉลี่ย  ถึงแม้ตัวเลขของกลุ่มนี้ยังต่ำ แต่ผลลัพธ์นี้ก็ชี้ให้เห็นว่ามีความผันแปรอย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่าผลลัพธ์ของ WVS ซึ่งมีผู้ตอบคำถามเพียง 0.54% ที่ตอบว่าตน “ไม่ภาคภูมิใจนัก” หรือ “ไม่ภาคภูมิใจเลย”  ส่วนที่เหลืออีก 73% เชื่อว่าตนมีระดับความภูมิใจในความเป็นคนไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีแค่ 13.69% ที่ได้คะแนนสูงสุดในคำถามนี้ เปรียบเทียบกับ 95.70% ในการสำรวจของ WVS  เนื่องจากนี่เป็นการสำรวจเฉพาะภูมิภาคล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย ผู้เขียนจึงยังไม่สามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์นี้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นก็คือมีความผันแปรมากขึ้นเกี่ยวกับความเข้มข้นของอัตลักษณ์ไทยในหมู่ชาวล้านนาเมื่อผู้เขียนปรับแต่งคำถามใหม่

รูป 5. ความภูมิใจในความเป็นคนไทย (ค่าเฉลี่ย=5), ผู้พูดภาษาคำเมือง

อัตลักษณ์ล้านนากับชาตินิยมล้านนา

คราวนี้หันมาดูปริศนาที่ชาวล้านนามีอัตลักษณ์แห่งชาติเข้มข้นที่สุดในการสำรวจของ WVS  คำถามที่สองในโครงการ LCP ถามผู้ตอบคำถามให้เปรียบเทียบอัตลักษณ์ไทยกับอัตลักษณ์เชิงภูมิภาคของตน  ผู้เขียนเสนอให้ผู้ตอบคำถามเลือกระหว่างอัตลักษณ์ 6 แบบด้วยกัน โดยให้ผู้ตอบคำถามจัดลำดับจาก 1 ถึง 6  ลำดับที่ 1 บ่งชี้ว่าเป็นลำดับที่มีความสำคัญสูงสุด  ตาราง 1. แสดงค่าเฉลี่ยการจัดลำดับของแต่ละอัตลักษณ์  เราจะเห็นว่าอัตลักษณ์ไทยได้รับการจัดลำดับสูงสุดในค่าเฉลี่ย โดยมีคำตอบ 41.88% จัดลำดับอัตลักษณ์ไทยเป็นอันดับหนึ่งและการจัดลำดับเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 2.37  ผู้เขียนให้ผู้ตอบคำถามมีทางเลือกอัตลักษณ์ชาติพันธุ์-ภูมิภาคสามแบบด้วยกัน กล่าวคือ ภาคเหนือ ล้านนาและเชียงใหม่  เมื่อรวมกันแล้ว อัตลักษณ์ภูมิภาคทั้งสามนี้ได้ลำดับที่หนึ่ง 43.56% ในครั้งนั้น 7  เมื่อเปรียบเทียบทั้งสามอัตลักษณ์นี้ ภาคเหนือได้อันดับเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับที่สอง แต่ทั้งอัตลักษณ์ล้านนากับเชียงใหม่ได้อันดับหนึ่งถี่กว่า  ยิ่งกว่านั้น ค่าเฉลี่ยของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์-ภูมิภาคทั้งสามนี้ใกล้เคียงกันมาก  ผลลัพธ์นี้ดูเหมือนชี้ให้เห็นว่าปัจเจกบุคคลบางกลุ่มอาจชอบชื่อเรียกชาติพันธุ์บางชื่อมากกว่า แต่โดยเฉลี่ยแล้วทั้งสามคำนี้มีโอกาสแทนค่ากันได้สูง

ตาราง 1. การจัดลำดับอัตลักษณ์ตามความสำคัญ, ผู้พูดภาษาคำเมือง

125456Average
Thai41.8819.638.3920.569.140.412.37
Northern11.0126.6738.3220.442.970.582.79
Lanna17.4726.7924.4022.367.571.402.80
Chiangmai15.0822.5424.3427.328.442.272.98
Tai2.682.393.797.2851.0232.855.00
Asian11.881.980.822.0420.8562.435.05

แต่มีความเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยกับการจัดลำดับอัตลักษณ์ไทยโดยมีตัวเลือกเปรียบเทียบให้อย่างชัดเจนหรือไม่?  เพื่อตอบคำถามนี้ ผู้เขียนจึงดำเนินการทดสอบที่ใช้วัดความเชื่อมโยงระหว่างตัวแปรอันดับทั้งสอง 8  ผลลัพธ์ที่ออกมาบ่งชี้ความเชื่อมโยงในระดับอ่อนมาก  อันที่จริง ผู้ตอบคำถามชาวล้านนา 60.00% ที่บอกว่าตนมีระดับความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยต่ำที่สุด กลับจัดอันดับให้อัตลักษณ์ไทยอยู่เหนือกว่าอัตลักษณ์ภูมิภาค  ในขณะที่ผู้ตอบคำถามที่ระบุว่าตนมีระดับความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยสูงสุด กลับจัดลำดับให้อัตลักษณ์ไทยอยู่เหนือกว่าอัตลักษณ์ภูมิภาคเพียง 45.30%  อีกทั้งความสัมพันธ์ก็ไม่เป็นเส้นตรงเสียทีเดียวด้วย  กล่าวโดยย่อก็คือ ไม่มีความสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างระดับความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยที่ผู้ตอบคำถามรู้สึกกับการจัดอันดับอัตลักษณ์ไทยของตนทันทีที่เรานำอัตลักษณ์ล้านนามาพิจารณาร่วมด้วย  ดังนั้น ข้อสรุปที่ดีที่สุดก็คือ ปัจเจกบุคคลมีความแตกแยกในตัวเองระหว่างสองอัตลักษณ์นี้

ผู้เขียนขอปิดท้ายด้วยผลลัพธ์จากคำถามสุดท้ายของโครงการ LCP  ผู้เขียนขอให้ผู้ตอบคำถามเปรียบเทียบอัตลักษณ์ไทยกับอัตลักษณ์ล้านนาโดยตรง  คำถามนี้ไม่สร้างปัญหาความคลุมเครือในการเปรียบเทียบแบบที่อัตลักษณ์ชาติพันธุ์-ภูมิภาคที่แตกต่างกันสามลักษณะทำให้เกิดขึ้น  ผู้ตอบคำถามสามารถระบุชัดเจนว่าตน “เป็นคนไทยไม่ใช่คนล้านนา” “เป็นคนไทยมากกว่าเป็นคนล้านนา” “เป็นคนล้านนาเท่ากับเป็นคนไทย” “เป็นคนล้านนามากกว่าเป็นคนไทย” และคำตอบสุดท้ายคือ “เป็นคนล้านนาไม่ใช่คนไทย”  มีการถามคำถามเดียวกันนี้ในชนกลุ่มน้อยเชิงชาติพันธุ์-ภูมิภาคของสหราชอาณาจักร (เวลส์ สกอตและไอริชเหนือ) มาหลายปีแล้ว  ดังที่รูป 6. แสดงให้เห็น ผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ (72.11%) รู้สึกว่าตนเป็นคนไทยเท่ากับเป็นคนล้านนา  ส่วนจำนวนผู้ตอบคำถามที่อยู่สองฟากของคำตอบตรงกลางนี้มีจำนวนพอๆ กัน นั่นคือ ราว ~14% รู้สึกเป็นคนล้านนามากกว่าเป็นคนไทยหรือเป็นคนไทยมากกว่าเป็นคนล้านนา

รูป 6. อัตลักษณ์ไทย vs. อัตลักษณ์ล้านนา, ผู้พูดภาษาคำเมือง

บทสรุป

ย้อนกลับไปที่คำถามที่เป็นแรงบันดาลใจของบทความนี้  ผลการสำรวจความคิดเห็นจากสำนัก WVS และโครงการ LCP ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้อัตลักษณ์ชาติไทยเริ่มต้นปลูกฝังในหมู่ชาวล้านนาแค่กว่าศตวรรษที่ล่วงมาเท่านั้น แต่การหลอมรวมเข้าสู่ชุดอัตลักษณ์ของชาวล้านนาก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง  อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่อัตลักษณ์ล้านนายังดูเหมือนมีความเข้มข้นเท่าๆ กับอัตลักษณ์ไทยเป็นเรื่องที่ทั้งน่าแปลกใจและน่าสนใจอย่างยิ่ง  ข้อมูลนี้ช่วยอธิบายเหตุการณ์ทางการเมืองบางอย่างที่เกิดขึ้นในล้านนาตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างสองอัตลักษณ์นี้  ดังที่บรรยายไว้ละเอียดกว่านี้ในต้นฉบับหนังสือที่ผู้เขียนกำลังเขียนอยู่  ถ้ายกเว้นชาวมลายูมุสลิมในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ชาวล้านนาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบกับการที่อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนกลายเป็นเครื่องกระตุ้นทางการเมืองมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์-ภูมิภาคอื่น  ในช่วงต้นปี 2557 มีการแขวนป้ายบนสะพานลอยหลายแห่งในภาคเหนือเรียกร้องให้แยกประเทศล้านนา  มีการจับกุมก็จริง แต่ไม่ค่อยมีใครอยากเชื่อ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็โฆษณา) ว่าเรื่องนี้แพร่หลายไปมากกว่าแค่ในหมู่คนไม่กี่คน  ผลการสำรวจของโครงการ LCP ซึ่งจะพรรณนาอย่างละเอียดในหนังสือของผู้เขียน ชี้ให้เห็นว่ามีการสนับสนุนขบวนการชาตินิยมในระดับที่อาจทำให้ข้าราชการไทยไม่สบายใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นลุกฮือขึ้นก่อความรุนแรงเหมือนในภาคใต้  กระนั้นก็ตาม งานค้นคว้าด้านรัฐศาสตร์บอกให้เรารู้น้อยมากว่า กลุ่มชนดังเช่นชาวล้านนาจะเปลี่ยนผ่านจากความไม่พอใจกลายเป็นการก่อกบฏอย่างไรและวิธีการใดที่ดีที่สุดในการบรรเทาความไม่พอใจจนสงบลง  การพิจารณาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ภูมิภาคนิยมในอนาคตจะต้องต่อสู้กับปัญหาอัตลักษณ์ที่ชิงดีชิงเด่นกันดังที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในบทความนี้

Joel Sawat Selway
Brigham Young University

Banner image: Thai mural painting of Lanna people life in the past on temple wall in Chiang Rai, Thailand 

Notes:

  1. Central Intelligence Agency. 2019. “World Factbook.” Central Intelligence Agency, United States Government. https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/.
  2. Keyes, Charles F. 1995. “Who are the Tai? Reflections on the Invention of Identities.”  Ethnic identity: Creation, conflict, and accommodation:136-160; Ongsakul, Sarasawadee. 2005. “History of Lanna, trans.”  Chitraporn Tanratanakul (Chiang Mai: Silkworm Books, 2005).
  3. Anderson, Benedict. 1983. Imagined Communities: reflections on the origin and spread of nationalism. 1st ed. New York: Verso. Weber, Eugen. 1976. Peasants into Frenchmen: the modernization of rural France, 1870-1914: Stanford University Press. Winichakul, Thongchai. 1994. Siam mapped. A history of the geo-body of a nation. Honolulu: University of Hawaii Press.
  4. ตัวเลขประมาณการแตกต่างกันไป นี่เป็นการคาดการณ์ของผู้เขียนโดยวางพื้นฐานจากสถิติ Ethnologue ปี 1983 โดยปรับจำนวนของผู้พูดภาษาคำเมืองตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
  5. คำว่า เมือง ในทางประวัติศาสตร์หมายถึงนครที่มีกำแพงล้อมรอบ ตั้งอยู่ในหุบเขาหรือที่ราบต่ำ ซึ่งตรงกันข้ามกับชุมชนชนบทในเขตเทือกเขา
  6. เพื่อแยกชนกลุ่มนี้จากคนลาวในที่ราบสูงโคราช จึงเรียกพวกเขาว่าลาวดำ อันที่จริง ชาวสยามเรียกกลุ่มชนไทที่ไม่ใช่คนสยามทั้งหมดว่าลาว (Keyes 1995).
  7. เนื่องจากผู้เขียนเสนออัตลักษณ์สามอย่างที่ผู้ตอบคำถามเลือก ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่า ถ้าผู้เขียนรวมอัตลักษณ์ชาติพันธุ์-ภูมิภาคเข้าด้วยกันเป็นคำตอบเดียว เช่น ล้านนา/ภาคเหนือ/เชียงใหม่ อัตลักษณ์ไทยหรืออัตลักษณ์ภูมิภาคจะมีเปอร์เซ็นต์เป็นอันดับหนึ่งกันแน่ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอละไว้ไม่สร้างข้อสรุปที่แน่นอนเด็ดขาดลงไป
  8. โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Kendall’s Tau-b test.