สิ่งแวดล้อมเหี่ยวเฉา? การประท้วงล่าสุดที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำกับการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม (ที่ขาดหายไป) ในประเทศไทย

Jakkrit Sangkhamanee

ย่ำค่ำวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน ประชาชนจำนวนมหาศาลมาชุมนุมกันบนท้องถนนเพื่อประท้วงรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้การครอบงำของกองทัพ  การประท้วงครั้งนี้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยและนักเรียนมัธยมเป็นแกนนำ โดยได้รับการสนับสนุนจากศิลปิน แรปเปอร์ นักแสดงตลก นักเขียน นักวาดการ์ตูนและนักร้อง รวมถึงพนักงานบริษัท ฟรีแลนซ์หนุ่มสาว แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและผู้ค้ารายย่อย นักวิชาการ ตลอดจนอดีตคนเสื้อแดงจากภาคอีสาน  บนเวทีใหญ่มีการแสดงคึกคักและการปราศรัยของนักกิจกรรมเยาวชน  ส่วนบนถนนที่ถูกผู้ชุมนุมปิดการจราจรนั้น ยิ่งคับคั่งไปด้วยกิจกรรมหลากหลายและสร้างสรรค์มากกว่าบนเวทีเสียอีก  ข้อเรียกร้องมิใช่มีเพียงแค่ประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังมีการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมต่างๆ  ประเด็นในชีวิตประจำวันและอนาคตของประเทศ

การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการแนวร่วม “ประชาชนปลดแอก” ครั้งนี้ ถือเป็นหมุดหมายหนึ่งในการทำความเข้าใจการเมืองร่วมสมัยของประเทศไทย  มันทำให้ย้อนรำลึกถึงช่วงทศวรรษ 2530 เมื่อการประท้วงตามท้องถนนกลายเป็นฉากทัศน์ทางการเมืองอันโดดเด่น การชุมนุมประท้วงที่ผุดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในใจกลางกรุงเทพ ตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียน รวมทั้งตามพื้นที่สาธารณะในหลายจังหวัดทั่วประเทศ บ่งบอกให้รู้ว่าขบวนการสังคมกลับมามีบทบาทในการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเพื่อความก้าวหน้าของประเทศอีกครั้งท่ามกลางภาวะที่ระบอบประชาธิปไตยถอยหลังตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ในช่วงทศวรรษ 2530  ขบวนการจากหลายภาคส่วน ซึ่งมีทั้งองค์กรเกษตรกร นักกิจกรรมชุมชนแออัด นักรณรงค์ต่อต้านโครงการพัฒนา นักกิจกรรมด้านแรงงาน และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่างมีคุณูปการและใช้โอกาสนี้สั่งสมกำลังจากช่องทางที่เปิดกว้างขึ้นในพื้นที่การเมืองของประเทศไทย  การมาบรรจบกันของขบวนการเหล่านี้ โดยเฉพาะกับขบวนการการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เห็นว่าขบวนการเหล่านี้ไม่เพียงแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมในบางประเด็นเท่านั้น แต่มีบทบาทช่วยสร้างระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึกกว่าเดิมด้วย

เมื่อพิจารณาจากประเด็นรณรงค์ ขบวนการ นักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมที่มีอยู่อย่างหลากหลายแล้ว น่าสงสัยว่าการเมืองด้านสิ่งแวดล้อมกลับมีบทบาทน้อยมากในกระแสชุมนุมประท้วงครั้งปัจจุบัน  เรื่องนี้ยิ่งเห็นได้ชัดจากการที่มีนักกิจกรรมหนุ่มสาวน้อยรายมากที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองด้านสิ่งแวดล้อมและประเด็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนา  เรื่องนี้ยิ่งน่าประหลาดใจเมื่อคำนึงถึงว่าทั้งประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมเคยเป็นหัวใจสำคัญในการระดมมวลชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในสมัยก่อน  เกิดอะไรขึ้นกับขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมและพวกเขาอยู่ตรงจุดไหนในกระแสการก่อตัวของระบอบประชาธิปไตยในอนาคตของประเทศไทย?

Protests on 18 July 2020, a large demonstration organized under the Free Youth umbrella at the Democracy Monument in Bangkok. Photo: Supanut Arunoprayote, Wikipedia Commons

จากเยาวชนปลดแอกถึงประชาชนปลดแอก

“ประชาชนปลดแอก” คือขบวนการทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลโดยมีจุดมุ่งเน้นที่การเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความโปร่งใสและปัญหาสังคมอื่นๆ  ขบวนการนี้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอย่างตรงไปตรงมา  เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้มาจากการเลือกตั้งที่มีข้อกังขา การฉ้อฉลคะแนนเสียงในรัฐสภา การบริหารประเทศอย่างไร้ประสิทธิภาพและขาดความโปร่งใส  การที่ขบวนการออกมาตั้งคำถามกับความชอบธรรมของรัฐบาลก็ต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องเกินเลย

ขบวนการนี้เริ่มต้นด้วยนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนปลดแอก” ในปลายปี 2562  แกนนำของเยาวชนปลดแอกรณรงค์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ  ขบวนการได้รับความสนใจในวงกว้างขึ้นและได้รับแรงสนับสนุนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก  แม้ว่าเริ่มต้นด้วยการเป็นขบวนการนักศึกษา แต่ภายหลังก็มีประชาชนจากหลายสาขาอาชีพมาเข้าร่วม ทำให้ฐานมวลชนขยายตัวออกไป รวมทั้งเป้าหมายของข้อเรียกร้องก็สูงขึ้น  จากนั้น เยาวชนปลดแอก ก็กลายเป็น ประชาชนปลดแอก เพื่อให้ครอบคลุมพันธมิตรของขบวนการที่มีมากมายหลากหลายขึ้น โดยมีจุดเน้นที่พวกเขาเรียกว่า “3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืนและ 1 ความฝัน”

สามข้อเรียกร้องประกอบด้วย:

  1. รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย
  2. รัฐบาลต้องยินยอมให้มีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีพื้นฐานจากเจตจำนงของประชาชน
  3. รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงอีกครั้งผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม

สองจุดยืนประกอบด้วย: (1) คัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะก่อการรัฐประหาร (2) คัดค้านการตั้งรัฐบาลแห่งชาติด้วยข้ออ้างเพื่อก้าวข้ามจุดอับตันทางการเมืองและการขาดความชอบธรรมของรัฐบาล

ประการสุดท้าย หนึ่งความฝัน คือการมีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง  ตามถ้อยแถลงของขบวนการ ความฝันนี้จะเป็นจริงได้ภายใต้กระบวนร่างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด

ถึงแม้ประชาชนปลดแอกมุ่งเน้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่การรณรงค์ของพวกเขาก็มิได้จำกัดตัวเองแค่การเมืองเชิงสถาบันเท่านั้น  ตรงกันข้าม ขบวนการที่มีชีวิตชีวานี้ได้หลอมรวมภารกิจทางสังคมหลายประการเข้ามาอยู่ในพื้นที่สาธารณะเดียวกัน  เมื่อเดินสำรวจดูการชุมนุมประท้วง เราสังเกตเห็นว่าประชาชนรณรงค์ในประเด็นทางสังคม-การเมืองที่หลากหลาย 1 อาทิ สิทธิของ LGBTQ และสมรสเท่าเทียม สิทธิของผู้หญิงในการทำแท้งและการยินยอมในเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษา  เยาวชนมุสลิมมีโอกาสใช้เวทีครั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้นโยบายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยคำนึงถึงความโปร่งใสและตระหนักถึงความอ่อนไหวด้านวัฒนธรรม  ขบวนการแรงงานชี้ให้เห็นสภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรมและเรียกร้องสวัสดิการ  สมาชิกหลายคนของกลุ่มเน้นย้ำความสำคัญของเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยด้วย

ภายในบริบทที่หลากหลายนี้ เมื่อการเมืองด้านสิ่งแวดล้อมมีบทบาทน้อยจึงยิ่งสะดุดตาเป็นพิเศษ  การที่ขบวนการเหล่านี้ขาดหายไปบอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับการเมืองด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย?

ความตึงเครียดระหว่างประชาธิปไตยกับสิ่งแวดล้อม

การที่เยาวชนรุ่นปัจจุบันขาดความเชื่อมโยงกับขบวนการสิ่งแวดล้อมทั้งในด้านเนื้อหาและภาคปฏิบัติ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้จากสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกันหลายประการ

ระหว่างช่วงทศวรรษ 2530-40 การเมืองด้านสิ่งแวดล้อมมีผู้นำคือเอ็นจีโอ ซึ่งประสานความร่วมมือกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา  การเมืองด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มักขับเคลื่อนในท้องถิ่นและได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของการอนุรักษ์ “วัฒนธรรมชุมชน”  ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีการดำเนินนโยบายหลายประการที่ดึงฐานเสียงประชาชนที่เป็นแกนกลางของกลุ่มเหล่านี้เข้ามาอยู่ในความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับรัฐบาลของเขา โดยเน้นย้ำการยกระดับโอกาสทางเศรษฐกิจระดับชาติ การปฏิรูปการศึกษา การดำรงชีพของชาวบ้าน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชนบท  วาระทางนโยบายนี้เป็นการดึงชาวบ้านออกจากความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่มีกับนักกิจกรรมเอ็นจีโอ กระทั่งก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่เอ็นจีโอบางกลุ่ม  พวกเขาจึงหันไปจับมือเป็นพันธมิตรกับชนชั้นกลางชาวเมือง กลายเป็นขบวนการทางการเมืองต่อต้านทักษิณจนนำไปสู่การรัฐประหารของกองทัพในปี 2549

ความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2540 ทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นโอกาสที่เกิดจากการเมืองและนโยบายในระบอบประชาธิปไตย  ความก้าวหน้านี้เห็นได้ในด้านการศึกษา เทคโนโลยี เศรษฐกิจสร้างสรรค์และสวัสดิการสังคมอื่นๆ  มันเผยให้เห็นความเปราะบางของโครงสร้างทางการเมืองในประเทศนี้ด้วย  สำหรับคนไทย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นหนุ่มสาว ประชาธิปไตยมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนสำคัญยิ่งกว่าการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นรายประเด็นหรือวัฒนธรรมชุมชน

ในขณะเดียวกัน เป้าหมายที่เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในชนบทให้การสนับสนุนก็ดูเหมือนห่างไกลจากความสนใจและบริบทของคนหนุ่มสาวในกรุงเทพ และแม้กระทั่งในต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ซึ่งมีการจัดชุมนุม  เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีฐานการเคลื่อนไหวในพื้นที่ชนบท โดยมีสมาชิกและพันธมิตรเฉพาะในวงจำกัด  การระดมมวลชนชาวบ้านชนบทเป็นยุทธศาสตร์แกนกลางประการหนึ่งของขบวนการเหล่านี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530  การผลิตความรู้และการถกเถียงโต้แย้งในด้านสิ่งแวดล้อมของพวกเขาจัดว่ามีความคิดสร้างสรรค์ แต่มุ่งเป้าไปที่รัฐบาลในขณะนั้นและสนับสนุนการต่อสู้ในท้องถิ่นมากกว่าจะสื่อสารประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมให้ผู้รับฟังวงกว้าง รวมทั้งมิได้ล้วงลึกเข้าไปในประเด็นเชิงโครงสร้างใหญ่ที่เชื่อมโยงการพัฒนาประชาธิปไตยกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน  กล่าวโดยสรุปคือ ขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการนำเสนอข้อต่อสู้ทางการเมืองของตนให้อยู่ในสายตาของคนกรุงเทพและเชื่อมโยงกับนักกิจกรรมหนุ่มสาวรุ่นใหม่  คนหนุ่มสาวที่กำลังชุมนุมประท้วงตอนนี้เกิดในช่วงปี 2538-2548  พวกเขาเติบโตในยุคสมัยของการโหยหาประชาธิปไตย การประท้วงตามท้องถนนและรัฐประหารของกองทัพ  เยาวชนผู้ประท้วงจำนวนมากก้าวผ่านวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ภายใต้รัฐบาลทหารชุดนี้

ช่วงสิบปีที่ผ่านมา เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทยพบว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เนื่องจากจำนวนคนหนุ่มสาวที่สนใจสานต่อและสนับสนุนภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมดูเหมือนมีน้อยลงทุกที  อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นนี้ไม่แยแสประเด็นสิ่งแวดล้อม  หากขบวนการด้านสิ่งแวดล้อมต้องการมีบทบาทสำคัญทางการเมืองมากขึ้นในยุคสมัยใหม่ทางการเมืองตอนนี้ ขบวนการจำเป็นต้องทบทวนยุทธศาสตร์ของตนใหม่ ทั้งในแง่ของการสร้างพันธมิตรให้กว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ขบวนการมีกับการเมืองในภาพใหญ่ของประเทศ  ดังที่บทความของเบญจรัตน์ แซ่ฉั่วในชุดเดียวกันนี้ชี้ให้เห็น แนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยม (environmentalism) จะตัดขาดจากการเมืองอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

A panoramic view of the Khao Ploy Waen mining region in Chanthaburi – An excavated half a square Kilometer area surrounded by greenery. It is roughly fifty feet deep. From Hill of Gems, Gems of Labour – Mining in the Borderlands, Kyoto Review of Southeast Asia, Issue 23

การมาบรรจบกันในอนาคต?

ถึงแม้จะมีจุดเปลี่ยนดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่แกนนำของขบวนการคนรุ่นใหม่และนักกิจกรรมเยาวชนบางคนก็ทำงานในประเด็นสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องแข็งขัน  ภาณุพงศ์ “ไมค์” จาดนอกทำกิจกรรมต่อต้านโครงการขยายท่าเรือมาบตาพุดและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในจังหวัดระยอง นักกิจกรรมหนุ่มสาวคนอื่นจากขอนแก่น สงขลาและสตูล ก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล อาทิ นโยบายทวงคืนผืนป่าและการโยกย้ายไล่ที่ชาวบ้าน การให้สัมปทานเหมืองแร่ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมทั้งแผนการขุดคลองเชื่อมสองมหาสมุทรในภาคใต้  กระนั้นก็ตาม บทบาทด้านสิ่งแวดล้อมของแกนนำในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นแค่ความสนใจส่วนตัวมากกว่าเป็นขบวนการ  ลักษณะนี้แตกต่างจากช่วงที่ขบวนการสังคมเฟื่องฟูที่สุดเมื่อทศวรรษ 2530  ในสมัยนั้น ขบวนการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อาทิ กลุ่มต่อต้านเขื่อน เกษตรกรไร้ที่ดิน ชาวสลัม กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในป่าและภูเขา ตลอดจนชาวบ้านชนบทที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา ล้วนอยู่แถวหน้าของขบวนการทางการเมือง  ส่วนในปี 2563 ดูเหมือนแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยม ในฐานะขบวนการ จะพยายามปลีกตัวออกไปเมื่อถึงเวลาต้องเข้าร่วมกับการประท้วงใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย

แน่นอน ไม่ใช่ว่าขบวนการสิ่งแวดล้อมทุกขบวนหนีหน้าไปหมด  ในวันที่ 21 สิงหาคม 2563 หลังจากการชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแค่ไม่กี่วัน องค์กร Greenpeace Thailand ก็ออกคำแถลงสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย  ในคำแถลงกล่าวว่า “ประชาธิปไตยที่ดีนั้นเป็นทั้งหลักการและเป้าหมายสำคัญ ซึ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเพื่อหาทางออกจากวิกฤตนานับประการ และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สังคมไทยเผชิญอยู่” กรีนพีซตั้งข้อสังเกตว่า “ประชาธิปไตยที่ดี” 2 (Healthy Democracy) เป็นเงื่อนไขสำคัญของการรับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิทางการเมืองของประชาชนเพื่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา อาหาร ความเป็นธรรม หรือการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งองค์กรเห็นว่าเป็น “สิ่งแวดล้อมที่ดี” (Healthy Environment)

สมัชชาคนจนก็ออกแถลงการณ์ 3สนับสนุนข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอกเช่นกัน หลังจากบารมี ชัยรัตน์ แกนนำคนสำคัญของสมัชชาคนจน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามและตั้งข้อหา  สมัชชาคนจนตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา เพื่อให้คำขวัญที่มีมายาวนานแต่ห่างหายไปในระยะหลัง นั่นคือ “การเมืองที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน” กลับมาเป็นส่วนหนึ่งในบทสนทนาทางการเมืองร่วมสมัย  อย่างไรก็ตาม นอกจากบารมีที่เป็นแกนนำคนสำคัญและแถลงการณ์ข้างต้นแล้ว จนบัดนี้ยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าสมัชชาคนจนจะเข้ามามีบทบาทในการรณรงค์อย่างไรหรือจัดวางบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในภาพใหญ่อย่างไรบ้าง

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พริษฐ์ “เพนกวิน” ชิวารักษ์และภาณุพงศ์ จาดนอก สองแกนนำเยาวชน ได้ไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านและนักกิจกรรมที่จัดชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อต่อต้านแผนการของภาครัฐที่จะสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่วในจังหวัดพัทลุงทางภาคใต้ของประเทศไทย  การเยี่ยมเยียนใช้เวลาไม่นานและส่วนใหญ่เป็นการให้ “กำลังใจ” 4 แก่ผู้ชุมนุมประท้วง  ถึงแม้เหตุการณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ที่ดีของการมีไมตรีต่อกัน  แต่มันก็เผยให้เห็นด้วยว่ามีระยะห่างระหว่างขบวนการสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคปัจจุบัน

กรณีการชุมนุมต่อต้านเหมืองตะกั่วคือภาพสะท้อนที่ดีถึงการแยกขาดกันมายาวนานระหว่างขบวนการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับชาติ  ชาวบ้านและนักกิจกรรมมากรุงเทพเพื่อประท้วงในประเด็นท้องถิ่นของตน แต่ไม่เข้าร่วมกับการประท้วงในประเด็นใหญ่กว่านั้น ทั้งๆ ที่มีกลุ่มพันธมิตรหลากหลายจับมือกันเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน  กลุ่มต่อต้านเขื่อนพยายามเคลื่อนไหวตามลำพังโดยไม่เข้าร่วมกับพันธมิตรทางการเมืองที่ใหญ่กว่าและหลากหลายกว่า

การประท้วงของกลุ่มสิ่งแวดล้อมดังที่เอ่ยมาข้างต้นเป็นแค่ตัวอย่างเดียวในขบวนการสิ่งแวดล้อมจำนวนมากที่ขาดการประสานเชื่อมโยงกันตลอดช่วงเวลาหลายปีภายใต้ระบอบเผด็จการของพลเอกประยุทธ์  ตัวอย่างอื่นๆ มีอาทิ ขบวนการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในกระบี่ เขื่อนแม่วงก์ เหมือนแร่ในจังหวัดเลย โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพ เขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง และอีกหลายเมกะโปรเจกต์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน  การเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการเหล่านี้ทำได้ยากลำบากกว่าเดิม เนื่องจากรัฐบาลทหารอาศัยข้ออ้างความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงมาสั่งห้ามการชุมนุมเกินกว่าห้าคน  ด้วยเหตุนี้ ผู้ประท้วงจึงเคยชินกับการวางขบวนการท้องถิ่นของตนให้มีระยะห่างจากการต่อสู้ทางการเมืองระดับชาติ  ผลลัพธ์ก็คือ ในช่วงเวลาของความปั่นป่วนที่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เร่งด่วนกลับได้รับความสนใจน้อยและไม่ใช่ประเด็นแกนกลางอย่างในสมัยก่อน

ปิดท้าย: จุดผกผันของประชาธิปไตยไทย?

ในเวลาสองเดือนหลังจากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน การประท้วงที่มีเยาวชนเป็นแกนนำยังคงโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาและขยายตัวออกไปเรื่อยๆ  ชะตากรรมของประชาธิปไตยในประเทศไทยยืนอยู่ตรงทางแพร่ง  รัฐบาลเผด็จการที่ครองอำนาจมาหลายปีได้แบ่งแยกการเมืองด้านสิ่งแวดล้อมกับประชาธิปไตยออกจากกัน  ดังนั้น การพิจารณาถึงการบรรจบหรือแยกทางในการเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจช่วยให้พอมองเห็นทั้งอนาคตทางการเมืองของประเทศ  รวมทั้งชี้ให้เห็นด้วยว่าแนวทางการเคลื่อนไหวแบบสิ่งแวดล้อมนิยมอาจตกอยู่ในสถานะอย่างไรในช่วงหลายปีข้างหน้า

จักรกริช สังขมณี
รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Banner Image: Bangkok, Thailand, October 2020. Students and people sit and stand in the middle of the street to protest Rungkh / Shutterstock.com

Notes:

  1. (ในต้นฉบับ hyperlink เสียค่ะ)
  2. https://www.greenpeace.org/thailand/press/17306/greenpeace-thailand-democracy/
  3. https://www.bbc.com/thai/thailand-53880598
  4. https://voicetv.co.th/read/G0Evbky1T?fbclid=IwAR366diqylNeAW50RtsuUUOdFz4JkNSjbvGq4YnG9aKJr7aIXy-wljgsQzo