ภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยกับรัฐอ่อนแอ

Civil Society Southern Thailand

ในอุดมคตินั้น บทบาทของรัฐบาลควรอำนวยความสุขและสวัสดิภาพแก่พลเมือง  วางกฎกติกาเพื่อคุ้มครองพลเมืองจากความขัดแย้ง รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายและสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย 1  มิฉะนั้นแล้ว ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลกับพลเมืองอาจเกิดขึ้น  ในทางทฤษฎีนั้น ภาคประชาสังคมอยู่นอกภาครัฐ  แต่การมีธรรมาภิบาลที่ดียากจะแยกขาดจากภาคประชาสังคม 2  กระนั้นก็ตาม รัฐที่อ่อนแอคือผลที่ตามมาเมื่อรัฐบาลไม่สามารถจัดการความรุนแรงภายในประเทศและเมื่อรัฐไม่สามารถกระจายจัดสรรผลดีทางการเมืองแก่พลเมืองของตนอย่างถ้วนหน้า 3  นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547  พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยต้องเผชิญกับความปั่นป่วนทางสังคม  องค์กรภาคประชาสังคมเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโต้ต่อการที่รัฐบาลไม่สามารถคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  รัฐบาลไทยมักกระทำการลับๆ ล่อๆ  ยุยงให้ประชาชนในพื้นที่คอยสอดแนมกันเองโดยใช้ยุทธศาสตร์กองทัพที่เรียกว่า “ยุทธการข้อมูลข่าวสาร (Information Operations—IO) 4  การใช้ IO ผ่านเพจปลอมในเฟซบุ๊กที่เน้นการสร้างเนื้อหาเพื่อเผยแพร่และกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังต่อเครือข่ายของฝ่ายกบฏขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) หรือ  BRN-Coordinate นอกจากนี้ เพจปลอมต่างๆ ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการชี้เป้าตัวบุคคลหรือองค์กร (เช่น นักวิชาการหรือเอ็นจีโอ) ที่ให้การสนับสนุน BRN-Coordinate  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรยอมรับว่า IO คือส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางการทหารมานานกว่า 10 ปี 5  สภาพการณ์เช่นนี้สร้างปัญหาแก่ภาคประชาสังคมมากยิ่งขึ้นและทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในพื้นที่นี้ยากขึ้นกว่าเดิมด้วย

ระหว่างเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีหน้าต่างแห่งโอกาสในการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคู่ปฏิปักษ์ก็คือรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น  ในวันที่ 3 เมษายน 2563  BRN-Coordinate ออกแถลงการณ์ยุติการใช้ความรุนแรงเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่การช่วยเหลือประชาชนที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ โดยมีเงื่อนไขเดียวคือรัฐไทยต้องไม่เริ่มดำเนินการปฏิบัติการทางทหารอีก

….บีอาร์เอ็นจึงดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อระงับกิจกรรมทั้งหมดของกลุ่ม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยตระหนักว่า ศัตรูสำคัญของมนุษยชาติในขณะนี้คือโรคโควิด-19  นี่คือคำแถลงการณ์จากสำนักเลขาธิการกลางของบีอาร์เอ็น 6

รักชาติ สุวรรณ ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และอดีตรองประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เผยแพร่ความคิดเห็นในหน้าเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 5 เมษายนว่า ทุกๆ คนยินดีที่จะเข้าร่วมและรัฐบาลไทยต้องไม่เพิกเฉยต่อแถลงการณ์ในส่วนที่กล่าวว่า “ตราบที่บีอาร์เอ็นไม่ถูกโจมตีจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย”  นับตั้งแต่เกิดความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยในปี 2547 เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพคือองค์กรที่กลุ่มชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสันติภาพและให้ความช่วยเหลือแก่ชาวพุทธด้วยกัน  สร้างความเข้าใจอันดีในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  และคัดค้านการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีแก้ไขปัญหาในพื้นที่นี้ 7

เราสามารถเห็นตัวอย่างความเป็นรัฐอำนาจนิยมได้จากเหตุการณ์ที่เกิดการปะทะและวิสามัญฆาตกรรม 3 ศพในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563  จากเหตุร้ายครั้งนี้ บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ว่า ฝ่ายศัตรู (รัฐไทย) ละเลยการหยุดยิงระหว่างเกิดโรคระบาดโควิด-19

“….อย่างไรก็ตาม ฝ่ายศัตรูกลับละเลย[การหยุดยิง] และคุกคามความสงบสุขของชาวปัตตานีด้วยปฏิบัติการหลายอย่าง นับตั้งแต่การบุกค้นบ้าน การจับกุมตามอำเภอใจ และการบังคับจัดเก็บดีเอ็นเอ  ในระหว่างนั้น ฝ่ายศัตรูยังตามล่าและยั่วยุสมาชิกบีอาร์เอ็น  แต่นักรบของบีอาร์เอ็นอดทนอดกลั้นไม่ยอมริเริ่มปฏิบัติการใดๆ เพื่อให้เกียรติแก่แถลงการณ์หยุดยิง” การแถลงข่าวของบีอาร์เอ็นต่อสื่อมวลชน 1 พฤษภาคม 2563

องค์กรภาคประชาสังคมที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการองค์กรหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทยมีชื่อว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้ หรือ Dewan Masyarakat Madani Selatan Thai  องค์กรนี้กอปรด้วยกลุ่มประชาสังคม 20 กลุ่มที่ตั้งใจทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ

รูป 1: ตราสัญลักษณ์ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้หรือ Dewan Badan Masyarakat Madani Selatan Thailand

 เป้าหมายหลักของสภาประชาสังคมชายแดนใต้คือการสร้างเวทีให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันสร้างประชาสังคมเข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นที่จะคลี่คลายความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง พัฒนาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน สื่อสารและสร้างพื้นที่สาธารณะแก่ทุกผู้คน  องค์กรนี้เปิดตัวเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี  ผู้เขียนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการหญิงคนแรกขององค์กรนี้ 8 (โปรดดูรูป 2)

รูป  2: การแถลงข่าวการจัดตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554  ผู้เขียนนั่งตรงกลางโต๊ะแถลงข่าว (เสื้อสีส้ม)

อุปสรรคอีกประการในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ที่สภาประชาสังคมประสบก็คือ การไม่ยอมจัดประเภทพื้นที่นี้เป็นเขตสงคราม  ตูแวดานียา มือรีงิง นักข่าวท้องถิ่น กล่าวว่าองค์กรระหว่างประเทศสององค์กร กล่าวคือ ICRC และ Geneva ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบโดยใช้กรอบกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือกฎหมายสงคราม  กระนั้นก็ตาม คำนิยามของสงครามก็แตกต่างกันไปทั้งในภาคปฏิบัติและทฤษฎี 9

ในปัจจุบัน พื้นที่ภาคใต้ต้องเผชิญทั้งหายนะภัยจากโรคระบาดนอกเหนือจากหายนะภัยจากน้ำมือมนุษย์  มีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเออย่างลับๆ ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19  ในวันที่ 6 เมษายน 2563 ชาวบ้านผู้ชายสามคนในจังหวัดสงขลาถูกเจ้าหน้าที่ที่อ้างตัวเป็นตำรวจกับทหารพรานมาจัดเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ  พฤติกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมาเช่นนี้สร้างความหวาดระแวงในพื้นที่  องค์กรภาคประชาสังคมองค์กรหนึ่งชื่อมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ก่อตั้งในปี 2545  องค์กรนี้ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรม  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแถลงว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

…การจัดเก็บดีเอ็นเอจากประชาชน เจ้าหน้าที่จะทำได้เฉพาะกรณีที่ประชาชนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยผู้ต้องหายินยอมและเป็นไปตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 โดยจะเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนเท่านั้น เพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้บริสุทธิ์มิใช่ผู้ต้องหาในคดีอาญาย่อมมีสิทธิที่ปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บดีเอ็นเอของตนได้ 10      

อีกสถานการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความเป็นรัฐอำนาจนิยมดูได้จากเหตุการณ์เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2563   กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินของประชาชนที่ไม่ได้ลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ด้วยระบบสแกนใบหน้า (2-snap system) โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงของชาติ  ปัญหาคือการตัดสัญญาณโทรศัพท์เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตการณ์โควิด-19  อีกทั้งซ้ำเติมกลุ่มเปราะบางที่สุดคือคนจนที่ใช้ระบบเติมเงินเพื่อติดต่อกับครอบครัว เรียนรู้การรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 โดยค้นหาคำแนะนำจากหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือติดต่อโรงพยาบาลเมื่อมีสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วยหรือความจำเป็นอื่นๆ   นอกจากนี้ การตัดสัญญาณโทรศัพท์ระบบเติมเงินเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน 11

มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.) คือองค์กรที่ปรับเปลี่ยนมาจากคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) โดยใช้งบประมาณที่เหลือจาก กอส. มาก่อตั้ง มยส.  มยส. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 เป็นองค์กรแบบมูลนิธิ บริหารจัดการโดยกลุ่มบุคคลที่ตรวจสอบได้ ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในโครงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย  ผู้บริหาร มยส. ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จึงรับประกันความเป็นกลางได้  โดยรวมแล้ว มีองค์กรภาคประชาสังคมมากกว่า 30 องค์กรดังแสดงให้เห็นในตารางข้างล่างนี้ (โปรดดู ตาราง 1)

ตาราง 1: ตัวอย่างองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

อันดับอันดับประธาน/หัวหน้าภูมิหลังวัตถุประสงค์กิจกรรม
1ผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้โซรยา จามจุรีก่อตั้งในปี 2553 ด้วยการสนับสนุนจากสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี องค์กรนี้สนับสนุนผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ ได้รับทุนอุดหนุนจาก EU และ OXFAM. พัฒนาบทบาทของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพเพื่อแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ – ส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและการดำรงชีวิตของชายและหญิงกลุ่มเปราะบาง
– เพิ่มอำนาจผู้หญิงเพื่อการสานเสวนาด้านประชาธิปไตยและสันติภาพผ่านวิทยุและสื่อสังคมอื่นๆ
2กลุ่มศิลปะและวรรณกรรมป่านวงเดือนนวพล ลีนินก่อตั้งในปี 2550 กลุ่มนี้เป็นการรวมตัวจากเครือข่ายคนทำงานศิลปะ กิจกรรมหลักคือการใช้ศิลปะแขนงต่างๆ เช่น ดนตรีและจิตรกรรม เพื่อส่งสารเกี่ยวกับสันติภาพในชายแดนภาคใต้สนับสนุนศิลปะแขนงต่างๆ เพื่อรณรงค์สันติภาพสู่สาธารณะ – ส่งเสริมกิจกรรมด้านศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวด้านสันติภาพในชายแดนภาคใต้โดยเชื่อมโยงกลุ่มศิลปะแขนงต่างๆ
3กลุ่มMerpati (พิราบสันติ)อุสมาน ดาโอะก่อตั้งในปี 2557 กลุ่มนี้เกิดจากการรวมตัวของประชาชนในปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายความมั่นคงที่บังคับใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สมาชิกของกลุ่มและประชาชนทั่วไป ด้วยการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สันติภาพ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย – เรียนรู้เกี่ยวกับสันติภาพ สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
4ครือข่ายเยาวชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกำพร้าNurhayatee Moloก่อตั้งในปี 2554 กลุ่มเยาวชนในภาคใต้ของประเทศไทยรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ผู้ริเริ่มเครือข่ายนี้คือ Hamah Morlor.เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับการอภิปรายถึงหัวข้อเกี่ยวกับเด็กกำพร้าที่สูญเสียบิดามารดาหรือผู้ปกครองในเหตุการณ์ความไม่สงบ – ให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ความไม่สงบโดยอาศัยกิจกรรมทางศาสนา มอบทุนการศึกษา และส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้เรียนหนังสือต่อไป
5THE PATANIอาเต็ฟ โซะโกก่อตั้งในปี 2558 THE PATANI เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของอดีตนักศึกษาที่เคยเป็นนักกิจกรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในหลากหลายอาชีพ สมาชิกของกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า THE PATANI. เพื่อสร้างเอกภาพในหมู่ประชาชนชาวปาตานี ซึ่งมีชุดอุดมการณ์ทางการเมืองที่รับใช้ชาวปาตานี – สร้างแพลตฟอร์มในการพูดคุยเสวนาระหว่างประชาชนชาวปาตานี
– จัดเวทีในหัวข้อเกี่ยวกับความขัดแย้งของปาตานีใน ASEAN Peoples’ Forum
– สถาปนาวันมนุษยธรรมปาตานี
– ตีพิมพ์หนังสือ 2 เล่ม: The Listening Project และ Peace History


6มูลนิธิ อาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนาเด่น โต๊ะมีนาก่อตั้งในปี 2535 เด่น โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย บุตรชายคนที่สามของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา เขาตั้งใจจดทะเบียนมูลนิธิในนามบิดาของตนเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคุณความดีและการเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับคนรุ่นต่อไป 1. เพื่อเผยแพร่ความรู้ทั่วไปและศาสนาแก่ประชาชน

2. เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาแก่เด็กกำพร้าและนักเรียนยากไร้

3. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา

4. เพื่อสร้างโรงพยาบาลและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 5. เพื่อริเริ่มงานบริการสังคมและร่วมมือกับมูลนิธิอื่นๆ
– ในปี 2558 มูลนิธิจัดงานรำลึก 61 ปีการบังคับสูญหายของ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนาและผู้ถูกบังคับสูญหายคนอื่นๆ
– ในปี 2559 มูลนิธิจัดงานรำลึก 62 ปีการบังคับสูญหายของ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา โดยมีไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ (พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์เป็นลุงเขยของไกรศักดิ์ ซึ่งมีส่วนพัวพันในการสังหารฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนาและคนอื่นๆ) มาร่วมงานและกล่าวคำขอโทษต่อครอบครัวของเหยื่อ
7โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (Deep South Journalism School --DSJ)สะรอนี ดือเระก่อตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2553 DSJ เป็นสาขาหนึ่งของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch--DSW).เพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติภาพด้วยการเพิ่มอำนาจแก่นักข่าวรุ่นต่อไปโดยเน้นความสนใจไปที่เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ DSJ เน้นความสนใจใน 3 หัวข้อ นั่นคือ กระบวนการสันติภาพ กระบวนการยุติธรรม และความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคม สนับสนุนการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เรียกร้องโครงข่ายรองรับความปลอดภัยทางสังคมสำหรับเด็ก และส่งเสียงคัดค้านมิให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเป้าการโจมตี

นับจากวันที่มีการก่อตั้งองค์กรภาคประชาสังคมมาจนถึงทุกวันนี้ ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ยกตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างรัฐบาลกลางรวมศูนย์อำนาจกับวิถีชีวิตของชาวบ้านท้องถิ่น  ปัญหายาเสพติด สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและการคอร์รัปชั่น ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ความขัดแย้งซับซ้อนยิ่งขึ้น  การเจรจาต่อรองถูกผูกขาดโดยหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคง กีดกันองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศออกไปอยู่วงนอก  องค์กรเหล่านี้พบแต่อุปสรรคมากมายจนยากจะดำเนินการใดๆ  ยังมีการใช้เพจเฟซบุ๊ก IO อย่างแพร่หลาย  ระหว่างเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เนื้อหาของเพจเฟซบุ๊ก IO ยังมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรภาคประชาสังคม โดยกล่าวหาว่าองค์กรภาคประชาสังคมไม่ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือประชาชนเลย  รัฐบาลควรมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองพลเมืองจากความรุนแรง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและส่งเสริมการสร้างชุมชนและประชาสังคม

อลิสา หะสาเมาะ
อาจารย์ประจำแผนกวิชาพัฒนาสังคม
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Notes:

  1. UShistory.org. (2019). The Purpose of Government. Retrieved from https://www.ushistory.org/gov/1a.asp.
  2. Butkevičienė, E., Vaidelytė, E., & Šnapštienė, R. (2010). Role of civil society organizations in local governance: theoretical approaches and empirical challenges in Lithuania. Public Policy and Administration33(1), 35-44.
  3. Rotberg, R. I. (2003). Failed States, Collapsed States, Weak States: Causes And Indicators. State Failure And State Weakness in a Time Of Terror, pp.1, 25.
  4. โปรดดูเพิ่มเติมที่ http://pulony.blogspot.com/.
  5. Workpointnews. International Security Operations Command Acknowledge The IOOperation Has Actually Been Done for 10 Years and it not Related with National Council for Peace and Order (NCPO). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=muL8Dfmm76A.
  6. Pimuk Rakkanam and Mariyam Ahmad. (2020). BRN Rebels Declare Ceasefire in Thai Deep South Over COVID19. Retrieved from https://www.benarnews.org/english/news/thai/BRN-ceasefire-COVID-19-04042020141405.html. Also see, Information Department-BRN. (2020).  Perisytiharan Brn Tentang Menghadapi Wabak Covid19. Retrieved from https://youtu.be/9Q6zkFro7t4.
  7. Analayo. P. S. “Buddhist Network for Peace: Social Movement for Peace Building Process in Three Southern Border Provinces”. Journal of MCU Peace Studies, Vol.1. Also see, Institute of Human Rights and Peace Studies. (2016). Buddhism and Majority Minority Coexistence in Thailand. Nakorn Pathom: Mahidol University.
  8. Lekha Kanklao. (2554). 20 organizations established “Civil Society Council of the Southernmost Thailand” promotes special local governance policies. Retrieved from https://bit.ly/2TY6nXA. The first day founded July 31, 2011.
  9. Tuwaedaniya Meringing. Advantage/Disadvantage for Thai Government When International NGOs Monitored The Unrest Situation in the Southern Border Provinces (Especially in the Role of ICRC and Geneva Call). Retrieved from https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=698100434097872&id=473069013267683&__tn__=K-R.
  10. Cross Cultural Foundation. (2020). The Statement Calls for Ending the Collection of Peoples DNAs during the COVID19 Crisis Because the Risk of Spreading of the COVID19 Pandemic and Violate Public Health Rules. Retrieved from https://bit.ly/3cjD2Np.
  11. Cross Cultural Foundation. (2020). Protecting the Rights of People who Use Mobile Phone when the Signals was Forced to Disconnect in the Southern Border Provinces. Retrieved from https://crcfthailand.org/.