การเลือกตั้งเปรียบเสมือนน้ำ

Manuel Quezon III

        

สำหรับคนเป็นจำนวนมากเหลือเกินที่ไม่ได้มีความทรงจำแต่หนหลังใดๆ เกี่ยวกับชีวิตช่วงก่อนยุคที่ฟิลิปปินส์จะประกาศกฎอัยการศึกแล้ว การเลือกตั้งเป็นเหมือนกับน้ำ เป็นสิ่งที่หากขาดเสียแล้วก็เหมือนกับการเมืองสิ้นชีวิตไปด้วย  การเลือกตั้งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายการเมือง เช่นเดียวกับที่น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายมนุษย์   ในบรรดาคนรุ่นปู่ย่าตายายการเลือกตั้งก็เป็นเสมือนน้ำเช่นกัน ต่างกันแต่เพียงว่าคนรุ่นนั้นจะมองวัฒนธรรมทางการเมืองของฟิลิปปินส์ในปัจจุบันเป็นดั่งทะเลทรายที่แห้งผาก  ท่านผู้เฒ่าเหล่านี้จะถวิลหายุคที่ภูมิรัฐศาสตร์ดารดาษไปด้วยทุ่งหญ้าเขียวขจีแห่งอุดมการณ์ที่บานสะพรั่ง หอมอบอวลไปด้วยคุณธรรมในหมู่ท่านผู้นำและชนชั้นปกครองของประเทศ ตัดขาดไปไกลจากภาพอันน่าสะพรึงกลัวของประเทศที่แทบจะขาดวิ่นสิ้นไปในช่วงของการเลือกตั้งและช่วงหลังจากการเลือกตั้งฉะนั้น

การเลือกตั้งเป็นเหมือนน้ำ เป็นเครื่องชะล้างกายาแห่งการเมืองให้สะอาดหมดจด  คณะผู้บริหารทุกคณะมักกลายสภาพเป็นคอกม้าหมักหมมโสมม และก็คะแนนเสียงที่ไหลหลั่งพรั่งพรูซึ่งมีการกำกับให้เข้าช่องเข้าทางเป็นสายน้ำสายเดียวนี้แหละที่จะชำระล้างคอกม้าที่โสโครกนั้นให้สะอาดขึ้นได้

ในปีค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) เมื่อฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหนึ่งในสามเต็มๆ ที่เดียวที่ไม่สนใจจะออกมาใช้สิทธิ์ และในตอนนั้นคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมีถึงหนึ่งล้านห้าแสนคน เป็นชายล้วน และเป็นคนที่รู้หนังสือกันทุกคน ตอนนั้นคนฟิลิปปินส์กำลังใจจดใจจ่อรอการปกครองตนเองเพื่อเตรียมประเทศสำหรับเอกราชเต็มรูปแบบ(ผู้แปล — หลังจากตกเป็นเมืองขึ้นของสเปนมา 333 ปี คือตั้งแต่ ค.ศ. 1565-1898 และเปลี่ยนมือมาอยู่ใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกาจนได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1946) ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่บรรดาคนที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งควรจะกระตือรือร้นออกมาใช้สิทธิ์กัน ออกมามีส่วนร่วมในการสร้างรากฐานแห่งรัฐชาติของชาวฟิลิปปินส์ด้วยกันเองในอนาคต  ทว่า คนเป็นจำนวนมากกลับไม่สนใจ และเหตุผลที่ไม่สนใจก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกอันใด ก็ด้วยตัวเลือกในขณะนั้นมีจำกัด ตอนนั้นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งมีอยู่ด้วยกันเพียงสามคน และหนึ่งในสามนั้นก็ได้คะแนนนิยมท่วมท้น ผลการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่สรุปได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และในเมื่อทุกอย่างดูเหมือนกำลังจะเป็นไปด้วยดีเช่นนี้ หนึ่งในสามของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจึงไม่เห็นว่าเหตุใดจึงต้องออกไปลงคะแนนด้วย  ครั้งนั้นมานูแอล แอล เกซอนชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายกลายเป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ไปด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับผู้สมัครอีกสองคนคือ เอมิลิโอ อากินัลโดและเกร็กกอริโย อากลิไปซึ่งไม่มีผู้ใดในสองคนนี้ที่สามารถทำคะแนนได้แม้เพียงร้อยละ 18 ก็ยังไม่ถึงสักคน  ในปีค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ได้มีการผนวกเอาผู้หญิงเข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งด้วย กระนั้น ผลการลงคะแนนก็ยังออกมาเหมือนเดิม นั่นคือหนึ่งในสามของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงไม่เห็นว่ามีเหตุผลอันใดที่จะออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนน  กระนั้น นายเกซอนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองก็ชนะการเลือกตั้งไป ครั้งนี้ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 81

ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย คนฟิลิปปินส์มักจะชอบอิจฉาการเลือกตั้งที่มีคนออกมาใช้สิทธิ์มากกว่าร้อยละ 66 ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมดซึ่งนั่นก็เป็นประวัติการณ์แล้ว  ในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะเป็นตัวกำหนดไม่เฉพาะทิศทางของประเทศตนเท่านั้นหากยังมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดทิศทางในส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย แต่สหรัฐฯ ก็มักจะให้คนในสัดส่วนน้อยกว่าจำนวนประชากรของประเทศมากมายนักเป็นผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง  สำหรับประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ช่วงที่เรียกได้ว่าบ้านเมืองสงบราบคาบก่อนเกิดสงครามนั้น การออกมาใช้สิทธิ์สะท้อนให้เห็นลักษณะของประชาธิปไตยแบบฟิลิปปินส์ กล่าวคือคนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับกระบวนการการออกเสียงเลือกตั้งเป็นอย่างมากเสมอมา แต่ทว่า สภาพที่เจนตาในวงการการเมืองและการพัฒนาประเทศกลับต้องพบกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด และความผิดหวังเป็นระลอกจนเกิดเป็นรอยแผลฉกรรจ์ขึ้นกับประเทศฟิลิปปินส์ แผลอันเกิดขึ้นพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่สอง

ในระหว่างช่วงปี 1941 และ 1946 (ผู้แปล — ขณะนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากญี่ปุ่นทิ้งระเบิดที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ในปี 1941 ได้สองวันก็บุกเข้าฟิลิปปินส์และรบกับกองทัพฟิลิปปินส์-สหรัฐอเมริกา จนได้ชัยชนะเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ได้ตั้งแต่ปี 1942 ถึงปี 1945 เป็นการยึดครองที่เหี้ยมโหดจึงทำให้มีขบวนการใต้ดินในฟิลิปปินส์ที่ยังติดต่อสนับสนุนกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ถอยไปตั้งหลักในออสเตรเลีย)  ฟิลิปปินส์มีผู้นำรัฐบาลถึงหกคน ได้แก่ มานูแอล แอล เกซอน(2 สมัย — ผู้แปล )   ฮอร์เฮ วาร์กัส   โฮเซ พี เลาเรล   แซร์ฮิโย ออสเมเนีย และ มานูแอล โรฮัส  ในช่วงเวลาห้าปีนี้ มีประธานาธิบดีอยู่สองคนที่แย่งตำแหน่งผู้นำโดยชอบธรรมของประเทศกัน(เลาเรลซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์ขณะนั้น และเกซอนตามมาด้วยออสเมเนียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐบาลพลัดถิ่น) การจะเข้ากับฝ่ายใดมิใช่เรื่องทางการเมืองอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของการนองเลือด ขณะนั้นมีทั้งพวกที่เข้ากับพวกญี่ปุ่นที่คนฟิลิปปินส์เรียกอย่างเกลียดชังว่าเป็นพวกสมรู้ร่วมคิด หรือ collaborators และพวกกลุ่มกองโจรที่ต่อต้านญี่ปุ่น  มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลพลัดถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐบาลบนเขา   มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มะนิลาผู้แอบอ้างว่าตนเป็นสมาชิกลับของกลุ่มกองโจรและเจ้าหน้าที่รัฐที่สนับสนุนญี่ปุ่นโดยเปิดเผย

การสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่สองและการเลือกตั้งระดับชาติที่จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกหลังการบอบช้ำจากสงครามเป็นจุดเริ่มต้นให้กับการเลือกตั้งแบบที่ฟิลิปปินส์รู้จักกันในปัจจุบัน การอวดอ้างคุณธรรมทางการเมืองที่เคยพยายามฟูมฟักกันมาตั้งแต่ครั้งก่อนสงครามนั้นยากที่จะเก็บรักษาให้คงอยู่ต่อไปได้ในประเทศซึ่งการเลือกตั้งได้กลายเป็นเรื่องของความเป็นความตายไปเสียแล้ว  ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง การเลือกตั้งเปรียบเหมือนน้ำ มีนัยอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ ประหนึ่งผู้นำได้รับการเจิมสถาปนาจากประชาชนของตนเอง  มาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การเลือกตั้งก็ยังเปรียบเหมือนน้ำอยู่ มองกันว่าการเลือกตั้งนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการชะล้างความสกปรกโสมมให้หมดจดแล้วยังเป็นสิ่งจำเป็นมูลฐานของการอยู่รอดด้วย  ผู้ออกเสียงแตกเป็นหลายฝ่ายหลายพวก ทั้งฝ่ายกองโจร กองโจรกำมะลอ กลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิดขนาดแท้และกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม พวกกลุ่มเจ้าของที่ดินที่พากันหนีออกจากอสังหาริมทรัพย์ของตนไปซุกอยู่หลังคมอาวุธของญี่ปุ่น (แล้วตอนนี้กลับมาอยู่ฝ่ายอเมริกาเพื่อเอาชีวิตรอด) และพวกชาวไร่ชาวนาที่มีเรื่องให้บ่นอยู่เป็นนิจไม่ว่าในสถานการณ์ใด พวกนี้แหละเป็นพวกที่รอดอยู่ได้ มาบัดนี้ได้กลายเป็นพวกที่มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในผลของการเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งปี 1946 (พ.ศ. 2489) ทั้งสมาชิกกองโจรตัวจริง พวกกลุ่มหัวรุนแรง และบรรดาผู้นำที่ถูกกำราบอย่างไม่ไว้หน้าในช่วงสองทศวรรษที่เกซอนเรืองอำนาจในประเทศอยู่ได้สู้กันสุดฤทธิ์เพื่อจะได้โอกาสออกมาผงาดบ้าง   โรฮัสได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากกลไกพรรคเกซอนซึ่งไม่ได้รับการยอมรับอย่างเปิดเผย มีทั้งพวกกองโจร และพวกสมรู้ร่วมคิด..แต่ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มผู้สมรู้ร่วมคิด สำหรับคนกลุ่มนี้แล้วชัยชนะทางการเมืองเป็นหนทางเดียวในการกู้ชื่อเสียงและหลุดพ้นจากความอัปยศ  ทั้งสองฝ่ายพยายามจะชนะใจชาติที่แร้นแค้นและต่างมองเอกราชด้วยอารมณ์ที่ก้ำกึ่งกันทั้งตื่นเต้นและพรั่นพรึง ถูกเหตุการณ์บังคับให้เห็นปี 1946 เป็นปีที่สิ่งที่ฟูมฟักมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามจะบรรลุผลเสียที แต่ต้องพบว่าธงแห่งเอกราชกลับโบกสะบัดอยู่เหนือซากปรักหักพังเหม็นคลุ้งตลบไปด้วยกลิ่นของความตายและซากศพที่เน่าเปื่อย (ผู้แปล – เมื่อโรฮัสขึ้นมาดำรงตำแหน่ง สงครามเพิ่งยุติ คนฟิลิปปินส์เสียชีวิตไปในระหว่างสงครามมากกว่า 1.1 ล้านคน ประเทศต้องรับภาระหนี้เงิน”อุดหนุน” เพื่อการบูรณะประเทศจากสหรัฐฯ ที่คิดดอกเบี้ยสูงมาก ครั้งนั้นหนึ่งในสามของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกทำลายย่อยยับ)

ชาติที่แห้งเกรียม เกรียมจริงๆ เสียด้วย ชาติที่เต็มไปด้วยซากเมืองที่ปรักหักพัง มีพลเมืองที่ถูกทำลายย่อยยับ ชาติที่อุดมคติของชาติพังยับไปกับสงคราม ชาตินี้แหละมองการเลือกตั้งเหมือนกับน้ำ เหมือนกับเป็นการต่อสู้ของประชาชนที่เหือดแห้งแย่งน้ำกัน การต่อสู้ในการเลือกตั้งจึงดุเดือด แม้ว่าในปี 1946 (พ.ศ. 2489) จะไม่มีการเทคะแนนเหมือนเมื่อในอดีตแต่ก็ยังมีคะแนนเสียงข้างมากให้เห็น และมีแม้แต่การซื้อเสียง มีการกล่าวหาเรื่องการโกงคะแนนเสียง มีเรื่องความรุนแรงที่เกี่ยวโยงกับการเลือกตั้งในระดับที่หากเป็นเมื่อก่อนคงไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายยิ่งขึ้นในปี 1949 (พ.ศ. 2492) เมื่อแอลปิดิโย คิริโนชนะการเลือกตั้งอย่างสกปรกฉาวโฉ่ตะลึงกันไปทั่วโลก มีทั้งการปลุกคนตายให้ลุกขึ้นมาออกเสียงได้ กล่าวกันว่าเกณฑ์แม้ ”ดอกไม้และฝูงปลา” ให้มาลงคะแนนได้  และแล้วในปี 1953 (พ.ศ. 2496) น้ำบ่าที่ตั้งตารอกันมานานก็มาถึงเมื่อรามอน แมกไซไซ หนุ่มบุคลิกมัดใจคนก็สามารถลบสถิติการเลือกตั้งในปี 1935 ของเกซอนได้ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 68.9 ของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด

แต่พอถึงปี 1957 (พ.ศ. 2500) เมื่อแมกไซไซเสียชีวิต ผู้รับตำแหน่งต่อจากเขาคือ คาลอส พี การ์เซีย ซึ่งได้รับเลือกขึ้นมาจากกลุ่มผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้นเจ็ดคนโดยได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 41.30 ของผู้มาออกเสียงทั้งหมด นับเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่เหนือกว่าคู่แข่งขัน แต่คะแนนที่ได้น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ   และเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการเมืองของพิลิปปินส์ในปัจจุบัน ประเทศไม่ได้มีแต่ผู้นำที่มีพรสวรรค์และบุคลิกมัดใจคน ทำงานหนักและวางหมากอย่างเหี้ยมหาญแบบเกซอนหรือมีพรสวรรค์อย่างแท้จริงและมีบุคลิกที่มัดใจคนมากขึ้นไปอีกแบบแมกไซไซเสมอไปมากุมชะตาชีวิตของประเทศ  ตรงกันข้าม ผู้นำส่วนใหญ่มีแต่พวกน่าเบื่อ ฉ้อฉลแต่ก็ไม่เฉียบแหลมโดดเด่นแต่อย่างใด และไม่มีทางมีผู้ใดเลยสักคนที่จะมายืนยงจรัสแสงกว่าผู้อื่นได้

นั่นยังไม่รวมเรื่องที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเริ่มไม่อยากออกเสียง ผิดกับสมัยที่นักการเมืองเก็บตัวและมองการทำตัวเด่นในสังคมเป็นเรื่องน่าอายที่นักการเมืองไม่พึงกระทำ  และยังมีเรื่องการเปลี่ยนรสนิยมและความคาดหวังจากนักการเมืองยุคก่อนสงครามที่เหนื่อยหน่ายและเรียกได้ว่าศีลธรรมติดลบไปสู่นักการเมืองยุคใหม่ที่ยังหนุ่มแน่นและกร่าง เป็นคนรุ่นที่ร่วมรบในสงครามหรือเติบโตมาในช่วงสงคราม ไหนจะเรื่องที่อำนาจประธานาธิบดีเริ่มเสื่อมถอยไปพร้อมๆ กับกลไกทางสถาบันต่างๆ เช่น การลงคะแนนเสียงเป็นกลุ่ม  (ผู้แปล —  Block voting เป็นการออกเสียงที่สมาชิกกลุ่มสังคมหนึ่งๆ จะเทคะแนนให้ผู้สมัครที่กลุ่มสังคมของตนสนับสนุน เช่น คาทอลิกทุกคนเลือกเบอร์ 3 เป็นต้น) แบบที่ประธานาธิบดีเกซอนริเริ่มไว้อย่างดีและที่ประธานาธิบดีแมกไซไซใช้บุคคลิกส่วนตัวจับไว้ใช้ได้อย่างอยู่หมัด  และผลก็ออกมาเป็นดังนี้

กาเซียเป็นประธานาธิบดีที่ไร้ซึ่งคุณสมบัติพื้นฐานหลายประการในการครองใจคนซึ่งประธานาธิบดีคนก่อนมี  กาเซียเป็นประธานาธิบดีที่เกิดและโตมาจากพรรคการเมือง พรรคที่เพื่อนสมาชิกพรรคได้ยกเลิกระบบลงคะแนนเป็นกลุ่มซึ่งเป็นหลักประกันสำคัญของการลงคะแนนแบบเน้นพรรค เป็นประธานาธิบดีที่สืบทอดการค่อยๆ ริดรอนสิทธิ์อันพึงมีของประธานาธิบดีในการแต่งตั้งรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเป็นกระบวนการที่เริ่มขึ้นในสมัยประธานาธิบดีคิริโน  ด้วยความที่คิริโนเป็นประธานาธิบดีที่กุมอำนาจโดยไม่มีพรสวรรค์ด้านการเมือง เป็นนักการเมืองแบบโบราณสมัยหลังจากที่แมกไซไซได้ทำลายอำนาจนักการเมืองแบบโบราณที่ได้รับเลือกตั้งด้วย plurality vote เพียงเพราะสามารถสั่งตัวแทนให้สั่งผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนให้ตนได้ เป็นคนที่พูดภาษาสเปน และแต่งตัวเชยๆ ในวันรับตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะที่ผู้ออกเสียงหวังว่าจะได้เห็นเขาในชุดพื้นบ้านอย่างเสื้อบารองตากาล็อก (ผู้แปล – ชุดประจำชาติฟิลิปปินส์ตัดด้วยผ้าใยสับปะรด) ที่ประธานาธิบดีแมกไซไซผู้ล่วงลับใส่มากกว่า  ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มนี้เป็นพวกที่พร้อมจะสนับสนุนวุฒิสมาชิกโรเฮลิโอ เด ลา โรซาผู้ซึ่งคุณสมบัติเดียวที่มีคือความเป็นดารา  กาเซียเป็นประธานาธิบดีที่ผู้ที่ออกเสียงให้หวังว่าจะเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองและมีสีสันอย่างเกซอนหรือแมกไซไซ

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเกซอนไม่มีสิ่งใดเหมือนท่านทั้งสองนั้นเลย  ที่กาเซียเป็นหรือที่เขาพูดว่าตัวเองเป็นก็คือเขา “ไม่ใช่คนโง่” และมีอยู่อย่างหนึ่งที่เกซอนและผู้ที่มารับตำแหน่งต่อจากเขาพิสูจน์ให้เห็นก็คือ พวกเขาฉลาดพอที่จะเข้าใจกลไกของอำนาจพอที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

ภาพของการเป็นประธานาธิบดีที่คนส่วนมากเห็น ทั้งในหมู่คนที่ออกเสียงและนักการเมืองที่ต้องการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเป็นภาพที่ถูกบดบังรัศมีด้วยภาพพจน์ของประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ในอดีตซึ่งในขณะที่เป็นประธานาธิบดีไม่มีประธานาธิบดีในยุคปัจจุบันผู้ใดสามารถ (แม้จะพยายามแล้ว พยายามแล้วจริงๆ) บริหารประเทศได้อย่างทรงอำนาจและเปี่ยมประสิทธิภาพทัดเทียมประธานาธิบดีในอดีตได้  กลไกต่างๆ ไม่ว่าจะทางกฎหมายหรือทางระบบงานที่จะอำนวยให้ทำสำเร็จก็ไม่ได้มีอยู่เสียด้วย แต่ความคาดหวังในตัวประธานาธิบดีนั้นยังคงเหมือนเดิมในหมู่คนที่มาลงคะแนนเลือก ความทะยานอยากได้เป็นประธานาธิบดีในหมู่นักการเมืองก็ยังสูงอยู่เช่นเดิม และความสนใจในการเลือกตั้งในหมู่ประชาชนก็ยังคงเข้มข้นเหมือนเดิมเหมือนที่เป็นมาตั้งแต่ครั้งปี 1946 (พ.ศ. 2489) โดยเฉพาะหลังจากการพุ่งขึ้นมาครองอำนาจช่วงสั้นๆ ของแมกไซไซ  กาเซียต้องเสียตำแหน่งให้กับดีออสดาโด มากาปากัล ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันกับที่คิริโนเสียตำแหน่งให้กับแมกไซไซ  ทว่าน่าเสียดายที่มากาปากัลกลับไม่มีคุณสมบัติพอที่จะบริหารงานในฐานะประธานาธิบดีได้ ในการเลือกตั้งปี 1965 (พ.ศ. 2508) จึงเสียตำแหน่งให้กับเฟอร์ดินันด์ อี มาร์กอสผู้ที่ท้ายที่สุดไม่อาจเห็นหนทางอื่นที่จะมีอำนาจที่กระหายอยากได้และสามารถรั้งตำแหน่งที่ไม่มีความประสงค์จะยกให้ผู้ใดอื่นไปได้นอกจากการยกเลิกระบบประธานาธิบดีเสียทั้งระบบ (ผู้แปล — มาร์กอสประกาศกฏอัยการศึกในปี1972 หรือพ.ศ. 2515 เพื่อจะได้อยู่ในอำนาจได้ต่อไป เพราะตามรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ ตนไม่สามารถลงเลือกตั้งเป็นสมัยที่สามได้)

ในปี 1969 (พ.ศ. 2512) มาร์กอสได้คะแนนเสียงร้อยละ 61 ซึ่งทำให้เป็นประธานาธิบดีที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดเป็นอันดับที่สี่ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ และเป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระถึงสองสมัย  และเช่นเดียวกับประธานาธิบดีเกซอนที่ได้เริ่มเปลี่ยนระบบให้ง่ายต่อการบริหารควบคุม มาร์กอสก็เช่นกัน เพียงแต่มาร์กอสเปลี่ยนระบบเป็นอีกระดับหนึ่งที่อาจหาญกว่า ประธานาธิบดีผู้นี้มองการเมืองเหมือนมองปัจจัยพื้นฐานในการผลิต มองการเลือกตั้งเป็นเหมือนเขื่อนหรือกลไกที่จะผันน้ำให้กับไร่นาของมิตร ทิ้งที่ดินของศัตรูให้เหือดแห้ง และสร้างภาพพจน์ของตนดุจดังภาพพจน์ของฟาร์โรห์ซึ่งพระราชประสงค์ของพระองค์เป็นสิ่งที่ไม่อาจขัดขืนหรือหักล้างได้ และอาจเปลี่ยนความเป็นไปในธรรมชาติได้ทีเดียว แต่น้ำในทะเลสาบ “สังคมใหม่” ที่มาร์กอสขุดขึ้นกลับกลายเป็นน้ำโคลน ตื้นเขิน ปนเปื้อน และเน่าเหม็น  ในปี 1986 (พ.ศ. 2529) เขื่อนก็ถูกทำลายลง เปิดทางให้น้ำในธรรมชาติไหลเข้าไปเก็บกักไว้  คอราซอน อะกิโนแม้จะแพ้ในการนับคะแนนอย่างเป็นทางการแต่จะนับด้านจิตใจแล้ว อะกิโนชนะในสายตาคนที่เป็นฝ่ายเธอรวมทั้งในสายตาของชาวโลกด้วย นับแต่เริ่มแรกอะกิโนสลัดคราบแม่หม้ายขี้อาย  ที่ไม่กล้าตัดสินใจเพื่อมาสวมบทบาทผู้กอบกู้หัวก้าวหน้าที่ต้องมีความมั่นใจมากขึ้น ทำงานที่ผู้เป็นสามีเริ่มทำไว้นั่นคือ การกอบกู้ระบบการเลือกตั้ง เพื่อนำ “น้ำ” กลับมาให้กับประเทศชาติที่เหือดแห้งการเลือกตั้งมานาน

คอรี อะกิโนเข้ามามีอำนาจด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นประชามติอย่างแท้จริง และคอรีก็ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องแสดงการสนับสนุนจากประชาชนและรักษาความชอบธรรมของเธอ

ระดับการพัฒนาหรือด้อยพัฒนาของระบบการเมืองในฟิลิปปินส์ที่เริ่มเกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งของกาเซีย กลับมาเข้มข้นอีกครั้งในสมัยของฟิเดล รามอสซึ่งเป็นประธานาธิบดีที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนที่เหนือกว่าผู้แข่งขัน น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศ (ร้อยละ 28) ชัยชนะของรามอสมีอิทธิพลต่อทัศนะที่ว่าการเลือกตั้งเป็นความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี  แบบแผนที่สำคัญในช่วงหลังเหตุการณ์บนถนนเอดซ่า

 (บ.ก. — เป็นการปฏิวัติที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาทวงคืนอำนาจอธิปไตยในปี 1986  หรือ พ.ศ. 2529)  ไม่ใช่อยู่ที่คะแนนเสียงที่ชนะคู่ต่อสู้หรืออยู่ที่พรรคการเมือง (เพราะบรรดาคู่แข่งของรามอสมีทั้งสองอย่าง) หากอยู่ที่ความเหนือกว่าด้านกลยุทธ์ กลยุทธ์ในการลงทุนให้น้อยกว่าแต่ให้ได้ผลมากที่สุด  แม้รามอสจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนเกือบทั้งประเทศแต่ก็ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้อยู่ดี  ด้วยความที่คนไม่ยอมรับน้อยกว่าที่ไม่ยอมรับผู้ลงสมัครคนอื่นๆ หลังจากที่รามอสก้าวขึ้นมาสู่อำนาจได้อย่างไม่น่าเชื่อเช่นนี้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดที่ในการเลือกตั้งอีกหกปีต่อมา โจเซฟ เอสทราดาจะได้รับคะแนนเสียงที่ดูถล่มทลาย  แม้ว่าอันที่จริงแล้วคะแนนที่เหนือกว่าคู่แข่งจะไม่อยู่ในสัดส่วนที่มากเท่ากับของกาเซียด้วยซ้ำ  ทั้งรามอสและเอสทราดาล้วนเป็นประธานาธิบดีที่มีฐานเสียงสนับสนุนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งและต้องมารับตำแหน่งในขณะที่ประชาชนมีความคาดหวังจากประธานาธิบดีสูงซึ่งระบบไม่อำนวยให้ทำได้สำเร็จ ในขณะเดียวกัน ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงก็ชักจะแตกออกเป็นสองฝ่ายมากขึ้นด้วยความจนใจ ไร้ความหวัง นับว่ารสนิยมที่เปลี่ยนไปของประชาชนผนวกกับสื่อสารมวลชนนี่เองที่ทำให้โจเซฟ เอสทราดากลายมาเป็นผู้เจริญรอยตามโรเฮลิโอ เด ลา โรซา (ผู้แปล – ทั้งคู่เป็นนักแสดงโด่งดังมาก่อน)

และเพราะเอสทราดาไม่ได้มีไหวพริบพราวแพรวและประสบการณ์อันยาวนานในการบังคับบัญชาลูกน้องอย่างรามอสทำให้ไม่สามารถรักษาอำนาจที่มีอยู่ได้ กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย รองประธานาธิบดีของเอสทราดาเสียอีกที่กลับได้คะแนนสนับสนุนจากประชาชนจวนจะเกินครึ่งกลายเป็นเสียงข้างมากอยู่รอมร่อ (บ.ก. — คนฟิลิปปินส์ลงคะแนนเสียงแยกกันในการเลือกประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดี) สิ่งนี้เองที่ทำให้อาร์โรโยถือว่านางมีสิทธิ์โดยปริยายที่จะขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งต่อจากเอสทราดา เมื่อเอสทราดาถูกขับไล่จนต้องหนีออกจากทำเนียบมาลากันยัง อาร์โรโยก็ย้ายเข้ามาแทนเหมือนนกรู้ (กล่าวอย่างรวบรัดตัดความ)  ฉวยโอกาสที่ไม่เหมือนใครที่ไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นข้อได้เปรียบของผู้ที่มารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ ด้วยการเป็นทายาทที่ชัดแจ้ง เป็นผู้รักษาเปลวไฟ และผู้สืบทอดความชอบธรรม

การรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 (พ.ศ. 2547) เป็นเรื่องของการแสวงหาความชอบธรรม  ความชอบธรรมซึ่งผู้ลงเลือกตั้งของเอสทราดาไม่สามารถคว้าไว้ได้ และยังไม่ได้ครอบครองโดยผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง เป็นการแสวงหาความชอบธรรมของผู้ลงเลือกตั้งรายอื่นๆ ด้วยผู้ที่ไม่ใช่ทั้งเป็นคนของประธานาธิบดีชื่อเสียที่ถูกจำขังอยู่หรือผู้ชนะการเลือกตั้งที่บาดเจ็บสาหัสจากการถูกกล่าวหาว่าเธอเองก็สมควรถูกจำขังเช่นกัน (ผู้แปล –ศาลสูงสุดของฟิลิปปินส์เป็นผู้ประกาศให้อาร์โรโยเป็นประธานาธิบดีแทนเอสทราดาโดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งทางการทหารและคริสต์จักรในฟิลิปปินส์ทั้งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายเพราะตามกฎหมายแล้วรองประธานาธิบดีจะเป็นประธานาธิบดีได้หากประธานาธิบดีชีวิตหาไม่แล้วเท่านั้น แต่ประธานาธิบดีเอสทราดายังมีชีวิตอยู่ การเข้ามารับตำแหน่งของอาร์โรโยจึงอาจมองได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย)  ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งและการรณรงค์หาเสียงเองถูกครองงำด้วยวัฒนธรรมทางการเมืองที่สุกงอม วัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 60 เดือดพล่านในทศวรรษที่ 70 และล้มละลายไปในทศวรรษที่ 90 ซึ่งผู้นำทั้งสองฝ่ายพยายามใส่แว่นสีกุหลาบให้ประชาชนเชื่อว่าพวกเขากำลังพยายามกันอย่างเต็มที่ที่จะกอบกู้การเลือกตั้งโดยชอบธรรมไว้ในทศวรรษที่ 80  ฟิลิปปินส์มีการเลือกตั้งกันมา ไม่ใช่เพราะอยู่ในแผนของชาติที่ผ่านการใช้เหตุใช้ผลและวางแผนมาอย่างดี แต่มีแบบเป็นๆ หายๆ แล้วแต่ผู้นำซึ่งมองการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเหมือนกับมองน้ำ  เหมือนใบปลิวที่แจกให้พลเมืองกระยาจกเพื่อให้เกิดหนี้บุญคุณกัน

คงจะมีสักวันที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหนึ่งในสามเต็มๆ จะนอนอยู่กับบ้าน ไม่ออกมาออกเสียงเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเช่นไร ก็ไม่เปลี่ยนแปลงแก่นที่สำคัญไปได้ นับแต่ปี 1946 (พ.ศ. 2489) เป็นต้นมา สิ่งที่มองกันว่าสำคัญอยู่ที่แก่นเสมอมา ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดประเด็นเรื่องการประพฤติผิดคิดมิชอบในวงราชการเป็นประเด็นสำคัญของชาติในการเลือกตั้งครั้งต่างๆ เสมอมา  เรื่องที่คนเป็นจำนวนมากเห็นว่าสำคัญก็คือความหวังว่าสักวันจะมีชีวิตที่จะมีน้ำ น้ำในความหมายว่าน้ำจริงๆ เป็นของตัวเองให้ได้ดื่ม ได้อาบ ชีวิตที่ไม่ได้วัดกันด้วยน้ำเพียงก๊อกเดียวต่อหมู่บ้าน หรือด้วยคลองที่เต็มไปด้วยขยะเน่าเหม็น

การเลือกตั้งเป็นเหมือนกับน้ำ สิ่งที่ขาดเสียมิได้สำหรับผู้ทีคอแห้งผาก ที่มาแห่งอำนาจสำหรับผู้ที่ควบคุมไว้ได้หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของ  การเลือกตั้งเป็นเหมือนกับน้ำ มีความหมายต่างๆ กันตามคนกลุ่มต่างๆ กัน  การเลือกตั้งเป็นเหมือนกับน้ำ อย่างน้อยก็สำหรับคนฟิลิปปินส์ในประเทศที่สระว่ายน้ำของชนชั้นสูงแต่ละสระเหมือนกับเครื่องเย้ยหยันหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านที่ต้องเข้าแถวกันเป็นชั่วโมงๆ เพื่อรอน้ำที่ทั้งขุ่นทั้งเหม็นเอาไว้บริโภค

โดย มานูแอล เกซอน ที่สาม

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 6 (March 2005). Elections and Statesmen