ทำความเข้าใจกับความเป็น “มาเลเซีย”

Donna j. Amoroso

        

Cheah Boon Kheng (เจีย บุน เคง)
Malaysia: The Making of a Nation
(มาเลเซีย: การสร้างชาติ)
Singapore / ISEAS / 2002

Farish A. Noor (แฟริช เอ นัวร์)
The Other Malaysia: Writings on Malaysia’s Subaltern History
(อีกด้านหนึ่งของมาเลเซีย: รวมบทความด้านประวัติศาสตร์ผู้ด้อยโอกาสของมาเลเซีย)
Kuala Lumpur / Silverfishbooks / 2002

Malaysia_making_nationเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในมาเลเซียในช่วงระยะที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่ม รีฟอร์มาซี  การจับกุมไต่สวนคดีนายอันวาร์ อิบราฮิม ความชอบธรรมทางการเมืองของพรรครัฐบาล (พรรคอุมโน) ที่เสื่อมถอยลง หรือการที่กลุ่มมุสลิมทวีการท้าทายความเป็นรัฐทางโลกของมาเลเซีย ที่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาทางวัตถุ ได้ก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” ในเชิงบวกต่อการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ เพราะทำให้ต้องหันมาพิจารณาทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับรากฐานและคำจำกัดความของรัฐชาติแห่งมาเลเซียกันใหม่ หนังสือสองเล่มนี้แม้จะมีลีลาการเขียน จุดมุ่งหมาย และกลุ่มผู้อ่านที่แตกต่างกัน  แต่มีความคล้ายคลึงกันตรงที่ได้นำประเด็นข้างต้นมาเป็นหัวข้อสำคัญ และต่างก็เข้าเผชิญหน้ากับวาทกรรมทางสังคมการเมืองที่ทรงพลังยิ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านปฏิบัติการของรัฐและของวงวิชาการ

เจีย บุน เคงอธิบายถึงการที่ความเป็นชาติของมาเลเซียก่อตัวและวิวัฒน์ขึ้นในทางปฏิบัติอย่างไร โดยเน้นการศึกษาไปที่การเมืองในระบบเลือกตั้ง บทบาทของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา และนโยบายระดับประเทศ เจียวิเคราะห์มาเลเซียผ่านมุมมองของ “การให้และการรับ” โดยศึกษาความตึงเครียดที่ดำรงอยู่ ระหว่างแนวคิดชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ของชนเชื้อสายมาเลย์ กับแนวคิดชาตินิยมมาเลเซีย ประเด็นข้อถกเถียงหลักที่เจียเสนอ คือ นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาทั้ง 4 คน ล้วน “เริ่มต้นจากการเป็นนักชาตินิยมมาเลย์ที่กีดกันคนเชื้อสายอื่นออกไป แต่ในที่สุดก็กลับกลายมาเป็นนักชาตินิยมมาเลเซียที่รวมกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน” การที่เป็นเช่นนี้ถึงสี่ครั้งในประวัติศาสตร์ของชาติ ย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐชาติมาเลเซียได้พัฒนาตรรกะของตนเองขึ้น ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า  เกตัวนัน เมลายู  หรือ การครอบงำทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์มาเลย์นั้น จะยังดำรงอยู่ตลอดไป แต่จะถูกจำกัดด้วยตรรกะดังกล่าว หนังสือของเจียเสนอความจริงด้านหนึ่งของมาเลเซีย ที่มีความหลากหลายและความอดกลั้นทางวัฒนธรรม

other-Malaysiaงานรวมบทความของแฟริช นัวร์มีแนวที่ต่างออกไป  กล่าวคือ นัวร์พยายามศึกษาความเป็นชาติของมาเลเซีย ทั้งที่น่าจะเป็นอยู่ในอดีตและที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต  เขาไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายในลักษณะของพัฒนาการเป็นเส้นตรง  และต้องการศึกษา “มาเลเซียอื่นๆ”  ที่ถูกเบียดขับออกไปด้วยวาทกรรมที่ว่า “ประวัติศาสตร์มาเลเซียเป็นเรื่องราวของสังคมหลากหลายเชื้อชาติ ที่เรามักจะเล่าขานสืบทอดกันมา” ขณะที่เจียยอมรับว่า การที่ชุมชนมาเลย์มีการแตกแยกเป็นกลุ่มๆ นั้น มีผลด้านลบอย่างต่อเนื่องต่อความเป็นใหญ่ของชนเชื้อสายมาเลย์  แฟริชกลับพยายามแสดงให้เห็นว่า ความเป็นเอกภาพนั่นแหละเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ  นัวร์ชี้ให้เห็นถึงผลเสียอันเกิดจากแนวคิดแบบศักดินาของพรรคอุมโน ที่มองว่าคนมาเลย์ไม่สามารถอยู่รอดได้หากปราศจากผู้ปกครองที่คอยปกป้องอุปถัมภ์   นอกจากนี้ นัวร์ยังประณามการลดทอนแก่นของวัฒนธรรมมาเลย์โดยอิทธิพลของอิสลาม ใหเหลือ้เป็นเพียงคติทางศีลธรรมที่ตื้นเขิน  เขามองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการปฏิเสธความรุ่มรวยและความซับซ้อนของประวัติศาสตร์ของชาวมาเลย์

มาเลเซียของเจีย บุน เคง เป็นชาติที่พยายามรวมเอาความแตกต่างไว้ด้วยกันด้วยความรอบคอบระมัดระวัง  ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันเองและต่างกลุ่มด้วย  ส่วนแฟริช นัวร์ ไม่เห็นว่ามาเลเซียมีอัตลักษณ์ที่เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว และกลับเห็นความหลากหลาย ซึ่งเขาพยายามเรียกคืนกลับมาจากอดีต และต้องการทำให้เกิดความชอบธรรมขึ้นในสังคมปัจจุบัน

ดอนนา เจ อะโมโรโซ
(Translated by Darin Pradittatsanee, with assistance from Somporn Puttapithakporn and Chalong Soontravanich.)

Read the full unabridged version of this article in English HERE

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 3:  Nations and Other Stories. March 2003

Issue3_banner_small