การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในเวียดนาม: ศักยภาพและความเป็นจริง

Phan Nguyen Hong, Quan Thi Quynh Dao, Le Kim Thoa

        

เวียดนามเป็นหนึ่งในสิบหกประเทศทั่วโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด  โดยมีพันธุ์ไม้ 13,000 ชนิด และพันธุ์สัตว์กว่า 15,000 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงที่เพิ่งค้นพบใหม่สามสายพันธุ์ โดยเมื่อเทียบอัตราส่วนต่อโลกแล้วคิดเป็นร้อยละ 6.3   ระบบนิเวศน์ที่หลากหลายและการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ทำให้ประเทศเวียดนามมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์   อันที่จริง รัฐบาลเวียดนามได้มีการกำหนดให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหัวหอก   และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเวียดนามได้เพิ่มขึ้นเจ็ดเท่าตัว  โดยร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เป็นชาวต่างชาติ ส่วนอีกเกือบร้อยละ 50 เป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ    การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แตกต่างจากการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั่วไปในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่ต่ำกว่า  ตลอดจนบทบาทในการให้ความรู้ด้านธรรมชาติแวดล้อมและคุณค่าทางวัฒนธรรม

พื้นที่เป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ได้แก่ระบบนิเวศน์แถบชายฝั่ง  (หญ้าทะเล  ปะการัง ทะเลกึ่งปิดหรือลากูน หาดทราย และป่าชายเลน)  ภูเขาหินปูน  อุทยานแห่งชาติ และเขตอนุรักษ์ต่าง ๆ  ไปจนถึงสวนผลไม้   สถานที่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้นอกจากจะมีภูมิทัศน์น่าสนใจแล้วยังเป็นแหล่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันมั่งคั่งของเวียดนามอีกด้วย  ทั้งนี้เนื่องจากชนกลุ่มน้อยซึ่งอาศัยอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ส่วนใหญ่นี้ มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเทศกาลประเพณี  ธรรมเนียมการใช้พื้นที่ วัฒนธรรมด้านอาหาร วิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม และหัตถกรรม ตลอดจนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ

แม้ว่าเวียดนามจะมีศักยภาพอย่างยิ่งดังที่กล่าวมา บทความนี้ระบุว่ายังมีพื้นที่หลายแห่งในเวียดนามซึ่งมีสิ่งที่เรียกว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ดำเนินไปอย่างไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวังไว้    ประการแรกคือแม้จะมีการลงทุนในเขตอนุรักษ์จากภาครัฐและการโรงแรมและภัตตาคารจากนายทุนต่างชาติ  แต่ไม่มีการลงทุนในด้านทรัพยากรมนุษย์ซึ่งจำเป็นต้องมีเพื่อพัฒนามัคคุเทศน์และพนักงานอื่น ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอบรมความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม    นอกจากนี้การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงขาดการวางแผนและควบคุม เป็นผลให้สภาวะแวดล้อมเสื่อมโทรม   ส่วนชาวบ้านที่คงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและขนบประเพณีต่าง ๆ ของตนเอาไว้  นอกจากจะไม่มีส่วนร่วมเท่าไรนักต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์แล้ว  ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกด้วย   ประการสุดท้ายได้แก่การจัดการและนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ขาดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานรัฐระดับต่าง ๆ ทำให้ขาดกลยุทธ์ระดับชาติ

บทความชิ้นนี้มีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

–         หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะประสานความร่วมมือในอันที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ไป พร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ซึ่งถูกทำลายได้ง่ายและการรักษาความเป็นบูรณาการทางด้านวัฒนธรรม

–         ควรมีการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและการทำวิจัยเรื่องศักยภาพของระบบนิเวศน์ในปัจจุบัน

–         ควรจัดอบรมภาคบังคับด้านทรัพยากรมนุษย์ให้แก่เจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

–         ควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในด้านกิจกรรมที่เกิดรายได้และกิจกรรมด้านอนุรักษ์

Phan Nguyen Hong, Quan Thi Quynh Dao, Le Kim Thoa

Phan Nguyen Hong, Quan Thi Quynh Dao and Le Kim Thoa work at the Mangrove Ecosystem Research Division, Centre for Natural Resources and Environmental Studies, Vietnam National University, Hanoi. The case study presented in this paper is an initial finding from the project funded by the MAB/UNESCO within the Young MAB Scientist Award Programme 2002, and was undertaken with Le Kim Thoa. The author would like to express great gratitude to MAB/UNESCO for this support. 

Read the full unabridged article (in English) HERE

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 2 (October 2002). Disaster and Rehabilitation

issue_2_banner_small