“ขบวนการร่ม” ในฮ่องกง : จากประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจถึงการปฏิเสธลัทธินิยมวัตถุ

Stephan Ortmann

ในช่วงปลายเดือนกันยายน ค.ศ. 2014 ประชาชนหลายพันคนเริ่มยึดท้องถนนสายหลักในฮ่องกงและการยึดพื้นที่ยืดเยื้อต่อไปกว่าสองเดือน กลุ่มผู้ประท้วงปฏิบัติการตามเสียงเรียกร้องของขบวนการ Occupy Central with Love and Peace ซึ่งขู่ว่าจะปฏิบัติการดื้อแพ่งของพลเมืองหากรัฐบาลจีนไม่ยอมมอบระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม คณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติของจีนได้มีมติจำกัดการใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง 1 หลังจากหยุดเรียนประท้วงหนึ่งสัปดาห์ ในที่สุด กลุ่มนักเรียนนักศึกษาก็เริ่มประท้วงด้วยการปิดถนน เมื่อผู้ประท้วงอย่างสันติต้องเผชิญกับแก๊สน้ำตา ชาวฮ่องกงหลายหมื่นคนจึงอดรนทนไม่ได้จนต้องออกสู่ท้องถนนเพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อนักเรียนนักศึกษาและนักกิจกรรม เนื่องจากผู้ประท้วงใช้ร่มในการป้องกันตัว จึงได้รับการขนานนามว่า “ขบวนการร่ม” (Umbrella Movement) ถึงแม้การปะทุของกิจกรรมการประท้วงอย่างมุ่งมั่นครั้งล่าสุดได้รับอิทธิพลจากประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจคล้ายกับการประท้วงที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่ขบวนการกลับมีประเด็นหลักอยู่ที่การต่อต้านลัทธินิยมวัตถุ โดยหันไปเน้นการเสียสละเพื่อสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่แท้จริง

Umbrella_Revolution_Admiralty_crowd
Hong Kong: the Admiralty protest site on the night of 10 October, 2014 (Photo: Wikimedia Commons]

ฮ่องกงมีความไม่เท่าเทียมทางรายได้สูงสุดในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้วในโลก และเรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือความเหลื่อมล้ำนี้ยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ค่าสัมประสิทธิ์จีนีซึ่งเป็นตัวชี้วัดความไม่เท่าเทียมก็มีตัวเลขที่น่าวิตกถึง 0.52 แล้วใน ค.ศ. 1996 ตัวเลขยังสูงขึ้นเป็น 0.54 ใน ค.ศ. 2011 ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบการเมืองที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและถูกครอบงำด้วยภาคธุรกิจ ซึ่งให้อำนาจแก่บรรดาเจ้าพ่อนักธุรกิจใหญ่มากเกินไป ในขณะที่ละเลยคนจนจำนวนมาก สหภาพแรงงานอ่อนแอมากและไม่สามารถต่อรองอะไรเพื่อลูกจ้างมากนัก รวมทั้งลูกจ้างเองก็กลัวว่าการนัดหยุดงานประท้วงอาจทำให้พวกเขาต้องตกงานในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง ประชาชนจำนวนมากอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัดยัดเยียดอย่างเลวร้าย ซึ่งรวมถึง “บ้านกรง” ที่เล็กจนนั่งตัวตรงไม่ได้ มาตรการในระยะหลังที่พยายามต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ อาทิเช่น การนำค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้และการกำหนดเส้นแบ่งความยากจนอย่างเป็นทางการ ก็แก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาเลย ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 30 ดอลลาร์ฮ่องกง (ณ เดือนธันวาคม 2014) ยังไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าอาหารและที่อยู่อาศัยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีความไม่เท่าเทียมอย่างรุนแรง แต่การประท้วงเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยในฮ่องกงกลับมิได้ขับเคลื่อนจากกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุด รวมทั้งประเด็นหลักก็ไม่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจอีกด้วย เป้าหมายสำคัญของการประท้วงกลับอยู่ที่การรักษาเสรีภาพของพลเมืองในระดับสูงเอาไว้และสร้างสถาบันประชาธิปไตยมาคุ้มครองเสรีภาพนั้น ขบวนการประชาธิปไตยมีรากเหง้าหลักอยู่ในกลุ่มประชาชนรายได้ปานกลางที่มีการศึกษาสูง ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงสามารถสืบสาวร่องรอยของขบวนการนี้ย้อนกลับไปถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหวกดดันทางการเมืองในยุคทศวรรษ 1970 ซึ่งแรงขับเคลื่อนส่วนใหญ่มาจากกลุ่มวิชาชีพ ความวิตกของสังคมเพิ่งเพิ่มสูงขึ้นจนเห็นได้ชัดหลังจากส่งคืนฮ่องกงให้ประเทศจีน เมื่อการนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆหลายพรรค ระบบนี้มุ่งหมายที่จะบั่นทอนพรรคเดโมเครติกที่เคยทรงอำนาจ จึงทำให้เกิดการแตกแยกอย่างลึกซึ้งหลายขั้วภายในค่ายพันธมิตรประชาธิปไตยทั้งในแง่เป้าหมายและยุทธศาสตร์ ในปัจจุบัน พรรคการเมืองในกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยบางพรรคเรียกร้องให้ปรับปรุงการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ซึ่งทำให้กลุ่มเจ้าพ่อธุรกิจเกิดความวิตกเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบที่การเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยอาจมีต่อผลประโยชน์ของตน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2014 ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นอดีตนักธุรกิจ กล่าวว่าเขาไม่สบายใจกับการมีผู้แทนจาก “ประชาชนครึ่งหนึ่งในฮ่องกงที่มีรายได้น้อยกว่า 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน” 2

ดังนั้น ปัจจัยพื้นฐานหลักที่ขับเคลื่อนขบวนการจึงมิได้เชื่อมโยงโดยตรงกับความไม่เท่าเทียม แต่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนฐานะทางสังคมที่เสื่อมถอยลงและคุณภาพชีวิตที่เลวร้ายลงมากกว่า 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มชนชั้นกลางมากที่สุด ใน ค.ศ. 2003 เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ บวกกับความกลัวว่าแม้แต่สิทธิพลเมืองที่เป็นคุณค่าแกนหลักของชาวฮ่องกงก็อาจสูญสิ้นไปด้วย ชนวนสำคัญมาจากข้อเสนอของรัฐบาลที่จะผ่านกฎหมายความมั่นคงภายใต้มาตรา 23 ของกฎหมายหลักพื้นฐาน ซึ่งอาจบ่อนทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม ผลที่ตามมาก็คือ ประชาชนประมาณ 500,000 คน เข้าร่วมการเดินขบวนครั้งใหญ่ในพื้นที่ศูนย์กลางของเกาะฮ่องกง ในที่สุด รัฐบาลก็ยอมพับเก็บกฎหมายนี้ และอีกหนึ่งปีต่อมาเมื่อมีการประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้ง ตั้งฉีหวา ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ก็ลาออกจากตำแหน่งด้วย

old_woman_garbage_bin
Hong Kong: An old woman collecting bottles from the garbage bin

สำหรับประชาชนจำนวนมาก การประท้วงบนท้องถนนกลายเป็นช่องทางที่เป็นไปได้ช่องทางเดียวในการกดดันกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ทุกๆปีมีการประท้วงทั้งเล็กและใหญ่หลายครั้ง นอกจากการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ประจำปีในวันที่ 1 กรกฎาคมแล้ว ก็ยังมีการชุมนุมในวันที่ 1 มกราคมและการชุมนุมจุดเทียนรำลึกในวันที่ 4 มิถุนายนด้วย การชุมนุมจุดเทียนนี้ปฏิบัติเป็นประจำทุกปีเพื่อรำลึกถึงเหยื่อการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ ค.ศ. 1989 นอกจากการชุมนุมประจำปีข้างต้น ก็ยังมีการประท้วงอีกหลายครั้งที่ประชาชนจัดตั้งกันเอง เช่น การประท้วงต่อต้านการเชื่อมรางรถไฟความเร็วสูงกับจีนใน ค.ศ. 2009 หรือการประท้วงต่อต้านหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติใน ค.ศ. 2012 ขบวนการประท้วงทั้งสองครั้งเป็นสัญญาณบ่งบอกการฟื้นคืนของกลุ่มเยาวชนนักกิจกรรมสังคม ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนจากสื่อสังคมออนไลน์และการตระหนักถึงประเด็นปัญหาด้านสังคม-การเมืองมากขึ้น การประท้วงเหล่านี้ยังสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของฮ่องกงที่เติบโตมากกว่าเดิม สืบเนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างลึกซึ้ง ชาวฮ่องกงจำนวนมากมองตัวเองแปลกแยกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้รับผลกระทบด้านลบจากผู้อพยพและนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย เนื่องจากคนพวกนี้มีส่วนทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวฮ่องกงบางคนเรียกชาวจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเสียๆหายๆว่า “ฝูงตั๊กแตน”

“ขบวนการร่ม” ล่าสุดก็มีบางสิ่งบางอย่างร่วมกันกับการประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยก่อนหน้านี้ กลุ่มขับเคลื่อนหลักเบื้องหลังการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงมาจากทั้งนักเรียนนักศึกษาและนักวิชาการ คนเหล่านี้คับข้องใจจากการปฏิรูปการเมืองที่เดินหน้าไปอย่างยืดยาดมากและวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของเมือง ผู้เข้าร่วมประท้วงส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางและไม่ได้มาจากกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสังคมรุนแรงที่สุด อันที่จริง การนัดหยุดงานประท้วงของแรงงานทั่วเมืองซึ่งเป็นข้อเสนอขององค์กรแรงงานในกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง ความเป็นจริงก็คือคนงานส่วนใหญ่อาศัยเงินเดือนอันน้อยนิดยังชีพและไม่เต็มใจเสี่ยงกับการตกงาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้จึงเป็นประเด็นที่สนใจกันในหมู่นักวิชาการเท่านั้น ส่วนปัญหาที่อยู่ในใจของกลุ่มนักเคลื่อนไหวมากกว่าคือข้อเท็จจริงที่โอกาสในการเลื่อนฐานะทางสังคมขึ้นไปทำได้ยากขึ้นและต้นทุนที่อยู่อาศัยทำให้การมีชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นก่อนเป็นไปได้ยากมาก

“ขบวนการร่ม” ยังแตกต่างจากการประท้วงก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ในแง่มุมสำคัญประการหนึ่งด้วย แทนที่จะเน้นประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจ “ขบวนการร่ม” กลับปวารณาตนเพื่อการปฏิเสธลัทธินิยมวัตถุและวัฒนธรรมที่เน้นแต่การทำมาหาเงิน “ขบวนการร่ม” มองไปที่เป้าหมายที่มีความเป็นอุดมคติมากกว่า เช่น การพัฒนาชุมชนประชาธิปไตยที่แท้จริงที่ประชาชนไว้ใจซึ่งกันและกัน มีเหตุการณ์เด่นๆ หลายเหตุการณ์ที่เน้นให้เห็นบุคลิกลักษณะแบบนี้ของขบวนการ ในขณะที่การชุมนุมเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยประจำปีในวันที่ 1 กรกฎาคม กลายเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองและองค์กรเอกชนจำนวนมากขอรวบรวมเงินบริจาค แต่ลักษณะแบบนี้กลับไม่เกิดขึ้นเลยในการประท้วงยึดถนนเป็นเวลาถึงสองเดือน ไม่มีใครขายของและประชาชนแจกจ่ายสติกเกอร์หรือโปสการ์ดโดยให้เปล่า แม้แต่เสื้อยืดและร่มก็ขายกันที่ราคาของต้นทุนการผลิต นอกจากนั้น ทุกคนสามารถรับน้ำ อาหารว่างหรือซุปร้อนจากหน่วยเสบียงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ชาวฮ่องกงจำนวนมากที่ไม่กล้าเข้าร่วมประท้วงเองจึงบริจาคทรัพยากรจำนวนมากให้หน่วยเสบียงเพื่อสนับสนุนขบวนการ

umbrellas_Hong_Kong
At protest sites, T-shirts and umbrellas were sold at production costs.

ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือข้อเท็จจริงที่ “ขบวนการร่ม” เป็นเวทีที่เน้นศิลปะและงานฝีมือ ซึ่งในสังคมที่เห็นแก่เงินมักมองไม่เห็นคุณค่า เนื่องจากรัฐบาลมีจุดเน้นหลักตรงภาคส่วนที่มองว่าเป็นเสาสำคัญสี่เส้าของระบบเศรษฐกิจ (ภาคบริการการเงิน การค้าและระบบโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคบริการการผลิตและบริการด้านวิชาชีพ) ภาคการผลิตและวัฒนธรรมจึงถูกละเลย ในพื้นที่การประท้วงหลักที่เรียกกันว่า “จัตุรัสร่ม” บรรดาอาสาสมัครช่วยกันติดตั้งมุมการศึกษาขึ้นมาเอง รวมทั้งเครือข่ายทางเดินเพื่อเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น มีการผลิตริบบิ้นสีเหลืองจากหนัง รวมทั้งเสื้อยืดพิมพ์ตราสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับร่ม มีประชาชนมายืนรอรับเป็นแถวยาวเหยียด นอกจากนี้ ยังมีการแสดงศิลปะจัดวางและศิลปะการวาดทุกรูปแบบที่น่าทึ่งด้วย ผลงานศิลปะเหล่านี้มีเนื้อหากล่าวถึงประเด็นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ปัญหาสังคม ตลอดจนความจำเป็นที่ต้องรักษาความเชื่อมั่นในอนาคตประชาธิปไตยที่ดีกว่านี้

ยิ่งกว่านั้น บุคลิกเฉพาะที่เป็นหัวใจสำคัญของขบวนการอยู่ที่ลักษณะของการให้การศึกษา กลุ่มอาจารย์และครูเสนอสอนบทเรียนให้ฟรี ซึ่งเริ่มต้นทำกันมาตั้งแต่การประท้วงหยุดเรียนของนักเรียนนักศึกษาในปลายเดือนกันยายน ในระหว่างการยึดครองพื้นที่ “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ย้ายมาอยู่บนท้องถนน ปาฐกถาที่จัดขึ้นมากกว่า 110 ครั้งมีจุดเน้นหลักอยู่ที่หัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการ เช่น การเมืองในระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพ การดื้อแพ่งของพลเมือง รวมทั้งมุมมองเชิงเปรียบเทียบ แง่มุมนี้ของขบวนการชี้ให้เห็นถึงความพยายามที่จะสร้างความเป็นพลเมืองที่มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ตระหนักถึงสิทธิของตนมากขึ้น และเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมสิทธิเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต

ในขณะที่กิจกรรมส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่การประท้วงหลักสามแห่ง ก็มีความพยายามเช่นกันที่จะขยายขบวนการออกไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น ความพยายามที่โดดเด่นที่สุดคือการติดตั้งป้ายผ้าสีเหลืองขนาดยักษ์ลงบนภูมิประเทศเด่นของฮ่องกง นั่นคือ “ภูเขาสิงโต” (Lion Rock) ซึ่งเป็นภูเขาสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้จากเกือบทุกพื้นที่บนฝั่งเกาลูน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่แค่ความพยายามที่จะเพิ่มการรับรู้ทางสายตาเท่านั้น แต่ยังเป็นความพยายามที่จะนิยามความหมายแก่นแท้ของอัตลักษณ์ฮ่องกงเสียใหม่ด้วย ในช่วงทศวรรษ 1970 ภูเขาลูกนี้เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงจิตวิญญาณความมุ่งมั่นของชาวฮ่องกงผู้สามารถเอาชนะความยากลำบากทุกอย่างในการป่ายปีนบันไดสังคม กลุ่มนักกิจกรรมประกาศในคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางยูทูบว่า “เราคิดว่าจิตวิญญาณของภูเขาสิงโตไม่ใช่แค่การหาเงิน….ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปทั่วทั้งฮ่องกงได้แสดงให้เห็นความมานะยิ่งใหญ่ในการต่อสู้กับความอยุติธรรมและความมานะในการเผชิญหน้ากับความยากลำบาก นี่คือจิตวิญญาณที่แท้จริงของภูเขาสิงโต” 4 กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ชาวฮ่องกงไม่ได้มีเป้าหมายแค่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาสังคมประชาธิปไตยที่เคารพทุกผู้คนด้วย

Lion_Rocks_Banner
A yellow banner which read “I want true universal suffrage” was hung on Lion Rock.
(Photo: Wikimedia Commons)

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดของแนวโน้มต่อต้านลัทธินิยมวัตถุของขบวนการประท้วงก็คือรูปแบบการประท้วงครั้งล่าสุดที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติช้อปปิ้ง” (Shopping Revolution) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนหลายร้อยคนเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านที่ไร้การจัดตั้ง แต่ปฏิบัติการอย่างสันติเกือบทุกคืน ขบวนการนี้เกิดขึ้นหลังจากการกวาดล้างพื้นที่การประท้วงในย่านมงก๊ก ในเขตช้อปปิ้งที่ค่อนข้างเดินยากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงนัดพบกันที่โรงภาพยนตร์เดิมทุกคืนประมาณสองทุ่ม แล้วจากนั้นก็ออกเดิน “ช้อปปิ้ง” ไปตามถนนไซเหยิงชอย ซึ่งเป็นถนนสายช้อปปิ้งที่แออัดพลุกพล่านมาก การเดินประท้วงประกอบด้วยการตะโกนท่องคำขวัญซ้ำ ๆ การใช้ป้ายผ้าสีเหลืองเรียกร้องประชาธิปไตย การเดินช้าๆ และโยนเหรียญแล้วเก็บเหรียญขึ้นมาใหม่ การประท้วงรูปแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อนายเหลียงชุนหยิงประกาศว่า หลังจากกวาดล้างพื้นที่ประท้วงแล้ว ประชาชนควรกลับไปช้อปปิ้ง คำพูดนี้ชวนให้ประหวัดถึงชาวจีนแผ่นดินใหญ่ผู้หนึ่งที่ให้สัมภาษณ์สื่อระหว่างการประท้วงของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยและกล่าวว่าเธอมาฮ่องกงเพื่อช้อปปิ้ง กลุ่มผู้ประท้วงจึงนำคำพูดนี้มากลับหัวกลับหางและออกไปประท้วงด้วยวิธีการที่คล้ายการช้อปปิ้ง ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยคนมาประจำที่ย่านนี้ทุกคืน

กล่าวโดยสรุป การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของฮ่องกงได้แรงขับเคลื่อนหลักจากประชาชนในกลุ่มรายได้ปานกลางที่ห่วงใยอนาคตของเมือง ความกังวลด้านเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนที่อยู่อาศัยที่สูงลิบและค่าครองชีพมีบทบาทสำคัญชัดเจนก็จริง แต่ยังสำคัญน้อยกว่าคุณค่าเชิงอุดมคติ เช่น เสรีภาพส่วนบุคคลและสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย “ขบวนการร่ม” มีจุดเด่นที่การต่อต้านลัทธินิยมวัตถุ อีกทั้งยังมีความเป็นประชาธิปไตยแบบรากหญ้า ซึ่งผู้เข้าร่วมขบวนการจำนวนมากพยายามต่อสู้เพื่อบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าเหนือกว่าความมั่งคั่งทางการเงิน ในขณะเดียวกัน ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ยังติดกับดักของงานค่าจ้างต่ำที่มีชั่วโมงทำงานยาวนานมาก ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างฐานเสียงสนับสนุนที่กว้างขวางกว่านี้ และถึงแม้สามารถระดมประชาชนระดับล่างออกมาได้ กระบวนการเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยก็ยังขึ้นอยู่กับความเต็มใจของรัฐบาลจีนที่จะยอมเปิดช่องให้เกิดการปฏิรูปที่จำเป็น แต่ ณ ชั่วขณะนี้ น่าเสียดายที่ดูเหมือนเป็นไปได้ยากยิ่ง

Stephan Ortmann
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย City University of Hong Kong

Issue 17, Kyoto Review of Southeast Asia, March 2015

Notes:

  1. คณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติมีมติให้ผู้สมัครที่รัฐบาลจีนเลือกให้สองหรือสามคนเท่านั้นที่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการเกาะฮ่องกง
  2. Ken Brown (2014) “Hong Kong Leader Warns Poor Would Sway Vote,” The Wall Street Journal, Oct. 20, http://www.wsj.com/articles/hong-kong-leader-sticks-to-election-position-ahead-of-talks-1413817975 (Online access: Dec. 17, 2014).
  3. Liyan Chan (2014) “Beyond The Umbrella Movement: Hong Kong’s Struggle With Inequality In 8 Charts,” Forbes, Oct. 8, http://www.forbes.com/sites/liyanchen/2014/10/08/beyond-the-umbrella-revolution-hong-kongs-struggle-with-inequality-in-8-charts/ (Online access: Dec. 17, 2014).
  4. Isabella Steger (2014) “Pro-Democracy Banner Occupies Hong Kong’s Iconic Lion Rock, Spawns Memes,” The Wall Street Journal, Oct. 23, http://blogs.wsj.com/chinarealtime/2014/10/23/pro-democracy-banner-occupies-hong-kongs-iconic-lion-rock-spawns-memes/ (Online access: Dec. 17, 2014).