ความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน: ก้าวสู่การยอมรับในเวียดนามและประเทศไทย

Douglas Sanders

กฎหมายยอมรับความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันมีการประกาศใช้ครั้งแรกในประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อ ค.ศ. 1979 โดยขยายจากกรรมสิทธิ์บนทรัพย์สินร่วมของผู้รอดชีวิตของผู้เช่าในการเช่าห้องชุดที่อยู่อาศัยที่มีการควบคุมค่าเช่า กฎหมายฉบับแรกที่ตราระบบจดทะเบียนสำหรับคู่ชีวิตเพศเดียวกันนำออกใช้ในเดนมาร์กเมื่อ ค.ศ. 1989 ซึ่งรับรองสิทธิชุดหนึ่งในลักษณะคู่ขนานแต่นอกเหนือการแต่งงาน ส่วนกฎหมายฉบับแรกที่เปิดกว้างให้การแต่งงานแก่คู่ครองเพศเดียวกันมีการประกาศใช้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. 2001 นับแต่นั้นมา มีหลายประเทศทยอยก้าวตามชาวดัทช์ในแง่ของการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน อาทิ อาร์เจนตินา เบลเยียม บราซิล แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นอร์เว โปรตุเกส สโลวีเนีย แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักรและอุรุกวัย รวมทั้งในมลรัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ก็กำลังรอคำตัดสินจากศาลสูงของสหรัฐฯ ในการรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่จะส่งผลทางกฎหมายทั่วประเทศ ในเอเชีย การรับรองของรัฐบาลต่อความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันที่เป็นคนต่างด้าวมีการใช้ปฏิบัติในฮ่องกง สิงคโปร์และประเทศไทย (และอาจรวมถึงเขตอำนาจศาลอื่น ๆ) ซึ่งคู่ครองเพศเดียวกันของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสถานทูต มหาวิทยาลัยหรือองค์กรธุรกิจ สามารถได้รับสิทธิการอยู่อาศัยบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ดังกล่าว

ในหลายประเทศทั่วโลก ประเด็นการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (หรือการรับรองความสัมพันธ์นั้น) กลายเป็นประเด็นสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเท่าเทียมทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนสำหรับเลสเบี้ยน เกย์และบุคคลข้ามเพศ มันเป็นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายอันแสดงถึงภาพพจน์เชิงบวกของคู่ครองเพศเดียวกัน ซึ่งสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบันมักนำเสนอเป็นภาพของพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูก เดี๋ยวนี้บุคคลข้ามเพศมีเสรีภาพในการแต่งงานมากขึ้นเช่นกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงคำถามเกี่ยวกับเพศหรือเพศสภาพ ตอนนี้เรามีข้อเขียนจำนวนมากเกี่ยวกับการแต่งงานของเกย์ในโลกตะวันตก ส่วนในเอเชียมีสภาพการณ์เช่นไร? ในบทความนี้ ผู้เขียนจะสำรวจดูพัฒนาการล่าสุดในประเทศเวียดนามและประเทศไทย

 

เวียดนาม

ใน ค.ศ. 2012 รัฐบาลเวียดนามเริ่มกระบวนการทบทวนประมวลกฎหมายแพ่งหมวดการสมรสและครอบครัว มีการพิจารณาสาระสำคัญแปดประการด้วยกัน ซึ่งครอบคลุมถึงการอยู่กินของคู่ครองต่างเพศ ความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน การรับตั้งครรภ์แทนและการหย่าร้าง 1 ในเดือนกรกฎาคม 2012 รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรพิจารณากรอบกฎหมายสำหรับคู่ครองเพศเดียวกัน โดยให้เหตุผลเชิงปฏิบัตินิยมมากสำหรับการปฏิรูปกฎหมายดังนี้:

ศาลไม่รู้ว่าจะแก้ไขข้อพิพาทของคู่ครองเพศเดียวกันที่อยู่กินด้วยกันได้อย่างไร กฎหมายฉบับใหม่จะช่วยกำหนดสิทธิต่างๆ เช่น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน การสืบมรดกและการรับบุตรบุญธรรม

“ผมคิดว่าเมื่อคำนึงถึงแง่สิทธิมนุษยชนแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องมองความเป็นจริง” นายฮาฮุงเกือง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม กล่าวเมื่อวันอังคาร [24 กรกฎาคม 2013] ในการสนทนาออนไลน์ที่แพร่กระจายเสียงฝ่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ “จำนวนของคนรักเพศเดียวกันมีมากขึ้นถึงหลายแสนคน 2 นี่ไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ   พวกเขาอยู่กินโดยไม่ได้สมรสจดทะเบียน พวกเขาอาจมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แน่นอน รัฐบาลต้องรับมือกับประเด็นเหล่านี้ในทางกฎหมาย” 3

ในเดือนพฤษภาคม กระทรวง [ยุติธรรม] ส่งจดหมายหารือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน ในจดหมายบรรยายถึงการแต่งงานของคนเพศเดียวกันว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม จดหมายกล่าวด้วยว่า “เมื่อคำนึงถึงความอ่อนไหวของประเด็นคนรักเพศเดียวกันและผลกระทบที่ยังมองไม่เห็นของการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่อาจมีต่อค่านิยมทางวัฒนธรรมและครอบครัวแบบดั้งเดิม มันยังเร็วเกินไปสำหรับเวียดนามที่จะออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน”

ตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมแสดงความปรารถนาที่จะพบปะสนทนากับชุมชน LGBT ในกรุงฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี จัดการประชุมระหว่างกลุ่ม LGBT กับผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันจากเวียดนามและประเทศอื่นๆ รวมทั้งให้การศึกษาแก่สาธารณชนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันด้วย 4

คณะกรรมาธิการกิจการสังคมของสมัชชาแห่งชาติได้เชิญนักกิจกรรมด้าน LGBT มานำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 2012

ศาสตราจารย์คีส วาลเดกค์(Kees Waaldijk) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายด้านมุมมองทางเพศที่มหาวิทยาลัยไลเดนในเนเธอร์แลนด์และศาสตราจารย์เอ็ม. วี. ลี แบดเจ็ตต์ (M. V. Lee Badgett) นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ วิทยาเขตแอมเฮิร์สต์ ในสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญไปกรุงฮานอยในเดือนธันวาคม 2012 เพื่ออภิปรายถึงแบบแผนของนานาชาติเกี่ยวกับการรับรองความสัมพันธ์และการขยายการแต่งงานให้ครอบคลุมคู่ครองเพศเดียวกัน ทั้งสองมีผลงานเขียนจำนวนมากในประเด็นนี้และพวกเขาได้นำเสนอความคิดเห็นในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่รัฐบาลเวียดนามกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ร่วมกันจัดขึ้น

ในเดือนเมษายน 2013 รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงความคิดเห็นกับสำนักข่าวถ่านเนียน (Thanh Nien) ซึ่งรายงานถ้อยแถลงของเขาว่า “ชาวเกย์มีสิทธิเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ทุกคนที่จะรัก ได้รับความรักและแต่งงาน” หลายวันก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมประกาศว่า จะไม่มีการใช้โทษปรับกับคู่ครองเพศเดียวกันที่จัดงาน “แต่งงาน” (โดยไม่มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย) อีกต่อไป 5

รัฐบาลประกาศข้อเสนอที่จะปฏิรูปกฎหมายต่อสาธารณะในช่วงกลางปี 2013 ซึ่งรวมถึงการขยายสิทธิและข้อผูกพันของการแต่งงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและลูกให้ครอบคลุมคู่ครองต่างเพศที่อยู่กินด้วยกัน อีกทั้งมีมาตราหนึ่งต่างหากออกไปที่ครอบคลุมถึงคู่ครองเพศเดียวกันที่อยู่กินด้วยกัน ในวันที่ 17 ตุลาคม 2013 ตัวแทนจากองค์กรสังคมกว่า 30 องค์กร บุคคลที่เป็น LGBT จำนวนมากและพันธมิตรของพวกเขา ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนาในกรุงฮานอย ได้ส่งเอกสาร 3 ฉบับแก่สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ แหล่งข่าวแห่งหนึ่งรายงานว่า

เอกสารเหล่านั้นประกอบด้วยจดหมายจากองค์กรสังคมต่าง ๆ จดหมายของกลุ่มพ่อแม่ ครอบครัวและเพื่อนของเลสเบี้ยนและเกย์ (Parents, Families and Friends of Lesbians and Gays –PFLAG) ในเวียดนาม และคำร้องที่รวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 8,300 รายชื่อที่สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน 6

ประชาชนหลายร้อยคนรวมตัวกันในสวนสาธารณะในกรุงฮานอยเพื่อร่วมเป็นสักขีพยานการแต่งงานเชิงสัญลักษณ์ของคู่ครองเพศเดียวกันสองคู่ มีการเฉลิมฉลองในที่สาธารณะด้วยธงสีรุ้งและลูกโป่งจำนวนมาก ตลอดจนจำนวนกด “ไลค์” ถึง 60,000 ไลค์บนหน้าเพจเฟซบุ๊กของคู่สมรสสองคู่นี้ 7

ประเด็นที่รวมอยู่ในชุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอในเดือนธันวาคม 2013 คือการปรับปรุงแก้ไขมาตราเกี่ยวกับสิทธิในการแต่งงาน แทนที่จะใช้ถ้อยคำว่า “ชายและหญิง” มีสิทธิในการแต่งงาน (ซึ่งเป็นการใช้สำนวนที่ถูกตีความมาตลอดว่าจำกัดสิทธิการแต่งงานให้แก่คู่ครองต่างเพศเท่านั้น) ถ้อยคำใหม่ที่มีการเสนอเข้ามาจะเขียนแค่ “ผู้ชาย ผู้หญิง” มีสิทธิในการแต่งงาน หากเขียนเช่นนี้ อุปสรรคใด ๆ ต่อการแต่งงานตามกฎหมายของคนเพศเดียวกันก็น่าจะหมดสิ้นไปอย่างชัดเจนโดยน่าจะปราศจากการถกเถียงหรือข้อควรระวังอื่นใดอีก อย่างไรก็ตาม โดยตัวมันเองแล้วนี่ไม่ใช่การขยายผลให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันกลายเป็นสถาบันตามกฎหมาย

ในวันที่ 19 มิถุนายน 2014 สมัชชาแห่งชาติของเวียดนามปฏิเสธการปฏิรูปกฎหมายหลายข้อที่รัฐบาลเสนอ รวมทั้งการรับรองการอยู่กินของคนเพศเดียวกันตามกฎหมายก็ตกไปด้วย ยิ่งกว่านั้น การรับรองการอยู่กินของคนต่างเพศก็จำกัดเหลือแค่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบุตร (ประเด็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไป) การรับตั้งครรภ์แทนถูกจำกัดเข้มงวดเฉพาะภายในญาติร่วมสายโลหิต (เช่น พี่สาว น้องสาว หรือลูกพี่ลูกน้อง) ที่ไม่มีการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะที่บทบัญญัติสั่งห้าม “การแต่งงาน” ของคนเพศเดียวกัน (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย) ถูกเพิกถอนออกไปก็จริง แต่มีการเพิ่มถ้อยคำว่า “รัฐไม่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน”

 

ประเทศไทย

ใน ค.ศ. 2012 นที ธีระโรจนพงษ์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของเกย์ไทยมายาวนาน ได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับคู่ชีวิตของเขา เมื่อถูกปฏิเสธ เขาจึงนำประเด็นนี้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ขอให้คณะกรรมการสิทธิ์ฯ ช่วยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดร.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิ์ฯ ที่ดูแลประเด็นปัญหาของ LGBT ตอบรับคำร้องเรียนนี้และกล่าวว่า

ในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน การตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันควรได้รับการรับรองตามกฎหมายไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะมีเพศใด 8

อย่างไรก็ตาม แทนที่จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎรไทย กลับเข้ามาดูแลประเด็นนี้แทน ทั้งยังแต่งตั้งตัวแทนจากองค์กร LGBT สามองค์กรมาทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการได้จัดสัมมนาและประชุมรับฟังความคิดเห็นห้าครั้งในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2013 สมาชิกคณะกรรมาธิการที่ได้รับมอบหมายให้ยกร่างกฎหมายตามกรอบที่ได้จากการหารือนี้คือนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ซึ่งน่าจะเป็นนักกฎหมายระดับแถวหน้าในหมู่สมาชิกรัฐสภาของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านในตอนนั้น รวมทั้งเป็นหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรค 9 ในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ วิรัตน์ทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรม

ผลลัพธ์คือร่างกฎหมายที่ขยายสิทธิและข้อผูกพันของการแต่งงานให้แก่คู่ครองเพศเดียวกันผ่านระบบจดทะเบียนของ “คู่ร่วมชีวิตจดทะเบียน” (civil unions) ร่างกฎหมายนี้ระบุว่า สิทธิและข้อผูกพันทั้งหมดของการแต่งงานย่อมอนุโลมให้ใช้กับคู่ครองเพศเดียวกันที่จดทะเบียนตามกฎหมาย อายุที่สามารถจดทะเบียนคู่ร่วมชีวิตได้คือ 20 ปี ซึ่งเป็นอายุที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง ไม่ใช่ 17 ปี ซึ่งเป็นอายุขั้นต่ำสุดตามกฎหมายที่สามารถจดทะเบียนแต่งงานได้ระหว่างชายกับหญิง นอกจากนี้ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการปกครองดูแล การเข้าถึงหรือการรับบุตรบุญธรรม

อย่างไรก็ตาม ไม่มีพรรคการเมืองใดสนับสนุนข้อเสนอร่างกฎหมายคู่ร่วมชีวิตจดทะเบียน ทำให้เกิดคำถามว่าร่างกฎหมายนี้จะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภาได้อย่างไร ซึ่งต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 20 เสียง หรืออีกวิธีหนึ่งคือพลเมืองเข้าชื่อกัน 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย การยุบสภาและการจัดเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ทำให้กระบวนการล้อบบี้เพื่อเสนอกฎหมายคู่ร่วมชีวิตจดทะเบียนต้องยุติลง การรัฐประหารของกองทัพที่โค่นล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรลงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนอีกครั้ง เนื่องจากตอนนี้รัฐสภากลายเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งแทน

หลังการรัฐประหาร ผู้สันทัดกรณีภาคประชาสังคมที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายคู่ร่วมชีวิตจดทะเบียนของสภาผู้แทนราษฎรเริ่มต้นกระบวนการยกร่างกฎหมายเอง โดยได้รับความช่วยเหลือจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายแห่งประเทศไทยมาช่วยยกร่างกฎหมาย “การแต่งงานของเกย์” เพื่อเป็นฉบับคู่ขนาน ร่างกฎหมาย “ฉบับพลเมือง” ระบุอายุที่สามารถจดทะเบียนและแต่งงานของคู่ครองทั้งต่างเพศและเพศเดียวกันไว้เท่ากัน และไม่ได้อิงกับการอ้างสิทธิและข้อผูกพันตามกฎหมายแต่งงานที่มีอยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม สิทธิที่เกี่ยวข้องกับบุตรและการมีสิทธิ์ต่าง ๆ สำหรับคู่ครองทั้งต่างเพศและเพศเดียวกันมีการกำหนดออกมาอย่างชัดเจน กฎหมายการแต่งงานที่มีอยู่ของประเทศไทยเป็นกฎหมายที่โบราณล้าสมัย และมีบทบัญญัติที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ผู้สันทัดกรณีภาคประชาสังคมเล็งเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่เดิมนี้ไม่เหมาะที่จะเป็นหลักอ้างอิงหรือพื้นฐานสำหรับระบบจดทะเบียนคู่ร่วมชีวิตฉบับใหม่ที่กำลังยกร่างขึ้นมา โดยระบบจดทะเบียนใหม่นี้จะเปิดกว้างต่อปัจเจกบุคคลทุกคน ไม่เฉพาะคู่ครองเพศเดียวกัน

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ร่างกฎหมายของทั้งสองภาคส่วนยังไม่มีฉบับไหนเสร็จสมบูรณ์ และยังไม่มีฉบับไหนยื่นเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งหลังรัฐประหาร แกนนำคณะรัฐประหารไม่ได้แสดงความสนใจในประเด็น LGBT แต่ก็มิได้แสดงออกถึงความเป็นปฏิปักษ์ นิตยสารเกย์ สถานที่พบปะสังสรรค์ของเกย์และองค์กรประชาสังคมของกลุ่มเกย์สามารถดำเนินงานได้โดยไม่ถูกบังคับควบคุมภายใต้รัฐบาลที่กองทัพแต่งตั้งขึ้น ซึ่งมิได้กระทำการใด ๆ ที่กีดกั้นขัดขวางการถกเถียงสาธารณะและการประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแต่งงานของเพศเดียวกัน ตรงกันข้าม ในเดือนมีนาคม 2015 รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งยังออกกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศฉบับใหม่ ซึ่งครอบคลุมถึงการคุ้มครองและต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ

ก้าวต่อไป?

ในปัจจุบัน การผลักดันการแต่งงานของคนเพศเดียวกันยังไม่ประสบความสำเร็จ คาราคาซังหรือค้างเติ่งในหลายประเทศของเอเชีย ทั้งในเนปาล ไต้หวัน ญี่ปุ่น รวมทั้งเวียดนามและประเทศไทย นี่เป็นครั้งแรกที่ประเด็นเหล่านี้ได้รับความสนใจอย่างจริงจังทั้งจากภาคสังคมและรัฐบาลในเอเชีย นับตั้งแต่การเปิดกว้างให้มีการแต่งงานของคู่ครองเพศเดียวกันในประเทศเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. 2001 ผู้คนเกิดความรู้สึกว่าข้อต้องห้ามนี้กำลังหมดไป มีหลายประเทศที่เจริญรอยตามชาวดัทช์ บางประเทศเกือบจะตามมาติด ๆ ทีเดียว เป็นไปได้อย่างยิ่งที่อีกไม่ช้าไม่นานนี้ น่าจะมีการทลายกรอบจนกระทั่งออกกฎหมายแต่งงานของเกย์ได้ในประเทศเอเชียสักหนึ่งหรือสองประเทศ เมื่อนั้นก็เป็นไปได้ที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้จะเจริญรอยตามประเทศที่บุกเบิกไปก่อน

ศาสตราจารย์ดักลาส แซนเดอร์ส์
มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ

Issue 18, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2015

Notes:

  1. Anna Leach, “Vote on same-sex marriage in Vietnam likely to be delayed until 2014”, GayStarNews, 20 February 2013.
  2. ข้อสังเกต: แน่นอนว่าจำนวนคนรักเพศเดียวกันไม่ได้เพิ่มขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการเปิดตัวและการยอมรับของสาธารณชนที่เพิ่มมากขึ้นต่อความเป็นจริงที่ว่าเพศและเพศสภาพมีความหลากหลาย
  3. Margie Mason, AP, “Unlikely Vietnam considers same-sex marriage”, Jakarta Post, 30 July 2012, p. 2.
  4. Sylvia Tan, “Will Vietnam become the first Asian nation to legalise same-sex marriage?”,fridae.com, 1 August 2012, www.fridae.com, accessed 6 August 2012.
  5. Anna Leach, “Vietnam government scraps gay wedding fines”, GayStarNews, 12 April 2013.
  6. “8,300 signatures for same-sex marriage in Vietnam”, TuoiTre News, 18 October 2013.
  7. Andrew Potts, “Hundred rally in Hanoi for same-sex marriage”, GayStarNews, 29 October 2013.
  8. Out in Thailand (magazine), November 2012, p. 16; Anna Leach, “Thai government drafting same-sex civil partnership law”, GayStarNews, 17 December 2012.
  9. ในเดือนเมษายน 2014 วิรัตน์เป็นโฆษกของพรรคประชาธิปัตย์ในการยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อศาลรัฐธรรมนูญ: “Rival parties dare judges to axe PM”, Bangkok Post, 15 April 2014, p. 1.