วรรณกรรมและการเมืองฟิลิปปินส์ร่วมสมัย

Jose Dalisay Jr.

      

ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1958 เกือบ 57 ปีมาแล้ว นักเขียนฟิลิปปินส์ชั้นแนวหน้าจำนวนประมาณหนึ่งร้อยคนเดินทางไปที่เมืองบาเกียว ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศบนที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศ เพื่อเข้าร่วมในการประชุมที่จัดโดยสมาคมนักเขียนนานาชาติในประเทศฟิลิปปินส์ การประชุมครั้งนี้ให้ชื่อว่า การประชุมนักเขียนแห่งชาติ ผู้เข้าร่วมประชุมจึงเป็นนักเขียนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีแขกผู้มีเกียรติจำนวนไม่น้อยทีเดียว เข้ามาพบปะสังสรรค์กับนักเขียน และร่วมบรรยายด้วย อาทิ การ์โลส พี การ์เซีย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งท่านเองก็เป็นกวีที่ใช้ภาษาถิ่นที่มีชื่อเสียงด้วย กลาโร เอ็ม เร็กโต วุฒิสมาชิกแนวชาตินิยม ซึ่งเป็นกวีและนักเขียนบทละครเป็นภาษาสเปน บิเซ็นเต จี ซิงโก อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ และและมีชาวตะวันตกจากสถานทูตอเมริกา และสถานทูตอังกฤษอีกประปราย นอกจากนี้ ยังมีนักการเมือง นักธุรกิจ นักการทูต นักวิชาการ ตัวแทนจากสำนักพิมพ์ ซึ่งล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียง รวมทั้งนักบวช 1 รูป และนายพลกองทัพบกอีก  1 ท่าน เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ด้วย

เท่าที่ผมทราบ ก่อนหน้าเดือนธันวาคม ค.ศ. 1958 เราไม่เคยมีการจัดการประชุมนักเขียนขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อนเลย (ขณะนั้น ผมเพิ่งมีอายุย่างเข้า  5 ขวบ) และนับแต่นั้นมา เราก็ไม่เคยมีการประชุมที่ใหญ่ขนาดนี้อีกเลย เพราะเหตุใด นักเขียนผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้จึงมารวมตัวกัน ณ เมืองบนยอดเขาได้อย่างเป็นประวัติการณ์เช่นนั้น มิใช่อะไรเลย นอกเสียจากประเด็นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็นที่ทำให้พวกเรามาประชุมกันที่นี่ในวันนี้ ในเมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่งในเอเชีย เกือบ 60 ปีหลังจากการประชุมครั้งนั้น นั่นก็คือ ประเด็นที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของวรรณกรรมกับการเมือง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งจนหลีกเลี่ยงไม่ได้ น่าสนใจ เต็มไปด้วยปัญหา ความขัดแย้ง และท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

ในการประชุมใน ค.ศ.1958 นั้น ประเด็นดังกล่าวได้รับการจัดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อการประชุมคือ “นักเขียนฟิลิปปินส์กับความเจริญเติบโตของประเทศ” เมื่อสองสามสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ผมเอ้อระเหยปัดฝุ่นห้องสมุดในที่ทำงานของผมอยู่ ผมบังเอิญไปพบรายงานการประชุมครั้งนั้น ซึ่งรวบรวมไว้ในวารสาร Comment ฉบับพิเศษ (ไตรมาสแรกของ ค.ศ.1959) ขณะนั้นผมเองกำลังเตรียมการประชุมครั้งนี้ด้วยความคิดอีกอย่างที่ต่างออกไป แล้วก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า เหตุการณ์ในคราวนี้เป็นเสมือนการย้อนกลับมาของเหตุการณ์เมื่อ ค.ศ.1958 กว่าครึ่งศตวรรษหลังจากที่เรานำบุคลากรชั้นนำทางวรรณกรรมของเรามาร่วมพินิจพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมและการเมือง (หรืออีกนัยหนึ่ง คือ 2,500 ปีหลังสมัยของเพลโต) เรานักเขียนชาวฟิลิปปินส์ยังคงหมกมุ่นกับหัวข้อนี้ ด้วยเหตุผลที่ดีทั้งใหม่และเก่านานาประการ

literature

นักเขียนนวนิยายและนักเขียนจุลสารทางการเมือง

ความเห็นของนักเขียนนวนิยายที่ชื่อ เอดิลแบร์โต เตียมโป ต่อไปนี้ ถือเป็นภาพสะท้อนความเห็นโดยทั่วไปของที่ประชุม ค.ศ.1958 :

นักเขียนนวนิยายและนักเขียนจุลสารทางการเมืองจัดเป็นบุคคลสองกลุ่มที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เราจำเป็นต้องตระหนักว่า วรรณกรรมมิได้มุ่งที่จะหาคำตอบที่เป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติได้ให้กับปัญหาในสังคมโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น นักเขียนนวนิยายและกวีเองก็ไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่แทนผู้นำทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ ความสนใจของนักเขียนมิใช่อยู่ที่การเป็นผู้บันทึกชีวิต และเหตุการณ์ต่าง ๆ หากเป็นผู้สังเคราะห์เหตุการณ์เหล่านั้น เสนอภาพรวมที่มีระเบียบ ความเกี่ยวเนื่องให้กับสังคม นักเขียนที่ประสบความสำเร็จสามารถก้าวข้ามมิติทางเวลา และกลายเป็นนักปราชญ์ หรือศาสดาพยากรณ์ได้ การเบิกความสว่างทางศิลป์ คือความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดที่นักเขียนมีต่อตนเองและศิลปะของเขา

ในปัจจุบัน คำพูดนี้ค่อนข้างฟังดูมีเหตุผลและคงไม่มีผู้มาโต้แย้ง แต่ใน ค.ศ.1958 คำพูดนี้เป็นเพียงคำพูดล่าสุดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตี และการตอบโต้ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก ของผู้ฝักใฝ่แนวคิด 2 แนว คือ กลุ่ม “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ของกวีโฆเซ การ์เซีย บิยา และกลุ่ม “วรรณกรรมเพื่อชนชั้นกรรมาชีพ” ของซัลบาดอร์ พี โลเปซ ตลอดทศวรรษ 1930 นักเขียนฟิลิปปินส์แตกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายของบิยาที่ฝักใฝ่ลัทธิสมัยใหม่นิยมทางกวีนิพนธ์ที่แปลกใหม่ และฝ่ายของโลเปซที่หันกลับไปหาขนบอันยาวนานของวรรณกรรมแห่งการปฏิวัติ และการล้มล้างทางการเมืองของฟิลิปปินส์

นักวิจารณ์ที่ชื่อ เอลเมอร์ ออร์ดอนเยซ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรณาธิการของวารสาร Comment ฉบับที่กล่าวถึงข้างต้น ยังจดจำคำประชดเหน็บแนมของอาร์ตูโร บี โรเตอร์ แพทย์และนักเขียนเรื่องสั้นที่เป็นสมาชิกกลุ่มบิยาที่เหนียวแน่นที่สุดคนหนึ่งได้ โรเตอร์เขียนไว้ว่า

การที่ชาวฟิลิปปินส์ขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่คนทั้งประเทศกำลังให้ความสนใจอย่างยิ่งยวด แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในเชิงศิลปะของชาวฟิลิปปินส์ผู้นั้น ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีเรื่องแต่งที่โดดเด่นเรื่องใดเลยที่กล่าวถึงชาวนาในบริเวณตอนกลางของเกาะลูซอนและความพยายามของพวกเขาที่จะพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ ในขณะที่คนในประเทศกำลังพูดถึงชุมชนแออัดที่ตอนโด กวีของเรายังคงประพันธ์บทกวีที่พรรณนาด้วยความปิติถึงอาทิตย์อัสดงที่อ่าวมะนิลา เราควรจะคิดอย่างไรกับนักเขียนที่วิวาทะกันอย่างปราดเปรื่องถึงจังหวะและดุลยภาพในร้อยแก้ว แต่ไม่เคยแม้แต่จะปรายตามองหนังสือพิมพ์เลย เราควรจะพูดอย่างไรถึงพวกนักเขียนที่ใช้เวลาหลายสัปดาห์บรรจงประพันธ์วลีเพียงวลีเดียว แต่จะไม่ยอมใช้เวลาสัก 5 นาที พยายามเข้าใจว่าความเท่าเทียมทางสังคมคืออะไร หรือทำไมชาวบ้านที่บัลลากันจึงถูกจับด้วยข้อหาขโมยไม้ฟืนจากป่าสงวนของเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวย

ดร.โรเตอร์ซึ่งเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1988 มิได้เข้าร่วมการประชุมที่เมืองบาเกียว เราจึงไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่าเขาจะพูดอะไรกับคนอย่าง ดร.เตียมโป (ซึ่งบังเอิญไม่เชื่อในทฤษฎีศิลปะเพื่อศิลปะ และมีความเห็นว่าทฤษฎีนี้ขาด “ความเอาจริงเอาจังอย่างยิ่ง”) แต่เราคงจะพอคาดเดาได้ อันที่จริงแล้ว หากเขายังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ เขาคงจะกล่าวคำวิจารณ์อย่างเย้ยหยันในลักษณะเดียวกันนี้ต่อวรรณกรรมฟิลิปปินส์ร่วมสมัยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ หากเขาไม่ได้รับความกระจ่าง ดังเช่นที่ผมพยายามนำเสนอในบทปาฐกถานี้ ว่าความสนใจของเราต่อประเด็นเช่น ความเท่าเทียมกันในสังคม ได้กลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าการพูดถึงการถือครองที่ดิน หรือการทำงานที่ได้ค่าตอบแทน แน่นอนทีเดียว เรื่องเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ แต่บัดนี้ กลับทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เป็นผลมาจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ เช่น การส่งแรงงานฟิลิปปินส์จำนวนมากออกนอกประเทศ และผลกระทบที่มีต่อครอบครัวชาวฟิลิปปินส์ โลกาภิวัตน์ของรูปแบบและวิธีปฏิบัติทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และความแตกต่างที่มากขึ้นระหว่างกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและกลุ่มที่ด้อยโอกาส ภายในสังคมของเร

นับแต่ ค.ศ.1958 เป็นต้นมา เราชาวฟิลิปปินส์ได้ก้าวมาไกลเพียงใดในแง่ประสบการณ์ และความคิดของเราที่มีต่อวรรณกรรมและการเมือง

ผมขอทบทวนและวิเคราะห์อิทธิพลของวรรณกรรม หากจะมีอยู่บ้าง ต่อชีวิตทางการเมืองของเราในปัจจุบัน ประเด็นที่ผมคิดไว้ในขณะนี้ คือ ในขณะที่อิทธิพลของรูปแบบวรรณกรรมตามขนบเดิมได้ลดน้อยลงอย่างมาก ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม รูปแบบที่ไม่เป็นตามขนบจึงเข้ามาแทนที่ และจินตนาการทางวรรณกรรมที่เป็นสื่อในการถ่ายทอดความคิด ยังคงเป็นพลังการเมืองที่สำคัญในสังคมฟิลิปปินส์ทุกวันนี้

ในประเทศฟิลิปปินส์ การเมืองและวรรณกรรมมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นต่อกันมาเป็นเวลานาน นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ในประเทศนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมาของบรรดาผู้ปกครองที่มาจากประเทศเจ้าอาณานิคม ทรราช และจอมเผด็จการ ที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาปกครองอย่างต่อเนื่อง ประวัติศาสตร์การเมืองอันวิบากคดเคี้ยวของประเทศนี้ เปิดโอกาสที่มากหลายให้นักเขียนชาวฟิลิปปินส์มีส่วนร่วมในการต่อต้านทางการเมืองโดยตรง ตั้งแต่งานเขียนต้านทรราช Florante at Laura ของฟรานซิสโก บาลักตัส และนวนิยายของโฆเซ ริซาล ในศตวรรษ 1800 จนถึงนักเขียนบทละครต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมในช่วงต้นของศตวรรษ 1900 และนักเขียนโฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เราจะเห็นได้ว่าภายในประเด็นเด่น ๆ ทางการเมืองของประเทศ มีประเด็นการเมืองที่ว่าด้วยเพศสถานะ ศาสนา ภูมิภาค และชนชั้นซ่อนอยู่ด้วย (โดยประเด็นเรื่องชนชั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในประสบการณ์ของเรา)

อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่น ผมขอกล่าวถึงประวัติศาสตร์สักเล็กน้อย เพื่อเป็นการวางพื้นฐานให้กับประเด็นความคิดที่ผมต้องการนำเสนอ

หมู่เกาะแห่งภาษาที่หลากหลาย

ทุกวันนี้ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 82 ล้านคน อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะต่าง ๆ จำนวนกว่า 7,000 เกาะ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก และยังมีชาวมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยแต่มีความสำคัญ  ประเทศฟิลิปปินส์ถูกรุกรานหลายครั้ง โดยชาวสเปนใน ค.ศ.1521 ชาวอเมริกันใน ค.ศ.1898 และชาวญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1941 ก่อนที่จะได้รับเอกราชใน ค.ศ.1946 ชาวฟิลิปปินส์ส่วนมากมีเชื้อสายมาจากชาวมาเลย์ จีน และสเปน และมีการแต่งงานในระหว่างเชื้อชาติเหล่านี้กันอย่างมากมาย ทั้งนี้ ชาวเผ่าพื้นเมืองอีกจำนวนไม่น้อยก็ยังมีอยู่

ระหว่าง ค.ศ.1972 ถึง ค.ศ.1986 ฟิลิปปินส์มีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส เผด็จการผู้ประกาศใช้กฎอัยการศึก เป็นผู้ปกครอง หลังจากที่มาร์กอสถูกโค่นลงจากตำแหน่งใน ค.ศ.1986 มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตยถึง 3 ครั้ง แต่ประเทศของเรายังคงเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่ร้ายแรงอยู่ คนรวยของเรารวยมหาศาล คนจนก็ยากจนข้นแค้นและมีจำนวนมากมายเหลือเกิน ชาวฟิลิปปินส์  1 คน ในทุก ๆ 10 คน พำนักและทำงานอยู่ในต่างประเทศ กะลาสีเรือ 3 คนจากทุก ๆ 10 คน เป็นชาวฟิลิปปินส์ ตามรายงานของ Asian Journal Online คาดกันว่ามีชาวฟิลิปปินส์มากถึง 500,000 คน ในประเทศมาเลเซีย โดยที่ 200,000 คนจากจำนวนนี้ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้อย่างถูกต้อง

The languages that have the largest number of speakers in a particular region. Note that on regions marked with black diamonds, the language with the most number of speakers denotes a minority of the population.
The languages that have the largest number of speakers in a particular region. Note that on regions marked with black diamonds, the language with the most number of speakers denotes a minority of the population.

เรามีภาษามากกว่า 100 ภาษา โดยมีภาษาอังกฤษและภาษาฟิลิปิโนที่ใช้กันกว้างขวางทั่วประเทศ ส่วนภาษาสเปนนั้น ขณะนี้มีคนใช้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงวัยและมีฐานะดีมาก

วรรณกรรมของเราสะท้อนสภาพต่าง ๆ เหล่านี้ เรามีวรรณกรรมภาษาท้องถิ่นที่ล้ำค่าและมีความหลากหลายก่อนที่ชาวสเปนจะมารุกราน  แม้จะไม่มีการเผาทำลายหนังสือของพวกนอกรีตอย่างมากมาย ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโก กระนั้น เหล่าบาทหลวงก็แปรเปลี่ยนมหากาพย์ท้องถิ่น โดยการใส่แก่นเรื่องที่เกี่ยวกับคริสตศาสนาและจักรวรรดินิยมทับลงไป และเราก็เรียนรู้ที่จะเขียนภาษาสเปน และใช้ภาษานี้ในการต่อต้านเจ้าอาณานิคม นวนิยายที่มีชื่อเสียงที่สุดของเราเขียนขึ้นเป็นภาษาสเปนโดยโฆเซ ริซาล วีรบุรุษแห่งชาติ นวนิยายเหล่านี้ช่วยจุดประกายให้เกิดการปฏิวัติต่อต้านผู้ปกครองชาวสเปน และริซาลเองก็ถูกประหารชีวิต

เมื่อชาวอเมริกันเข้ามา เราก็หันไปหลงใหลภาษาอังกฤษเหมือนเป็ดรี่เข้าหาน้ำ ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาของชนชั้นสูงอย่างรวดเร็ว สำหรับนักเขียนชาวฟิลิปปินส์แล้ว การที่งานของเขาได้รับการยอมรับให้อยู่ในระดับเดียวกันกับวรรณคดีอเมริกัน ถือเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด กวีนิพนธ์และบันเทิงคดีของเรารับเอาลีลาการเขียนและแก่นเรื่องมาจากวรรณกรรมอเมริกัน ภาษาฟิลิปิโนซึ่งเป็นภาษาประจำชาติอีกภาษาหนึ่ง ถูกมองว่าเป็นภาษาชาวบ้าน ไม่ควรค่าต่อการนำมารังสรรค์วรรณกรรมชั้นสูง

กระแสชาตินิยมที่ฟื้นขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การเขียนเป็นภาษาฟิลิปิโนกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้าน และวรรณกรรมทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาฟิลิปิโนล้วนเต็มไปด้วยแก่นเรื่องทางการเมือง

ในปัจจุบัน ความเป็นจริงทางสังคมของฟิลิปปินส์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือการย้ายถิ่นออกนอกประเทศของชาวฟิลิปปินส์นับล้านด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสภาพปัญหาในประเทศ กอปรกับกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ สภาพเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดไว้ในวรรณกรรมของเรา

กวีนิพนธ์แห่งความทุกข์ทน

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรา คือประวัติศาสตร์ทางการเมืองและทางกวีนิพนธ์ของเรามักจะสอดคล้องพ้องกันอยู่เสมอ วีรบุรุษของเราเป็นกวี และกวีของเราคือวีรบุรุษ ใน ค.ศ.1830 กวีที่ยิ่งใหญ่คนแรกของเรา ฟรานซิสโก บาลักตัส ตีพิมพ์บทกวีขนาดยาวชื่อ Florante at Laura (ฟลอรันเตและเลารา) ซึ่งเป็นอุปมานิทัศน์ทางการเมืองต่อต้านระบอบเผด็จการ ที่กล่าวถึงเจ้าชายชาวคริสต์ในประเทศอัลบาเนีย ที่ถูกผู้ช่วงชิงอำนาจสั่งประหารชีวิต แต่ได้รับความช่วยเหลือจากนักรบชาวมุสลิม

การปฏิวัติต่อต้านสเปนใน ค.ศ.1896 อุบัติขึ้นด้วยการปลุกระดมของนักวรรณกรรม นับแต่นักวิชาการที่มีอภิสิทธิ์เหนือคนกลุ่มอื่น เช่น โฆเซ ริซาล ผู้ประพันธ์บทกวีขนาดยาว รำพันความในใจชื่อ “My Last Farewell” ในห้องขัง ก่อนที่เขาจะถูกประหารชีวิตไม่นานนัก และยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย ไปจนถึง อันเดรส โบนิฟาซิโอ นักปฏิวัติเพื่อชนชั้นกรรมาชีพที่เขียนบทกวีสะเทือนอารมณ์ว่าด้วยความรักต่อมาตุภูมิ ซึ่งทุกวันนี้เรายังคงท่องและศึกษากวีนิพนธ์เหล่านี้ในโรงเรียน

ในช่วงการครอบครองของอเมริกา ละครการเมืองซึ่งมักจะใช้กวีนิพนธ์และเพลงเป็นสื่อ กลายเป็นรูปแบบการต่อต้านที่เป็นหลักสำคัญ เท่าที่ผ่านมา วรรณกรรมของเราส่วนใหญ่ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษมักจะเป็นเรื่องส่วนตัว และมุ่งพินิจถึงด้านในของชีวิต แต่ในช่วงที่มีความไม่สงบทางการเมืองในทศวรรษ 1960 และ 1970 นั้น เราจะเห็นได้ว่าบรรดากวีที่ประพันธ์งานเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ขนบการเขียนเดิม ได้ละทิ้งแนวทางของ ที เอ็ส เอเลียต และหันไปหากวีนิพนธ์ที่เสนอความคิดแนวโฮจิมินห์ และเมา เซ ตุง  เอมัน ลากาบา กวีฝีมือเลิศผู้หนึ่งของเราเข้าร่วมกับกองโจรคอมมิวนิสต์ และถูกสังหารในการต่อสู้ใน ค.ศ.1976 นอกจากนี้ โฆเซ มาเรีย ซิซอน กวีที่ศึกษาภาษาอังกฤษ สถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นใหม่ และยังคงรับหน้าที่ผู้นำพรรค แม้ในยามที่เขาลี้ภัยอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใน ค.ศ.1983 กวีชาวฟิลิปปินส์หลายคนถูกไล่ออกจากราชการ เพราะตีพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ที่วิพากษ์วิจารณ์มาร์กอส

สำหรับนักเขียนหนุ่มสาวในทศวรรษ 1970 รุ่นผมนั้น กวีเอมัน ลากาบา ถือเป็นบรมครูของนักเขียนหัวปฏิวัติ และเป็นอุดมการณ์ที่พวกเรามุ่งมั่นจะดำเนินรอยตามอย่างจับจิตจับใจ พวกเรามองว่าเราเป็นหัวหอกของสิ่งที่เราเรียกว่า ขบวนการปลุกระดมกระแสที่สอง เป็นการตั้งชื่อตามขบวนการของโฆเซ ริซาล และสหายของเขาที่ลี้ภัยอยู่ในกรุงบาเซโลนาในทศวรรษ 1880 เท่าที่พี่ชายของเอมันที่ชื่อโฆเซจดจำได้ (โฆเซก็เป็นกวีชั้นยอดคนสำคัญผู้หนึ่ง) เอมันเป็นต้นแบบของชาวฮิปปี้ในทศวรรษ 1960 ที่หลงใหลกวีแร็งโบด์ (Rimbaud) กัญชา และสารกล่อมประสาทอื่น ๆ โฆเซ ลากาบา กล่าวไว้ว่า “กวีนิพนธ์ชิ้นแรก ๆ ของเอมันซับซ้อนมาก เต็มไปด้วยการอ้างถึงสิ่งอื่น ๆ คลุมเครือ และเข้าใจยาก ตอนนั้น พวกเราประพันธ์กวีนิพนธ์โดยอิงทฤษฎีว่าด้วยสหสัมพันธ์ปรวิสัย (objective correlatives) และทฤษฎีความคลุมเครือ 7 ระดับ ต่อมา หากเราดูกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษและภาษาตากาล็อกที่เอมันประพันธ์ไว้ขณะที่อยู่มินดาเนา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเข้าร่วมกับกองทัพของฝ่ายประชาชนใหม่ เราจะสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้น เพราะเอมันพยายามหันหลังให้กับลีลาการเขียนแบบเดิม และมุ่งสู่ลีลาที่มีความเรียบง่าย ความชัดเจน และตรงไปตรงมามากขึ้น” อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ผู้คนเชิดชูเอมันไว้บนหิ้งของวีรบุรุษ – กวีชาวฟิลิปปินส์นั้น อาจไม่ใช่กวีนิพนธ์ของเขาอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นเพราะความตายอันแสนทารุณ ที่เขาถูกสายลับยิงทะลุปาก หลังจากถูกจับกุมบนเทือกเขามากกว่า

การได้รับความเคารพบูชาในลักษณะนี้เองที่ โฆเซ มาเรีย ซิซอน หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ที่ลี้ภัยออกนอกประเทศเอง คงจะใฝ่ฝันที่จะได้มา (ตัวเขาเองเป็นกวีและได้รับรางวัลซีไรต์) ถึงแม้ว่าการที่เขายังมีชีวิตอยู่ และอยู่อย่างสุขสบายทีเดียวในยุโรปตะวันตก ไม่ได้ช่วยเอื้ออำนวยให้ความฝันของเขากลายเป็นจริงเสียเท่าไร อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้คนจะพูดถึงชีวิตส่วนตัว และสุนทรียศาสตร์ของซิซอน เช่นไร เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าบทกวีที่แต่งขึ้น ใน ค.ศ.1968 ของเขา ชื่อ “นักรบกองโจรเป็นดั่งกวี” (“The Guerrilla Is Like a Poet”) มีอิทธิพลต่อนักเขียนหนุ่มสาวรุ่นนั้นอย่างลึกซึ้ง โดยยกระดับให้การโค่นล้ม (เช่น สงครามกองโจร) กลายเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง พร้อม ๆ กับทำให้กวีนิพนธ์กลายเป็นอาวุธทรงอานุภาพ ซึ่งทำให้งานเขียนที่สยบยอมต่อแบบแผนนิยม (Formalism) มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ดูจืดชืด ไม่มีชีวิตชีวาไป ดังปรากฏในบทที่คัดมาดังนี้

นักรบกองโจรเป็นดั่งกวี
ระแวดระวังต่อใบไม้ที่พลิ้วไหว
เสียงกิ่งไม้หัก
ระลอกคลื่นในธารน้ำ
กลิ่นของควันไฟ
และเถ้าถ่านแห่งการจากไป
นักรบกองโจรเป็นดั่งกวี
ผู้หลอมรวมเข้ากับแมกไม้
พุ่มพฤกษ์และหินผา<
ลุมเครือแต่แม่นยำ
ชำนาญในกฎแห่งการเคลื่อนไหวbr /> เชี่ยวชาญในการสร้างภาพที่มากเหลือคณา

หลังจากการล่มสลายของการปกครองในระบอบมาร์กซิสม์ และการลงจากอำนาจของมาร์กอส กวีนิพนธ์ของฟิลิปปินส์ทุกวันนี้ยังคงแสดงมิติทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่มีการผสมผสานกับแง่มุมทางอารมณ์ ความคิดส่วนตัวมากขึ้น เราแต่งกวีนิพนธ์ที่มีเนื้อหาต่าง ๆ เช่น ความเหงาและความยากลำบากของคนงานและผู้อพยพชาวฟิลิปปินส์ในต่างแดน ความสัมพันธ์กับอเมริกาที่มีทั้งความรักและความเกลียดชัง เพศสภาพ เพศสถานะ ชุมชนชายขอบ และการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์เฉพาะตนในโลกที่หลอมรวมเป็นหนึ่งมากขึ้นทุกที

>พวกเรานักเขียนส่วนใหญ่ก็เขียนถึงเนื้อหาเดียวกันนี้ แต่สิ่งที่เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับชาวฟิลิปปินส์ คือ ความคิดของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ที่ว่า ความทุกข์และการเสียสละนำไปสู่การหลุดพ้น ในนัยหนึ่ง วีรบุรุษของเราคือบุคคลที่แบกรับไม้กางเขน และอดทนต่อความทุกข์ทรมานแสนสาหัส หรือจะเรียกว่าเชื้อเชิญความทุกข์เหล่านี้เข้ามาในชีวิตก็ว่าได้ ภาพพระเยซูที่ถูกตรึงไม้กางเขนและพระแม่มารีผู้โศกเศร้า เป็นภาพที่ปรากฏในวรรณกรรมและศิลปะของเรามาโดยตลอด<

กวีนิพนธ์ของเราบทหนึ่ง (ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษไว้) กล่าวว่า

หากเรายอมตน
น้อมรับความเจ็บปวด<
ความทรมานแสนสาหัสก็ทานทนได้
แต่หากเราไม่ยินยอมเสียแล้ว<
แม้รอยข่วนเพียงเล็กน้อย
<ก็กลายเป็นแผลกลัดหนองได้เช่นกัน

งที่สนใจคือ กวีนิพนธ์บทนี้ (ที่นักวิจารณ์ ชื่อ อี ซาน ฆวน จูเนียร์ ได้อ้างถึงไว้) ที่ชี้ให้เห็นธรรมชาติบางประการของชาวฟิลิปปินส์ที่เต็มใจเผชิญความเจ็บปวด หรืออย่างน้อย ก็ตระหนักในเรื่องนี้ เป็นบทกวีนิพนธ์ที่เขียนขึ้นก่อนที่ชาวสเปนจะเข้ามาครอบครองฟิลิปปินส์เสียอีก

เลออน มาเรีย แกเรโร ผู้แปลงานของริซาล ตั้งข้อสังเกตในบริบทของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกไว้ว่า “ชาวฟิลิปปินส์มิได้เชิดชูความล้มเหลวหรือโศกนาฏกรรม แต่สิ่งเหล่านี้จะมีคุณค่าขึ้นมาก็ต่อเมื่อมันนำไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งก็คือการเสียสละ” เขาชี้ให้เห็นว่า “เราถนอมความเคารพที่สูงส่ง และความรักลึกซึ้งที่สุดไว้มอบให้กับบุคคลที่เป็นเสมือนพระเยซู ซึ่งมีภาระหน้าที่สำคัญที่จะใช้ ‘ความล้มเหลว’ อันเป็นโศกนาฏกรรมของเขา นำประเทศชาติไปสู่ความหลุดพ้น” โฆเซ ริซาล อันเดรส โบนิฟาซิโอ และล่าสุดคือ นินอย อาคิโน เป็นบุคคลสามคนที่มีคุณลักษณะดังกล่าวเหมือนพระเยซู ภายหลังการเสียชีวิตของพวกเขา ประเทศก็สามารถรวมตัวกัน และโค่นล้มผู้กดขี่ได้

วรรณคดีและกวีนิพนธ์ของเราจึงเป็นการแสดงออกถึงความทุกข์ยาก ที่นำไปสู่เสรีภาพและความหลุดพ้น ทั้งในระดับบุคคลและของส่วนรวม อันที่จริงแล้ว การเขียนกวีนิพนธ์เองถือเป็นการให้เสรีภาพที่บรรเทาและสรรเสริญความเจ็บปวดของกวีไปพร้อม ๆ กัน

outline-map-of-philippines-on-blackboardjpg

วิกฤติทางเศรษฐกิจ และทางศีลธรรม

ดังที่ท่านได้รับทราบข่าวการเมืองจากกรุงมะนิลา ทุกวันนี้ เรากำลังเผชิญความเจ็บปวดแสนสาหัสอีกครั้งหนึ่ง จากวิกฤติทางศีลธรรมของความเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งมิได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศให้เราเลย ประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากาล อาโรโย ถูกจับได้ว่าทุจริตในการเลือกตั้ง และเกือบถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งด้วยการบังคับให้ลาออก การลุกขึ้นต่อต้านของประชาชน หรือการฟ้องร้องให้ขับออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม อาโรโยสามารถรวบรวมสมัครพรรคพวกได้ จึงสามารถรักษาตำแหน่งไว้ได้ในขณะนี้

ปีหน้าของชาวฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มว่าจะเป็นปีที่มีความระส่ำระสายทางการเมือง เนื่องจากความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีลดต่ำมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังมีวิกฤติทางเศรษฐกิจและพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก ปัญหายุทธศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่สุดของเราคือความยากจนของมวลชน และความอยุติธรรมที่เป็นทั้งผลพวง และเป็นสาเหตุของความยากจนดังกล่าว ความท้าทายที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้คือการหาคนที่มีความเป็นผู้นำที่จะผลักดันให้เรารวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว และผนึกกำลังกันแก้ปัญหาให้ประเทศชาติของเราด้วยตนเอง ดูเหมือนว่า ขณะนี้ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มาซึ่งผู้นำที่เปรียบเสมือนพระผู้ไถ่ที่จะพาเราไปสู่ความหลุดพ้น แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีใครสามารถทำหน้าที่นี้ได้ และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมอาโรโยจึงยังคงครอบครองตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่

ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่นักเขียนเชิงสร้างสรรค์ หากแต่เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เข้ามาอยู่ในแถวหน้าของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ชาวฟิลิปปินส์ภาคภูมิใจว่าเราเป็นประเทศในเอเชียที่มีสื่อที่เสรีที่สุด บ้างอาจบอกว่าเป็นสื่อที่ไร้ศีลธรรมที่สุด และสื่อของเราได้รับใช้กิจกรรมการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งต่างๆ ทางสังคมอย่างเต็มที่จนถึงที่สุด ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ต้องประสบกับผลของความกล้าบ้าบิ่นนี้ จากข้อมูลของคณะกรรมการคุ้มครองสื่อในกรุงนิวยอร์ก ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการสังหารนักข่าวมากที่สุดในโลก มากกว่าในประเทศอิรัก โคลัมเบีย หรือบังคลาเทศ โดยมีนักข่าวถูกฆ่าในระหว่างปฏิบัติงานไปแล้ว 18 คน นับแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมา

ไม่มีนักเขียนนวนิยาย กวี นักเขียนบทละคร  หรือนักเขียนความเรียงชาวฟิลิปปินส์ผู้ใดที่มีส่วนร่วมในความโดดเด่นที่น่าคลางแคลงใจดังกล่าวนี้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลทีเดียว ด้วยความสามารถทางวรรณกรรมทั้งมวลที่เราคิดว่าเรามี อาจบอกได้ว่านักเขียนเชิงสร้างสรรค์นั้นไม่มีบทบาทในการเมืองฟิลิปปินส์เลย อีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีบทบาทมากเท่าที่เคยมีมาในอดีตเป็นแน่ หากจะพูดให้เกินจริงสักหน่อย ก็เป็นเพราะว่าไม่มีใครอ่านหนังสือ ไม่มีใครซื้อหนังสือ และไม่มีใครเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ หากพูดถึงหัวข้อการประชุมในครั้งนี้ เรามีความรู้มากมาย  แต่แทบจะไม่มีอิทธิพลใด ๆ เลย (ถ้าเรายังพอมีอิทธิพลอยู่บ้าง)

เป็นความจริงที่น่าเศร้าว่าในประเทศที่มีประชากรกว่า 80 ล้านคน มีอัตราการรู้หนังสือประมาณร้อยละ 95 นวนิยายหรือหนังสือรวมเรื่องแต่งเล่มใหม่ ที่แม้จะเป็นผลงานของนักเขียนที่มีชื่อเสียง จะตีพิมพ์ในครั้งแรกไม่เกิน 1,000 ฉบับ และใช้เวลาประมาณ  1 ปี กว่าจะขายหนังสือเหล่านี้หมด นักเขียนผู้นั้นจะได้รับค่าตอบแทน ประมาณ 50,000 เปโซ (หรือประมาณ 3,300 ริงกิตมาเลเซีย) เป็นอย่างมาก สำหรับงานที่เขาใช้เวลาสรรค์สร้างถึง 2-3 ปี ดังนั้น จึงไม่มีนักเขียนหรือกวีอาชีพในประเทศฟิลิปปินส์ ยังผลให้นักเขียนที่พอมีความสามารถอยู่บ้างถูกดึงไปทำงานให้กับรัฐบาลหรือภาคธุรกิจอย่างง่ายดาย

เป็นเรื่องที่ผิดความคาดหมาย ว่าวรรณกรรมฟิลิปปินส์สูญเสียบทบาทอันเฉียบคมทางการเมืองไป ไม่ใช่ด้วยความขลาดกลัวหรือการตรวจพิจารณาก่อนตีพิมพ์ แต่เป็นเพราะกระบวนการและปัจจัยในตลาดล้วนๆ เลยทีเดียว เหตุผลที่ง่ายและชัดเจนที่สุดว่าเหตุใดชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากไม่ซื้อหนังสือ ก็คือ ความยากจน ราคาของหนังสือปกอ่อนธรรมดา ๆ สูงกว่าค่าจ้างรายวันขั้นต่ำตามกฎหมายเสียอีก แม้แต่ในหมู่นักอ่านที่เป็นชนชั้นกลางซึ่งเราคาดว่าจะเป็นตลาดสำคัญของเรา เราก็ต้องแข่งขันอย่างดุเดือดกับหนังสืออย่างเช่นของจอห์น กริสแชม

อย่างไรก็ตาม เราเหล่านักเขียนอาจควรได้รับการตำหนิด้วยส่วนหนึ่ง เพราะว่าเราได้ทำตัวเหินห่างจากกระแสวาทกรรมของสาธารณชน หากการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับผู้คนโดยทั่วไปแล้ว การเมืองก็ไม่มีความหมายใด ๆ และการที่เราหลายคนเขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ นั่นก็เป็นกลไกการแปลกแยกตัวเราออกจากระบบของการเมืองมากที่สุดอยู่แล้ว  ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเด็นในเรื่องภาษานี้เป็นปัญหาทางการเมืองในประเทศฟิลิปปินส์ที่มีภาษาอันหลากหลาย โดยที่คนที่ให้ความสำคัญกับภาษาท้องถิ่นบางคนยังคงไม่พอใจกับการที่ทางการเลือกให้ภาษาตากาล็อกเป็นพื้นฐานของภาษาฟิลิปิโนอันเป็นภาษาประจำชาติภาษาใหม่ใน ค.ศ.1935 และยังมีภาษาอังกฤษที่กลับทวีความสำคัญมากขึ้นอีกครั้งในฐานะของภาษากลางที่ใช้สื่อสารในหมู่ประชากรที่มีภาษาถิ่นแตกต่างหลากหลาย ในฐานะของภาษาของชนชั้นสูง และยังเป็นใบเบิกทางทางเศรษฐกิจที่จะพาประเทศเข้าสู่ธุรกิจศูนย์รับโทรศัพท์ระดับโลกที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในขณะนี้

ประเด็นที่ว่าภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือที่ไม่ดีพอที่จะนำมาใช้สื่อประสบการณ์ของชาวฟิลิปปินส์ในงานเขียนเชิงสร้างสรรค์นั้น ได้รับการนำเสนอโดยกวีและนักวิจารณ์ เช่น เอ็มมานูเอล ทอร์เรส (เจมิโน อาบัด อ้างถึงไว้) ซึ่งกล่าวไว้ใน ค.ศ.1975 ว่า :

กวีที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะไม่ได้ตระหนักดีว่า การทำเช่นนั้นเป็นการดึงตนเองออกไปจากหัวข้อ แก่นเรื่อง ความคิด ค่านิยม รวมทั้งวิธีคิดและความรู้สึกบางประการที่อยู่ในหลายส่วนของประสบการณ์ชาติ ซึ่งน่าจะสื่อได้ดีกว่าด้วยภาษาท้องถิ่น และอันที่จริงแล้ว สื่อได้ด้วยภาษาท้องถิ่นเท่านั้น

อาบัด (ซึ่งเป็นกวีและนักวิจารณ์) ไม่เห็นพ้องกับความเห็นข้างต้นเป็นอย่างยิ่ง เขาแย้งว่า :

หากมีสิ่งใดก็ตาม ที่เราจำเป็นต้องสื่อ ที่ว่าจำเป็นเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องไม่สูญเสียแม้แต่เศษเสี้ยวหรืออณูเดียวของความคิดหรือความรู้สึกนั้น เราก็จะต้องดิ้นรนกับภาษาของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาษาถิ่นหรือภาษาที่เรารับมาใช้ เพื่อว่าวจนะที่เราต้องการสื่อจะได้เปล่งประกายสว่างเหนือความมืดมิดของภาษา มิฉะนั้นแล้ว ภาษาท้องถิ่น (vernacular) ตามความหมายของรากศัพท์เดิม ก็จะถูกสาปให้เป็นทาสในเรือนเบี้ยอยู่ร่ำไป

เรื่องนี้เป็นการโต้แย้งเก่า ๆ ที่พวกเราที่อยู่ในโลกหลังอาณานิคมได้เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีส่วนร่วมด้วยมาเป็นเวลานานแสนนานแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอพูดเรื่องยาว ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีให้สั้นลง ถึงแม้ว่า ดร.อาบัดจะเป็นฝ่ายถูกในการอ้างว่าภาษาอังกฤษก็สามารถสื่อประสบการณ์ท้องถิ่นในทุกแง่มุม ความจริงก็ยังมีอยู่ว่า งานเขียนใด ๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานเขียนเชิงสร้างสรรค์) จะเข้าถึงผู้อ่านชาวฟิลิปปินส์ในจำนวนจำกัดมาก สิ่งที่อาจจะเหมาะกับกวีนิพนธ์อาจไม่มีประโยชน์อย่างสิ้นเชิงต่อการเมือง หรืออาจจะเป็นผลลบต่อการเมืองได้ด้วยซ้ำ

แน่นอนทีเดียว การเมืองเป็นมากกว่าเกมตัวเลข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่คนจำนวนน้อยมักจะได้ปกครองคนส่วนใหญ่เสมอ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชนชั้นกลางเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของฟิลิปปินส์ นับตั้งแต่การปฏิวัติต่อต้านผู้ปกครองชาวสเปนใน ค.ศ.1896 การต่อสู้เพื่อขับไล่มาร์กอสในทศวรรษ 1970 และ 1980 จนถึงการลุกฮือขึ้นของมวลชน (Edsa uprisings) ใน ค.ศ.1986 และ 2001 ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าที่จริงแล้ว ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแห่งการปฏิรูปและการปฏิวัติในประเทศฟิลิปปินส์

แต่กระนั้น ชนชั้นกลางที่รู้ภาษาอังกฤษเหล่านี้นี่เอง (ซึ่งเราคาดว่าจะเป็นกลุ่มผู้อ่านงานของเรา) ที่เป็นผู้พิทักษ์ลัทธิอาณานิคมใหม่ที่เข้มแข็งที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ คนเหล่านี้หลงใหลฮอลลีวูด     ฮิปฮ็อป แฮร์รี พ็อตเตอร์ อย่างงมงาย กระเหี้ยนกระหือรือที่จะรับเอาสิ่งที่เป็นอิทธิพลของโลกภายนอกเข้ามาแทนที่สิ่งที่เป็นของท้องถิ่น มีความคิดไปทางฉวยโอกาส และส่วนใหญ่ไม่รับรู้ปัญหาสังคม ซึ่งเปรียบได้กับการสร้างบังกะโลบนลาดภูเขาไฟซึ่งจะปะทุขึ้นมาเมื่อใดก็ได้  ผมมักจะพูดเสมอ ๆ ที่ฟิลิปปินส์ว่าคู่แข่งในตลาดหนังสือของเราไม่ใช่พวกเรากันเอง หากแต่เป็นทอม แคลนซี่ แดเนียล สตีล จอห์น กริสแชม และแน่นอน เจ เค โรว์ลิง

ผมไม่ได้เสนอให้เราเลิกอุดหนุนงานของนักเขียนเหล่านี้ ผมอยากจะบอกว่า หากเราสนใจเรื่องผู้อ่าน และความสำคัญของสิ่งที่เราให้กับผู้อ่าน ผมคิดว่าพวกเรานักเขียนชาวฟิลิปปินส์ น่าจะหันมาพิจารณากันใหม่ว่า ในจินตนาการของผู้อ่านทั่วไปยังมีซอกหลืบขนาดใหญ่ที่เราไม่เคยเข้าไปสัมผัส

หรือเห็นว่าไม่ควรคู่ต่อการเข้าไปค้นหาหรือไม่

ในการบรรยายเมื่อไม่นานมานี้ เรื่อง “ขนบที่เป็นปฏิวัติของเรา” เอเดรียน คริสโตบัล นักเขียนความเรียง และครั้งหนึ่งเคยเป็นรัฐมนตรี (ผู้ไปร่วมประชุมที่บาเกียวในฐานะที่เป็นผู้เข้าร่วมประชุมที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง) ตั้งข้อสังเกตว่า :

ภาษาอังกฤษมิใช่ศัตรู แต่เป็นภาวะการขาดภาษากลางที่ใช้ร่วมกัน ในฐานะปัญญาชน ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักพูด หรือนักการเมือง เราสามารถเรียกร้องต่อสู้กับความ อยุติธรรมในสังคมเท่าใดก็ได้ตามต้องการ แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า เราจะสามารถปลุกระดมให้คนหมู่มากออกมาปฏิวัติได้หรือไม่ เราไม่สามารถเข้าถึงหัวจิตหัวใจของพวกเขาได้ เพราะเราสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศ เพราะว่าไม่ว่าเราจะประท้วงในรูปแบบใดก็ตาม เราก็ยังคงเป็นชนชั้นสูง เพราะการศึกษาของเราเป็นตัวสร้างความแปลกแยก เราได้รับเกียรติยศ เราอาจจะได้แม้แต่การสรรเสริญสดุดี แต่เราจะยังคงไม่สามารถติดต่อสัมพันธ์กับใครได้ เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงหัวใจของคนหมู่มาก และการจะเข้าให้ถึงหัวใจของคนฟิลิปปินส์ ก็ต้องอาศัยการเรียนรู้ภาษาของพวกเขา

no-sms

ความตายด้วยข้อความ SMS

อันที่จริงอาจไม่ใช่เรื่องภาษา แต่เป็นสื่อและวิธีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ต่างหาก ที่เราควรให้ความสนใจ เมื่อพิจารณาถึงความระส่ำระสายทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่เกือบตลอดเวลา จึงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่จะมีวรรณกรรมการต่อต้านรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMS หรืออย่างที่ชาวฟิลิปปินส์รู้จักกันในชื่อว่า “ข้อความ” (text) ตามรายงานของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ “ในฟิลิปปินส์ มีการส่งข้อความ SMS ถึงกันอย่างน้อย 200 ล้าน ข้อความในแต่ละวัน ซึ่งหมายความว่า ชาวฟิลิปปินส์ 1 คน จะส่งข้อความมากกว่า 2 ข้อความ และทำให้ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวง SMS ของโลก”

ความคล่องตัวอย่างมากและพลังสะสมของข้อความเหล่านี้ ได้นำผู้คนจำนวนมากไปรวมตัวกันตามถนน และช่วยขับไล่ประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา ออกจากตำแหน่งใน ค.ศ.2001 อาวุธที่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับเอสตราดาเลือกใช้ คือ ข้อความตลกเชิงเย้ยหยัน ที่เรียกว่าเรื่องตลก “อีแร็ป” (“อีแร็ป” เป็นชื่อเล่นของประธานาธิบดี) ที่ส่งต่อ ๆ กันด้วยความเร็วราวสายฟ้าแลบ ผนึกความเข้าใจของสาธารณชน (ซึ่งจะเป็นชนชั้นกลางเสียเป็นส่วนใหญ่) ที่มีต่อผู้นำให้เป็นหนึ่งเดียวว่า เขาเป็นคนโกงที่เลวร้ายที่สุด ขาดความสามารถ ดังนั้น จึงไม่ควรได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป เรื่องตลกที่แพร่หลายที่สุดเล่นกับความโง่เขลาของเขาที่ผู้คนกล่าวขวัญถึง

คำถาม : ทำไมอีแร็ปจึงจ้องขวดน้ำส้ม
คำตอบ : เพราะข้างขวดเขียนว่า “CONCENTRATE”
คำถาม : ทำไมอีแร็ปจึงหมุนหมายเลขโทรศัพท์ 911 ไม่ได้
คำตอบ : เพราะว่าเขาหาเลข 11 บนโทรศัพท์ไม่พบ!

เรื่องตลกอื่น ๆ นำเอาความมักมากในกามที่เป็นตำนานของเขามาล้อเล่น :

นักบินสายการบินฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ผู้หนึ่งบอกกับอีแร็ปก่อนนำเครื่องบินลงจอดว่า “ท่านประธานาธิบดี เรากำลังเริ่มลดระดับเพื่อนำเครื่องลงจอด โปรดรูดซิปและปล่อยให้คุณเว็งกลับมาอยู่ในท่านั่งตรงได้แล้ว!” (คุณเว็ง คือ พนักงานให้บริการบนสายการบินดังกล่าว ที่เล่าลือกันว่าเป็นชู้รักคนหนึ่งของประธานาธิบดี)

พลเมืองธรรมดา ๆ ในที่อื่น ๆ คงจะถูกจำคุกหรือยิงเป้า เพราะใช้ตลกที่หยาบคายและสามหาวเช่นนี้ แต่ไม่ใช่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อพิจารณาถึงจำนวนประชาชนมากมายที่เกี่ยวข้องกับตลกเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า ความพยายามที่จะปราบปรามคงไม่เป็นผล มากกว่าหนึ่งร้อยล้านข้อความถูกส่งต่อกันทั่วประเทศในช่วงที่มีการส่งกันอย่างบ้าคลั่งที่สุด ส่วนใหญ่เรียกให้ผู้คนลุกขึ้นต่อสู้ หรือส่งเรื่องตลกที่ทำลายภาพพจน์ของประธานาธิบดีเอสตราดาไปเรื่อย ๆ ยังมีการนำเสนอข้อความเรื่องตลกเหล่านี้ ไปพร้อม ๆ กับบทล้อเลียนเพลงฮิตที่แจกจ่ายกันในรูปของซีดีที่ผลิตออกมาไม่ทันกับความต้องการ การพูดว่าเทคโนโลยีล้มเอสตราดาอาจเป็นการกล่าวเกินจริง คำกล่าวของท่านประธานเมา เซ ตุง ที่ว่า “ประชาชน ไม่ใช่สิ่งของ” เป็นผู้สร้างความแตกต่างนั้น อาจจะนำมาใช้ในที่นี้ได้ แต่สิ่งที่เราเรียกว่า “Edsa 2” หรือ “พลังมวลชน 2” คงจะเกิดขึ้นได้อย่างไม่ราบรื่นนัก หากปราศจากการสนับสนุนจากเทคโนโลยีในระบบดิจิทัล

สถานการณ์ของอาโรโยในวันนี้แตกต่างออกไปอยู่บ้าง แม้ว่าออกจะน่าประหลาดใจและบ่งบอกอะไรบางสิ่งที่ความน่าเชื่อถือและตำแหน่งประธานาธิบดีของเธอถูกทำลายโดยเทคโนโลยีตลกร้ายอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือ สำเนาดิจิทัลในรูปแบบของซีดี และไฟล์พีดีเอฟ (PDF) ที่บันทึกบทสนทนาที่ถูกดักฟัง ที่เชื่อกันว่าเป็นบทสนทนาระหว่างอาโรโยกับกรรมาธิการการเลือกตั้งที่สัญญาว่าจะหาคะแนนเสียงให้จนเธอชนะการเลือกตั้ง เทปที่เรียกกันว่า “สวัสดี การ์ซี” (“การ์ซี” คือ บิร์คิลิโอ การ์ซิยาโน กรรมาธิการการเลือกตั้งคนที่ว่า) แพร่กระจายไปในอินเทอร์เน็ตเหมือนไฟไหม้ป่า และกลายเป็นเรื่องให้ล้อเลียนได้นับไม่ถ้วน เว็บไซต์ที่แจกเสียงเรียกเข้า “สวัสดี การ์ซี” แบบใหม่ ๆ ถึงกับล่มไปชั่วคราวเพราะความต้องการที่ท่วมท้น เรื่องตลกของอาโรโยจำนวนมาก เช่นเดียวกับเรื่องตลกของอีแร็ป กระจายไปทั่วเครือข่ายเซลลูลาร์ (หนึ่งในข้อความตลกเหล่านั้น คือ “คลินตันพินาศเพราะซิการ์ อาร์โรโยพินาศเพราะการ์ซี”)

ผมขอเสนอว่าข้อความตลกสั้น ๆ หลั่งไหลออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ และเปี่ยมไปด้วยจินตนาการเหล่านี้ เช่นเดียวกับตัวอย่างอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ขันแบบชาวบ้าน เป็นวรรณกรรมประชานิยมในรูปแบบใหม่ ที่ให้อำนาจแก่ประชาชนทุกคน และทำให้พวกเขาสามารถต่อรองกับผู้มีอำนาจทางการเมืองได้โดยไม่ต้องเผชิญหน้าโดยตรงและไม่รุนแรง แต่ผลกระทบในภาพรวมนั้น สามารถทำลายชื่อเสียงได้เหมือนน้ำเซาะทราย ทรราชควรจะกลัวเรื่องตลกที่ส่งกันทาง SMS ข้อความที่ส่งต่อกันไปยังที่อยู่ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของ Hotmail หรือ Yahoo หลายสิบที่อยู่ หรือการแสดงตลกเสียดสีทางโทรทัศน์ มากกว่าที่จะกลัวนวนิยาย มหากาพย์ หรือละครสามองก์ ประเด็นที่ทำให้ผมนึกถึงความคิดของมาร์ติน เอสลิน ที่ว่า รูปแบบการแสดงที่มีอิทธิพลทุกวันนี้ คือ โฆษณาทางโทรทัศน์ความยาว 15 วินาที ที่มีองค์ประกอบทุกประการของละครคลาสสิก และนำเสนอในรูปแบบที่กระชับ น่าสนใจ

ประเด็นข้างเคียงที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดีความเรื่องเทปการ์ซีในรัฐสภา คือประเด็นที่ว่าด้วยความเป็นต้นฉบับเดิม และความเป็นของแท้ กล่าวคือ ในยุคดิจิทัลสำเนาที่ผลิตขึ้นด้วยระบบดิจิทัลจะถือว่ามีผลเสมือนต้นฉบับจริง ที่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายหรือไม่ ใครเป็นผู้สร้าง และถือเป็นผู้รับผิดชอบต่อเทปเหล่านี้ ตัวละครและการกระทำของตัวละครในเทปนั้นจะถูกฟ้องร้องได้หรือไม่ การเผยแพร่เทปหรือเพียงแค่การฟังเทปถือเป็นความผิดอาญาหรือไม่ และเมื่อมาคิดว่าในช่วงเวลาที่สับสนอลหม่านนี้ เทปและสำเนาการถอดเสียงในเทปยังไม่ได้รับการรับรองจากคนกลางที่น่าเชื่อถือว่าเป็นของจริง เราคงต้องถามต่อไปว่า อะไรคือความจริง อะไรคือเรื่องแต่ง

สำหรับผมแล้ว ทั้งหมดนี้มิได้เป็นคำถามทางการเมืองเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นคำถามทางวรรณกรรม ด้วยเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้แต่ง การวิเคราะห์และการตีความตัวบท การตีพิมพ์ และแม้แต่เรื่องของลิขสิทธิ์ด้วย  คำถามและการพิจารณาในทำนองนี้ ใช้ได้กับการตอบสนองที่เกิดจากเทปดังกล่าวด้วย

อาโรโยโชคดีที่แม้ว่ารัฐมนตรีในคณะของเธอจำนวน 10 คน ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นการประท้วง แต่เธอก็สามารถประวิงเวลาไว้ได้ โดยอาศัยการเข้ามาไกล่เกลี่ยของพรรคพวกที่มีอิทธิพล ซึ่งรวมถึงพวกอนุรักษ์นิยมในนิกายคาทอลิก อีกทั้งฝ่ายปฏิปักษ์ต่อเธอก็ไม่สามารถเสนอตัวเลือกอื่นที่เป็นที่ยอมรับได้ เมื่อทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้จากการที่ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงถึงสองครั้ง ความกระตือรือร้นลดน้อยลง ความเหนื่อยล้าเข้ามาแทนที่ กลยุทธ์และกลวิธีเก่า ๆ ใช้ไม่ได้ผล และตัวบ่งชี้ส่วนใหญ่ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสงครามที่ยืดเยื้อและสร้างความบอบช้ำ มากกว่าจะเป็นการปะทะกันให้รู้ดีรู้ชั่วไปเลยบนท้องถนน บางทีสถานการณ์เช่นนี้อาจจะดีกับพวกเราก็ได้ เพราะการพักชั่วคราวนี้อาจจะเป็นประโยชน์ต่อนักเขียนนวนิยายที่มีสายตายาวไกลและมีการวิจักษณ์วิจารณ์มากกว่านักเขียนบทบรรณาธิการที่เสนอแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคตอย่างฉับไว เรื่องตลกและบ่อเกิดของอารมณ์ขันเชิงเสียดสีที่ก่อให้เกิดเรื่องตลกเหล่านี้ จำเป็นที่จะมีตำแหน่งแห่งที่ถาวรกว่านี้ในนวนิยายตลกเล่มเยี่ยมของฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ประพันธ์ไว้

ผมมักตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะที่ประหลาดนี้ของภูมิทัศน์ทางวรรณกรรมของเรา ซึ่งช่างห่างไกลจากความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของชนชาติเรา นั่นคือ ความไร้อารมณ์ขันอันหนักอึ้งในวรรณกรรมส่วนใหญ่ของเรา เราเป็นชนชาติที่ช่างยิ้มและหัวเราะ หัวเราะแม้ในยามคับขันที่สุดหรือในช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุด เป็นปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อเราไม่สบายใจและเครื่องมือที่ช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์ ต่าง ๆ ได้ เรามีนักแสดงละครตลกที่ยิ่งใหญ่ เช่น ดอลฟี และมีวีรบุรุษผู้มีอารมณ์ขัน เช่น ฆวน ตามัด และมีตัวละคร เช่น คนโง่ นักต้มตุ๋น คนเกเรที่จิตใจงาม ที่ใช้ไหวพริบเอาตัวรอดได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อเราประพันธ์นวนิยาย เราทำราวกับว่าเรากำลังสารภาพบาปกับบาทหลวง หรือกำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ มากกว่าที่จะเล่าความลับให้กันและกันฟัง ถ้อยคำของเราจึงมีความเคร่งขรึมที่เย็นชา มีความจริงจังเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นมรดกที่คงทนที่สุด แต่ทำให้ตายด้านมากที่สุด ที่โฆเซ ริซาล ทิ้งไว้ให้นักเขียนรุ่นหลัง

เมื่อสองสามปีที่แล้ว ขณะที่ผมได้รับทุนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ผมเขียนสิ่งที่ผมวางแผนไว้ว่าจะเป็นนวนิยายตลกที่มีด้านมืด ที่ว่าด้วยชะตากรรมของคนงานอพยพที่อยู่นอกประเทศนับล้าน ๆ คน ผมคิดว่าผมเริ่มต้นได้ดีทีเดียว แต่ต้องมาหยุดลงกลางคัน เมื่อผมพบว่าความมืดมนและความหม่นหมองค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ความตั้งใจของผมอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง อย่างไรก็ตาม ผมยังคงเชื่อว่า ความเข้าใจใหม่ ๆ ที่แฝงด้วยอารมณ์ขันต่างหาก ไม่ใช่การพรรณนาถึงความโศกเศร้าที่เรารู้จักกันดีอย่างเยิ่นเย้อซ้ำซาก ที่เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การฟื้นฟูวรรณกรรมของเรา และผมยังเชื่ออีกว่า การอดทนกับความทุกข์ยากอย่างมีอารมณ์ขัน มิใช่ความทนทุกข์ด้วยความโศกเศร้า ที่อาจจะเป็นตัวเชื่อมโยงวรรณกรรมฟิลิปปินส์เข้ากับการเมืองได้ดีที่สุด

ปาฐกถาของโฆเซ ดาลิเซย์ จูเนียร์* ที่กล่าวในการสัมมนานานาชาติ ครั้งที่ 4 เรื่องวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน ค.ศ.2005

Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 8-9 (March 2007). Culture and Literature

บรรณานุกรม

“216 Filipinos detained in 1st round of Malaysia crackdown.” Asian Journal Online 3 March 2003. Accessed 12 September 2005 at http://www.asianjournal.com/cgi-bin/view_info.cgi?category=BN&code=00009747.
Abad, Gemino H. 1998. “Mapping Our Poetic Terrain: Filipino Poetry in English from 1905 to the Present.” The Likhaan Anthology of Philippine Literature in English, ed. Gemino H. Abad, 3-24. Quezon City: University of the Philippines Press.
Bendeich, Mark. 2005. “Asia tries to put SMS genie back in its bottle.” Reuters UK, 1 September 2005. Accessed 10 September 2005 at http://today.reuters.co.uk/news/newsArticle.aspx?type=reutersEdge&storyID=2005-09-01T111318Z_01_NOA140129_RTRUKOC_0_FEATURE-ASIA-SMS.xml.
Committee to Protect Journalists. 2005. “The Five Most Murderous Countries for Journalists,” 2 May. Accessed 13 September 2005 at http://www.cpj.org/Briefings/2005/murderous_05/murderous_05.html.
Cristobal, Adrian. 2005. “Our Revolutionary Tradition.” Inaugural Plaridel Lecture, Writers Union of the Philippines. Manila, 27 August.
Dalisay, Jose Jr. 2001. “Showtime at EDSA.” People Power 2: Lessons and Hopes, ed. Thelma S. San Juan, 242-47. Pasig City: ABS-CBN Publishing.
Esslin, Martin. 1982. “Aristotle and the Advertisers: The Television Commercial Considered as a Form of Drama,” in Television: The Critical View, ed. Horace Newcomb. New York: Oxford University Press.
Guerrero, Leon Ma. 1951. “Our Choice of Heroes.” Sunday Times Magazine, 20 December. Accessed 12 September 2005 at http://www.jose-rizal.com/firstfilipino/choice04.htm.
Lacaba, Jose F. 2001. “Eman.” Araw: Philippine Art and Culture Today 1: 75-79.
Ordoñez, Elmer A. 2004. “Proletarian Literature.” Manila Times Internet Edition, 2 May. Accessed 11 September 2005 at http://www.manilatimes.net/national/2004/may/02/yehey/weekend/20040502wek3.html.
San Juan, Epifanio Jr. 2005. “Philippine Writing in English: A Bakhtinian Perspective,” 25 July. Accessed 12 September 2005 at http://www.geocities.com/icasocot/sanjuan_bakhtin.html.
Sison, Jose Ma. 2005. “The Guerrilla Is Like a Poet,” 23 August. Accessed 12 September 2005 at http://www.ctv.es/USERS/patxiirurzun/nueve/sison.htm.
Tiempo, Edilberto. 1959. “The Challenge of National Growth to the Filipino Writer.” Comment 8: 91-96.