สร้างโอกาสจากทางตัน: เศรษฐกิจตลาดมืดของแรงงานย้ายถิ่นจากชนบทและหลุมพรางใน สปป.ลาว

Kelly Wanjing Chen

KRSEA-Chen-Migrant-Workers

ปรากฏการณ์ที่คนหนุ่มสาวต้องพรากจากหมู่บ้านชนบทในลาวเพื่อมาทำงานรับใช้ตามบ้านในเมืองหรือตามสถานที่อื่นๆ ในประเทศไทยกลายเป็นเรื่องที่พบเห็นทั่วไปในประเทศลาวยุคปัจจุบัน  ภายในระบบเศรษฐกิจระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศลาว วงวิชาการมักทำความเข้าใจแนวโน้มนี้ผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์เชิงโครงสร้าง (เช่น Dwyer 2007)   ถึงแม้การตีความเชิงวัตถุวิสัยย่อมมีคุณประโยชน์ในตัวมันเอง แต่เมื่อผสมปนเปกับการเหมารวมด้วยความเชื่อฝังหัวว่าชาวลาวในชนบทมีบุคลิกลักษณะแบบเกษตรกรและยึดติดกับสถานที่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดวาทกรรมที่นิยมมองแรงงานย้ายถิ่นจากชนบทเป็น “เหยื่อของการพัฒนา” (Barney 2012)  เรื่องเล่าแม่บทมักถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนที่ถูกความยากจนจากนโยบายเศรษฐกิจบีบให้ละทิ้งถิ่นฐานชนบท จนต้องผันตัวเป็นแรงงานไร้ทักษะราคาถูกและทนทุกข์จากการขูดรีดกดขี่สารพัดรูปแบบ  เรื่องเล่าแม่บทแบบเหมารวมนี้ตกเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ในวงวิชาการว่าไม่เพียงพอต่อการอธิบายอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคลที่เป็นแรงงานย้ายถิ่น  ความพยายามที่จะเล่าเรื่องใหม่จากมุมมองของ “ความสมัครใจ” ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจลาจากภูมิลำเนาในชนบทเพื่อไปหางานทำในเมือง โดยเฉพาะแรงปรารถนาต่อความทันสมัยและความอิสระ สามารถสั่นคลอน “ภาพพจน์ความเป็นเหยื่อ” ที่ถูกกระทำฝ่ายเดียวของแรงงานเหล่านี้อย่างได้ผลในระดับหนึ่ง (Riggs 2007; Portilla 2017)  อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพรรณนาถึงประสบการณ์ของแรงงานย้ายถิ่นในขั้นตอนของการทำงานจริง ภาพพจน์แบบเดิมก็ยังตกค้าง  ข้อสังเกตเกี่ยวกับแรงงานย้ายถิ่นในสถานประกอบการต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศถูกครอบงำด้วยคำพรรณนาถึงระบบค่าแรงที่กดขี่ การถูกละเมิดทำร้ายในระดับบุคคลและการถูกกีดกันทางสังคม (Phouxay and Tollefsen 2011; Huijsmans and Bake 2012;)  ข้อสังเกตโดยรวมเหล่านี้กอปรขึ้นเป็นเงื่อนไขของ “ทางตัน” ซึ่งบั่นทอนความหวังของแรงงานย้ายถิ่นที่จะขยับเลื่อนชั้นทางสังคมไม่ว่ารูปแบบใด  เมื่ออ่านเรื่องเล่าเหล่านี้ควบคู่กับงานเขียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจการส่งเงินกลับบ้านในชนบทของลาว เราก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่าหนุ่มสาวที่จากบ้านมาจะเอาตัวรอดและสร้างเนื้อสร้างตัวที่อื่นได้อย่างไร (Riggs 2007; Barney 2012)  บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาจะปฏิเสธหรือลดความสำคัญของสภาพกดขี่ขูดรีดที่มีอยู่จริง ซึ่งแรงงานย้ายถิ่นชาวลาวต้องเผชิญที่สถานประกอบการปลายทาง  แต่บทความนี้มุ่งชี้ให้เห็นวิธีการต่างๆ ที่แรงงานย้ายถิ่นสร้างโอกาสบางอย่างจากทางตันนั้น  ทั้งนี้ผู้เขียนมีเป้าหมายที่จะต่อสู้กับการติดป้ายฉลากความเป็น “เหยื่อ” โดดๆ ประทับตราแก่กลุ่มทางสังคมกลุ่มนี้ ซึ่งเท่ากับผลักไสพวกเขาไปอยู่ชายขอบนั่นเอง

บทความนี้ให้ความสนใจต่อยุทธศาสตร์การเอาตัวรอดที่แรงงานย้ายถิ่นหนุ่มสาวชาวลาวมักใช้เพื่อแสวงหาหนทางต่อสู้ในที่ทำงาน  มันเป็นการยักย้ายถ่ายเทเพื่อเปิดช่องทางตลาดมืดแลกกับลำไพ่พิเศษเล็กๆ น้อยๆ นอกเหนือจากการทำงานประจำวัน  สิ่งที่แฝงอยู่ในความพยายามอย่างต่อเนื่องและไม่ยอมจำนนของแรงงานย้ายถิ่นที่จะสร้างความหมายของ “งาน” ในแบบของตัวเองก็คือการแอบขัดขืนต่อการกดขี่ขูดรีด  ถึงแม้การทำเช่นนี้ช่วยให้พวกเขามีพื้นที่หายใจหายคอบ้าง แต่เศรษฐกิจตลาดมืดของแรงงานย้ายถิ่นก็ทำให้พวกเขาตกหลุมพรางซ้ำซ้อน เพราะมันยิ่งตอกย้ำตรรกะทางเศรษฐกิจที่ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสถานะชายขอบมาตั้งแต่ต้น  ในบทความนี้จะยกตัวอย่างให้เห็นความสาสมใจและความสับสนขัดแย้งที่แฝงอยู่ในยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยอาศัยฉากชีวิตสองสามฉากจากประสบการณ์ชีวิตของปัจเจกบุคคลในเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่แรงงานย้ายถิ่นจากชนบทภายในประเทศลาว (Phouxay 2010)

ในเมืองที่ขาดแคลนขนส่งมวลชนอย่างเวียงจันทน์ การเดินทางในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ต้องอาศัยยานพาหนะส่วนตัว เช่น มอเตอร์ไซค์และรถยนต์  การไหลเคลื่อนของชีวิตบนกงล้อมักต้องเผชิญอุปสรรคสะดุดหยุดชะงักเสมอในช่วงเวลาหลังจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในท้องถิ่นปิดลงแล้ว ทั้งๆ ที่ชีวิตยามราตรียังคึกคักอยู่  แม้แต่ผู้ขับขี่ที่รอบคอบที่สุดก็พบว่าตัวเองประสบปัญหาระหว่างทางกลับบ้านกลางดึกดื่นเป็นครั้งคราวเพราะน้ำมันหมด  ถึงแม้ฉากเหตุการณ์แบบนี้อาจเป็นแค่ความขลุกขลักเล็กๆ น้อยๆ ที่หลีกเลี่ยงได้ในชีวิตของคนจำนวนมาก แต่สำหรับคนที่มีหัวการค้าบางคนกลับสำเหนียกถึงโอกาสในการหาเงิน  พวกเขาจึงตั้งเก้าอี้เล็กๆ ตามถนนสายพลุกพล่านยามค่ำคืนและวางขวดน้ำมันไว้ขาย  ในบรรดาผู้ประกอบธุรกิจที่แทบไม่มีใครสนใจในเวียงจันทน์นี้ก็คือตู หนุ่มอายุ 19 จากชนบทแขวงสุวรรณเขต  เขาจะปรากฏตัวที่จุดเดิมบนบาทวิถีข้างถนนดงป่าลานเป็นครั้งคราว  แท้จริงแล้ว เวลาทำการที่ดูเหมือนไม่สม่ำเสมอของตูขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง นั่นคือ เขาสามารถลักลอบเอาน้ำมันจากที่ทำงานมาได้มากพอหรือไม่  ตูทำงานเป็นคนขับรถตู้เล็กหรือมินิแวนให้บริษัทท่องเที่ยวจีนแห่งหนึ่งในเวียงจันทน์  เขาจะพกขวดน้ำเปล่าขนาด 330 มล.ติดตัวไปที่ทำงานเสมอ  เมื่อสบโอกาส เขาจะไขจุกเกลียวถ่ายน้ำมันตรงก้นถังน้ำมันของรถมินิแวนและเติมน้ำมันใส่ขวด  เมื่อเขายักย้ายน้ำมันจากที่ทำงานมาได้จนเต็มขวดน้ำดื่มยี่ห้อหัวเสือขนาด 1.5 ลิตร  เมื่อนั้นเขาก็จะเปิดทำการธุรกิจตลาดมืดที่ถนนดงป่าลาน

เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าใครก็คงอดประทับใจไม่ได้กับการวางแผนอย่างรอบคอบและดำเนินการตามแผนอย่างสม่ำเสมอในการลักลอบขโมยน้ำมันทีละนิดของตู  หลังจากเข้ามาทำงานเป็นคนขับรถในบริษัทดังกล่าวเมื่อปีที่แล้วได้ไม่นาน เขาก็เริ่มยักยอกน้ำมันจากที่ทำงานเป็นกิจวัตรทุกวัน  เพื่อไม่ให้เจ้านายจับได้ เขาคำนวณจำนวนน้ำมันที่ถ่ายจากถังอย่างถี่ถ้วนทุกครั้ง เพื่อให้มันได้สัดส่วนกับระยะทางที่ขับรถในวันนั้น  เรื่องนี้ทำให้เจ้านายหันไปโทษว่าค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นเพราะนิสัยขับรถเปลืองน้ำมันของคนขับรถคนใหม่  บางครั้งบางคราวเมื่อตูต้องขับรถให้เจ้านายนั่ง เขาถึงกับจงใจแสดงนิสัยที่เจ้านายว่าด้วยการดับเครื่องหรือติดเครื่องแบบปุบปับ  รวมทั้งเปิดแอร์ในรถมากเกินจำเป็นให้สมกับทฤษฎีของเจ้านาย  เขาเต็มใจใช้เวลาทั้งคืนนั่งแกร่วที่ถนนดงป่าลานเพื่อแลกกับรายได้เพียงน้อยนิด  คืนหนึ่งเมื่อผู้เขียนตามเขาไปสังเกตการณ์ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันชั่วคราวตั้งแต่สามทุ่มถึงห้าทุ่ม  เขาหาเงินได้ทั้งหมด 45,000 กีบ (ประมาณ 5 ดอลลาร์)  นี่ถือว่าเป็นวันทำมาค้าขึ้นแล้วในสายตาของเขา  เราจะเข้าใจความหมายของเงินสดก้อนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือน 1,300,000 กีบของตู (ประมาณ 150 ดอลลาร์)

ความฉลาดเจ้าเล่ห์และรู้จักคิดคำนวณอย่างรอบคอบของตัวบุคคลผู้เป็นแรงงานย้ายถิ่นในเรื่องราวข้างต้น สะท้อนภาพแตกต่างตรงกันข้ามกับความเชื่อกระแสหลักว่าแรงงานลาวไร้ความสามารถและเกียจคร้าน  โจว นายจ้างของตู แทบไม่เคยเฉลียวใจถึงการแอบหาลำไพ่พิเศษของลูกจ้างนอกเหนือจากการทำงานที่ได้รับมอบหมาย  โจวเองก็มองตูแบบเหมารวมเช่นกัน  นักธุรกิจชาวกวางตุ้งผู้เพิ่งย้ายมาอยู่ลาวเมื่อต้นทศวรรษ 1990 บ่นด่าตูให้ผู้เขียนฟังไม่ขาดปากและมองว่าตูก็ไม่ต่างจากลูกจ้างชาวลาวทุกคนที่เคยจ้างก่อนหน้านี้  “หมอนั่นไม่มีแก่ใจจะเก็บขยะที่ทิ้งอยู่ตรงหน้าด้วยซ้ำ ทั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร  พวกคนงานลาวก็ขี้เกียจแบบนี้แหละ ต้องลงแส้ทุกครั้งถ้าอยากให้พวกนี้ขยับตัว”  นอกจากนี้ โจวยังปักใจว่าตูมี “ไอคิวต่ำมาก” สืบเนื่องจากเหตุการณ์เกี่ยวกับหิ้งหนังสือในสำนักงาน  เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อเขาสั่งให้ตูจัดเครื่องเรือนในสำนักงานใหม่  ถึงแม้สั่งงานจ้ำจี้จ้ำไชอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกขั้นตอนแล้ว ตูก็ยังอุตส่าห์ทำผิดพลาดด้วยการหันด้านหน้าของหิ้งหนังสือติดฝาผนัง  “เห็นชัดว่าไอ้บ้านนอกคนนี้ไม่มีสมองอยู่ในหัวเลย” โจววิจารณ์ว่าอย่างนั้น

ชั้นเชิงหลายอย่างที่ตูเสแสร้งโง่งมต่อหน้าโจวผู้เป็นเจ้านายสะท้อนถึงแนวคิดลึกซึ้งของ James Scott (1985) เกี่ยวกับ “อาวุธของคนอ่อนแอ” กล่าวคือ การต่อสู้ทางชนชั้นของผู้ด้อยสถานะกว่าที่แสดงออกผ่านการขัดขืนในชีวิตประจำวันโดยไม่เผชิญหน้าตรงๆ  ตูทำตัวเกียจคร้านและเล่นบทโง่เซ่อเพื่อตอบโต้โจวที่พยายามขูดรีดแรงงานของเขาตามอำเภอใจด้วยการสั่งให้ทำงานอื่นนอกเหนือจากงาน “คนขับรถ” รวมทั้งการใช้ภาษาผรุสวาทเวลาสั่งงานด้วย  ยิ่งกว่านั้น การที่ตูยอมลดค่าตัวเองให้เหมือนภาพเหมารวมของแรงงานลาวทั่วไป  ยิ่งทำให้โจวลดความระแวงในการสอดส่องตรวจงาน  ยิ่งเอื้อให้ตูมีช่องทางมากขึ้นในการปรับความหมายและชี้ทิศทางการปฏิบัติงานที่เป็นผลประโยชน์ต่อตัวเขาเอง  ในบริบทของประเทศด้อยพัฒนาหลังยุคอาณานิคมอย่างลาว ความเชื่อที่มักเชื่อมโยงชาวพื้นเมืองกับลักษณะก่อนสมัยใหม่ เช่น ความเกียจคร้าน เป็นค่านิยมที่มีอยู่ทั่วไป  การวิเคราะห์วิพากษ์สวนกระแสมักตีความปรากฏการณ์นี้เป็นวาทกรรมที่ตกทอดมาจากยุคอาณานิคม  บางครั้งรัฐยุคหลังอาณานิคมก็รับวาทกรรมนี้มาเพื่ออ้างเหตุผลสนับสนุนระบอบใหม่เช่นกัน (เช่น Li 2011)  นอกจากนี้ แนวคิดเกี่ยวกับสภาพเชิงประวัติศาสตร์เฉพาะถิ่น เช่น ประชากรที่สัมผัสกับจริยธรรมการทำงานแบบทุนนิยมน้อยกว่า เนื่องจากพึ่งพิงการทำเกษตรกรรมแบบยังชีพ/กึ่งยังชีพมากเกินไป จนกระทั่งเงื่อนไขเพิ่งเปลี่ยนไปเมื่อไม่นานนี้เองดังเช่นในกรณีของลาว ก็มักนำมาใช้เป็นคำอธิบายอยู่เนืองๆ (Evans 2002)  อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของตูชี้ให้เห็นความจำเป็นที่เราพึงปรับจุดศูนย์กลางของการมองการเมืองระหว่างชนชั้นในระดับจุลภาคเสียใหม่  รวมทั้งเป็นตัวอย่างของสำนัก “บูรพทิศนิยม” ซึ่งพยายามพินิจแนวคิดดึกดำบรรพ์ที่เชื่อมโยงความเป็นพื้นเมืองกับความด้อยกว่าด้วย

สำหรับชายหนุ่มผู้เป็นแรงงานย้ายถิ่นจากชนบทอย่างตู  กลยุทธ์การเพิ่มรายได้ด้วยการขยายเนื้องานที่ต้องทำทุกวันเป็นเรื่องสำคัญของการเอาตัวรอด  เนื่องจากขาดการศึกษาและการฝึกฝนทักษะ กลุ่มทางสังคมกลุ่มนี้จึงถูกจำกัดให้ทำแต่งานทักษะต่ำ เช่น งานก่อสร้าง งานบริการ งานบ้านและงานโรงงาน  ส่วนใหญ่ได้แค่ค่าจ้าง “พอกินไปวันๆ” (Phouxay 2010)  นอกเหนือจากแรงกดดันที่ต้องดำรงชีพแบบปากกัดตีนถีบ ณ ปลายทางของการย้ายถิ่นแล้ว หน้าที่ที่ต้องเกื้อกูลครอบครัวที่อยู่ห่างไกล รวมทั้งแรงเย้ายวนจากลัทธิบริโภคนิยมสมัยใหม่ ล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าขาดแคลนเงินตลอดเวลา (Riggs 2007; Phouxay and Tollefsen 2011)  ความรู้สึกนี้หลอกหลอนแรงงานย้ายถิ่นเกือบทุกคนและขับไสให้พวกเขาคอยมองหาช่องทางหาเงินใหม่ๆ  ในขณะเดียวกัน พวกเขามีข้อจำกัดในการเข้าถึงทุน ข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายเส้นสาย ทำให้ทรัพยากรจากที่ทำงานมีค่าอย่างยิ่งในการแสวงหารายได้พิเศษ  ด้วยเหตุนี้เอง การทำธุรกิจตลาดมืดเล็กๆ น้อยๆ หลากหลายรูปแบบโดยอาศัยทรัพยากรในที่ทำงานจึงเป็นการสร้างความคุ้มค่ามากที่สุด

ในฐานะนักวิจัย ผู้เขียนมีความพิศวงมานานเกี่ยวกับความรู้สึกขัดแย้งในตัวเองที่แรงงานย้ายถิ่นมีต่อเศรษฐกิจตลาดมืดที่เล่ารายละเอียดไว้ข้างต้น  บ่อยครั้งเมื่อต้องอธิบายการยักยอกเล็กๆ น้อยๆ ของตนเอง บุคคลอย่างตูสามารถอ้างถึงการดิ้นรนในที่ทำงานและแรงกดดันเพื่อเอาตัวรอดในสังคมมาแก้ตัวได้ทันที  บางครั้งบางคราว ผู้เขียนถึงกับพบว่าตัวเองตกอยู่ใน “ช่วงโน้มน้าวชักชวน” ซึ่งฝ่ายแก่กล้ามีประสบการณ์พยายามตะล่อมให้มือใหม่ที่กล้าๆ กลัวๆ ลองหัดทำปฏิบัติการแบบเดียวกันดูบ้าง  เมื่ออยู่ในเหตุการณ์แบบนี้ ความกังวลเกี่ยวกับจรรยาบรรณวิบัติ (moral hazard) กลับไม่มีอยู่เลย  อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยถึงการทำธุรกิจตลาดมืดอื่นๆ ที่ไกลตัวออกไป ความซับซ้อนจะเกิดขึ้นทันที  คำที่มีความหมายเชิงลบตามแนวคิดกระแสหลัก เช่น ขี้ขโมย ต้มตุ๋น ขายตัว ฯลฯ จะถูกยกขึ้นมาแปะป้ายฉลากให้กิจกรรมเหล่านั้นทันที (เช่น Phouxay and Tollefsen 2011)  สิ่งที่ฝังลึกอยู่ในการตัดสินแบบนี้ก็คือกระบวนการผลักไสให้เป็นคนอื่น  กล่าวคือ ปัจเจกบุคคลมองว่าพฤติกรรมของตัวเองดีกว่าในเชิงคุณภาพและไม่ยอมถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน  กระนั้นก็ตาม เส้นแบ่งระหว่างตัวเองกับ “คนอื่น” ก็คลุมเครืออย่างยิ่ง  ยกตัวอย่างเช่น ตูจะเถียงคอเป็นเอ็นเมื่อผู้เขียนพยายามเปรียบเทียบแผนการยักยอกน้ำมันของเขากับ “การลักขโมยโดยคนใน” กล่าวคือ คดีที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อยามรักษาความปลอดภัยสมรู้ร่วมคิดกับคนอื่นให้มาขโมยทรัพย์สินของบริษัท  “นั่นมันผิดกฎหมาย” เขาย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า  สิ่งที่ทำให้เรานิยามทัศนคติที่คนคนหนึ่งมีต่อเศรษฐกิจตลาดมืดแบบนี้ยากขึ้นไปอีก ก็เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ที่ผลักไสคนอื่นมักผสมปนเปกับการพยายามช่วยแก้ต่างให้คนอื่นไปพร้อมๆ กัน  เช่น “แต่คุณก็รู้ นี่มันประเทศลาว” “พวกเขาก็มีชีวิตที่ต้องดิ้นรนเหมือนกัน”…..  เมื่อมองโดยรวมแล้ว เรื่องราวทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า แรงงานย้ายถิ่นดำเนินวิถีชีวิตตรงชายขอบสังคมโดยมีบรรทัดฐานที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ชุดหนึ่งขึ้นอยู่กับจุดยืนและบริบท

เรื่องที่ย้อนแย้งก็คือ แนวทางปฏิบัติและวิธีคิดที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจตลาดมืดในหมู่หนุ่มสาวย้ายถิ่นกลับทำให้ผู้เขียนนึกถึงอีกพลวัตหนึ่งที่ไม่น่าคล้ายกันเลย นั่นคือ กระบวนการที่พวกข้าราชการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจตลาดอย่างรวดเร็วในประเทศลาว  ถึงแม้การลงทุนลงแรงและผลที่ได้ในสองกรณีนี้แตกต่างกันอย่างยิ่ง แต่กลยุทธ์พื้นฐานกลับคล้ายกันมาก  แรงงานย้ายถิ่นมีจุดยืนคลอนแคลนด้านค่านิยมและจรรยาบรรณในการทำธุรกิจมืดระดับรากหญ้าฉันใด ตัวกระทำการในระดับรัฐก็ฉันนั้น กล่าวคือพวกเขามักอ้างหลายบรรทัดฐานมาอธิบายการกระทำไม่ตรงไปตรงมาของตัวเองในสภาพการณ์ต่างกันไป  อุดมการณ์ที่ยกมาอ้างมีตั้งแต่แนวคิดกระแสหลักเกี่ยวกับ “การคอร์รัปชั่น”  ธรรมเนียมของผู้ใหญ่หรือผู้อุปถัมภ์-บริวารตามประเพณีของลาว  ลัทธิชาตินิยมแข็งกร้าวเพื่อต่อต้านนักลงทุนจากต่างประเทศ ไปจนถึงการให้ความสำคัญต่อความมั่งคั่งและอำนาจของปัจเจกบุคคลตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ (Evans 2002; Baird 2010)  ความคล้ายคลึงระหว่างช่วงชั้นทางสังคมเช่นนี้สะท้อนถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก นั่นคือ ในขณะที่บุคคลด้อยโอกาสอย่างตูตกเป็นเหยื่อของความไม่ตรงไปตรงมาภายในระบบราชการของลาว แต่คนอย่างตูก็ต้องอาศัยความไม่ตรงไปตรงมาเพื่อเอาตัวรอดอย่างไม่มีทางเลี่ยง  ในการดำเนินเศรษฐกิจตลาดมืดอันเป็นกิจวัตรประจำวัน นั่นหมายความว่าแรงงานย้ายถิ่นหนุ่มสาวกำลังค้ำจุน “วัฒนธรรมคอร์รัปชั่น” ในประเทศลาวยุคปัจจุบัน (Smith 2007)  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การสร้างโอกาสจาก “ทางตัน” คือการผลิตซ้ำตรรกะที่ก่อให้เกิด “ทางตัน” ไปพร้อมกัน  มีหนทางหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์นี้หรือไม่?

Kelly Wanjing Chen
PhD candidate, Department of Geography, University of Wisconsin-Madison
wchen275@wisc.edu

p>Bibliography

Baird, I.G., 2010. Quotas, powers, patronage, and illegal rent-seeking: the political economy of logging and the timber trade in southern Laos. Forest Trends.
Barney, K., 2012. Land, livelihoods, and remittances: A political ecology of youth out-migration across the Lao–Thai Mekong border. Critical Asian Studies, 44(1), pp.57-83.
Dwyer, M., 2007. Turning land into capital: A review of recent research on land concessions for investment in Lao PDR. Land Issues Working Group, Vientiane, Laos.
Evans, G., 2002. A Short History of Laos: The Land In Between. Allen & Unwin.
Huijsmans, R. and Baker, S., 2012. Child trafficking: ‘Worst form’ of child labour, or worst approach to young migrants? Development and Change, 43(4), pp.919-946.
Li, T.M., 2011. Centering labor in the land grab debate. The Journal of Peasant Studies, 38(2), pp.281-298.
Phouxay, K., 2010. Patterns of migration and socio-economic change in Lao PDR. Phd Dissertation, Kulturgeografiska Institutionen, Umeå universitet.
Phouxay, K. and Tollefsen, A., 2011. Rural–urban migration, economic transition, and status of female industrial workers in Lao PDR. Population, Space and Place, 17(5), pp.421-434.
Portilla, S.G., 2017. Land concessions and rural youth in Southern Laos. The Journal of Peasant Studies, 44(6), pp.1255-1274.
Scott, J.C., 1985. Weapons of the weak: everyday forms of peasant resistance. New Haven, CT: Yale University Press.
Rigg, J., 2007. Moving lives: migration and livelihoods in the Lao PDR. Population, Space and Place, 13(3), pp.163-178.
Smith, D.J., 2007. A culture of corruption: Everyday Deception and Popular Discontent in Nigeria. Princeton University Press