แปลงที่ดินเป็นทุนเพื่อใคร? วิกฤตการณ์และทางเลือกของการทำให้ที่ดินเป็นสินค้าในประเทศลาว

Miles Kenney-Lazar

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2017 กรรมการศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (ต่อไปนี้จะเรียกย่อๆ ว่าพรรค) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงพรรคเดียวและเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจนำในประเทศลาว ได้ลงมติเกี่ยวกับการปรับปรุงการบริหารจัดการและการพัฒนาที่ดิน 1  มติครั้งนี้เปรียบเสมือนการวิพากษ์นโยบายการจัดการที่ดินของรัฐบาลสมัยก่อนอย่างน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนในที่ดินและการทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า หรือตามที่รัฐบาลนิยามมาตั้งแต่ปี 2006 ว่า “การแปลงที่ดินเป็นทุน” (การหันที่ดินเป็นทุน ในภาษาลาว) 2  กรรมการศูนย์กลางยอมรับว่ามีปัญหาจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการแปลงที่ดินเป็นทุน โดยเฉพาะประเด็นที่ “ยังไม่มีกรอบการใช้กฎหมายที่ครอบคลุม สืบเนื่องจากรัฐบาลกับประชาชนยังไม่ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย” และ “การเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาไม่เพียงเป็นภาระหนัก แต่ยังเป็นประเด็นอ่อนไหวที่กระทบความมีระเบียบเรียบร้อยของสังคมส่วนร่วมด้วย” 3

มตินี้สะท้อนความกังวลของพรรคและรัฐ (มักเรียกรวมกันว่า “พรรค-รัฐ” หรือ พัก-ลัด ในภาษาลาว เพราะในทางปฏิบัติ พรรคกับรัฐเหลื่อมซ้อนกันเกือบสนิท) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งในเรื่องที่ดิน ซึ่งอาจคุกคามความชอบธรรมของตนในสายตาประชาชน  ดังนั้น พรรคจึงคัดเลือกคณะผู้นำชุดใหม่ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด มาบริหารงานรัฐบาลให้แตกต่างไปจากเดิมนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา  รัฐบาลชุดใหม่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมการบริหารประเทศเข้มงวดมากขึ้นในประเด็นที่พรรครู้สึกว่าประชาชนลาวไม่พอใจมากที่สุด กล่าวคือ การคอร์รัปชั่นที่แพร่ระบาด การค้ายาเสพติด การทำไม้เถื่อนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และปัญหาที่ดิน 4  ลาวมักถูกวิพากษ์วิจารณ์เนืองๆ ว่ามีแนวทางปฏิบัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อันเนื่องจากวิธีการที่พรรค-รัฐครอบงำชีวิตทางการเมืองทั่วทุกด้านในประเทศ  อย่างไรก็ตาม การที่พรรค-รัฐยังปวารณาตนต่อหลักการระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามแนวทางลัทธิเลนิน จึงมีบ้างเป็นครั้งคราวที่ความไม่พอใจของพลเมืองจะเล็ดลอดขึ้นไปถึงเบื้องบนได้บ้าง โดยเฉพาะในรูปของคำร้องที่ยื่นต่อสภาแห่งชาติ กระทั่งส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจจากเบื้องบนลงมาสู่เบื้องล่าง

มตินี้ยังชี้ให้เห็นว่า การให้เช่าและให้สัมปทานที่ดินของรัฐแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อันเป็นปัจจัยสำคัญของการแปลงที่ดินเป็นทุน ซึ่งได้รับการอนุมัติมาตั้งแต่ปี 1992 แต่เพิ่งเร่งเครื่องในช่วงต้นทศวรรษ 2000 (โปรดดูบทความของ Baird ในประเด็นนี้) ได้มาถึงขีดจำกัดแล้ว  การตระหนักว่าการให้สัมปทานที่ดินก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็เอื้อประโยชน์ต่อสังคมไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้รัฐบาลประกาศงดการให้สัมปทานบางประเภทชั่วคราวมาตั้งแต่ปี 2007 แม้ว่าเงื่อนไขจะหย่อนคลายลงเมื่อเวลาผ่านไปก็ตาม  ชุมชนที่ได้รับผลกระทบส่งเสียงแสดงความไม่พอใจมากขึ้นเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินหรือไม่ยอมให้เวนคืนที่ดินเกษตรกรรมและที่ดินป่าผืนใหญ่ 5  ข้ารัฐการระดับเขตและแขวงรับรู้ถึงการขัดขืนและรายงานขึ้นไปว่าที่ดินแปลงใหญ่ที่รัฐบาลกลางให้สัมปทานแก่บริษัทยังไม่พร้อมใช้  ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงเริ่มมองหาช่องทางอื่นในการเข้าถึงที่ดิน เช่น การขอเช่าที่ดินจากชุมชนและครัวเรือนหรือหันไปส่งเสริมเกษตรพันธะสัญญาแทน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม

ดังนั้น นโยบายแปลงที่ดินเป็นทุนจึงอยู่ตรงทางแพร่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาว่าควรปรับทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะในร่างแก้ไขกฎหมายที่ดิน ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ ร่างแก้ไขฉบับดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งชาติในเดือนตุลาคม 2018  เมื่อคำนึงว่านโยบายแปลงที่ดินเป็นทุนมีบทบาทโดดเด่นในมติเกี่ยวกับที่ดินของพรรค นโยบายนี้คงยังใช้ต่อไปแน่ๆ  อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่พรรค-รัฐและสังคมลาวโดยรวมต้องตอบให้ได้ก็คือ – การแปลงที่ดินเป็นทุนทำไปเพื่อใคร?  ใครเป็นผู้ตัดสินว่าที่ดินจะถูกแปลงเป็นทุนอย่างไรหรือที่ดินผืนไหนที่เป็นเป้าหมายสำหรับแปลงเป็นทุน?  จนกระทั่งบัดนี้ ผลประโยชน์ของการแปลงที่ดินเป็นทุนตกเป็นของนักลงทุนและรัฐ ในขณะที่ผลกระทบภายนอกส่วนใหญ่ตกเป็นภาระของผู้ใช้ที่ดินชาวลาวและสังคมส่วนรวม  ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า พรรค-รัฐใส่ใจจริงจังต่อประเด็นของการกระจาย “ผลดี” และ “ผลเสีย” ของนโยบายแปลงที่ดินเป็นทุนให้เสมอหน้ากันมากกว่าเดิม  แต่ในขณะเดียวกันก็ขาดความพร้อมที่จะปฏิรูปนโยบายและการเมือง-เศรษฐกิจในระดับที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว  ด้วยเหตุนั้น วิกฤตการณ์ของการจัดการที่ดินในบริบทของการแปลงที่ดินเป็นทุนในลาวจึงน่าจะดำเนินต่อไปในลักษณะของ “เมื่อสิ่งเก่ากำลังตายและสิ่งใหม่ยังเกิดไม่ได้” 6

คำสัญญาเลื่อนลอยของการแปลงที่ดินเป็นทุน

ในเดือนสิงหาคม 2017 ผู้เขียนเข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อประเมินการทำงานของนโยบายแปลงที่ดินเป็นทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 7  มีการสัมภาษณ์บุคคล 33 คน ซึ่งใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับบทความนี้  ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นว่าประชาชนลาวทั่วไป รวมทั้งคนที่ทำงานนอกภาครัฐ ไม่ว่าในองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ (INGOs) สมาคมไม่แสวงหาผลกำไรภายในประเทศ (Non-Profit Associations–NPAs) และบริษัทที่ปรึกษาในลาว ส่วนใหญ่มีความรู้สึกคล้ายๆ กันต่อนโยบายแปลงที่ดินเป็นทุน  คำตอบของผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งสะท้อนทัศนะดังกล่าวอย่างชัดเจน “นโยบายนี้มีหลักการดี แต่มีปัญหามากในการนำมาใช้ปฏิบัติ  ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีการรับผิด ไม่มีธรรมาภิบาลในภาคปฏิบัติ  การทำงานทั้งหมดทำในระบบบนลงล่าง” 8  การเน้นที่ปัญหาของการนำไปปฏิบัติมากกว่าเนื้อหาของนโยบายเป็นมรรควิธีหลักที่ชาวลาวชอบใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลแบบเบาๆ  กระนั้นก็ตาม ผู้ให้สัมภาษณ์แสดงความชื่นชมอย่างจริงใจต่อวัตถุประสงค์ของนโยบายนี้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่านโยบายนี้บรรจบรับกับความต้องการการพัฒนาของลาวในหลายๆ แง่ 9

เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เนื้อหาของนโยบายแปลงที่ดินเป็นทุนถูกใจประชาชนลาว ก็เพราะการใช้คำนิยามอย่างคลุมเครือเมื่อเปรียบเทียบกับรูปธรรมของการนำมาใช้หลากหลายแบบ  ผู้ให้สัมภาษณ์ชาวลาวหลายคนเข้าใจวัตถุประสงค์ของนโยบายนี้ในลักษณะครอบจักรวาลมาก กล่าวคือ เพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจของที่ดินในประเทศด้วยการลงทุนรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างผลประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนในวงกว้าง  นโยบายแปลงที่ดินเป็นทุนขาดการนิยามที่ชัดเจนเพราะมันไม่เคยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรและประกาศเป็นนโยบายของรัฐ  มีรายงานว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคณะกรรมการร่างนโยบายไม่เห็นพ้องกันเกี่ยวกับความหมายที่ชัดเจนของมัน! 10  ผู้ให้สัมภาษณ์แสดงความเข้าใจต่อเป้าหมายของนโยบายแตกต่างกันไป กล่าวคือ 1) สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในวงกว้าง  2) สร้างรายได้เพื่อนำมาสนับสนุนโครงการของรัฐบาล  3) แปรรูปและทำให้ที่ดินของรัฐกลายเป็นสินค้า และ 4) รักษาอำนาจของลาวในการควบคุมที่ดินซึ่งเป็นสินทรัพย์ของชาติหรือของส่วนรวม  ยิ่งกว่านั้น บางครั้งผู้ให้สัมภาษณ์ยังนิยามขอบเขตของโครงการต่างๆ ที่เข้าข่ายนโยบายแปลงที่ดินเป็นทุนไม่ลงรอยกันด้วย โดยมีความคิดเห็นขัดแย้งกันว่าโครงการประเภทไหนคือตัวอย่าง “ที่แท้จริง” ของการแปลงที่ดินเป็นทุน  โครงการดังกล่าวมีอาทิ 1) ให้ที่ดินของรัฐแก่นักลงทุนเอกชนแลกกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอาคารสำนักงานของรัฐบาล 11  2) การขายที่ดินของรัฐเพื่อหาเงินมาสนับสนุนโครงการตัดถนน เช่น ในกรณีของถนน 450 ปี 12  3) ให้นักลงทุนเช่าและสัมปทานที่ดินของรัฐ  และ 4) ให้เอกสารสิทธิ์ที่ดินเพื่อสร้างและพัฒนาตลาดค้าที่ดิน

แม้มีความเข้าใจแตกต่างกันมากต่อเป้าหมายและต้นแบบของนโยบายแปลงที่ดินเป็นทุน แต่อย่างน้อยก็มีจุดร่วมประการหนึ่ง  จุดร่วมนี้ก็คือแนวคิดกว้างๆ เกี่ยวกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากที่ดินเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างรายได้ให้รัฐบาลและเพิ่มพูนความมั่งคั่ง  อย่างไรก็ตาม วิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ยังมีปัญหามาก ดังที่ผู้ให้สัมภาษณ์อธิบายอย่างชัดเจน  เมื่อกระทรวงต่างๆ นำที่ดินไปแลกกับอาคารสำนักงานใหม่ นั่นหมายถึงการยกสินทรัพย์สำคัญของรัฐบาลให้ภาคเอกชน ทำให้เกิดคำถามว่ามูลค่าของการแลกเปลี่ยนนี้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและประชาชนที่รัฐบาลเป็นตัวแทนมากน้อยแค่ไหน  กลยุทธ์การขายที่ดินเพื่อหาเงินทุนสนับสนุนการตัดถนนทำให้เกิดการเวนคืนที่ดินจากพลเมืองชาวลาวอย่างไม่เป็นธรรมและเกิดความขลุกขลักเพราะปัญหาเงินชดเชยที่เสนออัตราต่ำเกินไป 13  การให้เช่าที่ดินและสัมปทานที่ดินของรัฐก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  อีกทั้งให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาลและชุมชนชนบทไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย (ดูรูป 1) 14  ในประการสุดท้าย การให้เอกสารสิทธิ์ที่ดินและการสร้างตลาดที่ดินทำให้เกิดการเก็งกำไรกันอย่างมโหฬารและราคาที่ดินในพื้นที่เมืองเฟ้อเป็นฟองสบู่ 15

Lao-Fishermen-urban-land-concession--Vientiane-KRSEA
รูป 1: ชาวประมงรอบนอกเขตสัมปทานที่ดินเมืองแห่งหนึ่งในเวียงจันทน์ ซึ่งต้องพลัดพรากจากวิถีชีวิตการทำมาหากินในพื้นที่ชุ่มน้ำ

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้รวมกันทำให้แกนนำระดับสูงสุดของรัฐบาลรู้สึกว่า นโยบายแปลงที่ดินเป็นทุนบานปลายเกินความควบคุม ไม่บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ซ้ำยังสร้างผลกระทบภายนอกด้านลบต่อสังคมลาว  ดังที่ทองลุน สีสุลิดประกาศเมื่อกลางปี 2016 หลังจากเพิ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า นโยบายนี้ “เผชิญความท้าทายมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะหลายโครงการที่ดำเนินตามนโยบายนี้ไม่ประสบผลสำเร็จมากพอและก่อให้เกิดช่องโหว่ในการเก็บรวบรวมรายได้”  อีกทั้งโครงการเหล่านี้ “ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อประชาชนและสร้างความขัดแย้งในสังคมขึ้นมามากกว่า” 16 ดังนั้น ถ้านโยบายแปลงที่ดินเป็นทุนควรสร้างผลประโยชน์ให้รัฐบาลหรือสังคมลาว  มันควรเป็นไปเพื่อใครกันแน่?  รัฐบาลรับรู้ว่ามีปัญหาร้ายแรง แต่ยังพะว้าพะวังว่าจะจัดการและบุกเบิกเส้นทางการพัฒนาแนวทางใหม่อย่างไร  กระนั้นก็ตาม ทางเลือกอื่นเริ่มปรากฏขึ้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงพลวัตของการแปลงที่ดินเป็นทุนภายในประเทศโดยอาศัยการกำกับดูแลเชิงรุกของรัฐบาลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แปลงที่ดินเป็นทุนเพื่อประชาชน?

ถึงแม้การให้สัมปทานที่ดินจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เนื่องจากเป็นการแปลงที่ดินเป็นทุนรูปแบบหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ  แต่ก็ยังมีวิถีทางอื่นในการแปลงที่ดินเป็นทุน ซึ่งอาจมีศักยภาพที่จะสร้างผลประโยชน์แก่คนจนในชนบทได้มากกว่า  การลงทุนในรูปแบบทางเลือกอื่น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ได้รับการกระตุ้นจากการต่อต้านขัดขืนที่กำลังก่อตัวของเกษตรกรและการตอบรับเชิงกำกับดูแลของรัฐบาลต่อผลกระทบของการให้สัมปทานที่ดิน  ทางเลือกอื่นดังกล่าวมีอาทิ การลงทุนในภาคเกษตรกรรมที่เกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรเป็นผู้ริเริ่ม รวมทั้งการทำเกษตรพันธะสัญญากับบริษัทธุรกิจเกษตร 17  นอกจากนี้ บริษัทธุรกิจเริ่มเช่าที่ดินจากครัวเรือนรายบุคคลโดยไม่ผ่านรัฐบาล เช่น การปลูกไร่กล้วยในภาคเหนือของลาว 18  บริษัทธุรกิจที่มีข้อตกลงสัมปทานอยู่ก่อนแล้วก็เริ่มเจรจาสัญญาเช่ากับชุมชนที่ไม่ยอมให้สัมปทานที่ดิน 19  ทางเลือกอื่นแต่ละแบบนี้อาจสร้างความเสียหายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่าๆ กับการให้สัมปทานที่ดิน  มันไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาในอุดมคติแน่ๆ  ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้ขยายไร่กล้วยอีกเพราะก่อผลเสียร้ายแรงต่อที่ดิน รวมทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ 20 กระนั้นก็ตาม ก็ต้องถือว่ามันคือย่างก้าวสำคัญที่แยกทางจากการแปลงที่ดินเป็นทุนในรูปแบบของสัมปทาน ซึ่งผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกเป็นของบริษัทและรัฐบาล ในขณะที่ชุมชนชนบทกับสังคมส่วนรวมเป็นผู้แบกรับความเสียหาย  เนื่องจากรัฐบาลยังยึดมั่นในแนวคิดของนโยบายการแปลงที่ดินเป็นทุน เราจึงควรพิจารณาหนทางหลากหลายมากขึ้นที่จะเอื้อให้ภาคประชาสังคมลาว เกษตรกร ฝ่ายปฏิรูปในภาครัฐและสาธารณชนส่วนรวม สามารถกำหนดทิศทางการปฏิบัติที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางมากกว่าเดิม

Miles Kenney-Lazar
Assistant Professor, Department of Geography, National University of Singapore

Note: The same phrasing of the title was first used for the Laos section title of the Mekong State of Land Report: Ingalls, M.L., Diepart, J.-C., Truong, N., Hayward, D., Neil, T., Phomphakdy, M., Bernhard, R., Fogarizzu, S., Epprecht, M., Nanthavong, V., Vo, D.H., Nguyen, D., Nguyen, P.A., Saphanthong, T., Inthavong, C., Hett, C. and Tagliarino, N. 2018. State of Land in the Mekong Region. Centre for Development and Environment, University of Bern and Mekong Region Land Governance. Bern, Switzerland and Vientiane, Lao PDR, with Bern Open Publishing.

Bibliography

Baird, I.G. 2010. Land, Rubber and People: Rapid Agrarian Changes and Responses in Southern Laos. Journal of Lao Studies, 1(1): 1-47.
Baird, I.G. 2017. Resistance and Contingent Contestations to Large-Scale Land Concessions in Southern Laos and Northeastern Cambodia. Land, 6(1): 1-19.
Barney, K. 2011. Grounding Global Forest Economies: Resource Governance and Commodity Power in Rural Laos. Ph.D. Thesis. Toronto: York University.
Dwyer, M. 2007. Turning Land into Capital. A Review of Recent Research on Land Concessions for Investment in the Lao PDR. Vientiane: LIWG.
Dwyer, M.B. 2013. Territorial Affairs: Turning Battlefields into Marketplaces in Postwar Laos. Ph.D. Thesis. Berkeley: University of California, Berkeley.
Friis, C. and J.Ø. Nielsen. 2016. Small-scale Land Acquisitions, Large-scale Implications: Exploring the Case of Chinese Banana Investments in Northern Laos. Land Use Policy, 57: 117-129.
Goh, B. and A.R.C. Marshall. 2017. Cash and Chemicals: For Laos, Chinese Banana Boom a Blessing and Curse. Reuters. 11 May.
Gramsci, A. 1971. Selections from the Prison Notebooks of Antonio Gramsci. New York: International Publishers, pg. 276.
High, H. 2014. Fields of Desire: Poverty and Policy in Laos. Singapore: NUS Press.
Ingalls, M.L., Diepart, J.-C., Truong, N., Hayward, D., Neil, T., Phomphakdy, M., Bernhard, R., Fogarizzu, S., Epprecht, M., Nanthavong, V., Vo, D.H., Nguyen, D., Nguyen, P.A., Saphanthong, T., Inthavong, C., Hett, C. and Tagliarino, N. 2018. State of Land in the Mekong Region. Centre for Development and Environment, University of Bern and Mekong Region Land Governance. Bern, Switzerland and Vientiane, Lao PDR, with Bern Open Publishing.
Kenney-Lazar, M. 2012. Plantation Rubber, Land Grabbing and Social-Property Transformation in Southern Laos. Journal of Peasant Studies, 39(3-4): 1017-1037.
Kenney-Lazar, M. 2016. Resisting with the State: Authoritarian Land Governance in Laos. PhD Thesis. Worcester, MA: Clark University.
Kenney-Lazar, M., M.B. Dwyer, and C. Hett. 2018. Turning Land Into Capital: Assessing a Decade of Policy in Practice. Vientiane: LIWG.
Kenney-Lazar, M., D. Suhardiman, and M.B. Dwyer. 2018. State Spaces of Resistance: Industrial Tree Plantations and the Struggle for Land in Laos. Antipode. Early online view, DOI: 10.1111/anti.12391.
KPL News. 2016. PM Urges Evaluation of the Turning Land Into Capital Policy. 6 July.
Lao People’s Revolutionary Party (LPRP). 2017. Resolution of the Party’s Central Committee.
McAllister, K. 2015. Rubber, Rights, and Resistance: The Evolution of Local Struggles Against a Chinese Rubber Concession in Northern Laos. Journal of Peasant Studies, 42(3-4): 817-837.
Pathammavong, B., M. Kenney-Lazar, and E.V. Sayaraj. 2017. Financing the 450 Year Road: Land Expropriation and Politics ‘All the Way Down’ in Vientiane, Laos. Development and Change, 48(6): 1417-1438.
Sayalath, S. and S. Creak. 2017. Regime Renewal in Laos: The Tenth Congress of the Lao People’s Revolutionary Party. Southeast Asian Affairs, 179-200.
Shi, W. 2008. Rubber Boom in Luang Namtha: A Transnational Perspective. Vientiane: GTZ.
Suhardiman, D., M. Giordano, O. Keovilignavong, and T. Sotoukeea. 2015. Revealing the Hidden Effects of Land Grabbing Through Better Understanding of Farmers’ Strategies in Dealing with Land Loss. Land Use Policy, 49: 195-202.
Vientiane Times. 2013. Property Prices in Vientiane Continue to Soar. 7 February.
Vientiane Times. 2016. Govt Gives Green Light for Two Eucalyptus Operators. 30 March.
Vientiane Times. 2017. Lao PM Vows to Address Chronic Land Issues. 2 June.

Notes:

  1. Lao People’s Revolutionary Party (LPRP). 2017. Resolution of the Party’s Central Committee on the Enhancement of Land Management and Development in the New Period. No. 026/CC. Vientiane Capital.
  2. Dwyer, M. 2007. Turning Land into Capital. A Review of Recent Research on Land Concessions for Investment in the Lao PDR. Vientiane: LIWG.
  3. LPRP 2017, section I.
  4. Sayalath, S. and S. Creak. 2017. Regime Renewal in Laos: The Tenth Congress of the Lao People’s Revolutionary Party. Southeast Asian Affairs, 179-200.
  5. McAllister, K. 2015. Rubber, Rights, and Resistance: The Evolution of Local Struggles Against a Chinese Rubber Concession in Northern Laos. Journal of Peasant Studies, 42(3-4): 817-837; Baird, I.G. 2017. Resistance and Contingent Contestations to Large-Scale Land Concessions in Southern Laos and Northeastern Cambodia. Land, 6(1): 1-19; Kenney-Lazar, M., D. Suhardiman, and M.B. Dwyer. 2018. State Spaces of Resistance: Industrial Tree Plantations and the Struggle for Land in Laos. Antipode. Early online view, DOI: 10.1111/anti.12391.
  6. Gramsci, A. 1971. Selections from the Prison Notebooks of Antonio Gramsci. New York: International Publishers, pg. 276.
  7. Kenney-Lazar, M., M.B. Dwyer, and C. Hett. 2018. Turning Land Into Capital: Assessing a Decade of Policy in Practice. Vientiane: LIWG.
  8. Interview, 16 October 2017.
  9. High, H. 2014. Fields of Desire: Poverty and Policy in Laos. Singapore: NUS Press.
  10. Kenney-Lazar et al. 2018.
  11. Vientiane Times. 2017. Lao PM Vows to Address Chronic Land Issues. 2 June.
  12. Pathammavong, B., M. Kenney-Lazar, and E.V. Sayaraj. 2017. Financing the 450 Year Road: Land Expropriation and Politics ‘All the Way Down’ in Vientiane, Laos. Development and Change, 48(6): 1417-1438.
  13. Pathammavong et al. 2017.
  14. Baird, I.G. 2010. Land, Rubber and People: Rapid Agrarian Changes and Responses in Southern Laos. Journal of Lao Studies, 1(1): 1-47; Barney, K. 2011. Grounding Global Forest Economies: Resource Governance and Commodity Power in Rural Laos. Ph.D. Thesis. Toronto: York University; Kenney-Lazar, M. 2012. Plantation Rubber, Land Grabbing and Social-Property Transformation in Southern Laos. Journal of Peasant Studies, 39(3-4): 1017-1037; Dwyer, M.B. 2013. Territorial Affairs: Turning Battlefields into Marketplaces in Postwar Laos. Ph.D. Thesis. Berkeley: University of California, Berkeley; Suhardiman, D., M. Giordano, O. Keovilignavong, and T. Sotoukeea. 2015. Revealing the Hidden Effects of Land Grabbing Through Better Understanding of Farmers’ Strategies in Dealing with Land Loss. Land Use Policy, 49: 195-202.
  15. Vientiane Times. 2013. Property Prices in Vientiane Continue to Soar. 7 February.
  16. KPL News. 2016. PM Urges Evaluation of the Turning Land Into Capital Policy. 6 July.
  17. Shi, W. 2008. Rubber Boom in Luang Namtha: A Transnational Perspective. Vientiane: GTZ; Dwyer 2011.
  18. Friis, C. and J.Ø. Nielsen. 2016. Small-scale Land Acquisitions, Large-scale Implications: Exploring the Case of Chinese Banana Investments in Northern Laos. Land Use Policy, 57: 117-129.
  19. Vientiane Times. 2016. Govt Gives Green Light for Two Eucalyptus Operators. 30 March; Kenney-Lazar, M. 2016. Resisting with the State: Authoritarian Land Governance in Laos. PhD Thesis. Worcester, MA: Clark University.
  20. Goh, B. and A.R.C. Marshall. 2017. Cash and Chemicals: For Laos, Chinese Banana Boom a Blessing and Curse. Reuters. 11 May.