การระดมมวลชนของลัทธิอิสลามนิยมในอินโดนีเซีย

Sumanto Al Qurtuby

ถึงแม้ขบวนการลัทธิอิสลามนิยมไม่ใช่ของใหม่ในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย แต่การระดมมวลชนของลัทธิอิสลามนิยมในเวทีการเมืองของประเทศมีมากขึ้นจนเป็นที่น่าสังเกตหลังจากอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตก้าวลงจากอำนาจในปี 1998  สำหรับกลุ่มลัทธิอิสลามนิยม การสิ้นสุดระบอบอำนาจนิยมของซูฮาร์โตสร้างแรงกระตุ้นให้พวกเขาแสดงตัวตนในด้านศาสนา วัฒนธรรม อุดมการณ์ การเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ถึงแม้การขยายตัวของขบวนการอิสลามนิยมในอินโดนีเซียยุคหลังระเบียบใหม่เกิดจากสาเหตุหลายปัจจัยก็ตาม แต่การล่มสลายของระบอบซูฮาร์โตนับว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การโค่นล้มซูฮาร์โตเปิดประตูให้เกิดเสรีภาพของพลเมือง ระบอบประชาธิปไตยและความเป็นพหุนิยมของสังคม แต่ผลข้างเคียงกลายเป็นการขยายตัวของการขาดขันติธรรมทางศาสนา ลัทธิสุดขั้วและความก้าวร้าวของกลุ่มอิสลามนิยม

แม้ว่าอินโดนีเซียยุคหลังซูฮาร์โตจะมีพัฒนาการด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจที่โดดเด่น แต่ก็มีด้านมืดอันเกิดจากการที่กลุ่มอิสลามนิยมข้ามชาติหลั่งไหลเข้ามาสมทบกับกลุ่มในประเทศ  จนกลายเป็นปัญหาท้าทายของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งระบอบประชาธิปไตยเพิ่งเริ่มต้นและความเป็นพหุนิยมยังเปราะบาง รวมทั้งสั่นสะเทือนต่อภาพพจน์ของชาวมุสลิมอินโดนีเซียที่เคยขึ้นชื่อว่ามีขันติธรรมและยึดหลักสายกลางเมื่อเปรียบเทียบกับศาสนิกร่วมศาสนาในเอเชียกลาง อนุทวีปอินเดียหรือตะวันออกกลาง  เนื่องจากการขยายตัวของกลุ่มอิสลามนิยมเหล่านี้ ทำให้ทัศนะที่ทันสมัยและเสรีนิยมของมุสลิมสายกลางและก้าวหน้าถูกท้าทายมากขึ้น หรือกระทั่งถูกปฏิเสธไปเลย

ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยอินโดนีเซียเปิดช่องให้กลุ่มอิสลามนิยมเฟื่องฟู  กลุ่มอิสลามนิยมหลายกลุ่มก่อตั้งศูนย์อิสลาม องค์กร โรงเรียน ไปจนถึงพรรคการเมืองขึ้นทั่วทั้งประเทศหมู่เกาะโดยอาศัยเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นข้ออ้าง  พวกเขาสามารถผลิตหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ได้อย่างเสรี (และแจกจ่ายเข้าสู่สังคมผ่านเครือข่ายที่มีกว้างขวาง) เพื่อเผยแพร่แนวคิด การตีความและความเข้าใจศาสนาอิสลามในแบบของตัวเอง รวมถึงเป้าหมายทางสังคมและการเมืองของตนด้วย  ถึงแม้กลุ่มเหล่านี้ขยายตัวได้เพราะระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขากลับใช้สถาบันอิสลามเหล่านี้เผยแพร่การขาดขันติธรรม การยกชาติพันธุ์ของตัวเองเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่น (ethnocentrism) และต่อต้านความเป็นพหุนิยม ตลอดจนแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย โดยกล่าวหาว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นผลผลิตของลัทธิฆราวาสนิยมตะวันตก

U. S. Secretary of Defense, William Cohen (left), meets with Indonesian President Suharto at his residence in Jakarta on January 14, 1998.

กลุ่มอิสลามนิยมหลากรูปแบบ

ประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นย้ำก็คือ ไม่ใช่กลุ่มอิสลามนิยมทุกกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ  และการอ้างว่าลัทธิอิสลามนิยมระดมมวลชนโดยใช้รูปแบบรุนแรงหรือสุดขั้วเสมอเป็นความเข้าใจผิด  เช่นเดียวกับศาสนายูดายและศาสนาคริสต์บางนิกายที่ผลักดันให้สาวกเคร่งครัดศรัทธาส่วนบุคคล ขบวนการรื้อฟื้นศาสนาอิสลามจำนวนไม่น้อยก็ส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติตามพระคัมภีร์มากขึ้น

การระดมมวลชนอย่างสันติหรือไม่ใช้ความรุนแรงมากนักของกลุ่มอิสลามนิยมอาจกอปรด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้:  การจัดตั้งพรรคการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง สร้างเครือข่ายพันธมิตร พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับภาคประชาสังคม และก่อตั้งองค์กรภาคประชาสังคม  อาจรวมถึงการทำงานกับหน่วยงานรัฐเพื่อส่งเสริมนโยบายที่มีพื้นฐานจากกฎหมายชะรีอะฮ์  ส่วนการระดมมวลชนด้วยความรุนแรงหรือสุดขั้วอาจหมายถึงการทำลายทรัพย์สิน การคุกคามข่มขู่ที่มุ่งเป้าปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ของกลุ่มอิสลามนิยม คุกคามนิกายทางศาสนาของคนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนกลุ่มน้อย ตลอดจนประชากรบางส่วน  ไปจนถึงการก่อจลาจล การก่อความไม่สงบในหมู่พลเรือน การใช้ความรุนแรงในชุมชนหรือการก่อกบฏ

ตัวอย่างของกลุ่มอิสลามนิยมที่ไม่ใช้ความรุนแรงมีอาทิ Tablighi Jamaat, Hizbut Tahrir Indonesia กลุ่มซาลาฟีหรือซาลาฟีใหม่ (Salafi or Neo-Salafi) บางกลุ่ม  ส่วนองค์กรอย่างเช่น Front Pembela Islam (แนวหน้าปกป้องอิสลาม) Laskar Jihad (กองกำลังญิฮาด), Majelis Mujahidin Indonesia (สภาญิฮาดแห่งอินโดนีเซีย), Forum Umat Islam (สมัชชาอุมมะฮ์อิสลาม), Jamaah Ikhwanul Muslimin Indonesia (สมาคมภราดรภาพมุสลิมอินโดนีเซีย) และ Koalisi Nasional Anti-Syiah (เครือข่ายพันธมิตรต่อต้านชีอะห์แห่งชาติ)  เราสามารถจัดประเภทองค์กรเหล่านี้ว่าเป็นกลุ่มอิสลามนิยมสุดขั้วที่ใช้ความรุนแรง

งานเขียนจำนวนมากเกี่ยวกับขบวนการอิสลามนิยมในอินโดนีเซียมักเน้นที่บทบาทด้านทำลายล้างของกลุ่มสุดขั้วที่ใช้ความรุนแรงเหล่านี้  มีนักวิชาการเพียงไม่กี่คนที่ทุ่มเทให้กับการศึกษาขบวนการอิสลามนิยมที่ไม่ค่อยใช้ความรุนแรง

 การระดมมวลชนของกลุ่มอิสลามนิยมในจาการ์ตาระหว่างการเลือกตั้งผู้ว่าการ

 การเลือกตั้งผู้ว่าการจาการ์ตา 2017 กลายเป็นเหตุการณ์อื้อฉาวที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในยุคหลังซูฮาร์โต  ทั้งนี้เพราะก่อนการเลือกตั้งก็มีเหตุการณ์รุนแรง ความตึงเครียด การประท้วง การสร้างความหวาดกลัว ความเกลียดชัง การข่มขู่ ลัทธิเชื้อชาตินิยม การเหยียดชาติพันธุ์อื่นและเชื่อว่าชาติพันธุ์ของตนเหนือกว่า (ethnocentrism) และการปลุกระดมด้วยการอ้างคำสอนทางศาสนา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยเป็นฝีมือของกลุ่มอิสลามนิยมหลายกลุ่ม

ในการเลือกตั้งรอบแรก ฐานคะแนนของกลุ่มอิสลามนิยมเสียงแตกกันระหว่างการสนับสนุนอานีส บาสวีดัน (หรือเรียกสั้นๆ ว่า อานีส) ผู้สมัครเชื้อสายอาหรับฮัดรามี กับอากุส ฮารีมูร์ตี ยูโดโยโน  ลูกชายของอดีตประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน  อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งรอบที่สอง (อากุสแพ้การเลือกตั้งรอบแรก) กลุ่มอิสลามนิยมทั้งหมดผนึกกำลังกันต่อต้านนายบาซูกี จาฮายา ปูร์นามา (หรือรู้จักกันในชื่อเล่นว่า อาฮก เขามีเชื้อสายจีนและนับถือศาสนาคริสต์) ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้ว่าการจาการ์ตาในขณะนั้น และนายจาโรต ไซฟุล ฮิดายัต (หรือเรียกสั้นๆ ว่า จาโรต) ผู้สมัครตำแหน่งรองผู้ว่าการคู่กับอาฮก 1

ถึงแม้มีความตึงเครียดอย่างเห็นได้ชัดระหว่างฐานเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งรอบแรก  แต่ความขัดแย้งและการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเกิดขึ้นในรอบที่สอง ซึ่งเป็นการชิงกันระหว่างอานีสกับอาฮก  ด้วยความวิตกว่าผู้สมัครฝ่ายตน (อานีสกับซานดีอากา ซาลาฮุดดิน อูโน หรือชื่อเล่น ซานดี นักธุรกิจ ผู้ลงสมัครรองผู้ว่าคู่กับอานีส) จะแพ้การเลือกตั้ง  กลุ่มอิสลามนิยมจึงปลุกระดมและข่มขู่ชาวจาการ์ตาด้วยวิธีการหลายอย่าง เช่น การเดินขบวน การชุมนุมในที่สาธารณะ การเทศน์ทางศาสนา การแสดงธรรมเทศนาประจำวันศุกร์ การใช้ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ โปสเตอร์และสื่อสังคมออนไลน์ ฯลฯ  กลุ่มอิสลามนิยมและพันธมิตรทางการเมืองที่สนับสนุนอานีส-ซานดีคอยปลุกระดมมวลชนและ “ผู้นำกองเชียร์” ให้ออกมาเดินขบวน มีการแสดงเทศนาธรรมประจำวันศุกร์ในจัตุรัสกลางเมือง สวดมนต์กลางถนนหลวงและชุมนุมในสถานที่สาธารณะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  ผู้นำทางศาสนาของกลุ่มอิสลามนิยมสร้างความชอบธรรมให้แก่การปลุกระดมด้วยการอ้างข้อความจากพระคัมภีร์กุรอานและวาทกรรมต่างๆ ในศาสนาอิสลามเพื่อทำให้การสนับสนุนอานีสดูเหมือนมีรากฐานทางเทววิทยาและศาสนา  ระหว่างการให้โอวาททางศาสนา พวกเขาก็เทศน์ว่าสำหรับชาวมุสลิม การเลือกคนมุสลิม (กล่าวคืออานีส) เป็นผู้นำทางการเมืองและผู้ปกครองของตนเป็นข้อบังคับ (วาญิบwajib) และ การเลือกคนที่ไม่ใช่มุสลิม (กล่าวคือ อาฮก) ถือเป็นข้อห้าม (ฮารอมharam)

ยิ่งกว่านั้น ผู้นำกลุ่มอิสลามนิยมยังใช้ (หรือฉวยโอกาสใช้) มัสยิด ศูนย์ศาสนาอิสลาม สถานีโทรทัศน์ และช่องทางอื่นๆ ในการข่มขู่ชาวมุสลิม ด้วยการอ้างว่าใครที่เลือกอาฮกจะตกนรกเมื่อตายไปแล้ว  พวกเขายังขู่ชาวมุสลิมอีกว่าจะไม่สวดหรือฝังศพให้คนที่ลงคะแนนเสียงเลือกอาฮก  ที่แย่ที่สุดคือกลุ่มอิสลามนิยมสร้างความหวาดกลัวแก่ชาวเมืองจาการ์ตา โดยขู่ว่าถ้าอาฮกชนะการเลือกตั้ง พวกเขาจะบันดาลให้จาการ์ตากลายเป็น “นรก” ด้วยการบุกทำร้ายชาวจีน ชาวคริสต์และฐานเสียงของอาฮก  พวกเขาย้ำเตือนประชาชนตลอดเวลาให้นึกถึง “โศกนาฏกรรมเดือนพฤษภาคม” ในจาการ์ตาเมื่อปี 1998 ซึ่งครั้งนั้นชาวจีนตกเป็นเป้าการใช้ความรุนแรงของมวลชนที่โกรธแค้น (Kingsbury 2005; Sidel 2006)  ข้อสังเกตที่ควรบันทึกไว้ก็คือ ก่อนหน้านี้กลุ่มอิสลามนิยมทั้งหลายเคยมีความคิดเห็นแตกต่างกันมาตลอด แต่จู่ๆ กลับผนึกกำลังกันต่อต้านอาฮก ซึ่งพวกเขามองว่าเป็น “ศัตรูร่วมกันของศาสนาอิสลาม” ทั้งๆ ที่จาโรต ผู้สมัครรองผู้ว่าการคู่กับอาฮกนั้น เป็นมุสลิมที่เคร่งครัดมาก

ในที่สุด การปลุกระดมของกลุ่มอิสลามนิยมก็ประสบผลสำเร็จ  ลงท้ายอานีสเอาชนะอาฮกได้ด้วยคะแนนเสียง 57.95% ของคะแนนเสียงทั้งหมด (อาฮกได้คะแนนเสียง 42.05%)  การวิเคราะห์หลังการเลือกตั้งหลายชิ้นชี้ว่า ชาวเมืองจาการ์ตา โดยเฉพาะมุสลิม ไม่ลงคะแนนเสียงให้อาฮกในการเลือกตั้งรอบสองเพราะ (1) กลัวจะเกิดการจลาจลต่อต้านชาวจีน/คริสต์ซ้ำรอยอีกครั้ง (2) กลัวผิดกฎในพระคัมภีร์กุรอานและถูกพระเจ้าลงโทษ (3) วิตกว่าถ้าตัวเองหรือสมาชิกในครอบครัวตาย จะไม่มีใครสวดหรือฝังศพให้ และ (4) ต้องการปฏิบัติตาม “บัญญัติในพระคัมภีร์กุรอาน” ที่กำหนดให้ศาสนิกสนับสนุนผู้สมัครมุสลิมเป็นผู้นำทางการเมือง  เห็นได้ชัดว่าศาสนาและอัตลักษณ์อิสลามมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา

หลากหลายปัจจัยในการระดมมวลชนของกลุ่มอิสลามนิยมสุดขั้วในจาการ์ตา

ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชน ประเด็นหลักที่กลุ่มอิสลามนิยมใช้ปลุกระดมต่อต้านอาฮกคือข้อกล่าวหาว่าหมิ่นศาสนา  ข้อกล่าวหานี้มาจากคลิปวิดีโอที่บูนี ยานี ผู้สนับสนุนอานีส บาสวีดันเป็นคนตัดต่อและอัพโหลดเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์  คลิปนี้สื่อให้เกิดความรู้สึกว่าอาฮกจงใจอ้างพระคัมภีร์กุรอานผิดๆ  คลิปวิดีโอดังกล่าวจุดชนวนให้ประชาชนจำนวนมากในชุมชนมุสลิมประท้วงเป็นวงกว้าง จนเกิดเสียงเรียกร้องให้จับกุมตัวอาฮกข้อหาหมิ่นศาสนา (ลงท้ายเขาถูกตัดสินว่าผิดและถูกลงโทษจำคุกสองปี)

อย่างไรก็ตาม การอ้างว่าคำปราศรัยของอาฮกคือเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการระดมมวลชนของกลุ่มอิสลามนิยม ก็ไม่ใช่การกล่าวอ้างที่ถูกต้อง  ทั้งนี้เพราะกลุ่มอิสลามนิยมมีความไม่พอใจต่อผู้ว่าการมาตั้งแต่ก่อนเกิดประเด็นนี้  อาฮกเป็นผู้ว่าการที่ได้รับการยอมรับว่าทำงานดีมีประสิทธิภาพ แต่พูดจาไม่เข้าหูคน  การทำงานของเขามุ่งไปที่เรื่องธรรมาภิบาล ต่อต้านคอร์รัปชั่นและสนับสนุนความเป็นพหุนิยม  นโยบายการทำงานของเขาขัดแย้งกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจ กระทั่งฝ่ายหลังหันไปรวมพลังกับกลุ่มอิสลามนิยมเพื่อโค่นล้มและชิงตำแหน่งจากเขามาได้ในที่สุด  การรณรงค์เพื่อโค่นตำแหน่งอาฮกอาศัยวิธีการดังนี้คือ (1) ปลุกระดมชาวมุสลิมให้ออกมาปกป้องศรัทธา (2) จัดเดินขบวนประท้วง (3) สร้างอารมณ์แบ่งแยกทางศาสนาด้วยการใช้ประทุษวาจา (เฮทสปีช) (4) ฉวยโอกาสใช้มัสยิดเพื่อเป้าหมายทางการเมือง (5) ตีความตัวบทและวาทกรรมทางศาสนาให้รองรับวาระของตน และ (6) ติดสินบน

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การระดมมวลชนของกลุ่มอิสลามนิยมสุดขั้วกลายเป็นเครื่องมือบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ-การเมือง-อุดมการณ์  วาทกรรมของศาสนาอิสลามและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์กลายเป็นเครื่องมือที่นำมารับใช้ผลประโยชน์ทางการเมือง

Istiqlal Mosque (Indonesian: Masjid Istiqlal, lit. ‘Independence Mosque’) in Jakarta, Indonesia is the largest mosque in Southeast Asia and the third largest Sunni mosque in term of capacity

อินโดนีเซียไม่ใช่แค่จาการ์ตา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นย้ำก็คือ เราไม่ควรยึดถือว่าความเป็นไปที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งผู้ว่าการจาการ์ตาครั้งนี้คือภาพแทนที่สะท้อนว่าในสังคมอินโดนีเซียมีความคลั่งศาสนาล้นเกินที่ขยายตัวอย่างมีแบบแผน  ประการแรก มีคนจีนและคนไม่ใช่มุสลิมจำนวนไม่น้อยลงคะแนนเสียงให้อานีส เช่นเดียวกับมีคนมุสลิมลงคะแนนเสียงให้อาฮก  ยิ่งกว่านั้น มีเขตปกครองถึง 101 เขต (จังหวัด เขต เทศบาล) ทั่วทั้งอินโดนีเซียที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าการ ผู้ว่าเขตหรือนายกเทศมนตรีโดยตรงในปี 2017  กระนั้น มีแต่กรุงจาการ์ตาเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับ “พันธมิตรไม่ศักดิ์สิทธิ์” ระหว่างกลุ่มอิสลามนิยมสุดขั้วกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง-ธุรกิจที่จุดชนวนใส่ร้ายฝ่ายฆราวาสนิยมและปลุกระดมมวลชนเพื่อผลักดันวาระซ่อนเร้นของตัวเอง  เราไม่เห็นการระดมมวลชนแบบนี้เลยในการเลือกตั้งที่อื่นซึ่งมีผู้สมัครเป็นคนเชื้อสายจีนและไม่ใช่คนมุสลิม เช่น ซิงกาวัง, อัมบน, ลันดัก, กูปัง, โบลาอัง โมโงนโดว์, มาลูกู, เติงงารา บารัต, เซอราม บาเกียน บารัต, ปาปัวตะวันตก และในเขตปกครองอื่นๆ อีกหลายแห่ง 2

ประเด็นก็คือการเลือกตั้งในที่อื่นๆ นั้น ผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกลงคะแนนจากพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนาหรืออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ แต่ดูจากประวัติ คุณสมบัติ ความน่าเชื่อถือ ความสามารถและศักยภาพของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่ใช่คนมุสลิมในหลายๆ เขต (เช่น โซโล, อัมบน, ลันดัก, กาลีมันตันตะวันตก ฯลฯ) ก็ชนะการเลือกตั้งได้เหมือนกัน  โดยเฉพาะในเขตซิงกาวังของจังหวัดกาลีมันตันตะวันตก Tjhai Chui Mie ผู้สมัครรับเลือกตั้งหญิงชาวจีนและไม่ใช่มุสลิมก็ชนะการเลือกตั้งระดับเทศบาล  แม้กระทั่งในจาการ์ตาก็มีคนมุสลิมจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เชื่อมโยงกับพรรคนะห์ดาตุล อูลามะ องค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พรรคการเมืองและองค์กรชาตินิยมต่างๆ  รวมทั้งกลุ่มมุสลิมชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อย กลุ่มเหล่านี้ล้วนคัดค้านการระดมมวลชนเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งผู้ว่าการเมืองหลวงของกลุ่มอิสลามนิยมสุดขั้ว

ข้อเท็จจริงอีกประการที่ควรกล่าวถึงด้วยก็คือ ทั่วทั้งประเทศอินโดนีเซียมีชาวมุสลิมจำนวนมากพอสมควรออกมาแสดงพลังคัดค้านการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอิสลามนิยม  รวมทั้งไม่ยอมรับบรรดานักเทศน์หัวรุนแรงที่พยายามเข้ามาหาสาวกในชุมชนของพวกเขา  นอกจากนี้ ขบวนการประชาธิปไตยที่นิยมความเป็นพหุนิยม-ประชาสังคม นำโดยกลุ่มมุสลิมดั้งเดิมที่เน้นสายกลางและชาตินิยม ก็พยายามรณรงค์ทั่วทั้งประเทศเพื่อสร้างการตระหนักรู้แก่ประชาชนว่า ลัทธิอิสลามนิยมเป็นภัยต่อรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียและอุดมการณ์ประจำชาติที่เรียกว่า “ปัญจศีล” อย่างไร  ผลที่ตามมาจากความพยายามนี้ก็คือ รัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎหมายควบคุมจำกัดกิจกรรมของกลุ่มอิสลามนิยม 3

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้การเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาอาจถือเป็นการถอยหลัง แต่เราก็ยังพอมีความหวังต่อแนวทาง “อิสลามอารยะ” (civil Islam) ที่เชิดชูความหลากหลาย ขันติธรรม ประชาธิปไตยและความเป็นพหุนิยม  แน่นอน กลุ่มพลังอิสลามนิยมอนุรักษ์นิยมแทบไม่ใช่ปรากฏการณ์แปลกใหม่ในอินโดนีเซีย  ทั้งยังเป็นเรื่องจริงที่กลุ่มอิสลามนิยมพยายามผลักดันวาระของตนอยู่เสมอ ไม่ว่าโดยอาศัยการเลือกตั้ง การปลุกระดมหรือการใช้ความรุนแรง  ทั้งนี้เพราะในอินโดนีเซียนั้น วาระของกลุ่มอิสลามนิยมเป็นสิ่งที่ขัดกับประวัติศาสตร์ จารีตประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมอินโดนีเซียที่นิยมสันติภาพและขันติธรรม รวมทั้งเชิดชูความหลากหลายในการนับถือศาสนาด้วย

Sumanto Al Qurtuby
Department of General Studies, King Fahd University of Petroleum and Minerals
Dhahran, Saudi Arabia

หนังสืออุเทศ

Burhani, Ahmad Najib. 2017. “Ethnic Minority Politics in Jakarta’s Gubernatorial Election,” Perspective No. 39: 1–6.
Hatherell, Michael and Alistair Welsh. 2017. “Rebel with a Cause: Ahok and Charismatic Leadership in Indonesia,” Asian Studies Review 41 (2): 174–90.
Kingsbury, Damien. 2005. Violence in Between: Conflict and Security in Archipelagic Southeast Asia. Australia: Monash Asia Institute.
Sidel, John T. 2006. Riots, Pogroms, Jihad. Religious Violence in Indonesia. Ithaca, NY: Cornell University Press.  

Notes:

  1. พรรคการเมืองที่ส่งอานีสลงแข่งขันในการเลือกตั้งคือพรรค Gerakan Indonesia Raya หรือเรียกสั้นๆว่า Gerindra (“พรรคขบวนการอินโดนีเซียอันยิ่งใหญ่”  ผู้ก่อตั้งพรรคคือพลโทปราโบโว ซูบียันโต นายทหารเกษียณอายุ) และพรรคการเมืองสายอิสลามนิยมชื่อ Partai Keadilan Sejahtera (“พรรคสวัสดิการและความยุติธรรม”)  ส่วนอาฮกเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองชาตินิยม Partai Demokrasi Indonesia Perjuangan (“พรรคแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอินโดนีเซีย” ซึ่งมีผู้นำคืออดีตประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี)
  2. คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Komisi Pemilihan Umum) ทำรายการว่ามีอย่างน้อยถึง 22 เขตปกครองที่คนไม่ใช่มุสลิมลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2017 โปรดดู http://kbr.id/berita/02-2017/ini_22_pasangan_calon_kepala_daerah_nonmuslim_yang_diusung_partai_islam/88775.html. Access 10 October, 2017.
  3. ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอินโดนีเซียออกข้อบังคับ (อาทิ Perppu No. 2/2017) สั่งห้ามการจัดตั้งองค์กรและกลุ่มทางสังคม (โดยเฉพาะกลุ่มอิสลามนิยม) ที่มีแนวนโยบาย เป้าหมายและวัตถุประสงค์ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและอุดมการณ์ประจำชาติของอินโดนีเซีย