การลอบสังหารในการเมืองท้องถิ่นไทย: ทศวรรษแห่งการการกระจายอำนาจ (พ.ศ. 2543-2552)

Nuttakorn Vititanon

การกระจายอำนาจที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 พร้อมกับการนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้ ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” อย่างไรก็ตาม มีความวิตกกังวลว่าการเร่งรีบเปลี่ยนผ่านอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงหรือเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนที่เป็นผลเสียต่อประเทศ บ้างเกรงว่าประชาชนยังไม่พร้อมและกลุ่มผู้มีอิทธิพลจะชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีข่าวคราวเกี่ยวกับการลอบสังหารทางการเมืองที่มุ่งเป้านักการเมืองท้องถิ่นกับคนในครอบครัวปรากฏให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวันเนืองๆ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้การเมืองท้องถิ่นถูกมองว่ามีลักษณะ “โชกเลือด”

รูป 1. “สั่งฆ่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แพร่” นายชาญชัย ศิลปอวยชัย นายก อบจ.จังหวัดแพร่ ถูกมือปืนขี่มอเตอร์ไซค์ยิงเสียชีวิตขณะวิ่งออกกำลังกาย ตำรวจเชื่อว่าแรงจูงใจของการฆาตกรรมครั้งนี้มาจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่มา: หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ, 24 ตุลาคม 2550, หน้าแรก.

มีรายงานข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นนี้ลงในหนังสือพิมพ์จำนวนมากกระทั่งก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวในสังคมขึ้นมา การลอบสังหารทางการเมืองแบบนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศหรือแค่ในบางพื้นที่? ตัวเลขที่แท้จริงของคดีประเภทนี้ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีจำนวนเท่าไรกันแน่? มันเพิ่มขึ้นหรือลดลงหลังมีการกระจายอำนาจ? การเมืองท้องถิ่นของไทยมีแต่การฆ่ากันตายดังเช่นที่ประชาชนเชื่อ (และกลัว) จริงหรือ?

การสำรวจข้อมูลระดับชาติบอกอะไรแก่เรา

 ระหว่างปี 2543 จนถึง 2552 มีความพยายามลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่น (ทั้งฝ่ายบริหารและสมาชิกสภา ตลอดจนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและปลัดท้องถิ่น) รวมทั้งสิ้น 481 ครั้ง (100%) หรือ 459 คดี 1 ในบางคดีมีเหยื่อถูกทำร้ายมากกว่าหนึ่งคนในเหตุการณ์ลอบสังหารเดียวกัน จากตัวเลขนี้ มีผู้เสียชีวิต 362 ราย (75.3%) จัดว่าเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียวและเป็นเรื่องน่าเศร้า ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาทั่วประเทศ (ทั้งหมดมีเกือบ 4,700 คดี) และจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมด (ประมาณ 160,000 คน) ก็ต้องถือว่าตัวเลขนี้อยู่ในระดับต่ำทีเดียว (กล่าวคือน้อยกว่า 1%)

 ในบรรดาผู้ตกเป็นเหยื่อการพยายามฆ่า 481 ราย เป็นผู้ชายถึง 467 ราย (97%) เหยื่อส่วนใหญ่อายุระหว่าง 41-59 ปี (54.1%) วิธีการลอบสังหารที่ใช้มากที่สุดคือยิงด้วยปืน (93.1%) วางระเบิด (3.1%) และวิธีการอื่นๆ (3.7%)

 เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ นายกองค์การบริหารเป็นตำแหน่งที่มีความเสี่ยงจะถูกลอบสังหารสูงที่สุด สถิติชี้ว่ามีเหยื่อในตำแหน่งนี้ถึง 139 ราย (เกือบ 30%) ทั้งนี้คงสืบเนื่องจากอำนาจและตำแหน่งหน้าที่ของนายกในองค์การบริหาร โดยเฉพาะในการบริหารทรัพยากรบุคคลและการจัดสรรงบประมาณ ยิ่งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นระดับเล็กเท่าไร ความรุนแรงทางการเมืองก็ยิ่งมีมากกว่าองค์การบริหารระดับสูงขึ้นไป มีเหยื่อถึง 349 ราย (72.6%) ที่ทำงานในองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

 

อันดับจังหวัดภาคภาคร้อยละ
1นราธิวาสใต้347.1%
2ปัตตานีใต้316.4%
3พัทลุงใต้306.2%
4ยะลาใต้245.0%
5สงขลาใต้204.2%
6นครศรีธรรมราชใต้183.7%
7นครปฐมกลาง163.3%
7เพชรบูรณ์กลาง163.3%
9นครราชสีมาต.อ.น.132.7%
10เชียงใหม่เหนือ122.5%
10สุพรรณบุรีกลาง122.5%

ตาราง 1. 11 จังหวัดที่มีคดีลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นสูงสุด

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ความรุนแรงประเภทนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ แต่มีแค่บางพื้นที่ที่เข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศไทย (42.2%) รวมทั้งในภาคกลางด้วย (26.4%) จากสิบเอ็ดจังหวัดในตาราง มีสี่จังหวัดในกลุ่ม “จังหวัดชายแดนภาคใต้” นั่นคือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา (บางอำเภอ) ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่สงบมาเป็นเวลานานแล้ว (ดูพื้นที่สีแดงเข้มใน รูป 2.) ในทางกลับกัน มีเพียงห้าจังหวัดเท่านั้นที่ไม่มีสถิติการพยายามลอบฆ่าเลย ในห้าจังหวัดดังกล่าวนี้ มีสามจังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ดูจุดสีขาวใน รูป 2.)

รูป 2.แผนที่การลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นในประเทศไทย

แนวโน้มของการลอบสังหารทางการเมืองระหว่าง พ.ศ. 2543-2552 มีลักษณะไม่คงที่และคาดทำนายไม่ได้ ในปี 2546 (13.3%) และ 2548 (14.1%) ตัวเลขอยู่ในระดับสูง ขณะที่ในปี 2551-2552 ตัวเลขนี้ค่อยๆ ลดลงในทุกภาคของประเทศ

เมื่อเห็นตัวเลขเช่นนี้แล้ว เราจึงควรพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองในระดับชาติควบคู่ไปด้วย

ต้นปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลไทยประกาศสงครามปราบปรามยาเสพย์ติด งานวิจัยจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่ามีประชาชนประมาณ 2,500 คนถูกฆ่าตายสืบเนื่องจากการปราบปรามอย่างเด็ดขาดรุนแรง 2 พอถึงต้นปี 2547 หลังจากเหตุการณ์ปล้นอาวุธในค่ายทหารไทยในจังหวัดนราธิวาส สถานการณ์ทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เลวร้ายลงถึงขีดสุด คดีเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง (ฆาตกรรม ลอบสังหาร วางระเบิด ฯลฯ) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจนก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมือง จำนวนคดีที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่นี้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากระหว่าง พ.ศ. 2547 และ 2548 3

การลอบสังหารนายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย

วันที่ 24 ตุลาคม 2550 นายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย (อายุ 53 ปี) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ถูกยิงเสียชีวิต แพร่เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือที่ขึ้นชื่อในเรื่องความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเมือง นายแพทย์ชาญชัยเป็นนายก อบจ.เพียงคนเดียวในแปดจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ถูกลอบสังหารจนเสียชีวิต

ก่อนถูกสังหาร มีรายงานว่า นพ.ชาญชัยมีความขัดแย้งกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งถูกพาดพิงถึงในกรณีนี้ว่าคือ นาง ศ. ผู้เป็นทายาทของตระกูลดังที่มีอิทธิพลทางการเมืองและเป็นหนึ่งในผู้นำพรรคการเมืองเก่าแก่ในจังหวัดแพร่ นพ.ชาญชัยไม่ยอมแต่งตั้ง นาย ส. (ญาติของนาง ศ.) เป็นรองนายก อบจ.แพร่ นอกจากนี้ นาย พ. (น้องชายของนาง ศ.) ซึ่งเป็นประธานสภา อบจ.แพร่ ก็ขัดขวางโครงหนึ่งของ นพ.ชาญชัย ซึ่งจะมีการกู้ยืมเงิน 120 ล้านบาทจากธนาคารกรุงไทย

ควรบันทึกไว้ด้วยว่า นพ.ชาญชัยได้ย้ายข้างจากพรรคการเมืองเก่าและหันมาสนับสนุนพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นร่างทรงใหม่ของพรรคไทยรักไทย อันที่จริง เขาประสบความสำเร็จในการรวบรวมคะแนนเสียงจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านในสภามาเข้าร่วมกลุ่มการเมืองของเขา นั่นคือ “กลุ่มฮักเมืองแป้” ด้วยเหตุนี้ สภา อบจ.แพร่จึงสามารถลงคะแนนเสียงข้างมากขับไล่นาย พ. ที่เป็นประธานออกได้ นพ.ชาญชัยยังสั่งให้ปลดป้ายรณรงค์หาเสียงที่มีรูปนาง ศ. ออกด้วย ดังนั้น จึงมีเหตุผลตามสมควรที่เชื่อได้ว่า นาง ศ. รู้สึกกริ่งเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจและสถานะทางการเมือง

ภายหลังการลอบสังหาร กลุ่มผู้นำใน อบจ. แพร่เปลี่ยนหน้าไปเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี ทั้งนาง ศ. และนาย พ. ไม่เคยได้รับเลือกตั้งดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีก[3] ถึงแม้ทั้งสองไม่เคยถูกตั้งข้อหา แต่ในสายตาของสังคม ทั้งสองถูกตั้งข้อกังขา นี่แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้การกระจายอำนาจไม่สามารถกำจัดความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่สังคมมีอำนาจในการเลือกโดยอาศัยการเลือกตั้งเพื่อคัดสรรคนที่เห็นว่าเหมาะสมต่อตำแหน่งทางการเมืองและปฏิเสธคนที่มีประวัติใช้ความรุนแรง

ในส่วนของการดำเนินคดีในศาล หลังจากผ่านกระบวนการยาวนาน ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ศาลฎีกาตัดสินจำเลยทั้งสอง กล่าวคือมือปืนกับคนขี่มอเตอร์ไซค์ ให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องผู้ต้องหาคนอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งรวมทั้งนาย จ. (ญาติของนาง ศ.) เพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยว่าเขามีส่วนพัวพันกับการลอบสังหาร

ในอดีตช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และกลางศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจของจังหวัดแพร่ถูกกำหนดทิศทางอย่างมากจากการแข่งขันเพื่อช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน ไม้ ยาสูบและแร่วุลแฟรม ทรัพยากรเหล่านี้ทำให้ตระกูลนักการเมืองใหญ่ๆ หลายตระกูลร่ำรวยขึ้นมา สมาชิกของตระกูลมั่งคั่งทรงอิทธิพลเหล่านี้มักถูกเรียกขานว่า “พ่อเลี้ยง” ซึ่งหมายถึงคนที่รวย มีอำนาจ มีบริวารมาก และมักพัวพันกับการใช้ความรุนแรงในการสร้างความเคารพนับถือจากชาวบ้าน

พึงตั้งเป็นข้อสังเกตด้วยว่า การเสียชีวิตของ นพ.ชาญชัยเกิดขึ้นเพียงแค่สองเดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไป กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในระดับชาติเท่านั้น ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นเช่นกัน ทั้งนี้สืบเนื่องจากความขัดแย้งส่วนบุคคลและความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองจากพรรคเดียวกันสามารถบานปลายและกลายเป็นความรุนแรงได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ถึงแม้การชี้ชัดว่าอะไรคือสาเหตุจริงๆ ของการลอบสังหารเป็นเรื่องยาก (เพราะปรกติมักมีมากกว่าหนึ่งเหตุผล) แต่เราก็ไม่ควรละเลยภูมิหลังของการแข่งขันทางเศรษฐกิจด้วย

ณัฐกร วิทิตานนท์
อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียนในหัวข้อ “Conflict and Violence of Local Politics in the Upper North of Thailand (A.D. 2000-2009)” ซึ่งเสนอต่อมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

References:

Anderson, Benedict. “Murder and Progress in Modern Siam.” New Left Review 181 (May-June 1990), pp. 33-48.
Paige, Glenn D. Nonkilling Global Political Science. Honolulu, Hawaii: Center for GlobalNonkilling, 2009.
ประจักษ์ ก้องกีรติ. เลือกตั้งไม่นองเลือด : ความรุนแรง ประชาธิปไตย กับการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554. กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2556.

Notes:

  1. คำว่า “การลอบสังหาร” สามารถใช้สลับแทนกันกับคำว่า “ฆาตกรรม” ได้ ในภาษาไทย “การลอบสังหาร” หมายถึงลอบฆ่าใครบางคน ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากคำว่า ‘assassination’ ในภาษาอังกฤษอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลเบื้องต้นในที่นี้รวบรวมจาก (1) หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2543 จนถึง 31 ธันวาคม 2552 แหล่งข้อมูลนี้สามารถค้นได้ในหอสมุดแห่งชาติ (2) ฐานข้อมูลออนไลน์สองแหล่ง กล่าวคือ ห้องสมุดข่าวมติชนและฐานข้อมูลกฤตภาคข่าว คำนิยามของ “นักการเมืองท้องถิ่น” ในงานศึกษาชิ้นนี้ไม่รวมกำนันกับผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งบุคคลที่เคยอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว
  2. ปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยมีจำนวนคดีฆาตกรรมสูงลิบลิ่ว จำนวนคดีฆาตกรรมตามปรกติอยู่ที่ระหว่าง 4,000-5,000 คดี แต่ในปี 2546 ตัวเลขกระโดดขึ้นไปที่ 6,434 คดี โปรดดู: http://statistic.ftp.police.go.th/ dn_main.htm (accessed on 16 July 2010)
  3. ในปี 2547 คดีความรุนแรงที่บันทึกไว้มีทั้งหมด 1,843 คดี และ 1,703 คดีในปี 2548 โปรดดูเพิ่มเติมใน ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี (พ.ศ.2547-2548), Deep South Watch Network. Available online: http://www.deepsouthwatch.org/node/16 (accessed on 22 December 2009)