การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มของระบบเศรษฐกิจมาเลเซีย: เหล้าใหม่ในขวดเก่า?

Guanie Lim & Yat Ming Ooi

สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ที่ประเทศจีนมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งการมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  กลุ่มผู้วางนโยบายภายในภูมิภาคนี้จึงเห็นสมควรที่จะดำเนินการเชิงรุกในการเชิญชวนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment–FDI) จากประเทศจีนให้มากขึ้น  ความน่าสนใจของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนเกิดขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาที่ความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมมีภาวะชะงักงันในเศรษฐกิจหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดภาวะที่ถูกหลอกหลอนจากปัญหากับดักรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap–MIT) 1  ในประเด็นนี้ ประสบการณ์ของมาเลเซียอาจช่วยให้เกิดความเข้าใจที่มีประโยชน์  เพื่อแสวงหาประโยชน์สูงสุดจากความสัมพันธ์อันยาวนานกับจีน มาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงพยายามผลักดันความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจ  กล่าวในรายละเอียดก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก (ดำรงตำแหน่งปี 2009-2018) ได้ทุ่มเทความพยายามและความตั้งใจอย่างมากในการชักชวนบรรษัทข้ามชาติของจีนเข้ามาในประเทศ  รัฐบาลนาจิบถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่ขยายการพึ่งพิงบรรษัทข้ามชาติของจีนอย่างมาก เพื่อหาทางบรรลุภารกิจอันตั้งเป้าหมายไว้สูง โดยมีช่วงระยะเวลาคืนทุนนานกว่าปรกติ 2 อันที่จริง โครงการร่วมมือกับจีนที่โดดเด่นที่สุดบางโครงการ ซึ่งริเริ่มขึ้นในสมัยรัฐบาลนาจิบและนายกรัฐมนตรีคนต่อๆ มาก็ยังดำเนินการสานต่อ ประกอบด้วยโครงการระบบรางเชื่อมชายฝั่งตะวันออก East Coast Rail Link (ECRL) โครงการนิคมอุตสาหกรรม Malaysia-China Kuantan Industrial Park (MCKIP) และโครงการ Bandar Malaysia ซึ่งเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบสถานีขนส่งมวลชน 3

ในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นองค์ประกอบกุญแจสำคัญ รัฐบาลมาเลเซียเลือกบริษัท Alibaba เป็นผู้ร่วมโครงการ  Alibaba ขึ้นชื่อว่าเป็นบรรษัทข้ามชาติจีนที่มีพลวัตมากที่สุดหลังจากปรากฏตัวบนเวทีโลกเมื่อไม่กี่ปีก่อน  บรรษัทข้ามชาติจีนบริษัทนี้เข้ามามีส่วนร่วมในเขตการค้าเสรีดิจิทัล (Digital Free Trade Zone–DFTZ)  นี่คือความเป็นหุ้นส่วนรัฐ-เอกชน (Public-Private Partnership–PPP) ที่ได้รับการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างมาก โดยมีกลุ่มบริษัทที่เปรียบเสมือนสมอหลักจากทั้งจีนและมาเลเซีย  เขตการค้าเสรีดิจิทัลนี้ตั้งอยู่ในอำเภอเซปัง รัฐเซอลาโงร์  โครงการนี้ถูกมองว่าจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของมาเลเซีย  มีความคาดหวังว่าการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและความรู้ที่บริษัท Alibaba จะนำเข้ามาให้ จะช่วยผลักดันบริษัทต่างๆ ของมาเลเซียให้ข้ามพ้นกิจกรรมที่แข่งขันกันด้วยแรงงานราคาถูกเป็นหลัก และก้าวกระโดดไปสู่กิจกรรมที่ซับซ้อนขั้นสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเดิม  แล้วด้วยวิธีนี้ก็จะผลักดันประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง  อย่างน้อยที่สุดในทางทฤษฎี เขตการค้าเสรีดิจิทัลควรเป็นความสำเร็จที่ช่วยยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมาเลเซีย  อย่างไรก็ตาม มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่ หรือความเป็นจริงกลับกลายเป็นอย่างอื่น?  นี่คือคำถามหลักที่จะสำรวจดูในบทความนี้


DFTZ Goes Live 2017. Promotional launch video.

ตรวจสอบความเป็นจริงของเขตการค้าเสรีดิจิทัล

ถ้าเช่นนั้น เขตการค้าเสรีดิจิทัลมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรบ้างกับวิถีการพัฒนาของระบบนิเวศอุตสาหกรรมในมาเลเซีย?  โครงการนี้เริ่มต้นมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2016 เมื่อนาจิบประกาศก่อตั้งเขตการค้าเสรีดิจิทัลในคำแถลงงบประมาณปี 2017  ภายในช่วงเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ นาจิบก็แต่งตั้งแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่นับหน้าถือตา ให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล 4  ถึงแม้มีความคาดหวังว่าแจ็ค หม่าจะช่วยเหลือมาเลเซียในภาพรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการผลักดันระบบจ่ายเงินดิจิทัล อาทิ Alipay  ธุรกรรมธนาคารออนไลน์ และระบบสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ  แต่หนึ่งในรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดจนถึงทุกวันนี้ก็คือ เขตการค้าเสรีดิจิทัล 5  โครงการนี้เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2017 โดยที่บริษัท Alibaba กระโจนเข้ามาทันทีในเวลาแค่ไม่กี่เดือนหลังจากรัฐบาลมาเลเซียยื่นข้อเสนอให้

บทบาทของ Alibaba เห็นได้ชัดเจนเมื่อเราพิจารณาต้นแบบธุรกิจของเขตการค้าเสรีดิจิทัล  คุณค่าที่มันนำเสนอก็คือ เขตการค้าเสรีดิจิทัลคือ เขตเศรษฐกิจที่ขอบเขตงานบริการทั้งหมดซึ่งจำเป็นต่อการสร้างหลักประกันการขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว มีตารางเวลาแบบที่ทำให้สามารถทยอยส่งสินค้าได้ตลอดเวลา  เขตนี้เป็นแพลตฟอร์มการค้าทางอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มการค้าโลกทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic World Trade Platform–e-WTP) แห่งแรกของ Alibaba  ส่วนเสริมที่ใช้สนับสนุนแพลตฟอร์มบริการทางอิเล็กทรอนิกส์  (eServices Platform) ก็คือ ศูนย์รวมการจัดการหีบห่อและขนส่งตามคำสั่งซื้อออนไลน์ (eFulfilment hub) และศูนย์บริการสัญญาณดาวเทียม (satellite services hub) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาที่แบ่งเป็นสองเฟส เฟสแรกเป็นความรับผิดชอบของ Pos Malaysia (การไปรษณีย์แห่งชาติมาเลเซีย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ) โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 60 ล้านริงกิต 6  งบประมาณนี้ใช้เพื่อปรับปรุงยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ 2 (Low-Cost Carrier Terminal–LCCT) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกแก่เขตการค้าเสรีดิจิทัล ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2019  ส่วนเฟสที่สองของโครงการนี้คืออะไรแทบไม่มีใครรู้  อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจกันว่า Alibaba ยังคงมีบทบาทหลักต่อไป โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นถึง 70%  ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นการถือหุ้นของ Malaysia Airports Holdings Berhad (MAHB) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นกัน

Kuala Lumpur, 2017: Alibaba Group founder Jack Ma has praised Malaysia for being the first country to implement a digital free trade zone (DFTZ) at Sepang, Malaysia. Photo: SL Chen, Shutterstock

ข้อมูลเท่าที่เปิดเผยนี้จึงชี้ให้เห็นข้อน่าสังเกตสำคัญสองประการ  ประการแรก โครงการนี้ดูเหมือนดำเนินการในสภาพแวดล้อมที่เกือบเหมือนดินแดนอิสระ มีความยุ่งเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมในวงกว้างเพียงเล็กน้อย  นอกเหนือจากที่ตั้งที่ค่อนข้างแยกตัว (ประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง) จากศูนย์กลางธุรกิจของกัวลาลัมเปอร์แล้ว ก็ไม่มีความแน่ชัดว่าชาวมาเลเซียได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเขตการค้าเสรีดิจิทัลนี้มากน้อยแค่ไหน  อย่างไรก็ตาม เรายังพออนุมานได้บ้าง  ยกตัวอย่างเช่น โครงการนี้อ้างถึงวิสัยทัศน์ที่จะขับเคลื่อนพลังของผู้ประกอบการให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs)  การส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าร่วมในเขตการค้าเสรีดิจิทัลเต็มไปด้วยความหวังว่า ธุรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซที่เพิ่งตั้งต้นของมาเลเซียจะได้รับแรงกระตุ้น อย่างน้อยก็ตามแนวคิดของกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ของมาเลเซีย 7  การวิเคราะห์เบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า โดยอาศัยเขตการค้าเสรีดิจิทัลนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีท้องถิ่น 13,000 แห่งสามารถเข้าถึงตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกได้ในช่วงปลายปี 2019  ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นแบบชี้กำลังจากจำนวนแค่ 2,000 แห่งเมื่อปลายปี 2017 8

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นดูเหมือนปิดบังบางอย่างมากกว่าเปิดเผย  งานศึกษาของ Tham และ Kam 9 ยกประเด็นที่น่าวิตกสองประเด็นคือ ไม่มีการแยกความแตกต่างเลยระหว่างบริษัทเอสเอ็มอีที่เป็นหน้าใหม่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กับบริษัทเอสเอ็มอีที่คร่ำหวอดในวงการมาก่อน ซึ่งใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซมาตั้งแต่ก่อนการตั้งเขตการค้าเสรีดิจิทัล  และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการออกจากตลาดนี้ของบริษัทเอสเอ็มอีที่เคยมีรายชื่ออยู่ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเขตการค้าเสรีดิจิทัลเลย  ประเด็นก็คือ จนกว่าจะมีข้อมูลที่เข้าถึงได้มากกว่านี้ น่าจะเป็นความรอบคอบกว่าหากเราตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน (หรืออย่างน้อยที่สุดก็มองในแง่บวกอย่างระมัดระวัง)

ประการที่สอง “ผลของการแยกตัว” สังเกตเห็นได้ในแง่ของความเป็นเจ้าของทุนด้วย  โดยหลักใหญ่ใจความแล้ว เขตการค้าเสรีดิจิทัลเป็นการร่วมหุ้นส่วนที่ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจของมาเลเซีย (Pos Malaysia และ MAHB) กับบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น (Alibaba)  ความร่วมมือแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับนักวิเคราะห์ที่คุ้นเคยกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมของมาเลเซีย  การเชิญชวนทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนโดยตรงก็เป็นไปเพื่อทลายความล้าหลังทางเทคโนโลยีของประเทศ  ในประเด็นนี้ไม่มีตัวอย่างไหนชัดเจนยิ่งกว่าการก่อตั้งศูนย์กลางด้านอิเล็กทริกและอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติที่ปีนัง  การที่มาเลเซียต้องพึ่งพิงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยิ่งขยายตัวมากกว่าเดิมในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อมาเลเซียพยายามรุกหนักด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ รัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะดึงเอารัฐวิสาหกิจเข้ามา เพื่อแก้ไขความล้าหลังด้านเทคโนโลยีขององค์กรเหล่านี้ด้วยการร่วมทุนกับบรรษัทข้ามชาติ 10  นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทางการเงินแล้ว ปัญหาท้าทายที่สุดประการหนึ่งที่รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ต้องหาทางแก้ไขก็คือ สิทธิบัตรและเงื่อนไขของเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับการบริหารถูกกันไว้ไม่ให้เอื้อมถึง  ทั้งหมดนี้แปรผลไปเป็นการแบ่งงานกันทำในภาคปฏิบัติ  นั่นคือ รัฐวิสาหกิจของมาเลเซียรับผิดชอบแต่เรื่องต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี (เช่น การออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลและการทำตลาด) ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติควบคุมด้านต่างๆ ที่เป็นเทคโนโลยีของการลงทุน (เช่น ปัจจัยนำเข้า การออกแบบโรงงาน และขั้นตอนระบบงานผลิต)  การขาดความเป็นอิสระเช่นนี้ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชาวมาเลเซียไม่กล้าและ/หรือถูกกีดกันจากการพัฒนาความสามารถที่ยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ (เช่น การพยายามยกระดับมาตรฐานสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อเจาะตลาดในประเทศที่ก้าวหน้ากว่า)

จนถึงปัจจุบัน บริษัทเหล่านี้หลายบริษัทต้องล้มหายตายจากจากอุตสาหกรรมที่ตนเกี่ยวข้อง  ผลประกอบการของมาเลเซีย (เช่น ส่วนแบ่งตลาดโลก) ในอุตสาหกรรมหนักเหล่านี้ก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอันด้วย  ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องก็คือ งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การที่มาเลเซียพึ่งพิงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและรัฐวิสาหกิจภายในประเทศให้เป็นพลังขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรม ดำเนินไปพร้อมกับการเพิกเฉยละเลยภาคเอกชนและตัวแปรด้านเศรษฐกิจจุลภาคอื่นๆ (เช่น การวางรากฐานทักษะและโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้ประกอบการทุกภาคส่วนโดยถ้วนหน้า) 11  ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข เพื่อให้บริษัทธุรกิจของมาเลเซียสามารถไต่บันไดเทคโนโลยีขึ้นไปได้ และสร้างมูลค่ามากขึ้นจากผลผลิตและการขายสินค้าและบริการในขั้นสูงขึ้นไป เพื่อเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง” ให้ได้ 12

บทสรุป

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลและองค์กรต่างๆ กำลังใช้ประโยชน์จากธุรกิจแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น โดยถือเป็นหนทางเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล  เขตการค้าเสรีดิจิทัลเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สาธิตให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มถูกนำมาใช้ด้วยความทะเยอทะยานที่มุ่งหวังจะกระตุ้นให้มาเลเซียเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล  อย่างไรก็ตาม เท่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เขตการค้าเสรีดิจิทัลมีความเกี่ยวข้องพัวพันในระดับต่ำมากกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจใหญ่  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีหลากหลายและมักมีความคาดหวังที่แข่งขันกันเอง เขตการค้าเสรีดิจิทัลจึงจำเป็นต้องปรับปรุงต้นแบบธุรกิจของตนด้วยการปรับเปลี่ยนกรอบการนำเสนอคุณค่าของตัวเอง 13  ยิ่งกว่านั้น การที่รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจภายในประเทศไม่มีความเป็นเจ้าของทุนโดยตรงในเขตการค้าเสรีดิจิทัล จะยิ่งลดทอนการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีที่แท้จริง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับระบบเศรษฐกิจของมาเลเซีย

ผู้มีอำนาจวางนโยบายควรทบทวนว่า ความเป็นหุ้นส่วนรัฐ-เอกชนขนาดใหญ่อย่างเขตการค้าเสรีดิจิทัลเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการยกระดับระบบเศรษฐกิจของมาเลเซียหรือไม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นแง่มุมที่ต้องการมากที่สุดกลับขาดหายไป  ผู้วางนโยบายควรหันไปพิจารณาระบบการจัดการรูปแบบอื่นบ้าง เช่น แนววิธีสร้างระบบนิเวศ เป็นต้น แนววิธีสร้างระบบนิเวศจะอำนวยโครงสร้างให้บรรษัทข้ามชาติเป็นสมอหลักและรัฐวิสาหกิจมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน  วิธีการนี้เปิดโอกาสให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายจำนวนมากขึ้นได้เข้ามาอยู่ในกระบวนการสร้างมูลค่า โดยมีจุดเน้นชัดเจนที่การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ระหว่างบริษัทสมอหลัก ผู้มีหน้าที่สนับสนุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มจะบรรลุเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแท้จริงทั้งในระดับเมือง ระดับภูมิภาค และระดับชาตินั้น จำเป็นต้องมีแนววิธีการปฏิบัติรูปแบบใหม่อย่างเป็นระบบ

Guanie Lim
National Graduate Institute for Policy Studies, Japan
Yat Ming Ooi
University of Auckland, New Zealand

Notes:

  1. Ohno K, The Middle Income Trap: Implications for Industrialization Strategies in East Asia and Africa (National Graduate Institute of Policy Studies 2009)
  2. Gomez ET et, China in Malaysia: State-Business Relations and the New Order of Investment Flows (1st 2020 edition edn, Palgrave Macmillan 2020)
  3. Liu H and Lim G, ‘The political economy of a rising China in Southeast Asia: Malaysia’s response to the belt and road initiative’ (2019) Journal of Contemporary China, 28:116, 216-231; Camba A, Lim G and Gallagher K, ‘Leading sector and dual economy: how Indonesia and Malaysia mobilised Chinese capital in mineral processing’ (2022) Third World Quarterly,43:10, 2375-2395
  4. Ho WF, ‘Najib: Alibaba founder Jack Ma agrees to be advisor to Malaysian Govt on digital economy’ (2016) The Star
  5. Bernama, ‘Jack Ma can help spearhead Malaysia’s digital economy – PM Najib’ (2016)
  6. Tham SY and Yi AKJ, Exploring the Trade Potential of the DFTZ for Malaysian SMEs (ISEAS–Yusof Ishak Institute 2019)
  7. Ee AN, ‘Govt wants more SMEs in Digital Free Trade Zone’ (2018) www.thesundaily.my
  8. Chin M-Y and others, Digital Free Trade Zone in Facilitating Small Medium Enterprises for Globalization: A Perspective from Malaysia SMEs (2021)
  9. Ee AN, ‘Govt wants more SMEs in Digital Free Trade Zone’ (2018) www.thesundaily.my
  10. Hasan H and Jomo KS, ‘Rent-Seeking and Industrial Policy in Malaysia’ in Jomo KS (ed), Malaysian Industrial Policy (NUS Press 2007)
  11. Menon J, ‘Growth without Private Investment: What Happened in Malaysia and Can it be Fixed?’ (2014) 19 Journal of the Asia Pacific Economy 247-271; Gomez ET, Cheong KC and Wong C-Y, ‘Regime Changes, State-Business Ties and Remaining in the Middle-Income Trap: The Case of Malaysia’ (2021), Journal of Contemporary Asia, 51:5, 782-802
  12. Wang H and Lim G, ‘Catching-up in the semiconductor industry: Comparing the Chinese and Malaysian experience’ (2021), Asian Journal of Technology Innovation, DOI: 10.1080/19761597.2021.2007144
  13. Ooi YM and Husted K, ‘Framing multi-stakeholder value propositions: A wicked problem lens’ (2021), Technology Innovation Management Review, 11:4, 26-37