แนวคิด “พุทธศาสนาเพื่อสังคม” กับการสร้างชาติเวียดนามในงานเขียนยุคต้นของติช นัท ฮันห์

Adrienne Minh-Châu Lê

ขบวนการพุทธศาสนาเวียดนามใต้ในช่วงทศวรรษ 1960 มักได้รับการจดจำผ่านภาพการประท้วงต่างๆ อาทิ ภาพประชาชนเดินขบวนพร้อมป้ายผ้าและพระภิกษุเผาตัวเองบนถนนในเมือง  ชาวพุทธเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างที่มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐเวียดนาม  เหตุการณ์ที่ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือ “วิกฤตการณ์พุทธศาสนา” ในปี 1963 เมื่อชาวพุทธหลายพันคนลงสู่ท้องถนนเพื่อประท้วงนโยบายของรัฐบาลและเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 1 สำหรับคณะที่ปรึกษาชาวอเมริกัน  วิกฤตการณ์ครั้งนี้คือข้อพิสูจน์ว่าประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยมหมดความสามารถในการปกครอง  เขาถูกกองทัพรัฐประหารโดยมีซีไอเอหนุนหลังในช่วงปลายปีนั้น  นักประวัติศาสตร์หลายคนเคยเขียนถึงความเข้มแข็งและอิทธิพลของขบวนการพุทธศาสนา อาทิ Robert Topmiller, James McAllister, Edward Miller และ Sophie Quinn-Judge 2 อย่างไรก็ตาม งานวิชาการเกี่ยวกับรากฐานเชิงประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของขบวนการนี้ ตลอดจนพลวัตภายในขบวนการเอง ยังมีการเขียนถึงน้อยมาก

บทความนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะสร้างความกระจ่างมากขึ้นแก่แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังขบวนการพุทธศาสนา โดยสำรวจตรวจสอบงานเขียนของพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่ง นั่นคือ ติช นัท ฮันห์ (ทิก เญิ้ต หั่ญ) (1926-2022) ผู้ส่งเสริมแนวคิดพุทธศาสนาเพื่อสังคมในฐานะขบวนการรักชาติและขบวนการสร้างชาติโดยไม่ใช้ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง  ตลอดชีวิตช่วงต้นของเขาในเวียดนามภาคกลางและเวียดนามใต้ ติง นัท ฮันห์ตั้งข้อสังเกตว่า ศาสนาพุทธจารีตที่แยกตัวโดดเดี่ยวอยู่ในวัดไม่ได้สนใจคิดแก้ไขปัญหาทางโลกของประชาชน 3 เพื่อให้ศาสนามีความใกล้ชิดและรับใช้ประชาชนระหว่างสงครามกลางเมือง กลุ่มผู้นำชาวพุทธต้องเข้ามาพัวพันกับความทุกข์ของสังคมด้วย  ช่างปลายทศวรรษ 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1960 ติช นัท ฮันห์เคยพยายามจนสุดท้ายเลิกพยายามที่จะปฏิรูปสถาบันพุทธศาสนาจารีต  จากนั้นเขาหันไปหาเยาวชนในฐานะผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมแทน  ในกรุงไซ่ง่อน เขาก่อตั้งโรงเรียนสำหรับให้การศึกษาด้านพุทธศาสนาและการทำงานเพื่อสังคม โดยมีจิตมุ่งหวังว่าจะเสริมสร้างอำนาจให้แก่คนรุ่นต่อไปเพื่อเปลี่ยนไปสู่วิถีใหม่ กล่าวคือ แทนที่จะทำสงคราม พวกเขาควรสร้างประเทศด้วยงานบริการสังคมและการปรองดองโดยไม่ใช้ความรุนแรง  ในขณะที่กลุ่มเพื่อนภิกษุผู้เห็นต่างจากผู้มีอำนาจมุ่งประท้วงต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านสงคราม ติช นัท ฮันห์เป็นภิกษุรูปเดียวที่จัดตั้งขบวนการเยาวชนพร้อมด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาวเชิงบวกเพื่อพุทธศาสนาและชาตินิยมเวียดนาม

Thích Nhất Hạnh in Paris in 2006. Wikipedia Commons

ส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวในพุทธศาสนาและพุทธศาสนาเพื่อสังคมในเวียดนาม

แนวคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาเพื่อสังคมเกิดขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูพุทธศาสนาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งดำเนินไปทั่วทั้งเอเชีย  เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน ติช นัท ฮันห์ได้รับอิทธิพลอย่างแรงกล้าจากขบวนการฟื้นฟูนี้ 4 เขาเริ่มเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาเพื่อสังคมในช่วงทศวรรษ 1950 สนับสนุนให้มีการปฏิรูปสถาบันศาสนาและต่อมาก็สร้างแรงบันดาลใจแก่ขบวนการเยาวชนให้มีจิตวิญญาณด้านบริการสังคม

ติช นัท ฮันห์ต้องการให้สถาบันของศาสนาพุทธทำงานรับใช้ประเทศที่แตกแยกด้วยสงครามและส่งเสริมการสร้างชาติเวียดนามที่มีเอกราชและสันติภาพ  เขาสนับสนุนการปฏิรูปอย่างสุดจิตสุดใจ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะช่วยให้ชาวพุทธดำเนินการประสานกันในระดับชาติได้  ความหวังของเขาแสดงออกมาในวารสาร Vietnamese Buddhism [Pht Giáo Vit Nam] ซึ่งเขาทำหน้าที่หัวหน้ากองบรรณาธิการตั้งแต่ปี 1956 จนถึงปี 1958  วารสารฉบับนี้เป็นวารสารทางการของสมาคม General Buddhist Association [Tổng Hội Phật Giáo Việt Nam] ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 เพื่อประสานรวมกลุ่มชาวพุทธทั้ง 6 กลุ่มในเวียดนามภาคกลางและภาคใต้เข้าด้วยกัน

ติช นัท ฮันห์ใช้งานเขียนในฐานะหัวหน้ากองบรรณาธิการและภายใต้นามปากกา “สาถาว” (Dã Thảo) วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้นำชาวพุทธที่ไม่เต็มใจรวมตัวประสานงานและระดมพลังเพื่อประโยชน์ของสังคม  เขาแจกแจงถึงการปฏิรูปที่เขาเชื่อว่าจำเป็น อันประกอบด้วย เชื้อเชิญกลุ่มชาวพุทธทุกกลุ่มมารวมตัวกันในสมาคม General Buddhist Association  วางมาตรฐานการเรียนการสอน การจัดทำโครงการ และการแต่งกายของพระสงฆ์ในทุกภูมิภาค รวมทั้งสร้างศูนย์กลางการนำและการเงิน 5 ในเรื่องเหล่านี้ เขาใช้ภาษาแบบนักเคลื่อนไหวมากกว่าน้ำเสียงเป็นกลางแบบบรรณาธิการอาชีพ  เขาเขียนว่า ชาวพุทธทั้งปวง “ต้องยอมรับว่าความกลมเกลียวอย่างแท้จริงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุดในยุคสมัยของเรา  ศาสนาพุทธคือพลังเพื่อสันติภาพ และสมาคม General Buddhist Association คือแนวร่วมของเรา” 6 เขายังเรียกร้องอย่างเร้าอารมณ์ให้แกนนำของสมาคมออกมาแสดงบทบาท  “ชื่อของพวกท่านจะได้รับการจารึกลงในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาเวียดนาม….สายตานับล้านคู่จับจ้องอยู่ที่พวกท่าน กัลยาณมิตรทั้งหลาย  จงวางตัวให้สมกับชื่อเสียงความเป็นผู้นำที่ปราดเปรื่อง  อย่าให้สาวกของพวกท่านต้องผิดหวัง” 7

การใช้วารสารของสมาคม General Buddhist Association เพื่อวิจารณ์แกนนำของสมาคมเอง ติช นัท ฮันห์อาจก้าวล้ำเส้นบทบาทในฐานะหัวหน้ากองบรรณาธิการ  เขาถึงขนาดตีพิมพ์จดหมายฉบับหนึ่งเขียนรณรงค์ให้ผู้อ่านกดดันต่อสมาคม General Buddhist Association ให้ออกมาดำเนินการปฏิรูป 8 วารสารฉบับนี้ยุติการเผยแพร่หลังจากตีพิมพ์ได้สองปี  สมาคมให้เหตุผลว่าเป็นเพราะขาดเงินทุน  แต่ติช นัท ฮันห์ปักใจว่าแกนนำสมาคมสั่งยุติวารสารเพราะพวกเขาต้องการหยุดการวิพากษ์วิจารณ์และการรณรงค์ของเขา  เขารู้สึกว่าการปิดตัวของวารสารเป็นการปฏิเสธแนวคิดของเขาอย่างชัดเจน และถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่สำหรับโอกาสของพุทธศาสนาในเวียดนามโดยรวม 9

ในสายตาของติช นัท ฮันห์ ศักยภาพอันไม่เหมือนใครของพุทธศาสนาเวียดนามต้องสูญเปล่าเพราะกลุ่มผู้นำทางศาสนาพอใจแค่การประกอบพิธีกรรมตามจารีตประเพณี  พวกเขาไม่ยอมใช้เครือข่ายและอิทธิพลของตนมาแก้ไขความจำเป็นเร่งด่วนของชุมชน  “การเทศน์ท่ามกลางชุมชนที่ตกทุกข์ได้ยากไม่มีความหมายอะไรเลย” เขาเขียนไว้ในเวลาต่อมา ขณะพรรณนาถึงบทบาทในอุดมคติของพุทธศาสนาเพื่อสังคม “การเทศน์ที่พึงมีอย่างแท้จริงคือการกระทำ การกระทำแบบที่สามารถยุติความทุกข์เรื้อรังได้ในโลกความเป็นจริง” 10 หลังจากแนวคิดของเขาเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันและการระดมพลังถูกเมินเฉยและถูกปฏิเสธจากผู้นำศาสนา  ติช นัท ฮันห์ก็ย้ายจุดสนใจกับความหวังไปฝากไว้ที่ผู้กระทำการชุดใหม่ นั่นคือ พุทธศาสนิกเยาวชน

Thich Nhat Hanh at Hue City, Vietnam (2007). Wikipedia Commons

เยาวชนชาวพุทธกับการสร้างชาติ

ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ติช นัท ฮันห์เริ่มจัดตั้งและชักชวนเยาวชนชาวพุทธให้มาเป็นผู้นำทางไปสู่สังคมเวียดนามที่สันติสุขและรุ่งเรือง  ในบทความชุดหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า “คำปรารภต่อเยาวชนผู้อยู่ในช่วงวัยยี่สิบ” [“Nói Với Tuổi Hai Mươi”]  เขาเรียกร้องให้ผู้อ่านเข้ามารับช่วงการปฏิวัติแนวทางสันติวิธีครั้งใหม่  เขาจินตนาการว่าคนรุ่นต่อไปมีความกระหายหาทางออก อีกทั้งมีกำลังวังชาและพลังที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

บทความชุด “คำปรารภต่อเยาวชน” นี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Preserving the Fragrance of the Motherland [Giữ Thơm Quê Mẹ] รวม 8 ตอนด้วยกัน  แต่ละตอนเน้นหัวข้อต่างกันไป ประกอบด้วย ความเหงา [cô đơn], อุดมคติ [lý tưởng], การศึกษาวิชาการ [học hành], ความรัก [thương yêu] และศาสนา [tôn giáo]  เนื้อหาในบทความสลับไปมาระหว่างการหยิบยกปัญหาในชีวิตประจำวันขึ้นมากล่าวถึงอย่างนุ่มนวลกับการเรียกร้องให้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเร่าร้อน  ดูเหมือนติช นัท ฮันห์ต้องการทั้งปลอบใจและปลุกเร้าคนหนุ่มสาวที่กำลังแสวงหาความหมายของชีวิตท่ามกลางสงครามกลางเมืองไปพร้อมกัน  เขาต้องการให้คนหนุ่มสาวรู้สึกว่ามีคนเข้าใจพวกเขา  พร้อมกันนั้นก็กระตุ้นให้คนหนุ่มสาวคัดค้านสงครามและโครงสร้างอำนาจยามสงคราม  ความสันติในชาติจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อคนรุ่นต่อไปเลือกที่จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยความรักและความเมตตา  “ถ้าท่านรู้จักรักและให้อภัย  เมื่อนั้นจิตวิญญาณของประเทศเราจะถูกปลุกให้ฟื้นตื่น….ปืนและลูกกระสุนจะถอนลมหายใจแห่งความโล่งอก เครื่องบินรบจะหลั่งน้ำตา ลูกระเบิดจะเงียบเสียง และบ้านเกิดของเราจะสิ้นสุดการเป็นสมรภูมิเสียที” 11

บทความชุดนี้หนุนให้เยาวชนลุกขึ้นต่อต้านผู้มีอำนาจรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อการก่อสงคราม แต่เป็นการต่อต้านที่ปราศจากความขุ่นแค้น รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างสังคมใหม่  “มีเพียงการออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นหมู่คณะของเยาวชนเท่านั้น….ที่มีพลังอำนาจพอจะรื้อโครงสร้างสังคมทั้งในจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก” เขากล่าวเช่นนั้น  เพื่อแปรวิสัยทัศน์นี้เป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  ติช นัท ฮันห์จึงก่อตั้งโรงเรียนให้นักศึกษาวัยมหาวิทยาลัยได้ศึกษาศาสนาและการทำงานเพื่อสังคมก่อนออกไปทำโครงการพัฒนาและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในชนบท

The School of Youth for Social Service (SYSS) [Trường Thanh Niên Phụng Sự Xã Hội] ก่อตั้งขึ้นในไซ่ง่อนเมื่อปี 1964  นักศึกษาที่นี่ได้รับการฝึกฝนให้ทำงานพัฒนาในชนบท ตั้งแต่การขุดบ่อ การสอนอ่านเขียนหนังสือ การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน และการแนะนำวิธีการเกษตรกรรมสมัยใหม่  นอกจากนี้ พวกเขายังนำความช่วยเหลือไปให้สถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกทิ้งระเบิดและน้ำท่วมด้วย  เป้าหมายคือเพิ่มอำนาจแก่พุทธศาสนิกเยาวชนให้เป็นผู้กุมชะตากรรมในอนาคตของเวียดนาม  พวกเขาจะสร้างประเทศในอุดมคติของตนขึ้นมาทีละครัวเรือน ทีละโรงเรียน และทีละหมู่บ้าน 12 โรงเรียน SYSS อาศัยวัดเป็นตัวกลางเชื่อมโยงนักศึกษากับหมู่บ้านต่างๆ ทั่วทั้งเวียดนามภาคกลางและเวียดนามใต้  “ศาสนาควรเป็นผู้เชื่อมโยง มิใช่สถาบันอำนาจนิยมที่แบ่งแยกประชาชนออกจากกัน”  ติช นัท ฮันห์เขียนไว้เช่นนี้ เขาอาจกำลังพาดพิงถึงประสบการณ์ของตนที่มีกับสมาคม General Buddhist Association ก็เป็นได้ 13

โครงการพัฒนาและบรรเทาทุกข์ที่เยาวชนเป็นผู้นำมีขนาดเล็ก  มีผู้จบการศึกษาจากโรงเรียน SYSS น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนตลอดช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่โรงเรียนนี้เปิดดำเนินการ  กระนั้นพวกเขาเปรียบเสมือนภาพที่ฉายออกมาจากวิสัยทัศน์การสร้างชาติอันยิ่งใหญ่กว่านั้นของติช นัท ฮันห์  โรงเรียนนี้เป็นขบวนการรากหญ้า ได้รับแรงบันดาลใจจากหลักการพุทธศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งพยายามสร้างรากฐานทางจิตวิญญาณและวัตถุแก่เวียดนาม  เราไม่มีทางรู้ว่าโครงการพุทธศาสนาเพื่อสังคมดังเช่นโรงเรียน SYSS นี้จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและจิตวิญญาณขนาดใหญ่ดังที่ติช นัท ฮันห์เชื่อว่าจำเป็นต้องเกิดขึ้นหรือไม่  แต่เขารู้ว่า เยาวชนไม่สามารถพึ่งพิงสถาบันทางศาสนาที่ชักช้าหรือรัฐบาลที่ตั้งหน้าตั้งตาจะสร้างชาติด้วยการก่อสงคราม  “โรงเรียน School of Youth for Social Service ก่อตั้งด้วยเจตจำนงว่าเราไม่จำเป็นต้องรอคอยรัฐบาล”  เขากล่าวไว้เช่นนั้น 14 เขามีความหวังอย่างยิ่งกับนักศึกษาและคณะทำงานของโรงเรียน  เขาเคยเขียนในเชิงย้อนทบทวนถึงการทำงานของคนเหล่านั้นว่า “คนหนุ่มสาว….กำลังนำทางไปสู่ความคิดและการปฏิบัติแบบชาวพุทธกระแสใหม่  พวกเขากำลังให้กำเนิดพุทธศาสนาเพื่อสังคมขึ้นมา” 15

Buddha hall of the Từ Hiếu temple, Vietnam where Thích Nhất Hạnh was residing when he died on 22 January 2022, at age 95. Wikipedia Commons

บทสรุป

ตลอดสิบปีของการให้การศึกษาและจัดตั้ง ติช นัท ฮันห์ เพื่อนร่วมงานของเขาและบรรดานักศึกษา ช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์ของพุทธศาสนาเพื่อสังคมทั้งภายในและภายนอกเวียดนาม  ในปี 1966 ขณะที่สงครามเวียดนามยึดครองพาดหัวข่าวและสร้างความสะเทือนใจแก่คนหลายล้านคนทั่วโลก ติช นัท ฮันห์ก็เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่การต่อต้านสงครามของชาวพุทธเวียดนาม  นักศึกษาของเขายังคงทำงานต่อไปหลังจากเขาลี้ภัยไปแล้ว  ด้วยการศึกษา งานพัฒนา และงานการทูต พวกเขาปฏิบัติการสร้างชาติในรูปแบบที่พยายามธำรงคุณธรรมแบบชาวพุทธ อันประกอบด้วยความเมตตา การไม่ใช้ความรุนแรง และการปรองดอง

ขบวนการพุทธศาสนาในเวียดนามใต้ต้องต่อสู้กับการแบ่งแยกและความไม่ลงรอยภายใน ตลอดจนการกดขี่ปราบปรามด้วยความรุนแรงจากรัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามด้วย  โรงเรียน SYSS ประสบปัญหารุมเร้าทั้งด้านการเงินและความปลอดภัย  นักศึกษาและคณะทำงานหลายคนได้รับบาดเจ็บ ถูกลักพาตัวหรือถูกสังหาร  ถึงแม้ต้องเผชิญอุปสรรคท้าทายเช่นนี้  ชาวพุทธก็ยังคงเคลื่อนไหวแสดงบทบาทจนสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975  ไม่ว่าจะเป็นการจัดประท้วง การยื่นข้อเรียกร้อง การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงการเปิดโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า  พวกเขาแสดงให้เห็นว่า การประกอบกิจทางศาสนาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวัดวาอาราม  ตรงกันข้าม พวกเขาทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่เกี่ยวข้องกับสงคราม รัฐบาล และภาคประชาสังคม  ความพยายามของพวกเขามีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการเมืองภายในประเทศและทัศนคติของนานาชาติ

Adrienne Minh-Châu Lê
Columbia University

References

DeVido, Elise Anne. “Buddhism for This World: The Buddhist Revival in Vietnam, 1920 to 1951, and Its Legacy,” in Modernity and Re-Enchantment: Religion in Post-Revolutionary Vietnam, by Philip Taylor, ed. Lanham: Lexington Books, 2007.

Lê, Adrienne Minh-Châu. “Buddhist Social Work in the Vietnam War: Thích Nhất Hạnh and the School of Youth for Social Service,” in Republican Vietnam, 1963-1975: War, Society, Diaspora by Trinh Lưu and Tường Vũ, eds. University of Hawai’i Press, 2023.

McAllister, James. “‘Only Religions Count in Vietnam’: Thich Tri Quang and the Vietnam War,” Modern Asian Studies 42, no. 4 (July 2008): 751-782.

Miller, Edward. “Religious Revival and the Politics of Nation Building: Reinterpreting the 1963 ‘Buddhist crisis’ in South Vietnam.” Modern Asian Studies 49, no. 6 (November 2015): 1903-1962.

Topmiller, Robert J. The Lotus Unleashed: The Buddhist Peace Movement in South Vietnam, 1964-1966. Lexington: University Press of Kentucky, 2002.

Notes:

  1. Edward Miller, “Religious Revival and the Politics of Nation Building: Reinterpreting the 1963 ‘Buddhist crisis’ in South Vietnam.” Modern Asian Studies 49, no. 6 (November 2015): 1903-1962.
  2. Robert Topmiller, The Lotus Unleashed: The Buddhist Peace Movement in South Vietnam, 1964-1966 (Lexington: University Press of Kentucky, 2002); James McAllister, “‘Only Religions Count in Vietnam’: Thich Tri Quang and the Vietnam War,” Modern Asian Studies 42, no. 4 (July 2008): 751-782; Sophie Quinn-Judge, The Third Force in the Vietnam War (London: I.B. Tauris, 2017); ibid.
  3. โปรดดูบทความภายใต้นามปากกา Dã Thảo ได้ใน Phật Giáo Việt Nam (1956-1958); และต้นฉบับที่เป็นข้อเขียนส่วนตัวตามวารสารต่างๆ ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำใน Nẻo Về Của Ý (Hà Nội: Nhả Xuất Bản Hồng Đức, 2017).
  4. Elise Anne DeVido, “Buddhism for This World: The Buddhist Revival in Vietnam, 1920 to 1951, and Its Legacy,” in Modernity and Re-Enchantment: Religion in Post-Revolutionary Vietnam, ed. Philip Taylor (Lanham: Lexington Books, 2007), 251.
  5. Dã Thảo (Nhất Hạnh), “Thống Nhất Toàn Vẹn,” Phật Giáo Việt Nam (PGVN) 9 & 10 (April-May 1957), 12-13.
  6. PGVN (Nhất Hạnh), “Vấn Đề Thống Nhất,” PGVN 3 (October 1956), 5.
  7. PGVN, “Vấn Đề Thống Nhất,” 5.
  8. PGVN, “Thực Hiện”, PGVN 11 (June 1957), 3-4.
  9. Nhất Hạnh, Nẻo Về Của Ý (NVCY) (Hà Nội: Nhả Xuất Bản Hồng Đức, 2017), 17.
  10. Nhất Hạnh, “The Struggle for Peace in Vietnam,” in Religious and International Affairs, ed. Jeffrey Rose and Michael Ignatieff (Toronto: House of Amans, 1968), 130.
  11. Nhất Hạnh, “Nói Với Tuổi Hai Mươi” Giữ Thơm Quê Mẹ (GTQM) 4 (October 1965): 56-61.
  12. Adrienne Minh-Châu Lê, “Buddhist Social Work in the Vietnam War: Thích Nhất Hạnh and the School of Youth for Social Service,” in Republican Vietnam, 1963-1975: War, Society, Diaspora ed. Trinh Lưu and Tường Vũ (University of Hawai’i Press, 2023).
  13. Nhất Hạnh, “Nói Với Tuổi Hai Mươi” GTQM 11 (May 1966): 69-73.
  14. Nhất Hạnh, “History of Engaged Buddhism: A Dharma Talk by Thich Nhat Hanh” lecture delivered in Hanoi, Vietnam, May 6, 2008, in Human Architecture 6, no. 3, (Summer 2008): 35.
  15. Nhất Hạnh, NVCY, 286.