โรคระบาดโควิด-19 กับวิวัฒนาการของระบบเผด็จการดิจิทัลในอินโดนีเซีย

Damar Juniarto

เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานจาก Freedom House, 1 IDEA 2 และ Reporters Without Borders 3 ที่ชี้ให้เห็นว่า ภายในโลกดิจิทัลของอินโดนีเซียนั้นมีปัญหาต่อเนื่องเกี่ยวกับพื้นที่ของภาคประชาสังคมที่หดตัวลง  รายงานเหล่านี้สอดคล้องกับรายงานระดับชาติจาก Indonesian National Human Rights Institution และการสำรวจความคิดเห็นประจำปี 2020 ของหนังสือพิมพ์รายวัน Kompas ที่แสดงให้เห็นว่า 36% ของประชากรอินโดนีเซียรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ 4

Tตาราง 1. ความถดถอยของประชาธิปไตยในอินโดนีเซียนับตั้งแต่ปี 2016
Source: The Economist Intelligence Unit, 2021

การมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 204.7 ล้านราย (มกราคม 2022) หรืออย่างน้อย 73.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด 5 อินโดนีเซียมีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงต้นของการเกิดโรคระบาดโควิด-19  รัฐบาลมักใช้คำศัพท์อย่างเช่น “ปกป้องความมั่นคงของชาติ” และ “สร้างเสถียรภาพ” เพื่ออ้างความชอบธรรมให้แก่การผลักดันกฎหมายกดขี่ฉบับใหม่มาใช้กับโลกดิจิทัลของประเทศ 6 ตามรายงานประจำปี 2020 ของ SAFEnet  อินโดนีเซียประสบกับพัฒนาการที่น่าเป็นห่วงในสามประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบเผด็จการดิจิทัล กล่าวคือ การสอดแนม การเซนเซอร์และการปิดปาก และการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต

การสอดแนมจากภาครัฐในโลกดิจิทัล

หลังจากโรคระบาดเริ่มขึ้นในอินโดนีเซียเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ประธานาธิบดีโจโกวีสั่งให้หน่วยงานด้านข่าวกรองของรัฐคอยดูแลระเบียบสังคมอย่างเข้มงวด  ในเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีและรัฐบาลกลับยังคงส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศต่อไป โดยอ้างว่าอินโดนีเซียปลอดภัยต่อการมาท่องเที่ยวและไวรัสสายพันธุ์โคโรนาจะไม่ระบาดในประเทศนี้เนื่องจากอินโดนีเซียมีสภาพภูมิอากาศเขตร้อน  หนึ่งเดือนต่อมา ตำรวจเริ่มควบคุมเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์  คำสั่งตำรวจเลขที่ No. ST/1100/IV/HUK.7.1.2020 ลงวันที่ 4 เมษายน 2020 ให้อำนาจในภาวะฉุกเฉินแก่ตำรวจในการปฏิบัติภารกิจ “ลาดตระเวนในโลกไซเบอร์” และคอยติดตามสอดส่องการพูดคุยถกเถียงในโลกออนไลน์ โดยมุ่งเป้าไปที่ความคิดเห็นที่ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19 หรือการรับมือกับโรคระบาดของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐบาลในการจัดการกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้  คำสั่งอีกฉบับหนึ่งที่ออกมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2020 มีคำแนะนำให้สร้างเนื้อหาเรื่องราวตอบโต้  คัดค้านการประท้วงในโลกดิจิทัลหรือการรณรงค์ของกลุ่มภาคประชาสังคมที่ต่อต้านกฎหมาย Job Creation Law ในช่วงปลายปี 2020

มีการเริ่มใช้ตำรวจไซเบอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021  หน่วยตำรวจใหม่นี้มีอำนาจในการส่งสัญญาณเตือนไซเบอร์แก่พลเมืองเน็ต (netizen) โดยถือเป็นคำเตือนก่อนจับกุม  สัญญาณเตือนไซเบอร์นี้ประกอบด้วยคำเตือนและคำสั่งให้ลบโพสต์ใดๆ ที่ถูกรายงานแก่ตำรวจ  ระหว่าง 23 กุมภาพันธ์จนถึง 11 มีนาคม 2021 ตำรวจไซเบอร์ส่งสัญญาณเตือนไซเบอร์ถึง 125 ครั้งและกักขังประชาชนไว้ 3 คน  การก่อตั้งตำรวจไซเบอร์เช่นนี้ทำให้การเซนเซอร์ตัวเองกลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปมากขึ้นในอินโดนีเซีย  ถ้าใครสักคนถูกรายงานว่าสื่อสารในเรื่องที่ไม่เหมาะสม ตำรวจจะส่งคำแนะนำให้ลบโพสต์นั้นทันที  ลักษณะนี้สร้างบรรยากาศแห่งความกลัวขึ้นมาในโลกดิจิทัลของประเทศ

Surabaya-Indonesia, October 15, 2021: a girl in a medical mask is scanning the barcode of a “peduliLindungi” application with her smartphone when she enters the mall. Photo: Andri wahyudi, Shutterstock

ระหว่างช่วงโรคระบาดโควิด-19  มีการริเริ่มนำแอพพลิเคชั่นในการติดตามผู้สัมผัสโรคที่มีชื่อว่า PeduliLindungi มาใช้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2020 โดยกระทรวงโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศของอินโดนีเซีย (Ministry of Communication and Information Technology–MCIT) และกระทรวงรัฐวิสาหกิจ (Ministry of State-Owned Enterprises–MSOE) เพื่อติดตามความเสี่ยงในการสัมผัสโรคโควิด-19  จากผลการตรวจสอบของภาคเอกชนโดย DigitalReach 7 และ CitizenLab 8 พบว่า PeduliLindungi Version 2.2.2. (เมื่อใช้บลูทูธ) สามารถส่งออกข้อมูล WIFI, MAC address รวมทั้ง IP address ในประเทศของผู้ใช้ด้วย  โดยรวมแล้ว แอพนี้เอื้อให้หน่วยงานรัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลระดับสูงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของบุคคลคนนั้น  ถึงแม้ว่าต่อมาจะมีการนำ PeduliLindungi อีกเวอร์ชั่นหนึ่งมาใช้แทน แต่ก็ยังมีปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อยู่ดี  ส่วนแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่รัฐบาลนำออกมาใช้ในภายหลังที่เกี่ยวข้องกับการติดตามผู้สัมผัสโรคและโรคระบาดโควิด-19 จึงตกอยู่ภายใต้การจับตาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดในส่วนของการเก็บข้อมูลผู้ใช้แอพ

การปิดปากและการเซนเซอร์ในโลกดิจิทัล

กฎหมายอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้วในอินโดนีเซียกลายเป็นอาวุธที่มักนำมาใช้ปิดปากฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล ถึงแม้กลุ่มอื่นๆ ก็นำไปใช้อย่างกว้างขวางเช่นกัน อาทิ นักการเมืองและนักธุรกิจ  กฎหมายนี้ไม่เพียงใช้กับผู้วิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ยังใช้ปิดปากนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนด้วย โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ติดตามตรวจสอบผลกระทบของโครงการพัฒนาที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

โรคระบาดโควิด-19 เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ฉุกเฉินมาปิดปากการแสดงความคิดเห็นในโลกดิจิทัลโดยอาศัยกฎหมายอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่แล้วและกฎข้อบังคับคล้ายๆ กัน  จากการใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงเช่นนี้ นักกิจกรรมที่ใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์เพื่อประท้วงมักถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเฮทสปีชและการหมิ่นประมาทออนไลน์ หรือกระทั่งข้อหากบฏในกรณีของนักกิจกรรมชาวปาปัว

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอินโดนีเซีย (Komnas HAM) แถลงว่าในช่วงระหว่างปี 2020-2021 กรณีการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในโลกดิจิทัล 9 ระหว่างช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 Komnas HAM ได้รับรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับการแฮ็คข้อมูลของผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในสื่อและองค์กรภาคประชาสังคม  ตัวอย่างหนึ่งของกรณีแบบนี้ก็คือการโจมตีสำนักข่าวออนไลน์ Tirto.id ซึ่งถูกแฮ็คเกอร์ที่ไม่ทราบว่าเป็นใครบุกรุกออนไลน์เข้ามาถอดหรือลบบทความข่าวบางชิ้น โดยเฉพาะบทความที่วิพากษ์วิจารณ์การรักษาโรคโควิด-19 ของหน่วยงานรัฐบาลอินโดนีเซีย

ตาราง 2. จำนวนของกรณีความมั่นคงทางดิจิทัลในอินโดนีเซีย: 2020-2021
Source: SAFEnet Digital Rights Situation Report: 2020-2021

การกดขี่ทางเทคโนโลยีในรูปของการโจมตีทางไซเบอร์นั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิมในอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี 2020  ตามรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิทางดิจิทัลประจำปี 2020 ของ SAFEnet มีการโจมตีทางไซเบอร์อย่างน้อย 147 กรณีเกิดขึ้นในปี 2020  เฉพาะในเดือนตุลาคม 2020 เดือนเดียวมีมากถึง 41 กรณี  นี่เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากแค่ 8 กรณีต่อเดือนในปีก่อนหน้านั้น 10 การโจมตีทางดิจิทัลเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลในหลายประเด็นดังที่หยิบยกไปแล้วข้างต้น  สำหรับปี 2021 จำนวนการโจมตีทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมดเป็น 193 กรณี โดยมีอัตราเฉลี่ย 16 กรณีต่อเดือน 11

การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต

การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต  ดังที่ AccessNow อธิบายไว้ มันคือการจงใจขัดขวางการใช้อินเทอร์เน็ตหรือการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในกลุ่มประชากรกลุ่มหนึ่งหรือภายในพื้นที่แห่งหนึ่ง ด้วยการทำให้เข้าถึงสัญญาณไม่ได้หรือใช้การไม่ได้เลย มักมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการไหลเข้าออกของข้อมูลข่าวสาร 12 ในขณะที่ OONI (Open Observatory of Network Intervention) นิยามการเซนเซอร์ออนไลน์ อาทิ การบล็อกแอพหรือบล็อกบางเว็บไซท์ โดยถือว่าเป็นรูปแบบอย่างหนึ่งของการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือการตัดสัญญาณบางส่วน

ในเดือนสิงหาคม 2019 รัฐบาลโจโกวีสำแดงให้เห็นธาตุแท้ของความเป็นอำนาจนิยมในวิธีจัดการความไม่สงบในจังหวัดปาปัว  ไม่เพียงมีการใช้มาตรการกดขี่โดยกองกำลังด้านความมั่นคง แต่รัฐบาลโจโกวียังตัดสินใจที่จะใช้การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสนับสนุนการปราบปรามด้วยกองทัพ  นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอินโดนีเซียใช้มาตรการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างสิ้นเชิงเป็นมาตรการเสริม  รัฐบาลตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในจังหวัดปาปัวเป็นเวลา 338 ชั่วโมง เริ่มต้นด้วยการทำให้สัญญาณช้าลงในวันที่ 19-21 สิงหาคม 2019 ตามมาด้วยการตัดสัญญาณอย่างสิ้นเชิงในวันที่ 22 สิงหาคมถึง 4 กันยายน 2019 ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารปลอมในปาปัวและปาปัวตะวันตก

ในปี 2020 มีรายงาน 4 ครั้งอ้างว่ามีการจำกัดปริมาณการรับและการส่งข้อมูล (bandwidth) ของอินเทอร์เน็ต (หรือการตัดสัญญาณบางส่วน) ในจังหวัดปาปัวและปาปัวตะวันตก 13 ในปี 2021 มีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตอีก 12 ครั้ง มี 8 ครั้งที่เชื่อว่าเกี่ยวโยงโดยตรงกับปฏิบัติการทางทหารของกองทัพอินโดนีเซีย 14

“The sun will rise” Artist Lea Zeitoun @the.editing.series Instagram

การปั้นแต่งความคิดเห็นออนไลน์

จากรายงาน Universitas Diponegoro 2019 15 ตามมาด้วยรายงานของ KITLV-LP3ES-Undip-ISEAS ในปี 2021  รายงานทั้งสองฉบับเปิดเผยให้เห็นว่า รัฐบาลอินโดนีเซียใช้นักรบรับจ้างไซเบอร์มาสนับสนุนนโยบายปิดปากของตนในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19  นักรบรับจ้างไซเบอร์ 16 ดังที่นิยามด้วยคำนี้ภายในบริบทของประเทศอินโดนีเซีย หมายถึงเครือข่ายหลวมๆ ของนักสร้างกระแส นักจัดกิจกรรม อินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์และที่ปรึกษาทางการเมือง ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อปั้นแต่งความคิดเห็นของสาธารณชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยการสร้างเรื่องเล่าแม่บทบางอย่างขึ้นมาในประเด็นทางการเมืองหนึ่งๆ   การให้ทุนอุดหนุนแก๊งนักรบไซเบอร์พวกนี้มาจากนักการเมือง พรรคการเมืองและนักธุรกิจ 17 การปฏิบัติงานของนักรบรับจ้างไซเบอร์และการปั้นแต่งความคิดเห็นของสาธารณชนมีเป้าหมายเพื่อปั้นแต่งให้เกิดความยินยอมพร้อมใจต่อนโยบายอันไม่เป็นที่น่านิยมซึ่งนำมาใช้ตลอดช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19  วิธีการคือการเผยแพร่เรื่องหลอกลวงและข่าวปลอม พร้อมกับล่าแม่มดและรังควานฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล 18Inside Indonesia, “The Threat of Cyber Troops”, last modified 2022, https://www.insideindonesia.org/the-threat-of-cyber-troops/ref]

รัฐบาลอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการครอบงำพื้นที่สาธารณะทางดิจิทัลของประเทศ และป้องกันไม่ให้มันกลายเป็นพื้นที่เสรีที่รับฟังเสียงของนักกิจกรรมภาคประชาสังคม  ด้วยเหตุนี้ การปั้นแต่งความคิดเห็นของสาธารณชนในโลกออนไลน์โดยอาศัยนักรบรับจ้างไซเบอร์ อาจถือว่าเป็นสัญญาณหนึ่งที่น่าวิตกยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการขยายตัวของระบบเผด็จการดิจิทัลในประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก

เมื่อคำนึงถึงพัฒนาการทั้งหมดที่บรรยายเค้าโครงให้เห็นข้างต้น อินโดนีเซียกำลังเคลื่อนช้าๆ มุ่งหน้าสู่ระบบเผด็จการดิจิทัลที่เข้มข้นขึ้นกว่านี้แน่นอน  ถึงแม้นักกิจกรรมภาคประชาสังคมและคนรุ่นใหม่ในอินโดนีเซียพยายามสกัดขัดขวางมิให้ระบบเผด็จการดิจิทัลเติบโตมากไปกว่านี้  แต่อนาคตไม่แน่นอนและไม่มีความชัดเจนว่าอินโดนีเซียจะสามารถพลิกกลับความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยดังที่ประสบมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2010 ได้หรือไม่

Damar Juniarto
Damar Juniarto เป็นผู้อำนวยการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง SAFEnet (Southeast Asia Freedom of Expression Network).

Banner: Jakarta, Indonesia-June 2021-Police and TNI officers wear hazmats during the operation of the COVID-19 hunting team. Photo: Wulandari Wulandari, Shutterstock

Notes:

  1. Freedom House, Freedom on the Net 2020: Indonesia, https://freedomhouse.org/country/indonesia/freedom-net/2020
  2. IDEA Global State of Democracy, 2019, https://www.idea.int/publications/catalogue/global-state-of-democracy-2019
  3. Reporters Without Borders’ (RSF), Indonesia, 2021, https://rsf.org/en/indonesia
  4. Survei Komnas HAM Refleksi 20 Tabun Undang-Undang Hak Asasi Manusia https://www.komnasham.go.id/index.php/laporan/2020/02/14/61/survei-komnas-ham-refleksi-20-tahun-undang-undang-hak-asasi-manusia.html
  5. Data Reportal Indonesia 2022, last modified 18 February 2022, https://datareportal.com/reports/digital-2022-indonesia
  6. Damar Juniarto, “The Rise of Digital Authoritarianism in Indonesia”, ASEANFocus, Issues 4/Dec 2020 page 13, https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2020/12/ASEANFocus-December-2020.pdf
  7. Digital Reach, Digital Contact Tracing Indonesia, 2020 https://digitalreach.asia/digital-contact-tracing-indonesia/
  8. CitizenLab, An Analysis of Indonesia and Philippines governmenrt launch Covid-19 apps, 2020 https://citizenlab.ca/2020/12/faq-an-analysis-of-indonesia-and-the-philippines-government-launched-covid-19-apps/
  9. Indonesia National Commission of Human Rights, Annual Report 2019, https://www.komnasham.go.id/index.php/laporan/2020/12/09/76/laporan-tahunan-komnas-ham-2019.html
  10. Southeast Asia Freedom of Expression Network, Digital Situation Report in Indonesia 2020: Digital Repression Amid The Pandemic,  https://safenet.or.id/2021/05/digital-situation-report-2020/
  11. [1] Southeast Asia Freedom of Expression Network, Digital Situation Report in Indonesia 2021: The Pandemic Might Be Under Control, But Digital Repression Continues,  https://safenet.or.id/2022/03/in-indonesia-digital-repression-is-keep-continues/
  12. AccessNow, “No Internet Shutdowns, let’s keep it on”, https://www.accessnow.org/no-internet-shutdowns-lets-keepiton/
  13. [1] Southeast Asia Freedom of Expression Network, Digital Situation Report in Indonesia 2020: Digital Repression Amid The Pandemic,  https://safenet.or.id/2021/05/digital-situation-report-2020/
  14. Southeast Asia Freedom of Expression Network, Digital Situation Report in Indonesia 2021: The Pandemic Might Be Under Control, But Digital Repression Continues,  https://safenet.or.id/2022/03/in-indonesia-digital-repression-is-keep-continues/
  15. Wijayanto, Ph.D, Dr. Nur Hidayat Sardini, Gita Nindya Elsitra, Orisa Irhamna, Laporan Penelitian Menciptakan Ruang Siber yang Kondusif Bagi Pegiat Anti-Korupsi, Universitas Diponegoro 2019
  16. Inside Indonesia, “Cyber Mercenaries vs The KPK”, last modified 2022, https://www.insideindonesia.org/cyber-mercenaries-vs-the-kpk
  17. Inside Indonesia, “Organisation and Funding of Social Media Propaganda”, last modified 2022, https://www.insideindonesia.org/organisation-and-funding-of-social-media-propaganda