ยี่สิบปีหลังยุคซูฮาร์โต: การเมืองวงศาคณาญาติกับสัญญาณของระบอบอำนาจนิยมส่วนภูมิภาค

Yoes C. Kenawas

ผ่านไปยี่สิบปีหลังจากซูฮาร์โตถูกโค่นล้มจากอำนาจในปี 1998 การเมืองวงศาคณาญาติ (dynastic politics) กลายเป็นลักษณะเด่นของการเมืองส่วนภูมิภาคในอินโดนีเซีย 1  ในปี 2013 กระทรวงมหาดไทยของอินโดนีเซียพบว่ามีระบบการเมืองวงศาคณาญาติอย่างน้อย 60 กลุ่มเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ  ถึงแม้ตัวเลขนี้อาจดูเหมือนเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเขต เทศบาลและจังหวัดทั้งหมด แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ระบบการเมืองวงศาคณาญาติในส่วนภูมิภาคก็มีการขยายตัวมากขึ้น (Djohan 2017) 2  เมื่อมีระเด็นการเมืองวงศาคณาญาติเกิดขึ้นเช่นนี้ เราควรเข้าใจการเมืองส่วนภูมิภาคของอินโดนีเซียในช่วงสองทศวรรษภายหลังการสิ้นสุดของยุคระเบียบใหม่อย่างไร?

ผู้เขียนขอเสนอว่า ในปัจจุบันเรากำลังมองเห็นสัญญาณของ “ระบอบอำนาจนิยมส่วนภูมิภาค” (subnational authoritarianism) (Gibson 2013)  โดยที่การเมืองวงศาคณาญาติเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างและรักษาระบอบอำนาจนิยมดังกล่าวไว้  ถึงแม้สัญญาณและระดับของระบอบอำนาจนิยมส่วนภูมิภาคในอินโดนีเซียอาจไม่เด่นชัดเหมือนในประเทศละตินอเมริกาบางประเทศ แต่การมองข้ามสัญญาณของระบอบอำนาจนิยมส่วนภูมิภาคในพื้นที่ที่มีแนวโน้มของการเมืองวงศาคณาญาติอาจทำให้เรามองอะไรผิดไป หากเราต้องการเข้าใจการเมืองของอินโดนีเซียในช่วงเวลาหลังยุคระเบียบใหม่อย่างถ่องแท้

ด้วยเหตุนี้ เราต้องทำความเข้าใจการเมืองอินโดนีเซียให้มากขึ้นว่า มันไม่ได้มีแค่การแบ่งขั้วระหว่างฝ่ายที่ยืนยันว่าอินโดนีเซียมีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง กับฝ่ายที่แย้งว่าอินโดนีเซียมีระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้งที่อภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งสามารถปรับตัวเข้ากับกติกาใหม่เพื่อสนองผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของตัวเอง 3  หากเราย้ายแว่นการวิเคราะห์จากระดับชาติมาที่ส่วนภูมิภาค เราจะมองเห็นสัญญาณบางอย่างที่ Gibson (2013) เรียกว่า “ระบอบสองนครา” (regime juxtaposition)  “ระบอบสองนครา” คือสถานการณ์ที่ในระดับชาตินั้น การแข่งขันในการเลือกตั้งมีความแข็งแรง มีชีวิตชีวา และการใช้เล่ห์กลหรือเล่นไม่ซื่อในระดับชาติย่อมก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ทางสังคม การเมืองและกฎหมายอย่างแน่นอน  ส่วนในระดับภูมิภาคนั้น สัญญาณของระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน (Competitive authoritarianism) ปรากฏให้เห็นเด่นชัด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่การเมืองวงศาคณาญาติมีอิทธิพล 4

Suharto is appointed President of Indonesia at a ceremony in March 1968.

ชนชั้นนำส่วนภูมิภาคในสมัยระบอบซูฮาร์โต

ในยุคซูฮาร์โต การเมืองวงศาคณาญาติไม่ปรากฏในระดับภูมิภาค นอกจากในระดับหมู่บ้าน  ระบบการจัดการของรัฐอินโดนีเซียในยุคระเบียบใหม่คอยจำกัดโอกาสที่ “เจ้าพ่อท้องถิ่น” จะสามารถผูกขาดอำนาจในระดับภูมิภาคได้อย่างเป็นทางการ (Sidel 2005)  ส่วนภูมิภาคต่างๆ ไม่มีอำนาจในการเลือกประมุขในส่วนการปกครองของตัวเอง ทั้งนี้เพราะทั้งผู้ว่าการ นายกเทศมนตรีและหัวหน้าเขต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารที่ยังประจำการหรือเกษียณแล้ว ล้วนแล้วแต่ได้รับการแต่งตั้งมาจากรัฐบาลกลางในกรุงจาการ์ตา  ในทางกฎหมาย สภาท้องถิ่น (DPRD) มีสิทธิเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งบริหารในระดับท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติ การตัดสินใจต้องผ่าน “การหารือ” หรือความเห็นชอบจากรัฐบาลกลาง  ด้วยระบบจัดการเชิงสถาบันทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการนี้เอง ทำให้ไม่มีนักการเมืองในระดับภูมิภาคสามารถสร้างวงศ์ตระกูลนักการเมืองขึ้นมาได้

กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ชนชั้นนำส่วนภูมิภาคไม่มีโอกาสสร้างวงศ์ตระกูลนักการเมืองขึ้นมาอย่างเป็นทางการ แต่ระบบจัดการของรัฐยุคระเบียบใหม่ก็เปิดช่องทางให้ชนชั้นนำท้องถิ่นสร้างฐานอำนาจขึ้นมาบ้าง  Sidel (2005) และ Hadiz (2011) ตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้นนำจากหลากหลายภูมิหลัง ทั้งทหารระดับล่างและระดับกลาง ข้ารัฐการท้องถิ่นระดับสูง นักเลงและผู้ประกอบการท้องถิ่นซึ่งได้รับประโยชน์จากรัฐบาลหรือโครงการของกองทัพ  คนเหล่านี้สามารถสร้างฐานอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการขึ้นมาท่ามกลางระบบจัดการอำนาจรัฐรวมศูนย์และเผด็จการในสมัยซูฮาร์โต  ดังนั้น ถึงแม้ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเหล่านี้ไม่สามารถสร้างวงศ์ตระกูลนักการเมืองอย่างเป็นทางการในยุคระเบียบใหม่  แต่ฐานอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจก็ช่วยให้พวกเขาไต่เต้าเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักการเมืองอย่างเป็นทางการได้ในภายหลังและครอบงำเวทีการเมืองท้องถิ่นได้ (Hadiz 2011) รวมทั้งกรุยทางให้ระบบการเมืองวงศาคณาญาติด้วย

การเกิดขึ้นและการคงอยู่ของการเมืองวงศาคณาญาติส่วนภูมิภาคในอินโดนีเซียหลังยุคซูฮาร์โต

 การโค่นล้มซูฮาร์โตในปี 1998 คือจุดเริ่มต้นสายโซ่ของกระบวนการทางการเมืองที่นำไปสู่หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการเมืองอินโดนีเซีย  ในห้วงเวลาสำคัญนี้ ผู้มีบทบาทหลักทางการเมืองสร้างสถาบันใหม่ๆ ที่จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อวิถีทางการเมืองในส่วนภูมิภาค  สถาบันสามประการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกรุยทางให้การเมืองวงศาคณาญาติส่วนภูมิภาคเกิดขึ้นและคงอยู่ประกอบด้วย 1) การกระจายอำนาจ 2) การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง (Pemilukada)  และ 3) การรับประกันสิทธิทางการเมืองของพลเมือง ความเท่าเทียมเบื้องหน้ากฎหมายและสิทธิที่จะปลอดพ้นจากการถูกแบ่งแยกกีดกันทุกรูปแบบ

สถาบันสองประการแรกช่วยบุกเบิกหนทางให้การเมืองวงศาคณาญาติส่วนภูมิภาคเกิดขึ้น  ดังที่ Hadiz (2011) อธิบายไว้ การกระจายอำนาจและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในส่วนภูมิภาคเอื้อให้นักการเมืองท้องถิ่นที่คอยแสวงหาผลประโยชน์มีช่องทางสั่งสมอำนาจและความมั่งคั่ง  เนื่องจากอุดมการณ์อ่อนแอจนไม่สามารถร้อยรัดพรรคการเมือง นักการเมืองและผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเข้าด้วยกัน (Mujani and Liddle 2010) วิธีการหนึ่งที่จะรักษาการสั่งสมอำนาจและความมั่งคั่งไว้ได้ก็ต้องอาศัยการก่อร่างสร้างวงศ์ตระกูลนักการเมืองขึ้นมาแทน (Buehler 2007)

Suharto reads his address of resignation at Merdeka Palace on 21 May 1998. Suharto’s successor, B. J. Habibie, is to his right.

การเมืองวงศาคณาญาติคือทางเลือกที่มีเหตุผลสำหรับนักการเมืองที่ต้องการต่อยอดและสร้างเสริมอิทธิพลของตนในการเมืองท้องถิ่น  การเมืองวงศาคณาญาติเอื้อให้ผู้ที่กำลังครองอำนาจในการปกครองส่วนภูมิภาคสามารถรับมือกับข้อจำกัดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง  การเมืองวงศาคณาญาติทำหน้าที่เสมือนการประกันความเสี่ยงให้แก่ครอบครัวในฐานะหน่วยองค์รวมหน่วยหนึ่งว่าจะไม่มีการสูญเสียตำแหน่งเกิดขึ้น (Chandra 2016)  นอกจากนี้ การเมืองวงศาคณาญาติช่วยให้นักการเมืองท้องถิ่นสามารถขยายอำนาจออกไปนอกเขตเลือกตั้งที่เป็นฐานที่มั่นของตน  ในกรณีที่วงศ์ตระกูลนักการเมืองที่กำลังครองตำแหน่งเลือกที่จะขยายอำนาจของตนไปสู่สภานิติบัญญัติท้องถิ่นภายในจังหวัด/เขต/เทศบาลเดียวกัน การเมืองรูปแบบนี้ช่วยให้วาระแผนงานของพวกเขาได้รับความเห็นชอบจากสภา  การได้ที่นั่งในสภาท้องถิ่นยังมีประโยชน์ต่อสมาชิกครอบครัวของนักการเมืองที่กำลังครองตำแหน่งในการสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อไต่เต้าบนเส้นทางการเมืองต่อไป

พร้อมกับสถาบันสองประการแรกข้างต้น สถาบันที่สาม กล่าวคือ การรับประกันสิทธิทางการเมืองของพลเมือง ความเท่าเทียมเบื้องหน้ากฎหมายและสิทธิที่จะปลอดพ้นจากการถูกแบ่งแยกกีดกันทุกรูปแบบ ยังช่วยให้การเมืองวงศาคณาญาติส่วนภูมิภาคสามารถคงอยู่ในการเมืองอินโดนีเซียตลอด 20 ปีหลังจากยุคปฏิรูป (Reformasi) เริ่มต้นในปี 1998  ในปี 2015 หลังจากนักการเมืองในระบบการเมืองวงศาคณาญาติคนหนึ่งยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย (MK) จึงสั่งเพิกถอนวรรคที่ต่อต้านการเมืองวงศาคณาญาติในกฎหมายฉบับที่ 8/2015 ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับที่ 1/2015 ว่าด้วยข้อบังคับของรัฐบาลที่ใช้แทนกฎหมายฉบับที่ 1/2014 ว่าด้วยการเลือกตั้งในส่วนภูมิภาค  ทั้งนี้ในความเห็นของศาลนั้น วรรคดังกล่าวเป็นการกีดกันเชิงรัฐธรรมนูญต่อพลเมืองบางคนในการเข้าถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญของตน เพียงเพราะคนผู้นั้นมีความเกี่ยวดองเชิงครอบครัวกับผู้ที่กำลังดำรงตำแหน่ง (Parlina 2015)  คำวินิจฉัยของศาลช่วยวางรากฐานทางกฎหมายให้แก่นักการเมืองที่หมายมาดจะสร้างวงศ์ตระกูลนักการเมืองขึ้นมา  มันทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกับนักการเมืองวงศาคณาญาติมีความเชื่อมโยงกันอย่างแปลกประหลาด  กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญขึ้นชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย  แต่นักการเมืองวงศาคณาญาติกลับพลิกคว่ำทำลายเป้าหมายดั้งเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ (การปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย) เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเมืองในวงศ์ตระกูลของตน ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการหมุนเวียนชนชั้นนำอันจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยในส่วนภูมิภาค  อีกทั้งบ่อนเบียนคุณภาพของประชาธิปไตยท้องถิ่นให้ถดถอย

การเมืองวงศาคณาญาติในส่วนภูมิภาคและสัญญาณของระบอบอำนาจนิยมในส่วนภูมิภาค

การเกิดขึ้นและคงอยู่ของการเมืองวงศาคณาญาติในส่วนภูมิภาคของอินโดนีเซียสะท้อนให้เห็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกถึงระบอบอำนาจนิยมในส่วนภูมิภาค  ถึงแม้จะมีขอบเขตจำกัดมากกว่าการเมืองวงศาคณาญาติในละตินอเมริกาและฟิลิปปินส์ แต่นักการเมืองวงศาคณาญาติในอินโดนีเซียพยายามควบคุมระดับการแข่งขันในท้องถิ่นโดยอาศัย “ชุดกลอุบายทางการเมือง” (Menu of Manipulation) (Schedler 2002) อาทิ การซื้อเสียง การข่มขู่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงและ/หรือคู่แข่ง ผูกขาดเงินสนับสนุนจากพรรคการเมือง ชักใยข้ารัฐการ ควบคุมสื่อท้องถิ่น โกงคะแนนเสียง รวมทั้งวิธีการอื่นๆ อีกมากมายที่อยู่ในพื้นที่สีเทาระหว่างความถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย  ผลที่ตามมาก็คือ สนามเลือกตั้งถูกบิดเบือนจนเอียงกะเท่เร่ ไม่มีความเท่าเทียมและนักการเมืองวงศาคณาญาติได้เปรียบมากกว่าคู่แข่ง

ในข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งส่วนภูมิภาคหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองวงศาคณาญาติ สัญญาณของ “ชุดกลอุบายทางการเมือง” ที่ผู้ดำรงตำแหน่งใช้สนับสนุนสมาชิกครอบครัวของตนปรากฏให้เห็นเด่นชัด  ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ว่าการจังหวัดบันเตินเข้าไปพัวพันกับการเลือกตั้งในเขตปันเดอกลัง (2010) เมืองทังเกอรังใต้ (2010) และเมืองเซรัง (2013)  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สมาชิกครอบครัวของเขาลงแข่งขันในการเลือกตั้งท้องถิ่น  วิธีการที่นำมาใช้มีตั้งแต่แจกจ่ายคำสั่งของผู้ว่าการที่ชวนให้เข้าใจไขว้เขว (เมืองเซรัง) การโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งข้ารัฐการท้องถิ่นจำนวนมากอย่างเป็นระบบ (เมืองทังเกอรังใต้) ไปจนถึงแจกเงินให้ผู้ใหญ่บ้านหลายคน (เขตปันเดอกลัง)  ในชวาตะวันออก มีข้อกล่าวหาว่าหัวหน้าเขตบังกาลันช่วยให้ลูกชายชนะการเลือกตั้งด้วยการระดมคะแนนเสียงจากพนักงานรัฐท้องถิ่น ใช้เงินกองทุนสวัสดิการสังคมของส่วนการปกครองท้องถิ่นมาหาเสียงและผูกขาดเงินสนับสนุนพรรคการเมือง  นอกจากนี้ การเลือกตั้งในเมืองซิเลกอน (2010) และบันดุงตะวันตก (2018) มีข้อบ่งชี้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งอาจใช้อำนาจรีดไถเงินทุนมาสนับสนุนการหาเสียงของสมาชิกครอบครัวด้วยวิธีการมิชอบ  วิธีการเอาเปรียบในสนามเลือกตั้งเช่นนี้ยังพบเห็นในพื้นที่อื่นๆ ที่นักการเมืองวงศาคณาญาติลงแข่งขันในการเลือกตั้งท้องถิ่น

ปัญหาก็คือ ถึงแม้การใช้กลอุบายรูปแบบต่างๆ ทำกันอย่างโจ่งแจ้ง แต่การพิสูจน์ในศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีการโกงกันอย่างมโหฬาร อย่างเป็นระบบและโกงเชิงโครงสร้าง กลับทำได้ยากลำบากมาก  ในเกือบทุกกรณี นักการเมืองวงศาคณาญาติใช้ “ชุดกลอุบายทางการเมือง” อย่างแนบเนียน  ยิ่งกว่านั้น ศาลเองก็แสดงให้เห็นความลักลั่นและขาดความโปร่งใสในการตัดสินว่าการเลือกตั้งในส่วนภูมิภาคมีการโกงกันหรือไม่ (Butt 2013)  ประสิทธิภาพการทำงานที่จำกัดและความเหลาะแหละของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและการบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่น ยิ่งมีส่วนทำให้การพิสูจน์ว่ามีการโกงเลือกตั้งในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบและมโหฬารทำได้ยากมาก  ในสภาพการณ์เช่นนี้ นักการเมืองวงศาคณาญาติในส่วนภูมิภาคจึงสามารถสร้างสภาพการเอาเปรียบในสนามเลือกตั้งได้ต่อไป

บทสรุป

ในระดับชาติ ถึงแม้มีข้อบกพร่องมากมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของพลเมือง แต่อินโดนีเซียก็จัดว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยหรืออย่างน้อยก็เป็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง  ในระดับชาตินั้น ถึงแม้มีปัญหาเกี่ยวกับทะเบียนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงบ้างในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา แต่ก็พอพูดได้เต็มปากว่าโดยรวมแล้ว ระบบการเลือกตั้งของอินโดนีเซียมีลักษณะเปิดกว้างและมีการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม ในระดับการเลือกตั้งส่วนภูมิภาคนั้น นักการเมืองวงศาคณาญาติสามารถใช้ “ชุดกลอุบายทางการเมือง” มาหนุนอิทธิพลเหนือเขตฐานเสียงของตน  ในระดับนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งสามารถใช้อำนาจที่เหนือกว่ามาเล่นกลโกงในสนามเลือกตั้งเพื่อให้สมาชิกวงศาคณาญาติของตนได้เปรียบ  ความขัดแย้งแตกต่างระหว่างการเมืองในระดับชาติและในระดับภูมิภาคนี้เองที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่ Gibson (2013) เรียกว่า “ระบอบสองนครา”

แน่นอน นักการเมืองวงศาคณาญาติในอินโดนีเซียยังไม่สามารถควบคุมเขตฐานเสียงของตนจนสร้างระบอบอำนาจนิยมในการปกครองส่วนภูมิภาคได้ในระดับเดียวกับละตินอเมริกาและฟิลิปปินส์  ประเด็นนี้สะท้อนความแตกต่างในระบบการจัดการเชิงสถาบัน โดยเฉพาะโครงสร้างรัฐที่แตกต่างกันระหว่างสหพันธรัฐกับรัฐเดี่ยว  รัฐบาลกลางอินโดนีเซียสามารถอาศัยกระทรวงและหน่วยงานบังคับกฎหมายระดับชาติ เช่น คณะกรรมการปราบปรามการคอร์รัปชั่น (KPK) มาจำกัดมิให้นักการเมืองวงศาคณาญาติมีความคล่องตัวเกินไปในการขยายและเสริมสร้างอำนาจควบคุมเขตเลือกตั้งของตน  นอกจากนี้ รากฐานทางวัตถุของนักการเมืองวงศาคณาญาติอินโดนีเซียยังแตกต่างจากนักการเมืองในละตินอเมริกาหรือฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอภิชนาธิปไตยเจ้าที่ดินที่วงศ์ตระกูลมีอิทธิพลอำนาจมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม  ดังนั้น ในหลายกรณี เราจึงพบว่าครอบครัวนักการเมืองท้องถิ่นในอินโดนีเซียหลายครอบครัวก็ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างการเมืองวงศาคณาญาติให้ตระกูลของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างข้างต้นไม่ได้หมายความว่า เราสามารถมองข้ามสัญญาณของระบอบอำนาจนิยมในการปกครองส่วนภูมิภาคในพื้นที่ที่มีระบบการเมืองวงศาคณาญาติปรากฏอยู่ได้อย่างสิ้นเชิง  การไม่แยแสต่อประเด็นนี้สามารถบ่อนเซาะทำลายเป้าหมายแรกเริ่มของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจที่เราชาวอินโดนีเซียเริ่มต้นไว้เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว  สองทศวรรษหลังจากสิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ อินโดนีเซียยังมีภารกิจอีกมากมายในการผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตยประสบความสำเร็จในระดับชาติ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือในระดับภูมิภาคด้วย

Yoes C. Kenawas
Yoes C. Kenawas is a graduate student in political science at Northwestern University, USA

Reference

Buehler, Michael. 2007. “Rise of the Clans.” Indonesia Resources and Information Program (IRIP), Last Modified October 2007, accessed April 2. http://www.insideindonesia.org/rise-of-the-clans.
Butt, Simon. 2013. Indonesian Constitutional Court Decisions in Regional Head Electoral Disputes. In CDI Policy Papers on Political Governance. Canberra, Australia: Centre for Democratic Institutions.
Chandra, Kanchan. 2016. “Democratic Dynasties: State, Party, and Family in Contemporary Indian Politics.” In Democratic Dynasties: State, Party, and Family in Contemporary Indian Politics, edited by Kanchan Chandra, 12-55. Cambridge, UK: Cambridge University Press.
Dal Bó, Ernesto, Pedro Dal Bó, and Jason Snyder. 2009. “Political Dynasties.”  The Review of Economic Studies 76 (1):115-142.
Djohan, Djohermansyah. 2017. Pembangunan Politik Indonesia. Jakarta: Institut Otonomi Daerah.
Gibson, Edward L. 2013. Boundary Control: Subnational Authoritarianism in Federal Democracies. Cambridge, MA.: Cambridge University Press.
Hadiz, Vedi R. 2011. Localising Power in Post-Authoritarian Indonesia: A Southeast-Asia Perspective. Singapore: ISEAS Publishing.
Levitsky, Steven, and Lucan A Way. 2010. Competitive authoritarianism: Hybrid regimes after the cold war: Cambridge University Press.
Mujani, Saiful;, and R William Liddle. 2010. “Voters and the New Indonesian Democracy.” In Problems of Democratization in Indonesia: Elections, Institutions, and Society, edited by Edward; Aspinall and Marcus Mietzner, 75-99. Singapore: ISEAS Publishing.
Parlina, Ina. 2015. “Possibility of Local Dynasties After Court Ruling.” The Jakarta Post, Last Modified July 9, 2015, accessed April 20. http://www.thejakartapost.com/news/2015/07/09/possibility-local-dynasties-after-court-ruling.html.
Robison, Richard, and Vedi R Hadiz. 2004. Reorganizing Power in Indonesia: The Politics of Oligarchy in an Age of Markets. New York, NY: Routledge Curzon.
Schedler, Andreas. 2002. “The Menu of Manipulation.”  Journal of Democracy 13 (2):36-50.
Sidel, John T. 2005. “Bossism and Democracy in the Philippines, Thailand and Indonesia: Towards an Alternative Framework for the Study of ‘Local Strongmen’.” In Politicising Democracy: The New Local Politics of Democratisation, edited by John Harriss, Kristian Stokke and Olle Tornquist, 51-74. New York, NY: Palgrave Macmillan.

Notes:

  1. การเมืองวงศาคณาญาติ (Dynastic politics) หมายถึงยุทธศาสตร์ทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสมาชิกครอบครัวเดียวกันสองคนขึ้นไปดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่เดียวกัน (Dal Bó, Dal Bó, and Snyder 2009).
  2. อินโดนีเซียมีหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น 542 หน่วย  ตัวเลขที่แท้จริงของวงศ์ตระกูลนักการเมืองในระบบวงศาคณาญาติทั่วทั้งประเทศเป็นข้อมูลที่ค้นหายาก ทั้งนี้เพราะอินโดนีเซียไม่มีฐานข้อมูลที่บันทึกความเกี่ยวดองเชิงครอบครัวระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งกับสมาชิกครอบครัวที่ดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน
  3. โปรดดูตัวอย่างเช่น Robison and Hadiz (2004).
  4. ระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขัน (Competitive authoritarianism) หมายถึงระบอบการปกครองที่มีสถาบันประชาธิปไตยอย่างชัดเจน แต่สนามเลือกตั้งถูกบิดเบือนอย่างร้ายแรงเพื่อความได้เปรียบของผู้ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น (Levitsky and Way 2010).