สวรรค์ของกาฝาก: การลบความทรงจำในภาพยนตร์เรื่อง The House of Guava (Mùa ỏ̂i) ของดางเญิตมินห์

Boreth Ly

ความทรงจำ ความอาลัยและความโศกเศร้าแสดงบทบาทเด่นชัดในภาพยนตร์ของดางเญิตมินห์ (Dang Nhat Minh) ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนบทภาพยนตร์ระดับชาติของเวียดนาม เขาเกิดในเมืองเว้เมื่อ ค.ศ. 1938 แล้วไปศึกษาต่อในสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาเรียนรู้การสร้างภาพยนตร์ (Cohen, 2001) ผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐมีอาทิ When the Tenth Month Comes (1984), Nostalgia for the Countryside (1995), The Girl of the River (1987) และ Don’t Burn (2009) ทุกเรื่องมีลักษณะคล้ายกันคือส่งเสริมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แห่งชาติ เชิดชูวีรชนสงครามและสรรเสริญความเป็นหมู่คณะในสังคมที่ต่อสู้เพื่อสวัสดิภาพของคนในชาติ แต่จุดเน้นของบทความนี้อยู่ที่ภาพยนตร์ปี 1999 ของดางเญิตมินห์เรื่อง The House of Guava ซึ่งเป็นผลงานที่แตกต่างออกไป (รวมทั้งผู้ให้ทุนสนับสนุนด้วย) และมีแนวเรื่องแตกต่างจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ขีดเส้นไว้ (Bradley, 2001: 201-216) ชื่อภาพยนตร์ในภาษาเวียดนามคือ Mùa ỏ̂i (แปลตามตัวอักษรคือ “ฤดูของต้นฝรั่ง”) 1 บทภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นชื่อ The Old House ของดางเญิตมินห์เอง (Lam 2013: 155) ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องใช้เวลาถึงสองปีกว่าจะผ่านขั้นตอนของทางการก่อนเริ่มลงมือถ่ายทำและไม่เคยได้ฉายในเวียดนามตั้งแต่เสร็จสมบูรณ์ออกมาในปี 1999 (Cohen, 2000)

The House of Guava เล่าเรื่องราวของทนายความชาวเวียดนามที่ได้รับการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสและครอบครัวของเขา ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่ชื่นชอบทุกอย่างที่เป็นฝรั่งเศส ช่วงเวลาตามท้องเรื่องครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ คือตั้งแต่ ค.ศ. 1954 จนถึงปลายทศวรรษ 1980 ทนายความผู้นี้ออกแบบบ้านเดี่ยวทรงสมัยใหม่และสร้างไว้ในกรุงฮานอย เนื้อเรื่องมีศูนย์กลางอยู่ที่ลูกทั้งสามคนของทนายความ ฮัว (Hoa) ลูกชายคนกลาง ตกต้นไม้ขณะปีนเก็บลูกฝรั่งจากต้นที่ครอบครัวปลูกไว้ในสวนและได้ความกระทบกระเทือนที่ศีรษะ เรื่องเริ่มต้นเมื่อตอนที่ฮัวอายุ 50 ปีแล้ว ฮาน (Han) พี่ชายคนโต อพยพไปอยู่เยอรมนี ถวย (Thuy) น้องสาวคนเล็กเป็นคนคอยดูแลฮัว ปัจจุบันกับอดีตปะทะกันในภาวะชีวิตที่หยุดนิ่ง เนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะของฮัว ความทรงจำและสติปัญญาของเขาจึงฝังแน่นอยู่ในช่วงวัยเด็ก ความทรงจำไม่ยอมลบเลือนแม้จนกระทั่งครอบครัวถูกไล่ออกจากบ้านและถูกรัฐบาลยึดบ้านกับที่ดินไปในช่วงปฏิรูปที่ดิน ซึ่งส่งผลกระทบทั่วทั้งเวียดนามเหนือระหว่างช่วงปี 1959 และ 1960 (Cohen, 2000)

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ภาพยนตร์ของดางเญิตมินห์เรื่องนี้สร้างเรื่องเล่าแย้งที่ท้าทายต่อเรื่องเล่าแม่บทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์รวมหมู่ของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อบวกกับการนำเสนอความทรงจำส่วนบุคคลด้วยศิลปะภาพยนตร์ของเขา ทั้งสองประการนี้มุ่งชี้ให้เห็นความไม่ลงรอยระหว่างความทรงจำของชาติกับความทรงจำส่วนบุคคล The House of Guava สร้างโรงละครแห่งความทรงจำอีกแบบหนึ่งให้เรารับชม โดยเน้นให้เห็นกระบวนการลบความทรงจำส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นขนานใหญ่และตั้งคำถามต่อการสร้างความชอบธรรมของสองสิ่งที่ตามกันมาเป็นลำดับ นั่นคือประวัติศาสตร์รวมหมู่กับความทรงจำของชาติ อีกทั้งกินความรวมไปถึงระบอบการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง “ความทรงจำ” นั้น ไม่ว่าจะเป็นระบอบใหม่หรือระบอบเก่า ต่อไปนี้ผู้เขียนจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า The House of Guava ขยายภาพให้เห็นความไม่เป็นมนุษย์ของระบอบคอมมิวนิสต์อย่างไร โดยเน้นให้เห็นว่าไม่เพียงแค่การริบทรัพย์สินของครอบครัวชนชั้นกลางเท่านั้น แต่รวมถึงความพยายามที่จะริบเอาความทรงจำเพื่อยัดเยียดอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางสังคมและความเป็นหมู่คณะเข้าไปแทน แต่ทว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เองก็มีความฉ้อฉลและชิงดีชิงเด่นไม่แตกต่างกัน ผู้เขียนวิเคราะห์ภาษาภาพยนตร์อันสร้างสรรค์ของดางเญิตมินห์ในการเล่าเรื่องและการใช้ภาพที่กระทบต่อสายตาเพื่อสื่อแทนเรื่องราวอันซับซ้อนของระบอบความทรงจำทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านขั้นตอนหลักสามขั้นตอน นั่นคือ การลืม การลบ และการรื้อทิ้ง ในประการสุดท้าย ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่า ในภาพยนตร์ของดางเญิตมินห์นั้น ความทรงจำถูกทำให้จับต้องได้ในฐานะประสบการณ์

(Fig. 1) “Hoa tiptoeing” (Dang Nhat Minh, The House of Guava, 35 mm, 1999)
(รูป 1) “เท้าของฮัว” (Dang Nhat Minh, The House of Guava, 35 mm, 1999)

The House of Guava ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. หนังเปิดเรื่องด้วยภาพโคลสอัพเท้าใส่รองเท้าแตะคู่หนึ่งกำลังเดินย่องเลียบรั้วบ้านเดี่ยวสมัยใหม่ในกรุงฮานอย (รูป 1.) ฉากนี้ตามมาด้วยภาพรั้วในระยะไกลจากมุมมองภายในบ้าน เราแลเห็นใบหน้าและนัยน์ตาของฮัวกำลังแอบดูทางช่องรั้ว เขามองไปที่ต้นฝรั่งสูงที่พ่อของเขาปลูกไว้ในบ้านที่เคยอยู่ ผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันคือเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง ลูกสาวเอาแต่ใจชื่อหลวน (Loan) ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และคนรับใช้หญิงชราที่ทำอาหารและทำความสะอาดให้ทั้งสอง คนในครอบครัวคนอื่นๆ อาศัยอยู่ในกรุงโฮจิมินห์ซิตี (ไซ่ง่อน) ฮัวที่อายุห้าสิบปีแล้วปีนข้ามรั้วเพื่อกลับมาเยี่ยมต้นฝรั่ง แต่ถูกจับฐานบุกรุกและลงเอยที่สถานีตำรวจ ถวย น้องสาวของเขาตามมาประกันตัวด้วยการลงชื่อในเอกสารยืนยันว่าฮัวมีอาการป่วยทางสมอง

ฉากสะเทือนใจค่อยๆ คลี่คลายให้ผู้ชมรับรู้ว่าทำไมฮัวจึงใช้ชีวิตอยู่ในความทรงจำ ถวยพาฮัวออกจากสถานีตำรวจ จับเขานั่งซ้อนหลังจักรยานและพากลับบ้าน เธอช่วยเขาถอดเสื้อผ้าราวกับเขาเป็นเด็กทารกและสั่งให้เขาอาบน้ำ ระหว่างล้วงกระเป๋ากางเกงที่เปรอะเปื้อนของเขา ถวยเจอลูกฝรั่งเขียวสดที่เขาเด็ดจากต้นที่พ่อปลูกไว้ ขณะเธอถือฝรั่งไว้ในอุ้งมือ น้ำหนักและสัมผัสของฝรั่งปลุกความทรงจำของถวยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและโดยเฉพาะสาเหตุที่ทำให้ฮัวมีอาการทางสมอง (รูป 2. และ 3.)

(Figs. 2 and 3): “Guava Memory” (Dang Nhat Minh, The House of Guava, 35 mm, 1999)
(รูป 2 และ 3): “ความทรงจำจากผลฝรั่ง” (Dang Nhat Minh, The House of Guava, 35 mm, 1999)

ถวยเริ่มเล่าประวัติครอบครัวและเรื่องราวชีวิตของฮัวโดยใช้เสียงวอยซ์ โอเวอร์ (voiceover) ท่ามกลางภาพย้อนอดีตของบ้านที่มีเครื่องเรือนและผู้อยู่อาศัยเมื่อสามสิบปีก่อน

“บ้านเก่าของเราตั้งอยู่บนถนนไม่พลุกพล่านในฮานอย คุณพ่อสั่งสร้างตามแบบที่คุณพ่อออกเอง เราย้ายออกมานานกว่าสามสิบปีแล้ว เรื่องเดียวที่ฉันจำได้คือต้นฝรั่งเจ้ากรรมต้นนั้นที่ทำลายชีวิตพี่ฮัว วันหนึ่ง พี่ตกต้นไม้และได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างร้ายแรง พี่ยังเติบโตด้านร่างกาย แต่ไม่ใช่ด้านจิตใจ เมื่อคุณพ่อเสียชีวิต พี่ชายคนโตของเราต้องย้ายไปอยู่เยอรมนี พี่ขอให้ฉันดูแลพี่ฮัว พี่บอกฉันว่า ‘คุณพ่อทุ่มเทความรักให้ลูกคนที่โชคร้ายที่สุด’ ฉันเองก็ทำเช่นนั้น พี่ฮัวแก่กว่าฉันสองปี แต่สำหรับฉัน พี่ฮัวจะเป็นน้องชายอายุสิบสามของฉันตลอดไป”

ฮัวอายุห้าสิบแล้ว แต่ร่างกายวัยเลยกลางคนของเขามีความคิดจิตใจแบบเด็กวัยรุ่น เนื่องจากพิการด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ ฮัวจึงอุทิศตัวให้แก่อุดมคติแบบส่วนรวมเป็นใหญ่ตามลัทธิสังคมนิยมด้วยการทำงานเป็นนายแบบให้โรงเรียนศิลปะในฮานอย ในชั้นเรียนวาดรูปและลายเส้น ฮัวมักแสดงแบบเป็นวีรบุรุษทหารหนุ่มที่รบพุ่งในแนวหน้า รัฐจึงเกณฑ์เขามาช่วยงานในโครงการระดับชาติเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และศิลปะโฆษณาชวนเชื่อ (Taylor, 2001: 109-134; Buchanan, 1999) ด้วยความที่ฮัวเป็นคนไร้เดียงสาและจิตใจดี เพื่อนบ้านจึงมักฉวยโอกาสใช้แรงงานเขา ฮัวเป็นแบบฉบับของลูกกตัญญู ความคิดจิตใจที่แช่แข็งอยู่ในช่วงเวลาวัยเด็กไม่ได้รับผลกระทบจากการโฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านลัทธิขงจื๊อและลัทธินับถือบรรพบุรุษอย่างมาก ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งในโครงการโฆษณาชวนเชื่อนั้น ฮัวจำวันครบรอบการตายของพ่อแม่ได้เสมอและทำพิธีเซ่นไหว้ไม่เคยขาด กล่าวสั้นๆ ก็คือ ฮัวปฏิบัติตัวเหมือนเด็กดีใสซื่อวัยสิบสาม จิตใจและความทรงจำของฮัวเป็นของชีวิตและช่วงเวลาที่ผ่านไปเนิ่นนานแล้ว ช่วงเวลาที่ยังอยู่ในภายใต้ระบอบการเมืองเก่า ในขณะที่ร่างกายผ่ายผอมแก่ตัวลงของเขาเป็นของกำลังแรงงานภายใต้ระบอบการปกครองปัจจุบันที่พยายามรักษาอุดมการณ์แบบสังคมนิยม จิตใจและร่างกายของฮัวเป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่สูญหายไป

ฉากสะเทือนใจคล้ายกวีนิพนธ์อีกฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเวลาและสถานที่ไม่เพียงตามสิงใจตัวละครเท่านั้น แต่เป็นความทรงจำที่จับต้องได้ด้วย Yi Fu Tuan นักภูมิศาสตร์วัฒนธรรมเสนอแนวคิดว่า สถานที่มักถูกเชื่อมโยงกับความมั่นคง ในขณะที่พื้นที่ว่างเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและการผจญภัยในโลกที่ไม่รู้จัก (Tuan 1977: 3) ดังนั้น สถานที่ที่คุ้นเคยที่เรียกว่าบ้าน ทั้งในแง่กายภาพหรือในจินตนาการ จึงเปรียบเทียบได้กับพื้นที่ของครรภ์มารดา ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ บ้านคือที่ที่เด็กได้รับการคุ้มครอง

“บ้าน” ยิ่งกระตุ้นความทรงจำถึงวัยเด็กของฮัว เมื่อหลวน ลูกสาวของเจ้าของบ้านรายใหม่ เชื่อมความสัมพันธ์กับฮัวโดยเชิญเขากลับมาเยี่ยมที่บ้านทั้งที่เขาเคยบุกรุกมาก่อน เราเห็นภาพโคลสอัพเท้าของฮัวกับเท้าของหลวนขณะเดินขึ้นบันไดด้วยกันและบางครั้งทั้งสองก็เหยียบลงบนเงาของตัวเอง เท้าที่กำลังก้าวเดินกลายเป็นท่วงทำนองหลักที่บรรเลงซ้ำๆ (leitmotif) ซึ่งดางเญิตมินห์ไม่เพียงใช้เชื่อมโยงเส้นเรื่องในหนัง แต่ยังทำให้ความเป็นศูนย์กลางของร่างกายมนุษย์ในฐานะแหล่ง/ภาพที่เก็บความทรงจำไว้ปรากฏต่อสายตาด้วย โดยเฉพาะความทรงจำที่ถูกกดทับไว้ (รูป 4.)

(Fig. 4) “Hoa and Loan’s feet”
(รูป 4) “เท้าของฮัวและหลวน”

การเดินตามรอยและย้อนรอยของย่างก้าวหรือรอยเท้าของคนคนหนึ่งหมายถึงการหวนกลับไปสู่สถานที่/พื้นที่ที่ความทรงจำมีความสุขและโศกเศร้าดำรงอยู่ร่วมกัน เราได้เป็นประจักษ์พยานต่อความมีตัวตนจับต้องได้และประสบการณ์ของความทรงจำทางร่างกาย

หลวนทำตัวราวกับเป็นภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ เธอเปิดประตูห้องชั้นบนทุกห้องให้ฮัวดู ทันทีที่เขาเห็นห้องนอน พื้นที่สิงใจนั้นปลุกความเศร้าโศกถึงความตายของมารดาในยามที่เขาเป็นเด็กเล็ก จากนั้นหลวนเปิดประตูห้องนั่งเล่นและเสียงถวยฝึกเล่นเปียโนสมัยเด็กก้องขึ้นมาในหูของฮัว เขาจำได้ด้วยว่าเขาเคยใช้ดินสอลากตามเงาของแม่บนผนังสีขาวในห้องนั้น (รูป 5.)

(Fig. 5) “Hoa Tracing His Mother’s shadow”
(รูป 5) “ฮัวร่างภาพตามเงาของแม่”

รูปวาดมารดาด้วยดินสอถูกเจ้าของคนใหม่ทาสีทับนานแล้ว แต่เช่นเดียวกับร่องรอยของก้าวย่างและรอยเท้าในบ้านเก่าและในเมืองฮานอย ภาพลายเส้นรูปมารดายังฝังแน่นในความทรงจำอย่างไม่มีทางลบเลือน ยิ่งกว่านั้น กล้ามเนื้อในร่างกายของเขามีความทรงจำของมันเองต่อสถานที่และพื้นที่ที่ร่างกายนั้นเคยมาเยือนและมีประสบการณ์ ฮัวใช้มือสัมผัสผนังห้องสีขาว (รูป 6.)

(Fig. 6) “Hoa’s Tactile Memory”
(รูป 6) “ความทรงจำด้วยการสัมผัสของฮัว”

ความทรงจำที่จับต้องได้และสัมผัสได้ทำให้เรานึกถึงฉากที่น้องสาวของเขาถือลูกฝรั่งไว้ในฝ่ามือ ด้วยความทรงจำที่เกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายเช่นนี้ ไม่ว่าจะเหยียบย่ำอยู่ใต้ฝ่าเท้าหรือน้ำหนักที่กดอยู่ในฝ่ามือ มันกลายเป็นประสบการณ์ที่จับต้องได้อย่างลึกซึ้งในภาพยนตร์ของดางเญิตมินห์

ความทรงจำที่จับต้องได้ของฮัวเกี่ยวกับวัยเด็กในบ้านหลังเก่าก็เฉกเช่นต้นฝรั่งและลูกฝรั่ง มันช่วยหล่อเลี้ยงและจรรโลงชีวิตประจำวันของฮัวไว้ กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจความจำเป็นนี้หรือสนับสนุนการมีชีวิตอยู่ในอดีต น้องเขยของฮัวบ่นว่า “เรื่องบ้าๆ ของพี่ฮัวก็คือเขามีชีวิตอยู่ในความทรงจำ” เมื่อถวยย้อนถามว่า “แบบนั้นมันบ้าตรงไหน?” เราเห็นได้ว่าความสงสารฮัวของเธอเกิดมาจากการที่เธอต้องกดทับความทรงจำของตัวเอง ถวยทำให้ประวัติครอบครัวของฮัวมีความหมายขึ้นมาด้วยการกระตุ้นให้เธอจดจำ

พ่อของหลวนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นคนที่ตัดสินฮัวในแง่ร้ายที่สุด เมื่อหลวนชวนฮัวมาพักในห้องห้องหนึ่งในบ้านระหว่างที่พ่อของเธอเดินทางไปทำธุระ พอเขากลับมา เขากล่าวหาฮัวว่าพาโสเภณีเข้ามาในบ้านและบังคับให้ฮัวเข้าโรงพยาบาลโรคจิต ฮัวได้รับยาที่กดแรงกระตุ้นในการจำและการพูด เมื่อถวยพาฮัวออกจากโรงพยาบาลกลับมาบ้าน พอถามว่าเขาจำบ้านหลังเก่าได้ไหม ฮัวตอบว่า “บ้านเก่าอะไรหรือ?” ถวยตกใจมากและวิ่งไปที่ตลาดแถวบ้านเพื่อซื้อผลฝรั่งมากระตุ้นความจำวัยเด็กของฮัว แต่ความพยายามของเธอเหลวเปล่า (รูป 7.)

(Fig. 7) “Remember Dad’s Guava fruit”
(รูป 7) “จำฝรั่งของพ่อได้ไหม”

ถวยน้ำตาไหลพรากและร้องออกมาว่า “คุณพระช่วย พี่สูญเสียความทรงจำไปแล้ว!” (รูป 8.)

(Fig. 8) “Hoa lost his memory”
(รูป 8) “ฮัวสูญเสียความทรงจำไปแล้ว”

สรุป

เห็นได้ชัดว่า The House of Guava มุ่งวิจารณ์การปฏิรูปที่ดินที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ดำเนินการในเวียดนามเหนือในช่วงทศวรรษ 1950 โดยเน้นให้เห็นทั้งการพลัดบ้านพลัดถิ่นของชนชั้นสูงกับชนชั้นกลางในฮานอย รวมทั้งการลบความทรงจำเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลและความผูกพันกับสถานที่ทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของคนรุ่นลูกหลาน ภาพยนตร์ของดางเญิตมินห์ชี้ให้เห็นด้วยว่า การจงใจลบความทรงจำนี้ทำให้ลูกหลานของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไม่รับรู้อดีต ดังนั้นจึงไม่เคยรับรู้ถึงเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในบ้านที่พวกเขายึดครอง ยกตัวอย่างเช่น หลังจากฟังประวัติชีวิตของฮัวจากถวยแล้ว หลวนที่อายุยังน้อยตอบว่า “เรื่องนี้แปลกจัง ฉันไม่เคยรู้มาก่อน” ความไม่รู้นี้เป็นสิ่งที่ได้รับการบ่มเพาะมา? หรือเป็นความไม่รู้โดยตั้งใจ? เรื่องนี้ผู้ชมคงต้องเดาเอาเอง แต่การทะเลาะกันระหว่างหลวนกับพ่อของเธอในช่วงท้ายของภาพยนตร์ชี้ให้เห็นว่า นับแต่นี้ เธอผู้เป็นลูกสาวของเจ้าหน้าที่อาวุโสในพรรคคอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นผู้อารักขาและภัณฑารักษ์ของความทรงจำวัยเด็กของฮัวไปแล้ว

หลวน: “เขาเคยอยู่ที่นี่ เขามีความทรงจำเกี่ยวกับบ้านหลังนี้”
พ่อ: “ความทรงจำเรอะ? มันหมายถึงอะไร?”
หลวน: “ฉันจะอธิบายยังไงดี? มันคือเรื่องที่คนเราไม่เคยลืม”
พ่อ: “หมอนั่นมันบ้าต่างหาก ความทรงจำ! ความทรงจำ!”
หลวน: “เขาไม่ได้บ้า!”

ในประการสุดท้าย ภาพยนตร์ของดางเญิตมินห์เปิดโปงการคอร์รัปชั่นและความมือถือสากปากถือศีลของเจ้าหน้าที่อาวุโสในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คนเหล่านี้มีคนขับรถรับส่งในรถยนต์หรูและอาศัยในบ้านเดี่ยวที่ยึดมาจากชนชั้นนำในระบอบเก่า พรั่งพร้อมด้วยคนรับใช้และคนครัวคอยบริการ ในภาพยนตร์ของดางเญิตมินห์ เจ้าหน้าที่มือถือสากปากถือศีลกับลูกหลานของพวกเขาเปรียบเสมือนกาฝาก มีสองฉากจากหนังเรื่องนี้ที่แสดงอุปมาอย่างกระชับชัดเจน ฉากแรกคือเมื่อฮัวแอบมองผ่านช่องรั้ว เราเห็นภาพหลวนกำลังนอนเอกเขนกอ่านหนังสือบนเก้าอี้ มีจานใส่ผลฝรั่งวางอยู่ใกล้เท้า จากนั้นตามมาด้วยภาพโคลสอัพของหลวนกำลังเคี้ยวฝรั่งที่เก็บจากต้นที่พ่อของฮัวปลูกไว้ (รูป 9. และ 10.)

(Fig. 9) “Loan feet and a plate of guavas”
(รูป 9) “เท้าของหลวนกับจานใส่ผลฝรั่ง”
(Fig. 10) “Loan eating one of the guavas”
(รูป 10) “หลวนกำลังกินฝรั่ง”

ฉากที่สองเป็นภาพฮัวกำลังจับหนอนผีเสื้อที่กัดกินใบฝรั่ง ฮัวฆ่ามันด้วยการใช้เท้าเหยียบ (รูป 11.)

(Fig11) “Hoa caught a worm eating a leaf from his guava tree”.
(รูป 11) “ฮัวจับหนอนผีเสื้อที่กำลังกินใบออกจากต้นฝรั่ง”.

ทั้งสองฉากแสดงให้เห็นว่าผู้ยึดครองบ้านและสมาชิกชนชั้นนำของระบอบใหม่ก็คือกาฝากที่มากัดกินและทำลายผลผลิตจากแรงงานของคนอื่น นี่ไม่ใช่แค่สวรรค์ของคนตาบอด แต่เป็นสวรรค์ของกาฝากด้วย

หนังเรื่องนี้ปิดฉากด้วยเสียงแสบหูของเลื่อยไฟฟ้าที่กำลังตัดต้นฝรั่งทิ้ง (รูป 12.)

(Fig. 12) “The chopping down of the guava tree”
(รูป 12) “การตัดต้นฝรั่งทิ้ง”

หลวนพยายามปกป้องต้นฝรั่งอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สำเร็จ ครอบครัวของเธอย้ายออกไปและบริษัทต่างประเทศเช่าบ้านหลังนี้แทน นโยบายโด๋ยเม้ย (Đổi Mới) 2 เริ่มต้นแล้วและเวียดนามเริ่มต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ผู้ชมคือประจักษ์พยานต่อความรุนแรงที่แฝงอยู่ในการเปลี่ยนผ่านช้าๆ จากระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมไปสู่ตลาดเสรี

ภาพยนตร์ของดางเญิตมินห์นำเสนอแนวคิดทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐและวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติอันไร้มนุษยธรรมที่ระบอบใหม่กระทำต่อชนชั้นนำมีการศึกษาอย่างทรงพลัง ความโหดร้ายนี้มิใช่เพียงแค่การจงใจลบความทรงจำ แต่ถึงขั้นไม่ยอมรับ รื้อถอนและทำลายต้นไม้ของครอบครัว ความรันทดที่วนเวียนอยู่ใน The House of Guava สะท้อนถึงสถานการณ์คล้ายๆ กันในประเทศอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสร้างความทุกข์ระทมให้แก่การเขียน เขียนขึ้นใหม่และฉายภาพประวัติศาสตร์กับความทรงจำ รวมทั้งประทับความทรงจำนั้นลงบนร่างกาย

Boreth Ly
Associate Professor, Department of History of Art and Visual Culture
University of California, Santa Cruz

Issue 20, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2016

Notes:

  1. ผู้เขียนขอขอบคุณ Luong Tran, Hung Meng Nguyen, Thi Nguyen, Ellen Takata, Resmeiy Chhuy, Mirren Theiding และ Penny Edwards รวมทั้งขอขอบคุณดางเญิตมินห์ที่อนุญาตให้ผู้เขียนใช้ภาพนิ่งจากภาพยนตร์ประกอบในบทความนี้ด้วย
  2. ภาษาเวียดนาม แปลว่า บูรณะหรือดำเนินการใหม่ หมายถึงนโยบายเศรษฐกิจของเวียดนามที่เริ่มเปิดประเทศให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เน้นตลาดเสรีแต่ใช้ระบบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์