การประเมินนโยบาย “เปิดกว้าง” ของพม่า

Maitrii Aung-Thwin

การประเมินนโยบาย “เปิดกว้าง” ของพม่า

การประกาศใช้การปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบกว้างๆ โดยประธานาธิบดีเต็ง  เส่ง (Thein Sein) ของพม่าเมื่อ ค.ศ.2011 ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้สังเกตการณ์ชาวต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งต่างก็สงสัยในความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ ค.ศ.2010 ขณะที่นักวิจารณ์และนักวิเคราะห์จำนวนมากตั้งข้อสงสัยในระยะแรก แต่เราไม่อาจปฏิเสธว่า อัตรา (ความเร็ว) และขอบเขตของความคิดริเริ่มในการปฏิรูปของรัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกฏหมายใหม่ๆ ได้เริ่มที่จะลดทอนบทบาทของรัฐในบางภาคของชีวิตทางสังคมและการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับคู่ค้าต่างประเทศใหม่ๆ ได้มีขึ้นและการออกกฏหมายส่งเสริมการลงทุนที่อนุญาตให้บริษัทต่างประเทศและหน่วยงานที่สนับสนุนด้านเงินทุนเข้ามาในประเทศ การเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของรัฐบาล ซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็นการเปิดประเทศของพม่า ได้สร้างความประหลาดใจไว้มากมาย เพราะแทบจะไม่มีคนที่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายในรัฐบาลพลเรือนที่ถูกสร้าง พัฒนาและนำมาใช้โดยผู้อำนาจทางการทหารคิด มีบางคนข้อสงสัยว่าสิ่งที่พวกเขาได้มองเห็นในพม่าขณะนี้ จะคล้ายคลึงกับซึ่งที่เรียกว่า Glasnost หรือ การเปิดกว้าง และกระบวนการต่างๆ ที่เป็นคุณสมบัติของการเปลี่ยนแปลงของสหภาพโซเวียตในช่วยท้ายของสงครามเย็นหรือไม่ 1

รูปแบบสงครามเย็นและการเปิดประเทศของพม่า

กระบวนทัศน์ที่เกิดในยุคหลังสงครามเย็นและการนำมาใช้อธิบายกรณีของพม่าได้มีบทบาทสำคัญมายาวนานกว่าที่เราคิด ด้วยความคาดหวังว่าการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงท้ายทศวรรษ 1980 และช่วงต้นทศวรรษ 1990 จะเข้าแทนที่รัฐบาลสังคมนิยมพม่าของเนวิน (Ne Win) นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถูกสร้างขึ้นจากประสบการณ์การเคลื่อนไหวแบบประชานิยมในยุโรปตะวันออกและการแสดงออกซึ่ง “พลังประชาชน” ในฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้  เปรียบได้กับทฤษฎีโดมิโนในช่วงสงครามเย็น ความคาดหวังใหม่ๆ ที่เชื่อว่าประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะเข้ามาแทนที่ในระบบการปกครองแบบเผด็จการได้กลายมาเป็นคำอุปมาเท่านั้น 2  การพัฒนาภายในพม่าถูกตีความภายในบริบทของแนวคิดด้านประชาธิปไตย  สิทธิมนุษยชน การเลือกตั้งและสถาบันด้านประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม โดยมักใช้เป็นปัจจัยพิจารณาสถานการณ์ด้านการเมืองของพม่า 3 ผลที่ปรากฏ คือ 26 ปีที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์ทางการเมืองพม่าที่ถูกเข้าใจผ่านกรอบการเล่าเรื่องยุคหลังสงครามเย็น ได้สร้างจุดที่ไม่เชื่อมต่อทางประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐบาล สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ/สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council  – SLORC/ State Peace and Development Council – SPDC) และการปฏิรูปที่ริเริ่มโดยเนปิดอว์ (Naypyidaw) ในช่วง ค.ศ. 2011-2013

การปฏิรูปภายในประเทศและต่างประเทศของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง(Thein Sein) ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลง “แบบฉับพลัน” ที่เกิดขึ้นกับสหภาพโซเวียตภายใต้อำนาจของนายมิคาอิ กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ความเชื่อมโยงของเต็ง เส่ง กับกอร์บาชอฟ ยังได้สร้างแนวคิดที่ว่า ความสำเร็จของโครงการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปที่ริเริ่มขึ้นนั้นมาจากบุคลิกภาพและความมุ่งมั่นทางการเมืองของเต็ง เส่ง  ซึ่งนั่นเป็นมุมมองที่จำกัดความสนใจของพวกเราที่มีต่อบทบาทของตัวบุคคลมากกว่ากระบวนการที่ครอบคลุมกว้างขวางกว่าของรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อได้พยายามเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่ากับบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง เช่น อองซาน ซู จี (Daw Aung San Suu Kyi) ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนของแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม การสร้างภาพของเต็ง เส่งให้เป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงนั้น เราอาจมองภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยความสับสนเล็กน้อย แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้มองข้ามตัวแสดงอีกหลายตัว และผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ ที่แข่งขันกัน

บทบาทของทหารในกระบวนการเปิดกว้างได้เริ่มจางหายไปจากสายตาของสาธารณชน เมื่อภาพของรัฐบาลพลเรือนเริ่มที่จะเห็นเด่นชัดมากขึ้น อันที่จริง มันเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลปัจจุบันได้สร้างความห่างเหินให้ตนเองออกจากรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้ เพื่อที่จะเปิดให้ชาติตะวันตกได้ปรับเปลี่ยนท่าทีความสัมพันธ์ที่มีต่อพม่า ในช่วงท้ายของ ค.ศ. 2011 ประเทศตะวันตกหลายประเทศได้เข้าร่วม ASEAN และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ในการให้การยอมรับความพยายามของรัฐบาลที่จะเปิดเสรีด้านการเมือง เริ่มการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยแบ่งแยกดินแดน และการสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจให้เข้าสู่ตลาดโลกอีกครั้ง หลังจากที่ได้มีการปล่อยตัวซูจี (Suu Kyi) จากการกักบริเวณในบ้านพัก การเลือกตั้งที่นำเธอเข้าสู่รัฐสภาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2012  และการมาเยือนที่สำคัญโดยประธานาธิดีบารัค โอบามา (Barack Obama) นั้น ผู้ที่เคยเป็นอริกับรัฐบาลได้เริ่มจะสนับสนุนอย่างการปฏิรูปของเต็ง เส่ง อย่างเปิดเผย  สื่อต่างประเทศซึ่งทำหน้าที่วิจารณ์พม่าเป็นเวลานาน ได้ดำเนินรอยตามแนวโน้มนี้และเริ่มสร้างภาพของพม่าในด้านบวกมากขึ้น เน้นไปที่ความพยายามของรัฐบาลพลเรือนและประธานาธิบดีนักปฏิรูป

The momentous visit to Myanmar by President Barack Obama
The momentous visit to Myanmar by President Barack Obama

ในช่วงต้นของ ค.ศ.2013 เป็นที่กระจ่างว่า พม่ากำลังเปิดตัวเองจากปัจจัยภายในและจากวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจ แม้ว่าบางคนจะมองว่า ที่จริงแล้ว การคว่ำบาตรต่างหากที่อยู่เบื้องหลังการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม ในที่สุด การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จากตะวันตกตั้งแต่ในช่วงต้นทศวรรษ 1990  ก็ได้ยุติ นำมาซึ่งนักลงทุนจากทุกภาคอุตสาหกรรมเข้ามาค้นหาโอกาสตักตวงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมาย แรงงานมีฝีมือและตลาดของพม่า “กระแสความคลั่งในพม่า” ได้รับการตอกย้ำโดยการเดินทางไปเยือนต่างประเทศของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล รวมทั้งการที่เต็ง เส่ง และ ซูจีไปเยือนเอเชียตะวันออก ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ภาพลักษณ์ของซูจี ที่ท้ายสุดก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (หลังจากต้องถูกกักบริเวณในบ้านพัก 1 ทศวรรษ) และหลังจากนั้นก็ได้รับเหรียญเกียรติยศ (Congressional Medal of Honor) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ดูเหมือนจะส่งสัญญาณไปยังหลายต่อหลายคนที่เข้าใจพม่าผ่านเพียงแค่ประสบการณ์ของเธอว่า บทที่ยาวนานในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของพม่าถูกเปลี่ยนหน้าแล้วในที่สุด

แต่การเปลี่ยนแปลงในมุมมองที่มีต่อพม่า จากการเป็นรัฐนอกคอกที่ปิดตัวไปยังรัฐที่เพิ่งเปิดกว้างทางประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทหารมายาวนาน กลุ่มที่ลี้ภัยต่างประเทศและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงมองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพียงแค่การฉาบหน้าแบบผิวเผิน ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยได้ชี้ไปยังประเด็นปัญหาในรัฐธรรมนูญว่าทหารยังคงที่นั่งในรัฐสภาแห่งชาติร้อยละ 25 ซึ่งเป็นจุดบกพร่องของระบบ เจ้าหน้าที่รัฐบาลพร้อมที่จะยอมรับว่า กลุ่มการเมืองต่างๆ และผลประโยชน์ส่วนตัว เห็นได้ชัดทั้งในภาครัฐ (สาธารณะ) และเอกชน ได้กลายมาเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปเหล่านี้ โครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ที่เกิดจากการผสมผสานของระบบคลังที่มีระบบจัดการที่ล้มเหลว และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ได้เน้นให้เห็นถึงการขาดความสามารถภายในรัฐบาลที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเหล่านี้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในชุมชนชนบทที่มีประชากรร้อยละ70   การต่อต้านของชนกลุ่มน้อยและความรุนแรงในชุมชน (ทั้งคู่เป็นเรื่องราวที่คงอยู่อย่างยาวนานในประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองของพม่า) ยังคงทำให้เกิดความซับซ้อนต่อการเปลี่ยนแปลงเบื้องหลังกระบวนการปฏิรูปที่ริเริ่มโดยเนปิดอว์

กลุ่มผู้สนับสนุนจากต่างประเทศบางกลุ่มและสื่อพยายามที่จะประเมินความสำเร็จของการปฏิรูปทั้งหมดของเต็ง เส่ง  และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย โดยดูที่ประเด็นการเข้ามาจัดการปัญหาเกี่ยวกับผู้อพยพในรัฐยะไข่ (Rakhine State) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่มีต่อชุมชนมุสลิมภายในประเทศ และกลุ่มที่ถูกเรียกว่าโรฮิงยา (Rohingya) นักวิจารณ์เชื่อมโยงแผนการการปฏิรูปในวงกว้างของรัฐบาล (ที่มุ่งเน้นไปที่การบรรเทาความยากจน การลงทุนทางเศรษฐกิจ การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน) ด้วยสิ่งท้าท้ายที่เฉพาะตัวและมีความซับซ้อนด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางด้านการเมือง (ซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคนในการแก้ไขปัญหา) ถึงแม้ว่าจะเชื่อมโยงความสำเร็จของกระบวนการปฏิรูปกับความสามารถของรัฐบาลที่จะแก้ไขความตึงเครียดทางชาติพันธุ์และชุมชนจะมองปัญหาที่มีพลวัติและซับซ้อนต่างๆ ไว้ต่ำและง่ายเกินไป แต่นักเคลื่อนไหวเน้นย้ำความจริงเกี่ยวกับความแตกต่างของชุมชน เช่น กลุ่มที่อยู่ที่รัฐยะไข่ (Rakhine) คะฉิ่น (Kachin) และกะเหรี่ยง (Karen) ว่ามักจะมีแนวคิดที่แตกต่างเกี่ยวกับอนาคตของพม่า ที่อาจไม่เป็นไปในทางเดียวกับมุมมองของเนปิดอว์ (Naypyidaw) ย่างกุ้ง(Yangon) หรือ มัณฑะเลย์ (Mandalay) ความจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนอย่างเต็มที่ในยุค “พม่าใหม่” ผู้มีอำนาจหน้าที่จะต้องก้าวย่างอย่างระมัดระวังระวังระหว่างการฟื้นฟูระเบียบในเขตแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนี้ในขณะที่ยังคงต้องรักษาการการอดกลั้นของรัฐบาลประชาธิปไตยด้วย

ในขณะที่การรับรู้ทั่วไปของสาธารณชนต่อรัฐบาลพม่าอาจเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ ค.ศ. 2011 ความเป็นสากลของกิจการภายในประเทศกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น พลวัตภายในยังคงเป็นเรื่องที่ได้รับการถกเถียงอย่างมากในเวทีโลก แต่การมองพลวัตรภายในนี้ยังเกิดขึ้นโดยปราศจากบริบทและความหมายท้องถิ่น สาเหตุอันมาจากอิทธิพลที่ยังคงมีอยู่ของมุมมองหลังสงครามเย็น พัฒนาการในพม่ายังคงถูกแยกออกจากบริบทท้องถิ่นของพวกเขา และในทางกลับกันได้ตั้งคำถามเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงที่ “น่าตกใจ” และเป็นแบบ “ฉับพลัน” ซึ่งได้กลายมาเป็นลักษณะของการเปิดกว้างของพม่า (Myanmar’s Glasnost) มักจะถูกประเมินภายในบริบทของ ค.ศ. 2010 มากกว่า ค.ศ.1987 เมื่อเนวิน (Ne Win) ได้ยอมรับเป็นครั้งแรกถึงความล้มเหลวของนโยบายสังคมนิยมของประเทศ และความจำเป็นที่จะประสานเศรษฐกิจของชาติเข้าสู่ตลาดโลกอีกครั้ง 4  การขยายมุมมองเกี่ยวกับการปฏิรูปที่เพิ่งเกิดขึ้นโดยการถอนตัวออกจากกระบวนทัศน์ของสงครามเย็นในการประเมินของพวกเรา อาจทำให้เรามองการเปิดกระเทศของพม่าที่ชัดเจนมากขึ้น

การปฏิรูปที่ยาวนาน ค.ศ.1987-2013

ความเข้าใจดั้งเดิมของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยพม่ามักจะถูกสร้างกรอบรอบๆ เหตุการณ์หรือภาพลักษณ์ที่มักจะจะรวมถึงการลุกฮือขึ้นของนักศึกษาเมื่อ ค.ศ. 1988 การเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ.1990 บทบาทของซูจี การย้ายถิ่นของชนกลุ่มน้อย และการปฏิวัติผ้าเหลือง (Saffron Revolution) พายุไซโคลนนาร์กิส (Cyclone Nargis) และการเลือกตั้งที่ “อปกติ” ในปี ค.ศ. 2010  ข้อถกเถียงของสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ นักเคลื่อนไหว รัฐบาลและ นักวิชาการ ต่างตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ประกอบที่บรรยายเหล่านี้ ซึ่งนำเสนอในช่วงไม่กี่ทศวรรษในช่วงหลัง ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยที่อ่อนแอต่อการปกครองทางการทหารที่มีพลังอำนาจ ประสบการณ์ทางด้านประชาธิปไตยของพม่าที่ถูกสร้างขึ้นจากเหตุการณ์การสิ้นสุดสงครามเย็นและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตะวันออกและในพื้นที่อื่นๆ ของเอเชีย จึงถูกมองว่าหยุดอยู่กลางคัน เพราะความพยายามของการปกครองแบบเผด็จการที่ต้องการคงไว้ซึ่งอำนาจให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากมุมมองนี้มาจนหลายทศวรรษผ่านพ้นไป การปฏิรูปที่ถูกเปิดตัว ใน ค.ศ. 2011 จึงปรากฏขึ้นอย่าง “น่าตกใจ” เพราะแทบจะไม่มีการคาดหวังว่ากระบวนการบูรณาการและการสร้างขึ้นใหม่ภายในนี้จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐบาลที่ส่งเสริมการปฏิรูป

Cyclone Nargis
Cyclone Nargis

แต่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาของ “การปฏิรูปที่ยาวนาน” ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ได้จากการจัดการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติแห่งชาติเพื่อที่จะให้ความชอบธรรมแก่รัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้งทั่วไป และท้ายที่สุดคือการจัดตั้งรัฐบาลและตัวแทนที่ได้รับการมอบอำนาจตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ

ดังที่ได้ระบุไว้ใน “แผนงานเพื่อไปสู่ประชาธิปไตยที่มีระเบียบวินัย” 7 ขั้น ที่ได้รับการประกาศเริ่มเมื่อ ค.ศ. 2003  ขั้นตอนเหล่านี้เป็นส่วนของแบบพิมพ์เขียวที่ก่อรูปก่อร่างให้รัฐบาลซึ่งเกิดขึ้นใน ค.ศ. 2011 โดยตรง แต่แทบจะไม่มีใครมองอย่างจริงเอาจังต่อการเตรียมการของรัฐบาลในกระบวนการนี้ ในขณะที่การคว่ำบาตรทำให้พม่าต้องโดดเดี่ยวจากเศรษฐกิจและตลาดทางฝั่งตะวันตก (ซึ่งเป็นช่วงที่พม่าหวังว่าจะปรับตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก)  ผู้มีอำนาจทางทหารได้แทนที่ด้วยการหันไปหาหุ้นส่วนในภูมิภาคภายในอาเซียน (ASEAN) เอเชียตะวันออก และตะวันออกกลาง 5 สำคัญกว่านั้น หากมองในบริบทภายในประเทศ ในช่วง 2 ทศวรรษนี้เองที่ข้อตกลงการหยุดยิง 17 ข้อได้รับการลงนามกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้ในสงครามกลางเมืองที่มีหลากหลายมิติและทำให้เกิดความแตกแยกตั้งแต่ ค.ศ. 1948  หลังจากนั้นใน ค.ศ. 2002 การปรองดองได้เกิดขึ้นอีกครั้งจากการลงนามในข้อตกลงสำคัญต่อสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (the Karen National Union) และปีกด้านการทหารอีกหลายฝ่ายของกะเหรี่ยง ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดหนึ่งในการต่อสู้กับรัฐบาลที่เก่าแก่มากที่สุดในเอเชีย จากมุมมองนี้ ช่วงเวลาจาก ค.ศ. 1987 -2013 น่าจะถูกระลึกถึงในฐานะของช่วงเวลาแห่งความสมานฉันท์ และการปฏิรูปที่ท้ายที่สุดแล้วได้ก้าวไปสู่การบรรลุผลหลังจากต้องผ่านสงครามกลางเมืองที่ยาวนานเกือบ 50 ปี

บทสรุป 

การประเมินที่หลากหลายของการปฏิรูปล่าสุดในพม่ามีความเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับการเปิดกว้าง (the Glasnost) ที่ส่งสัญญาณถึงการสิ้นสุดของสงครามเย็น ในขณะที่มุมมองนี้เป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ ในพม่ากับกระบวนการต่างๆ จากที่ใดก็ตามในโลก แต่สิ่งนี้ก็กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เราให้ความสำคัญของรูปแบบและลำคับความสำคัญของท้องถิ่นน้อยลง วิธีที่รัฐบาลเต็ง เส่ง ได้ตัดขาดด้านแนวคิดการปฏิรูปออกจากแนวทางของริเริ่มของสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ/สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council  – SLORC/ State Peace and Development Council – SPDC) ได้ชี้ข้อเท็จจริงที่น่าอึดอัดใจที่ว่า การปฏิรูปที่พวกเราได้เห็นประจักษ์กับตาในทุกวันนี้มีจุดเริ่มในการปฏิรูปที่ยาวนานของรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้  ในท้ายที่สุด “แผนการเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตย” ที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็บรรลุผลสำเร็จอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่ถูกลดความน่าเชื่อถือจากรัฐบาลต่างๆ ที่กำลังยกย่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ การใช้มุมมองยุคหลังสงครามเย็นกับการเปิดตัวของพม่าทำให้มองข้ามความต่อเนื่องที่สำคัญ เหมือนดังเช่นที่โยชิฮิโร  นาคานิชิ (Yoshihiro Nakanishi) ได้โต้แย้งไว้เมื่อเร็วๆ นี้ นาคานิชิกล่าวว่า การก่อรูปของรัฐบาลลูกผสมระหว่างพลเรือนและทหารอาจจะไม่ได้เป็นการก้าวออกมาอย่างฉับพลันทันทีจากอดีต แต่ความต่อเนื่องนี้ได้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเสถียรภาพและสถานะของผู้นำทางการทหาร 6 ความกลัวที่ว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งจะ “หันหลัง” ให้กับกระบวนการปฏิรูปดูเหมือนจะไม่มีมูลความจริง เพราะทหารได้ฝังตัวและลงทุนในการปฏิรูปมาตั้งแต่เริ่มต้น

ไมตรี ออง-ธวิน
รองศาสตราจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดย จารุณี  สุวรรณรัศมี และ ชินสึเกะ  ฮินะตะ
Kyoto Review of Southeast Asia. Issue 14 (September 2013). Myanmar

 

Notes:

  1. Andrew Selth, “Thein Sein as Myanmar’s Gorbachev”, Asia Times, 19 October 2011; Joshua Hammer, “Myanmar’s Gorbachev?”, The New Yorker, 14 January 2012.
  2. See, Robert H. Taylor, The State in Myanmar, (Singapore: NUS Press, 2009).
  3. See, Bertil Litner, Aung San Suu Kyi and Burma’s Struggle for Democracy, (Chiang Mai: Silkworm Books, 2012).
  4. See, Taylor, The State in Myanmar.
  5. See, Jalal Alamgir, “Myanmar/Burma: International Trade and Domestic Power under an “Isolationist” Identity”, edited by Lowell Dittmer, in Burma or Myanmar: The Struggle for National Identity, (London: World Scientific Publishing, 2010).
  6. See, Yoshihiro Nakanishi, Strong Soldiers, Failed Revolution: The State and Military in Burma, 1962-88, (Singapore: NUS Press, 2013).