การใช้แพลตฟอร์มเพื่อการมีส่วนร่วมในเมืองต่างๆ ของอินโดนีเซีย

Asri Septarizky & Hasanatun Nisa Thamrin

แพลตฟอร์มของการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงไปในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตได้พลิกโฉมหน้าวิถีที่เราดำเนินชีวิต  รวมทั้งวิธีการที่เราติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันข้ามพ้นขอบเขตพรมแดนทางกายภาพ  ถึงแม้อินโดนีเซียมีเงื่อนไขเชิงภูมิศาสตร์ที่เป็นหมู่เกาะ แต่พลเมืองอินโดนีเซียก็ติดต่อเชื่อมโยงกัน  เห็นได้จากตัวเลขอย่างน้อย 78.5% ของฐานผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในอินโดนีเซียมีการใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งแพลตฟอร์ม (Kemp, 2023)  นอกจากนี้ มันยังเปลี่ยนโฉมหน้าการมีส่วนร่วมทางการเมืองในอินโดนีเซียด้วย  พลเมืองสามารถหรือกระทั่งได้รับการกระตุ้นให้ส่งเสียงแสดงความต้องการของตนโดยตรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน  มีข่าว ความคิดเห็น หรือเรื่องราว ให้แชร์และถกเถียงกันเสมอทุกวันในอัตราที่ทำให้เราสงสัยว่า การวิวาทะต่างๆ ในแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ก่อให้เกิดผลดีหรือไม่ ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามีความหมายหรือเปล่า

การมีส่วนร่วมทางดิจิทัลช่วยเปิดโอกาสกว้างใหญ่แก่ประชาชนให้เข้ามามีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นในโลกความจริงเสมือน  มันถึงขนาดกำหนดวิถีโคจรในอนาคตของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจเป็นไปไม่ได้ในโลกอนาล็อก  ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นก็กำลังพยายามไล่ตามให้ทันกับกระแสดิจิทัลเหล่านี้  เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อินโดนีเซียก็มีประสบการณ์กับ “ความเฟื่องฟูของเมืองอัจฉริยะ” เช่นกัน (Equinix, 2019) ดังเห็นได้จากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลหลากหลายแบบที่เทศบาลเมืองหลายแห่งนำมาใช้เพื่อปรับปรุงยกระดับบริการสาธารณะ  ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ของรัฐบาลถูกนำมาใช้เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนเพื่อปลูกฝังโครงการและระเบียบข้อบังคับต่างๆ สู่ความรับรู้ของประชาชนในวงกว้าง  เมื่อดูจำนวนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งสร้างขึ้นอันเป็นผลจากการพยายามสร้างเมืองอัจฉริยะแล้ว เราก็อาจตั้งข้อกังขาว่า แพลตฟอร์มของรัฐบาลมีประสิทธิภาพแค่ไหนในการดึงดูดประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและการใช้อินเทอร์เน็ตที่เติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบต่อการพลิกโฉมหน้าการมีส่วนร่วมทางการเมืองในอินโดนีเซีย  ถึงขนาดที่รัฐบาลกลางออกกฎหมาย 19/206 ว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (UU ITE) ซึ่งเป็นกฎหมายควบคุมเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลฉบับแรกของอินโดนีเซีย  มันก่อให้เกิดการถกเถียงและข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการบังคับใช้ สืบเนื่องจากการที่กฎหมายฉบับนี้มักนำไปใช้เพื่อปิดปากการประท้วงต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ  ช่วงต้นปี 2023 ชายหนุ่มนักสร้างคอนเทนต์ทาง Tiktok คนหนึ่งถูกแจ้งความต่อตำรวจด้วยข้อหา “เฮทสปีช” และฝ่าฝืนกฎหมาย UU ITE  หลังจากเขาเผยแพร่คลิปวิพากษ์วิจารณ์การพัฒนาเมืองในจังหวัดลัมปุง  ถึงแม้ไม่มีการยื่นฟ้องความผิดทางอาญาและชายหนุ่มคนนี้ก็พ้นความผิดไปแล้ว แต่นี่คือตัวอย่างหนึ่งในหลายตัวอย่างที่มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารถึงความปรารถนาของพลเมือง กระนั้นในพื้นที่ที่น่าจะเอื้อให้เกิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกลับยังมีข้อบังคับจำกัดเอาไว้

เมื่อสะท้อนย้อนคิดว่าพลเมืองและรัฐบาลใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในฐานะแพลตฟอร์มเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง  ความพยายามเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลท้องถิ่นและในทางกลับกันเพื่อนำไปสู่การสร้างเมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนได้มากน้อยแค่ไหน?

พื้นที่เชื้อเชิญ vs. พื้นที่สรรค์สร้าง

เมื่อพิจารณาว่า เทศบาลเมืองตอบสนองต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างไร แนวทางปฏิบัติในการสร้างการมีส่วนร่วมที่แตกต่างกันก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เรามองเห็นแนวคิดที่แตกต่างกันของพื้นที่เชื้อเชิญ (invited space) กับพื้นที่สรรค์สร้าง (invented space)

รัฐบาลอินโดนีเซียถือว่าการกระจายอำนาจการปกครอง การวางแผน และการจัดทำงบประมาณเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐ โดยอาศัยกระบวนการจากล่างขึ้นบนมากขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า musrenbang (musyawarah perencanaan pembangunan)  กระบวนการนี้เป็นปฏิบัติการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในอินโดนีเซีย เพื่อกำหนดแผนพัฒนาระดับชาติและระดับภูมิภาค โดยเชื้อเชิญนักวิชาการ นักวิชาชีพ ชุมชน และพลเมือง จากระดับชุมชนรากหญ้าขึ้นไปจนถึงระดับเมือง เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีการเชื่อมต่อประสานระหว่างโครงการของรัฐบาลกับความต้องการของพลเมือง  กระบวนการ musrenbang มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพื้นที่เชื้อเชิญสำหรับการบริหารรัฐกิจของเมือง ถึงแม้ระดับการมีส่วนร่วมจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของเมืองก็ตาม

An example of musrenbang process in West Java, Indonesia. Source: Berita Depok (2023)

การมีส่วนร่วมแบบคัดเลือกเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในบางเมือง โดยมีระดับของความยืดหยุ่นในกระบวนการคัดเลือกแตกต่างกันไป  เหตุผลที่พบเจอมากที่สุดเป็นเพราะงบประมาณที่มีอยู่  บางเมืองที่มีวัฒนธรรมการรวมตัวของชุมชนเข้มแข็ง เช่น เมืองซูราการ์ตา สามารถหาวิธีในการเข้าร่วมด้วยการสะสมงบประมาณโดยสมัครใจ การบริจาค หรืองบจากกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR)  ส่วนเมืองขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่า เช่น บันดุงและสุราบายา ก็หันมาใช้เทคโนโลยีในการจัดประชุม และดัดแปลงเป็น e-musrenbang เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากขึ้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์เรื่องความโปร่งใสจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ถึงแม้สาธารณชนชื่นชม musrenbang แค่ไหนก็ตาม ความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนก็เด่นชัดเช่นกัน  การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นยังถูกมองว่าเป็นแค่กระบวนการเชิงสัญลักษณ์ของการวางแผนแบบมีส่วนร่วม  บทบาทของชุมชนยังเป็นแค่รูปแบบ หรือมีแค่จำกัด  ผู้มีส่วนร่วมมักเป็นแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของชุมชน  ชนชั้นนำมักได้เปรียบ และมักเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนวาระของรัฐบาลอยู่แล้ว  ด้วยเหตุนี้ กระบวนการ musrenbang อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และจำกัดการมีตัวแทนที่จะเป็นปากเสียงของชุมชนที่ครอบคลุมหลากหลายภาคส่วน  ส่วน e-musrenbang นั้น ในเชิงปฏิบัติแล้ว แพลตฟอร์มนี้ถูกมองว่าเป็นแค่หลักฐานที่บ่งบอกว่าเทศบาลเมืองต่างๆ ตอบรับแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะ  ส่วนการผลักดันนโยบายให้เกิดผลยังต้องปรับให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เริ่มต้น อีกทั้งต้องมีการประเมินความยั่งยืนของแพลตฟอร์มนี้ด้วย

เพื่อตอบโต้ต่อข้อจำกัดของเวทีที่เป็นทางการอย่าง musrenbang  รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่ขยายวงกว้างขึ้นในแง่ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว แนววิธีนอกกรอบในการเข้าหาการวางนโยบายจึงเริ่มเกิดขึ้น (Holston, 2014)  คนหนุ่มสาวมักมีส่วนร่วมในการเมืองของเมืองนอกเหนือปริมณฑลการมีส่วนร่วมแบบเชื้อเชิญที่รัฐบาลเป็นคนจัด  ยกตัวอย่างเช่น ในซูราการ์ตา จังหวัดชวากลาง มีการจัดตั้งการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของพลเมือง (หรือ Forum Kota) ขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาหรือนโยบายที่กำลังเกิดขึ้นในเมือง  ความปรารถนาของพวกเขาเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หนังสือพิมพ์ หรือการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อกระตุ้นการรับรู้  ยิ่งในเมืองใหญ่ก็ยิ่งพบเห็นความเคลื่อนไหวแบบนี้มากขึ้น  เราจะพบว่ามีการอภิปรายสาธารณะทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งจัดโดยชุมชนท้องถิ่น ประเด็นที่พูดคุยก็มีตั้งแต่เรื่องที่อยู่อาศัย ขนส่งมวลชน และปัญหาการเมือง ไปจนถึงผลกระทบที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีต่อเมือง  การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเหล่านี้มีศักยภาพอย่างยิ่งในการช่วยให้พลเมืองได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ  เพิ่มพูนความสามารถของพลเมืองในการมีส่วนร่วมกับการถกเถียงเรื่องของเมือง และแม้กระทั่งร่วมกันกำหนดทิศทางของหัวข้อการสนทนา

แพลตฟอร์มหนึ่งที่จัดอภิปรายปัญหาของเมืองทุกปีและเปิดกว้างต่อสาธารณชนก็คือ Urban Social Forum (USF)  ตั้งแต่ปี 2013 USF เป็นแพลตฟอร์มที่ให้พื้นที่เปิดกว้างและไม่กีดกันเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ถกเถียงด้านแนวคิด และสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม นักกิจกรรม นักวิชาการ และนักศึกษา ซึ่งทำงานเคลื่อนไหวกดดันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของเมือง  ถึงที่สุดแล้ว ฟอรัมแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะและประชาธิปไตยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันแนวคิดทางเลือกและจินตนาการถึง “เมืองอีกแบบหนึ่งนั้นเป็นไปได้!” (urbansocialforum.or.id)  ฟอรัมออฟไลน์แห่งนี้เป็นพื้นที่สรรค์สร้างของเมืองที่เอื้อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเมืองตามความสนใจของตน

Screenshot from the USF website: https://www.urbansocialforum.or.id/#top

น่าเสียดายที่พื้นที่สรรค์สร้างเพื่อการมีส่วนร่วมมักมีข้อบกพร่องควบคู่มาด้วย  ตอนนี้มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่า จะสร้างความเชื่อมโยงอย่างไรระหว่างกิจกรรมออนไลน์กับการวางนโยบายในโลกความเป็นจริง ซึ่งยังเกิดขึ้นในโลกออฟไลน์เป็นหลัก (Zhang, 2013)  ในขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเปิดโอกาสให้ทุกคนส่งเสียงแสดงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองได้ แต่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกจริงได้แค่ไหนยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่  หนึ่งในฉากทัศน์ในแง่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นก็คือ กรณีที่ Lentera Indonesia ริเริ่มรวบรวมรายชื่อออนไลน์ในปี 2016 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้สภาผู้แทนอินโดนีเซียสนับสนุนการอภิปรายและการผ่านกฎหมายอาญาความรุนแรงทางเพศ (Change.org, 2016)  ข้อเรียกร้องนี้ประสบความสำเร็จในที่สุด และหลังจากรณรงค์มานานกว่า 6 ปี อินโดนีเซียก็อนุมัติใช้กฎหมายฉบับนี้ในปี 2022

น่าเสียดายที่ความสำเร็จแบบนี้มีให้เห็นไม่บ่อยนัก แม้กระทั่งสำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รัฐบาลเป็นผู้สร้างเอง  เมืองหลายเมืองในอินโดนีเซียมีเว็บไซท์บริการรับคำร้องทุกข์ของพลเมือง แต่ไม่ใช่ทุกคำร้องทุกข์จะได้รับการติดตามผล  รัฐบาลควรจัดการให้คำร้องทุกข์เหล่านี้อยู่ในแผนพัฒนาเมืองภายในแต่ละปีงบประมาณ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการดำเนินการและต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองอย่างสูงของนายกเทศมนตรีที่อยู่ในตำแหน่ง  ทั้งหมดนี้อาจทำให้เกิดทัศนะที่มองการเมืองในแง่ร้าย (Kersting & Cronqvist, 2005) และแม้กระทั่งทำให้พลเมืองเลิกสนใจการเมืองไปเลย

เมื่อสังเกตดูปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้แล้ว เราควรยืนอยู่ตรงจุดไหนในไซเบอร์สเปซที่เต็มไปด้วยการโต้แย้งถกเถียงนี้?

ร่วมกันสร้างปฏิบัติการที่มีความหมาย

การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเน้นให้เห็นความตึงเครียดระหว่างพื้นที่การมีส่วนร่วมแบบเชื้อเชิญกับแบบสรรค์สร้าง ซึ่งลงเอยด้วยการมีส่วนร่วมแบบสร้างภาพเท่านั้น  เนื่องจากพลเมืองอินโดนีเซียส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยที่มีทักษะและอัตลักษณ์ทางสังคมแตกต่างกัน เราจึงต้องตระหนักว่า มีความเป็นไปได้ที่แพลตฟอร์มดิจิทัลอาจนำมาซึ่งการกีดกัน นั่นหมายความว่าการสร้างการมีส่วนร่วมผ่านแพลตฟอร์มอาจมีความซับซ้อนมากกว่าที่มองเห็นโดยผิวเผิน  หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น คนอย่างไลรานา (ผู้หญิงที่มีความทุพพลภาพ อาศัยในภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย ซึ่งยังไม่มีไฟฟ้าและเสาสัญญาณสื่อสาร) หรือ ไค (นอน-ไบนารี่ผู้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่  ผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐและประสบกับการตีตราทางสังคม)  การจะมีส่วนร่วมในการบริหารเมือง พร้อมกับทำหน้าที่เป็นตัวแทนอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนหลายประเด็น ย่อมเป็นเรื่องซับซ้อนอย่างยิ่ง ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงแง่มุมทางดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง

Citizens’ differing social identities may hinder them from participating in city decision-making. Photo: Unsplash (2022)

ในแง่ของการรับรู้ ถึงแม้ข้อมูลข่าวสารจะไหลเวียนผ่านเว็บไซท์ข่าวและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แต่พลเมืองกลับพบว่ามันยากมากขึ้นในการแยกแยะข่าวจริง ข่าวกึ่งจริงกึ่งเท็จ และข่าวเท็จออกจากกัน เพราะข้อเท็จจริงถูกทำให้พร่าเลือนจากนักปั่นข่าวสาร (Buzzers) 1 (Nugroho & Wihardja, 2023)  กระนั้นก็ตาม มีแพลตฟอร์มอิสระและก้าวหน้าเกิดใหม่มากขึ้น แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นของคนหนุ่มสาวที่ต้องการทวนกระแสเรื่องเล่าแม่บทที่แพร่หลายและนำเอาเรื่องราวจากเบื้องล่างขึ้นมา  Kolektif Agora คือสื่อกลางที่เผยแพร่แนวคิด วิวาทะ และข่าวสารจากนักข่าวพลเมือง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นท่ามกลางสื่อกระแสหลักที่อิ่มตัวและถูกกำกับควบคุมอย่างเข้มงวด  Bijak Memilih เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่ม Think Policy และ What Is Up Indonesia (WIUI) ภายใต้การนำของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งต้องการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเกี่ยวกับนโยบายและผลงานทางการเมืองที่ผ่านมาของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและพรรคการเมืองที่หนุนหลังผู้สมัคร

การมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะฟังแล้วเหมือนมีอิสระแค่ไหน แต่ก็ควรได้รับการอำนวยการจากรัฐบาลหากมุ่งหวังจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐาน  ย้อนไปกล่าวถึงกฎหมาย (UU ITE) ที่กล่าวถึงข้างต้น เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่เครื่องมือที่เป็นกลาง แต่อาจผลิตซ้ำแบบแผนของการกีดกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามันถูกจัดวางและควบคุมอย่างไร (Polgar, 2010)  กฎหมายแบบนี้ทำให้พลเมืองอินโดนีเซียเซนเซอร์ความคิดเห็นของตัวเองก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพราะกลัวว่าตนจะต้องพบเจอเหตุการณ์แบบเดียวกับผู้สร้างคอนเทนต์ใน TikTok  ดังที่เล่าไปแล้ว  การกดขี่บังคับแบบนี้มักทำให้การพัฒนาเมืองไม่บรรลุผล  เพราะเมืองจะตอบสนองความต้องการของพลเมืองได้อย่างไรหากพลเมืองถูกปิดปากไม่ให้แสดงความคิดเห็น?

เมื่อย้อนทบทวนประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ข้อเสนอคือควรมีการคิดค้นหาแนวทางปฏิบัติที่มีการร่วมมือกันมากขึ้นในการออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อการมีส่วนร่วม โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันระหว่างพลเมืองกับรัฐบาลว่า ทั้งสองฝ่ายในขณะนี้มีความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดทิศทางของเมืองอย่างไร มีแรงจูงใจ อุปสรรค และช่องทางอย่างไรบ้าง  พลเมืองต้องได้รับการเสริมสร้างอำนาจด้วยความรู้เกี่ยวกับสิทธิของตนและความรับผิดชอบที่มีต่อเมือง  ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มูลนิธิ Kota Kita Foundation ได้ริเริ่มโครงการในชื่อ Urban Citizenship Academy ซึ่งเป็นโครงการที่ให้การศึกษาด้วยประสบการณ์โดยตรงเพื่อเสริมสร้างอำนาจแก่เยาวชนในการพัฒนาหาหนทางแก้ไขที่มีความหมายต่อปัญหาเมืองในโลกความเป็นจริง (kotakita.org) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนหนุ่มสาวเกี่ยวกับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหว การเป็นพลเมือง และเครื่องมือในการรณรงค์ รวมทั้งช่วยเหลือพวกเขาในการริเริ่มสร้างขบวนการเคลื่อนไหวในชุมชนหรือในระดับเมือง  ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นควรแก้ไขปรับปรุงความสามารถในการตอบสนองความต้องการของพลเมือง ตลอดจนการสร้างแพลตฟอร์มที่ตรงต่อความต้องการของพลเมือง

From their website: “The Urban Citizenship Academy is a hands-on educational experience empowering youth to develop meaningful solutions to real urban problems.”

นอกจากนี้ การร่วมมือกันสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลระหว่างรัฐบาลกับพลเมืองสามารถก่อให้เกิดความไว้วางใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วม  นวัตกรรมเชิงประชาธิปไตยจะมีให้เห็นมากขึ้น ผสมผสานรูปแบบการมีส่วนร่วมแบบผู้แทนดั้งเดิมกับเครื่องมือการมีส่วนร่วมโดยตรงและมีการปรึกษาหารือ  ยิ่งกว่านั้น มันจะเกิดการผสมผสานระหว่างเครื่องมือออฟไลน์กับออนไลน์ (Kersting, 2013)  การมีส่วนร่วมควรดำเนินไปพร้อมกับการเปิดกว้างด้วย หมายความว่าการมีส่วนร่วมต้องไม่ใช่แค่เชิงสัญลักษณ์และเปิดให้เฉพาะผู้เข้าร่วมที่คัดสรรมาแล้ว  แต่ต้องมีการยอมรับธรรมชาติที่ทับซ้อนกันอย่างหลากหลายของพลเมือง (เช่น วัย เพศสภาพ ความสามารถ สถานะผู้อพยพ)  ทั้งหมดนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงใจ มิใช่แค่ทำพอเป็นพิธีผ่านนโยบาย แต่ต้องมีการผลักดันให้มากเพียงพอด้วยการบังคับใช้อย่างจริงจัง

พลเมืองทุกคนมีสิทธิกำหนดทิศทางเมืองของตน  การตระหนักถึงสิทธิที่จะทวงคืนเมืองในฐานะพื้นที่ของส่วนรวมคือหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การหารืออย่างจริงจังและได้รับแรงสนับสนุนในเมือง  ด้วยการมีพลเมืองที่มีข้อมูลความรู้และมีอำนาจ ย่อมเป็นไปได้ที่วิสัยทัศน์ถึงต้นแบบของเมืองที่รองรับคนทุกคนจะกลายเป็นสิ่งที่มีร่วมกัน

Asri Septarizky & Hasanatun Nisa Thamrin
Kota Kita Foundation, https://kotakita.org/

Banner: Jakarta, Indonesia – May, 2023: A number of people are using their smartphones on the streets of Jakarta. Abdlh Syamil, Shutterstock

References:

Change.org. (2016, May 3). Sahkan UU Penghapusan kekerasan Seksual. #MulaiBicara #GerakBersama. Retrieved from Change.org: https://www.change.org/p/dpr-ri-sahkan-uu-penghapusan-kekerasan-seksual-mulaibicara
Equinix Editor. (2019, May 6). Why Are Smart Cities Booming in Asia Pacific? Retrieved from Equinix Interconnections: https://blog.equinix.com/blog/2019/05/06/why-are-smart-cities-booming-in-asia-pacific
Holston, J. (2014). ‘Come to the Street! Urban Protest, Brazil 2013’, Anthropological Quarterly, Vol. 87, No. 3, pp. 887-900.
Kemp, S. (2023, February 9). Digital 2023: Indonesia. Retrieved from Data Reportal: https://datareportal.com/reports/digital-2023-indonesia
Kersting, N. (2013) ‘Online participation: from ‘invited’ to ‘invented’ spaces’, Int. J. Electronic Governance, Vol. 6, No. 4, pp.270–280
Nugroho, Y., & Wihardja, M. M. (2023, October 9). Preventing Indonesia’s “Digitalised” Democracy from Backsliding. Retrieved from Fulcrum: Analysis on Souteast Asia: https://fulcrum.sg/preventing-indonesias-digitalised-democracy-from-backsliding/
Zhang, W. (2013). Redefining youth activism through digital technology in Singapore. In Digital Activism in Asia Reader edited by Nishant Shah, Puthiya Purayil Sneha, and Sumandro Chattapadhyay, Meon Press, Luneberg, 235 – 256

Notes:

  1. Buzzer หมายถึงคนหรือกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างเพื่อผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์ในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อประโยชน์ของกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์  ในการเลือกตั้งครั้งหลังๆ ของอินโดนีเซีย พรรคการเมืองใช้งานคนหรือกลุ่มเหล่านี้เพื่อสร้างอิทธิพลชักจูงโน้มน้าวประชาชนโดยไม่รู้ตัว  นักปั่นข่าวสารมักวางตัวเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือนักข่าวพลเมือง ทำให้ประชาชนเชื่อว่าพวกเขาเป็นแหล่งข่าวทางเลือกนอกเหนือจากสำนักข่าวกระแสหลัก แต่ข่าวสารที่คนเหล่านี้เผยแพร่มีการบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่ว่าจ้างพวกเขาลับๆ