ควันหลงหลังวิกฤตการณ์พุทธศาสนาปี 1963 ในหน้าวารสาร Lotus Monthly (Liên Hoa Nguyệt San)

Wynn Gadkar-Wilcox

วันที่ 4 พฤษภาคม 1963  ชาวคาทอลิกทั่วทั้งสาธารณรัฐเวียดนามพากันติดธงคาทอลิกเพื่อฉลองวาระครบรอบ 25 ปีที่โง ดิ่ญ ถุกได้รับการคัดสรรแต่งตั้งเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาชาวเวียดนามคนแรก  สองวันหลังจากนั้น น้องชายของโง ดิ่ญ ถุก กล่าวคือ โง ดิ่ญ เสี่ยม ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเวียดนาม ส่งโทรเลขแจ้งคำสั่งห้ามมิให้มีการติดธงทิวทางศาสนา  วันที่ 8 พฤษภาคม มีพิธีฉลองรำลึกวันประสูติของพระโคตมพุทธเจ้า  ในเมืองเว้ มีการติดธงทิวทางศาสนาพุทธอย่างเอิกเกริก เป็นเหตุให้กองทัพแห่งสาธารณรัฐเวียดนามปลดธงทั้งหมดลงมา  ด้วยเหตุนี้เอง ชาวพุทธกว่าสามพันคนจึงเดินขบวนไปที่สถานีวิทยุท้องถิ่นแห่งหนึ่งในเมืองเว้  กองทหารของกองทัพแห่งสาธารณรัฐเวียดนามประเดิมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาก่อน จากนั้นก็ยิงกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วง ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิต 8 ราย 1

ถึงแม้ว่าหลังจากนั้น โง ดิ่ญ เสี่ยมจะพบปะกับผู้นำชาวพุทธในเดือนพฤษภาคมและเสนอให้มีการไกล่เกลี่ยในประเด็นเรื่องการประดับธง อีกทั้งยืนยันอีกครั้งว่าเขายึดมั่นในหลักการเสรีภาพทางศาสนา  แต่ท่าทีทั้งหมดนี้ยังไม่เพียงพอในสายตาของพุทธศาสนิกชนด้วยเหตุผลสองประการด้วยกัน  ประการแรก รัฐบาลไม่ยอมรับผิดอย่างเต็มที่ในเรื่องการสังหารหมู่ประชาชน และประการที่สอง รัฐบาลดำเนินการชักช้าในการผลักดันการปฏิรูปตามที่เคยสัญญาไว้  ในฤดูร้อนปี 1963  พระสงฆ์และฆราวาสที่สนับสนุน (โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย) ร่วมกันปฏิบัติการประท้วงทางการเมืองอย่างยืดเยื้อต่อเนื่อง อาทิ การอดอาหารประท้วงและการเดินขบวน จนกลายเป็นกิจวัตร ไม่ใช่แค่ในเมืองเว้ แต่รวมถึงทั่วประเทศด้วย  เหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดของคลื่นการประท้วงรอบนี้ก็คือ การเผาตัวเองของทิก กว๋าง ดึ๊กตรงสี่แยกใหญ่ของไซ่ง่อนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน  ในวันที่ 1 กันยายน บุคคลผู้กลายเป็นหน้าตาของการประท้วงรอบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ ทิก ถี กวาง และผู้นำชาวพุทธคนอื่นๆ ได้เข้าร้องขอและได้รับที่หลบภัยภายในสถานทูตสหรัฐอเมริกาในไซ่ง่อน  ถึงแม้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกในช่วงกลางเดือนกันยายน และรัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยมพยายามปรองดองกับทั้งชาวพุทธและผู้อุปถัมภ์ในสหรัฐอเมริกาที่หมดความอดทนลงเรื่อยๆ ด้วยการจัดเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรแห่งชาติอย่างค่อนข้างเสรีขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายน แต่ก็ไม่ทันการณ์แล้ว  ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงียบๆ จากสหรัฐอเมริกาและมีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้นำชาวพุทธ ก็ก่อรัฐประหารโค่นล้มโง ดิ่ญ เสี่ยม  พอวันที่ 4 พฤศจิกายน ทิก ถี กวางก็ออกจากสถานทูตสหรัฐอเมริกาอย่างมีชัย  ในปี 1964 กลุ่มผู้นำชาวพุทธเริ่มตระหนักถึงอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ของตน อีกทั้งเกรงว่าความเป็นไปในอนาคตของเวียดนามอาจนำไปสู่การกวาดล้างรังควานพวกเขาได้อีก กลุ่มผู้นำชาวพุทธจึงพยายามผลักดันให้ความสามัคคีที่เกิดจากวิกฤตการณ์พุทธศาสนาในปี 1963 มีรูปธรรมเป็นทางการมากขึ้นด้วยการก่อตั้งองค์การสหพุทธจักรเวียดนาม (United Buddhist Sangha–UBC) ซึ่งจะเชื่อมประสานนิกายต่างๆ ที่เคยวิวาทบาดหมางและแตกแยกกันทางประวัติศาสตร์ด้วยสาเหตุทั้งในเชิงภูมิภาคและอุดมการณ์ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน 2

บทความชิ้นนี้คือรายงานเบื้องต้นจากงานวิจัยที่ผู้เขียนกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพิจารณาถึงวิธีการต่างๆ ที่กลุ่มผู้นำในวิกฤตการณ์พุทธศาสนา โดยเฉพาะในเมืองเว้ พยายามสร้างแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่สถานะของพวกเขา รักษาความสามัคคีในหมู่ชาวพุทธ และส่งเสริมความเข้มแข็งทางการเมืองต่อไปภายหลังวิกฤตการณ์พุทธศาสนาปี 1963  ผู้เขียนอาศัยการวิเคราะห์บทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Liên Hoa Nguyt San (Lotus Monthly)  ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 วารสารฉบับนี้กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาสำคัญให้แก่ความคิดเห็นของฆราวาสชาวพุทธ ไม่เฉพาะในเวียดนามภาคกลางเท่านั้น แต่ทั่วทั้งสาธารณรัฐ  บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า ด้วยการวางตัวเป็นกระบอกเสียงแก่องค์การสหพุทธจักรเวียดนาม และเป็นเวทีใหญ่ให้ทิก ถี กวางใช้ส่งเสริมให้ขบวนการชาวพุทธผลักดันและรักษาการปลุกระดมทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง วารสาร Liên Hoa Nguyt San ช่วยกระตุ้นให้สาธารณชนสนใจทัศนะของทิก ถี กวาง และกรุยทางให้แก่ปฏิบัติการของชาวพุทธในเวลาต่อมา นั่นคือในปี 1965-1966 และตลอดช่วงเวลาที่เหลือของสาธารณรัฐเวียดนาม

: การประท้วงของชาวพุทธต่อต้านรัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยมในกรุงไซ่ง่อน พฤศจิกายน 1963 
Photo: Douglas Pike Photograph Collection, Vietnam Center and Sam Johnson Vietnam Archive, Texas Tech University

กระบอกเสียง : Liên Hoa Nguyt San

ย้อนกลับไปในปี 1955 คณะสงฆ์แห่งเวียดนามภาคกลาง (Giáo hội Tăng già Trung Việt) ได้ตัดสินใจตีพิมพ์ผลงานชุดหนึ่งในชื่อ “Lotus Series” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงศาสนาพุทธได้มากขึ้น  ผู้นำในภารกิจนี้คือแม่ชีทิก หนือ เสี่ยว คง (1905-1997) 3ในเดือนพฤศจิกายน 1955 มีการจัดประชุมนัดพิเศษของคณะสงฆ์แห่งเวียดนามภาคกลาง แม่ชีเสี่ยว คง นำเสนอบทความสั้นๆ หลายบท  และที่ประชุมตัดสินใจจะตีพิมพ์ลงในสิ่งพิมพ์ที่ต่อมากลายเป็นวารสารรายเดือน  วารสารฉบับแรกเผยแพร่ในวันตรุษญวนหรือเต๊ต (Tết) ในปีวอก (1956)  คณะสงฆ์ได้มอบหมายให้ทิก โดน เห่วแห่งวัดลิญหมุ (1905-1992) เป็นประธาน พระคุณเจ้าทิก ดึ๊ก เติมเป็นบรรณาธิการ  ส่วนทิก หนือ เสี่ยว คงดำรงตำแหน่งผู้จัดการในการตีพิมพ์

เมื่อเวลาผ่านไป วารสาร Lotus Monthly ขยายฐานจากในพื้นที่เวียดนามภาคกลางกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งสาธารณรัฐเวียดนาม  ล่วงมาถึงต้นทศวรรษ 1960 เนื้อหาในวารสารได้รับการเผยแพร่และส่งต่ออย่างกว้างขวาง และกลายเป็น “กระบอกเสียงของคณะสงฆ์ทั่วทั้งดินแดนที่อยู่ภาคใต้ของเส้นขนานที่ 17” 4  วารสารฉบับนี้กลายเป็นช่องทางอันมีอิทธิพลในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤตการณ์พุทธศาสนาในปี 1963 และการก่อตั้งองค์การสหพุทธจักร (Unified Buddhist Church) ในเวียดนาม ซึ่งเป็นพัฒนาการที่เข้าใจได้ เนื่องจากเหตุการณ์ปี 1963 มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเว้  อีกทั้งผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ระลอกนั้น นับตั้งแต่ทิก ถี กวางมาจนถึงทิก โดน เห่ว ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับวารสารฉบับนี้หรือเป็นผู้เขียนบทความให้บ่อยๆ  ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้วิกฤตการณ์พุทธศาสนาจะทำให้วารสาร Lotus Monthly ถูกบังคับให้ปิดตัวลงตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิจนถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1963 แต่มันก็กลายเป็นจุดศูนย์กลางในการทำความเข้าใจวิกฤตการณ์พุทธศาสนาในช่วงปลายปี 1963 และตลอดทั้งปี 1964 ตลอดจนการทำความเข้าใจวิถีโคจรที่เริ่มจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยมในปี 1963 จนถึงการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและการถอนตัวของสหรัฐอเมริกาในปี 1965-1966

Lotus Monthly, วิกฤตการณ์พุทธศาสนา และสหพุทธจักรเวียดนาม 1963-1964

ถึงแม้การเซนเซอร์และการกดขี่ที่มาพร้อมกับวิกฤตการณ์พุทธศาสนาในปี 1963 บีบให้วารสาร Lotus Monthly ต้องปิดตัวลงชั่วคราว  แต่การรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 1963 สร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้วารสารกลับมาตีพิมพ์เผยแพร่ได้อีกครั้ง  วารสารฉบับเดือนพฤศจิกายน 1963 ดูเหมือนเร่งรีบตีพิมพ์ออกมา มีการพิมพ์ผิดพลาดจำนวนมาก แถมยังมีบางหน้าหายไปจากวารสารจำนวนไม่กี่ฉบับที่หาซื้อได้ทั่วโลกอีกด้วย  ในเล่มเริ่มต้นด้วยบทบรรณาธิการ ซึ่งเชื่อกันว่าทิก โดน เห่วและทิก ดึ๊ก เติมเป็นผู้เขียน อธิบายถึงสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นบทบาทที่เหมาะสมของวารสาร Lotus Monthly อันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ ในปี 1963  พวกเขาอธิบายว่าระหว่างเดือนเมษายนจนถึงเดือนกันยายน พุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามถูก “ลากเข้าไปในพายุของความหวาดกลัว”  อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหาร “ฝนหยุดและพายุซาลงในประเทศของเราแล้ว  เป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาชนชาวเวียดนามทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือไม่  ทุกคนรู้สึกโล่งอกและจิตใจสงบลง”  ถึงแม้มีพระภิกษุและฆราวาสจำนวนมากเคยถูก “ทุบตีหรือคุมขัง แต่พวกเราทุกคนก็รู้สึกราวกับช่วงเวลาของการยกภูเขาออกจากอกได้มาถึงแล้ว”  ในขณะที่กองทัพได้กระทำการอันนำมาซึ่งการยุติวิกฤตการณ์ของช่วงหกเดือนที่ผ่านมา แต่ผู้ที่เราต้องจดจำรำลึกก็คือ “พระสงฆ์และแม่ชี อุบาสกอุบาสิกา อาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัย และนักเรียนมัธยม คนเหล่านี้จำนวนมากได้อุทิศตนต่อสู้ทั้งในทางลับและทางแจ้งเพื่อเป้าหมายอันทรงคุณธรรม”  ประชาชนชาวเวียดนามต้องไม่ลืมว่า “พระภิกษุและแม่ชีเจ็ดรูปได้ใช้สังขารของตนเป็นคบไฟส่องทางเพื่อต่อสู้กับความมืดมน” และ “นักศึกษาชาวพุทธหลายคนต้องล้มตายภายใต้สะเก็ดระเบิดหรือถูกเหยียบขยี้ใต้ตีนตะขาบรถถัง” รวมทั้ง “อาจารย์และนักศึกษาจำนวนมาก” ถูกจำคุกและเสียชีวิตด้วย  จิตวิญญาณของพุทธศาสนิกชนและวารสารอย่าง Lotus Monthly มีภารกิจที่ต้องรำลึกเชิดชูวีรกรรมของคนเหล่านี้

T: ทิก โดน เห่ว (Thích Đôn Hậu). Photo: Douglas Pike Collection: Vietnam Center and Sam Johnson Vietnam Archive, Texas Tech University

วารสาร Lotus Monthly เคยแสดงจุดยืนทางการเมืองมาก่อน  ยกตัวอย่างเช่น วารสารเคยวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทะไลลามะและพุทธศาสนิกชนชาวทิเบตระหว่างที่พวกเขาถูกบังคับส่งตัวกลับอินเดียเมื่อปี 1959 5 แต่หลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญในปี 1963 การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาแบบนี้กลายเป็นเรื่องปรกติมากขึ้น  ด้วยเหตุนี้ เมื่อสหพุทธจักรเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม 1964 วารสาร Lotus Monthly จึงกลายเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ข่าวสารสำคัญขององค์การ

วารสารฉบับเดือนมกราคม 1964 เริ่มต้นด้วยบทความแรกที่แจกแจงว่า สหพุทธจักรเวียดนามและ Vin Hóa Đạo (สภาบริหารกลาง) มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้คำมั่นสัญญาของแนวร่วมสหพุทธจักรกลายเป็นความจริงโดยอาศัยวารสาร Lotus Monthly เป็นสื่อกลาง  ผู้เขียนบทความขยายความว่า ผู้อ่านควรใช้วารสาร Lotus Monthly เป็นช่องทางสื่อสารถึงสหพุทธจักรเวียดนาม 6 สำหรับประเด็นนี้ได้รับการเน้นย้ำจากบทความที่สองในวารสารฉบับเดือนมกราคม 1964 ซึ่งเผยแพร่คำทักทายสวัสดีปีใหม่จากทิก เติม เจิว ประธานของ Viện Hóa Đạo  สารที่เขาสื่อก็คือ ถึงแม้ต้องเสียเลือดเนื้อในปี 1963 แต่พุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามก็ได้มีเวทีในการ “เผยแผ่สัจธรรมแห่งศาสนาพุทธ” เสียที  เพื่อดำเนินต่อไปตามเส้นทางประวัติศาสตร์นี้ ชาวพุทธต้องแสดงออก “ด้วยความอดทน ความเมตตา และกุศลจิตต่อชาวพุทธและสัตว์โลกทั้งปวง” เพื่อ “ปัดเป่าความมืดให้กระจัดพลัดพรายไป”  อีกทั้งต้องรักษาความสามัคคีและความมานะมุ่งมั่น  “ถึงแม้ผีเปรตอาจมากั้นถนน ขวางทางของเรา ยิงเรา จำคุกเรา และฆ่าเรา เราก็จะไม่ถอยหนี” 7 เพื่อคอยระวังต่อต้านพฤติกรรมของพวกอำนาจนิยม พุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามพึงยืนหยัดหนุนหลังวาระของ Viện Hóa Đạo และสหพุทธจักรเวียดนาม

ยุทธศาสตร์สำคัญของทิก ถี กวา            

บทความอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในวารสาร Lotus Monthly ฉบับแรกของปี 1964 ก็คือชุดบทความของทิก ถี กวาง ผู้นำการประท้วงปี 1963 ซึ่งจะตีพิมพ์ต่อเนื่องเป็นตอนๆ ในวารสาร Lotus Monthly ทุกฉบับเกือบตลอดปี 1964  บทความนี้มีชื่อว่า “Cuộc Vận Động của Phật Giáo Việt Nam” (ขบวนการพุทธศาสนิกชนเวียดนาม)  นอกจากให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาเป็นไปของวิกฤตการณ์ปี 1963 แล้ว ก็ยังอธิบายถึงยุทธศาสตร์สำหรับขบวนการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าด้วย

ทิก ถี กวางเสนอความเห็นว่า คณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาอยู่ในสถานะที่มีโอกาสอันดียิ่งในการปฏิบัติการอย่างเป็นหมู่คณะเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเชิงบวกครั้งสำคัญในโลก ทั้งยังสามารถใช้ข้อได้เปรียบจากการได้รับความสนใจจากนานาชาติสืบเนื่องจากเหตุวิปโยคในเวียดนามเมื่อปี 1963 เพื่อเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนทั่วโลก  ทิก ถี กวางโน้มน้าวขบวนการว่า ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ขบวนการไม่ควรปล่อยให้ต้นทุนทางการเมืองที่ได้มาต้องเสียเปล่า  “เราสามารถใช้อำนาจนี้ทำให้บทบาทหน้าที่ของเราเป็นที่รับรู้และใช้ความทุกข์ของเราก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย”  ดังนั้น เขาจึงเรียกร้องให้ชาวพุทธสร้างปฏิบัติการทางการเมืองต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่า “นโยบายของคนพาล” จะไม่ถูกนำกลับมาใช้อีก และจดจำไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่เราร้องขอในการรณรงค์จะกระตุ้นความหวังของประชาชนได้อย่างมาก”  การระวังรักษาผลดีที่ชาวพุทธได้มาในปี 1963 และตระหนักว่ายังทำอะไรได้มากกว่านี้ในอนาคตมีแต่จะช่วย “เพิ่มความมุ่งมั่นของเรา” 8

Riot police break up Buddhist demonstration, Saigon, 22 May 1966. Photo: Wikipedia Commons

บทสรุป

ในเดือนมกราคม 1964 พัฒนาการสองประการของวารสาร Lotus Monthly เริ่มงอกเงยให้เห็นดอกผล  ประการแรกก็คือ วารสารกลายเป็นกระบอกเสียง โดยพฤตินัย ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารขององค์การสหพุทธจักร ไม่เฉพาะในเวียดนามภาคกลางเท่านั้น แต่ทั่วทั้งสาธารณรัฐเวียดนาม  ประการที่สองก็คือ วารสารกลายเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนเป้าหมายทางการเมืองของสหพุทธจักร  ถึงแม้ก่อนหน้านี้วารสาร Lotus Monthly ไม่เคยหลบเลี่ยงจากประเด็นทางการเมืองร่วมสมัยที่เกี่ยวข้อง แต่พอถึงปี 1964 การเป็นปากเสียงแสดงจุดยืนทางการเมืองยิ่งไต่ระดับความสำคัญและความเร่งด่วนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้น วารสาร Lotus Monthly เริ่มนำเสนอทัศนะของทิก ถี กวางมากขึ้น บทความเกี่ยวกับขบวนการพุทธศาสนิกชนของเขาเริ่มตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายน 1963 และลงเป็นตอนๆ ต่อเนื่องเกือบตลอดปี 1964  ก่อนหน้านี้ วารสาร Lotus Monthly เคยนำเสนอทัศนะของกลุ่มคนหลากหลายกว่านี้  แต่พอถึงปี 1964 กองบรรณาธิการของ Lotus Monthly น่าจะมีแนวคิดถึงรากถึงโคนมากขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ ในเมืองเว้เมื่อปีก่อนหน้า จึงตัดสินใจมุ่งเน้นแนวทางเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบทิก ถี กวาง  การที่ Lotus Monthly มีฐานผู้อ่านเข้มข้นทั่วทั้งสาธารณรัฐ เอื้อให้แนวคิดทางการเมืองแบบนี้มีบทบาทมาก แม้จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งในช่วงปี 1963-1965 ไปจนถึงช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาพัวพันในเวียดนามมากขึ้น  เราสามารถขีดเส้นตรงระหว่างความเป็นไปเหล่านี้กับบทบรรณาธิการของ Lotus Monthly ที่เรียกร้องให้มีการปรองดองอย่างสันติในเดือนมกราคม 1966 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวหนึ่งในหลายย่างก้าวช่วงแรกที่นำไปสู่วิกฤตการณ์พุทธศาสนาในฤดูใบไม้ผลิปี 1966 9 วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งนั้นนำมาซึ่งจุดจบของวารสาร Lotus Monthly ซึ่งไม่สามารถพาตัวรอดพ้นมาได้  แต่กระนั้นวารสารนี้ก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาแนวทางเคลื่อนไหวทางการเมืองอันมีลักษณะเฉพาะของทิก ถี กวางระหว่างเหตุการณ์ปี 1963 จนถึงปี 1966 ไว้

Wynn Gadkar-Wilcox
Western Connecticut State University

Notes:

  1. สำหรับเรื่องราวอย่างละเอียดของเหตุการณ์เหล่านี้ โปรดดู Edward Miller, “Religious Revival and Nation Building: Reinterpreting the 1963 ‘Buddhist crisis’ in South Vietnam,” Modern Asian Studies 49:6 (November 2015): 1926; และ Charles A. A. Joiner, “South Vietnam’s Buddhist Crisis: Organization for Charity, Dissidence, and Unity,” Asian Survey 4, no. 7 (July 1964): 915-16.
  2. Robert Topmiller, The Lotus Unleashed: The Buddhist Peace Movement in South Vietnam, 1964-66 (Lexington, KY: University Press of Kentucky, 2002), 4-6.
  3. Vũ Trung Kiên, “Ni Trưởng Thích Nữ Diệu Không: Một kỳ nữ của Việt Nam trong thế kỷ XX,” Thư viện hoa sen (July 9, 2020). Accessed December 21, 2021. https://thuvienhoasen.org/a34224/ni-truong-thich-nu-dieu-khong-mot-ky-nu-cua-viet-nam-trong-the-ky-20
  4. Phi-Vân Nguyen, “A Secular State for a Religious Nation: The Republic of Vietnam and Religious Nationalism, 1946-1963,” Journal of Asian Studies 77:3 (August 2018): 758.
  5. Phi-Vân Nguyen, “A Secular State for a Religious Nation,” 759-760.
  6. Ibid, 2.
  7. Thích Tâm Châu, “Thông bạch đầu xuân của thượng tọa Viện Trưởng Viện Hóa Đạo Giáo hội Phật Giáo Việt Nam Thống Nhất,” [Early spring message of the Venerable Principal of the Vien Hoa Dao of the Unified Buddhist Sangha of Vietnam], Liên-hoa Nguyệt San 10:1 (January 1964): 3.[iv] Ibid, 12.
  8. Ibid, 12.
  9. Liên Hoa, “Vắn đề hòa bình,” [The Issue of Peace], Liên Hoa Nguyệt San 11:12 (January 1966): 6.