กรณีน่าสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคมของขบวนการพุทธศาสนาในสิงคโปร์

Jack Meng-Tat Chia

กิจกรรมทางสังคมของขบวนการพุทธศาสนาเป็นหัวข้อที่มีการอภิปรายกันมากพอสมควรในหมู่นักวิชาการ นักวางนโยบายและพุทธศาสนิกชนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 1 นักกิจกรรมชาวพุทธที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ต่างก็พยายามสนับสนุนให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม การรณรงค์เพื่อการปฏิรูปทางการเมือง ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปกป้องความศรัทธาของตนจากภัยคุกคามและคำสอนที่แตกต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิม ในบริบทของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเอ่ยถึงกิจกรรมทางสังคมของชาวพุทธ เรามักนึกถึงภาพการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพของพระมหาโฆษนันทะและติช นัท ฮันห์ การเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และที่ขาดเสียไม่ได้ก็คือ “การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์” (Saffron Revolution) ที่เกิดขึ้นในพม่าเมื่อ ค.ศ. 2007 อย่างไรก็ตาม กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับประเทศในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา กระนั้นก็ตาม ชุมชนชาวพุทธในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แวดล้อมด้วยทะเลก็มีกิจกรรมทางสังคมไม่น้อยหน้าเช่นกัน

เมื่อเอ่ยถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แวดล้อมด้วยทะเล เรามักนึกถึงโลกมลายูอิสลามที่ในปัจจุบันประกอบด้วยประเทศบรูไน อินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมทั้งประเทศฟิลิปปินส์ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่วนสิงคโปร์ค่อนข้างแปลกแยกแตกต่างออกไปเพราะการมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจีน (ประมาณ 75%) และสิ่งที่คนจำนวนมากไม่ค่อยรู้ก็คือประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธด้วย จากการสำรวจสำมะโนประชากรของสิงคโปร์ในปี 2010 ร้อยละ 33 ของชาวสิงคโปร์ระบุว่าตัวเองมีศรัทธาในพุทธศาสนา 2 SBF ยังชักจูงโน้มน้าวจนรัฐบาลอาณานิคมยอมอนุมัติให้ก่อสร้างสุสานทางศาสนาพุทธหลายแห่งด้วย ในเดือนกันยายน 1955 และกุมภาพันธ์ 1959 SBF ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้ก่อตั้งสุสานของศาสนาพุทธแห่งหนึ่งและขออนุญาตก่อสร้างสะพาน ท่อระบายน้ำ ถนน ศาลเจ้าและโรงอาหารรอบบริเวณนั้นตามลำดับ 3 กิจกรรมที่ SBF เป็นแกนนำในช่วงปีแรกๆ ที่ก่อตั้งส่วนใหญ่จำกัดอยู่ที่การรับใช้ผลประโยชน์เชิงปฏิบัติและจับต้องได้ของชุมชนชาวพุทธ ข้อที่น่าสังเกตก็คือ SBF สนใจการโน้มน้าวรัฐบาลให้ยอมรับข้อเรียกร้องของตนมากกว่าการรณรงค์ระดมชาวพุทธให้ออกมาปกป้องศรัทธาในศาสนาและแก้ไขการบิดเบือนศาสนาหรือการปฏิบัติที่ออกนอกลู่นอกทาง

Vesak Day Procession Through Singapore Main Roads in 1959 Source: National Archives of Singapore
ขบวนแห่ในวันวิสาขบูชาผ่านถนนสายหลักของสิงคโปร์ในปี 1959
Source: National Archives of Singapore

การปกป้องพระธรรม

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 องค์กร SBF ภายใต้การนำของพระอาจารย์หงฉวน (宏船, 1907-1990) เริ่มแสดงบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการสนับสนุน ขบวนการปกป้องพระธรรม (hufa xingdong護法行動) สหพันธ์มีบทบาทสำคัญในการชักจูงโน้มน้าวให้รัฐบาลเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีเนื้อหาจาบจ้วงหรือบิดเบือนคำสอนของศาสนาพุทธ กิจกรรมแรกที่ SBF เป็นแกนนำจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 1970 เพื่อประท้วงภาพยนตร์เกาหลีใต้เรื่อง Dream ซึ่ง SBF กล่าวหาว่า “ดูหมิ่นพระพุทธศาสนา สร้างความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและเป็นพิษต่อจิตใจประชาชน” เพื่อปกป้อง “ความมีศีลธรรมจรรยา” ของชุมชนชาวพุทธ หงฉวนยื่นหนังสือเรียกร้องต่อคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์ให้ระงับการฉายหนังเรื่องนี้ชั่วคราวและมอบหมายให้ SBF เป็นผู้ตรวจสอบภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ผลที่ตามมาคือภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสั่งห้ามฉายในสิงคโปร์ 4 ในช่วงสองสามปีถัดจากนั้น SBF ประสบความสำเร็จในการกดดันโน้มน้าวคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์ของสิงคโปร์จนสั่งห้ามฉายหนังอีกหลายเรื่อง อาทิ Monks (Chujia ren出家人), The Four Great Elements are Empty (Sida jiekong 四大皆空), Breasts Revealing Nun (Louru nüni露乳女尼), The Carnal Prayer Mat (Roupu tuan肉蒲團), และ Moods of Love (Fenghua xueyue風花雪月). 5

อย่างไรก็ตาม SBF ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกครั้งไปในการโน้มน้าวหน่วยงานรัฐสิงคโปร์ให้บังคับเซ็นเซอร์หนังที่บิดเบือนคำสอนของศาสนาพุทธ หากวิธีอื่นๆ ล้มเหลว SBF จะลงมือรณรงค์แบบให้การศึกษาเพื่ออธิบายเนื้อหาที่ “หลงผิด” ในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ในปี 1982 SBF ได้รับ “ข้อมูลภายใน” จากสมาคมชาวพุทธฮ่องกงและมาเลเซียเกี่ยวกับหนังศิลปะการต่อสู้ (wuxia武俠) เรื่อง The Shao Lin Temple (Shaolin si少林寺) ที่นำแสดงโดยศิลปินด้านศิลปะการต่อสู้รุ่นหนุ่มชื่อ เจ็ท ลี (Li Lianjie 李連杰) SBF ได้รับข้อมูลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้บิดเบือนประวัติศาสตร์ของวัดเส้าหลินและสร้างภาพให้พระเส้าหลินเป็นพวกกินเนื้อสุนัขที่นิยมความรุนแรง เริ่มแรกสุด หงฉวนเขียนจดหมายถึงบริษัทผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ Cathy Film Distribution เพื่อขอตรวจสอบภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่บริษัทผู้จัดจำหน่ายปฏิเสธคำร้องขอ หลังจากนั้น SBF จึงยื่นจดหมายถึงคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1982 เพื่อขอตรวจสอบหนังเรื่องดังกล่าว ในจดหมายฉบับนั้น สหพันธ์พุทธศาสนิกสิงคโปร์ยืนยันความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบหนังเรื่อง The Shao Lin Temple เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเกียรติภูมิของศาสนาพุทธจะยังได้รับการธำรงไว้และป้องกันมิให้นักธุรกิจที่แสวงหาแต่กำไรมาทำลายชื่อเสียงของศาสนาพุทธในภาพยนตร์ต่างๆ 6 ถึงแม้มีการเรียกร้องเช่นนี้ก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้ก็ได้รับอนุญาตให้ฉายในสิงคโปร์ ด้วยเหตุนี้เอง SBF จึงหันมาใช้วิธีการรณรงค์ด้วยการให้การศึกษาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลแก่ชาวพุทธเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของวัดเส้าหลินและหลักปฏิบัติที่ถูกต้องในศาสนาพุทธ 7

The Shao Lin Temple (1982) 8

ในฐานะองค์กรตัวแทนระดับชาติของชุมชนชาวพุทธในสิงคโปร์ SBF มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนิยาม “หลักคำสอนดั้งเดิม” และ “ความนอกรีตนอกรอย” ของวัตรปฏิบัติทางพุทธศาสนาในประเทศ การที่มีขบวนการ “พุทธศาสนา” ใหม่ๆ เข้าในสิงคโปร์กลายเป็นความวิตกกังวลอย่างหนึ่งของชุมชนชาวพุทธ SBF ไม่สามารถกดดันให้รัฐสั่งห้ามการตั้งกลุ่มทางศาสนาและแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่พวกเขาเห็นว่า “ขัดต่อหลักคำสอนดั้งเดิม” เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสิงคโปร์รับรองเสรีภาพทางศาสนาไว้ 9 ดังนั้น องค์กร SBF จึงอาศัยการปกป้องพระธรรมเป็นข้ออ้างในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเชื่อและการปฏิบัติที่นอกรีตนอกรอยของกลุ่มทางศาสนาที่ “น่าคลางแคลง” เหล่านี้ รวมทั้งเตือนชาวพุทธมิให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของกลุ่มเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น SBF เรียก “อีก้วนเต้า” (Yiguandao一貫道 หรือลัทธิอนุตตรธรรม) ว่า “ลัทธิชั่วร้าย” (xiejiao邪教) และ “พุทธศาสนาเทียม” (jiaomao fojiao假冒佛教) พร้อมทั้งเตือนว่าชาวพุทธไม่ควรเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ 10 อีกกรณีหนึ่ง SBF ได้รับจดหมายร้องทุกข์ที่มีแม่ชี 73 รูปร่วมกันลงชื่อเมื่อวันที่ 2 เมษายน 1996 เพื่อประท้วงต่อการแต่งกายที่ “ขัดต่อหลักคำสอนดั้งเดิม” ของแม่ชีในศาสนาพุทธนิกายเหรินเฉิงฝอเจี้ยว (Jen Chen Buddhism 人乘佛教) 11 พระอาจารย์หลงเกิน (隆根, 1921-2011) ประธานองค์กร SBF ได้ประชุมกับสมาชิกคณะกรรมการและยื่นจดหมายถึงนิกายเหรินเฉิงฝอเจี้ยวเพื่อขอให้แม่ชีแต่งกายตาม “หลักคำสอนดั้งเดิม” ตามพระวินัยและยุติการทำลายภาพพจน์ของคณะสงฆ์ 12 ลัทธิฝ่าหลุนกง (法輪功) ซึ่งเป็นขบวนการศาสนาเกิดใหม่ที่ถูกรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนประณามและสั่งห้ามในปี 1999 ได้เผยแพร่ออกสู่หลายพื้นที่ในโลก ลัทธินี้เข้ามาลงทะเบียนตั้งองค์กรชื่อ “สมาคมพุทธะฝ่าหลุน” (Falun Buddha Society–Falun foxue hui法輪佛學會) ในสิงคโปร์และได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมต่างๆ องค์กร SBF จึงเผยแพร่แถลงการณ์ต่อสาธารณะในหัวข้อ “ไม่ควรนำชื่อของพุทธศาสนามาใช้ในทางที่ผิด” เพื่อวิจารณ์ลัทธิฝ่าหลุนกงว่าใช้พระนามของพระพุทธเจ้าอย่างไม่ถูกต้อง รวมทั้งเรียกร้องให้สมาคมพุทธะฝ่าหลุนลบคำว่า “พุทธะ” ออกจากชื่อองค์กรด้วย 13

กิจกรรมด้านสวัสดิการสังคม
Social Welfare Activism  

นอกจากมีบทบาทเชิงรุกในการรณรงค์ให้ชาวพุทธปกป้องศรัทธาของตนและแก้ไขการบิดเบือนศาสนา นักกิจกรรมชาวพุทธยังให้ความสนใจต่อการเคลื่อนไหวด้านสวัสดิการสังคมด้วย พระอาจารย์เหยี่ยนเผย (演培, 1917-1996) เป็นพระรูปหนึ่งที่มีบทบาททางสังคมโดดเด่น ทั้งในด้านการเผยแผ่คำสอนของพุทธศาสนาและงานด้านสวัสดิการสังคม พระรูปนี้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์ไท่ซวี (太虛, 1890-1947) พระนักปฏิรูปผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเผยแพร่แนวทางคำสอนของ “พุทธศาสนาที่เอื้อต่อชีวิตมนุษย์” (Human-life Buddhism–rensheng fojiao 人生佛教) ในยุคสาธารณรัฐในประเทศจีน 14 หลังจบการศึกษาจาก Minnan Buddhist Institute (Minnan foxue yuan閩南佛學院) เหยี่ยนเผยกลายเป็นกัลยาณมิตรและศิษย์ของพระอาจารย์อิ้นสุ้น(印順, 1906-2005) ปราชญ์ด้านพุทธศาสนาผู้มีชื่อเสียงและแนวคิดที่รู้จักกันดีที่สุดของพระรูปนี้ก็คือ “พุทธศาสนามนุษย์นิยม” (Humanistic Buddhism–renjian fojiao人間佛教) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างชัดเจนต่อพระรุ่นต่อมา 15

เมื่อสงครามกลางเมืองปะทุขึ้นในประเทศจีน เหยี่ยนเผยและอิ้นสุ้นหนีจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปฮ่องกงในปี 1949 แล้วย้ายไปไต้หวันในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ในที่สุด เหยี่ยนเผยก็ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปพำนักในสิงคโปร์เมื่อ ค.ศ. 1963 และรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด Leng Foong Prajna Auditorium (Lingfeng bore jiangtang靈峰般若講堂) หลังจากปักหลักในสิงคโปร์แล้ว เหยี่ยนเผยกลายเป็นนักเทศน์ธรรมะและผู้เผยแพร่แนวทาง “พุทธศาสนามนุษย์นิยม” 16 เมื่อสละตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด Leng Foong Prajna Auditorium ในปี 1979 เหยี่ยนเผยแลเห็นความจำเป็นที่ชาวพุทธควรมีบทบาททางสังคมและตอบแทนแก่สังคม เหยี่ยนเผยค้นพบภารกิจใหม่ในการสงเคราะห์คนจนและคนตกทุกข์ได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจก่อตั้งองค์กร “ศูนย์สวัสดิการชาวพุทธสิงคโปร์” (Singapore Buddhist Welfare Services–SBWS, Xinjiapo fojiao fuli xiehui新加坡佛教福利協會) ขึ้นในปี 1981

Singapore Buddhist Welfare Services in Present-day Singapore. Photo by author
องค์กร Singapore Buddhist Welfare Services ในสิงคโปร์ยุคปัจจุบัน
ภาพถ่ายโดยผู้เขียน

กิจกรรมด้านสวัสดิการสังคมของ เหยี่ยนเผยสามารถจำแนกออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ คือ การดูแลผู้สูงอายุและความรับผิดชอบของลูกหลาน การบริจาคอวัยวะและการล้างไต การป้องกันการติดยาเสพย์ติดและการบำบัดรักษา ประเภทแรกนั้น เหยี่ยนเผยสนใจความเป็นอยู่ของคนยากจนและผู้สูงอายุ เขาเทศน์หลายครั้งต่อเนื่องกันเกี่ยวกับทัศนะทางพุทธศาสนาในการดูแลผู้สูงอายุและความรับผิดชอบของลูกหลาน ซึ่งต่อมาตีพิมพ์ลงในจดหมายข่าวรายเดือนของ SBWS ชื่อ Grace Monthly (Cien慈恩). 17 เหยี่ยนเผยเน้นย้ำว่าผู้สูงอายุยากจนจำนวนมากดำรงชีวิตอยู่ต่ำกว่า “เส้นแบ่งความยากจน” 18  ด้วยเหตุนี้ เหยี่ยนเผยจึงแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุนการบริจาคอาหารและความช่วยเหลือจากสังคม อาสาสมัครจาก SBWS จะไปเยี่ยมบ้านของผู้สูงอายุยากจนที่อยู่ละแวกใกล้เคียงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งนำอาหารและของใช้อื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันไปมอบให้ 19 ในภายหลัง เหยี่ยนเผยได้ก่อตั้งบ้านพักคนชราชื่อ Grace Lodge Home for the Aged (Cien lin 慈恩林) ในเดือนมกราคม 1985 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุสตรีไร้บ้านโดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา 20

ส่วนกิจกรรมประเภทที่สองนั้น เหยี่ยนเผยเป็นผู้มีบทบาทมากในการสนับสนุนการบริจาคอวัยวะ เขาเชื่อว่าการบริจาคอวัยวะเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับคำสอนของศาสนาพุทธในด้านความเมตตาและความกรุณา เหยี่ยนเผยเผยแพร่แนวคิดว่า “ศาสนาพุทธสนับสนุนให้ชาวพุทธทุกคนบริจาคไตหรืออวัยวะภายในอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย” และ “ควรมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการรณรงค์การบริจาคไต” 21 เพื่อให้ชุมชนชาวพุทธตระหนักรู้เรื่องนี้ เหยี่ยนเผยจึงจัดการสัมมนาหัวข้อ “การบริจาคไต: ทัศนะทางพุทธศาสนาและทัศนะทางการแพทย์” ในวันที่ 4 กันยายน 1983 หลังจากนั้น เขาก่อตั้งศูนย์ฟอกไต มูลนิธิไตแห่งชาติในสังกัดศูนย์สวัสดิการชาวพุทธสิงคโปร์ขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสิงคโปร์ SBWS ตั้งปณิธานที่จะดูแลคนไข้โรคไตระยะยาวและกลายเป็นองค์กรศาสนาแห่งแรกที่บริจาคเงินค่าผ่าตัดจำนวน 700,000 ดอลลาร์สิงคโปร์เป็นประจำทุกปีเพื่อสนับสนุนศูนย์ฟอกไตของฆราวาส 22

Venerable Yen Pei at the Singapore Buddhist Welfare Services-National Kidney Foundation Dialysis Centre Source: Xinlu 心路 (Singapore: Buddhist Cultural Center, 1997), 97.
พระอาจารย์เหยี่ยนเผยที่ศูนย์ฟอกไต มูลนิธิไตแห่งชาติในสังกัดศูนย์สวัสดิการชาวพุทธสิงคโปร์
Source: Xinlu 心路 (Singapore: Buddhist Cultural Center, 1997), 97.

ความสนใจประเภทที่สามของเหยี่ยนเผยคือปัญหาการใช้ยาเสพย์ติดในสิงคโปร์ เขาเน้นว่าการติดยาเป็น “อันตรายต่อสุขภาพ” “ทำลายอนาคตของผู้เสพย์” และ “ก่อกวนสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของสังคม” เขาย้ำด้วยว่าศีลในพุทธศาสนาคัดค้านการเสพย์ของมึนเมา อย่างไรก็ตาม เหยี่ยนเผยชี้ว่าชาวพุทธควรเห็นอกเห็นใจอดีตผู้ติดยาและช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้ผ่านพ้น “ความไม่มั่นคงทั้งทางจิตใจและวัตถุ” 23 ในปี 1993 เขาก่อตั้ง Green Haven สถานพักฟื้นขององค์กรพุทธศาสนาแห่งแรกและแห่งเดียวในสิงคโปร์ที่ให้ความช่วยเหลืออดีตผู้ติดยาในระหว่างรักษาตัว Green Haven จัดสรรสถานที่บำบัดพักฟื้นและโปรแกรมการรักษาระยะเวลา 6-12 เดือนแก่ผู้ติดยาและการคืนสู่สังคม สถานพักฟื้นแห่งนี้ช่วยเหลือผู้ติดยาทั้งในด้านการมีที่อยู่อาศัยและการจ้างงานระหว่างช่วงสุดท้ายในโปรแกรมการบำบัด รวมทั้งช่วยเหลือพวกเขาให้กลับไปหาครอบครัวและกลับคืนสู่สังคมกลังจากจบโครงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูแล้ว 24

บทสรุป

สิ่งที่แตกต่างจากกิจกรรมของชาวพุทธในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ก็คือ นักกิจกรรมชาวพุทธในสิงคโปร์ไม่รณรงค์กดดันรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปทางการเมือง ประท้วงเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากกฎหมายที่เข้มงวดในสิงคโปร์สั่งห้ามกลุ่มทางศาสนาและประชาสังคมมิให้จัดการประท้วงและการเดินขบวนตามท้องถนน นักกิจกรรมชาวพุทธจึงระมัดระวังที่จะไม่ก้าวข้ามไปยืนฟากตรงข้ามกับกฎหมายและสร้างความเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล พวกเขาหันไปใช้วิธีการโน้มน้าวชักจูงและยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางศาสนาและหลายครั้งก็ใช้ถ้อยคำอ้างว่าเพื่อธำรงรักษาเกียรติภูมิและชื่อเสียงของศาสนาพุทธ เหยี่ยนเผยแสดงท่าทีชัดเจนว่ายินดีร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เขาเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งและเป็นตัวแทนชาวพุทธของสภาที่ปรึกษาประธานาธิบดีเพื่อความปรองดองทางศาสนาในสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังเชิญรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลมาเป็นประธานเปิดงานที่องค์กรด้านสวัสดิการสังคมของตนจัดขึ้นบ่อยๆ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่คุณูปการด้านกิจกรรมสังคมของเหยี่ยนเผยได้รับการยอมรับและยกย่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ 25 การศึกษากิจกรรมของชาวพุทธในสิงคโปร์ช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมที่น่าสนใจ แทนที่จะเผชิญหน้าต่อต้านรัฐบาลหรือเสี่ยงต่อการสร้างความเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลด้วยการเดินขบวนประท้วง นักกิจกรรมชาวพุทธหันไปใช้มาตรการเชิงรุกแต่สันติวิธีเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน ดังนั้น จึงดูเหมือนว่านักกิจกรรมชาวพุทธสามารถดึงรัฐมาเป็นพวกของตนเพื่อทำตามข้อเรียกร้องมากกว่าในทางกลับกัน

พร้อมกันนั้น นักกิจกรรมชาวพุทธอาศัยความรู้และความเข้าใจในคำสอนของพุทธศาสนาเพื่อโจมตีกลุ่ม “นอกรีตนอกรอย” รวมทั้งใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนกิจกรรมด้านสวัสดิการสังคมของตน เหยี่ยนเผยมักอ้างถึงแนวคิดของพุทธศาสนาในด้านความเมตตา ความกรุณา และศีลข้อห้ามการมึนเมา เพื่อใช้เป็นวิธีการแก้ไขในเชิงปฏิบัติต่อปัญหาสังคมในโลกฆราวาส อาทิ การดูแลผู้สูงอายุ การบริจาคและเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพย์ติด แนวคิดของพุทธศาสนามนุษย์นิยมซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การทุ่มเทความศรัทธาของตนให้แก่การปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญต่อเหยี่ยนเผย รวมทั้งชาวพุทธทั้งหลายที่ทำงานเพื่อสังคมในสิงคโปร์ ในด้านจิตวิญญาณนั้น ผู้สนับสนุนแนวคิดพุทธศาสนามนุษย์นิยมเชื่อว่า การตรัสรู้สามารถบรรลุได้ในโลกนี้ ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามสร้างดินแดนพระศรีอาริย์ขึ้นบนโลก วิธีการหนึ่งในการสร้างดินแดนพระศรีอาริย์บนโลกนี้ก็คือการเป็นพลเมืองที่มีบทบาทในการอุทิศตัวและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในโลกปัจจุบัน

Jack Meng-Tat Chia
Cornell University

บทความนี้มีพื้นฐานจากบทความของผู้เขียนที่จะตีพิมพ์อีกไม่นานนี้ อันประกอบด้วยบทความชื่อ “Defending the Dharma: Buddhist Activism in a Global City-State,” in Singapore: State and Society, 1965-2015, ed. Jason Lim and Terence Lee (London: Routledge, forthcoming 2016) และ “Toward a History of Engaged Buddhism in Singapore,” ซึ่งจะเผยแพร่ในปี 2016.

Notes:

  1. โปรดดู ตัวอย่างเช่น Andrew Higgins, “How Buddhism Became Force for Political Activism,” The Wall Street Journal, November 7, 2007; The Resistance of the Monks: Buddhism and Activism in Burma (New York: Human Rights Watch, 2009); James Brooks Jessup, “The Householder Elite: Buddhist Activism in Shanghai, 1920-1956” (PhD diss., University of California, Berkeley, 2010); Lodro Rinzler, “Buddhism and Activism: How Would Sid Produce Social Change?” The Huffington Post, January 5, 2011; John K. Nelson, Experimental Buddhism: Innovation and Activism in Contemporary Japan (Honolulu: University of Hawaii Press, 2013); David P. Barash, “Can Buddhists Be Activists?” History News Networks, February 3, 2014.
  2. he Straits Times, 14 January 2011. จากการสำรวจสำมะโนประชากรในสิงคโปร์ ศาสนาพุทธมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 27.0% ในปี 1980 เพิ่มเป็น 31.2% ในปี 1990 และ 42.5% ในปี 2000 อย่างไรก็ตาม จำนวนชาวสิงคโปร์ที่ระบุว่าตัวเองมีศรัทธาในศาสนาพุทธลดลงจาก 42.5% ในปี 2000 เหลือ 33.3% ในปี 2010 ตัวเลขนี้เป็นการลดลงครั้งแรกของศาสนาพุทธในรอบ 30 ปี/ref] งานวิจัยชิ้นล่าสุดของผู้เขียนมุ่งเน้นที่กิจกรรมทางสังคมของชาวพุทธในสิงคโปร์ยุคหลังอาณานิคม งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่แตกต่างจากนักกิจกรรมชาวพุทธในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มแผ่นดินใหญ่ก็คือ นักกิจกรรมชาวพุทธในสิงคโปร์ไม่ค่อยสนใจประเด็นการปฏิรูปทางการเมือง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือสันติภาพโลกมากนัก แต่มักปวารณาตัวปกป้องศาสนาพุทธจากการบิดเบือนและ “ความนอกรีตนอกรอย” (heterodoxy) และส่งเสริมกิจกรรมด้านสวัสดิการสังคม

    สหพันธ์พุทธศาสนิกสิงคโปร์ (Singapore Buddhist Federation–SBF, Xinjiapo fojiao zonghui新加坡佛教總會) เป็นสถาบันองค์กรร่มระดับชาติที่เป็นตัวแทนชุมชนชาวพุทธ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1949 เพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษกับองค์กรชาวพุทธต่างๆ ในประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้ง SBF มีบทบาทการทำกิจกรรมเชิงรุกเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของชุมชนชาวพุทธ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวรัฐบาลอาณานิคมจนประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดแห่งชาติอย่างเป็นทางการในปี 1955 26Y.D. Ong, Buddhism in Singapore: A Short Narrative History (Singapore: Skylark Publications, 2005), 92.

  3. Shi Nengdu 釋能度, Shi Xiantong 釋賢通, He Xiujuan 何秀娟, and Xu Yuantai 許原泰, ed., Xinjiapo hanchuan fojiao fazhan gaishu新加坡漢傳佛教發展概述 (Singapore: Buddha of Medicine Welfare Society, 2010), 61.
  4. Ibid., 125-126.
  5. Ibid., 126-127.
  6. “Yanzhong pohuai sengqie xingxiang de Shaolin si嚴重破壞僧伽形象的「少林寺」,” Nanyang fojiao155 (1982): 26.
  7. You Shi 幼獅, “Cong Shaolin si yingpian lianxiang daode 從「少林寺」影片聯想到的,” Nanyang fojiao 156 (1982): 18.
  8. ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีจากนักกิจกรรมชาวพุทธในสิงคโปร์ แต่มันก็เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดเรื่องหนึ่งในสมัยนั้นและส่งให้เจ็ท ลีกลายเป็นดาราชื่อดัง
  9. มาตร 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในการประกาศและปฏิบัติศาสนาที่ตนนับถือ รวมทั้งการเผยแพร่ศาสนา”
  10. “Qianwan moxin xiejiao 千萬莫信邪教,” Nanyang fojiao 115 (1978): 22.
  11. ในจดหมายร้องเรียนนั้น กลุ่มผู้ลงนามอ้างว่า แม่ชีจากนิกายเหรินเฉิงฝอเจี้ยวมิได้ปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมตามที่ประกาศไว้ในพระวินัย แต่กลับใส่กระโปรง เสื้อแขนยาวและผ้าโพกศีรษะคล้ายแม่ชีในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค
  12. “Fandui rencheng fojiao shangai sengfu 反對人乘佛教擅改僧服,” Nanyang fojiao 324 (1996): 4.
  13. “Xinjiapo fojiao zonghui wengao: Fojiao mingcheng burong lanyong 新加坡佛教總會文告:佛教名稱不容濫用,” Nanyang fojiao 383 (2001): 1
  14. สำหรับงานศึกษาการปฏิรูปของพระอาจารย์ไท้ซวี โปรดดู Don A. Pittman, Toward a Modern Chinese Buddhism: Taixu’s Reforms (Honolulu: University of Hawai‘i Press, 2001).
  15. Charles Brewer Jones, Buddhism in Taiwan: Religion and the State, 1660-1990 (Honolulu: University of Hawaii Press, 1999), chapter 4; Pittman,Modern Chinese Buddhism, 263-270.
  16. เหยี่ยนเผยเป็นนักปราชญ์ที่มีผลงานจำนวนมากและเขียนความเรียงที่รวบรวมเป็นหนังสือได้ถึง 34 เล่มในชื่อ Collected Works of Mindful Observation (Diguan quanji 諦觀全集). นอกจากนี้ พระอาจารย์ เหยี่ยนเผยยังบูรณะและขยายวัด Leng Foong Prajna Auditorium ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสด้วย
  17. โปรดดูตัวอย่างเช่น Grace Monthly, July 1983; Grace Monthly, May 1984; Grace Monthly, June 1984; Grace Monthly, May 1985; Grace Monthly, December 1985.
  18. สิงคโปร์ไม่เคยมีเส้นแบ่งความยากจนอย่างเป็นทางการ โปรดดู Grace Monthly, April 1985.
  19. Grace Monthly, April 1985.
  20. Grace Monthly, March 1986.
  21. Grace Monthly, August 1983.
  22. Grace Monthly, December 1991; “SBWS-NKF Dialysis Centre,” http://www.sbws.org.sg/4f_nkf.html (accessed October 1, 2015).
  23. Grace Monthly, April 1983.
  24. “Green Haven,” http://www.sbws.org.sg/4l_gh.html (accessed October 1, 2015).
  25. เหยี่ยนเผยได้รับเหรียญรางวัลด้านบริการสังคม Public Service Medal (PBM) ใน ค.ศ. 1986 และ Public Service Star (BBM) ใน ค.ศ.1992 จากประธานาธิบดีสิงคโปร์ Xinlu心路(Singapore: Buddhist Cultural Center, 1997), 82-83.