ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการเสนอข้อคิดเห็นว่า ถึงแม้มีความแตกต่างในบางแง่มุม แต่การเจรจาสันติภาพระหว่างคณะตัวแทนผู้ก่อความไม่สงบกับรัฐไทยระหว่างปี 2558-2562 มีจุดอ่อนข้อผิดพลาดซ้ำรอยเดิมกับความพยายามผลักดันการเจรจาสันติภาพครั้งผ่านๆ มาในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2549-2557) ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นด้วยว่า ความริเริ่มมาราปาตานีคือครั้งล่าสุดของการเริ่มต้นผิดพลาดซึ่งมีบัญชียาวเหยียดเป็นหางว่าวในการสร้างกระบวนการสันติภาพที่น่าเชื่อถือเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้นับตั้งแต่ความขัดแย้งปะทุขึ้นในปี 2547
การรัฐประหารของกองทัพในปี 2557 คือการเปิดฉากยุคสมัยการปกครองแบบอำนาจนิยมครั้งใหม่สำหรับประเทศไทย 1 ถึงแม้การเลือกตั้งปี 2562 เราจะได้เห็นการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ในการต่อสู้คัดง้างกับอำนาจกองทัพ แต่พรรคก็ถูกยุบไปแล้ว ภาพโดยรวมนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ดูเหมือนประเทศไทยตกอยู่ในวงโคจรของการค้ำจุนอำนาจทหารไว้หรือกระทั่งเพิ่มบทบาทของกองทัพในการบริหารประเทศ นับตั้งแต่ปี 2557 ระดับความรุนแรงในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายและเหตุรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกปีที่ผ่านไป นักวิเคราะห์หลายคน ทั้งนักวิชาการที่คร่ำหวอดและนักวิชาการรุ่นใหม่ พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่ความรุนแรงลดลง กระนั้นก็ตาม โดยรวมแล้วยังไม่มีคำอธิบายที่น่าพอใจหรือสมบูรณ์เนื่องจากเหตุผลหลายประการที่จะลำดับให้เห็นในอีกบทความหนึ่ง ในปี 2556 ความขัดแย้งในภาคใต้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย 574 ราย ส่วนในปี 2562 มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งนี้เพียง 174 ราย 2
ระหว่างปี 2558-2562 รัฐไทยจัดการประชุมหลายครั้งกับกลุ่มมาราปาตานี (Majlis Syura Patani—MARA) ซึ่งเป็นองค์กรร่มของอดีตผู้ก่อความไม่สงบสูงอายุจากความขัดแย้งครั้งก่อน (2503-2533) เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ามาราปาตานีไม่มีอำนาจควบคุมผู้ก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่หรือถ้ามีก็น้อยมาก ผู้ก่อความไม่สงบในปัจจุบันได้รับการชักชวน ปลูกฝังความคิดและฝึกอบรมจากกลุ่มบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional–BRN) (ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นองค์กรแบ่งแยกดินแดนที่มีแนวคิดถึงรากถึงโคนและดำเนินการโดยอาศัยการก่อเหตุรุนแรงโหดร้ายมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2540 3 บีอาร์เอ็นในปัจจุบันเริ่มต้นปฏิบัติการในฐานะองค์กรในย่านตลาดเก่าของจังหวัดยะลาในช่วงปลายทศวรรษ 2530 4
ถึงที่สุดแล้ว มาราปาตานีคือกรณีล่าสุดในบัญชียาวเหยียดของการริเริ่มที่ล้มเหลว ครั้งแรกสุดคือการเจรจาที่ลังกาวี ในปลายปี 2548 และต้นปี 2549 มีการตั้งโต๊ะเจรจาหลายครั้งระหว่างข้าราชการไทยกับสมาชิกของกลุ่มก่อความไม่สงบจากความขัดแย้งครั้งก่อนโดยจัดที่เกาะลังกาวีและมีมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่กำลังประสบปัญหารุมเร้า ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ถึงแม้ข้อเสนอหลายประการของผู้ก่อความไม่สงบจากความขัดแย้งครั้งก่อนจะมีเหตุผลน่ารับฟัง แต่รัฐบาลทักษิณกลับเพิกเฉย เพราะตอนนั้นรัฐบาลมัวหมกมุ่นกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลตามท้องถนนมากกว่า สามวันหลังจากการรัฐประหาร 2549 ที่ยึดอำนาจจากทักษิณ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็แสดงการคัดค้านการริเริ่มกระบวนการสันติภาพด้วยการวางระเบิดห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในอำเภอหาดใหญ่ในวันเดียวกับที่มีการวางแผนจะจัดงานรณรงค์สันติภาพขึ้นที่นั่น 5
ในปี 2551 มีการเจรจาลับระหว่างตัวแทนของรัฐบาลสมชายกับตัวแทนของกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มต่างๆ ในเมืองโบโกร์ ประเทศอินโดนีเซีย กระนั้นก็ตาม การพูดคุยครั้งนั้นต้องยกเลิกไปในไม่ช้าเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนายทหารระดับสูงของกองทัพไทย ในปี 2553 องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation for Islamic Cooperation–OIC) แนะนำให้ชาวมุสลิมในภาคใต้จัดตั้งขบวนการทางการเมืองของตนเองและเสนอความช่วยเหลือในการจัดการเจรจาระหว่างขบวนการแบ่งแยกดินแดนกับรัฐไทย คำแนะนำนี้ถูกรัฐบาลอภิสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์และบอกปัด กองทัพไทยก็ไม่เห็นชอบด้วย สถาบันการเมืองและความมั่นคงของไทยมักต่อต้านการพัวพันใดๆ จากภายนอกในเรื่องที่พวกเขามองว่าเป็นกิจการภายในประเทศ 6
ระหว่างปี 2549-2554 มีการเจรจาพูดคุยเป็นระยะๆ ระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีองค์กรเอ็นจีโอจากยุโรปเป็นตัวกลาง การพูดคุยเจรจารอบนี้ที่เรียกกันว่า “กระบวนการเจนีวา” (Geneva Process) ดำเนินต่อมาจนกระทั่งพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลในปี 2554 แต่ลงท้ายแล้ว การเจรจารอบนี้ก็ถือว่าล้มเหลว กัสตูรี มะห์โกตา โฆษกของคณะตัวแทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งอ้างว่ามีอำนาจควบคุมนักรบในพื้นที่มากกว่า 70% ประกาศว่าจะมีการหยุดยิงในสามอำเภอของจังหวัดนราธิวาสในช่วงฤดูร้อนปี 2553 แต่การโจมตียังดำเนินต่อไปหลังจากการประกาศหยุดยิง ในไม่ช้าก็เริ่มเป็นที่ชัดเจนว่ากัสตูรีคุยโม้ถึงระดับอิทธิพลของตนเกินความจริงอย่างสิ้นเชิง 7 กองทัพเองก็เคยประกาศ “การหยุดยิง” คล้ายๆ กันนี้ในเดือนกรกฎาคม 2551 8
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีการลงนามใน “ความเห็นพ้องทั่วไปเพื่อร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพ” ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้ร่วมลงนามคือนายฮัสซัน ตอยิบ สมาชิกระดับล่างของบีอาร์เอ็น กับพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ตัวแทนกองทัพไทย ตลอดหกเดือนต่อจากนั้น มีการพบปะพูดคุยหลายครั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ (หรือที่เรียกกันว่าการเจรจาเคแอล) การพูดคุยชุดนี้ค่อนข้างแตกต่างจากการริเริ่มกระบวนการสันติภาพก่อนหน้านั้น กล่าวคือเป็นการจัดประชุมโดยสาธารณะรับรู้และได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีไทย ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ออกแถลงการณ์สาธารณะหลายฉบับผ่านทาง YouTube ตลอดทั้งกระบวนการ 9 สุดท้ายการพูดคุยก็ขาดสะบั้นลงหลังจากความพยายามหยุดยิงระหว่างสองฝ่ายต้องคว้าน้ำเหลวระหว่างช่วงรอมฎอนปี 2556
การริเริ่มกระบวนการสันติภาพทั้งหมดข้างต้นล้มเหลวลงด้วยเหตุผลเดียวกันหรือคล้ายๆ กันดังนี้
- (ก) ขาดอำนาจบังคับบัญชาและควบคุม: ตัวแทนของฝ่ายต่อต้านรัฐมักเป็นนักรบจากความขัดแย้งในอดีต ดังที่ Marc Askew บรรยายว่าเป็น “กระบอกเสียงแต่ตกยุคไร้น้ำยา” 10 คนเหล่านี้ไม่มีอำนาจควบคุมนักรบที่ปฏิบัติการในพื้นที่ นี่คือเหตุผลสำคัญที่สุดในบรรดารายการความผิดพลาดทั้งหมดและเป็นผลพวงมาจากนโยบายของบีอาร์เอ็นที่เน้นการนิ่งเงียบ ลักษณะการจัดตั้งเป็นกลุ่มเล็กๆ ย่อยๆ ที่ปิดเป็นความลับอย่างยิ่งยวด รวมทั้งการวางตัวดูเหมือนเหินห่างของแกนนำอาวุโสที่ลี้ภัยออกไปอยู่นอกประเทศ
- (ข) ผู้ทำลายกระบวนการสันติภาพ (Spoilers): มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะล้มการพูดคุย โดยเฉพาะจากฝ่ายบีอาร์เอ็นที่ต่อต้านการเจรจากับรัฐไทย ต่อต้านอดีตนักรบอาวุโสที่ไม่ใช่ตัวแทนการต่อสู้ของพวกเขาจริงๆ ประกอบกับเจตนาของอดีตนักรบเหล่านี้ก็ยังไม่ชัดเจนด้วย
- (ค) การชิงดีชิงเด่น: ความแตกแยกภายในสถาบันการเมืองและความมั่นคงของฝ่ายไทยมีอยู่เป็นนิจสินจนกระทั่งปี 2557 การขัดแข้งขัดขามีอยู่เป็นประจำและมีความพยายามที่จะบ่อนทำลายอีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา
- (ง) ผู้เข้าร่วมด้อยประสบการณ์: “ตัวแทน” ของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ รวมถึงตัวแทนของรัฐไทย มักไม่มีประสบการณ์ด้านการเจรจาต่อรองหรือแผนการที่ชัดเจน
- (จ) การขาดตัวกลางฝ่ายที่สาม: องค์กรระหว่างประเทศหรือผู้ไกล่เกลี่ยฝ่ายที่สามมักไม่ได้เข้าร่วมหรือมีบทบาทที่ไม่เอื้อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก
ในท้ายที่สุดแล้ว การพูดคุยของมาราปาตานีต้องประสบปัญหาจากความผิดพลาดเหล่านี้ทั้งหมดเช่นกัน
หลังจากคำสั่งที่รัฐบาลทหารลงนามในเดือนพฤศจิกายน 2557 ยืนยันความสำคัญของการรื้อฟื้นการเจรจาพูดคุยเกี่ยวกับความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ มีการประกาศในช่วงต้นปี 2558 ว่า องค์กรร่วมที่มีตัวแทนจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ดำเนินการมายาวนานหกกลุ่มจะเรียกตัวเองว่า Majlis Syura Patani (MARA) ระหว่างปี 2558-2562 มีการประชุมพบปะระหว่างมาราปาตานีกับคณะตัวแทนของรัฐบาลทหารรวมทั้งหมด 20 ครั้ง อดีตผู้นำขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล) สองคนได้รับการปล่อยตัวจากคุกและปวารณาตนว่าจะสนับสนุนรัฐบาลไทยในความพยายามที่จะนำสันติภาพมาสู่ภาคใต้ การปล่อยตัวนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มสันติภาพจากฝ่ายรัฐบาลทหาร 11 บีอาร์เอ็นแสดงความไม่เห็นพ้องกับการเจรจาด้วยการลอบวางระเบิดติดต่อกันสามวันในตัวเมืองยะลาในช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนที่จะมีการพบปะพูดคุยครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2558 อิหม่ามคนหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับอาวัง จาบัต ตัวแทนคนหนึ่งของมาราปาตานี ก็ถูกลอบสังหารในช่วงสองสามเดือนก่อนการพบปะพูดคุยครั้งแรกเช่นกัน 12
เช่นเดียวกับกระบวนการเจนีวาและการเจรจาเคแอล คณะตัวแทนของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบถูกตั้งแง่สงสัยมาตั้งแต่ต้น การเจรจาเหล่านั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิเคราะห์ที่คร่ำหวอดอย่างดอน ปาทาน ในเดือนกันยายน 2558 ระฆังมรณะของการเจรจาก็ดังเหง่งหง่างมาในรูปของวิดีโอที่บีอาร์เอ็นเผยแพร่เพื่อแจกแจงชัดเจนว่าพวกเขาต่อต้านการเจรจา บีอาร์เอ็นตอกย้ำความเป็นปฏิปักษ์ต่อมาราปาตานีในคำให้สัมภาษณ์กับ Anthony Davis ซึ่งเผยแพร่ตามหลังวิดีโอเพียงชั่วไม่นาน
แม้ต้องเผชิญความเป็นปฏิปักษ์จากบีอาร์เอ็น การพูดคุยกับมาราปาตานีก็ยังดำเนินต่อไปอีกสี่ปี มีทั้งความผิดหวังและความเนิ่นช้าตลอดระยะเวลานั้น ในปี 2559 พลเอกประยุทธ์เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของกองทัพและรัฐบาลทหารปฏิเสธกรอบแนวทางการประชุมที่หารือกันมาก่อนหน้านั้นอย่างเปิดเผย 13 การหารือเรื่องกรอบแนวทางการประชุมยังดำเนินต่อไปจนกระทั่งเดือนกันยายน 2559 เมื่อมาราปาตานียอมตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลทหารในท้ายที่สุด การหารือเกี่ยวกับการจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” (คล้ายแผนการของกัสตูรี มะห์โกตาสมัยกระบวนการเจนีวา) ยังดำเนินต่อไปอีกกว่าหนึ่งปี สุดท้ายแล้ว หลังจากหารือกันมายาวนาน กองทัพก็ปฏิเสธแผนการพื้นที่ปลอดภัยนี้
ในขณะเดียวกัน การพูดคุยเป็นการลับระหว่างตัวแทนอันชอบธรรมของบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลทหารก็เริ่มขึ้นในปี 2559 นี่บ่งชี้ว่าบีอาร์เอ็นอาจเปลี่ยนแปลงจุดยืนครั้งสำคัญในท่าทีที่มีต่อการเจรจาพูดคุย เป็นไปได้ว่าอาจมีแรงผลักมาจากการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ลดลงของกลุ่มกับความแปรผันที่เกิดภายหลังการเสียชีวิตของสมาชิกที่มีอิทธิพลมากที่สุดสองคนของบีอาร์เอ็นในปี 2558 และ 2560 การหยุดยิงชั่วคราวเป็นเวลา 10 วันระหว่างวันที่ 8-18 เมษายน 2560 คือวิธีการของบีอาร์เอ็นที่แสดงให้เห็นอำนาจบังคับบัญชาและควบคุม 14โดยรวมแล้ว การหยุดยิงถือเป็นการก้าวไปข้างหน้าขั้นหนึ่ง แต่มันไม่เกี่ยวกับมาราปาตานี ในเดือนธันวาคม 2562 หลังจากเสียเวลานานกว่าสี่ปีกับมาราปาตานีและการเริ่มต้นที่ผิดพลาด ตอนนี้มีการพูดคุยหารือเกิดขึ้นในส่วนอื่นกระทั่งมีพัฒนาการใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางที่ดึงเอาตัวแทนที่ชอบธรรมของผู้ก่อความไม่สงบมานั่งโต๊ะเจรจา ส่วนมาราปาตานีก็ถูกกันออกไปอยู่นอกวงในที่สุด
ในภาพรวมนั้น กระบวนการมาราปาตานีมีข้อบกพร่องแบบเดียวกับความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพเพื่อภาคใต้ก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ความแตกแยกภายใน ความรุนแรงที่เกิดจากผู้ทำลายกระบวนการสันติภาพ คณะเจรจาไร้ทักษะหรือด้อยประสบการณ์ ผู้นำไทยที่สนใจภาพพจน์ต่อสังคมภายนอกมากกว่าตั้งใจผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ตัวแทนผู้ก่อความไม่สงบที่ไม่มีอำนาจควบคุมนักรบในพื้นที่จริงๆ และการขาดผู้ไกล่เกลี่ยฝ่ายที่สามในระดับนานาชาติหรือมีความเป็นกลางอย่างแท้จริง 15 กล่าวโดยสรุป ความริเริ่มมาราปาตานีได้รับผลสำเร็จเพียงน้อยนิด ยกเว้นแค่เป็นการกระตุ้นให้บีอาร์เอ็นออกมาสื่อสาร รวมทั้งนำไปสู่การหยุดยิงที่สาธิตให้เห็นระดับการควบคุมบังคับบัญชาที่ชัดเจนของบีอาร์เอ็น
การหยุดยิงในปี 2560 และการพูดคุยในทางลับที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2559-2562 คือเครื่องบ่งชี้ชัดเจนว่าองค์กรบีอาร์เอ็นในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะอยู่ในภาวะตกต่ำจนฟื้นตัวไม่ได้ เริ่มเข้าใจแล้วว่าการต่อสู้ของตนจะไม่ไปจบที่การบรรลุ “เมอร์เดกา” (เอกราช) องค์กรนี้ไม่เคยมีประวัติยินยอมพูดคุยเจรจากับรัฐไทยมาก่อน และหากตัดสินจากเอกสารชื่อ Berjihad di Patani และวิดีโอที่กลุ่มนี้เผยแพร่ออกมา ดูเหมือนพวกเขายังไม่มีโครงการเป็นรูปเป็นร่างหรือวิสัยทัศน์ที่น่าสนับสนุนสำหรับอนาคตของภูมิภาคตน อีกทั้งไม่มีปีกการเมืองที่ช่ำชองหรือได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ รวมทั้งไม่มีแกนนำเป็นตัวเป็นตนที่มีบารมีเป็นที่ยอมรับด้วย กลุ่มบีอาร์เอ็นยังเข้าสู่กระบวนการเจรจาในช่วงเวลาที่ตนอ่อนแอที่สุด ถึงแม้ได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจากนักวิเคราะห์ทั้งหลาย แต่การตัดสินใจของบีอาร์เอ็นในการร่วมโต๊ะเจรจากับรัฐไทยในเดือนมกราคม 2563 สำหรับเป้าหมายของการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ก็อาจนับได้ว่าเป็นกรณีตัวอย่างของ “น้อยเกินไป สายเกินไป”
โดยรวมแล้ว องค์ประกอบสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการแก้ไขความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยขาดหายไปมาตลอด ตอนนี้ก็มาอยู่ในที่ในทางเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ การมีคณะตัวแทนที่ชอบธรรมของผู้ก่อความไม่สงบมาร่วมโต๊ะเจรจา แรงกดดันจากรัฐบาลมาเลเซียที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งในฤดูร้อนปี 2561 มรณกรรมของผู้นำอาวุโสบีอาร์เอ็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และปฏิบัติการที่ลดน้อยถอยลงขององค์กรมาตั้งแต่ปี 2557 ทั้งหมดนี้รวมกันส่งผลให้มีความเป็นไปได้และกลายเป็นความจำเป็นที่องค์กรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจากับรัฐไทยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในเมื่อตอนนี้ปฏิบัติการก่อความไม่สงบของบีอาร์เอ็นอยู่ในสภาพอ่อนแรงกว่าช่วงเวลาใด จึงมีเหตุผลให้คาดหมายได้ว่าองค์กรย่อมมีพลังต่อรองน้อยลงกว่าเมื่อก่อน นอกเหนือจากนั้น ถึงแม้ตอนนี้ในประเทศไทยมีความแตกแยกทางการเมืองน้อยลง สืบเนื่องจากลักษณะอำนาจนิยมเผด็จการของระบอบการปกครองและการควบคุมสถาบันของรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เมื่อพิจารณาความเป็นไปในกรุงเทพระยะหลัง อาทิ การยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ก็ดูเหมือนเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะไม่มีข้อเสนอจากฟากฝ่ายไทยมากนักในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม การคลี่คลายเมื่อเดือนมกราคม 2562 ก็มีข้อดีในแง่อื่นสองประการคือ ประการแรก ตอนนี้น่าจะมีการใช้ความรุนแรงเพื่อทำลายกระบวนการสันติภาพน้อยลง เนื่องจากบีอาร์เอ็นสำแดงให้เห็นอำนาจบังคับบัญชาและควบคุมที่เข้มแข็งของตนมาแล้วในปี 2560 ประการที่สอง ตอนนี้จะมีตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ยฝ่ายที่สามจากบางประเทศในยุโรปเข้ามาช่วยหนุนทั้งสองฝ่ายในการเจรจาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
กล่าวโดยสรุป ความริเริ่มมาราปาตานีประสบปัญหาเช่นเดียวกับการเจรจาสันติภาพก่อนหน้านี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะประสบความล้มเหลว กระนั้นก็ตาม ความคลี่คลายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันช่วยเปิดช่องทางให้สองฝ่ายบรรลุข้อตกลงบางอย่างที่จะแก้ไขความขัดแย้งที่เรื้อรังเกือบ 17 ปีนี้ได้ในที่สุด เราอาจมองว่าความริเริ่มมาราปาตานีที่ลดความสำคัญลงในภายหลัง ถือเป็นรายการสุดท้ายที่จะปิดฉากบัญชีหางว่าวของการเริ่มต้นผิดพลาดในการวางรากฐานและพัฒนากระบวนการสันติภาพที่ชอบธรรมสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในภาพรวมนั้น เราควรมองว่าเหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคม 2563 เป็นหมุดหมายเริ่มต้นของจุดหักเลี้ยวในความขัดแย้งนี้
Gerard McDermott
Gerard McDermott นักศึกษาปริญญาเอก Department of Asian and International Studies, City University of Hong Kong.
Notes:
- Claudio Sopranzetti, “Thailand’s Relapse: The Implications of the May 2014 Coup”, The Journal of Asian Studies, 2016, pp.1 – 18 ↩
- Email correspondence with Anthony Davis (Janes Defence), January & April 2020 ↩
- Marc Askew, “Fighting with Ghosts: Querying Thailand’s “Southern Fire””, Contemporary Southeast Asia, Vol. 32, No. 2 (2010), pp. 117–55 ↩
- Sascha Helbardt, Deciphering Southern Thailand’s Violence: Organization and Insurgent Practices of BRN-Coordinate (ISEAS – Yusof Ishak Institute, 2015), p.32 ↩
- Bomb Blast Aftermath,’ Bangkok Post, Sept.18, 2006. ↩
- Don Pathan, ‘Negotiating the Future of Patani’, Patani Forum, May. 2014, pp. 102 – p110. ↩
- Jason Johnson, ‘Talk is cheap in south Thailand’, Asia Times, May.26, 2011. ↩
- Don Pathan, ‘Ceasefire in south is just too good to be true,’ The Nation, Jul. 19, 2008. ↩
- Gerard McDermott, ‘The 2013 Kuala Lumpur Talks’, Peace Research:The Canadian Journal of Peace and Conflict Studies, Volume 46, Number 1 (2014), pp. 18-27 ↩
- Marc Askew, ‘Insurgency redux: Writings on Thailand’s ongoing southern war’, Journal of Southeast Asian Studies, 42(1) (February 2011), p 161–168 ↩
- Ex-Separatist Leader Pledges to Help Thai Govt. Fight Southern Rebellion’, Khaosod English, Jul.19, 2015 ↩
- Don Pathan, ‘Deep South peace efforts hit another dead end’, The Nation, May.22, 2015 ↩
- Razlan Rashid & Pimuk Rakkanam, ‘Thailand ‘Not Ready’ to Accept Reference Terms for Peace: Southern Rebels’, Benar News, Apr.28, 2016 ↩
- Matt Wheeler, “Thailand’s Southern Insurgency in 2017”, Southeast Asian Affairs, 2018, p380 – 382 ↩
- Gerard B. McDermott, “Barriers Toward Peace in Southern Thailand”, Peace Review: A Journal of Social Justice, 25:1 (2013), p.120-128 ↩