บรรยากาศมืดมนน่าขนลุกของการเลือกตั้งปี 2562 คือสัญญาณบ่งชี้ว่า เส้นทางสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยยังถูกสกัดขัดขวางจากยามชุดเดิม กล่าวคือ ชนชั้นนำเบื้องหลังรัฐบาลทหาร ถึงแม้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ที่สุด ได้รับคะแนนเสียงจนได้ที่นั่งเสียงข้างมากในรัฐสภา แต่กลับไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ผลการเลือกตั้งเช่นนี้มีความหมายอย่างไรต่อผู้ลงคะแนนเสียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หรือที่เรียกกันติดปากว่าภาคอีสาน)? การส่งสัญญาณชัดเจนว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลทหาร ตั้งใจจะครองอำนาจต่อไป ประเด็นนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ปลุกให้ขบวนการคนเสื้อแดงอันทรงพลังฟื้นคืนชีพอีกครั้งหรือไม่ เมื่อคำนึงถึงว่าขบวนการนี้เป็นการแสดงออกของความคับข้องใจทางการเมืองในภาคอีสานมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพยายามตอบคำถามข้อหลังจากมุมมองของสมาชิกรากหญ้าในขบวนการทางการเมืองนี้ ผู้เขียนต้องการอภิปรายให้เห็นว่า อัตลักษณ์ของคนเสื้อแดงและอัตลักษณ์ทางการเมืองในภาคอีสานโดยรวมในปี 2562 มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่าเดิม กระนั้นมันก็ยังไม่พัฒนาเป็นขบวนการทางการเมืองเชิงชาติพันธุ์
ประวัติศาสตร์ของ “คนเสื้อแดง” ในภูมิทัศน์การเมืองไทย
ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การรัฐประหารปี 2549 และการยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่มีทั้งคนรักคนชังอย่างทักษิณ ชินวัตร ทำให้ประเทศไทยแตกแยกเป็นสองขั้ว ฟากฝ่ายหนึ่งคือขบวนการเสื้อเหลือง (หรือชื่อที่เป็นทางการคือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย—พธม.) ซึ่งแสดงความเกลียดชังทักษิณกับเครือข่ายทางการเมืองของเขาอย่างรุนแรง โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและการตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ คนเสื้อเหลืองส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางชาวเมือง ประกาศตัวว่าเกลียดชังนักการเมืองฉ้อฉลและเชิดชูคุณค่าแบบอนุรักษ์นิยมที่เชื่อมโยงกับ “ความเป็นไทย” พวกเขาจัดการประท้วงอย่างต่อเนื่องในปี 2548-2549 โดยมีเป้าหมายขับไล่ทักษิณ กระทั่งสัมฤทธิ์ผลด้วยการรัฐประหาร 2549 ส่วนอีกฟากฝ่ายหนึ่งคือขบวนการคนเสื้อแดง (ชื่อที่เป็นทางการคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ—นปช.) ก่อตั้งขึ้นในราวปี 2550 เพื่อตอบโต้การรัฐประหารและขบวนการคนเสื้อเหลือง ผู้ประท้วงเสื้อแดงมาจากภูมิหลังทางสังคมเศรษฐกิจที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือและพื้นที่ยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หรือภาคอีสาน) (Naruemon and McCargo 2011)
ในปี 2557 คณะทหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาทำการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องสาวของทักษิณ การเคลื่อนไหวตามท้องถนนที่ใช้ “รหัสสี”กลับมาเป็นลักษณะเด่นในใจกลางของการเมืองไทยอีกครั้ง รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นโดยอาศัยข้ออ้างจากความวุ่นวายของการประท้วงตามท้องถนนของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งเป็นแนวร่วมของอดีตผู้ประท้วงเสื้อเหลือง ชนชั้นนำและกลุ่มต่อต้านตระกูลชินวัตร รวมทั้งการประท้วงตอบโต้จากฝ่ายเสื้อแดง กระนั้นก็ตาม ในขณะที่แกนนำ กปปส. ไม่ตกเป็นเป้าการรังควานกดขี่จากกองทัพภายหลังการรัฐประหาร 2557 ฝ่ายเสื้อแดงกลับถูกปราบปรามกวาดล้างอย่างหนักหน่วงทั่วทั้งประเทศ (Saowanee and McCargo 2019) สืบเนื่องจากมาตรการกดขี่ปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลทหาร ขบวนการคนเสื้อแดงจึงอ่อนแรงลงอย่างมาก ภายหลังการรัฐประหารครั้งนั้น การประท้วงที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็กและกระจัดกระจาย ส่วนใหญ่เป็นความเคลื่อนไหวของนักศึกษา นักวิชาการหรือกลุ่มคนที่ไม่ใช่ทั้งเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง
ในช่วงสองปีภายหลังการรัฐประหาร ในที่สุดคนเสื้อแดงก็กลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง แสดงพลังด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหลากหลายแบบทั่วประเทศ ในการชุมนุมหลังรัฐประหารครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2559 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คนเสื้อแดงจำนวนมากมาชุมนุมโดยใส่เสื้อแดงและพกพาอุปกรณ์การประท้วงประจำสีเสื้อของตนอย่างเปิดเผย คนเสื้อแดงพยายามจัดกิจกรรมของตัวเองต่างหาก เช่น การติดตามตรวจสอบการลงประชามติ แต่ไม่ได้รับอนุญาต (Saowanee and McCargo 2019) เมื่อรัฐบาลทหารกระชับอำนาจมากขึ้น แกนนำเสื้อแดงก็ยิ่งถูกกระหน่ำด้วยการตั้งข้อหาฟ้องร้องทางกฎหมาย บางคนหนีออกนอกประเทศ ส่วนอีกหลายคนถูกจับกุม ขึ้นศาลทหารและถูกจำคุก จากการลงพื้นที่วิจัยของผู้เขียนในช่วงรัฐบาลทหารปกครองประเทศ ผู้เขียนได้รับฟังเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นและคับข้องใจ ครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนกำลังสัมภาษณ์ชาวบ้านเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี แทนที่จะตอบคำถามของผู้เขียน จู่ๆ ชาวบ้านคนหนึ่งก็ถามขึ้นมาว่า เมื่อไรจะมีใครสักคนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขับไล่ทหารออกไป คนเสื้อแดงค่อนข้างสงบปากคำและการเคลื่อนไหวลงก็จริง แต่ความคับข้องใจก็ยิ่งหยั่งลึก เฝ้ารอคอยเวลาให้รัฐบาลทหารคลายความเข้มงวดลง
คนเสื้อแดงกับการเลือกตั้ง 2562: ความเจ็บแค้นยิ่งทวีกำลัง
หลังจากถ่วงเวลาหลายครั้งมาเกือบ 5 ปี ในที่สุดก็มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 คนเสื้อแดงระดมมวลชนอีกครั้ง ดังเช่นในอดีต พวกเขาหลั่งไหลมาฟังการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยใส่เสื้อแดงมีตรา นปช. สิ่งที่แตกต่างไปในครั้งนี้ก็คือ ผู้ปราศรัยหาเสียงตัวหลักของพรรคไม่เอ่ยถึงความเชื่อมโยงของพรรคกับขบวนการคนเสื้อแดง แต่ไม่มีอะไรมาสกัดขัดขวางมิให้ผู้ปราศรัยคนอื่นๆ หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา แกนนำ นปช.-เพื่อไทยในท้องถิ่นพูดถึงชะตากรรมลำเค็ญของคนเสื้อแดงทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร โดยเฉพาะความยากลำบากที่แกนนำเสื้อแดงต้องเผชิญในคุก ตอกย้ำความเจ็บปวดจากปัญหา “สองมาตรฐาน” ที่ขบวนการเคยส่งเสียงคัดค้านในช่วงที่การประท้วงดุเดือดที่สุด คำปราศรัยนี้ดำเนินคู่ขนานไปกับแนวนโยบายต่อต้านรัฐบาลทหารของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ฟัง
คนเสื้อแดงไปร่วมฟังการรณรงค์หาเสียงของพรรคเพื่อชาติและพรรคไทยรักษาชาติซึ่งภายหลังถูกยุบพรรคด้วย ทั้งสองพรรคนี้ต่างก็ต่อต้านรัฐบาลทหาร แกนนำด้านยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคเพื่อชาติก็คือประธาน นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ คนเสื้อแดงจำนวนมากจับจองที่นั่งแถวหน้าสุดในการหาเสียงที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ชวนให้ย้อนนึกถึงสมัยที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงในปี 2553 ส่วนพรรคไทยรักษาชาติที่สิ้นชื่อไปแล้วอยู่ภายใต้การนำของนักปราศรัยและผู้นำ นปช. ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งอีกคนหนึ่ง นั่นคือ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พรรคนี้ได้รับความสนใจจากคนเสื้อแดงเช่นกัน ในจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 หลังจากถูกยุบพรรคสืบเนื่องจากข้อกล่าวโทษที่เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อได้ปราศรัยกระตุ้นให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคใดก็ได้ที่เป็นตัวแทนคุณค่าฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านรัฐบาลทหาร ในครั้งนี้ก็เช่นกัน คนเสื้อแดงระดมพลกันมาอยู่แถวหน้าและส่งเสียงเชียร์ผู้ปราศรัยอย่างกึกก้อง
ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ในสังเวียนการเมืองเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนเสียงชาวอีสานไม่ได้ผูกโยง “ความเสื้อแดง” ของตนไว้กับพรรคเพื่อไทยเท่านั้น คนเสื้อแดงคิดว่าตนมีทางเลือกมากกว่านั้น พวกเขาจำนวนมากยังคงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพราะมองว่าพรรคนี้เป็นเหยื่อความอยุติธรรมเช่นเดียวกับตน ทั้งยังต่อสู้เคียงข้างกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 1 เรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด ผู้เขียนได้สัมภาษณ์คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยภายหลังการเลือกตั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อทางการเมืองของคนเสื้อแดง ข้อค้นพบที่น่าสนใจก็คือ คนเสื้อแดงจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประท้วงที่ขันแข็งที่สุด ต่างก็ชื่นชอบบุคลิกกล้าหาญและกล้าเผชิญหน้าของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บางคนก็แสดงความชื่นชอบพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส นักการเมืองอีกคนที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหาร พวกเขาคิดว่ามีแต่คนที่มีบุคลิกเด็ดขาดเช่นนี้จึงเป็นคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อกับระบอบเผด็จการทหารซึ่งปกครองประเทศมาเป็นเวลาหลายปี 2
ดังที่คนเสื้อแดงบางคนกล่าวแก่ผู้เขียน การเลือกตั้งไม่สามารถและไม่มีทางคลี่คลายความขัดแย้งที่มีมายาวนานในประเทศนี้ ดังเช่นที่เราเห็นชัดกับตาแล้ว การเลือกตั้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของปมปัญหาเพราะมันเปิดช่องให้ผู้เล่นจำนวนมากขึ้นเปิดหน้าออกมาใช้อำนาจเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ชนชั้นนำอย่างเด่นชัดมากขึ้น การเลือกตั้งเอื้อให้กองทัพแผ่อิทธิพลในการเมืองต่อไป ขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความอยู่นี้ การตัดสินคดีความของธนาธรกำลังจะเกิดขึ้นและปัญหาเศรษฐกิจปากท้องกำลังทรุดหนักร้ายแรงยิ่งขึ้นทุกที ไม่มีหลักประกันว่าการประท้วงบนท้องถนนครั้งใหญ่จะไม่ปะทุขึ้นอีก แต่คนเสื้อแดงบางส่วนเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น พวกเขาอยากต่อสู้ผ่านระบบรัฐสภาก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าพวกเขาจะทำเช่นไรถ้าสถานการณ์บานปลายถึงจุดที่กลไกรัฐสภาใช้การไม่ได้ พวกเขาเกือบทุกคนตอบว่า “จะออกมา” นั่นหมายความว่าพวกเขายังเต็มใจก้าวออกสู่ถนนและร่วมขบวนประท้วงอีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้นักเคลื่อนไหวเสื้อแดงในวันนี้อาจไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อ “แดง” แต่ประสบการณ์และความเชื่อทางการเมืองหลอมรวมจนกลายเป็นตัวตนของพวกเขาไปแล้ว ทั้งๆ ที่ผ่านประสบการณ์การถูกกดขี่ปราบปรามอย่างโหดร้ายและต้องเป็นประจักษ์พยานต่อชะตากรรมและความตายของผู้นำหรือเพื่อนร่วมขบวนการ แต่ผู้ประท้วงที่เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญและสูงวัยเหล่านี้ยังคงสนใจการเมืองด้วยการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและรักษาความสัมพันธ์แนบแน่นในกลุ่มก้อนเล็กๆ ของตน เฝ้ารอยคอยโอกาสที่จะได้แสดง “ความแดง” ออกมา เราไม่รู้ว่าโอกาสที่ว่านั้นจะมีหน้าตาเช่นไรและนักเคลื่อนไหวเหล่านี้จะแสดงอุดมการณ์ “แดง” ของตนออกมาอย่างไรกันแน่ สิ่งเดียวที่เรารู้ก็คือขบวนการยังไม่หายไปไหน อาจซุ่มเงียบสงบนิ่ง แต่ยังไม่ตาย
อัตลักษณ์คนเสื้อแดงกับอัตลักษณ์คนอีสาน
เมื่อเวลาผ่านไป ขบวนการคนเสื้อแดงก็ยิ่งถูกเชื่อมโยงกับภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ นั่นคือภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าขบวนการคนเสื้อแดงเป็นขบวนการชาติพันธุ์ ประการแรก มีคนเสื้อแดงกระจายทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย รวมทั้งในภาคใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายตรงข้ามด้วย ประการที่สอง มิใช่คนทุกคนที่อาศัยอยู่ในอีสานเป็นคนเสื้อแดง ถ้าเช่นนั้น อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ของคนอีสานกับขบวนการคนเสื้อแดง?
ดังที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในที่อื่นๆ ขบวนการคนเสื้อแดงมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด (Saowanee and McCargo 2016, 2019; Saowanee 2018) องค์กรหลักที่เป็นหัวขบวนของแนวร่วมคนเสื้อแดงคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่ นปช. ไม่ใช่องค์กรเดียวของคนเสื้อแดง อันที่จริง ในขบวนการมีกลุ่มก๊กต่างๆ มากมาย กระนั้นทุกกลุ่มก็อ้างว่าสนับสนุนประชาธิปไตยเหมือนกัน ไม่ใช่คนเสื้อแดงทุกคนที่สนับสนุนทักษิณ (บางคนถึงขั้นไม่ชอบเขาด้วยซ้ำ) ในทางตรงกันข้าม มีคนจำนวนไม่น้อยที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทยมาตลอดและชอบทักษิณ แต่ไม่เคยเข้าร่วมการรณรงค์ของคนเสื้อแดงเลย กระนั้นก็ยังเรียกตัวเองว่า “แดง”
นอกจากนี้ ยังมีขบวนการอื่นๆ ในอีสานที่ไม่ใช่คนเสื้อแดง ขบวนการเหล่านี้มักมีพื้นฐานจากข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก “การเมือง” โดยตรง เช่น สมัชชาคนจน ในอดีต กลุ่มประท้วงมักหลีกเลี่ยงการติดป้ายฉลาก “การเมือง” แก่ข้อเรียกร้องของตน ทั้งนี้สืบเนื่องจากสังคมไทยมีทัศนคติฝังรากลึกว่า “การเมืองเป็นสิ่งไม่ดี” อย่างไรก็ตาม ขบวนการคนเสื้อแดงโอบรับอัตลักษณ์ของตนในฐานะ “ขบวนการทางการเมือง” เรื่องนี้ทำให้ขบวนการอื่นๆ บางขบวนการรักษาระยะห่างจากอัตลักษณ์ของคนเสื้อแดง 3 ในการประท้วงเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ในกรุงเทพ ผู้ประท้วงจากสมัชชาคนจนบางคนเอ่ยถึงความคับข้องใจที่ไม่อยากถูกโยงเข้ากับการเมืองและการเลือกตั้ง ด้วยเกรงว่ารัฐบาลอาจใช้ความเชื่อมโยงนี้เพื่อกล่าวหาพวกเขาว่ามีคนคอยชักใยเบื้องหลัง (เช่น ทักษิณ)
เมื่อมองโดยรวมแล้ว อัตลักษณ์ของ “คนเสื้อแดง” มาพร้อมกับความเสี่ยงและการตีตราจากสังคม คนจำนวนมากกลัวว่าตนจะถูกรังควานกลั่นแกล้งหากยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นแดง ทั้งนี้เพราะถูกป้ายสีคุณสมบัติบางประการ เช่น ต่อต้านเจ้า ต่อต้านรัฐบาลทหาร ฯลฯ อดีตผู้ประท้วงที่ขันแข็งจำนวนมากไม่อยากบอกว่าตนเป็น “แดง” ถึงแม้ลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทยก็ตาม
ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่า อัตลักษณ์ “คนเสื้อแดง” ถึงแม้อาจเป็นอัตลักษณ์ที่เด่นชัดและมีอิทธิพลที่สุด แต่ก็ไม่สามารถจัดเป็นอัตลักษณ์เดียวของภาคอีสานหรือคนอีสาน ไม่น่าเป็นไปได้ที่ภูมิภาคนี้จะกลายเป็นสมรภูมิสำหรับสงครามกลางเมืองที่มีพื้นฐานมาจากปัญหาชาติพันธุ์ดังที่ผู้สันทัดกรณีบางคนกล่าวอ้าง ถึงแม้อัตลักษณ์เชิงชาติพันธุ์ปรากฏอยู่จริง แต่มันไม่เข้มแข็งพอที่จะกลายเป็นพลังผลักดันสำหรับการแบ่งแยกดินแดน อัตลักษณ์ความเป็นคนลาวถูกดูดซับกลืนกลายจนแปรเปลี่ยนเป็นอัตลักษณ์เชิงภูมิภาคของประเทศไทยไปแล้ว (Saowanee and McCargo 2014; Ricks 2019)
ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ขบวนการคนเสื้อแดงมิได้แสดงออกถึงความคับแค้นใจที่คนส่วนใหญ่ในภาคอีสานมีร่วมกัน ความเชื่อว่าคนอีสานเป็นผู้ลงคะแนนเสียง/พลเมืองอันชอบธรรมของประเทศนี้มีอยู่อย่างเข้มแข็งและกลายเป็นพลังขับดันหลักที่ทำให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการเมือง ไม่ว่าคนเสื้อแดงหรือไม่ใช่เสื้อแดง คนอีสานทั้งเสื้อแดงและไม่ใช่เสื้อแดง ต่างก็แลเห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย และมีความรู้สึกว่าภาคอีสานถูกละเลย ถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับการพัฒนามากเพียงพอ ด้วยเหตุนั้น คนอีสานจึงพยายามบอกให้รัฐรับฟังข้อเรียกร้องต่างๆ ของพวกเขาตั้งแต่ขบวนการคนเสื้อแดงยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยซ้ำ สิ่งที่ขบวนการคนเสื้อแดงมีร่วมกับภาคอีสานในแง่วัฒนธรรมทางการเมืองก็คือ ความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับและการพัฒนา (โปรดดู Saowanee 2019b) ดังนั้น เราจึงไม่เคยเห็นองค์กรของคนเสื้อแดงจากภาคอีสานหันไปใช้วาทกรรมด้านชาติพันธุ์หรือมีเป้าหมายด้านการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด
Saowanee T. Alexander
เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
บรรณานุกรม
Saowanee T. Alexander & McCargo, D. 2016, ‘War of words: Isan redshirt activists and discourses of Thai democracy’, South East Asia Research, vol. 24, no. 2, pp. 222-241.
Naruemon Thabchumpon & McCargo, D. 2011, ‘Urbanized villagers in the 2010 Thai Redshirt protests: Not just poor farmers?’, Asian Survey, vol. 51, no. 6, pp. 993-1018.
Saowanee T. Alexander, 2018, ‘Red Bangkok? Exploring political struggles in the Thai capital’, Critical Asian Studies, vol. 50, no. 4, pp. 647-653.
Saowanee T. Alexander, 2019b, ‘Isan; Double trouble’, Contemporary Southeast Asia, vol. 41, no. 2, pp. 183-189.
Saowanee T. Alexander & McCargo, D. 2019, ‘Exit, voice, (dis)loyalty: Northeast Thailand after the 2014 coup’, in MM Montesano, T Chong, M Heng (eds.), After the coup: The National Council for Peace and Order era and the future of Thailand, ISEAS, Singapore, pp. 90-113.
Notes:
- Saowanee T. Alexander, 2019a, ‘Cooptation doesn’t work: How redshirts voted in Isan’, New Mandala, 10 April, viewed 16 October 2019, https://www.newmandala.org/cooptation-doesnt-work-how-redshirts-voted-in-isan/. ↩
- อย่างไรก็ตาม หากตัดสินแค่รูปลักษณ์ภายนอก ดูเหมือนไม่มีคนเสื้อแดงเข้าร่วมฟังการรณรงค์หาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ ถึงแม้มีอย่างน้อยบางคนที่ไปฟังการหาเสียงในจังหวัดอุบลราชธานี นี่สะท้อนให้เห็นว่า ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คนเสื้อแดงไม่อยากแสดงอัตลักษณ์ของตนในการหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ เหตุผลเบื้องหลังปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องน่าสืบค้นต่อไป แต่ชี้ให้เห็นว่าในหมู่คนเสื้อแดงมีการสงวนท่าทีระดับหนึ่งในการสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่อย่างเปิดเผย ↩
- เรื่องย้อนแย้งก็คือ นักเคลื่อนไหวบางกลุ่ม เช่น สมัชชาคนจน มีเป้าหมายคล้ายคลึงกับขบวนการคนเสื้อแดงในหลายประเด็น ในอีสานมีกลุ่มประท้วงมากมายหลายกลุ่มที่ต่อต้านโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐมาตั้งแต่ก่อนที่ขบวนการคนเสื้อแดงจะเริ่มพูดถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ↩