สงครามเย็นทิ้งร่องรอยลึกซึ้งไว้ในการเมืองและสังคมมาเลเซีย ยุคภาวะฉุกเฉินแห่งมลายา (Malaya Emergency) ซึ่งกองกำลังของเครือจักรภพอังกฤษทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์กับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติมลายาระหว่างปี 1948-60 สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งชนชั้นนำในยุคอาณานิคมอังกฤษและชนชั้นนำท้องถิ่นในยุคต่อมามีความพร้อมที่จะต่อกรกับการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์ภายในประเทศมากขนาดไหน แต่ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ยังแพร่หลายจริงๆ หรือผีคอมมิวนิสต์ที่เอามาใช้หลอกหลอนกันง่ายๆ ก็ยังสะท้านสะเทือนไปทั่วทั้งองค์สังคม จนแม้กระทั่งหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์มลายาถูกเบียดขับจนหมดความสำคัญและพ่ายแพ้ไปแล้วก็ตาม สงครามเย็นทิ้งมรดกที่ซับซ้อนและไม่ลบเลือนไว้ทั้งในการเมืองภาครัฐและภาคประชาสังคมของมาเลเซีย เรายังคงเห็นผลพวงของมันในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมือง แบบแผนการตั้งถิ่นฐาน การออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนการวางตำแหน่งของประเทศในภูมิศาสตร์การเมือง โดยรวมแล้ว มาเลเซียเคยมีประสบการณ์กับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เป็นขบวนการคอมมิวนิสต์จริงๆ และมีปฏิบัติการรุกคืบแข็งกร้าวจริงๆ และมาเลเซียก็เคยผ่านประสบการณ์ของการมีมาตรการปราบปรามการก่อกบฏ การผนวกยุทธศาสตร์ด้านจิตใจและความคิดเข้ากับการปราบปรามกดขี่ด้วยกองทัพ ซึ่งกลายเป็นเกณฑ์มาตรฐานของกองกำลังรักษาความมั่นคงในการตอบโต้ต่อการใช้ความรุนแรงแบบสุดขั้วมาจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งที่ทิ้งรอยด่างลึกซึ้งไว้ยิ่งกว่ากลับมิใช่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา แต่การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ครั้งนั้นได้ปั้นแต่งหล่อหลอมภูมิทัศน์ทางอุดมการณ์ ประชากร กฎหมายและความมั่นคง กล่าวคือ การมีขบวนการต่อต้านทุนนิยมขนาดใหญ่ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและดูเป็นตัวร้ายในสายตานานาประเทศเกิดขึ้น ณ ช่วงก่อร่างสร้างตัวในพัฒนาการด้านสังคมการเมืองของมาเลเซีย ทำให้การมีอุดมการณ์ที่เป็นทางเลือกอื่นดูไร้ความชอบธรรมและยิ่งส่งเสริมการมีรัฐทุนนิยมที่เข้มแข็ง รวมศูนย์และใช้ชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากเป็นพิเศษ โดยฝังลึกอยู่ในสังคมที่ทำการเมืองให้ไม่เป็นการเมือง (depoliticized) อย่างเห็นได้ชัด
มาเลเซียเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในด้านหนึ่ง การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2018 แนวร่วมขนาดใหญ่ที่ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนสามารถโค่นพรรคการเมืองที่ใช้แนวทางอุปถัมภ์อย่างชัดเจนมากกว่าซึ่งครองอำนาจมายาวนานถึง 61 ปีลงได้ แต่ในขณะเดียวกัน พรรคอิสลามนิยมที่เป็นฝ่ายที่สามก็ได้ที่นั่งมากพอสมควร อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพลังโน้มน้าวในเชิงอุดมการณ์ยังมีความสำคัญ และการเมืองมาเลเซียไม่ได้มีแค่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือเทคโนแครตเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง การวางหมุดหมายทางการเมืองยังคงสะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานในการกดขี่ปราบปรามขบวนการฝ่ายซ้าย ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มาเลเซียยังไม่เคยมีตัวเลือกอื่นทางการเมืองที่มีลักษณะของการต่อสู้ทางชนชั้นที่เข้มแข็ง (หรืออย่างน้อยที่สุดก็อย่างเปิดเผย) นอกเหนือจากพรรคสังคมนิยมเล็กๆ ที่มีแต่ขวากหนามรอบตัว ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ยุคต้นของมาเลเซียอุดมไปด้วยการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีบทบาทและมีฐานประชาชนสนับสนุน การที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา รวมทั้งปีกต่างๆ ที่ติดอาวุธ (อาทิ กองทัพต่อต้านญี่ปุ่นของประชาชนมลายา หรือ Malayan People’s Anti-Japanese Army—MPAJA พอหลังสงครามโลกก็คือ กองทัพปลดปล่อยของประชาชนมลายา หรือ Malayan People’s Liberation Army—MPLA) จุดชนวนให้เกิดสงครามกองโจรต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่สร้างบาดแผลแก่สังคมในช่วงเวลาที่รัฐมาเลเซียกำลังก่อรูปก่อร่างจนกลายเป็นประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอย่างยิ่งต่อโฉมหน้าและบุคลิกของรัฐนี้ นับตั้งแต่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพขององค์กรด้านสังคมการเมือง (โดยเฉพาะองค์กรของฝ่ายซ้าย) ไปจนถึงการลดบทบาทของชาวจีนในพัฒนาการทางการเมืองของมาเลเซีย ตลอดจนการจำกัดขอบเขตของจุดยืนทางอุดมการณ์ที่สังคมส่วนรวมยอมรับว่าชอบธรรม
ตะกอนตกค้างจากสงครามเย็น
ดูเหมือนรัฐมาเลเซียไม่น่าจะเผชิญภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างมีนัยสำคัญใดๆ หลังจากยุคภาวะฉุกเฉินแห่งมลายาคลี่คลายลง ถึงแม้ว่ากว่าพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจะยอมแพ้ราบคาบก็ล่วงเลยจนถึงปี 1989 ก็ตาม แต่เนื่องจากภาวะสงครามเย็น (และโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามเวียดนามยังสู้รบกันอย่างดุเดือด) รัฐที่สนับสนุนระบบทุนนิยมและใช้ชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือทางการเมืองในปลายทศวรรษ 1960/ต้นทศวรรษ 1970 เผชิญแรงต้านน้อยมากในการกดขี่ปราบปรามคู่ปรับสำคัญในตอนนั้น นั่นคือ แนวร่วมสังคมนิยมที่ตัดข้ามเชื้อชาติโดยมีฝ่ายซ้ายและคนจีนมีอิทธิพลครอบงำ กระทั่งคำว่า “คนจีน” มีความหมายว่า “คอมมิวนิสต์” อันที่จริง ลัทธิคอมมิวนิสต์ในฐานะวิญญาณหลอกหลอนยังเป็นกโลบายอันมีประโยชน์ในการสร้างความชอบธรรมแก่รัฐที่เข้มแข็งและสังคมที่พร้อมใจกันทำการเมืองให้ไม่เป็นการเมือง ดังนั้น มรดกจากสงครามเย็นยังคงตกค้างอยู่ในมาเลเซีย สร้างภาพศัตรูภายในประเทศให้เห็นชัดเจน ตะกอนที่ตกค้างนี้เห็นได้ชัดในแง่ของอุดมการณ์ทางการเมือง แบบแผนการตั้งถิ่นฐาน การออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งการวางตำแหน่งของมาเลเซียในภูมิศาสตร์การเมืองโลก
พื้นที่ทางอุดมการณ์
อุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์เกิดจากความพยายามของอังกฤษและมลายาในการกดขี่ปราบปรามสหภาพแรงงานหัวก้าวหน้าและการรวมตัวกันบนพื้นฐานของชนชั้น ในทางตรงกันข้าม มันช่วยฝังรากการแบ่งขั้วทางชาติพันธุ์และการเมืองที่ใช้ชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือ ผลลัพธ์ที่ตามมายิ่งสะท้อนให้เห็นผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำในพรรคอัมโน รวมทั้งพรรคพันธมิตรของชาวจีนและอินเดีย ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อเรียกว่า Barisan Nasional (แนวร่วมแห่งชาติ) อัมโนเป็นต้นแบบของการสร้างแนวร่วมทางการเมืองและการบริหารประเทศโดยขึ้นกับอัตลักษณ์พื้นฐานของผู้ลงคะแนนเสียง ซึ่งจัดแบ่งตามชาติพันธุ์ ไม่ใช่ชนชั้น อีกทั้งพรรคพันธมิตร/แนวร่วมแห่งชาติสนับสนุนรูปแบบเศรษฐกิจทุนนิยมมาตั้งแต่ต้น เสริมด้วยนโยบายที่เน้นการจัดสรรปันส่วนใหม่ให้แก่ภูมิปุตรา (ชาวมลายูและชาวพื้นเมืองชาติพันธุ์อื่น)
ตรรกะของสงครามเย็นเปิดช่องให้ชนชั้นนำชาวอังกฤษและมลายาผลักดันการตอบรับอุดมการณ์แบบทุนนิยมโดยอ้างว่าไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่เป็นหลักประกันเพื่อต้านทานภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของประเทศ ในสมัยนั้น ชาวมลายูส่วนใหญ่เป็นชาวนารายย่อย ดำรงอาชีพไว้ได้ด้วยนโยบายของอังกฤษและน่าจะมีความเคลือบแคลงต่อระบบทุนนิยมไม่น้อย ส่วนชนชั้นนำที่มีอิทธิพลในชุมชนกลับลงหลักปักฐานได้มั่นคงในระบบที่อังกฤษสร้างไว้ให้ นโยบายของอังกฤษพยายามวางรากฐานให้ชนชั้นกลาง (และชนชั้นนายทุน) ในภาคเกษตรของชาวมลายู ในขณะเดียวกันก็สร้างข้าราชการชาวมลายู รวมทั้งดำเนินนโยบายที่มุ่งเป้ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เพื่อดึงเข้ามาอยู่ในระบบสังคมที่อังกฤษปกครองมากขึ้นๆ
ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจชาวจีนส่วนใหญ่เข้าร่วมการแข่งขันในระบบทุนนิยมอย่างเต็มที่เช่นกัน แต่ไม่ใช่ในฐานะชาวนารายย่อย ชนชั้นแรงงานชาวจีน (และอินเดีย) กลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกรรมาชีพในภาคอุตสาหกรรมเกิดใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในโรงงานและในสวนยาง เหมืองแร่ดีบุกและงานกรรมกรรับจ้าง เช่น คนงานท่าเรือ เป็นต้น จากฐานแรงงานในมลายาและสิงคโปร์นี้เองที่สหภาพแรงงานฝ่ายซ้ายเกิดขึ้น นำเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อระบบทุนนิยม (ภายใต้การครอบงำของตะวันตก) สหภาพแรงงานเหล่านี้เป็นฐานตั้งต้นอันมีศักยภาพหรือมีพลังอย่างแท้จริงสำหรับการตั้งพรรคการเมืองที่จะมีส่วนร่วมอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เพียงเอื้อต่อผลประโยชน์ของชนชั้นมากกว่าอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ แต่รวมถึงปฏิบัติการแบบหมู่คณะด้วย ทว่าหลังจากถูกใส่ร้ายป้ายสีในทางอุดมการณ์หรือเพราะถูกกดขี่กวาดล้างมาตั้งแต่แรก แรงงานในปัจจุบันส่วนใหญ่จึงสงบปากสงบคำ ทั้งๆ ที่ในช่วงปีแรกๆ หลังจากได้รับเอกราช เรายังได้เห็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายมีบทบาทอยู่แถวหน้า โดยเฉพาะในระดับการปกครองท้องถิ่น การกดขี่ปราบปรามแต่ต้นมือและการทำลายแรงจูงใจทำให้ไม่มีพรรคการเมืองหลงเหลือที่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่าเป็นพรรคการเมืองของชนชั้นแรงงาน
ประเด็นสำคัญก็คือ การเมืองในระบบมีขันติธรรมน้อยมากต่อการมีส่วนร่วมแบบวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายาล้มหายตายจากไปนมนานแล้ว แต่ไม่ว่าใครก็อาจถูกตีตราเป็น “คอมมิวนิสต์” ได้ง่ายๆ เป็นการใส่ไคล้เพื่อทำลายความชอบธรรมแบบเหมารวม อีกทั้งการที่รัฐใช้คติชาติพันธุ์นิยมมาบิดเบือนเพื่อส่งเสริมลัทธิเสรีนิยมใหม่ รวมถึงการขยายนโยบายให้สิทธิพิเศษแก่คนบางกลุ่มบางพวก โดยนำเสนอว่าทั้งหมดนี้คือ “อุดมการณ์” ยิ่งกว่านั้น วาทกรรมทางการเมืองกระแสหลักที่เชิดชูว่าชาวมลายูมีความเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นทั้งในเชิงประชากรและสังคม อีกทั้งแทบไม่เคยพิจารณากรอบเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกอื่นอย่างจริงจัง ทั้งหมดข้างต้นนี้คือแบบแผนที่ตกค้างฝังแน่นจากยุคสงครามเย็น การจัดตำแหน่งในเชิงชาติพันธุ์มากกว่าชนชั้น ไม่ยอมพิจารณาแนวคิดต้นแบบสังคมนิยมหรือสังคมนิยมประชาธิปไตย รวมทั้งเหมารวมว่าพลเมืองชาวจีนนั้นไว้ใจไม่ได้ ล้วนแล้วแต่สร้างรอยด่างต่อความเป็นไปได้ทางอุดมการณ์และแนวทางปฏิบัติในยุคหลังสงครามเย็น
การย้ายถิ่นฐานของประชากร
มรดกสำคัญประการที่สองจากสงครามเย็นที่ตกค้างในมาเลเซียเกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ด้านประชากรมนุษย์ การทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคภาวะฉุกเฉินแห่งมลายาครอบคลุมถึงการบังคับให้ประชากรเชื้อสายจีนกว่าครึ่งล้านต้องย้ายถิ่นฐาน ในสมัยนั้นนับจำนวนเป็นหนึ่งในสิบของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว พวกเขาต้องย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เรียกสวยหรูว่า “หมู่บ้านใหม่” วัตถุประสงค์ก็คือเป็นมาตรการป้องกัน (เชิงลงโทษ) เพื่อตัดวงจรสายโซ่การส่งกำลังบำรุงให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายา
ถึงแม้ชาวจีนมักกระจุกตัวอยู่ในเมืองและรอบเหมืองแร่ แต่ก็มีคนเชื้อสายจีนบางส่วนทำไร่นาแบบยังชีพมายาวนาน การยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1940 ยิ่งทำให้คนจีนกระจายไปอยู่ตามชนบทมากขึ้น ถึงขนาดที่มีชาวจีนราว 500,000 คนหักร้างถางพงตั้งถิ่นฐานตามชายป่าในช่วงปี 1945 ชุมชนเหล่านี้นั่นเองที่คอยส่งอาหารและกำลังบำรุงต่างๆ ให้กองทัพต่อต้านญี่ปุ่นของประชาชนมลายาหรือ MPAJA ช่วยสอดแนมหาข่าว ไปจนถึงถูกเกณฑ์ไปร่วมรบโดยสมัครใจหรือไม่ก็ตาม (Tilman 1966, 410, Yao 2016) รัฐบาลอาณานิคมคิดว่ากองกำลัง MPAJA คงอยู่รอดในป่าได้ไม่นานนักหากปราศจากเสบียงเลี้ยงดู ก็เลยกวาดต้อนย้ายชุมชนทั้งหมดเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านแบบกักบริเวณ การดึงคนเชื้อสายจีนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบการเมืองกระแสหลักเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการครั้งนี้ด้วย โดยอาศัยสมาคมชาวจีนมลายา (Malayan Chinese Association—MCA) คอยช่วยเหลือมอบข้าวของเครื่องใช้อำนวยความสะดวกและช่วยให้ชาวหมู่บ้านใหม่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ของตน (โปรดดู Teh 2007 [1971])
แต่การบังคับย้ายถิ่นฐานเช่นนี้ทำให้ทั้งกลุ่มผู้เห็นอกเห็นใจพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและกลุ่มอื่นๆ ถูกกักอยู่ในเมืองที่มีแต่คนเชื้อชาติเดียวกัน และในหลายกรณี พวกเขาหมางใจอย่างลึกซึ้งที่รัฐเข้ามาก้าวก่ายชีวิตจนเกินควร การพลัดถิ่นฐานรวมหมู่เช่นนี้ยิ่งตอกย้ำอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ รวมทั้งสร้างกลุ่มเฉพาะที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ MCA ถือโอกาสเข้ามาทำตัวเป็นผู้คุ้มครองชุมชนชาติพันธุ์ การริเริ่มครั้งนี้ยังจุดประกายให้เกิดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงรูปแบบใหม่ของโครงสร้างการมีผู้แทนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยเพิ่มการลงทุนในชุมชนใหม่ของตน (Strauch 1981, 40-41) ตลอดจนพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ และข้ออ้างต่างๆ เพื่อการสอดส่องดูแล
หมู่บ้านใหม่เหล่านี้ตั้งอยู่กระจัดกระจาย โดยเฉพาะในคาบสมุทรทางตะวันตกของมาเลเซีย มีความผสมปนเปทางชาติพันธุ์น้อยกว่าเมืองหรือหมู่บ้านที่ก่อตั้งขึ้นตามธรรมชาติ อีกทั้งได้รับการดูแลไม่ค่อยต่อเนื่อง ถึงแม้ส่วนใหญ่มีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอเมื่อถึงกลางทศวรรษ 1980 แต่นิคมเหล่านี้ประสบปัญหาความแออัดและที่ดินการเกษตรไม่เพียงพอ โอกาสในการจ้างงานมีจำกัด ทำให้เกิดการอพยพย้ายออก โรงเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ได้มาตรฐานหรือมีน้อยเกินไป รวมทั้งการบริหารงานปกครองและงบประมาณไม่เพียงพอ (Rumley and Yiftachel 1993, 61-2) ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นชี้ให้เห็นว่าการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็นทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนถิ่นฐานของประชากรอย่างไรบ้าง อันถือเป็นมรดกตกค้างและสร้างผลพวงตามมาจากยุคสมัยนั้น
การจำกัดสิทธิเสรีภาพทางกฎหมาย
เราจะหันไปพิจารณาภูมิทัศน์ทางกฎหมายเป็นประการที่สาม มาเลเซียแตกต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ตรงที่ปฏิบัติการต่อต้านคอมมิวนิสต์ไม่ได้ยกระดับความสำคัญของกองทัพ ถึงแม้จะมีปฏิบัติการทางทหารยืดเยื้อยาวนานก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับไป การควบคุมกองทัพไว้ได้ถือเป็นเรื่องที่โดดเด่นพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในยุคภาวะฉุกเฉินแห่งมลายา เราได้เห็นการจำกัดอิสรภาพของพลเรือนมากขึ้นและการปรับเปลี่ยนองค์กรด้านสังคมการเมืองที่ยังคงอยู่ต่อมาแม้สงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่องค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ก็ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของการจดทะเบียนและการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ออกมาตั้งแต่ยุคภาวะฉุกเฉิน ยิ่งกว่านั้น บรรทัดฐานที่ให้อำนาจตำรวจพิเศษในการสกัดขัดขวางภัยคุกคามที่นิยามอย่างหลวมๆ โดยเฉพาะภัยคุกคามทางการเมือง ยังคงมีอยู่และเป็นตะกอนตกค้างจากยุคสงครามเย็น
เรื่องที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ กลไกกฎหมายเชิงสังคมนี้ช่วยตอกย้ำฝังลึกการลดทอนคุณค่าของการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบวิพากษ์วิจารณ์ โดยกล่าวหาว่าเป็นความก้าวร้าว บุ่มบ่ามหรือแค่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการทึกทักเป็นสมมติฐานว่าชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนอาจไว้ใจไม่ได้ในแง่ความจงรักภักดี เหตุการณ์สำคัญที่ยิ่งตอกย้ำทัศนะเช่นนี้ก็คือการจลาจลในเมืองใหญ่เพราะสาเหตุทางเชื้อชาติระหว่างชาวมลายูกับจีนในช่วงปลายทศวรรษ 1960 โดยเฉพาะในกรุงกัวลาลัมเปอร์ภายหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 1969 แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเข้าใจกระแสหลักที่มีต่อเหตุการณ์ “13 พฤษภาคม” เริ่มเปลี่ยนไป โดยลบเลือนการใส่ร้ายในเชิงอุดมการณ์ที่กล่าวโทษกลุ่ม “Socialist Front” ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรของพรรคการเมืองสังคมนิยมที่กำลังได้รับความนิยม แล้วหันไปยอมรับคำอธิบายที่เป็นเรื่องความบาดหมางระหว่างเชื้อชาติล้วนๆ แทน กฎหมายฉบับใหม่ที่นำมาบังคับใช้ภายหลังการปกครองด้วยประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ปี 1969-71 ส่งเสริม “นโยบายเศรษฐกิจใหม่” (New Economic Policy) พร้อมทั้งสั่งห้ามการโจมตีหรือกระทั่งอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์สิทธิพิเศษของชาวมลายูไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
จนกระทั่งทุกวันนี้และคงเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน ถึงแม้มีการเปลี่ยนหน้าพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับเอกราชก็ตาม มาเลเซียก็ยังมีชุดกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างไม่ได้สัดส่วนกับภัยคุกคามที่แท้จริงใดๆ ตราบที่กฎหมายแบบนี้ยังคงอยู่ สงครามเย็นก็มีผีให้ฉวยใช้มาหลอกหลอนได้เสมอ แม้จะไม่เข้ากับยุคสมัยมากนัก แต่สอดคล้องเข้ากันดีกับการต่อสู้และอคติของอำนาจในท้องถิ่น เพื่อใช้อ้างความชอบธรรมให้แก่มาตรการข่มขู่บังคับที่เกินเลยความจำเป็น ผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว มรดกนี้ก็ยังตกค้างอยู่
ความสัมพันธ์กับภายนอกประเทศ
ในประการสุดท้าย เมื่อแบบแผนทางสังคมการเมืองเริ่มตกผลึกในมาเลเซีย ปฏิบัติการสงครามเย็นในประเทศเอเชียอื่นๆ ยังคงเป็นกันชนป้องกันองค์การเมืองแห่งนี้จากการแทรกแซงภายนอกหรือกระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแหลมคม มหาอำนาจตะวันตกยินยอมให้มาเลเซียและรัฐอื่นๆ ในภูมิภาคนี้มีผู้นำที่ไม่ใช่เสรีนิยม ตราบที่ประเทศหุ้นส่วนเหล่านี้ยินดีต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยตัวเอง (และโดยเฉพาะถ้าพวกเขาเปิดทางสะดวกให้กองทัพอเมริกันเข้าสู่เวียดนามได้ในช่วงทศวรรษ 1970) เมื่อเป็นเช่นนี้ มาเลเซียจึงได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการตั้งเงื่อนไขที่อาจทำให้อึดอัดใจหรือแรงกดดันจากภายนอก
ประเด็นที่ไม่ชัดเจนก็คือ ทำไมการอนุโลมเช่นนี้จึงกลายเป็นนิสัยและจะมีขอบเขตถึงไหน เมื่อสิ้นสุดสงครามเวียดนามแล้ว จนแม้กระทั่งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกาและประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ก็ยังคงยอมรับรัฐมาเลเซียที่มีลักษณะกดขี่มากขึ้นเรื่อยๆ ตราบที่ยังเป็นคู่ค้าที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน นักวางนโยบายชาวอเมริกันมักบ่นงุมงำเกี่ยวกับขอบเขตของนโยบายการให้สิทธิพิเศษ แต่ดูเหมือนมาเลเซียยังคงกอบโกยผลประโยชน์จากแนวทางการค้าเสรี พร้อมกับการกระชับความสัมพันธ์ที่เสนอผลประโยชน์ร่วมกันและช่องทางทางเศรษฐกิจอย่างล้นเหลือ มาเลเซียได้ปรับแนวทางเชิงอุดมการณ์ให้สอดคล้องกลมกลืนกับกลุ่มมหาอำนาจภายนอกประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์มากเพียงพอที่จะไม่เป็นภัยคุกคาม และด้วยเหตุนั้นจึงแทบไม่ถูกตั้งคำถามใดๆ เลย
กล่าวสั้นๆ ก็คือ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นมาในยุคสงครามเย็น มาเลเซียมีอิสระในการดำเนินกิจการภายในประเทศมากพอสมควร โดยเฉพาะนับตั้งแต่อาเซียนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาและกลายเป็นแนวกันชนเพิ่มเติมในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เชื่อกันว่ากำลังคืบคลานรุกรานเข้ามาเงียบๆ ประสบการณ์ครั้งนั้นดูเหมือนกลายเป็นแว่นขยายขอบเขตสงครามเย็นในฐานะความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปฏิบัติการสงครามเย็นนำมาซึ่งการระงับยับยั้ง การกลืนกลายหรือจำกัดปัญหาภายในประเทศ ก่อนที่มันจะแสวงหาพันธมิตรทางอุดมการณ์จากต่างประเทศหรือขยายผลจากภายในประเทศไปเป็นปัญหาข้ามชาติ
บทสรุป
ผลลัพธ์สุดท้ายของกระบวนการทั้งหมดข้างต้นกลายเป็นการสร้างความเข้มแข็งระยะยาวแก่ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งเพิ่งเข้าสู่ขั้นตอนเริ่มต้นในการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นทางการอันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ระบอบการปกครองแบบนี้ให้อภิสิทธิ์แก่อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ตอกย้ำด้วยแบบแผนการบังคับย้ายถิ่นฐานอย่างถาวร มันยังให้อภิสิทธิ์แก่การพัฒนาของระบบทุนนิยม โดยมีการช่วยเหลือเชิงสวัสดิการในรูปของของกำนัลจากรัฐบาลที่มีเมตตามากกว่าจะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของพลเมือง อีกทั้งการไม่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เก็บกักปัญหาไว้ภายในและยอมเปิดทางให้การมีส่วนร่วมเพียงครั้งคราว ไม่ต้องสงสัยว่าเราย่อมพบเห็นมรดกแบบนี้บางส่วนบางเสี้ยวทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การที่มาเลเซียปลดแอกจากอาณานิคมอังกฤษได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยแทบไม่เสียเลือดเนื้อ การวางกรอบด้านชาติพันธุ์ รวมทั้งความทะเยอทะยานและพยายามจะเป็นรัฐนักพัฒนา ทำให้มรดกเหล่านี้ถูกนำมาบิดเบือนขยายความในบางทิศทางและทิ้งผลพวงตามมา
เรื่องที่ยังมีช่องว่างให้ถกเถียงอภิปรายได้อีกก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นภัยคุกคามต่อมลายาจริงๆ มากน้อยแค่ไหน องค์การเมืองแห่งนี้มีโอกาสกลายเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ หรือ แน่นอน ปีกติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์มลายามีการจัดโครงสร้างอย่างดีและมีประสิทธิภาพพอสมควร แต่ฝ่ายซ้ายทางการเมืองที่มีการจัดตั้งส่วนใหญ่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์และตัวมันเองก็ถูกจัดลำดับชั้นอยู่ในกรอบเชิงชาติพันธุ์อย่างมาก สิ่งที่ชัดเจนกว่าก็คือ ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่จำเป็นต้องได้ชัยชนะเพื่อทิ้งรอยแผลลึกอย่างมิอาจลบเลือนไว้ในองค์การเมืองแห่งนี้ และมีอิทธิพลต่อเส้นทางเชิงสถาบัน อุดมการณ์ สังคมและยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ ที่สำคัญอย่างยิ่งในอีกหลายปีและหลายทศวรรษข้างหน้า
Meredith L. Weiss
Professor, Department of Political Science, University at Albany, SUNY
Banner: View of the National Monument of Malaysia located in Kuala Lumpur, Malaysia. Image: EQRoy / Shutterstock.com
References
Rumley, Dennis, and Oren Yiftachel. 1993. “The Political Geography of the Control of Minorities.” Tijdschrift voor Economische en Sociale Geografie 84 (1):51-64.
Strauch, Judith. 1981. Chinese Village Politics in the Malaysian State. Cambridge, MA: Harvard University Press.
Teh, Hock Heng. 2007 [1971]. “Revisiting Our Roots: New Villages.” The Guardian 4:3.
Tilman, Robert O. 1966. “The Non-Lessons of the Malayan Emergency.” Asian Survey 6 (8):407-19.
Yao, Souchou. 2016. The Malayan Emergency: Essays on a Small, Distant War. Copenhagen: NIAS Press.