เดี๋ยวนี้คืออีกนานแค่ไหน? ว่าด้วยยุค Reformasi ของอินโดนีเซียและการทวงคืนประวัติศาสตร์สมัยสงครามเย็นที่ช้าเกินการณ์

Olle Törnquist

KRSEA How Long is Now: Indonesia

ชื่อบทความ “เดี๋ยวนี้คืออีกนานแค่ไหน?” มาจากภาพศิลปะฝาผนังบนถนนโอราเนียนบวร์ก (Oranienburger Strasse) ในเขตมิตเตของกรุงเบอร์ลิน  ภาพศิลปะนี้วาดไว้บนผนังอาคารที่เคยเป็นศูนย์บัญชาการของหน่วยชุทซ์ชตัฟเฟิล (Schutzstaffel—SS) และคุกของนาซี จากนั้นเปลี่ยนเป็นอาคารของรัฐบาลในสมัยเยอรมนีตะวันออก  จนกระทั่งหลังกำแพงเบอร์ลินพลังทลายจึงเปลี่ยนเป็นศูนย์กิจกรรมของศิลปิน  ในปัจจุบัน อาคารหลังนี้ถูกทิ้งร้าง  ศิลปะฝาผนังภาพนี้คือการมองย้อนกลับไปหาอดีตอันใกล้ของกรุงเบอร์ลินที่เต็มไปด้วยการสร้างสรรค์ระหว่างรอคอยอนาคตอันยืดเยื้อ  สำหรับผู้เขียน ศิลปะฝาผนังภาพนี้คือบทสรุปรวบยอดที่สะท้อนถึงพลวัตและชะตากรรมอันน่าเศร้าของนักศึกษาอินโดนีเซียในจาการ์ตาเมื่อสมัย 1998  ในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น พวกเขาชวนผู้เขียนบรรยายและถกเถียงจนดึกดื่นค่อนคืน  พวกเขาพยายามค้นหาวิถีทางทวงคืนประวัติศาสตร์ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่ก่อรูปมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1940 รวมทั้งค้นหาว่าทำไมขบวนการประชาชนเพื่อการปฏิรูปที่เคยยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในสมัยนั้นกลับถูกกวาดล้างจนสิ้นซาก  ประชาชนราว 500,000 คนถูกกองทัพและกองกำลังติดอาวุธ “พลเรือน” สังหารทิ้งในปี 1965-66  ชั่วขณะแห่งความโปร่งใสมองเห็นยาวไกลมลายหายไป  อนาคตยังไม่ปรากฏให้เห็น  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เมื่อนานาชาติพร้อมใจกันละทิ้งซูฮาร์โตและหันไปสนับสนุนเสรีภาพกับการเลือกตั้งแทน ทว่าเก็บชนชั้นนำเดิมเอาไว้ นั่นหมายความว่ายังมีโครงกระดูกซ่อนในตู้อีกเหลือเฟือสำหรับการวิเคราะห์วิจารณ์สังคม  ในตอนนี้ความหวังว่าประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วิโดโดจะอิงแอบกลุ่มอิทธิพลน้อยกว่าประธานาธิบดีคนก่อนๆ ชักเป็นความหวังที่เลือนรางลงทุกที  เมื่อต้องเผชิญกับนักการเมืองอำนาจนิยมอย่างปราโบโว ซูเบียนโตที่ปลุกระดมลัทธิประชานิยมมุสลิมอนุรักษ์นิยม นั่นหมายถึงการถอยหลังลงคลอง  ในระดับสากล ข้อถกเถียงที่กล่าวถึงกันอย่างมากก็คือ การพัฒนาประชาธิปไตยเสรีนิยมจะก้าวหน้าได้ก็ต้องสร้างรัฐที่เข้มแข็งด้วย  ฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยเองก็ไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะย้อนมองสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และต้นทศวรรษ 1960  ผู้นำอย่างเนห์รูและซูการ์โน รวมทั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเป็นเรื่องของอดีต  ยิ่งกว่านั้น กลุ่มเหมาอิสต์ยังอ้างว่า ขบวนการคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียสายปฏิรูปและขบวนการภายใต้การนำของซูการ์โนไม่ยึดมั่นในแนวทางปฏิวัติมากเพียงพอ  กลุ่มคนที่เคยเข้าข้างแล้วมาเสียใจในภายหลังก็ไม่อยากให้ใครมาฟื้นฝอย  แต่หันไปทดลองแนวทางอื่นแทน เช่น อนาธิปไตย ประชาสังคม ขบวนการสังคมใหม่และการวิเคราะห์เชิงวาทกรรม  ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในอินโดนีเซียก็เพ่งเล็งแต่ประเด็นปัญหาเฉพาะหน้า เช่น คอร์รัปชั่น สิทธิมนุษยชนและการครองชีพ  การย้อนมองอดีตไม่ช่วยให้จัดการปัญหาเหล่านี้ง่ายขึ้น

“Hopes that President Joko ‘Jokowi’ Widodo would be less dependent on powerful groups than his predecessors have dwindled.” Image: Prospective President Joko Widodo campaigning in South Kalimantan, Indonesia, 27 March, 2019. Photo iman satria / Shutterstock.com

ในขณะเดียวกัน งานวิชาการส่วนใหญ่ที่ศึกษาการสังหารหมู่ในอินโดนีเซียก็มุ่งเน้นไปที่การต่อสู้ของชนชั้นนำในปลายปี 1965  ประเด็นนี้กลายเป็นแพะรับบาปให้แก่การฆ่าล้างชาติพันธุ์และการสังหารหมู่  การเน้นมิติด้านสิทธิมนุษยชนในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมก็จริง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการกำหนดทิศทางของการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน (Törnquist 2019)  ปริศนาสามประการยังค้างเติ่ง  ประการแรก สภาพเศรษฐกิจการเมืองและหน่วยงานการเมืองใดที่ทำให้เกิดการสมคบคิดและการกดขี่ปราบปราม?  ประการที่สอง เงื่อนไขอะไรบ้างที่กระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงที่กองทัพชี้นำผสมผสานกับการเข้ามามีส่วนร่วมของกองกำลังติดอาวุธและศาลเตี้ย?  ประการที่สาม มีคำอธิบายอะไรบ้างต่อความล้มเหลวของขบวนการแนวทางซ้ายใหม่ในการเมือง รวมทั้งกรณีที่การเมืองเชิงอัตลักษณ์อำนาจนิยมฟื้นคืนกลับมา?

ตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความจำเป็นในการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์อย่างครอบคลุมมากขึ้นก็คืองานของ Geoffrey Robinson (2018)  ในงานศึกษาวิจัยชิ้นใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โรบินสันพบว่าเขายอมรับข้อเสนอฉีกกรอบเดิมๆ ของ John Roosa’s (2006) ไม่ได้  ข้อเสนอของรูซาคือ ผู้นำบางคนในพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) แต่ไม่ใช่ทั้งขบวนการ มีบทบาทสำคัญอย่างลับๆ ในขบวนการ 30 กันยายน 1ที่เป็นชนวนอันนำไปสู่การสังหารหมู่  เหตุผลที่ทำให้โรบินสันลังเลใจก็คือ ข้อสรุปในงานวิจัยกระแสหลักบอกว่า PKI ค่อนข้างประสบความสำเร็จในขณะนั้นและกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น (โปรดดู Anderson and McVey 1971; Mortimer 1974; Crouch 1978)  นี่ย่อมหมายความว่าไม่มีเหตุผลอันใดที่ผู้นำ PKI ต้องไปเข้าร่วมปฏิบัติการลับสุ่มเสี่ยงแบบนั้น   อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์อุปสรรคที่พรรคคอมมิวนิสต์ต้องเผชิญในช่วงปลายทศวรรษ 1950 และต้นทศวรรษ 1960 อย่างวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น มันกลับชี้ไปในทิศทางตรงกันข้าม  พรรคคอมมิวนิสต์ต้องการประชาธิปไตย แต่ในปี 1959 เนื่องจากพรรคสนับสนุนประธานาธิบดีซูการ์โนและกองทัพที่เสนอ “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” พร้อมกับเลื่อนการเลือกตั้งออกไป  ด้วยเหตุนี้ PKI จึงต้องหันมารุกผ่านการเมืองมวลชนแทน

การเมืองมวลชนหมายถึงการร่วมมือกับนโยบายของซูการ์โน อันประกอบด้วยการรณรงค์ต่อต้านจักรวรรดินิยม การโอนบริษัทต่างชาติมาเป็นของชาติ และปฏิบัติการต่างๆ ที่สนับสนุนโครงการปฏิรูปที่ดินขั้นพื้นฐาน  รวมทั้งสูตรสำเร็จในการบริหารการปกครองสาธารณะด้วยเสาหลักหลายเส้า กล่าวคือ ชาตินิยม ศาสนาและสังคมการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ ตลอดจนการร่วมมือกับกองทัพ  ทั้งหมดนี้เอื้อให้พรรคคอมมิวนิสต์มีพื้นที่ในการจัดตั้งและดำเนินการกดดันทางการเมือง แต่มันไม่บ่อนเบียนความเข้มแข็งของคู่แข่งทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายก้าวหน้า  กองทัพค่อยๆ เข้ามาควบคุมบริษัทที่โอนกิจการมาเป็นของชาติและกลไกรัฐส่วนใหญ่  (โดยอาศัยกฎอัยการศึก) รวมทั้งสามารถสกัดขวางความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะโหมการต่อสู้ของแรงงานในปี 1960-61

มิใช่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้าทางกองทัพหมด  อิทธิพลของกองทัพเสื่อมถอยลงประมาณหนึ่งปีหลังจากผนวกเกาะปาปัวตะวันตกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียสำเร็จ  ปัจจัยนี้เปิดช่องให้พรรคคอมมิวนิสต์เปิดฉากการรณรงค์แบบแข็งกร้าวตามแนวทางเหมาอิสต์ปะทะกับฝ่ายที่เรียกว่ากลุ่มนายทุนข้าราชการ อีกทั้งผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ดิน  อย่างไรก็ตาม PKI คำนวณผิดพลาดที่คิดว่า “กลุ่มนายทุนข้าราชการ” จะมีสถานะง่อนแง่นเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างเข้มข้น  แต่สงครามย่อยระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซียและกองทหารอังกฤษ 2 ทำให้การคาดการณ์ผิดไปอย่างสิ้นเชิง  กองทัพเองก็สวมรอยอ้างอุดมการณ์ชาตินิยมในการรณรงค์ที่ซูการ์โนริเริ่ม พร้อมกับรุกคืบเข้าไปควบคุมบริษัทต่างๆ ที่โอนกิจการมาเป็นของชาติ ซึ่งเท่ากับการใช้กฎอัยการศึกโดยพฤตินัย  ในทำนองเดียวกัน ปฏิบัติการยึดที่ดินแบบแข็งกร้าวจำต้องยกเลิกไปในเดือนธันวาคม 1964 สืบเนื่องจากความขัดแย้งที่บานปลายจนควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะในหมู่ชาวนารายย่อยที่น่าจะสามัคคีกัน  กล่าวโดยย่นย่อก็คือ เมื่อระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาชะงักงันและปฏิบัติการมวลชนเข้มข้นไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดไว้  PKI ก็ตกสู่สภาวะจนตรอกทางการเมือง  นี่หมายความว่ามีเหตุผลหลายประการที่พรรคจะคิดหาหนทางอื่นในการทำให้กองทัพอ่อนแอลงด้วยการเปิดโปงผ่านขบวนการ 30 กันยายนว่า กองทัพฉวยโอกาสใช้ลัทธิชาตินิยมเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งอาจช่วยให้ฝ่ายก้าวหน้าถือไพ่เหนือกว่าบ้าง (Törnquist1984; van Klinken 2019)

อีกตัวอย่างหนึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นที่ยังไม่คลี่คลายเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพในการสังหารหมู่เมื่อเทียบกับกองกำลังติดอาวุธ ศาลเตี้ย ฯลฯ  ไม่มีข้อสงสัยเลยว่ากองทัพคอยกำกับการฆ่าและการกวาดล้าง รวมทั้งมีประชาชนถูกสังหารจำนวนมาก ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ 30 กันยายนหรือแม้กระทั่งกับพรรค PKI  ดังนั้น แนวคิดเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงใช้ได้กับกรณีนี้  อย่างไรก็ตาม การประสานความร่วมมือของอำนาจส่วนกลาง กองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นและศาลเตี้ย ผสมปนเปกับกลุ่มการเมือง กลุ่มศาสนาและการเมืองอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอินโดนีเซียแตกต่างจากโฮโลคอสต์ของนาซีที่ใช้ระบบสั่งการจากเบื้องบนลงมาเป็นหลัก  ด้วยเหตุนี้ การผสมผสานระหว่างการกำกับของกองทัพกับการมีส่วนร่วมของพลเรือนนี่เองคือประเด็นที่ยังต้องการคำอธิบาย

โรบินสันไม่หลบเลี่ยงจากคำถามว่า การพัฒนาขบวนการต่อต้านฝ่ายซ้ายและการมีส่วนร่วมในการใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่รัฐมีสมรรถภาพในการออกแบบและกระตุ้นนโยบายเพียงจำกัด กองทัพไม่มีฐานมวลชนหรือพรรคการเมือง อีกทั้งไม่มีกรอบความคิดเชิงชาติพันธุ์ ศาสนาหรือแม้กระทั่งสังคมอุดมคติแบบสุดขั้วสำหรับนำมาใช้ในการกดขี่  นอกจากชี้ประเด็นของสงครามเชิงจิตวิทยาแล้ว คำอธิบายหลักของโรบินสันก็คือ การใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวางนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพสังคมที่กองทัพครอบงำ (militarization of society) ซึ่งมีรากเหง้าจากการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติในทศวรรษ 1940  กองทัพเองก็เป็นผลผลิตของกลุ่มติดอาวุธมากมายหลายกลุ่ม  ล่วงเลยมาจนทศวรรษ 1960 ก็ยังมีมรดกตกทอดหยั่งรากลึกที่ทำให้การจัดระเบียบกองทัพ กองกำลังติดอาวุธและศาลเตี้ยแบ่งแยกไปตามภูมิภาค  ระหว่างสงครามประกาศเอกราช กองกำลังติดอาวุธบางส่วนเป็นฝ่ายซ้ายหรือเป็นอิสระทางการเมือง  บางส่วนได้รับการสนับสนุนและฝึกอบรมจากกองทัพญี่ปุ่น เรียนรู้ยุทธวิธีป่าเถื่อนและปฏิบัติการแบบโหดเหี้ยมอำมหิต ซึ่งปรากฏเด่นชัดในความรุนแรงปี 1965-66  แต่เรื่องทั้งหมดมิได้มีแค่นี้

มีความแตกต่างมากมายระหว่างนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับเอกราชฝังรากอยู่ในระบบผู้นำแบบปิตาธิปไตยและความเป็นพลเมืองที่ยึดโยงกันผ่านชุมชนชาติพันธุ์และศาสนา กับนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่มีเป้าหมายคือรัฐฆราวาสสมัยใหม่ที่วางพื้นฐานบนความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยยึดโยงกันผ่านพรรคการเมืองและองค์กรที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน  คนกลุ่มแรกคือฐานมวลชนของกองกำลังเฉพาะกิจติดอาวุธแบบทหารและองค์กรชุมชนจำนวนมาก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการฆ่าและการกวาดล้างเมื่อกลางทศวรรษ 1960  อย่างไรก็ตาม นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่รวมตัวกันอยู่ในพรรค PKI และองค์กรมวลชนที่เกี่ยวข้องกับพรรค รวมทั้งในกลุ่มชาตินิยมฝ่ายซ้ายอื่นๆ  ในช่วงทศวรรษ 1950 พวกเขาประสบความสำเร็จโดดเด่นในการประสานการต่อสู้ทางชนชั้นเข้ากับแนวคิดชาตินิยมสมัยใหม่ อันกอปรด้วยความเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมและมีความเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการติดอาวุธทางปัญญาให้มวลชน  ทว่าแนวทาง “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” กลับกัดกร่อนทำลายความพยายามทั้งหมดนี้  ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในปี 1965  แนวทางประชานิยมฝ่ายซ้ายของประธานาธิบดีซูการ์โน ซึ่ง PKI ให้การสนับสนุน แม้ยังรักษาแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีความยึดโยงกับพลเมืองโดยตรง  แต่ตัวกลางยึดโยงพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ พรรคการเมือง ขบวนการและการเลือกตั้งที่มีอิสระเสรีกลับถูกสกัดขวางให้หยุดชะงักงัน

ในขณะที่ผู้นำกองทัพ เช่น นายพลอับดุล ฮาริส นาซูติโอน ก็ยึดโยงกับ “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” ของซูการ์โนในแง่ของการสนับสนุนรัฐชาติสมัยใหม่  ตรงกันข้ามกับกลุ่มกบฏที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากซีไอเอและนายพลที่ฉ้อฉลอย่างซูฮาร์โต  แต่เนื่องจากพวกเขาต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหัวชนฝาและไม่มีฐานมวลชนสนับสนุน  ดังนั้น นาซูติโอนจึงหันไปจับมือกับกลุ่มนายพลที่มีจรรยาบรรณต่ำ ซึ่งมีซูฮาร์โตเป็นหัวขบวน  คนกลุ่มนี้นั่นเองที่ย้อนกลับไปหาหลักการพื้นฐานของนักสู้เพื่อเสรีภาพอนุรักษ์นิยมในช่วงทศวรรษ 1940 ซึ่งมีผู้นำแบบปิตาธิปไตยและความเป็นพลเมืองยึดโยงกันผ่านชุมชนชาติพันธุ์และศาสนา อันเป็นแกนหลักสำคัญของระบอบการปกครองอาณานิคมทางอ้อมของดัทช์

President Suharto with full military uniform in 1997.

Van Klinken’s (2018) ให้กรอบการมองเชิงประวัติศาสตร์สำหรับการวิเคราะห์การแกว่งไปมาระหว่างจุดยืนแบบรัฐชาติสมัยใหม่สายกลางกับจุดยืนแบบอนุรักษ์นิยมที่วางพื้นฐานบนแนวคิดการปกครองทางอ้อม  เขาอาศัยการสังเกตความคล้ายคลึงกันกับวิวาทะในสมัยทศวรรษ 1920 ระหว่างข้าราชการอาวุโสในระบอบอาณานิคมดัทช์  การวิวาทะนั้นเกี่ยวข้องกับลักษณะของรัฐและวิธีการปกครอง  ในทศวรรษ 1920 ฝ่ายหัวสมัยใหม่ของดัทช์ต้องการกำกับการปกครองผ่านรัฐชาติสมัยใหม่  ถึงแม้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็แผ้วถางเบิกทางให้ความเป็นพลเมืองของปัจเจกบุคคล ซึ่งสะท้อนรับกับข้อเสนอของกลุ่มผู้สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยแบบชี้นำในยุคทศวรรษ 1960  ทั้งฝ่ายหัวสมัยใหม่ของดัทช์และกลุ่มสนับสนุนประชานิยมฝ่ายซ้ายของแนวทางประชาธิปไตยแบบชี้นำต้องพ่ายแพ้แก่กลุ่มที่เลือกการปกครองทางอ้อม ความหมายกว้างๆ ของแนวทางแบบหลังนี้ก็คือ การหนุนเสริมระบอบเผด็จการรวมศูนย์ด้วยการส่งเสริมให้ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น รวมทั้งชุมชนชาติพันธุ์ ศาสนาและชุมชนท้องถิ่น มีสถานะเป็นผู้ควบคุมดูแลราษฎรใต้อาณัติและเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐ  ระบอบอาณานิคมค้นพบมาก่อนแล้วว่า การปกครองทางอ้อมแบบนี้เป็นรูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับสกัดขัดขวางขบวนการชาตินิยมสมัยใหม่ที่กำลังก่อตัว  กองทัพอินโดนีเซียค้นพบในเวลาต่อมาว่าการปกครองทางอ้อมแบบเดียวกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการกำจัดนักชาตินิยมฝ่ายซ้ายสมัยใหม่ กลุ่มคอมมิวนิสต์ ตลอดจนเพื่อนฝูงญาติพี่น้องที่มีความคิดคล้ายกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การสังหารหมู่เมื่อกลางทศวรรษ 1960 คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาศัยรูปแบบการบริหารจัดการแบบอาณานิคม ซึ่งวางพื้นฐานบนระบอบเผด็จการรวมศูนย์และการปกครองทางอ้อม

คำถามประการที่สามที่ค้างคาอยู่ก็คือ คำอธิบายว่าทำไมมิติของฝ่ายซ้ายใหม่จึงขาดหายไปในการเมืองอินโดนีเซีย  โรบินสันเน้นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและการพยายามทลายความเงียบงันเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมเมื่อกลางทศวรรษ 1960  อันที่จริง ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอินโดนีเซียก็คือการฝืนปฏิเสธประวัติศาสตร์  แต่การเน้นประเด็นสิทธิมนุษยชนไม่ช่วยเราในการหาเหตุผลว่าทำไมจึงไม่มีมิติของฝ่ายซ้ายใหม่ปรากฏให้เห็น  มิติดังกล่าวปรากฏขึ้นในบริบทอื่น ทั้งๆ ที่มีการกดขี่ปราบปรามอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ เช่น ในสเปนยุคนายพลฟรังโกและในหลายประเทศของภูมิภาคละตินอเมริกา  แต่กลับไม่ปรากฏในอินโดนีเซีย เพราะอะไร?

มันอาจมีประโยชน์หากรื้อฟื้นขึ้นมากล่าวอีกครั้งว่า แนวทางประชาธิปไตยแบบชี้นำเบียดขับและเป็นอุปสรรคทำให้การผสมผสานการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้นของมวลชนกับความเป็นพลเมืองในชาติประชาธิปไตยไม่อาจประสบความสำเร็จเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการปกครองทางอ้อม  นี่คือปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งเบื้องหลังความพินาศทั้งปวง  ฝ่ายก้าวหน้าไม่สามารถอาศัยแนวคิดเกี่ยวกับพลเมืองที่มีบทบาทและระบอบประชาธิปไตยมาสนับสนุนตน  ในขณะที่ตัวกระทำที่มีอิทธิพลอำนาจก็หันไปหาแบบแผนของการปกครองทางอ้อมสมัยอาณานิคมมาใช้กวาดล้างและปราบปรามฝ่ายซ้าย  ในกาลต่อมาเมื่อซูฮาร์โตสนับสนุนให้ทุนครองอำนาจและสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ยุค “ระเบียบใหม่” ด้วยการหันเหจากการปกครองทางอ้อมที่มีทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการกดขี่ปราบปราม แล้วกลับลำหันไปหาระบอบรวมศูนย์แบบสมัยใหม่แทน โดยสลัดทิ้งผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นและชุมชนศาสนากับชาติพันธุ์อย่างไม่ไยดี  ประชาชนธรรมดาสามัญจึงถูก “ลอยแพ” โดยไม่มีตัวกลางระหว่างรัฐกับสังคมให้ยึดโยง นอกเหนือจากระบบรัฐบรรษัทนิยมและชุมชนศาสนาที่เชื่องเชื่อ

เพื่อตอบโต้ระบบนี้ ฝ่ายต่อต้านหันไปหาการเมืองมากขึ้น มุ่งมั่นแก้ไขให้ระบบทุนนิยมที่มีรัฐคอยอำนวยความสะดวกของซูฮาร์โตมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม  แต่มวลชนกลับไม่ออกมาสนับสนุนดังที่คาดหวัง  เห็นได้ชัดว่า การต่อสู้ปลดแอกเพื่อเอกราชและความเป็นพลเมืองที่มีบทบาทในระบอบประชาธิปไตยแบบดั้งเดิม ซึ่งสูญหายไปตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 เป็นสิ่งที่ต้องทวงคืนกลับมาให้ได้  แม้แต่คู่ปรปักษ์เก่าแก่ในวงการนักเขียนอย่างกูนาวาน โมฮามัด 3 และยูซุฟ อีซัก ไปจนถึงปรามูเดีย อนันตา ตูร์ ต่างพูดถึงประเด็นนี้เป็นเสียงเดียวกัน  รวมทั้งการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับและร่วมกับขบวนการประชาธิปไตย ทั้งในแง่ของการพัฒนาประชาธิปไตย ความเป็นพลเมือง ประชานิยมและการเมืองอัตลักษณ์ ส่วนใหญ่ก็มีเป้าหมายคล้ายๆ กันนี้ในใจ  ทว่าความพยายามทั้งหมดยังตั้งมั่นไม่ได้มากพอ  โดยเฉพาะในสภาพการณ์ทุกวันนี้ที่ลัทธิประชานิยมฝ่ายขวากำลังหวนกลับมาพร้อมกับปลุกผีการปกครองทางอ้อมขึ้นอีกครั้ง

Olle Törnquist
Professor, Department of Political Science, University of Oslo

Banner photo: luiginter / flickr

บรรณานุกรม

Anderson, B. and R. McVey. 1971. A Preliminary Analysis of the October 1, 1965 “Coup” in Indonesia. Ithaca: Cornell Modern Indonesia Project.
Crouch, H. 1978. The Army and Politics in Indonesia. Ithaca: Cornell University Press.
Mortimer, R. 1974. Indonesian Communism under Sukarno. Ideology and Politics 1959-1965. Ithaca: Cornell University Press.
Robinson, G. 2018. The Killing Season: A History of the Indonesian Massacres, 1965-66, Princeton: Princeton University Press.
Roosa, J. 2006. Pretext for Mass Murder: The September 30th Movement and Suharto’s Coup d’Etat in Indonesia. Madison: University of Wisconsin Press.
Törnquist, O. 1984. Dilemmas of Third World Communism. The Destruction of the PKI in Indonesia. London: Zed.
Törnquist, O. 2019. “The Legacies of the Indonesian Counter-Revolution: New Insights and Remaining Issues”, Journal of Contemporary Asia, forthcoming.
van Klinken G. 2018. “Citizenship and Local Practices of Rule.” Journal of Citizenship Studies 22 (2): 112-128.
van Klinken G. 2019. “Anti-communist Violence in Indonesia, 1965-66.” In The Cambridge World History of Violence, Volume 4 AD 1800-AD 2000, in press, edited by P. Dwyer. Cambridge: Cambridge University Press

Notes:

  1. 30 September Movement ขบวนการที่มีทหารในกองทัพอินโดนีเซียเป็นสมาชิกและพยายามทำรัฐประหารในวันที่ 1 ตุลาคม 1965  ในเช้าวันนั้น ขบวนการนี้สังหารนายพลอินโดนีเซียไป 6 คน  เมื่อการรัฐประหารไม่ประสบความสำเร็จ กองทัพ กลุ่มการเมืองและกลุ่มศาสนา ต่างกล่าวโทษว่า PKI อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้  กลายเป็นชนวนให้เกิดการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียและนำไปสู่การขึ้นครองอำนาจของซูฮาร์โต
  2. Indonesia–Malaysia confrontation  การปะทะกันระดับสงครามย่อยๆ ในปี 1963-1966 สืบเนื่องจากการที่อินโดนีเซียต่อต้านการก่อตั้งสหพันธรัฐมาเลเซีย  การปะทะกันส่วนใหญ่อยู่ตรงพรมแดนบนเกาะบอร์เนียว (หรือที่อินโดนีเซียเรียกว่าเกาะกาลิมันตัน)  ความขัดแย้งนี้ทำให้อินโดนีเซียปะทะกับกองทหารอังกฤษด้วย  การเผชิญหน้ากันค่อยๆ ลดระดับลงหลังเกิดเหตุการณ์ที่สืบเนื่องจากขบวนการ 30 กันยายนและซูฮาร์โตขึ้นสู่อำนาจ กระทั่งอินโดนีเซียรับรองประเทศมาเลเซียในปี 1966
  3. Goenawan Mohamad (1941 -) กวี นักเขียนและบรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสาร Tempo  เขาเป็นปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอินโดนีเซียมาตลอดจนนิตยสารถูกสั่งปิดหลายครั้งในสมัยซูฮาร์โต