ความเป็นจริงทางการเมืองในเวียดนามทุกวันนี้เป็นผลลัพธ์จากการปะทะกันของมหาอำนาจผ่านตัวแทนที่เป็นผู้นำในฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี….[มัน]เป็นการปะทะกันที่ส่งผลลัพธ์ร้ายแรงมาก
(Dr Nguyễn Đan Quế, interview, August 11, 2015)
สี่สิบปีผ่านไปหลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ดร.เกว๋ นักกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเวียดนามยุคปัจจุบัน นำเสนอทัศนะเกี่ยวกับความเป็นไปของลัทธิอำนาจนิยมและฝ่ายต่อต้านในประเทศของตน เขาเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 ก่อนที่จะมีการรวมเวียดนามเป็นประเทศเดียว ในสมัยนั้น ดร.เกว๋กับปัญญาชนคนอื่นๆ ได้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์สภาพของการกักขังหน่วงเหนี่ยวในสาธารณรัฐเวียดนาม (ใต้) นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหลายคนในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมมาตั้งแต่ก่อนการรวมประเทศ หรือมองว่าตัวเองสืบทอดสานต่อกลุ่มและขบวนการในยุคก่อนที่เคยจัดตั้งต่อต้านเผด็จการในเวียดนามใต้
เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลกอาณานิคม เวียดนามก็ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ การต่อสู้นี้ผสมปนเปและไหลเลื่อนจนแทบกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความขัดแย้งในสงครามเย็นโดยมีความเกี่ยวเนื่องพัวพันระหว่างประเทศเป็นปัจจัยชี้ขาด ในเวียดนามก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย การสังหารหมู่ การกดขี่ปราบปรามทางการเมืองและความป่าเถื่อนโหดร้ายเกิดขึ้นในระดับที่แทบจินตนาการไม่ถึง ตั้งแต่ปี 1955-75 มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสามล้านคน กว่าสองล้านคนเป็นพลเรือน (Bellamy 2018) มหาอำนาจสองค่ายในสงครามเย็นและรัฐบาลในแต่ละประเทศอาศัยทั้งอาวุธทางทฤษฎีสังคมศาสตร์ อุดมการณ์ เงินและปืน ร่วมกันปรับแต่งโฉมหน้าของเผด็จการที่อุบัติขึ้นมาทั้งสองฟาก ทิ้งมรดกทางการเมืองไว้ให้คนรุ่นหลังอีกหลายชั่วรุ่น การเข้ามาพัวพันโดยตรงของสหรัฐอเมริกากับพันธมิตรในฟากหนึ่งกับค่ายโซเวียตและจีนในอีกฟากหนึ่ง เป็นปัจจัยสำคัญในการปั้นแต่งให้เกิดระบอบการเมืองแบบกีดกันที่ไม่จำเป็นต้องแสวงหาเสียงสนับสนุนจากพลเมือง แต่ได้รับการคุ้มครองและสนับสนุนทางการเงินและปฏิบัติการจำนวนมากจากนอกประเทศ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ดำเนินการกวาดล้างทางการเมืองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามที่อาจโอนเอียงไปเข้าข้างฟากใดฟากหนึ่งของการแบ่งแยกเชิงอุดมการณ์ในตอนนั้น ทั้งสองฟากต่างก็ให้การช่วยเหลือเพื่อก่อตั้งและสร้างความทันสมัยแก่สถาบันที่ใช้ข่มขู่บังคับเพื่อควบคุมการเมืองภายในประเทศ ปฏิบัติการทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการจำกัดพื้นที่ทางการเมืองอย่างรุนแรงต่อตัวกระทำทางการเมืองทุกประเภท ซึ่งรวมทั้งกลุ่มประชาสังคม องค์กรและขบวนการต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นในสมัยนั้นและเริ่มเรียกร้องสิทธิทางการเมืองกับสิทธิพลเมือง
งานเขียนด้านสังคมศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ระบอบอำนาจนิยมและพัฒนาการของระบอบการปกครองมักมีข้อเสียประการหนึ่ง กล่าวคือการมีอคติโน้มเอียงในการอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างจากปัจจัยภายในประเทศ นับตั้งแต่ความยืดหยุ่นเข้มแข็งของระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมจนถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ตัวกระทำจากต่างประเทศมีบทบาทพัวพันโดยตรงอย่างใหญ่หลวงในการออกแบบระบอบเผด็จการ แล้วจากนั้นก็ปกป้องคุ้มครองระบอบเผด็จการจากพลเมืองที่ไม่ให้การสนับสนุน นักวิชาการที่สนใจผลกระทบระหว่างประเทศมักมองเห็นความเชื่อมโยงกับตะวันตกและอิทธิพลตะวันตกว่ามีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย แต่กลับมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับระบอบอำนาจนิยมยุคหลังสงครามเย็น (อาทิ Levitsky and Way 2002; 2010) ในเวียดนาม สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรมีทั้งความเชื่อมโยงและอิทธิพล แต่เห็นได้ชัดว่าใช้ไปเพื่อค้ำจุนรัฐบาลต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ไว้ใจได้ในสาธารณรัฐเวียดนาม (ใต้) เวียดนามเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ามรดกทางการเมืองจากสงครามเย็นเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ซึ่งรวมถึงการบิดเบือนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับภาคประชาสังคมจนเอียงกะเท่เร่โหดร้าย สร้างความทุกข์ยากลำบากแก่พลเมืองและกลุ่มต่างๆ ที่เรียกร้องสิทธิทางการเมืองและระบบการมีตัวแทน สถาบันข่มขู่บังคับที่มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองระบอบการเมืองและรัฐบาลจากพลเมืองของตัวเองได้รับผลประโยชน์จากการสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นของตัวกระทำต่างประเทศ แต่ดังที่ ดร.เกว๋กล่าวไว้ข้างต้น ระบอบเผด็จการที่ได้รับการหนุนหลังจากต่างประเทศก็เป็นบ่อเกิดให้ฝ่ายค้านของตนถือกำเนิดขึ้นเช่นกัน
การแบ่งแยกประเทศเวียดนาม การกวาดล้างทางการเมืองและการข่มขู่บังคับ
หลังจากกองกำลังคอมมิวนิสต์ประกาศชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋งในปี 1949 และเหมาเจ๋อตงประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกาก็ส่งคณะสำรวจมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าหน้าที่ซีไอเอที่มีประสบการณ์ในด้านเทคนิค “การปราบปรามการก่อกบฏ” จากพื้นที่อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกดึงตัวเข้ามาทันทีที่ตีตราแล้วว่าเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็นระดับโลกและเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์สากล ข้อตกลงเจนีวาที่ยุติสงครามอินโดจีนครั้งแรกในอีกหกปีต่อมาแบ่งแยกดินแดนที่ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามออกเป็น “เขตจัดแบ่งใหม่” ชั่วคราวสองเขตโดยแบ่งที่เส้นขนานที่ 17 มันเป็นการใช้ความแตกต่างทางอุดมการณ์มาแบ่งเขตทางภูมิศาสตร์ ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายก็ยึดเส้นแบ่งนั้นเป็นพรมแดนของรัฐ (Devillers 1962) รัฐบาลของทั้งสองฟากพรมแดนไม่ได้มีอำนาจควบคุมอาณาเขตของตัวเองจริงๆ แต่ทั้งสองต่างมองว่าตัวเองเปรียบเสมือนเกาะเล็กๆ ในหมู่เกาะใหญ่ที่มีกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ช่วงชิงกัน ซึ่งตนต้องหาทางควบคุมให้ได้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง
ข้อตกลงเจนีวาสัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งระดับชาติ แต่ไม่เคยมีการปฏิบัติจริง ทั้งนี้เพราะทั้งสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโงดิ่ญเสี่ยมที่สหรัฐฯ หนุนหลังให้ครองอำนาจต่างก็ไม่คิดว่าตัวเองจะชนะการเลือกตั้ง ในวันที่ 4 มีนาคม 1956 มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาสำหรับสาธารณรัฐเวียดนาม (ใต้ ) ด้วยความช่วยเหลือของซีไอเอ จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญให้ “อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด” แก่โงดิ่ญเสี่ยม (Boot 2018)
ในขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เหนือ) แสวงหาการสนับสนุนและแรงบันดาลใจจากสหภาพโซเวียตและจีน ส่วนสหรัฐอเมริกาก็อาศัยซีไอเอกับองค์กรอื่นๆ และมีส่วนอย่างมากในการปลุกปั้นรัฐบาลเผด็จการในเวียดนามใต้ (Boot 2018; Chapman 2013) เนื่องจากไม่มีอำนาจควบคุมเหนืออาณาเขตหรือมีฐานเสียงประชาชนสนับสนุนมากพอจนน่าวางใจ รัฐบาลทั้งเหนือใต้และพันธมิตรนอกประเทศจึงริเริ่มโครงการแข็งกร้าวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ความพยายามที่จะชำระล้างทางการเมืองทั้งสองฟากเส้นขนานที่ 17 นำไปสู่การสังหารหมู่ทางการเมืองอย่างแท้จริง
ในเวียดนามใต้ คู่ขนานไปกับสงครามตามแบบแผนดั้งเดิม ซีไอเอริเริ่มโครงการ Phượng hoàng หรือโครงการฟินิกซ์ในปี 1967 (CIA 1975) ปฏิบัติการนี้ทวีความสำคัญมากขึ้นและเป็นศูนย์รวมโครงการต่างๆ ในการปราบปรามการก่อกบฏ โดยมุ่งหมายที่จะสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาล สกัดยับยั้งและเอาชนะศัตรู ปฏิบัติการนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการของฝ่ายสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 เป็นอย่างน้อย แม้จะมีขนาดเล็กกว่าก็ตาม (ตัวอย่างเช่น CIA 1963) กลุ่มที่เป็นเป้าหมายคือพลเรือนที่อาจเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายสนับสนุนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ รวมทั้งกลุ่มพลเรือนที่คัดค้านระบอบเผด็จการในเวียดนามใต้ รวมทั้งองค์กรอื่นๆ เช่น สหภาพแรงงาน ที่อาจมีสมาชิกที่เข้าข้างฝ่ายคอมมิวนิสต์ (Wherle 2005) ผู้ปฏิบัติการภัยสยองของโครงการฟินิกซ์คือซีไอเอ กองกำลังพิเศษจากกองทัพอเมริกัน ทหารจากประเทศพันธมิตรในเอเชีย รวมทั้งกองทัพเวียดนามใต้ภายใต้การกำกับของซีไอเอ วิลเลียม โคลบี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการตั้งแต่ปี 1968-71 ให้การต่อคณะอนุกรรมการรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า ในช่วงเวลาสามปีนั้น มีประชาชนถูกตามล่าและสังหารทิ้งถึง 20,589 ราย (Ward 1972) เชลยฝ่ายศัตรูจะถูกสอบสวนและทรมานในศูนย์สอบปากคำที่ตั้งไว้ในหลายจังหวัดของเวียดนามใต้ เหยื่อรายอื่นถูกฆ่าตายทันทีโดยไม่มีกระบวนการสอบสวนที่เหมาะสม ทั้งนี้เป็นไปตามรายชื่อที่ซีไอเอให้ไว้และมีการรายงานกลับไปที่ศูนย์บัญชาการในสหรัฐอเมริกาตามหน้าที่ โครงการฟินิกซ์มีเป้าหมายที่จะควบคุมพลเมืองด้วยภัยสยอง คนจำนวนมากที่ถูกฆ่าตายไม่มีความเชื่อมโยงกับลัทธิคอมมิวนิสต์เลย แต่ภัยสยองนี้ก็ทำลายปากเสียงของผู้มีความคิดสายกลาง จุดชนวนให้เกิดฝ่ายต่อต้านทางการเมืองที่ไม่พอใจรัฐบาลเผด็จการเวียดนามใต้ ความทรงจำของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับการต่อสู้ครั้งนั้นยังส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยของตัวกระทำทางสังคมและการเมืองจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังเหนี่ยวนำให้ขบวนการประท้วงและนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยพุ่งเป้ามาที่เวียดนามใต้อย่างรุนแรง
ความมั่นคงของระบอบการปกครอง อุดมการณ์และมรดกจากสงครามเย็น
ในฝ่ายผู้ชนะนั้น สงครามเย็นทิ้งมรดกเชิงสถาบันที่ยังคงอยู่ไว้ในพัฒนาการของ “หน่วยงานความมั่นคงสาธารณะของประชาชน” (Bộ Công an) ที่ทรงอำนาจทางการเมืองอย่างยิ่ง ภารกิจของหน่วยงานนี้คือ “ต่อสู้กับองค์กรที่เป็นปฏิปักษ์และต่อต้านการปฏิวัติ รักษาระเบียบสังคมและความมั่นคง คุ้มครองพรรค รัฐบาลปฏิวัติและประชาชน” (Ministry of Public Security 2018) โดยรับต้นแบบจากหน่วยงานแบบเดียวกันในโซเวียตและจีน หน่วยงานความมั่นคงสาธารณะของประชาชนได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันในปี 1953 เมื่อมีการตั้งกระทรวงความมั่นคงสาธารณะอย่างเป็นทางการ (Goscha 2007) กระทรวงยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้ ทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งตำรวจ หน่วยข่าวกรองภายในประเทศและงานด้านความมั่นคง
เรื่องที่ไม่ค่อยทราบกันทั่วไปนักก็คือ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างกระทรวงความมั่นคงของรัฐ (Stasi) ของเยอรมนีตะวันออกกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนาม โดยเฉพาะในช่วงกลางทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ท่ามกลางแรงขับเคลื่อนในเวียดนามที่จะสร้างความเป็นปึกแผ่นให้พรรค-รัฐและกวาดล้างกลุ่มต่างๆ ที่ “เป็นภัย” (Grossheim 2014) ในปี 1961 กระทรวงความมั่นคงสาธารณะได้รับมอบหมาย “อำนาจหน้าที่ที่ครอบคลุมกว้างขวางในการกำกับดูแลความมั่นคงภายในของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามและการจัดการต่อผู้ต้องสงสัยทุกรายที่เป็นปฏิปักษ์การปฏิวัติ” (ibid.) การร่วมมือของเวียดนามกับ Stasi ยาวนานถึง 25 ปี จวบจนกระทั่งสำนักงาน Stasi ในกรุงฮานอยปิดตัวลงในปี 1989 ก่อนกำแพงเบอร์ลินพังทลายเพียงไม่นาน Stasi ช่วยเหลือเวียดนามสร้างความทันสมัยให้กลไกความมั่นคงและกลายเป็น “เครื่องมือของเผด็จการ” ที่จงรักภักดีต่อพรรค Stasi ช่วยจัดหาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เช่น เครื่องดักฟังและเครื่องดักฟังโทรศัพท์ แนะนำวิธีการสร้างเครือข่ายผู้ให้ข้อมูลลับ ชี้แนะวิธีการครอบงำสื่อมวลชนและการต่อสู้กับ “ความเบี่ยงเบนทางการเมือง-อุดมการณ์” ในหมู่คนทำงานด้านวัฒนธรรม นักศึกษาและแพทย์ การลงโทษและกดขี่ปราบปรามอิทธิพลของศัตรูและกลุ่มที่แข็งข้อ สอนวิธีการแทรกซึมเข้าไปในสถาบันการศึกษาและแวดวงบันเทิง ฯลฯ (East German State Security 1977; 1989)
กฎหมายตำรวจฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในปี 2018 ยืนยันกว่ากรมตำรวจของประชาชนยังคงอยู่ภายใต้การชี้นำอย่างเด็ดขาดของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามโดยตรง ตำรวจได้รับมอบหมายหน้าที่กว้างๆ ในการต่อสู้กับ “อาชญากรรมทางการเมือง” ปกป้องพรรค สร้างหลักประกันให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองและความมั่นคงในด้านอุดมการณ์ วัฒนธรรม การศึกษาและเศรษฐกิจ กรมตำรวจต้องยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพรรคอย่างเคร่งครัด กฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในหลายฉบับที่ประกาศใช้เมื่อไม่นานนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นพันธนาการที่ยังตัดไม่ขาดจากสงครามเย็น นั่นคือ การมองพลเมืองเป็นสองขั้ว ถ้าไม่เป็นมิตรก็ต้องเป็นศัตรู และสานต่อเป้าหมายสูงสุดในการปกป้องพรรคที่ดำรงอำนาจและระบอบการเมืองจากตัวกระทำใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์การปฏิวัติ
ก่อนหน้านี้มีงานวิชาการที่ประเมินและตรวจสอบศักยภาพของรัฐเวียดนามในการรักษาความมั่นคงแบบกดขี่หลังจากนำนโยบายเศรษฐกิจโด๋ยเม้ยมาใช้ (Đổi Mới: นโยบายเศรษฐกิจแบบเน้นตลาดเสรี แต่ใช้ระบบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์) ซึ่งรวมถึงการจับกุม “ผู้เห็นต่าง” และการลงโทษจำคุกยาวนานที่หยิบยื่นให้แก่ “อาชญากรรมทางการเมือง” (Kerkvliet 2014) รวมทั้งการวางโครงสร้างเชิงสถาบันของเวียดนามด้วย (Thayer 2014) Carlyle Thayer ประเมินว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงของเวียดนามมีการจ้างงานถึง 6.7 ล้านคน ซึ่งรวมถึงตำรวจในเครื่องแบบและกลุ่มที่เรียกว่า “กองกำลังป้องกันตัวเอง” (Thayer 2017) นักวิเคราะห์คนอื่นๆ ตั้งคำถามต่อตัวเลขนี้ ถ้าตัวเลขนี้ถูกต้อง มันจะมีจำนวนมากกว่าบุคลากรที่เคยขึ้นตรงต่อ Stasi ของเยอรมนีตะวันออกเสียอีก จะถูกหรือผิดก็ตาม มันเป็นหน่วยงานที่ใหญ่โตมโหฬารมาก
บทสรุป
มรดกทางการเมืองจากสงครามเย็นที่ยังตกค้างในเวียดนามทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ซับซ้อน วิธีคิดแบบสองขั้วจากยุคสงครามเย็นยังคงเห็นได้ชัดในเอกสารและข้อบังคับของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเรียกผู้คัดค้านด้วยสันติวิธีว่า “กลุ่มพลังปฏิกิริยา” และตั้งข้อสงสัยว่าได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มพลังต่างชาติ มรดกตกทอดโดยตรงยิ่งกว่านั้นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ในเดือนมกราคม 2018 กรมตำรวจของประชาชนเฉลิมฉลองการตั้งอนุสาวรีย์ในกรุงฮานอยที่อุทิศแด่เฟลิกซ์ เจียร์ซินสกี ผู้ก่อตั้ง Cheka หรือองค์กรตำรวจลับโซเวียต ซึ่งเป็นหน่วยงานบรรพบุรุษของเคจีบี ก่อนหน้าและพร้อมกับงานฉลองนี้ มีการเผยแพร่บทความสรรเสริญตีพิมพ์ลงในวารสารของกรมตำรวจและวารสารอื่นๆ ของพรรค-รัฐ ในภาพกว้างกว่านั้น มรดกของสงครามเย็นเห็นได้ชัดทั้งในอุดมการณ์และสถาบันที่คอยปกป้องคุ้มครองระบอบการเมืองอำนาจนิยมและพรรคที่ครองอำนาจ รวมทั้งจำกัดพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นปากเป็นเสียงในเวียดนามยุคปัจจุบัน แต่สงครามเย็นยังทิ้งร่องรอยอื่นๆ ไว้ในภาคประชาสังคม เห็นได้ชัดจากลักษณะที่องค์กรและขบวนการด้านสิทธิและความยุติธรรมหลายองค์กร รวมทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ยังวางตำแหน่
Eva Hansson
Department of Political Science, Stockholm University
Banner: Hanoi, Vietnam – Communist troops marching. February 2014. Photo: Arne Beruldsen / Shutterstock.com
บรรณานุกรม
Bellamy, Alex J. 2017. East Asia’s Other Miracle: Explaining the Decline of Mass Atrocities, Oxford: Oxford University Press, pp. 1-14.
Chapman, Jessica H. 2013. Cauldron of Resistance: Ngo Dinh Diem, the United States and 1950s Southern Vietnam, Ithaca and London: Cornell University Press.
CIA. 1963. “CAS Station Covert Action Activity in South Vietnam” 8 May 1963, (declassified 1998/04/03).
CIA. 1975. “Memorandum: Briefings to Congress on the Phoenix Program”, 14 October (declassified 2004/09/23)
Devillers, Phillippe. 1962. “The Struggle for the Unification of Vietnam”, The China Quarterly, Vol. 9, pp. 2-23.
East German Ministry of State Security.1989. “Letter form Liaison Office of the Ministry of State Security at the Ministry of Interior of the Socialist Republic of Vietnam to the Ministry of State Security”, January 28, CWIHP.
East German Ministry of State Security.1977. “Consultation between a Delegation of the Ministry of the Socialist Republic of Vietnam and Representatives of the XVIII and XX Divisions of the Ministry of State Security, 18 October, 1977 to 7 November 1977”, November 8, CWIHP.
Goscha, Christopher G. 2007. “Intelligence in a time of decolonization: The case of the Democratic Republic of Vietnam at war (1945-50)”” Intelligence and National Security, 22:1, pp. 100-138.
Grossheim, Martin. 2014. “Fraternal Support: The East German ‘Stasi’ and the Democratic Republic of Vietnam during the Vietnam War”, Cold War International History Project, CWHP, #71.
Kerkvliet, Benedict (2014). “Government repression of dissidents in contemporary Vietnam”, in (ed.) Jonathan London, Politics in Contemporary Vietnam: Party, State and Authority Relations, Basingstoke and New York: Palgrave Macmillan, pp. 100-134.
Levitsky, Steven, and Lucan Way. 2002. “The rise of competitive authoritarianism”. Journal of Democracy, Vol. 13, No. 3, pp. 51-64.
Thayer, Carlyle. 2014. “The Apparatus of Authoritarian Rule in Viet Nam”, in (ed.) J.London, Politics in Contemporary Vietnam: Party, State, and Authority Relations. London: Palgrave Macmillan, pp. 135-161.
—– .2017. “Vietnam: How Large is the Security Establishment?” Thayer Consultancy Background Brief, April 2, http://viet-studies.net/kinhte/Thayer_VNSecuritySize.pdf
Ward, Richard E. 1972. “Phoenix program under House inquiry”, National Guardian, 10 October.
Wehrle, Edmund F. 2005. Between a River & a Montain: The AFL-CIO and the Vietnam War, Ann Arbor: The University of Michigan Press.