ทั้งข้อมูลจากการสำรวจและผู้สันทัดกรณีต่างชี้ว่าการได้จำนวนที่นั่งมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญของฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในสิงคโปร์ (2011) และมาเลเซีย (2013) มีสาเหตุรากฐานมาจากด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความกลัวว่าโอกาสทางเศรษฐกิจจะลดลง รวมทั้งการตระหนักรับรู้ถึงช่องว่างที่ถ่างกว้างมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่มั่งคั่งล้นเหลือกับกลุ่มคนที่ขัดสนไม่เพียงพอ ถึงแม้ผลการเลือกตั้งในทั้งสองประเทศสะท้อนถึงความวิตกด้านเศรษฐกิจ แต่ก็เห็นชัดด้วยว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มข้นนอกเหนือการเลือกตั้งกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกันและอาจสั่นคลอนเสถียรภาพของระบอบการปกครอง
มาเลเซียและสิงคโปร์เป็นตัวอย่างของระบอบการปกครอง “แบบลูกผสม” ที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปสองรูปแบบ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือรูปแบบการปกครองที่ผสมผสานคุณลักษณะของระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมกับไม่ใช่เสรีนิยมเข้าด้วยกัน กล่าวคือ ระบอบอำนาจนิยมแบบมีการแข่งขันและระบอบอำนาจนิยมแบบมีการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองเดียวครองความเป็นใหญ่ตามลำดับ ในทั้งสองประเทศ พรรคการเมืองเดียวหรือแนวร่วมพรรคการเมืองเดิมครองอำนาจมาตั้งแต่ได้รับเอกราช โดยชนะการเลือกตั้งทุกครั้งด้วยปัจจัยผสมผสานของความชอบธรรมที่น่าเชื่อถือ (ส่วนใหญ่แล้วพิจารณาจากประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ) การให้สิ่งจูงใจแก่กลุ่มเป้าหมาย และการปรับเปลี่ยนสนามเลือกตั้งให้ตอบสนองผลประโยชน์ของตน ทว่าในระยะหลัง มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นและสั่นคลอนดุลยภาพ ในด้านหนึ่ง สื่อออนไลน์ใหม่ๆ นับตั้งแต่เว็บไซต์ข่าวจนถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้ขยายพื้นภูมิของวาทกรรมทางการเมืองออกไป เปิดพื้นที่การเมืองใหม่ๆ ที่รัฐเข้าไปแทรกแซงได้ยากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบภายนอกที่เกิดจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบชี้นำ ทั้งความไม่เท่าเทียมทางรายได้และความมั่งคั่งที่เพิ่มมากขึ้น การอพยพเข้าออกเนื่องจากการจ้างงาน โครงข่ายรองรับทางสังคมที่ค่อยๆ ถูกลิดรอนอย่างระมัดระวัง ทั้งหมดนี้เป็นมูลเหตุมากพอให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามเวทีใหม่ ๆ ดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศไม่พยายามที่จะชะลอจังหวะของ “การพัฒนา” ทั้งไม่ยอมอ่อนข้อในสนามการเมืองเมื่อต้องเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาใหม่และกรอบคิดที่เป็นทางเลือกอื่น พวกเขาจึงต้องเผชิญกับการท้าทายอย่างไม่เคยพบเจอมาก่อนนับตั้งแต่กลุ่มชนชั้นนำที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันสามารถรวบรวมอำนาจเป็นปึกแผ่นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ในกรณีของสิงคโปร์คือพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party–PAP) ส่วนในมาเลเซียคือพันธมิตรแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional—BN หรือ National Front) ภายใต้การนำของพรรคอัมโน (United Malays National Organisation–UMNO) 1
หลักฐานของความไม่เท่าเทียม
ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียมีดัชนีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทีละน้อย การถกเถียงเกี่ยวกับแนวโน้มดังกล่าวก็เพิ่มมากขึ้น—และร้อนแรงมากขึ้น—มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นอย่างน้อย แม้แต่นายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ยอมรับในรัฐสภาเมื่อ ค.ศ. 2011 ว่า “ความไม่เท่าเทียมของรายได้เลวร้ายกว่าเมื่อก่อน….ลูกหลานของกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จก็ยิ่งประสบความสำเร็จ ส่วนลูกหลานของคนที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าก็ยิ่งประสบความสำเร็จน้อยลง” ทำให้ครอบครัว “ท้อแท้ วิตกกังวล กลุ้มอกกลุ้มใจกับตัวเอง” (Lee 2011) กระนั้นก็ตาม ผู้นำรัฐบาลในทั้งสองประเทศก็ปล่อยให้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ดำเนินต่อไปเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาเห็นความสำคัญของเงื่อนไขการแข่งขันมากกว่า กล่าวคือ การสร้างและส่งเสริมกำลังแรงงานที่มีการศึกษาและสมรรถภาพสูงให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันก็สร้างหลักประกันว่าจะมีมวลชนแรงงานเพียงพอต่องานก่อสร้าง เกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ การผลิตและตำแหน่งงานอื่น ๆ ที่อาศัยแรงงานฝีมือต่ำและค่าจ้างต่ำ ผลพวงส่วนหนึ่งของแนวทางนี้นำไปสู่การยอมรับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่ประชาชน อีกส่วนหนึ่งหมายถึงการอ้าแขนรับแรงงานอพยพมากขึ้น ถึงแม้จะทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงจนเห็นได้ชัดก็ตาม
ถึงแม้การรับรู้ถึงความไม่เท่าเทียมอาจเกินความจริงไปบ้างก็ตาม แต่หลักฐานก็มีอยู่อย่างเด่นชัด นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา สิงคโปร์และมาเลเซียแข่งกันโดดเด่นในด้านที่ไม่น่าชื่นชมนัก นั่นคือ การมีสัมประสิทธิ์จีนีสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สัมประสิทธิ์จีนีคือดัชนีชี้วัดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สัมประสิทธิ์จีนีโดยเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD อยู่ที่ 32 ในปลายทศวรรษ 2000 ค่ามีตั้งแต่ 1 (ความเท่าเทียมโดยสมบูรณ์) ถึง 100 ถึงแม้รัฐบาลมีการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยค่อนข้างมาก แต่ดัชนีจีนีของสิงคโปร์ก็พุ่งสูงสุดถึง 46.7 ในปี 2007 และลดลงเล็กน้อยเหลือ 45.9 ในปี 2012 2 ในขณะที่ช่องว่างรายได้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นภายในกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวคือภายในกลุ่มชาวจีนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่การแบ่งชั้นระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังมีอยู่เช่นเดิม อัตราของรายได้และการศึกษาในหมู่ชาวสิงคโปร์เชื้อชาติอินเดียต่ำกว่าชาวจีนเล็กน้อย ในขณะที่พลเมืองชาติพันธุ์มลายูมีรายได้ต่อเดือนโดยเฉลี่ยเพียงแค่ร้อยละ 60 และอัตราการเรียนจบชั้นอุดมศึกษาเพียงหนึ่งส่วนหกเมื่อเทียบกับชาวจีน (Fetzer 2008, 147-8) ส่วนประเทศมาเลเซียนั้น ถึงแม้การปรับการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้นจะได้ผลบ้างจากมาตรการกระจายโอกาสให้ทั่วถึงประชากรทุกกลุ่ม (affirmative action) แต่สัมประสิทธิ์จีนีของมาเลเซียก็ยังน่าเป็นห่วงเช่นกัน กล่าวคืออยู่ที่ 46.2 3 อีกทั้งปัจเจกบุคคลในมาเลเซียอาจมีสถานะทางการเงินแย่กว่าที่มาตรวัดระดับครัวเรือนนี้บ่งชี้ด้วยซ้ำ (Lee 2013)
ในขณะเดียวกัน ค่าครองชีพก็สูงขึ้นเรื่อยๆ อัตราเงินเฟ้อเคยต่ำมาตลอดในสิงคโปร์ โดยทั่วไปคือไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 แต่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 6.5 ในปี 2008 แล้วค่อยๆ ลดลงจนเหลือประมาณร้อยละ 4.5 4 ในมาเลเซียก็เช่นเดียวกัน การสำรวจความคิดเห็นชี้ว่าค่าครองชีพคือความกังวลที่สำคัญที่สุดของผู้ออกเสียงลงคะแนนในช่วงการเลือกตั้ง 2013 ช่องว่างเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างชาติพันธุ์ค่อยๆ ลดลงมาตลอดก็จริง ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากนโยบายให้การอนุเคราะห์เป็นพิเศษเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มพลเมืองที่เรียกว่า ภูมิบุตร กล่าวคือ ชาวมลายูและชนกลุ่มน้อยชาวพื้นเมือง แต่ช่องว่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เองกลับเพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมืองได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่อย่างไม่ได้สัดส่วนกัน (Gomez, et al., 2012, 10) แม้แต่ในหมู่ ภูมิบุตร เอง การเข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือการอุปถัมภ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น การมีอภิสิทธิ์ของกลุ่มคนที่เรียกกันว่า “อัมโนบุตร” กล่าวคือกลุ่มคนที่มีเส้นสายสัมพันธ์กับพรรครัฐบาล ก็กระตุ้นให้เกิดความกังวลและการวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน
ประสบการณ์ของการรัดเข็มขัดเป็นชนวนให้เกิดความวิตกกังวล โดยเฉพาะในสิงคโปร์ ความกลัวนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความกลัวการแข่งขัน กับอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความกลัวว่าจะสูญเสียลักษณะประจำชาติ เนื่องจากรัฐบาลประกาศความตั้งใจที่จะขยายกำลังแรงงานให้พอเหมาะกับความจำเป็นของการจ้างงานด้วยการรับแรงงานต่างชาติเข้ามามากขึ้น การอพยพเข้าสู่สิงคโปร์มีจำนวนพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990 พลเมืองชาวสิงคโปร์และผู้อยู่อาศัยถาวรมีสัดส่วนร้อยละ 97 ของจำนวนประชากรในปี 1970 ร้อยละ 95 ในปี 1980 ร้อยละ 90 ในปี 1990 ร้อยละ 81 ในปี 2000 แต่ในปัจจุบันลดลงเหลือแค่ร้อยละ 72 กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ หนึ่งส่วนสี่ของประชากร 5.1 ล้านคนในสิงคโปร์ตอนนี้เป็นชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ผู้อยู่อาศัยประจำถิ่น ส่วนใหญ่มาจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
ความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรนี้กระตุ้นให้ทั้ง “Heartlanders” 5 ที่ปรกติไม่ค่อยมีปากเสียงและ “ชาวมหานคร” (cosmopolitans) ที่ได้รับการศึกษาแบบอังกฤษและมีการเคลื่อนย้ายทั้งการเลื่อนสถานะทางสังคมหรือย้ายไปต่างประเทศ (Tan 2003, 758-9) ออกมาแสดงความคิดเห็นในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่การวิวาทะออนไลน์กันอย่างเผ็ดร้อนไปจนถึงการสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ข้อมูลจากการเลือกตั้งและความคิดเห็นชี้ให้เห็นว่า ชาวจีนหนุ่มสาวชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดี ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคกิจประชาชน กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ตั้งข้อกังขาต่อพรรคมากที่สุดในตอนนี้ (Fetzer 2008, 136) การแสดงความคิดเห็นในสื่อต่างๆ ตั้งแต่ภาพยนตร์ นิยาย จนถึงบล็อกเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น การที่รัฐให้สิทธิพิเศษแก่ “ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ” ที่มีฝีมือ ก่อให้เกิดความไม่พอใจ พวกเขามองว่าผู้เข้ามาใหม่เหล่านี้กำลังมาแย่งงาน ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารซึ่งถือเป็นหน้าที่ของผู้ชายสิงคโปร์ทุกคน แถมดูเหมือนได้รับการปฏิบัติดีกว่าและได้รับค่าลดหย่อนพิเศษด้วย (Ortmann 2009, 37-41) ยิ่งกว่านั้น ผู้อยู่อาศัยที่ไม่ใช่พลเมืองในสัดส่วนไม่น้อยมีชาติพันธุ์เดียวกับชนกลุ่มน้อยท้องถิ่น นี่ยิ่งทำให้เกิดอคติที่ฝังลึก
การระดมมวลชนด้วยประเด็นความไม่เท่าเทียม
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจหรือความคับข้องใจมิใช่ความไม่พอใจเพียงอย่างเดียวของพลเมืองแน่ๆ ยกตัวอย่างเช่นในมาเลเซีย กระแสเรียกร้อง “อิสลามานุวัตร” (Islamization) หรือสิทธิชุมชนอาจประจวบเหมาะกับข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับความอยู่ดีกินดีทางวัตถุ เพียงแต่สะท้อนมูลฐานความเชื่อที่แตกต่างกันและอาจได้ผลในกลุ่มย่อยที่แตกต่างกันไปในกลุ่มประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจกลายเป็นประเด็นสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นพื้นฐานในการระดมมวลชนเพื่อท้าทายความชอบธรรมในทั้งสองประเทศ
ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่สาธารณะใหม่สำหรับการเผยแพร่ทางเลือกอื่นๆ สิงคโปร์จัดอยู่ในกลุ่มสังคมที่ “เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต” (wired) มากที่สุดในโลก ไม่เพียงแค่ชาวสิงคโปร์สามในสี่คนรับข้อมูลข่าวสารออนไลน์เท่านั้น แต่ร้อยละ 97 ของกลุ่มคนวัย 15-19 ปีใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำและร้อยละ 80 ของกลุ่มคนวัย 25-34 ปีใช้เฟซบุ๊ก (Kemp 2012b) ชาวมาเลเซียก็เช่นกัน ร้อยละ 60 รับข้อมูลข่าวสารออนไลน์ และร้อยละ 90 ของจำนวนนี้เยี่ยมชมเว็บไซท์สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ (Kemp 2012a) สื่อกระแสหลักในทั้งสองประเทศถูกควบคุมเข้มงวด การมีสื่อออนไลน์ช่วยเปิดกว้างการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนถกเถียงและการระดมมวลชน ทั้งนี้เพราะทั้งสองประเทศไม่สามารถเซนเซอร์อินเทอร์เน็ตได้เต็มที่เพราะต้องเอาใจนักลงทุน (Weiss 2014a)
การประท้วงที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ทั้งในสิงคโปร์และมาเลเซียมีการจัดตั้งออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเอกสารรัฐบาลสิงคโปร์ฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า รัฐบาลมีแผนการที่จะเดินหน้าดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้ามาอย่างรวดเร็วเพื่อชดเชยกับจำนวนประชากรท้องถิ่นที่กำลังหดตัวลง ความโกรธแค้นของประชาชนต่อภัยคุกคามที่อาจมีต่อตำแหน่งงานในประเทศและคุณภาพชีวิต (เช่น อาจสร้างความแออัดในสิงคโปร์ที่มีพื้นที่จำกัดมาก) ก็ค้นพบช่องทางระบายออกทางอินเทอร์เน็ต การก่นด่าในโลกความจริงเสมือนนำไปสู่การประท้วงในโลกจริง เมื่อนักกิจกรรมต่อต้านแรงงานอพยพใช้เฟซบุ๊กจัดตั้งการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดสองครั้งในรอบหลายทศวรรษของสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2013 6 เสียงคัดค้านที่รุนแรงนี้บีบให้รัฐบาลพรรคกิจประชาชนต้องยอมเพิ่มสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ให้เฉพาะพลเมืองสิงคโปร์เท่านั้น เพื่อให้เกิดความแตกต่างชัดเจนจากแรงงานอพยพ (เช่น การศึกษาและโรงเรียน เป็นต้น) พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ได้ประโยชน์เช่นกัน การทำข่าวออนไลน์เกี่ยวกับการรณรงค์และนโยบายพรรคของฝ่ายค้านในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ค.ศ. 2011 ไม่เพียงช่วยขยายขอบเขตการสื่อสารของพวกเขา (ส่วนใหญ่เน้นประเด็น “ปากท้อง”) แต่ดูเหมือนช่วยดึงดูดประชาชนจำนวนมากกว่าเดิมให้ออกมาร่วมกิจกรรมหาเสียงของพวกเขา รวมทั้งลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านด้วย
ในมาเลเซียก็เช่นกัน การมีจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนถึงร้อยละ 23 ระหว่างการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกับการเลือกตั้งในปี 2013 ซึ่งเชื่อกันว่าส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่เชี่ยวชาญการใช้อินเทอร์เน็ตและโอนเอียงไปทางนิยมฝ่ายค้านมากกว่า มีการวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางว่าน่าจะเชื่อมโยงกับข่าวและการถกเถียงแลกเปลี่ยนออนไลน์ รวมทั้งการประท้วงในระยะหลังก็มีการจัดตั้งกันทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ การรณรงค์ครั้งใหญ่ที่สุดจัดโดยองค์กร Bersih 7 หรือ “แนวร่วมเพื่อการเลือกตั้งสะอาดและเป็นธรรม” แกนหลักของอุดมการณ์ฝ่ายค้านคือธรรมาภิบาล (ซึ่งเป็นประเด็นแกนหลักของ Bersih เช่นกัน) และต่อต้านการคอร์รัปชั่น กระนั้นก็ตาม คำมั่นสัญญาที่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเน้นย้ำในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2013 ยังเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่จำกัดแคบ ตั้งเป้าไปที่ฐานเสียงชนชั้นกลางผู้วิตกกังวล เช่น การศึกษาแบบให้เปล่าในระดับสูงขึ้น การเข้าถึงเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและราคาน้ำมัน ฯลฯ สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านนำมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นความขัดแย้งก็คือ ภาพหวือหวาและการเปิดโปงบุคคลสำคัญในกลุ่มพรรคพันธมิตรของรัฐบาล (โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและภรรยา) โดยบ่งบอกนัยยะถึงความมั่งคั่งที่น่าสงสัยและ “ระบบพวกพ้อง” ที่ละโมบกอบโกย
ผลกระทบต่อระบอบการปกครอง
ผู้เขียนเคยอ้างเหตุผลไว้ในงานเขียนชิ้นอื่น (Weiss 2014b) ว่า พัฒนาการข้างต้นอาจสร้างผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อลักษณะของระบอบการปกครองแบบลูกผสมในทั้งสองประเทศ ระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ตั้งอยู่บนหลักความเชื่อมูลฐานของการมีส่วนร่วมที่กระตือรือร้นแต่มีขอบเขตจำกัดและการวิวาทะโต้แย้งที่มีการควบคุม ซึ่งแตกต่างห่างไกลจาก “การปกครองโดยคนจำนวนมากร่วมกัน” (Polyarchy) ที่เป็นรูปแบบการปกครองในอุดมคติของโรเบิร์ต ดาห์ล (Dahl 1971) ความล้มเหลวของรัฐนักพัฒนา (Developmental State) 8 ในการรักษาสิทธิประโยชน์ที่ให้สัญญาไว้แก่ประชาชน ทั้งในเชิงสัมบูรณ์หรือในเชิงเปรียบเทียบ ไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดการเมืองที่พัวพันมากขึ้น แต่ยิ่งผลักดันผู้มีส่วนร่วมหน้าใหม่เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและประเด็นใหม่ๆ เข้าสู่วาระทางนโยบาย ลักษณะลูกผสมของระบอบการปกครองต้องอาศัยฉันทามติที่เห็นพ้องกับสถานภาพดั้งเดิมในระดับสูง กล่าวคือ ความเชื่อว่า “ประชาธิปไตย” ในขอบเขตจำกัดแบบที่เป็นอยู่เป็นสิ่งที่พอเพียงแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการกดบังคับอย่างชัดเจนเกินไปเพื่อบีบให้ยินยอม การพัวพันที่ขยายวงกว้างและขยายขอบเขตมากขึ้น รวมทั้งการเกิดปากเสียงทางการเมืองใหม่ๆ อาจนำไปสู่การมีคู่แข่งขันทางการเมืองมากขึ้น หรือไม่ก็รัฐบาลออกมากดขี่ปราบปรามเพื่อกำราบความไม่พอใจที่เดือดพล่าน วิธีการอย่างหลังน่าจะมีความเป็นไปได้น้อยกว่า เนื่องจากเสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนคู่ค้าหรือนักลงทุน หรืออาจผลักดันกลุ่มคนระดับหัวกะทิให้อพยพออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกไหน ก็ย่อมผลักระบอบการปกครองให้เข้าสู่ภาวะชะงักงันครั้งใหม่ ซึ่งย่อมบุกเบิกเส้นทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ด้วยแรงกระตุ้นทั้งจากความไม่พอใจและการมีทรัพยากรในการระดมมวลชนที่เกิดจากพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ความท้าทายของผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งกว้างขวางกว่าเดิมกำลังเกิดขึ้น โดยมุ่งไปสู่ระเบียบการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่าเดิมและมีการแข่งขันกันมากขึ้นในรัฐลูกผสมทั้งสองประเทศ
Meredith L. Weiss
รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย Albany, SUNY
Issue 17, Kyoto Review of Southeast Asia, March 2015
Bibliography
Dahl, Robert A. 1971. Polyarchy: Participation and Opposition. New Haven: Yale University Press.
Fetzer, Joel S. 2008. ‘Election Strategy and Ethnic Politics in Singapore’. Taiwan Journal of Democracy 4, no. 1: 135-53.
Gomez, Edmund Terence, Johan Saravanamuttu and Maznah Mohamad. 2012. ‘Malaysia’s New Economic Policy: Resolving Structural Inequalities, Creating Inequities?’ In The New Economic Policy in Malaysia: Affirmative Action, Ethnic Inequalities and Social Justice, edited by Edmund Terence Gomez and Johan Saravanamuttu. 1-28. Singapore: NUS Press/ISEAS; Petaling Jaya: SIRD.
Kemp, Simon. 2012a. ‘Social, Digital and Mobile in Malaysia’. We Are Social, 4 Jan. http://wearesocial.net/blog/2012/01/social-digital-mobile-malaysia/.
––––. 2012b. ‘Social, Digital and Mobile in Singapore’. We Are Social, 5 Jan. http://wearesocial.net/blog/2012/01/social-digital-mobile-singapore/.
Lee Hsien Loong. 2011. ‘Speech by Prime Minister Lee Hsien Loong at the Debate on the President’s Address, 20 October 2011 at Parliament’. Prime Minister’s Office. http://www.pmo.gov.sg/content/pmosite/mediacentre/speechesninterviews/primeminister/2011/October/Speech_by_Prime_Minister_Lee_Hsien_Loong_at_the_Debate_on_The_President_Address.html#.UjxLXBbGlz8.
Lee Hwok-Aun. 2013. ‘Is Inequality in Malaysia Really Going Down? Some Preliminary Explorations’. Paper presented at World Economics Association Conference on the Inequalities in Asia: 27 May to 12 July. http://iiaconference2013.worldeconomicsassociation.org/is-inequality-in-malaysia-really-going-down-some-preliminary-explorations/.
OECD. 2011. Divided We Stand: Why Inequality Keeps Rising. Paris: OECD Publishing.
Ortmann, Stephan. 2009. ‘Singapore: The Politics of Inventing National Identity’. Journal of Current Southeast Asian Affairs 28, no. 4: 23-46.
Statistics Singapore. ‘Key Household Income Trends, 2012’. Department of Statistics Singapore (February 2013). http://www.singstat.gov.sg/Publications/publications_and_papers/household_income_and_expenditure/pp-s19.pdf.
Tan, Eugene K. B. 2003. ‘Re-Engaging Chineseness: Political, Economic and Cultural Imperatives of Nation-Building in Singapore’. China Quarterly 175 (Sept.): 751-74.
Weiss, Meredith L. 2014a. ‘New Media, New Activism: Trends and Trajectories in Malaysia, Singapore, and Indonesia’. International Development Planning Review 36, no. 1: 91-109.
––––. 2014b . “Of Inequality and Irritation: New Agendas and Activism in Malaysia and Singapore.” Democratization 21, no. 5: 867-87.
Notes:
- ข้อคิดเห็นในประเด็นนี้ส่วนใหญ่ได้มาจาก Weiss 2014 ซึ่งเสนอข้อถกเถียงและการวิเคราะห์เจาะลึกลงในรายละเอียดมากกว่าในบทความนี้ ↩
- Statistics Singapore, ‘Key Household Income Trends’, 12; OECD 2012, 22. ↩
- World Bank, GINI index, http://data.worldbank.org/indicator/SI.POV.GINI. ↩
- http://data.worldbank.org/indicator/FP.CPI.TOTL.ZG, accessed March 29, 2014. ↩
- คำว่า Heartlanders เป็นคำที่ใช้ในสิงคโปร์ หมายถึงผู้อยู่อาศัยตามย่านชานเมือง ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแฟลตของการเคหะที่รัฐบาลสร้าง คนเหล่านี้ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ ถึงแม้คำนี้ใช้กันทั่วไป แต่ก็ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนนักว่าใครบ้างที่เป็น heartlanders แต่โดยทั่วไปมักใช้คำนี้ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับ “ชนชั้นนำ” (elites) ↩
- โปรดดู https://www.facebook.com/events/138310433012844/. ↩
- องค์กร Bersih มีสถานะเป็นองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอ ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2006 และประกาศตัวว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองใดๆ ↩
- คำศัพท์ที่ใช้ในแวดวงเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ หมายถึงการวางแผนเศรษฐกิจมหภาคที่มีรัฐเป็นผู้ชี้นำ ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ↩