ในเมียนมาร์ มีศัพท์ภาษาท้องถิ่นและคำศัพท์ที่ยืมจากภาษาอังกฤษหลายคำสำหรับใช้บ่งชี้เพศสภาพและการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของอัตบุคคล (subject position) ของชนกลุ่มน้อยทางเพศวิถี การกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของอัตบุคคลของเพศชายโดยหลัก ๆ แล้วประกอบด้วย apwint (“คนเปิดตัว”) apôn (“คนซ่อนตัว”) homo (โฮโม) และ thu nge (“ชายแท้”) คนเปิดตัวคือชายที่วางตัวและปรากฏตัวในฐานะหญิง สำหรับ คนเปิดตัว การกินฮอร์โมนเพศหญิงที่นำเข้าจากประเทศจีนเป็นพิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่านที่พบได้ทั่วไปแต่ไม่ใช่ทุกคน พร้อม ๆ กับที่พวกเขามักย้ายออกจากครอบครัวตามเพศดั้งเดิมไปเป็นสมาชิกของชุมชนคนข้ามเพศที่แปลงเพศจากชายเป็นหญิง ตลาดการแพทย์ของเมียนมาร์ยังไม่มีศัลยกรรมแปลงเพศ แต่คนเปิดตัวจำนวนหยิบมือหนึ่งที่มีเงินทุนสามารถเข้าถึงศัลยกรรมแปลงเพศได้ในต่างประเทศ คนซ่อนตัวและโฮโมคือชายที่ดูภายนอกเหมือนผู้ชายทั่วไป ชายแท้หรือบางครั้งเรียกกันว่า “straight” ในหมู่ชาวพม่าที่พูดภาษาอังกฤษ คือชายที่มีเพศวิถีตามเพศสภาพและเป็นวัตถุดึงดูดด้านกามารมณ์อันดับแรกสุดในหมู่คนเปิดตัว และในระดับที่น้อยลงมาสำหรับคนซ่อนตัว ในขณะที่คนซ่อนตัวมีตำแหน่งแห่งที่เชิงภาษาศาสตร์จากการที่ “ซ่อน” ตัวตนเพศหญิงภายในไว้ กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าโฮโมคือกลุ่มที่ปฏิเสธวัฒนธรรมท้องถิ่นเกี่ยวกับเพศสภาพและเพศวิถีในหลาย ๆ แง่ รวมทั้งความคาดหวังว่าชาย “ที่เป็นหญิง” จะต้องแสวงหาความสัมพันธ์กับชายแท้ที่เป็นผู้ชายตามมาตรฐาน โฮโมสามารถมีอัตลักษณ์ได้ทั้งชายหรือหญิงและดึงดูดได้ทั้งโฮโมคนอื่นหรือชายแท้ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะเน้นความสนใจเป็นพิเศษที่ชายที่มีความเป็นหญิง ซึ่งเรียกกันว่า apwint หรือ คนเปิดตัว ในภาษาพม่า
ในขณะที่คนเปิดตัวตกเป็นเหยื่อของการกดขี่ โดยเฉพาะการรังควานจากตำรวจและการใช้อำนาจโดยมิชอบในระบบกฎหมาย แต่รัฐแทบไม่ใช่ความวิตกกังวลสำคัญในชีวิตประจำวันของคนกลุ่มนี้เลย 1 ส่วนใหญ่แล้ว ต้นตอของความรุนแรง ความอับอายและความทุกข์ใกล้ตัวของคนเปิดตัวเกิดขึ้นภายในครอบครัวมากกว่า ภายในครอบครัวและในวัยเด็กต่างหากที่เป็นปัญหาสำคัญ แหล่งข่าวที่เป็นชายที่ไม่ใช่ผู้ชายที่ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ในงานภาคสนามที่เมียนมาร์เมื่อไม่นานมานี้ เกือบทุกคนมักเริ่มต้นเล่าเรื่องชีวิตที่ประสบปฏิกิริยารุนแรงบ่อยครั้งจากสมาชิกภายในครอบครัวเอง ประเด็นนี้ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับลำดับชั้นทางเพศในระบบวัฒนธรรมพม่า สำหรับคนเปิดตัว การเชื่อมโยงกับความเป็นหญิงส่งผลให้ต้องสูญเสียสถานะสังคมในฐานะเพศชาย ซึ่งถือว่ามีสถานะเชิงโครงสร้างเหนือกว่าผู้หญิงในแง่ของ “สิทธิอำนาจ” (awza) และ “บุญบารมี” (hpoun) 2 Awza เชื่อมโยงกับสิทธิอำนาจทางการเมือง ส่วน hpoun เชื่อมโยงกับอำนาจทางศีลธรรมและศาสนา ในวัฒนธรรมพุทธศาสนาของพม่า hpoun ที่แต่ละคนมีถูกกำหนดจาก กรรม ผ่านการสะสมคุณงามความดีจากชาติที่แล้ว เนื่องจากผู้ชายมี hpoun มากกว่า ความหมายของอำนาจเชิงสัญลักษณ์นี้จึงสนับสนุนทัศนะเชิงจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาที่มองว่าเพศชายเหนือกว่าเพศหญิง การที่ผู้ชายเปลี่ยนย้ายจากตำแหน่งแห่งที่ของอัตบุคคลของชายไปเป็นหญิงจึงถือว่าเป็นการลดทอน hpoun ของตัวเอง อันนำไปสู่การลดสถานะความเป็นบุคคลและสูญเสียความน่านับถือ การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของอัตบุคคลจึงสร้างปัญหาแก่สถานะทางสังคมของครอบครัว เนื่องจากสถานะนั้นถูกกำกับด้วยกฎเกณฑ์ของ anade
Anade คือกรอบกฎเกณฑ์ที่คอยกำกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเมียนมาร์ Anade หมายถึงความอ่อนน้อมและรวมถึงการหลีกเลี่ยงคำพูดหรือการกระทำที่อาจถูกมองว่าสร้างความไม่สบายใจหรือเสียใจแก่อีกฝ่าย Anade หรือวัฒนธรรมของการเคารพอ่อนน้อมเป็นปัญหาสำหรับคนข้ามเพศชาวพม่า เพราะโดยพื้นฐานแล้วมันเป็นบรรทัดฐานทางเพศสภาพและเกี่ยวข้องกับตำแหน่งแห่งที่ของคนเปิดตัวที่ต้อยต่ำภายในบรรทัดฐานระหว่างเพศในสังคมพม่า ในฐานะสถาบันที่เป็นหัวใจสำคัญในการสืบทอดวัฒนธรรม ครอบครัวพม่ามีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังปทัสถานของ anade ในเด็กข้ามเพศ ส่งผลให้พวกเขาต้องทุกข์ทรมานใจ นับตั้งแต่วัยเยาว์ เด็กถูกสั่งสอนให้เชื่อฟังและสนับสนุนพ่อแม่ แกนเรื่องที่พบตลอดเวลาในครอบครัวที่มีลูกข้ามเพศก็คือ อาการหมกมุ่นของบิดาที่ต้องการรักษาหน้าเมื่อรู้ว่าลูกชายไม่สามารถปฏิบัติตัวตามปทัสถานความเป็นชาย การเสียหน้านี้เกิดจากการถูกเยาะเย้ยต่อหน้าธารกำนัลที่ครอบครัวต้องพบเจอจากการมีลูกข้ามเพศ ยิ่งกว่านั้น บิดาชาวพม่าจะได้รับผลกระทบอื่น ๆ อีกเพราะสถานะข้ามเพศของลูกถูกมองว่าสะท้อนถึง awza ที่บกพร่องของเขา กล่าวคือ มันสั่นคลอน “สิทธิอำนาจ” ความเป็นชายของบิดาในการปกครองหน่วยครอบครัว รวมทั้งในการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมที่ละเมิดบรรทัดฐานของสังคม ตามแบบแผนแนวคิดนี้ awza หมายถึงการปกครองด้วยพระคุณและ anade คือการปกครองด้วยพระเดช
ยกตัวอย่างเช่น Chit Chit แหล่งข่าวคนหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในเมืองบริวารรอบย่างกุ้ง เธอเริ่ม เปิดตัวหรือนำเสนอตัวเองในฐานะเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ตอนแรกบิดาของเธอพยายามใช้อิทธิพลตะล่อมให้ Chit Chit กลับมาสู่เพศสภาพตามมาตรฐาน แต่เมื่อวิธีการนี้ไม่ได้ผล บิดาของ Chit Chit ก็หันมาใช้วิธีการทำโทษทางร่างกาย ซึ่งก็ไม่ได้ผลตามความมุ่งหมายของเขาอีกเช่นกัน การที่ Chit Chit ออกจากครอบครัวในเวลาต่อมาส่งผลกระทบต่อสิทธิอำนาจ awza ของบิดา ซึ่งเชื่อมโยงกับความหมายของความเป็นชาย การเสียหน้าของผู้เป็นบิดาเมื่อลูกชาย เปิดตัว เป็นเพศหญิงทำให้บิดารู้สึกถูกลดทอนอำนาจของสถานะชายเป็นใหญ่ลง เรื่องนี้อธิบายได้ว่าทำไมบางครั้งบิดาจึงมีปฏิกิริยาถึงขั้นใช้ความรุนแรงต่อลูกที่เป็นคนข้ามเพศ
พลังการกดขี่ในครอบครัวยิ่งเห็นได้ชัดในเรื่องราวของ Lay คนเปิดตัวในย่างกุ้ง พออายุสิบสามปี Lay ไม่สามารถทนอยู่กับครอบครัวของตัวเองอีกต่อไป หลังจากบิดาบอกเธอว่าเธอไม่เป็นที่ต้อนรับในครอบครัวหากยังเปิดตัวเป็นคนข้ามเพศ Lay ถูกเสือกไสออกไปอยู่ข้างถนน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากในขณะนั้นเพราะเธอเพิ่งก้าวเข้าสู่ตำแหน่งแห่งที่ของอัตบุคคลด้วยการเปิดตัว และยังขาดไร้พื้นที่ภายในเครือข่ายสังคมของคนเปิดตัวที่จัดโครงสร้างเป็นเครือญาติทางเลือก การเข้าสู่เครือญาติคนข้ามเพศจำต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญบางอย่าง ปรกติมักได้มาจากการมีแม่บุญธรรมเป็นคนข้ามเพศ Lay ต้องเร่ร่อนตามท้องถนน จนสุดท้ายไปลงเอยในศูนย์กลางการค้าบริการทางเพศแห่งหนึ่งของย่างกุ้งใกล้กับไชน่าทาวน์ Lay เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ฉันเห็นคนเปิดตัวมากมายหลายคน แต่ไม่มีใครพูดกับฉันหรือช่วยฉันเพราะพวกเขาไม่รู้จักฉัน ฉันก็ได้แต่เดินไปเรื่อย ๆ แล้วแต่ใจจะพาไป” Lay ตัดสินใจลองกลับบ้าน ซึ่งแม้จะต้องพบกับการกดขี่ แต่ก็ดูเหมือนยังดีกว่าชีวิตข้างถนน พ่อแม่ตีเธอด้วยท่อนเหล็กเมื่อเธอกลับบ้าน แต่ยอมให้เธออยู่ด้วย กระนั้นก็ตาม พ่อแม่ของ Lay เริ่มไม่พอใจมากขึ้นที่เธอไม่ยอมประพฤติตัวตามมาตรฐานของวิถีเพศชายและพวกเขาไม่สามารถควบคุมการเปิดตัวของเธอหรือการแสดงออกในฐานะเพศหญิงภายในละแวกบ้าน ในที่สุด พ่อแม่ก็บอก Lay ว่าเธอไม่เป็นที่ต้อนรับในบ้านถ้าเธอยังเปิดตัว ดังนั้น เธอจึงต้องออกไปเร่ร่อนอยู่ข้างถนนอีกครั้ง
ถึงแม้เป็นเรื่องเศร้าที่บีบคั้นจิตใจมาก แต่การย้ายออกจากบ้านของครอบครัวดั้งเดิมและก้าวเข้าสู่วิถีความสัมพันธ์ใหม่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งรวมถึงการสร้างโครงสร้างเครือญาติใหม่ ช่วยให้คนเปิดตัวชาวพม่าจำนวนมากสามารถค้นพบความรู้สึกของการมีครอบครัวอีกครั้ง เมื่อปัจเจกบุคคลข้ามเพศถูกครอบครัวทางสายเลือดขับไล่ไสส่ง พวกเขาก็ออกไปแสวงหาและสร้างโครงข่ายความสัมพันธ์ใหม่กับคนข้ามเพศคนอื่น ๆ โดยวางพื้นฐานบนรูปแบบของมิตรภาพและความสัมพันธ์เครือญาติคล้าย “แม่-ลูกสาว” พลวัตของการสร้างโครงสร้างเครือญาติขึ้นมาใหม่นี้เป็นหัวใจสำคัญในชีวิตประจำวันของคนข้ามเพศในเมียนมาร์ ภายในครอบครัวของตัวเอง คนข้ามเพศมักประสบกับการใช้ความรุนแรง ความทุกข์ใจและความแปลกแยกหลายทบหลายซ้อน ด้วยเหตุนี้เอง การออกจากครอบครัวมักเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่สำหรับปัจเจกบุคคลข้ามเพศจำนวนมาก ถึงแม้ต้องลงเอยด้วยการที่บุคคลนั้น ๆ ต้องตัดขาดจากครอบครัวที่ให้กำเนิด แต่การมีสังคมของคนข้ามเพศก็เข้ามาทดแทนด้วยการเข้าสู่หน่วยเครือญาติของกะเทย รูปแบบเครือญาติของกะเทยมักสร้างขึ้นผ่านสายงานบางอย่าง โดยที่ “ลูกสาว” ซึ่งเป็นคนข้ามเพศที่อายุน้อยกว่าก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ “แม่-ลูกสาว” กับคนข้ามเพศที่สูงวัยกว่า ความสัมพันธ์นั้นมีทั้งความสนิทสนมใกล้ชิด ความมั่นคงทางการเงินและการฝึกอาชีพผสมผสานกัน
คนข้ามเพศผูกสัมพันธ์เป็นเครือญาติซึ่งกันและกันในเครือข่ายความช่วยเหลือที่เข้ามาแทนที่ครอบครัวทางสายเลือด ความแตกต่างสำคัญระหว่างเครือญาติสองรูปแบบนี้ก็คือบรรทัดฐานของการเป็นสมาชิก ครอบครัวทางสายเลือดคือระบบเครือญาติแนวดิ่ง การเข้าสู่สมาชิกตั้งอยู่บนการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์และการมีคุณสมบัติขั้นมูลฐานทางชีววิทยาร่วมกัน เช่น ความสัมพันธ์ทางสายเลือด ในทางตรงกันข้าม เครือญาติคนข้ามเพศมีโครงสร้างแนวระนาบและไม่รวมศูนย์ การเข้าสู่สมาชิกตั้งอยู่บนการจัดกลุ่มเชิงวัฒนธรรมด้วยเพศสภาพและความปรารถนา คำว่า “แนวระนาบ” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเครือญาติคนข้ามเพศมีโครงสร้างอำนาจในแนวราบ โครงสร้างเครือญาติในเมียนมาร์คือหน่วยครอบครัวที่ปู่ย่าตายายได้รับการยกย่องเป็นผู้อาวุโสสูงสุด เมื่อผู้เฒ่าผู้แก่ล้มหายตายจากไป คนรุ่นต่อไปก็รับสืบทอดเป็นหัวหน้าครอบครัวแทน โดยลำดับชั้นแล้ว รูปแบบเครือญาติของคนข้ามเพศดำเนินตามแบบแผนเดียวกัน กล่าวคือสมาชิกรุ่นเยาว์ก็ต้องกตัญญูรู้คุณต่อผู้อาวุโสกว่า
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา apwint หรือคนเปิดตัวชาวพม่าค่อย ๆ สร้างภาคเศรษฐกิจเฉพาะกลุ่มขึ้นมามากขึ้นเรื่อย ๆ อันนำไปสู่โอกาสสำคัญในการหาเลี้ยงชีพและการจัดตั้งองค์กรสังคมในรูปแบบต่าง ๆ อาชีพสองอย่างในเมียนมาร์ที่ตอนนี้เชื่อมโยงกับคนเปิดตัวอย่างกว้างขวางก็คือ อาชีพคนทรงกับช่างเสริมสวย สองอาชีพนี้มีคำเรียกเป็นภาษาปากที่ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษคือ ไลน์ (line) อุตสาหกรรมเสริมสวยคือไลน์งานหลักที่รองรับคนข้ามเพศชาวพม่า ซึ่งมักเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับอาชีพคนทรงเจ้าและงานบริการทางเพศ ร้านเสริมสวยทำหน้าที่เป็นบ้านและศูนย์ชุมชนของคนข้ามเพศ รวมทั้งเป็นแหล่งหาคู่ทางเพศ เป็นชุมทางของเครือข่ายการป้องกันและให้การศึกษาเกี่ยวกับโรคเอชไอวีระดับนานาชาติ ไลน์งานของคนข้ามเพศเป็นโครงข่ายรองรับที่สำคัญมากสำหรับคนข้ามเพศ ทั้งสำหรับคนหนุ่มสาวที่เพิ่งออกจากบ้าน รวมถึงคนแก่เกษียณที่ออกจากบ้านมานานแล้วและไม่มีลูกหลานทางสายเลือดคอยดูแล ไลน์งานเหล่านี้ช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนข้ามเพศเข้าด้วยกันทั้งในด้านกาละและเทศะ ในปัจจุบัน การเป็น make-up saya (“ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม”) กลายเป็นความใฝ่ฝันที่คนข้ามเพศชาวพม่าจำนวนมากมีเหมือน ๆ กัน และอุตสาหกรรมนี้สามารถรองรับคนข้ามเพศได้มากกว่าอาชีพอื่น กลุ่มที่อยู่ระดับแถวหน้าในอุตสาหกรรมนี้ดำเนินชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่าในวงสังคมและเป็นเป้าหมายชีวิตที่น่าภาคภูมิใจของเกย์กับคนข้ามเพศในประเทศนี้ เมื่อคำนึงถึงประสบการณ์ด้านลบส่วนใหญ่ภายในครอบครัวทางสายเลือด ความสัมพันธ์เครือญาติที่สร้างผ่านไลน์งานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นโครงสร้างสังคมของความเป็นกลุ่มก้อนของคนข้ามเพศ
ในวัฒนธรรมของคนข้ามเพศ “ลูกสาว” ต้องเชื่อฟัง รับใช้และบางครั้งก็ยกย่องบูชา “แม่” ของตน ในทางกลับกัน แม่มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือและดูแลลูกสาวเพื่อให้เธอสามารถมีชีวิตที่พึ่งตัวเองได้ ประสบความสำเร็จและมีความสุข ความช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนข้ามเพศวัยเยาว์ พวกเธออ่อนแอเปราะบางเป็นพิเศษจนกว่าจะสามารถเติบใหญ่กลายเป็นแม่ข้ามเพศที่พึ่งพิงตัวเองได้ทางการเงิน จากนั้นจึงสามารถรับลูกสาวเป็นบุตรบุญธรรมต่อไป การจัดประเภท “แม่” กับ “ลูกสาว” สามารถจัดกลุ่มได้จากมากไปหาน้อย แม่บางคนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของลูกสาวและมีความสัมพันธ์ยืนยาวกันไปตลอดชีวิต ความสัมพันธ์ของแม่-ลูกสาวข้ามเพศคู่อื่น ๆ ไม่ยืนยาวขนาดนั้น และลูกสาวบางคนอาจมีแม่ข้ามเพศหลายคนในชีวิต ในภาษาปากของคนข้ามเพศ คำภาษาพม่าที่ใช้เรียก “แม่” กับ “ลูกสาว” คือสรรพนามทั่วไปที่คนข้ามเพศสูงอายุใช้เมื่อพูดกับคนข้ามเพศอายุน้อยกว่าและในทางกลับกันด้วย “การรับเป็นลูกบุญธรรม” เป็นคำกริยาสำคัญที่ใช้แยกแยะระหว่างคำว่า “แม่” กับ “ลูกสาว” ที่ผูกสัมพันธ์เป็นกลุ่มเครือญาติอย่างเป็นทางการกับการใช้คำสองคำนี้แทนสรรพนามเฉย ๆ
เมื่อคำนึงถึงความเป็นศูนย์กลางของครอบครัวกับเพศสภาพและกฎเกณฑ์ของ anade ที่กำกับปทัสถานความแตกต่างระหว่างเพศภายในสังคมพม่า ก็นับเป็นเรื่องน่าสังเกตอย่างยิ่งที่คนเปิดตัวจำนวนมากเลือกไม่เคารพเชื่อฟังพ่อแม่และออกจากครอบครัวไป anade เป็นหลักระเบียบสำคัญที่สร้างอุปสรรคขัดขวางอย่างลึกซึ้งมิให้ปัจเจกบุคคลเคลื่อนย้ายตัวเองเข้าสู่อัตลักษณ์ของการเปิดตัว เพราะในระบบวัฒนธรรมนี้ หน้าที่ที่ลูกมีต่อพ่อแม่สำคัญกว่าการซื่อตรงต่อตัวตนภายในบริบทของครอบครัว ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่าความสงบสุขของครอบครัวมีความสำคัญเหนือกว่าความเป็นปัจเจกบุคคลในจิตวิทยาของชาวพม่า การออกจากครอบครัวจึงหมายความว่า คนเปิดตัวกำลังล่วงละเมิดปทัสถานสังคมขั้นรากฐาน ไม่ใช่แค่ในแง่ของเพศสภาพและเพศวิถีเท่านั้น แต่รวมถึงในแง่ของ anade ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษหลัง ๆ คนเปิดตัวรุ่นเยาว์เริ่มมีโอกาสมากขึ้นในการก้าวเข้าสู่เครือข่ายความช่วยเหลือที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งมักวางโครงสร้างแบบเดียวกับหน่วยครอบครัว พัฒนาการของไลน์งานของคนเปิดตัวมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างพื้นที่ให้แก่การเปิดตัว ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้พวกเขาพึ่งพิงตัวเองทางการเงินได้ คนข้ามเพศสามารถอาศัยไลน์งานเหล่านี้เพื่อได้มาซึ่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่จำเป็นในการเปิดตัวและดำรงชีวิตในฐานะคนเปิดตัวในเมียนมาร์ยุคปัจจุบัน โดยไม่ต้องพึ่งพิงครอบครัวทางสายเลือดอีก ในขณะที่เครือญาติคนข้ามเพศครอบคลุมถึงการสร้างกลุ่มสังคมที่ให้อภิสิทธิ์แก่ความเป็นบุคคลของคนข้ามเพศ แต่กระนั้นมันก็ผลิตซ้ำลำดับชั้นที่เชื่อมโยงกับความอาวุโสตามวัฒนธรรมกระแสหลักของพม่า ซึ่งในกรณีนี้ก็ถูกกำกับด้วยรูปแบบ anade ของคนข้ามเพศ การเปิดเสรีทางการเมืองในเมียนมาร์ในระยะหลังช่วยเปิดโอกาสสำคัญให้แก่คนข้ามเพศที่จะท้าทายการกดขี่ของรัฐ แต่เนื่องจากต้องต่อสู้กับการกดขี่ทางสังคมและวัฒนธรรมหลายรูปแบบในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ดังเช่นที่คนเปิดตัวต้องประสบพบเจอในครอบครัว ครอบครัวจึงน่าจะยังคงเป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากยืดเยื้อที่สุดของคนข้ามเพศในเมียนมาร์ต่อไป
David Gilbert
Australian National University
Issue 18, Kyoto Review of Southeast Asia, September 2015
Notes:
- สำหรับภาพรวมของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยทางเพศสภาพและเพศวิถีในเมียนมาร์ รวมทั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิ LGBT ในประเทศนี้ โปรดดู Lynette J. Chua, and David Gilbert. “Sexual Orientation and Gender Identity Minorities in Transition: LGBT Rights and Activism in Myanmar.” Human Rights Quarterly 37, no. 1 (2015): 1-28. ↩
- Melford Spiro, Gender ideology and psychological reality: An essay on cultural reproduction, Yale University Press, (1997): 18. ↩