ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาวไทยพุทธหันไปนับถือเทพเจ้าในศาสนาฮินดูมากขึ้น โดยยึดถือเป็นแหล่งพึ่งพิงทางใจที่จะช่วยดลบันดาลปาฏิหาริย์ที่เป็นคุณแก่ตนและเครื่องยึดเหนี่ยวทางศรัทธา ภายในมหานครกรุงเทพฯ ยุคปัจจุบัน มีสถานที่สาธารณะจำนวนมากช่วยกระตุ้นความสนใจที่มีต่อเทพเจ้าฮินดูและการสักการบูชา หรืออาจรวมถึงศาสนาฮินดูเองด้วย มีศาสนสถานฮินดูหลายแห่งที่แรกเริ่มเดิมทีนั้น ผู้อพยพชาวอินเดียก่อตั้งขึ้นเพื่อรับใช้ชุมชนพลัดถิ่น เช่น วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) วัดเทพมณเฑียร วัดทุรคามณเฑียรและวัดวิษณุ มีอีกหลายวัดที่ชาวไทยพุทธเองสร้างขึ้นเพื่อสักการะเทพเจ้าฮินดู เช่น เทวสถาน (โบสถ์พราหมณ์) ที่สร้างขึ้นสำหรับพราหมณ์ประจำราชสำนักตั้งแต่ต้นราชวงศ์จักรี หรือวิหารพระศิวะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนถนนรามอินทราก็เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อสิบกว่าปีมานี้ นอกจากนี้ยังมีภูมิสถาปัตยกรรมแบบขยายพื้นที่รอบแท่นบูชาสาธารณะที่ตั้งโดดๆ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่รูปปั้นเทพเจ้าฮินดู ซึ่งสร้างขึ้นโดยบุคคล สถาบันเอกชนหรือหน่วยงานรัฐบาล ศาลพระพรหมเอราวัณน่าจะเป็นตัวอย่างที่มีชื่อเสียงที่สุดของภูมิสถาปัตยกรรมประเภทนี้ แม้ว่าจะมีศาลอื่นๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระอินทร์ พระนารายณ์ พระลักษมี พระตรีมูรติและพระพิฆเนศ ตั้งอยู่ใกล้ๆ ในระยะเดินถึงได้จากสี่แยกราชประสงค์ก็ตาม ในประการสุดท้าย รูปปั้นและศาลบูชาเทพเจ้าฮินดูองค์ต่างๆ สามารถพบเห็นได้ง่ายทั้งในวัดพุทธศาสนาและตามเทวสถานแบบหลายศาสนาที่มีอยู่ทั่วไปในมหานครกรุงเทพฯ
ในแง่ของการเป็นสถานที่สาธารณะสำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดูของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวอินเดีย หรือสำหรับสักการบูชาเทพเจ้าฮินดูของชาวไทยพุทธ สถานที่บูชาเหล่านี้เป็นแหล่งศูนย์กลางสำคัญในการผลิตซ้ำทางสังคมของกลุ่มชนและจินตนาการสาธารณะเกี่ยวกับศาสนาฮินดูทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวอินเดียในกรุงเทพฯ เมื่อวัดฮินดู (หรือวิหารพระศิวะที่ถนนรามอินทราร่วมกับองค์กรฮินดูต่างๆ) จัดและประชาสัมพันธ์พิธีกรรมทางศาสนาฮินดูในฐานะเทศกาลสาธารณะขนาดใหญ่ เมื่อนั้นโลกศาสนา จิตนาการเชิงพิธีกรรมและตรรกะในการสักการบูชาของชาวอินเดียฮินดูกับชาวไทยพุทธย่อมเกี่ยวพันกันจนมิอาจแยกขาด การร่วมมือกันในการจัดงานฉลองรูปสักการะอย่างวิจิตรตระการตาภายในวันสำคัญทางศาสนพิธีของศาสนาฮินดูทั้งด้วยความตั้งใจและด้วยความบังเอิญนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงนิยามยืนยันความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาฮินดูตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของชุมชนชาวอินเดียเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นความศรัทธาในศาสนาที่เปิดกว้างไม่แบ่งแยกและตัวตนอีกด้านหนึ่งของชาวไทยพุทธทั่วไปอีกด้วย จากการปะทะสังสรรค์ระหว่างศาสนานี้เอง ผู้มีบทบาท ชุมชนและหน่วยงานราชการทั้งชาวพุทธและชาวฮินดู ต่างกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ชวนให้เราตั้งคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นพหุนิยมทางศาสนา การเปิดกว้าง ขันติธรรมและอัตลักษณ์ภายในจินตภาพทางสังคมไทยที่มีความเป็นเมืองและมหานครมากขึ้น
เทศกาลนวราตรี
เทศกาลนวราตรีซึ่งจัดติดต่อกันสิบวันทุกเดือนตุลาคมที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวีบนถนนสีลม นับเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความพัวพันทางศาสนาอันซับซ้อนที่เกิดขึ้น งานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ของศาสนาฮินดูนี้จัดขึ้นในพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองหลวงไทย ผู้วางแผน เตรียมการและจัดงานประกอบด้วยชุมชนจากหลากหลายศาสนาและเป็นการจัดงานที่คำนึงถึงผู้คนในศาสนาอื่นๆ ที่มาร่วมงานด้วย 1 ตลอดทั้งเทศกาลที่มีหลากหลายพิธีกรรมนี้ เทวีหลายองค์ ทั้งพระแม่ทุรคา พระลักษมี พระอุมาเทวี พระสรัสวตี จะถูกอัญเชิญลงมาประทับในวัดและได้รับการสักการบูชาพร้อมกับเทพเจ้าที่เป็นสวามีและบริวารทั้งหลาย แต่ละวันจะมีการจัดงานพิธีประสานกันดังนี้ 1) ประชาชนทั่วไปหลั่งไหลเข้ามาถวายเครื่องเซ่นสรวงบูชาตามประเพณี และ 2) การจัดพิธีเซ่นสรวงบูชาพิเศษทุกเช้า บ่ายและค่ำโดยพราหมณ์ประจำวัด ขบวนแห่นอกวัดในค่ำวันสุดท้ายคือพิธีกรรมและการแสดงที่ถือเป็นจุดสุดยอดของเทศกาล แกนกลางของขบวนแห่ประกอบด้วยคนทรงชาวอินเดียสามคนที่มีเทวีสามองค์มาประทับและรถห้าคันแห่เทวรูปพระพิฆเนศ พระขันธกุมาร พระกฤษณะ พระกัตตะวารายัน และพระอุมาเทวี นอกจากนี้ก็มีขบวนของนักดนตรี นักเต้นระบำ พราหมณ์และผู้ศรัทธาจำนวนมากล้อมรอบคนทรงและรถแห่ ทั้งหมดแห่แหนกันเป็นขบวนยาวออกมาจากวัดตลอดระยะทางที่เดินวนความยาว 3 กิโลเมตร ซึ่งอาจต้องใช้เวลากว่าเจ็ดชั่วโมงกว่าจะครบรอบ ผู้ศรัทธาชาวไทยพุทธจำนวนหลายหมื่นคนจัดตั้งโต๊ะบูชาขนาดใหญ่ตกแต่งวิจิตรตระการตาตลอดสองข้างทางของเส้นทางขบวนแห่ บางครั้งต้องรอจนตีสองตีสามกว่าจะได้รับพรจนครบจากคนทรง พราหมณ์และเทพเทวีที่ค่อยๆ เคลื่อนผ่านมาทีละองค์
ระหว่างเก้าคืนแรกของงานเทศกาล ประชาชนที่เข้าร่วมงานเกิน 90% เป็นชาวไทยและชาวไทยพุทธเชื้อสายจีน ส่วนในงานพิธีคืนสุดท้ายซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมงานจากในกรุงเทพฯ และจากจังหวัดอื่นเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล สัดส่วนร้อยละของชาวอินเดียฮินดูก็ยิ่งลดลงกว่าเดิม โดยเนื้อแท้แล้ว เทศกาลนวราตรีของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีเป็นเทศกาลพิธีกรรมประจำปีที่สำคัญของชุมชนชาวทมิฬฮินดูในกรุงเทพฯ โดยมีพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญพิธีกรรมเป็นประธานการจัดงาน แต่ผู้มีศรัทธา ผู้ร่วมงานและแม้กระทั่งผู้อุปถัมภ์งานส่วนใหญ่กลับไม่ใช่ชาวอินเดียหรือฮินดู การผสมปนเปอย่างซับซ้อนของเครื่องเซ่นสรวงบูชา เครื่องบัดพลีและการสักการะที่แสดงกันอย่างเอิกเกริกในที่สาธารณะตลอดช่วงเวลาเทศกาลสิบวัน จึงสะท้อนให้เห็นทั้งความเป็นฮินดูในเชิงกรอบกระบวนทัศน์และความเป็นพุทธที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าประทับใจยิ่งกว่านั้นก็คือเทศกาลนวราตรีช่วยเอื้ออำนวยและส่งเสริมความเป็นพหุนิยมของศาสนิกชน ทัศนคติในเชิงศรัทธาและบทสวดคาถาทั้งในชุมชนชาวฮินดูและชาวพุทธ ซึ่งต่างก็ค้นพบการแสดงออกและรูปธรรมที่น่าพึงพอใจในระหว่างงานเทศกาล
ความเป็นพหุนิยมของศาสนิกชนและบทสวดคาถา
ถึงแม้เป็นชนกลุ่มน้อยในเชิงประชากรอย่างแท้จริง แต่กลุ่มชาติพันธุ์อินเดียฮินดูที่มีความหลากหลายในตัวเองก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดงานนวราตรี พราหมณ์ คนทรงชาวอินเดีย ผู้ช่วยประกอบพิธีกรรมและนักดนตรีอินเดียโบราณคือกุญแจสำคัญที่ทำหน้าที่ดำเนินพิธีกรรมตลอดเทศกาล นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารของวัด ผู้อุปถัมภ์ด้านการเงิน นักข่าวและผู้บันทึกภาพวิดีทัศน์จากชุมชนชาวอินเดียท้องถิ่นในย่านสีลมเป็นผู้มีบทบาทประจำและสำคัญเช่นกันในการเตรียมงานและจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในแต่ละวันที่เริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่จนดึกดื่นค่ำคืน ในขณะที่บุคคลและครอบครัวผู้ศรัทธาจากชุมชนชาวอินเดียแถบถิ่นนั้นและพ่อค้าแม่ค้าชาวอินเดียจัดเป็นสัดส่วนจำนวนมากที่สุดของชาวฮินดูที่มาร่วมงาน แต่ตัวแทนของกรมการศาสนาจากรัฐทมิฬในอินเดีย รวมทั้งชาวฮินดูจากมาเลเซียและสิงคโปร์จำนวนน้อยก็มาร่วมงานด้วยเช่นกัน ถึงแม้ยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการจาริกแสวงบุญและการท่องเที่ยวของชาวจีนต่างชาติดังเช่นเทศกาลกินเจในภูเก็ต แต่ในยุคสมัยปัจจุบันที่สื่อและการเดินทางครอบคลุมทั่วโลก ชาวฮินดูที่มาร่วมงานเทศกาลนวราตรีย่อมมาจากหลากหลายถิ่นมากกว่าเฉพาะในกรุงเทพฯ แน่นอน
กลุ่มชาวไทยพุทธที่มีความหลากหลายในตัวเองก็มีบทบาทในงานเทศกาลเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ตำรวจทหารชาวไทยจำนวนหนึ่งที่มาดูแลรักษาความปลอดภัย ผู้ค้าเร่ขายสินค้าที่ใช้ในพิธีกรรมและสื่อมวลชนที่มาทำข่าวงานเทศกาล กลุ่มที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือชาวไทยในละแวกนั้นและชาวไทยพุทธเชื้อสายจีนจำนวนมากที่มาครอบครองตำแหน่งหน้าที่สำคัญในชีวิตประจำวันของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี คนเหล่านี้ทำงานเป็นฝ่ายบริหารวัด ผู้อุปถัมภ์ทางการเงินและผู้ช่วยประกอบพิธีกรรม ผู้ช่วยประกอบพิธีกรรมจำนวนมากเป็นชาวไทยพุทธและเป็นกำลังสำคัญในการจัดการให้มีเสียงสวดดังๆ จากชาวไทยพุทธทั่วไปที่หลั่งไหลเข้ามาในวัดตลอดเทศกาล ชาวไทยพุทธที่มาร่วมงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ โดยมาจากหลายเขตหลายท้องที่ ส่วนใหญ่เป็นปัจเจกบุคคล คู่สามีภรรยาและครอบครัว ซึ่งมีความผูกพันระยะยาวกับวัดฮินดูหรือเทพเจ้าฮินดูน้อยมาก แต่พวกเขามองว่าเทศกาลนี้เป็นโอกาสดีเพียงครั้งเดียวที่จะขอพรและความช่วยเหลือจากเทพเจ้า อย่างไรก็ตาม มีชาวไทยพุทธจำนวนหนึ่งที่กลับมาวัดแขกอย่างสม่ำเสมอตลอดเทศกาลและอยู่รอเข้าร่วมพิธีกรรมประจำวันทั้งสามเวลา บ้างรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเพราะความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาได้รับจากการบนบานไว้ก่อนหน้านี้ บ้างเริ่มมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อเทพเจ้าในศาสนาฮินดูและเทศกาลนวราตรีถือเป็นโอกาสดีงามที่จะได้แสดงออกและตอกย้ำศรัทธาของตน บ้างก็เป็นคนทรงอาชีพที่มีความผูกพันลึกซึ้งกับเทพเจ้าและเทวีในศาสนาฮินดูที่อัญเชิญมาเข้าทรงเป็นประจำ จนปวารณาตัวเองเป็นข้ารับใช้ในโลกนี้เพื่อชดใช้หนี้แห่งกรรมที่ติดค้างต่อเทพเจ้า
ในขบวนแห่คืนวันสุดท้าย ชาวไทยพุทธที่มาร่วมงานเพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงจำนวนและความหลากหลาย ตำรวจ อาสาสมัครและผู้ค้าเร่จำนวนมากเข้ามาจัดการและรองรับผู้คนที่เพิ่มขึ้น ชาวไทยพุทธหลายหมื่นคนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งต้องการใช้โอกาสนี้บนบานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลั่งไหลมาร่วมชมขบวนแห่ แต่ปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนที่ตั้งแท่นบูชาชั่วคราวตลอดเส้นทางของขบวนแห่เป็นกลุ่มผู้ศรัทธาเทพเจ้าฮินดูกลุ่มเล็กๆ หรือคนทรงอาชีพที่มีสานุศิษย์ของตัวเอง 2 ผู้ศรัทธาและคนทรงเหล่านี้เกือบทั้งหมดไม่ได้เข้าร่วมในพิธีกรรมก่อนหน้านี้ที่จัดขึ้นที่วัดพระศรีมหาอุมาเทวีในระหว่างเทศกาลเก้าวัน และมีบางคนเดินทางไกลมาจากพิษณุโลกและขอนแก่น สำหรับชาวไทยพุทธทั่วไป แท่นบูชาชั่วคราวตลอดเส้นทางขบวนแห่ ซึ่งมีการถวายเครื่องเซ่นสรวงบูชาและประกอบพิธีกรรมของตนเป็นส่วนเสริมต่างหาก มักกลายเป็นจุดรวมศูนย์ความสนใจทางศาสนาและการเข้าร่วมพิธีกรรม โดยเฉพาะเมื่อความแน่นขนัดของฝูงชนทำให้เข้าถึงวัดแขกได้ยาก ทั้งก่อนและหลังขบวนแห่ ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมงานต่างขอพรจากเทพเจ้า สวดมนต์อ้อนวอนเพื่อคนที่ตนรักและขอคำแนะนำจากคนทรงที่มีมากมายหน้าแท่นบูชา ด้วยเหตุนี้เอง เส้นทางขบวนแห่ของเทศกาลจึงกลายเป็นการแสดงที่มีความสำคัญรองลงไปโดยอัตโนมัติสำหรับกลุ่มผู้มีศรัทธาชาวไทยพุทธที่ส่งเสียงอึกทึกหนวกหู ซึ่งรวมตัวกันเองตามธรรมชาติโดยที่พราหมณ์ประจำวัดเข้ามาควบคุมโดยตรงไม่ได้ อันที่จริง เห็นได้ชัดว่าโอกาสทางสังคมที่เปิดขึ้นจากการแสดงความศรัทธาของชาวพุทธในเทศกาลสาธารณะขนาดใหญ่ การเข้าทรง การแสดงออกอย่างล้นเกินและความคลั่งไคล้ในศาสนาจากต่างแดน ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาฮินดูดั้งเดิมสั่งห้ามไว้กลายๆ นั้น กลับเป็นสิ่งที่ผู้มาเยี่ยมชมและผู้ร่วมงานจำนวนมากเห็นว่ามีเสน่ห์น่าสนใจในพิธีกรรมอันน่าตื่นตาตื่นใจที่เป็นฉากปิดเทศกาลนวราตรี
พหุนิยม การเปิดกว้างและขันติธรรมในมหานครของชาวพุทธ
บทบาทที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกของชุมชนชาวฮินดูและชาวพุทธในกรุงเทพฯ ในการจัดงานเทศกาลนวราตรีของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี ส่วนหนึ่งมีพื้นฐานจากพัฒนาการทางสังคมขนาดใหญ่ที่ดำเนินต่อเนื่องมาในประเทศไทยยุคสมัยใหม่ อินเทอร์เน็ต ตลาดสื่อมวลชนระดับชาติและการท่องเที่ยวระดับโลก ทำให้ความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมของศาสนาฮินดูทั้งในอินเดียและในประเทศไทยกลายเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ เข้าใจได้และเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับชาวไทยพุทธ ผู้ประกอบการทุนนิยมชาวไทยได้สร้างตลาดเฉพาะกลุ่มขึ้น ซึ่งให้ความสนใจต่อวัฒนธรรมของศาสนาฮินดูทั้งในเชิงสุนทรียศาสตร์ วัตถุและวรรณกรรม การขยายตัวของเมืองและเครือข่ายการคมนาคมที่ดีขึ้นเอื้อให้การปะทะสังสรรค์ทางศาสนาระหว่างชาวพุทธกับชาวฮินดูมีช่องทางความเป็นไปได้ในชีวิตประจำวันสำหรับชาวไทยมากขึ้นๆ ผู้ประกอบการศาสนาอิสระที่มีอยู่หลากหลายและมีส่วนในการสร้างสรรค์ความหัวมังกุท้ายมังกรทางจิตวิญญาณทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางวัฒนธรรมระหว่างชุมชนศาสนาทั้งสอง อีกทั้งการขยายตัวของความศรัทธาแบบมวลชนที่ไม่แบ่งแยกศาสนาและเน้นด้านอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ การเซ่นสรวงบูชา ไสยศาสตร์เร้นลับและการเข้าทรง ยิ่งช่วยกระพือการผสมผสานข้ามศาสนาจนยากที่ผู้นำหรือสถาบันทางศาสนาจะเข้ามาควบคุม กระนั้นก็ตาม พัฒนาการดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ ๆ ขึ้นหลายประการด้วยกัน
เทศกาลนวราตรีของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีเป็นพิธีกรรมของศาสนาฮินดูอย่างชัดเจน แต่ตอนนี้เราสามารถเรียกเทศกาลนี้ว่าเป็นงานเฉลิมฉลองของชาวพุทธด้วยได้หรือไม่? เราจะติดป้ายฉลากศาสนาอย่างไรหากว่าเทพปกรณัมและบทสวดคาถาทางพิธีกรรมหลักของเทศกาลหนึ่งๆ มีรากเหง้าอยู่ในชุมชนทางศาสนาหนึ่ง แต่สมาชิกที่มาร่วมงานเกือบทั้งหมดมาจากชุมชนของอีกศาสนาหนึ่ง? เราควรมองว่ากิจวัตรพิธีกรรมที่ปฏิบัติในวัดระหว่างเก้าวันแรกของเทศกาลมีความแตกต่างทั้งในเชิงรายละเอียดและในเชิงวิเคราะห์จากขบวนแห่ในวันปิดงาน ซึ่งลักษณะและบรรยากาศของพิธีกรรม ตรรกะในการเซ่นสรวงบูชาและผู้มีอำนาจหน้าที่ทางศาสนา มีการขยายตัวและแตกกระจัดกระจายออกไปหลายส่วนเสี้ยว? เราจะถือว่าเทศกาลนี้เป็นตัวอย่างของการผสานความเชื่อทางศาสนา ความเป็นลูกผสม ความหัวมังกุท้ายมังกร หรือการผสมผสานข้ามวัฒนธรรมได้ในแง่มุมไหนบ้างหากจะมีแง่มุมที่ว่านั้นอยู่จริง?
ยิ่งกว่านั้น เราจะอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับความเป็นจริงทางสังคมที่แตกต่างออกไปของพหุนิยมทางศาสนา การเปิดกว้างและขันติธรรมของศาสนาพุทธร่วมสมัยในประเทศไทย? ในขณะที่ตัวอย่างของการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมและการผสมผสานข้ามศาสนาระหว่างชุมชนชาวพุทธ ฮินดูและจีนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่เราพบเห็นตัวอย่างน้อยมากที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนพุทธ คริสต์และมุสลิม ความแตกต่างในความสัมพันธ์ของชุมชนข้ามศาสนาเป็นผลลัพธ์มากน้อยแค่ไหนจากแบบแผนที่แตกต่างกันในด้านประชากรศาสตร์ของศาสนา ยุทธศาสตร์ของการสร้างความกลมกลืนกับท้องถิ่น ข้อเรียกร้องให้ศาสนารักษาความบริสุทธิ์ดั้งเดิมไว้ ความทรงจำของการอยู่ร่วมกันระหว่างศาสนาในประวัติศาสตร์ รวมทั้งความกลัวว่าจะมีการเปลี่ยนศาสนาและความกลัวที่มีต่อศาสนาต่างชาติ? เราสามารถคาดหวังได้หรือไม่ว่าการมีส่วนร่วมด้านพิธีกรรมและการผสมผสานข้ามศาสนาจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างชาวพุทธกับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาทั้งหมดในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกัน หรือจำเป็นต้องส่งเสริมยุทธศาสตร์แบบอื่นๆ ให้มากขึ้นเพื่อเป้าหมายในการสร้างขันติธรรมที่มีใจเปิดกว้างอย่างยั่งยืน?
Erick White
(Cornell University)
Issue 19, Kyoto Review of Southeast Asia, March 2016
Notes:
- รายละเอียดเชิงประจักษ์ที่ใช้ในการอภิปรายในบทความนี้ได้มาจากการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในเดือนตุลาคม 2558 ↩
- ผู้เขียนนับแท่นบูชาชั่วคราวได้มากกว่า 500 แท่นตลอดเส้นทางขบวนแห่ในปี 2558 แท่นบูชาส่วนใหญ่มีศาลเทพเจ้าที่ออกแบบมาอย่างดีและตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงาม ซึ่งต้องลงทุนทั้งเงิน แรงงานและเวลาอย่างมากในการออกแบบ จัดสร้างและประกอบติดตั้ง ↩