สงครามล้างเผ่าพันธุ์: การสังหารหมู่ชาวลูมาดในเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์

Arnold P. Alamon

เช้าตรู่วันที่ 1 กันยายน 2015 ชายหญิงและเด็กหลายร้อยคนที่ชุมชนซิตีโออานายาน (Sitio Han-ayan) อำเภอเดียตากอน (Diatagon) ถูกกลุ่มชายติดอาวุธจากกองกำลังกึ่งทหาร Magahat Bagani ปลุกขึ้นมา พวกเขาถูกไล่ต้อนบังคับให้มาล้อมวงฝืนใจดูการสังหารผู้นำชุมชนของตนอย่างโหดเหี้ยม ดิโอเนล กัมโปส (Dionel Campos) และฮูเวโญ ซินโซ (Juvello Sinzo) ถูกยิงที่ศีรษะคนละนัด ต่อมาเด็กนักเรียนและครูยังเจอซากร่างของเอเมริโต ซามาร์กา (Emerito Samarca) ที่ถูกเชือดคอด้วย เขาเป็นผู้อำนวยการบริหารของโรงเรียนมัธยมทางเลือกชื่อ Alternative Learning Center for Agricultural and Livelihood Development, Inc. หรือ ALCADEV ซึ่งสอนหนังสือให้เด็กชาวพื้นเมืองเผ่ามาโนโบ (Manobo) โรงเรียนนี้ก่อตั้งขึ้นในชุมชนและผู้อำนวยการคนนี้เป็นที่รักของชาวบ้านทุกคน วันเดียวกันนั้นเอง ชาวบ้านประมาณ 3000 คนจากชุมชนอานายานและชุมชนข้างเคียงอื่นๆ ต้องอพยพทิ้งบ้านช่องไร่นา แล้วไปอาศัยอยู่ในโรงยิมของเทศบาลเมืองลีอันกา (Lianga) ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเมือง (Interaksyon.com, 2015)

เหตุการณ์นี้แม้จะโหดร้ายแค่ไหน แต่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการบุกโจมตีทำร้ายผู้นำชาวพื้นเมือง โรงเรียนทางเลือกและชุมชนทั้งชุมชนอย่างป่าเถื่อนเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้มีความโดดเด่นตรงที่เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียวสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงขอบเขตที่มีความเกี่ยวโยงกันในการกำหนดเป้าผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของกองกำลังกึ่งทหารในเกาะมินดาเนาที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์

เรื่องเล่าของการพลัดถิ่นฐาน

ภายใต้รัฐบาลอาคีโนชุดที่แล้ว (2010-2015) รวมแล้วมีผู้นำชาวพื้นเมืองถูกสังหาร 71 ราย มีการบุกโจมตีโรงเรียนทางเลือกสำหรับเด็กชาวพื้นเมือง 87 โรงเรียนจำนวน 95 ครั้งเท่าที่มีการบันทึกไว้ ประชาชนชาวพื้นเมืองกว่า 40,000 คนต้องประสบปัญหาเพราะชีวิตชุมชนทั้งด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจถูกรบกวนจนหยุดชะงัก พวกเขาต้องหนีไปอาศัยในศูนย์อพยพหลายแห่งเพราะผู้นำถูกฆ่าหรือถูกจำคุก หรือโรงเรียนถูกโจมตี ถ้าไม่ใช่กองกำลังทหารของรัฐบาลมาตั้งค่ายโอบล้อมและหว่านเพาะความหวาดกลัวให้ชุมชนภายใต้ข้ออ้างของการปราบปรามการก่อกบฏ ก็มีกลุ่มกองกำลังกึ่งทหารเข้ามาทำงานสกปรกให้แทน (Manilakbayan, 2015)

ภัยสยองและความรุนแรงที่กลุ่มกองกำลังกึ่งทหารกระทำต่อชาว “ลูมาด” (Lumad) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกชาวพื้นเมืองบนเกาะมินดาเนา เริ่มเป็นที่รับรู้ในหมู่สาธารณชนชาวฟิลิปปินส์ การรณรงค์ด้วยคำขวัญ #stoplumadkillings เมื่อปี 2015 จึงได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางทั้งภายในและภายนอกประเทศ กลุ่มผู้รณรงค์จัดงานครั้งยิ่งใหญ่ในชื่อ Manilakbayan 2015 ซึ่งประกอบไปด้วยขบวนคาราวานประท้วงที่มีผู้แทนชาวพื้นเมืองหลายร้อยคนจากชุมชนชาวพื้นเมืองหลากหลายแห่งบนเกาะมินดาเนามาเข้าร่วม ผู้นำ โรงเรียนและชุมชนของพวกเขาเคยตกเป็นเหยื่อการบุกรุกโจมตีทำร้าย พวกเขาจึงมาเข้าร่วมการประท้วงในเมืองหลวงของประเทศเพื่อตีแผ่ให้เห็นสถานการณ์อันเลวร้ายของตน

หากเราศึกษาข้อมูลของกรณีต่าง ๆ ที่มีการบันทึกไว้ เราจะพบว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับการพลัดถิ่นฐานมีเนื้อเรื่องหลักคล้ายกัน นั่นสะท้อนให้เห็นว่า แบบแผนของการโจมตีอย่างเป็นระบบนี้มีจุดมุ่งหมายหนึ่งเดียว โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้นำ โรงเรียนและชุมชนชาวพื้นเมือง ดูเหมือนวัตถุประสงค์ของการโจมตีอยู่ที่การบั่นทอนภาวะผู้นำของชาวพื้นเมืองและทำลายสายสัมพันธ์แนบแน่นของชุมชนซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่โรงเรียนทางเลือก รวมทั้งเป้าหมายขั้นสุดท้ายคือการขับไสชุมชนให้ละทิ้งบ้านเรือนไร่นา ภัยสยองที่เกิดขึ้นเป็นการจงใจกระทำและวางแผนมาล่วงหน้าเพื่อบีบชุมชนชาวพื้นเมืองออกจากดินแดนของบรรพบุรุษ ใครบ้างที่ได้ประโยชน์หากชาวลูมาดถูกขับไสออกไปจากแผ่นดินของตนเอง?

Header image from the MANILAKBAYAN NG MINDANAO website: http://www.manilakbayan.org/

สงครามล้างเผ่าพันธุ์

เกาะที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์เป็นภูมิลำเนาของประชากรชาวพื้นเมืองของประเทศนี้ในสัดส่วนค่อนข้างมาก โดยรวมแล้วประเมินว่ามีสัดส่วนถึงร้อยละสิบห้าของประชากรทั้งหมดในประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 ล้านคน (Journal of Philippine Statistics, 2008: 92)

เช่นเดียวกับชาวพื้นเมืองทั่วโลก ชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด มีความเป็นอยู่ยากลำบากอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การศึกษาและสิทธิมนุษยชน (UNDP, 2013:1) หน่วยงานพหุภาคีหลายหน่วยงาน เช่น สหประชาชาติ ตระหนักดีว่าชาวพื้นเมืองทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติและการกีดกันทั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและถูกกระทำอย่างเป็นระบบในปัจจุบัน   ประเด็นนี้เกิดขึ้นรุนแรงเป็นพิเศษในบริบทของกลุ่มประเทศที่ประชากรเสียงข้างมากมีอำนาจครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจ ชนกลุ่มน้อยในฟิลิปปินส์ เช่น ชาวลูมาดและชาวโมโรบนเกาะมินดาเนา ดำรงชีวิตในพื้นที่ที่ความยากจนหยั่งรากลึกที่สุดและร้ายแรงที่สุด (ADB, 2002: 33)

แต่นอกเหนือจากโครงสร้างเชิงสถาบันที่ทำให้ชาวพื้นเมืองและกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ เสียเปรียบแล้ว การใช้ความรุนแรงโจมตีชุมชนชาวลูมาดสะท้อนถึงความเป็นจริงที่มีปัญหาลึกซึ้งยิ่งกว่าคำว่า “การเลือกปฏิบัติเชิงโครงสร้าง” ความเป็นไปที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ คือสงครามล้างเผ่าพันธุ์ที่กองทัพและกลุ่มกองกำลังกึ่งทหารกระทำต่อชาวพื้นเมืองเกาะมินดาเนา เรื่องเล่าถึงความรุนแรงและการพลัดถิ่นฐานแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวพื้นเมืองบนเกาะมินดาเนาที่นิยามกลุ่มก้อนของตนภายใต้อัตลักษณ์ของการเป็นชาว “ลูมาด” อันที่จริง ความเป็นมาของคำคำนี้สะท้อนให้เห็นไม่เพียงประวัติศาสตร์การถูกกีดกันไปอยู่ชายขอบของชาวพื้นเมืองมินดาเนาในฟิลิปปินส์ แต่ยังสะท้อนถึงการขัดขืนอย่างกล้าหาญต่ออิทธิพลอำนาจต่างๆ ที่พยายามเสือกไสไล่ส่งพวกเขาออกจากภูมิลำเนา รวมทั้งพยายามลบเลือนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของพวกเขาด้วย

“ลูมาด” เป็นคำศัพท์ทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นในศัพทานุกรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงเผด็จการมาร์กอส นักกิจกรรมนำคำคำนี้มาใช้เรียกชาวพื้นเมืองที่ไม่ใช่ชาวโมโร ชาวพื้นเมืองกลุ่มนี้ตกเป็นเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่รัฐให้การสนับสนุน อันประกอบด้วยการขยายเขตการทำป่าไม้ การทำเหมือง และอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งรุกรานเข้าไปในดินแดนบรรพบุรุษของพวกเขา ในวันที่ 26 มิถุนายน 1986 ระหว่างการก่อตั้ง Lumad Mindanao People’s Federation ที่ Guadalupe Formation Center ซึ่งตั้งอยู่ที่บารังไกย์บาลินด็อก เมืองคิดาปาวัน จังหวัดนอร์ทโกตาบาโต สมัชชาของชาวพื้นเมือง 15 เผ่าจากที่มีอยู่ทั้งหมด 18 เผ่าบนเกาะมินดาเนามีมติให้ใช้คำว่า “ลูมาด” อย่างเป็นทางการเพื่อสร้างนิยามให้อัตลักษณ์รวมหมู่ของตนเอง (Panalipdan, 2014: 110 and Rodil, 1994: 34)

เมื่อเวลาผ่านไป คำคำนี้คลี่คลายขยายความหมายใช้เรียกอัตลักษณ์กลุ่มชนและการต่อสู้ของกลุ่มชาวพื้นเมืองที่ไม่ใช่คริสต์และไม่ใช่อิสลามในมินดาเนา พวกเขาไม่เพียงต้องเผชิญกับการถูกกีดกันไปอยู่ชายขอบทางประวัติศาสตร์ แต่ยังต้องประสบกับการรุกรานด้วยข้ออ้างการพัฒนาหลากหลายรูปแบบจากกองกำลังของรัฐที่ทำตัวเป็นด่านหน้าให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างชาติ นี่คือเรื่องราวที่มีร่วมกันของชาวพื้นเมืองมินดาเนาในบริบทที่รัฐชาติฟิลิปปินส์กลายเป็นเครื่องมือล่าอาณานิคมยุคใหม่ให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างชาติและชนชั้นนำเข้ามาขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติ

เรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงและการพลัดถิ่นฐานมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ มินดาเนาถูกร้อยรัดเข้าไปในเรื่องเล่าแม่บทแห่งชาติค่อนข้างช้ากว่าภูมิภาคอื่น ทั้งนี้เพราะมันมีสถานะเป็นเกาะที่ยังไม่ถูกพิชิตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการก่อกำเนิดชาติฟิลิปปินส์เมื่อปลายศตวรรษที่แล้ว ชาวโมโรและชาวลูมาดได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากลัทธิอาณานิคม โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น (Rodil, 1994)

ในยุคที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมอเมริกัน ภูมิทัศน์ทางสังคมและเศรษฐกิจของมินดาเนาเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬาร สืบเนื่องจากโครงการอพยพย้ายถิ่นที่ประสบความสำเร็จในระยะเวลาค่อนข้างสั้น ในขณะที่เจ้าอาณานิคมสเปนเคยพยายามทำแต่ไม่สำเร็จมานานกว่าสามร้อยปี นั่นคือการแผ่อิทธิพลของอาณานิคมครอบงำเศรษฐกิจและประชาชนบนเกาะมินดาเนา (Rodil,1994:37) การยึดริบที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบที่ตามมาหลังจากนั้นคือรากเหง้าความขัดแย้งที่สร้างความเสียหายร้ายแรงแก่เกาะทางตอนใต้แห่งนี้จนถึงปัจจุบัน

การทำป่าไม้ การเลี้ยงปศุสัตว์ อุตสาหกรรมเกษตรและการทำเหมือง ซึ่งกลุ่มธุรกิจอเมริกันเข้ามาปักหลักในหลายพื้นที่บนเกาะมินดาเนา แล้วต่อมาตกเป็นของชนชั้นนำชาวฟิลิปปินส์กลุ่มต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจของเกาะมินดาเนาผูกติดกับอุปสงค์ของระเบียบเศรษฐกิจโลก (Gaspar, 2000: 52) ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือการพลัดถิ่นฐานของผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมบนเกาะ นั่นคือชาวลูมาดและชาวโมโร นี่คือบริบททางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจการเมืองที่ทำให้พวกเขาถูกกีดกันไปอยู่ชายขอบเพื่อเอาใจกลุ่มประชากรหลักที่อพยพเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้ทำได้โดยอาศัยเครือข่ายรัฐ-กองทัพ-ธุรกิจของรัฐชาติฟิลิปปินส์คอยหนุนหลังนั่นเอง (โปรดดู Harvey, 2003: 167)

กลยุทธ์ในการซื้อตัวผู้นำชาวพื้นเมืองและสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่บิดเบี้ยวด้วยการติดสินบนและการใช้กำลังอย่างโหดร้ายทารุณเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงยุคปัจจุบันภายใต้เครือข่ายรัฐ-กองทัพ-ธุรกิจ ทั้งนี้เพราะชนชั้นนำทั้งสองยุคมีตรรกะของการขูดรีดทรัพยากรเหมือนกัน กองกำลังกึ่งทหารที่คอยรังควานชุมชนชาวพื้นเมืองก็มาจากชาวพื้นเมืองด้วยกันเองที่ถูกซื้อตัวและฉ้อฉล กองกำลังพวกนี้เป็นแนวหน้าผลักดันการยึดริบที่ดินของบรรพบุรุษเพื่อขยายการทำป่าไม้ การทำเหมืองและไร่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ กองทัพฟิลิปปินส์มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ มีจำนวนมากที่ได้รับการฝึกอาวุธและเกณฑ์ทหารภายใต้อำนาจทางกฎหมายของคำสั่งฝ่ายบริหารที่เรียกว่า Executive Order 264 ซึ่งออกมาในสมัยอดีตประธานาธิบดีคอรี อาคีโน ซึ่งมีคำสั่งให้ก่อตั้ง Citizen’s Armed Force Geographic Unit (CAFGU) เพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฏติดอาวุธในพื้นที่ชนบทของฟิลิปปินส์

Video documentary from Mindanao’s Save Our Schools network 

หุบเขาอันดัป (Andap Valley) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียน ALCADEV เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่ถูกเสนอสัมปทานเหมืองถ่านหินภายใต้โครงการ Philippine Energy Contracting Round ของกระทรวงพลังงาน มีการยื่นข้อเสนอเปิดเหมืองถ่านหินที่หุบเขาอันดัปมาตั้งแต่ปี 2005, 2006 และ 2009 สอดคล้องกับการเพิ่มกำลังทหารอย่างเข้มข้นในพื้นที่นั้น ในปี 2009 ในจังหวัดคารากาเพียงจังหวัดเดียวก็มีการเสนอพื้นที่ถึง 70,000 เฮกตาร์สำหรับทำเหมืองถ่านหิน (Caraga Watch, 2009: 9) ดิโอเนล กัมโปส ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ถูกกองกำลังกึ่งทหารกลุ่ม Magahat Bagani สังหาร เขาเป็นผู้นำชาวลูมาดของกลุ่มต่อต้านเหมืองถ่านหิน MAPASU (Malahutayong Pakigbisog Alang sa Sumusunod)

เราควรตีความการสังหารผู้นำชาวลูมาดและครูในชุมชนซิตีโออานายานอย่างโหดเหี้ยมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2015 โดยเชื่อมโยงกับบริบทข้างต้น การทำร้ายโจมตีอย่างเป็นระบบที่กระทำต่อผู้นำชาวพื้นเมือง โรงเรียนและชุมชน ควรนำมาเชื่อมโยงกับมูลค่าทางเศรษฐกิจของที่ดินบรรพบุรุษของชาวพื้นเมืองในสายตาของกลุ่มผลประโยชน์ที่ตักตวงจากการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินถึงครึ่งล้านเฮกตาร์บนเกาะมินดาเนาถูกจับจองด้วยสัมปทานเหมืองที่กระหายอยากขุดค้นแหล่งแร่มูลค่ามหาศาลบนเกาะทางตอนใต้แห่งนี้ มีการประเมินว่าที่นี่เป็นแหล่งแร่ทองแดงอันดับ 4 ทองคำอันดับ 3 นิกเกิลอันดับ 5 และโครเมียมอันดับ 6 ของโลก (Manilakbayan 2015)

การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง: กรณีชาวลูมาด

ความรุนแรงและการพลัดถิ่นที่เกิดขึ้นกับชาวลูมาดบนเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะถิ่นหรือแปลกประหลาดสำหรับประเทศนี้ กรณีคล้ายๆ กันที่มีการรุกรานทำร้ายชาวพื้นเมืองทั่วโลกเกิดขึ้นในระดับเดียวกันหรือโหดร้ายทารุณยิ่งกว่า ประสบการณ์อันเลวร้ายต่อเนื่องของชาวปาปัวตะวันตกภายใต้รัฐบาลอินโดนีเซียหลายชุดหลายสมัย รวมทั้งชาวพื้นเมืองในละตินอเมริกาและชาวอเมริกันพื้นเมืองในอเมริกาเหนือที่ตกเป็นเหยื่อมาตลอด ชี้ให้เห็นความเป็นจริงทางเศรษฐกิจการเมืองระดับโลกที่เป็นบริบทใหญ่ของความรุนแรงและการพลัดถิ่นฐาน

 เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) ได้ให้ความกระจ่างทางทฤษฎีว่าทำไมเหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้น โดยอ้างถึงแนวคิดของมาร์กซ์ว่ากระบวนการสะสมทุนแบบบุพกาลยังไม่จบสิ้นและตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ สิ่งที่ชาวลูมาดและกลุ่มชาวพื้นเมืองอื่นๆ ทั่วโลกต้องประสบคือตัวอย่างของ “การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง” (accumulation by dispossession)

 เมื่อต้องเผชิญกับอุปสงค์ที่ซบเซา ทุนจะหาหนทางลงทุนใหม่และสร้างกำไรด้วยการลดต้นทุนการผลิตผ่านกระบวนการที่ฮาร์วีเรียกว่า “การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง” เขากล่าวว่ามันมี “ความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างการผลิตซ้ำที่ขยายตัวในด้านหนึ่งกับกระบวนการปล้นชิงที่มักใช้ความรุนแรงในอีกด้านหนึ่ง….” (Harvey, 2003: 141-142)   พื้นที่ชายแดนใหม่ๆ เหล่านี้ถูกรุกรานเพื่อขูดรีดทรัพยากรที่ยังไม่มีใครแตะต้องอย่างเสรีและไม่บันยะบันยัง มันคือกระบวนการต่อเนื่องของการสะสมทุนแบบบุพกาลผ่านการปล้นชิงในยุคสมัยปัจจุบัน

 “สิ่งที่การสะสมทุนด้วยการปล้นชิงทำก็คือการปลดปล่อยสินทรัพย์ชุดหนึ่ง (รวมทั้งกำลังแรงงาน) ด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก (และในบางกรณีเท่ากับศูนย์) ทุนที่สะสมล้นเกินสามารถยึดครองสินทรัพย์ดังกล่าวและนำมันมาใช้เพื่อแสวงหากำไรทันที” (Harvey, 2003: 147)

สินทรัพย์ที่มีมูลค่าในรูปของแร่และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ บังเอิญตั้งอยู่ในที่ดินบรรพบุรุษของชาวลูมาดหรือชาวพื้นเมือง ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงเป็นชนวนให้เกิดสงครามล้างเผ่าพันธุ์ที่รัฐชาติฟิลิปปินส์และเครือข่ายรัฐ-กองทัพ-ธุรกิจกระทำต่อชนกลุ่มน้อยในประเทศของตัวเอง

Arnold P. Alamon
Mindanao State University-Iligan Institute of Technology

References:

Asian Development Bank, “Indigenous Peoples/Ethnic Minorities and Poverty Reduction: Philippines,” from https://www.adb.org/publications/indigenous-peoples-ethnic-minorities-and-poverty-reduction-philippines accessed November 20, 2016
Baird, I. (2011). Turning land into capital, turning people into labour: primitive accumulation and the arrival of large-scale economic land concessions in the Lao People’s Democratic Republic in New Proposals: Journal of Marxism and Interdisciplinary Inquiry Vol. 5, No. 1 (November 2011) pp. 10-26.
Brizuela, Maricar B. (2015) “Miners accused of funding militias in Surigao Sur” from http://newsinfo.inquirer.net/722256/mining-firms-accused-of-funding-militia-groups-in-surigao-del-sur accessed December 16, 2016.
Caraga Watch (2009) Mining in Caraga [pdf version].
Gaspar, Karl (2000) The Lumad’s struggle in the face of globalization. Davao City: AFRIM, Inc.
Harvey, D. (2003). The new imperialism. Oxford: Oxford University Press.
Interaksyon.com (2015) “Head of tribal school, lumad leader slain by militia in Surigao del Sur” from http://interaksyon.com/article/116906/breaking–head-of-lumad-school-tribal-leader-slain-by-militia-in-surigao-del-sur accessed December 16, 2016.
Journal of Philippine Statistics, Volume 59 Number 4, Fourth Quarter 2008 from https://psa.gov.ph/sites/default/files/4thQ2008_0.pdf accessed November 19, 2016.
Manilakbayan ng Mindanao (2015). Support Manilakbayan ng Mindanao 2015. From http://www.rmp-nmr.org/downloads/2015/09/29/manilakbayan-ng-mindanao-2015-brochure accessed November 15, 2016.
Najcevska, Mirjana “Structural Discrimination –Definitions, Approaches and Trends” from http://www.ohchr.org/Documents/Issues/Racism/IWG/Session8/MirjanaNajcevska.doc accessed July 4, 2015.
Panalipdan Mindanao, InPeace Mindanao and the Rural Missionaries of the Philippines (2014) Undermining patrimony: the large-scale mining plunder in Mindanao. Quezon City: Rural Missionaries of the Philippines.
Rodil, B.R. (1994) The minoritization of the indigenous communities of Mindanao and the Sulu archipelago. Davao City: AFRIM, Inc.
UNDP, “Indigenous Peoples in the Philippines,” from Fast Facts: Lagom from http://www.ph.undp.org/content/philippines/en/home/library/democratic_governance/FastFacts-IPs.html accessed November 19, 2016.