ฆาตกรรมกับความถดถอยในสยาม: จากมือปืนรับจ้างถึงคนในเครื่องแบบ

Prajak Kongkirati

การลอบสังหารทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งในช่วงปลายทศวรรษ 1970 สังคมไทยพบว่าปรากฏการณ์ที่มือปืนอาชีพลอบสังหารสมาชิกรัฐสภา นักธุรกิจใหญ่ที่เพิ่งร่ำรวยขึ้นมา เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลตามต่างจังหวัดและหัวคะแนน กลายเป็นข่าวที่เกิดขึ้นถี่กว่าเดิม การลอบสังหารทางการเมืองเป็นธุรกิจฆาตกรรมเอกชนที่เกี่ยวโยงกับการแข่งขันในการเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่น คู่แข่งทางการเมืองและธุรกิจมักว่าจ้างมือปืนไปเก็บฝ่ายตรงข้าม มือปืนส่วนใหญ่เป็นนักลอบสังหารอาชีพ อดีตยามรักษาความปลอดภัย นักเลงชั้นต่ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่แอบรับงานพิเศษ ความรุนแรงมักเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีแนวโน้มจะชนะถูกคู่แข่งข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง ลักพาตัวหรือฆ่าทิ้งในระหว่างการรณรงค์หาเสียง หัวคะแนนแปรพักตร์ถูกเจ้านายตัวเองฆ่าทิ้ง และหัวคะแนนของฝ่ายชนะถูกปรปักษ์จากฝ่ายตรงข้ามกำจัด  เบเนดิกท์ แอนเดอร์สันให้เหตุผลว่า การที่ฆาตกรรมจากแรงจูงใจทางการเมืองเกิดขึ้นแพร่หลายมากกว่าเดิมในช่วงปลายทศวรรษ 1980 สะท้อนให้เห็นว่า สมาชิกรัฐสภามี “มูลค่าการตลาด” สูงขึ้นในประเทศไทย นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญมากขึ้นในการกำหนดว่าใครจะได้อำนาจทางการเมือง การฆาตกรรมผู้สมัครรับเลือกตั้งและหัวคะแนนที่เกิดขึ้นถี่ๆ จึงเป็นดัชนีชี้วัด “ความก้าวหน้า” ของระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาในประเทศไทย (Anderson 1990) มันเป็น “ความก้าวหน้า” ที่มีราคาแพงอย่างแท้จริง

จากการวิจัยของผู้เขียน การว่าจ้างมือปืนที่พัวพันกับความรุนแรงในการเลือกตั้งมีการรายงานข่าวครั้งแรกในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2519 การสังหารอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงครามเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519 เป็นสัญญาณบ่งบอกจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรงต่อตัวบุคคล จากการสืบสวนของตำรวจ ความตายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นี้มีต้นตอจากความขัดแย้งทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามระหว่างการหาเสียง เพียงไม่กี่เดือนหลังการเลือกตั้ง แก๊งมือปืนรับจ้างก็ยิงเขาเสียชีวิตด้วยอาวุธหนักในระยะประชิด สองสัปดาห์หลังจากนั้น ตำรวจจับผู้ต้องหาได้คนหนึ่ง มือปืนที่ถูกจับรับสารภาพว่าเขารับเงินค่าจ้าง 30,000 บาทเพื่อปฏิบัติงานนี้ ทีมของเขามีสมาชิกสามคน หัวหน้าทีมเป็นทหารปลดประจำการที่ถูกไล่ออกจากหน่วยเพราะความประพฤติมิชอบ จากการสอบปากคำของตำรวจ “แก๊งรับจ้างฆ่า” ยังมีสัญญาว่าจ้างให้ลอบสังหารนักการเมืองคนอื่นอีกด้วย 1

ในประเทศไทย มือปืนรับจ้างทำงานให้ใครก็ได้ที่มีเงินจ่าย มือปืนเหล่านี้หาตัวง่าย ไม่ต้องมีความสัมพันธ์ส่วนตัว มีประสิทธิภาพและกล้าได้กล้าเสีย กล่าวคือมีความเป็นนักประกอบการธุรกิจมืออาชีพในความหมายดั้งเดิมที่สุด ธุรกิจมือปืนรับจ้างมีความเชื่อมโยงกับการเติบโตขององค์กรอาชญากรรมและธุรกิจใต้ดินในมหานครกรุงเทพฯ ช่วงทศวรรษ 1950 มือปืนรับจ้างทำหน้าที่คุ้มครองภาคเศรษฐกิจผิดกฎหมาย (การพนัน ยาเสพย์ติด การค้าประเวณี) โดยการกำจัดคู่แข่ง ผู้ก่อกวนหรือ “อุปสรรคที่ไม่คาดหมาย” (สุริยัน 2532) ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 การจ้างวานฆ่าขยายเข้าไปพัวพันกับการแข่งขันในการเลือกตั้ง เมื่อมีอุปสงค์เพิ่มขึ้น ธุรกิจนี้ก็ทำกำไรมหาศาลและดึงดูดผู้คนเข้ามาในวงการจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่านไป ตลาดมือปืนรับจ้างเริ่มมีโครงสร้างชัดเจน วางรากฐานมั่นคงและมีการแข่งขันกันเอง

ธุรกิจมือปืนรับจ้างดึงดูดผู้คนจากหลากหลายอาชีพ มีตั้งแต่คนว่างงาน อาชญากรวัยรุ่น อันธพาลท้องถิ่น ชาวนา แรงงานด้อยฝีมือ คนขับรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ช่างซ่อมงานเล็ก ๆ น้อย ๆ และนักกีฬา มันยังเป็นโอกาสหาลำไพ่พิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เจ้าหน้าที่รัฐบางคนแกล้งหลับหูหลับตาและหากำไรจากธุรกิจรับจ้างฆ่า พวกเขาอาศัยการฝึกฝนด้านการใช้กำลังในสายอาชีพของตนมาหาผลประโยชน์ส่วนตัว มีเจ้าหน้าที่จำนวนมากใช้เวลานอกราชการแอบทำงานเป็นมือปืนรับจ้าง ผู้ว่าจ้างเองก็นิยมใช้บริการของ “ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ความรุนแรงของรัฐ” เพราะคนเหล่านี้ไม่เพียงเยือกเย็นและฝึกฝนมาดีที่สุดเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลวงในเกี่ยวกับกระบวนการและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาด้วย 2  อีกทั้งคนเหล่านี้จำนวนมากได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มีตำแหน่งสูงขึ้นไป ซึ่งเรียกกันว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจ/ทหารมาเฟีย” ที่พัวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย สำหรับรัฐบาล “มือปืนในเครื่องแบบ” คือกลุ่มที่อันตรายที่สุดและจับกุมยากที่สุด 3 คดีที่อื้อฉาวที่สุดคือคดีของผู้พัน “ต.” (นามแฝง) ซึ่งโด่งดังมากในยุคทศวรรษ 1980 โดยขึ้นชื่อว่าเป็นนายทหารจอมโหดเหี้ยมฉ้อฉล เขากับลูกน้องมักรีดไถเงิน รับจ้างทวงหนี้และค้าของเถื่อน เมื่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 1990 ผู้รับเหมาก่อสร้างจ้างเขาเป็นผู้คุ้มครองและคอยช่วยนักพัฒนาที่ดินที่ใช้กลโกงขับไล่ผู้อยู่อาศัยในที่ดิน ถ้าผู้อยู่อาศัยขัดขืน ผู้พันก็ใช้กำลังบังคับขับไล่และเผาบ้านเรือนทรัพย์สินทิ้ง ในตอนหลัง ผู้พัน ต. สร้างธุรกิจมือปืนรับจ้างของตัวเองขึ้นมาโดยสวมบทบาทเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและมือปืนพร้อมๆ กัน ซุ้มมือปืนของเขาประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐยศต่ำกว่าอีก 5-6 คนและรับงานเฉพาะการเก็บคนดังๆ เท่านั้น ผลงานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังทั้งประเทศและกลายเป็นจุดสิ้นสุดอาชีพรับจ้างฆ่าอันยาวนานคือการลอบสังหารอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรในปี พ.ศ. 2544 4 ผู้พัน ต. เป็นแค่ตัวอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐอีกไม่น้อยที่ผันตัวมาแอบทำธุรกิจรับจ้างฆ่า ข้อมูลบ่งชี้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ความรุนแรงของรัฐทั้งที่ยังรับราชการและนอกราชการจำนวนมากมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับธุรกิจการใช้ความรุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐกับธุรกิจการใช้ความรุนแรงมีโยงใยพัวพันที่ฝังรากลึกอย่างยิ่ง 5

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 การเลือกตั้งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะกลไกการได้มาและรักษาอำนาจ รวมทั้งการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย ทศวรรษ 1980 และ 1990 เราได้เห็นโครงสร้างที่เปลี่ยนไปอย่างถึงรากถึงโคนของการเมืองไทย จาก “เผด็จการทหาร-ราชการ” กลายเป็นระบบการเมืองรัฐสภา อันที่จริง มีการถ่ายโอนอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากกลุ่มผู้นำเก่าในระบบราชการและกองทัพมาสู่เครือข่ายใหม่ของกลุ่มชนชั้นนำทางธุรกิจทั้งระดับชาติและท้องถิ่น การโยงใยและการผนึกกำลังของกลุ่มผลประโยชน์เติบโตขึ้นจากขุมพลังนอกระบบราชการและสร้างผลกระทบต่อกระบวนการวางนโยบายพอสมควร ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกกันว่า “ธนกิจการเมือง” ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่การคอร์รัปชั่นและการหาเสียงเลือกตั้งอย่างไม่มีกฎกติกา ธนกิจการเมืองก่อให้เกิดผลเสียที่รับรู้กันเป็นวงกว้าง จนนำไปสู่การก่อตัวของขบวนการปฏิรูปการเมืองในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งลงเอยด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มีเป้าหมายหลักคือควบคุมระบบธนกิจการเมืองและลิดรอนอิทธิพลของนักการเมืองที่มีลักษณะเจ้าพ่อ หลังจากที่นำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้ ผู้สันทัดกรณีต่างคาดหมายว่าการโกงเลือกตั้งทุกรูปแบบ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง จะหมดสิ้นไปหรือลดลงอย่างมาก กระนั้นก็ตาม การใช้ความรุนแรงกับการข่มขู่ก็ยังเป็นวิธีการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองใช้เพื่อเข้าสู่อำนาจอยู่ดี

วงจรของการเมืองไทยและแบบแผนของการลอบสังหารทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากภายหลังกองทัพทำรัฐประหารในปี 2549 หลังจากปี 2549 ชนชั้นนำตามจารีตประเพณีลิดรอนความเข้มแข็งของรัฐสภาและระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งลงอย่างมาก ทั้งนี้โดยอาศัยการแทรกแซงของกองทัพ ตุลาการภิวัฒน์และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมฝ่ายปฏิกิริยาเป็นเครื่องมือ ชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาครอบงำเหนือระบบการเมือง การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกับกองทัพทำให้สังคมไทยเข้าสู่จุดอับตันและสืบทอดวงจรความรุนแรงต่อไป ปัญญาชนและผู้สนับสนุนการรัฐประหารหลายคนยกย่องรัฐประหาร 2549 ว่าเป็นการรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเนื้อ แต่เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลายไปเรื่อยๆ กลับเห็นได้ชัดว่ารัฐประหารครั้งนี้มีความรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในแง่ของผลกระทบที่ตามมา รัฐประหารครั้งนี้นำไปสู่การตายและการบาดเจ็บของผู้คนจำนวนมาก พร้อมๆ กับความขัดแย้งที่ขยายตัวมากขึ้น การแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองที่รุนแรงยิ่งขึ้น และทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างกองกำลังฝ่ายความมั่นคงกับผู้ประท้วงและระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เมื่อพิจารณาดูปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สังคมไทยประสบนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เราเห็นความรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการเติบโตขยายตัวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่พร้อมจะใช้ความรุนแรง (ทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง) การใช้แก๊งนักเลงและอันธพาลในการปะทะทางการเมือง กองกำลังกึ่งทหารที่ปรากฏตัวขึ้นและเข้ามามีส่วนพัวพันในการประท้วง (ไม่ว่าจะสังกัดขบวนการหรือกระทำการโดยเอกเทศ) การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงที่สังกัดคนละขบวนการ กองทัพที่กลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งและกดขี่ปราบปรามพลเมืองอย่างรุนแรง การที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงเลือกใช้กำลังจัดการกับผู้ประท้วง การที่กองทัพใช้สไนเปอร์สังหารผู้ประท้วง การลอบสังหารผู้นำขบวนการมวลชนกลางวันแสกๆ ทั้งที่มีประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว การวางระเบิดในเมืองหลวงโดยมุ่งเป้าอาคารรัฐบาลและที่ตั้งของการประท้วง การที่ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันนำอาวุธสงครามมาใช้กันดาษดื่น

Soldiers of the Royal Thai Army take cover near a Red Shirt barricade in Bangkok.
By Roland Dobbins from Singapore, Singapore – L1002468, CC BY 2.0, Link

การสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เมื่อรัฐบาลสั่งกองทัพให้ปราบปรามการประท้วงของคนเสื้อแดงที่มี “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) เป็นแกนนำ ผู้ประท้วงยึดพื้นที่บางส่วนในใจกลางกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 การสลายการชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นจุดสูงสุดของการใช้ความรุนแรงทางการเมือง การปะทะกันระหว่างกองทัพกับคนเสื้อแดงในบริเวณรอบๆ พื้นที่การประท้วงสิ้นสุดลงด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ประชาชนเสียชีวิต 94 คนและบาดเจ็บอีกหลายพันคน 6 เหตุการณ์ความรุนแรงในยุคหลังรัฐประหาร 2549 ชี้ให้เห็นแบบแผนการใช้ความรุนแรงแบบใหม่ในประเทศไทย กองทัพกลับมายึดบทตัวเอกในโรงละครการเมือง ลงมือกระทำการอย่างโหดร้ายทารุณที่สุดและเป็นตัวการที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตมีสัดส่วนสูงมาก การสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นการกดขี่ปราบปรามทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการมีจำนวนมากกว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองทั้งสามครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือ การลุกฮือที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำในปี 2516 การสังหารหมู่ในปี 2519 และการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2535 (ศปช. 2555) การที่รัฐหวนกลับมาใช้ความรุนแรงอีกครั้งภายหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นผลเสียต่อความก้าวหน้าทางการเมืองอย่างยิ่งเพราะมันนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตย หากจะล้อคำกล่าวของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สันก็ต้องบอกว่ามันเป็น “ความรุนแรงที่ไร้ความก้าวหน้า”

ความรุนแรงภายหลังรัฐประหาร 2549 มีต้นตอมาจากความเปราะบางของชนชั้นนำตามจารีตประเพณีและอำนาจที่สึกกร่อนลงของพวกเขาในยุคประชาธิปไตยประชานิยมและการเมืองมวลชนที่พัฒนาขึ้นมานับตั้งแต่มีการใช้รัฐธรรมนูญ 2540  ชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งใช้ความรุนแรงล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยและรวบอำนาจไว้ในมืออีกครั้ง ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตัวเองในปี 2557 เมื่อรัฐบาลทหารในชื่อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นสู่อำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 หลังจากทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ รัฐประหาร 2557 คือการฉุดลากประเทศไทยถอยหลังกลับไปสู่การปกครองแบบอำนาจนิยมที่มีกองทัพคอยกดขี่ประชาชนคล้ายรัฐบาลกำปั้นเหล็กของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในยุคทศวรรษ 1950 ในสมัยนั้นระบบราชการและกองทัพครอบงำการเมืองโดยแสวงหาการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์ (Thak 1979) ภายใต้ระบอบทหารที่คอยกดปราบประชาชน เสรีภาพของพลเมืองถูกจำกัด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกเซ็นเซอร์ ผู้วิพากษ์วิจารณ์ถูกดำเนินคดีและกิจกรรมทางการเมืองถูกสั่งห้าม นับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา เหล่านายพลตั้งตัวเป็นชนชั้นปกครองกลุ่มใหม่ ยกสถานะ ขยายขอบเขตอำนาจ งบประมาณและกำลังพลให้ตัวเอง นายทหารเหล่านี้ยังพยายามรักษาอำนาจต่อไปด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างความอ่อนแอให้ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก กัดกร่อนความเข้มแข็งของพรรคการเมืองและภาคประชาสังคม (Prajak 2016) นับเป็นอีกครั้งหนึ่งในราชอาณาจักรอันง่อนแง่นที่มีแต่การรัฐประหารกับความรุนแรง คนในเครื่องแบบถือปืนกลับมายืนกลางเวทีอีกคำรบ และยังมองไม่เห็นว่าพวกเขาจะกลับเข้ากรมกองอีกเมื่อไรในอนาคตที่พอมองเห็นได้ขณะนี้

ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

REFERENCES

Anderson, Benedict (1990), “Murder and Progress in Modern Siam,” New Left Review, no.181 (May-June): 33-48.
Nostitz, Nick (2009), Red VS. Yellow (Bangkok: White Lotus).
People’s Information Center (2012), Khwamching phuea khwamyutitham: Het kan lae phonkrathop chak kan salai kan chumnum me sa phruetsa pha 53 [Truth for Justice: the April-May 2010 Crackdown] (Bangkok: PIC).
ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมฯ (ศปช.) (2555), ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษาพฤษภา 53 (กรุงเทพฯ: ศปช.)
Prajak Kongkirati (2016). “Thailand’s Failed 2014 Election: The Anti-Election Movement, Violence and Democratic Breakdown, ” Journal of Contemporary Asia 46 (3): 467-485.
Sirirat Burinkun (2005), “Botbat thahan mafia nai sangkhom thai” [The Roles of Mafia Soldiers in Thailand], M.A. thesis, Thammasat University.
ศิริรัตน์ บุรินทร์กุล (2548), “บทบาททหารมาเฟียในสังคมไทย” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Suriyan Sakthaisong (1989), Senthang mafia [Mafia’ Paths] (Bangkok: Matichon).
สุริยัน ศักดิ์ไธสง (2532), เส้นทางมาเฟีย, (กรุงเทพฯ: มติชน)
Thak Chaloemtiarana (1979), Thailand: The Politics of Despotic Paternalism (Bangkok: Social Science Association of Thailand).

 

Notes:

  1. ไทยรัฐ, 17-18, 20, 30 พฤศจิกายน 2519.
  2. สัมภาษณ์, เจ้าของธุรกิจคุ้มครองใต้ดิน, กรุงเทพ, 6 เมษายน 2555.
  3. สัมภาษณ์, เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสในกองบังคับการปราบปราม, กรุงเทพ, 11 เมษายน 2555.
  4. การลอบสังหารครั้งนี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในจังหวัดยโสธร วันที่ 29 กันยายน 2549 ศาลฎีกาตัดสินลงโทษประหารชีวิตผู้พัน “ต.” กับทหารคนสนิทของเขาอีกสองคน (ศิริรัตน์ 2548: 53-54; ผู้จัดการรายวัน, 27 ตุลาคม 2552)
  5. สัมภาษณ์, เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสในกองบังคับการปราบปราม, กรุงเทพ, 11 เมษายน 2555; สัมภาษณ์, ผู้สื่อข่าวแนวสืบสวนกิจการกองทัพสองราย, 12 เมษายน 2555, 20 เมษายน 2555.
  6. เรื่องราวของการปะทะและการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร โปรดดู Nostitz 2009; ศปช. 2555.