ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายของนักเคลื่อนไหวที่ประสานกันอย่างกว้างขวางทั้งใน สปป.ลาวและต่างประเทศช่วยกันผลักดันให้มีการแทรกแซงเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริม “การสร้างความเข้มแข็งแก่การถือครองที่ดินเชิงจารีตประเพณี” เป้าหมายคือการวางรากฐานความคุ้มครองทางกฎหมายแก่สิทธิของชุมชนชนบทต่อที่ดิน-ป่าส่วนรวม (forest-land commons) ในบริบทที่การล้อมเขตที่ดินกำลังแพร่สะพัดสืบเนื่องจากการยึดครองที่ดินขนาดใหญ่ การสร้างหลักประกันแก่สิทธิถือครองที่ดินควรได้รับการส่งเสริมจากกระบวนการวางแผนการใช้ที่ดินโดยประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนากระบวนการที่ทำให้เกิดสถานะทางกฎหมาย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการจดทะเบียนและให้เอกสารสิทธิ์แก่ที่ดินชุมชนหรือคณะบุคคลให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ถึงแม้มีการริเริ่มนำร่องบ้างแล้ว แต่ความคืบหน้าสู่เป้าหมายก็ยังไม่ต่อเนื่อง 1
ในระดับหมู่บ้าน กระบวนการในท้องถิ่นที่ทำให้ภาคเกษตรกรรมกลายเป็นการพาณิชย์ยังคงเดินหน้าต่อไป การเปลี่ยนผ่านในภาคกสิกรรมของลาวมีผลตามมาคือการล้อมเขตที่ดินระบาดไปทั่ว ทั้งในแบบ “จากเบื้องบน” (กล่าวคือ การยึดครองที่ดินของรัฐ-บรรษัทเพื่อโครงการด้านธุรกิจเกษตรและโครงสร้างพื้นฐาน) และการแปรรูปที่ดิน “จากเบื้องล่าง” (กล่าวคือ ผู้ถือครองที่ดินรายย่อยหันมาปลูกพืชผลเพื่อการค้า รวมทั้งการให้เช่าและการขายที่ดินในหมู่บ้าน) ในขณะที่การลงทุนด้านการค้าช่วยเกื้อหนุนรายได้ยังชีพส่วนสำคัญแก่ชาวชนบทจำนวนมาก แต่สภาพการณ์ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสมบัติส่วนรวมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งประเทศลาว ในบริบทเช่นนี้ การคุ้มครองสิทธิถือครองที่ดิน-ป่าส่วนรวมตามจารีตประเพณีของหมู่บ้านจึงเป็นประเด็นสำคัญทั้งต่อนโยบายที่ดินและเป็นปัญหาเชิงประจักษ์ที่ซับซ้อน ซึ่งท้าทายต่อการแก้ไขเชิงนโยบายแบบสูตรสำเร็จ
ในการเข้ามามีส่วนร่วมครั้งนี้ เราเสนอว่าประเด็นหัวใจสำคัญเกี่ยวกับการสร้างสถานะทางกฎหมายแก่สิทธิที่ดินในลาวไม่ใช่แค่เรื่องเล่าแม่บทว่า ที่ดิน-ป่าตามจารีตประเพณีสามารถใช้เป็นพื้นฐานการยังชีพประจำวันในชนบท อีกทั้ง (อาจ) เป็น “โครงข่ายความปลอดภัย” แก่คนจนในยามฉุกเฉิน อุปลักษณ์ของโครงข่ายความปลอดภัยอาจเป็นการดูแคลนเกษตรกรลาวด้วยการจัดประเภทอย่างมักง่ายให้เป็นแค่ “กลุ่มยังชีพ” ซึ่งไม่ช่วยให้เข้าใจว่าวิถีการยังชีพในชนบทเกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยมกสิกรรมอย่างไร จากแนวคิดที่ Haroon Akram-Lodhi และ Cristóbal Kay เรียกว่า “หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้า” (Non-Commodified Subsistence Guarantees) ความมุ่งหมายของเราคือชี้ให้เห็นว่าที่ดินชุมชนและที่ดินตามจารีตประเพณีสามารถใช้เป็นกันชนต้านพลังการขับไสของระบบทุนนิยมกสิกรรม รวมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรสำหรับการพึ่งตัวเองในชนบทของลาว 2 กระนั้นก็ตาม จากข้อมูลของนักวิจัย กรรมสิทธิ์ต่อที่ดินชุมชนและที่ดินจารีตประเพณีกำลังเปลี่ยนไป อีกทั้งตัวเกษตรกรเองส่วนใหญ่ก็เข้ามาอยู่ในสายโซ่มูลค่าของธุรกิจเกษตรสมัยใหม่และตลาดที่ดิน ความท้าทายจึงไม่ใช่แค่สร้างการคุ้มครองที่ดินตามจารีตประเพณี แต่รวมถึงการแสวงหาแนวคิด “การสร้างความเป็นส่วนรวม” (กล่าวคือ การยกเลิกความเป็นสินค้าของที่ดินตามจารีตประเพณีเป็นบางส่วน) ในลักษณะที่เหมาะสมกับท้องถิ่น รวมทั้งสอดคล้องกับความปรารถนาและความต้องการในวิถีชีวิตแบบหมู่คณะในชุมชน
การล้อมเขตที่ดินของระบบทุนนิยมและการผลิตแบบกสิกร
การอภิปรายโดยสังเขปเกี่ยวกับแนวคิดสำคัญในการศึกษากสิกรรมเชิงวิพากษ์ (Critical Agrarian Studies) น่าจะช่วยให้ข้อถกเถียงของเรากระจ่างชัดยิ่งขึ้น ดังที่ Akram-Lodhi สรุปไว้ว่า ปัญหาที่ดินในด้านกสิกรรมมีพื้นฐานเกี่ยวโยงกับคำถามว่า “ใครควบคุม [ที่ดิน] ควบคุมอย่างไร และควบคุมเพื่อจุดประสงค์อะไร” 3 การล้อมเขตที่ดินถูกนิยามเป็น “การแปรรูปสินทรัพย์ที่มีความเจาะจงด้านเทศะ” 4 สำหรับ Akram-Lodhi เราสามารถเข้าใจทั้งการล้อมเขตที่ดินและการปรากฏของระบบทุนนิยมว่า “มีรากเหง้าอยู่ในการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและความหมายของความสัมพันธ์ของสิทธิครอบครองในสังคม (Social Property Relations)” 5 ทุนมักมีขีดจำกัดแบบหนึ่ง นั่นคือชายแดน ซึ่งไม่เพียงหมายถึงเทศะตรงชายขอบในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่รวมถึง “เทศะใดๆ ในชีวิตทางสังคมที่ยังไม่ตกเป็นอาณานิคมของความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบทุนนิยม” 6 ขีดจำกัดแบบที่สองคือแหล่งทรัพยากรที่ใช้เลี้ยงดูสังคมโดยไม่ตกอยู่ใต้อำนาจตรรกะทางการเงินของทุน ซึ่งรวมถึงปัจจัยการยังชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาด
ภายใต้ความสัมพันธ์แบบทุนนิยมในภาคกสิกรรม ที่ดินย่อมถูกเปลี่ยนเป็นทุน ก่อให้เกิดการสะสมทุน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการพลัดถิ่น ครัวเรือนที่อยู่ตรงชายขอบทางเศรษฐกิจอาจอาศัยการยังชีพพื้นฐานที่ได้จากที่ดินในครอบครองผสมผสานกับการขายแรงงาน แต่ครัวเรือนใดที่ไม่สามารถสะสมทุนเพื่อการลงทุนใหม่ๆ ในด้านเทคโนโลยีหรือที่ดิน หรือตกเป็นเหยื่อของพลวัตหนี้สิน ก็อาจจำเป็นต้องขายที่ดินในครอบครองตามตรรกะของการสะสมทุน ลงทุนซ้ำหรือล้มหายตายจากไป หรืออีกทางเลือกหนึ่ง การสามารถรักษาฐานที่มั่นในปริมณฑลการผลิตที่ไม่ต้องอาศัยตลาด (เช่น การเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรตามจารีตประเพณี) ถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญสำหรับการดำรงชีพของผู้ถือครองที่ดินรายย่อย Akram-Lodhi และ Kay เขียนไว้ว่า
การควบคุมที่ดินอาจนำมาซึ่งช่องทางการผลิตเพื่อการใช้สอยโดยตรง หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้าช่วยให้กสิกรมีอิสระจากทุนในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจช่วยให้มีการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน แม้จะไม่เอื้อต่อการสะสมทุนก็ตาม 7
“หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้า” เช่นนี้ อย่างน้อยก็ให้การค้ำจุนขั้นพื้นฐานต่อผู้ถือครองที่ดินรายย่อย (แม้อาจไม่ใช่โครงข่ายความปลอดภัยยามฉุกเฉินเสมอไปก็ตาม) ในกรณีอื่นๆ การรักษาที่ดิน-ป่าและทรัพยากรชุมชนของบางหมู่บ้านให้เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้าอาจช่วยให้สมาชิกชุมชนสามารถรับมือกับปัญหาขาดแคลนช่องทางการเข้าถึงตลาดแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ที่ดินถูกล้อมเขตโดยปราศจากช่องทางการจ้างงานรองรับ ในแง่นี้ หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้าอาจจัดเป็นการมีหลักทรัพย์หลากหลายในรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่มันเป็นรูปแบบที่อยู่นอกหรืออย่างน้อยก็มีระยะห่างจากตรรกะและเงื่อนไขข้อบังคับของตลาด 8
ที่ดินตามจารีตประเพณีและที่ดินชุมชนเชิงกสิกรรมในประเทศลาวยังมีความสำคัญด้านอื่นๆ ต่อแรงงานด้วย ในขณะที่คนหนุ่มสาวมักโอนเอียงไปข้างนิยมการทำงานรับค่าจ้างในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเพื่อหารายได้เป็นเงินสดมากกว่า แต่ตำแหน่งงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มักมีความเสี่ยงและความง่อนแง่นระดับหนึ่ง ดังนั้น เงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจของแรงงานย้ายถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเงื่อนไขอย่างอื่นไม่แตกต่างกัน ครัวเรือนของกสิกรที่ยังรักษาการเข้าถึงที่ดินที่ทำการผลิตได้มักอยู่ในจุดที่สามารถต่อรองในตลาดแรงงานได้มากกว่า หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้ายังคงเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการยังชีพบางส่วนที่เป็นอิสระจากโครงการธุรกิจที่รัฐและบรรษัทหนุนหลัง ซึ่งเป็นไปได้ที่จะมีการบริหารผิดพลาด ล้มเหลว หรือตกอยู่ภายใต้การสอดส่องและควบคุมทางการเมืองรูปแบบใหม่ๆ สร้างข้อจำกัดแก่เสรีภาพของเกษตรกรในการบริหารที่ดินและทรัพยากรของหมู่บ้านตามจารีตและความต้องการของตัวเอง
“หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้า” ในชนบทของลาว
เช่นเดียวกับที่อื่นๆ กระบวนการเปลี่ยนผ่านในระบบกสิกรรมของลาวทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับชะตากรรมของเกษตรกรรมรายย่อย รวมทั้งอนาคตของสิทธิในที่ดินตามจารีตประเพณีและที่ดินชุมชน Jonathan Rigg et al. เพิ่งสำรวจประเด็นเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับ “ความอยู่รอดของผู้ถือครองที่ดินรายย่อย” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9 กระนั้นก็ตาม คำนิยามของ “เกษตรกรรมรายย่อย” (smallholder farming) และ “กสิกรรมแบบชาวนา” (peasant farms) อาจไม่ค่อยเหมาะกับลักษณะการถือครองที่ดินค่อนข้างใหญ่และการจัดการการครอบครองทรัพยากรที่เหลื่อมซ้อนกันในหลายหมู่บ้านในลาว อาณาเขตของหมู่บ้านอาจขยายได้มากกว่า 2,000 หรือ 3,000 เฮกตาร์ (หรือมากกว่านั้น) ในลาว ที่ดินตามจารีตประเพณีมักจัดแบ่งเป็นแปลงที่เหลื่อมซ้อนกันแล้วแต่ฤดูกาล มีทั้งที่ดินของครัวเรือน ที่ดินที่ชุมชนเข้าถึงได้และสิทธิการใช้สอย ในบริบทเช่นนี้ “รายได้จากสิ่งแวดล้อม” ทั้งในรูปของเงินสดและไม่ใช่เงินสดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีพ
การวิจัยในภาคกลางของประเทศลาวเมื่อไม่นานมานี้โดย van der Meer Simo ชี้ให้เห็นการใช้แบบยังชีพและมูลค่าเทียบเท่ารายได้เงินสดจากผลิตผลของทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างในที่ดินตามจารีตประเพณีและที่ดินชุมชน เขาสุ่มตัวอย่างมา 4 ชุมชนที่เป็นถิ่นฐานของการเพาะปลูกทั้งแบบธุรกิจและเกษตรกรรมรายย่อย งานภาคสนามของเขาในปี 2016-2017 (สำรวจ 25 ครัวเรือนต่อหมู่บ้าน) แสดงให้เห็นว่าในแต่ละปี ครัวเรือนสามารถเก็บผลผลิตอาหารจากอาณาเขตตามจารีตประเพณีรอบบ้านคิดเป็นมูลค่า (เทียบเท่าเงินสด) เฉลี่ยประมาณ 1,272 ดอลลาร์ van der Meer Simo คำนวณว่า เงินสดโดยรวมและ “รายได้จากสิ่งแวดล้อม” ที่ไม่ใช่เงินสดมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 2,316 ดอลลาร์ต่อครัวเรือนต่อปี หรือ 44% ของรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยทั้งหมดในสี่หมู่บ้านที่ออกสำรวจ รายได้จากสิ่งแวดล้อม “ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาด” เลย (กล่าวคือ ทรัพยากรที่นำมาบริโภคเท่านั้น ไม่ได้ขายแลกเงินสด) มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 1,355 ดอลลาร์ต่อครัวเรือนต่อปี หรือ 22% ของรายได้ครัวเรือนทั้งหมด ตัวเลขเหล่านี้คือดัชนีชี้วัดมูลค่าของ “หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้า” ในหมู่บ้านที่สำรวจ ถึงแม้ควรมีการนำผลประโยชน์จากยุทธศาสตร์การบริหารที่ดินแบบอื่นมาเปรียบเทียบในบริบทของพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งเปรียบเทียบกำลังแรงงานที่ต้องใช้ไปด้วย แต่ประเด็นสำคัญก็คือการเข้าถึงที่ดินตามจารีตประเพณียังถือเป็นเสาหลักสำหรับการผลิตในครัวเรือน เอื้อทั้งความยืดหยุ่นในการดำรงชีวิตและเป็นทางเลือกบางส่วนนอกเหนือจากความง่อนแง่นและความบีบคั้นจำเจของงานในไร่เกษตรกรรมหรือการเป็นแรงงานย้ายถิ่น
ความสัมพันธ์ของสิทธิครอบครองในสังคมและการปฏิรูปที่ดินในลาว
เราได้นำเสนอข้อถกเถียงในการพิจารณาที่ดิน-ป่าเชิงจารีตประเพณีและชุมชนในลาวไปแล้วข้างต้น โดยไม่เน้นข้ออภิปรายเรื่อง “โครงข่ายความปลอดภัย” มากนัก แต่เน้นในแง่ที่หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้าสามารถช่วยชาวชนบทฝ่าฟันพลังทำลายล้างของการพัฒนาในภาคกสิกรรมมากกว่า ในส่วนต่อไปนี้ เราจะเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากมุมมองว่าที่ดินเชิงจารีตประเพณีเป็นสถาบันที่ฝังอยู่ในสังคม ซึ่งกำลังประสบกับความแปรเปลี่ยนพลิกผันอย่างมีนัยสำคัญ
ดังที่ Dressler et al. ชี้ให้เห็นในกรณีศึกษาชาวเขาบนเกาะปาลาวันในประเทศฟิลิปปินส์ พื้นฐานสำหรับหลักประกันการยังชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดในระบบไร่หมุนเวียนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ความสัมพันธ์ของสิทธิครอบครองในสังคมเชิงจารีตประเพณี ซึ่งจัดการภูมิประเทศเอนกประสงค์ด้วยวิธี “ฉวยใช้ทุกสิ่งที่มีเพื่อการครองชีพ” (livelihood bricolage) 10 นี่คือหัวใจของแนวคิดว่าที่ดิน “ฝังอยู่ในการกำกับของสังคม” (socially embedded) 11 ในชนบทของลาว ที่ดิน-ป่าซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมของหมู่บ้านกำลังถูกล้อมเขต ส่วนหนึ่งเพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเกษตรกรรายย่อยที่เข้าไปยึดครองที่ดินอย่างไม่เป็นทางการ (ในลาวมักใช้คำว่าจับจอง) ข้ออ้างในการจับจองนั้นอาจไม่เป็นธรรมระหว่างครัวเรือน ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง หรือระหว่างคนต่างรุ่นเสมอไป ในสมัยก่อน การจับจองหมายถึงการจองที่ดินไว้ให้ลูกหลาน แต่ทุกวันนี้มันหมายถึงการแปรรูปที่ดินเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ด้วย มีหลายชุมชนที่แสวงหาผลประโยชน์จากการให้เช่าหรือขายที่ดิน-ป่าตามจารีตประเพณีเพื่อผลกำไรทางการค้า แนวโน้มเช่นนี้คือปัญหาท้าทายต่อแนวทาง “คุ้มครองที่ดินชุมชน” แบบเหมารวมและสร้างผลเสียต่อความพยายามที่จะส่งเสริมการออกเอกสารสิทธิ์ให้ที่ดินชุมชน
รูป 2: “การเข้าถึงทรัพยากรอาหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดในชนบทของลาว: ปลาย่าง แกงปลากับไข่มดแดง แจ่ว ผักป่า ข้าวเหนียวและเหล้าลาว แขวงคำม่วน 2006” ถ่ายภาพโดย K. Barney
แนวทางที่เหมาะสมในการปฏิรูปนโยบายที่ดิน-ป่าในลาว
การแสวงหานโยบายเพื่อสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปกฎหมายในลาวเป็นความพยายามที่ท้าทายอย่างยิ่ง ในประเทศลาวนั้น ระบบการตัดสินใจอาจไม่โปร่งใส อีกทั้งรัฐบาลลาวค่อนข้างระมัดระวังในการจัดการเส้นสายอิทธิพลทั้งจากภายนอกและจากภาคประชาสังคมภายในประเทศ 12 จนถึงทุกวันนี้ มีผืนป่าชุมชนและที่ดินบนที่สูงของชุมชนหรือหมู่คณะเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้ที่ดินชุมชนอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในพื้นที่อื่นๆ ก็มีการริเริ่มคืบหน้าบ้าง ถึงแม้การออกเอกสารสิทธิ์ให้ที่ดินชุมชนจัดเป็นการค้ำจุนสิทธิในทรัพยากรท่ามกลางบริบทของการยึดครองที่ดินที่รุกคืบตลอดเวลา แต่โครงการออกเอกสารสิทธิ์เช่นนี้ก็อาจบีบทางเลือกเชิงเศรษฐกิจของชาวบ้านให้หดแคบลงด้วย ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าสิทธิของครัวเรือนต่อที่ดิน-ป่าอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการจะคัดง้างหรือสมดุลกับเอกสารสิทธิ์ชุมชนอย่างไร
ถึงแม้หนทางแก้ไขย่อมไม่มีวันสมบูรณ์แบบ แต่การปรับนโยบายของรัฐให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในท้องถิ่นก็ยังเป็นเป้าหมายที่ควรค่าแก่ความใส่ใจ ลาวควรหาทางจัดการการครอบครองที่ดินอย่างเป็นทางการที่มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการสร้างความคุ้มครองทางสังคม เราถกแถลงให้เห็นแล้วว่า มีหนทางอื่นในการเข้าใจการครอบครองที่ดินเชิงจารีตประเพณีและที่ดินชุมชน นั่นคือในแง่ที่พื้นที่เหล่านี้สามารถเอื้อต่อ “หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้า” ท่ามกลางระบบทุนนิยมกสิกรรมที่หยั่งรากลึกลงทุกทีๆ ยังมีขอบเขตที่ควรทำวิจัยมากขึ้นในลาวเพื่อสำรวจดูมิติต่างๆ ในหัวข้อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิทธิครอบครองในสังคมในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทุนนิยม ดังที่มีการขยายความในงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการกสิกรรมในชนบท ความสมดุลระหว่างการทำให้เป็นสินค้ากับหลักประกันการยังชีพ ตลอดจนการทำให้ที่ดินตามจารีตประเพณีมีความเป็นทางการในบริบทของการแปรรูปสู่การค้าและตลาดที่ดิน ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งจะปรับโฉมหน้าการเปลี่ยนผ่านของภาคกสิกรรมในประเทศลาวในศตวรรษที่ 21
Keith Barney & Alex van der Meer Simo
Keith Barney, Resources, Environment and Development Group, Crawford School of Public Policy, The Australian National University
Alex van der Meer Simo, Fenner School of Environment and Society, The Australian National University
Reference
Akram-Lodhi, H. and C. Kay. 2008. Peasants and Globalization: Political Economy, Rural Transformation and the Agrarian Question. London: Routledge
Akram-Lodhi, H. 2007. Land, Markets and Neoliberal Enclosure: An Agrarian Political Economy Perspective. Third World Quarterly 28(8): 1437- 1456.
Dressler, W., J. de Koning, M. Montefrio and J. Firn. 2016. Land Sharing Not Sparing in the ‘Green Economy’: The Role of Livelihood Bricolage in Conservation and Development in the Philippines. Geoforum 76: 75-89.
Hirsch, P. and N. Scurrah. 2015. The Political Economy of Land Governance in Lao PDR. Vientiane: Mekong Region Land Governance.
Ironside, J. 2017. The Recognition of Customary Tenure in Lao PDR. MRLG Thematic Study Series #8. Vientiane: MRLG.
Notes:
- Ironside, J. 2017. The Recognition of Customary Tenure in Lao PDR. MRLG Thematic Study Series #8. Vientiane: MRLG. pg. iv. ↩
- Akram-Lodhi, H. and C. Kay. 2008. Peasants and Globalization: Political Economy, Rural Transformation and the Agrarian Question. London: Routledge. pg. 228. ↩
- Akram-Lodhi, H. 2007. Land, Markets and Neoliberal Enclosure: An Agrarian Political Economy Perspective. Third World Quarterly 28(8): 1437- 1456, pg. 1442. ↩
- bid. pg. 1443. ↩
- Ibid. pg. 1443. โปรดดูประกอบ Ellen Wood. 2002. The Origin of Capitalism: A Longer View. London: Verso ↩
- Ibid. pg. 1444. ↩
- Akram-Lodhi and Kay, 2008. pg. 228. ↩
- ประเด็นของการทำให้เป็นสินค้ายังต้องการการขยายความที่ซับซ้อนกว่านี้ ผลผลิตของกสิกรรายย่อยที่ผลิตเพื่อเป็นสินค้า โดยเพาะปลูกหรือเลี้ยงด้วยวิธีการใช้ทุนแบบเข้มข้น หรือผลผลิตที่ได้จากการเข้าถึงที่ดินเชิงพาณิชย์ ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้รวมอยู่ในแนวคิดเกี่ยวกับ “หลักประกันการยังชีพที่ไม่ถูกทำให้เป็นสินค้า” ในบทความนี้ ↩
- Rigg, J., A. Salamanca and E. Thompson. 2016. The Puzzle of East and Southeast Asia’s Persistent Smallholder. Journal of Rural Studies 43: 118-133 ↩
- Dressler, W., J. de Koning, M. Montefrio and J. Firn. 2016. Land Sharing Not Sparing in the ‘Green Economy’: The Role of Livelihood Bricolage in Conservation and Development in the Philippines. Geoforum 76: 75-89. ↩
- Polanyi, K. 1944, 2001. The Great Transformation: The Political and Economic Origins of Our Time. Boston: Beacon Press. ↩
- Hirsch, P. and N. Scurrah. 2015. The Political Economy of Land Governance in Lao PDR.Vientiane: Mekong Region Land Governance. pg. 4-5, 14. ↩