ฆ่าเพื่อใคร? คดีวิสามัญฆาตกรรมในฟิลิปปินส์

Jung, Bub Mo

นับตั้งแต่โรดริโก ดูแตร์เตรับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมิถุนายน 2016 การวิสามัญฆาตกรรมคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 5000 ชีวิต เป้าหมายและแบบแผนของวิสามัญฆาตกรรมในยุคสมัยที่ดูแตร์เตเป็นประธานาธิบดีอาจแตกต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสมัยเผด็จการมาร์กอส ประเด็นสำคัญที่ควรบันทึกไว้ก็คือ ในช่วงปี 2001-2010 ซึ่งประเทศฟิลิปปินส์มีระบอบประชาธิปไตยที่ค่อนข้างเสถียรภาพ เรากลับพบเห็นการวิสามัญฆาตกรรมจำนวนไม่น้อยในชีวิตประจำวันของประเทศนี้

สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้นำกลุ่มเกษตรกร ถูกยิงตายกลางถนนกลางวันแสกๆ ด้วยฝีมือของมือปืนขี่มอเตอร์ไซค์ การนับจำนวนวิสามัญฆาตกรรมที่ถูกต้องแน่นอนยังทำไม่ได้ เพราะการสู้รบด้วยอาวุธที่เกี่ยวข้องกับขบวนการคอมมิวนิสต์และขบวนการปลดปล่อยของศาสนาอิสลามยังเป็นปัญหาที่ดำเนินสืบเนื่องมา ถึงแม้การรวบรวมจำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมอาจมีตัวเลขแตกต่างกัน แต่ยอดรวมที่ประเมินขั้นต่ำที่สุดก็ยังชี้ให้เห็นว่า ระหว่างปี 2001-2010 มีการวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้น 305 ครั้งและมีเหยื่อถึง 390 ราย 1 ในขณะที่ Karapatan กลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน ประเมินว่ามีมากกว่า 1000 ครั้งสำหรับช่วงเวลาเดียวกัน ในจำนวนนี้มีเพียง 161 คดีเท่านั้นที่มีการดำเนินคดีในศาล เรื่องที่น่าตระหนกก็คือ มีผู้กระทำผิดเพียงไม่กี่รายที่ได้รับการลงโทษในท้ายที่สุด

ตามนิยามของคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยศาลสูงสุด (Supreme Court Administrative Order) การวิสามัญฆาตกรรมคือการฆ่าที่สืบเนื่องจากความเกี่ยวโยงทางการเมืองของเหยื่อ วิธีการจู่โจมสังหาร และความเกี่ยวข้องหรือยินยอมของเจ้าหน้าที่รัฐในภารกิจการฆ่า

 ภาคประชาสังคมและประชาชนในฟิลิปปินส์อาจตีความการวิสามัญฆาตกรรมว่าเป็นการทำงานไม่ปรกติของรัฐต่อกลุ่มติดอาวุธหรือเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ถึงแม้ประชาชนในฟิลิปปินส์และประชาสังคมนานาชาติจะตระหนกอย่างยิ่งกับตัวเลขจำนวนมากของผู้ตกเป็นเหยื่อการวิสามัญฆาตกรรม ทว่ากองทัพฟิลิปปินส์ดูเหมือนไม่สะดุ้งสะเทือนกับเรื่องนี้สักเท่าไร

เนื่องจากจำนวนที่สูงมากและเป้าสังหารเป็นผู้คนหลากหลายประเภท จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาสาเหตุของการวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ มันยิ่งยากมากขึ้นที่จะค้นหาว่าทำไมผู้นำที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงเลย เช่น ผู้นำเกษตรกร หรือเอ็นจีโอที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน หรือนักสิ่งแวดล้อม จึงถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม จนถึงทุกวันนี้ สาเหตุว่าทำไมพวกเขาจึงเป็นภัยคุกคามต่อคนอื่นในชุมชนท้องถิ่นและเศรษฐกิจการเมืองระดับชาติยังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจน้อยมาก

ในคดีจำนวนมากที่เป็นการฆ่าผู้นำท้องถิ่น ผู้เขียนต้องการพิจารณาคดีฆาตกรรมผู้นำท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาระหว่างประเทศ การพัฒนาระหว่างประเทศก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ซับซ้อนมากขึ้นในพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการ ในประเทศฟิลิปปินส์ โครงการพัฒนาระหว่างประเทศส่วนใหญ่มักด่างพร้อยด้วยปัญหาคอร์รัปชั่นที่โยงใยกับนักการเมืองและชนชั้นนำในท้องถิ่น นอกจากนี้ หน่วยงานพัฒนาด้านเศรษฐกิจมักกดดันประเทศผู้รับการพัฒนาให้เร่งรัดกระบวนการผลักดันโครงการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านลบที่มีต่อชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ

คดี Jose Doton

นายโฮเซ โดตอน ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการของพรรค Bayan Muna สาขาจังหวัดปังกาซีนัน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย รวมทั้งเป็นประธานของ Tignayan dagti Mannalon A Mangwayawaya Ti Agno (TIMMAWA) (ขบวนการเกษตรกรเพื่อปลดปล่อยแม่น้ำ Agno) ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 16 พฤษภาคม 2006 เขาอายุ 62 ปี ในวันนั้น เวลาประมาณ 10:30 ถึง 10: 45 น. ตามคำบอกเล่าของพยานผู้เห็นเหตุการณ์ รถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งเร่งเครื่องมาที่ด้านหลังมอเตอร์ไซค์ที่โดตอนกับน้องชายของเขาขี่อยู่ และมีเสียงยิงปืนสามนัด หลังจากนั้น รถมอเตอร์ไซค์สีแดง (ยามาฮ่ารุ่น XRM) ไม่มีป้ายทะเบียน ก็แล่นเข้ามาเทียบรถมอเตอร์ไซค์ของสองพี่น้องโดตอนและมีเสียงยิงปืนอีกสองนัด เมื่อโฮเซและน้องชายล้มลงบนถนน ชายคนหนึ่งอายุประมาณ 20-25 ปีก็ลงจากรถจักรยานยนต์เข้ามายิงที่ศีรษะโฮเซและวิ่งหนีไป 2

จนกระทั่งวันที่โดตอนถูกสังหาร เขาเป็นผู้นำต่อต้านการสร้างเขื่อนซานโรเก (San Roque Dam) และชูประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบที่เขื่อนยักษ์มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน การสร้างเขื่อนซานโรเกจะทำให้ประชาชน 660 ครอบครัวในเมืองนั้นต้องพลัดถิ่นฐาน ในเมืองอิโตกอน (Itogon) จังหวัดเบงเกวต (Benguet) ชาวพื้นเมืองราว 20,000 คนได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากการสร้างเขื่อนแบบนี้ ระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2006 โฮสุเอะ ฮาตาเอะ (Hozue Hatae) จากองค์กร Friends of the Earth-Japan ซึ่งทำงานทุ่มเทให้กับการติดตามตรวจสอบโครงการที่ญี่ปุ่นให้ทุนสนับสนุน กล่าวว่า “ในโครงการต่างๆ ที่ได้รับทุนอุดหนุนจากรัฐบาลและสถาบันการเงินญี่ปุ่น องค์กรของเราให้ความสนใจต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง” กล่าวกันว่าประชาชนที่คัดค้านโครงการเหล่านี้มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าเป็นพวกฝ่ายซ้ายและผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ TIMMAWA เองก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐหมายหัวว่าเป็นแนวหน้าของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่

โครงการเขื่อนเอนกประสงค์ซานโรเกจะสร้างขวางแม่น้ำ Agno ตอนล่างในจังหวัดปังกาซีนันซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน มีจุดประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประการ รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการลดการทับถมของดินตะกอนที่ปลายน้ำและปัญหาน้ำท่วม (Perez, 2004; SRPC, 2006, cited in Kim 2010 3: 629) โครงการนี้สามารถสืบสาวย้อนกลับไปถึงโครงการเขื่อนอีกหลายโครงการที่มีปัญหาในพื้นที่เทือกเขาที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการจนถึงบัดนี้ ในขณะเดียวกัน กลุ่มชาวพื้นเมืองก็ต่อสู้ต่อต้านโครงการเขื่อนพวกนี้มายาวนานเช่นกัน

ตอนปลายปีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2016 เอ็นจีโอของญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเข้าพบสถานทูตฟิลิปปินส์ในโตเกียว ในคำแถลงต่อสื่อมวลชน พวกเขาแสดงความกังวลอย่างมากต่อคดีวิสามัญฆาตกรรม รวมทั้งการที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศ “สงครามเต็มพิกัด” กับคอมมิวนิสต์และแปะป้ายคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็น “ศัตรูของรัฐ” ในหนังสือร้องเรียนที่พวกเขายื่นต่อสถานทูต พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลออกคำสั่งห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจสั่งการ ยุยงหรือแอบหนุนหลังบุคคลใดให้กระทำการวิสามัญฆาตกรรม รวมทั้งยกเลิก “หน่วยมรณะ” กองทัพเอกชน ศาลเตี้ย แก๊งอาชญากรรมและกองกำลังกึ่งทหาร ที่ดำเนินการโดยพลการแต่ได้รับการสนับสนุนหรือการยินยอมโดยดุษณีจากเจ้าหน้าที่รัฐ 4

ในช่วงเวลาเดียวกัน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศมาเยือนฟิลิปปินส์ในวันที่ 8 และ 9 ธันวาคม 2006 ทั้งสองก็แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการสังหารทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่กี่สัปดาห์หลังจากการเยือนฟิลิปปินส์ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในวันที่ 22 ธันวาคม คณะทำงานเฉพาะกิจ Usig ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ก็เริ่มลงมือสอบสวนการสังหารผู้นำเกษตรกรโฮเซ โดตอน เชื่อกันว่าสาเหตุที่ประธานาธิบดีอาร์โรโยสั่งให้ดำเนินการสอบสวนเพราะเธอได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลญี่ปุ่นและองค์กรเอกชนหลายแห่ง องค์กรภาคประชาสังคมแห่งหนึ่งกล่าวว่าเงินสนับสนุนโครงการชลประทานจำนวนหลายพันล้านเปโซถูกสั่งระงับชั่วคราวสืบเนื่องจากการลอบสังหารทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น 5

โชคดีที่คดีของโดตอนได้รับความสนใจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ กระทั่งรัฐบาลยินยอมสืบสวนคดีของเขา ซึ่งแตกต่างจากคดีวิสามัญฆาตกรรมส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์ มีคดีสังหารอีกคดีหนึ่งที่ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

คดี Romeo Capalla

ประมาณ 18:30 น. วันที่ 15 มีนาคม 2014 โรเมโอ คาปาญา วัย 65 ปี ถูกยิงเสียชีวิตใกล้ตลาดนัดที่เมืองโอตอนในจังหวัดอิโลอิโล กลุ่มมือปืนเป็นชายไม่ทราบชื่อขี่มอเตอร์ไซค์มาสี่คัน คาปาญากำลังช่วยแม่ยายวัย 90 ปีขึ้นรถยนต์เมื่อเขาถูกยิงตาย เขาเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งองค์กร Samahan ng mga Ex-detainees Laban sa Detensyon at Aresto (SELDA) (สมาคมอดีตผู้ถูกคุมขังเพื่อต่อต้านการคุมขังและการจับกุม) สาขาเกาะปาไนย์ ทั้งนี้เพราะเขาเป็นผู้ถูกคุมขังทางการเมืองคนหนึ่งในช่วงกฎอัยการศึกเมื่อทศวรรษ 1970 นั่นเป็นสมัยที่เขาเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวใต้ดินต่อต้านเผด็จการ

 เขาเริ่มทำงานให้ Panay Fair Trade Center (PFTC) ในปี 1994 ในฐานะคนงาน พอผ่านมาหลายปี เขาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการ 6 PFTC ผลิตและขายผลผลิตอินทรีย์ธรรมชาติให้ตลาดท้องถิ่นและตลาดต่างประเทศ รับซื้อน้ำตาลทรายแดงและกล้วยจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าตลาดกระแสหลักและส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปให้องค์กรการค้าที่เป็นธรรมในยุโรปและเอเชีย

 ห้าเดือนหลังจากถูกสังหาร องค์กรด้านการค้าที่เป็นธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศตั้งคณะทำงานค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อตรวจสอบสถานะของการสืบสวน องค์กร WTFO ที่มีสำนักงานใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรร่มของกลุ่มการค้าที่เป็นธรรมมากกว่า 200 กลุ่มทั่วโลกออกมาประณามการสังหารครั้งนี้ องค์กร iCCOP ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ร่วมแสดงพลังเรียกร้องให้ “จับกุมอาชญากรที่กระทำการอุกอาจโหดเหี้ยม” 7

 ผู้ต้องสงสัยคือ ฮูลี คาบีโน (Julie Cabino) เป็นสมาชิกของกลุ่ม Revolutionary Proletarian Army-Alex Boncayao Brigade (RPA-ABB) ซึ่งเป็นกลุ่มกึ่งทหารที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ก่อตั้งขึ้นตามแผนปฏิบัติการปราบปรามการก่อกบฏ กลุ่มฝ่ายซ้ายกล่าวหา “หน่วยมรณะ” ของกองทัพว่าเป็นผู้ลงมือฆ่า เพราะคาปาญาถูกแปะป้ายว่าเป็นผู้นำสูงสุดของขบวนการ New People’s Army (NPA) มาหลายครั้ง ตามรายงานข่าว แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็บอกว่าพวกเขาทำอะไรไม่ได้ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม RPA-ABB เพราะเมื่อไรจับกุมตัวคนกลุ่มนี้มา ทำเนียบมาลากันญังของประธานาธิบดีก็จะเข้ามาแทรกแซงและสั่งให้ปล่อยตัวผู้กระทำความผิดทุกครั้ง 8

ในวันที่ 23 พฤษภาคม ตามรายงานของ Criminal Investigation and Detection Group และสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ยืนยันว่า คาปาญาถูกสังหารโดยกลุ่ม RPA-ABB รายงานข่าวอ้างว่าการฆ่าครั้งนี้เพื่อ “แก้แค้น” ที่เดเมทริโอ คาปิลาสติเก (Demetrio Capilastique) ผู้นำของกลุ่ม RPA-ABB ถูกยิงเสียชีวิตด้วยน้ำมือของขบวนการ NPA

กล่าวกันว่ากลุ่ม RPA-ABB แยกตัวออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์และ NPA ในทศวรรษ 1990 เนื่องจากความแตกต่างทางอุดมการณ์ กลุ่มนี้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพชั่วคราวและยุติการเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2000 คาปาญาและเฟร์นานโด บัลโดเมโร สมาชิกสภาเทศบาลเมืองโอตอน ถูกตั้งข้อหาวางเพลิงในเดือนสิงหาคม 2005 ทั้งคาปาญาและบัลโมโรได้รับการปล่อยตัวหลังจากข้อหาถูกยกฟ้อง 9

ตามแถลงการณ์ของกอนชา อาราเนตา โฆษกสาขาปาไนย์ของกลุ่มฝ่ายซ้าย NDF (National Democratic Front) กองทหารราบที่สามและหน่วยข่าวกรองของกองทัพฟิลิปปินส์อยู่เบื้องหลังการจู่โจมทำร้ายครั้งนี้ และนายพลออเรลีโอ บาลาดา ผู้บัญชาการกองทหารราบที่สามคือผู้รับผิดชอบเบื้องหลัง 10 กล่าวกันว่าทั้งสองหน่วยนี้มีไว้เพื่อ “ทำงานสกปรก” ต่อองค์กรและบุคคลของฝ่ายประชาชน

 

ทำไมต้องฆ่า?

ทั้งสองคดีที่ยกมาข้างต้นชี้ให้เห็นองค์ประกอบร่วมกันหลายประการในการสังหารทางการเมืองในฟิลิปปินส์ ประการแรก ผู้นำชุมชนถูกกลุ่มกองกำลังกึ่งทหารกำจัดซึ่งเชื่อกันว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลคอยหนุนหลัง ประการที่สอง ผู้มีอำนาจในรัฐบาลบางคนมองว่าการต่อต้านหรือขบวนการเคลื่อนไหวในชุมชนเป็นอุปสรรคขัดขวางการดำเนินนโยบาย ประการที่สาม การประท้วงจากต่างประเทศหรือจากขบวนการประชาชนช่วยกระตุ้นให้เกิดความใส่ใจต่อคดีเหล่านี้และสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ในระดับต่างๆ กันไป

อย่างไรก็ตาม คำถามใหญ่คือทำไมคนเหล่านี้จึงตกเป็นเป้าสังหารและพวกเขาเป็นภัยคุกคามต่อใคร? นอกจากนี้ ทำไมกลุ่มกองกำลังกึ่งทหารจึงได้อำนาจมากกระทั่งลงมือสังหารคนง่ายๆ?

ในกรณีของเขื่อนซานโรเก รัฐบาล เจ้าหน้าที่และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องคือผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากโครงการพัฒนา ส่วนปัญหาที่เกิดแก่ประชาชนมักถูกมองข้าม เสียงเรียกร้องสิทธิ์ของประชาชนที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบมักไม่มีการรับฟัง ตรงกันข้าม ประชาชนกลับถูกแปะป้ายเป็นพวก “ต่อต้านการพัฒนา” หรือฝ่ายซ้าย ในกรณีของผู้นำ PFTC ความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นซึ่งพึ่งพิงแรงงานสัมพันธ์แบบจารีตและศักดินาเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรอาจเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นนำท้องถิ่น การผลิตที่แรงงานได้ประโยชน์มักถูกแปะป้ายว่าเป็นขบวนการ “ฝ่ายซ้าย” ดังนั้น กลุ่มผู้มีอำนาจจึงมักพยายามกล่าวหาขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนว่าเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ ในเวทีระดับนานาชาติ มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ด้วยข้ออ้างของการรักษาสันติภาพ นโยบาย OPLAN ของรัฐบาลฟิลิปปินส์เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในภาคประชาสังคม ทั้งนี้เพราะนโยบายนี้ช่วยเพิ่มอำนาจให้ชนชั้นนำท้องถิ่นโดยอาศัยมาตรการด้านความมั่นคงและทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลกลางมากขึ้น

Jung, Bub Mo
Seoul National University Asia Center

Notes:

  1. วิสามัญฆาตกรรมในฟิลิปปินส์

    Parreno, Al A. 2011, Report on the Philippine Extrajudicial Killings (2001-August 2010), Manila: Asia Foundation. ช่องว่างระหว่างตัวเลขอาจมีสาเหตุมาจากการนิยามคำว่าวิสามัญฆาตกรรม หรือจะรวมบุคคลที่หายสาบสูญไว้ในเหตุวิสามัญฆาตกรรมหรือไม่  

  2. จากบล็อกของ PIPLinks(Indigenous Peoples Links) Cordillera Human Rights Alliance เป็นผู้จัดทำบทคัดย่อ https://groups.yahoo.com/neo/groups/mining4dpeople/conversations/messages/135 (Accessed on 12 March 2016).
  3. Kim, Soyeun 2010 “Greening the Dam: The case of the San Roque Multi-purpose Project in the Philippines” Geoforum Vol. 41(4) pp. 627-637.
  4. Amnesty International Dec 8 Japan 2006 Joint Press Release by Japanese NGOs concerning increased political killings in the Philippines. http://www.amnesty.or.jp/en/news/2006/1208_604.html (Accessed on 12 March 2016).
  5. Bulatlat Dec. 24-30 (Vol. VI. No. 46) http://www.bulatlat.com/news/6-46/6-46-aid.htm (Accessed on 12 March 2016).
  6. Justice for Romeo Capalla! Stop the Killings and End Impunity https://www.change.org/p/person-justice-for-romeo-capalla-stop-the-killings-and-end-impunity (accessed on 14 March 2016)
  7. Inquirer, 21 March 2014 http://newsinfo.inquirer.net/587601/intl-trade-groups-condemn-killing-of-capalla (Accessed on 14 March 2016).
  8. Human rights group decries case dismissal against suspect of killing a Fair Trade advocate 5 September 2014 http://wfto.com/news/human-rights-group-decries-case-dismissal-against-suspect-killing-fair-trade-advocate (Accessed on 14 March 2016
  9. http://www.karapatan.org/UA-19Mar2014-EJK-Romeo-Capalla (Accessed on 15 March 2016)
  10. Davao Today Mar 24, 2014 http://davaotoday.com/main/human-rights/bishop-cries-justice-groups-slam-military-brothers-slay/(Accessed on 12 March 2016).