ศาสนากับรัฐธรรมนูญและการเมืองในประเทศมาเลเซียปัจจุบัน

Yvonne Tew

ในปี 2016 ผู้นำพรรคปาส (Pan-Malaysian Islamic Party–PAS) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซีย เสนอร่างกฎหมายที่พยายามขยายอำนาจของศาลชะรีอะฮ์เพื่อบังคับใช้บทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น  ข้อเสนอดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาสังคมและกลุ่มต่างๆ  แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากสังคมมาเลเซียส่วนอื่นๆ เช่นกัน ดังปรากฏให้เห็นในการเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017  ถึงแม้กลุ่ม Barisan Nasional ซึ่งเป็นแนวร่วมพรรครัฐบาล จะถ่วงเวลาการอภิปรายในสภาเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ออกไป แต่มันประกาศแต่แรกแล้วว่าสนับสนุนข้อเสนอ อีกทั้งรัฐมนตรีคนหนึ่งก็เพิ่งออกมายืนยันว่ารัฐบาลยึดมั่นในพันธกิจที่จะสร้างเสริมความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการอิสลามานุวัตรในประเทศ 1

ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อิสลามานุวัตรมีการขยายตัวทางการเมืองและกฎหมายในมาเลเซีย กระทั่งจุดชนวนให้เกิดการแบ่งขั้วและวิวาทะกันเกี่ยวกับอัตลักษณ์ประจำชาติว่าเป็นรัฐฆราวาสหรือรัฐอิสลามกันแน่  การยกสถานะของอิสลามเป็นผลลัพธ์มาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่หยั่งรากลึก นั่นคือ การที่รัฐมาเลเซียเปลี่ยนผ่านจากรากฐานดั้งเดิมที่เป็นรัฐฆราวาสมาสู่ระบบรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นศาสนามากขึ้น

การร่างรัฐธรรมนูญและจุดกำเนิดของชาติ

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรของมาเลเซียตั้งแต่ตอนก่อตั้งประเทศสะท้อนถึงข้อเรียกร้องที่ช่วงชิงกันในสังคมที่มีชาติพันธุ์หลากหลาย  สังคมมาเลเซียประกอบด้วยชาวมลายูที่เป็นประชากรส่วนใหญ่  มีชาวจีนและอินเดียเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย  รัฐธรรมนูญฉบับเอกราชถูกนำมาประกาศใช้เมื่อสหพันธรัฐมาลายาสิ้นสุดการเป็นอาณานิคมของอังกฤษและกลายเป็นรัฐเอกราชเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1957

ข้อบ่งชี้ประการหนึ่งที่สะท้อนถึงการไกล่เกลี่ยให้เกิดสัญญาประชาคมเมื่อตอนก่อตั้งประเทศก็คือ ถ้อยแถลงของรัฐธรรมนูญในมาตรา 3(1) ว่า อิสลามคือศาสนาประจำสหพันธรัฐ แต่ประชาชนนับถือศาสนาอื่นๆ ได้หากประกอบศาสนกิจด้วยสันติและความกลมเกลียว  มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญยืนยันว่า การดำรงอยู่ของมาตรา 3(1) จะไม่ทำลายรากฐานความเป็นรัฐฆราวาสของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 2  ผู้พิพากษาอับดุล ฮามิด สมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียวที่สนับสนุนการใช้มาตรา 3(1) ให้เหตุผลว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในรัฐธรรมนูญไม่มีพิษภัยโดยยืนยันว่ามันไม่ใช่เงื่อนไขที่จะ กีดขวางรัฐจากการเป็นรัฐฆราวาส 3 อันที่จริง มาตรา 3(4) ในรัฐธรรมนูญระบุว่า ไม่มีข้อความใดในมาตรานี้ที่ขัดต่อเงื่อนไขอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้”  และมาตรา 11(1) รับประกันว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในการนับถือและประกอบพิธี ตามศาสนาของตน

การนำศาสนาอิสลามมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ความเข้าใจต่อข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับศาสนาอิสลามตามมาตรา 3(1) แบบกระแสหลักดั้งเดิมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  ในช่วง 25 ปีหลังนี้ ผู้กระทำการทางการเมืองและกฎหมายหลายกลุ่มฉวยโอกาสใช้เงื่อนไขตามมาตรา 3(1) เป็นช่องทางในการขยายสถานะของศาสนาในระเบียบสังคม

การนำศาสนาอิสลามมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองกลายเป็นประเด็นสำคัญในสมรภูมิระหว่างพรรคอัมโน (United Malays National Organization–UMNO) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม Barisan Nasional กับพรรคปาส  พรรคปาสมีฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นประชากรหัวอนุรักษ์นิยมในรัฐต่างๆ ทางตอนเหนือของคาบสมุทรมาเลเซีย  พรรคปาสปวารณาตนต่อพันธกิจที่จะสถาปนารัฐอิสลามมานานแล้ว  พรรคฝ่ายค้านนี้สร้างอิทธิพลในรัฐกลันตันได้ในปี 1990 และยังคงมีอำนาจมาถึงทุกวันนี้  นอกจากนี้ยังชนะการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐเกอดะฮ์ (2008-2013) และตรังกานู ( 1999-2004)

การที่พรรคปาสก้าวขึ้นมาเป็นพรรคอิสลามนิยมฝ่ายค้านทำให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคปาสกับพรรคอัมโนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และทวีความเข้มข้นขึ้นในทศวรรษ 1990 ในประเทศที่ชาวมลายูมุสลิมเป็นผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่  จากภูมิหลังดังกล่าว ในเดือนกันยายน 2001 มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศว่า พรรคอัมโนมีความประสงค์ที่จะยืนยันชัดเจนว่า มาเลเซียเป็นรัฐอิสลาม 4 คำประกาศของมหาธีร์ มูฮัมหมัดได้รับการขานรับในภายหลังจากนาจิบ ราซะก์ ซึ่งตอนนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีและเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน  เขาออกมาปฏิเสธแนวคิดว่ามาเลเซียเป็นรัฐฆราวาส โดยกล่าวว่า “อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติของเราและเราเป็นรัฐอิสลาม” 5 ในเดือนตุลาคม 2017 รองนายกรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันว่า แนวร่วมพรรครัฐบาล Barisan Nasional ยังคงยึดมั่นที่จะทำให้มาเลเซียเป็นรัฐอิสลาม 6

การวิวาทะเกี่ยวกับอิสลามานุวัตรในมาเลเซียทำให้สถานะของศาสนาอิสลามในรัฐธรรมนูญตกเป็นที่สนใจของการถกเถียงในสังคม  ความตึงเครียดเกี่ยวกับสถานะของศาสนาอิสลามในรัฐธรรมนูญยิ่งซับซ้อนมากขึ้นจากการที่รัฐธรรมนูญนิยามคนมลายูว่าคือผู้ นับถือศาสนาอิสลาม นอกเหนือจากคำนิยามอื่นๆ 7 สังคมมาเลเซียมองว่าอัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่เกี่ยวร้อยกันอย่างแยกไม่ออก  รวมทั้งมองว่าสถานะของศาสนาอิสลามมีความเกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับสถานะพิเศษของชาวมลายู 8  ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นว่ามีคนบางกลุ่มในสังคมมาเลเซียพยายามตอกย้ำความเชื่อว่า ชาวมลายูมีสถานะเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่นโดยเชื่อมโยงกับลัทธิชาตินิยมมลายู-อิสลาม 9

การวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับศาสนาในมาเลเซียยุคสมัยใหม่

ศาลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการตุลาการภิวัตน์ของศาสนาในมาเลเซีย  มาตรา 3(1) กลายเป็นจุดศูนย์กลางที่ทำให้เกิดข้อพิพาทแบ่งขั้วเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของรัฐมาเลเซียตามรัฐธรรมนูญ….และทุกวันนี้คงยากจะกล่าวว่ามัน “ไม่มีพิษภัย”  ฝ่ายฆราวาสนิยมอ้างเหตุผลว่า สถานะของอิสลามพึงมีแค่พิธีกรรมเท่านั้นและรากฐานของรัฐธรรมนูญมาเลเซียคือการเป็นรัฐฆราวาส 10  ส่วนฝ่ายที่ผลักดันให้มีการรับรองว่ามาเลเซียเป็นรัฐอิสลามก็อ้างเหตุผลว่า มาตรา 3(1) มีขึ้นเพื่อยกย่องบทบาทของอิสลามในพื้นที่สาธารณะ  การขยายความมาตรา 3(1) เช่นนี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับความเข้าใจข้อกำหนดเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในรัฐธรรมนูญตามที่ศาลสูงสุดเคยประกาศรับรองไว้ในคำวินิจฉัยปี 1988 ในคดี Che Omar v. Public Prosecutor ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญ  ในคดีนั้นศาลวินิจฉัยว่า สถานะของศาสนาอิสลามภายใต้มาตรา 3 จำกัดอยู่แค่ “กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและงานเฉลิมฉลอง” เท่านั้นและกฎหมายในประเทศนี้เป็นกฎหมายฆราวาส 11 สองปีต่อมา ศาลสูงสุดยืนยันซ้ำอีกครั้งถึงรากฐานความเป็นรัฐฆราวาสตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างถึงคำกล่าวของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่า การรับรองศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาตินั้น “ย่อมไม่ส่งผลกระทบในทางหนึ่งทางใดต่อสิทธิพลเมืองของผู้ไม่ใช่มุสลิม” 12

ความเข้าใจแบบนี้จะเปลี่ยนไปในไม่ช้า  ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แนวความคิดของศาลมาเลเซียเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกกลับตาลปัตรไปในทิศทางที่เห็นพ้องกับการยกสถานะของศาสนาอิสลามในระบบรัฐธรรมนูญ  ศาลแพ่งหลีกเลี่ยงที่จะใช้อำนาจตัดสินคดีในหลายกรณีสำคัญที่โยงถึงการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เช่น เสรีภาพทางศาสนาและความเท่าเทียม  ศาลฆราวาสยอมยกอำนาจตัดสินคดีให้ศาลชะรีอะฮ์อย่างว่านอนสอนง่าย  ด้วยเหตุนี้ บทบาทและอำนาจเชิงสถาบันของศาลศาสนาจึงขยายตัวอย่างมาก

ลองดูตัวอย่างคดีของลีนา จอย  เธอเกิดในครอบครัวมลายู-มุสลิม  ในภายหลังลีนา จอยเปลี่ยนไปเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์และพยายามแต่งงานกับคู่หมั้นชาวคริสต์  เนื่องจากทางการยังถือว่าเธอเป็นมุสลิมและภายใต้อำนาจของกฎหมายชะรีอะฮ์ เธอจึงแต่งงานกับคู่หมั้นไม่ได้ เพราะคนมุสลิมต้องจดทะเบียนสมรสภายใต้พระราชบัญญัติกฎหมายครอบครัวอิสลาม (เขตรัฐบาลกลาง) ปี 1984 (Islamic Family Law [Federal Territories] Act 1984) ซึ่งห้ามคนมุสลิมแต่งงานกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม  สำนักทะเบียนราษฎร์แห่งชาติไม่ยอมเปลี่ยนสถานะทางศาสนาบนบัตรประจำตัวประชาชนให้เธอหากไม่มีหนังสือรับรองการออกจากศาสนาจากศาลชะรีอะฮ์

ลีนา จอยคัดค้านศาลแพ่งโดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญบนพื้นฐานว่า การเปลี่ยนศาสนาของเธอได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรา 11 สิทธิการมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา  ในปี 2007  ศาลอุทธรณ์สูงสุดของมาเลเซียตัดสินให้เธอแพ้คดี โดยวินิจฉัยว่าการออกจากศาสนาอิสลามของลีนา จอยไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้การรับประกันสิทธิที่จะ “นับถือและประกอบพิธี” ทางศาสนาของตนตามรัฐธรรมนูญ  ศาลวินิจฉัยว่านี่เป็นประเด็นทางศาสนาที่ต้องให้ศาลชะรีอะฮ์ตัดสิน  เสียงส่วนใหญ่ของผู้พิพากษาศาลสูงเห็นว่าการออกจากศาสนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอิสลาม ดังนั้นจึงอยู่ในอำนาจของศาลชะรีอะฮ์ 13 ข้อสรุปแบบกำปั้นทุบดินในคดี Lina Joy มาจากหัวหน้าผู้พิพากษา ซึ่งเขียนในนามขององค์คณะเสียงส่วนใหญ่  “คนเราไม่สามารถนับถือหรือเลิกนับถือศาสนาตามอำเภอใจของตัวเอง” 14ประเด็นทางกฎหมายที่กลายเป็นข้อพิพาทอีกประการเกี่ยวข้องกับสิทธิในการดูแลบุตรและการเปลี่ยนศาสนา  มันเป็นคดีความในศาลระหว่างคู่สามีภรรยา ซึ่งคนหนึ่งเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามกับคู่สมรสที่ไม่ใช่มุสลิม  คดีแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อพ่อหรือแม่—ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายพ่อ—หันไปนับถืออิสลาม แล้วก็เปลี่ยนศาสนาให้ลูกๆ ตามไปด้วย โดยผู้ปกครองอีกคนไม่ได้รับรู้  จากนั้นพ่อที่เพิ่งเปลี่ยนศาสนาเป็นมุสลิมก็ยื่นฟ้องต่อศาลชะรีอะฮ์เพื่อขอหย่าและมีสิทธิในการดูแลบุตร  ปัญหาที่ตามมาก็คือ แม่ที่ไม่ใช่มุสลิมไม่มีหนทางที่จะโต้แย้งการเปลี่ยนศาสนาหรือคำสั่งเกี่ยวกับสิทธิการดูแลบุตรของศาลศาสนา เพราะคนที่ไม่ใช่มุสลิมไม่สามารถขอใช้กระบวนการยุติธรรมจากศาลชะรีอะฮ์

ชะตากรรมของอินดีรา คานธีคือตัวอย่างสะท้อนความย้อนแย้งของขอบเขตอำนาจศาลนี้ 15 ตอนที่เธอกับสามีแต่งงานกันภายใต้กฎหมายแพ่ง ทั้งคู่นับถือศาสนาฮินดู  ต่อมาหลังจากอดีตสามีหันไปนับถืออิสลามแล้ว เขาแอบเปลี่ยนศาสนาให้ลูกทั้งสามคนโดยใช้อำนาจศาลชะรีอะฮ์  ศาลอุทธรณ์พลิกคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่สั่งให้การเปลี่ยนศาสนาของเด็กในศาลชะรีอะฮ์เป็นโมฆะ  ศาลอุทธรณ์แถลงว่าการเปลี่ยนไปนับถืออิสลามเป็นประเด็นทางศาสนาซึ่งมีแต่ศาลชะรีอะฮ์เท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินอย่างไม่มีเงื่อนไข 16 คดีของอินดีรา คานธี ซึ่งตอนนี้ค้างอยู่ที่ศาลสูง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความไม่คงเส้นคงวาของขอบเขตอำนาจศาลที่มีอยู่ในระบบกฎหมายคู่ที่ใช้ทั้งศาลฆราวาสกับศาลศาสนาในมาเลเซีย

การที่ศาลแพ่งตีความแบบขยายความข้อกำหนดเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 3(1) ทำให้เกิดการยกสถานะของอิสลามในระเบียบสังคม  ผู้พิพากษาศาลแพ่งให้การรับรองอย่างเป็นทางการต่อสถานะของศาสนาอิสลามในฐานะแว่นสำหรับตีความรัฐธรรมนูญส่วนที่เหลือทั้งหมด

ในปี 2009 รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งห้ามมิให้อัครมุขนายกเกียรตินามของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในกรุงกัวลาลัมเปอร์ใช้คำว่า “อัลเลาะห์” ใน Herald ซึ่งเป็นจดหมายข่าวคาทอลิกรายสัปดาห์ภาษามลายู 17 ศาสนจักรคาทอลิกโต้แย้งคำสั่งของรัฐมนตรีโดยอ้างว่า คำสั่งนี้ละเมิดสิทธิของศาสนจักรในการนับถือและประกอบพิธีทางศาสนา  ในปี 2013 ศาลอุทธรณ์มีมติเอกฉันท์พิพากษายืนตามคำสั่งห้ามของรัฐบาล โดยวินิจฉัยว่าเสรีภาพทางศาสนาของคริสตจักรไม่ได้ถูกละเมิด เพราะคำว่า “อัลเลาะห์” ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของศรัทธาและการปฏิบัติศาสนกิจของศาสนาคริสต์ 18 ตามความเห็นของศาล วัตถุประสงค์ของมาตรา 3(1) “คือเพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามในฐานะศาสนาประจำชาติ  รวมทั้งเป็นเกราะคุ้มกันเมื่อมีภัยคุกคามตรงหน้าหรือภัยคุกคามที่เป็นไปได้และอาจเกิดขึ้นต่อศาสนาอิสลาม” 19

การเมืองกับศาสนาในรัฐธรรมนูญมาเลเซียยุคปัจจุบัน

ข้อพิพาทเกี่ยวกับสถานะของศาสนายังเป็นประเด็นสำคัญในมาเลเซียยุคใหม่  พัฒนาการของการเมืองในระยะหลังมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า พรรคร่วมรัฐบาลของมาเลเซียอึดอัดใจที่จะจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากความเฟื่องฟูของศาสนาอิสลามสายอนุรักษ์นิยมในประเทศ  นอกจากถ่วงการอภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับข้อเสนอที่จะเพิ่มอำนาจลงโทษของศาลชะรีอะฮ์แล้ว  ในเดือนสิงหาคม 2017 รัฐบาลยังถอนร่างกฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนาของลูกระหว่างคู่สามีภรรยาที่เปลี่ยนไปนับถืออิสลามกับฝ่ายที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งจะสั่งห้ามการเปลี่ยนศาสนาให้เด็กโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทั้งพ่อและแม่

ศาลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนิยามสถานะของศาสนาในระเบียบสังคมมาเลเซียเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น  ในขณะที่ความสนใจส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่ความตึงเครียดในแวดวงการเมืองและประชาชน พื้นที่ด้านกฎหมายกลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความขัดแย้งดังกล่าว  การต่อสู้ทางกฎหมายในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของคำถามเกี่ยวกับศาสนาและฆราวาสนิยมในประเทศที่กำลังตกอยู่บนทางแพร่งเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเอง  ข้อพิพาทเกี่ยวกับสถานะของอิสลามในระบบรัฐธรรมนูญสะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญที่ลึกลงไปกว่านั้นและยังดำเนินต่อไปในประเทศมาเลเซียยุคปัจจุบัน

Yvonne Tew
รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ ศูนย์กฎหมายมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์
Associate Professor of Law, Georgetown University Law Center

banner Image: Statue of Tunku Abdul Rahman outside the Malaysian House of Parliament. He served as the first Chief Minister of the Federation of Malaya from 1955 to 1957, before becoming Malaya’s first Prime Minister after independence in 1957.

เอกสารอ้างอิง

Joseph M. Fernando, The Position of Islam in the Constitution of Malaysia, 37 Journal of Southeast Asian Studies 249 (2006)
Joseph Chinyong Liow, Religion and Nationalism in Southeast Asia (2016)
Yvonne Tew, Originalism at Home and Abroad, 52 Columbia Journal of Transnational Law 780 (2014).

Notes:

  1. BN government committed to make Malaysia an Islamic state, Malay Mail Online, (October 14, 2017), http://www.themalaymailonline.com/malaysia/article/bn-government-committed-in-making-malaysia-an-islamic-state.
  2. ปรดดูตัวอย่างเช่น Report of the Federation of Malaysia Constitutional Commission (London: Her Majesty’s Stationery Office, 1957) (Reid Report) at ¶ 11. นอกจากนี้ โปรดดู Joseph M. Fernando, The Position of Islam in the Constitution of Malaysia, 37 Journal of Southeast Asian Studies 249 (2006).
  3. Reid Report, para. 11
  4. โปรดดู Mahathir Mohamad, Speech at the 30th Annual General Meeting of the Gerakan Party Malaysia, (Sept. 29, 2001), at para. 18, available at  http://www.pmo.gov.my/ucapan/?m=p&p=mahathir&id=482 (translated from Malay by the author).
  5. Malaysia Not Secular State, Says Najib, Bernama, (July 17, 2007)
  6. ปรดดู supra note 1.
  7. Fed. Const. (Malay.), art. 160.
  8. Id., art. 153(1).
  9. ปรดดู Joseph Chinyong Liow, Religion and Nationalism in Southeast Asia 135-74 (2016).
  10. ปรดดู Yvonne Tew, Originalism at Home and Abroad, 52 Colum. J. Transnat’l L. 780 (2014).
  11. Che Omar bin Che Soh v. Public Prosecutor [1988] 2 Malayan L.J. 55, 56-57.
  12. Teoh Eng Huat v. Kadhi Pasir Mas (1990) 2 Malayan L.J. 300, 301-02
  13. Lina Joy, (2007) 4 Malayan L. J. 585, at para. 16.
  14. Id. at para. 14. (translated from Malay).
  15. Pathmanathan a/l Krishnan v. Indira Gandhi a/p Mutho (2016) Current L. J. 911.
  16. Id. at para. 33.
  17. Menteri Dalam Negeri & Ors v. Titular Roman Catholic Archbishop of Kuala Lumpur (2013) Malayan L. J. 468 (Court of Appeal).
  18.  Id. at para. 51.
  19. d. at para. 33.