ฝูไหมเฮิงและเถาเดี๋ยน: เมืองที่เพิ่งสร้างเพื่อชาวต่างชาติในนครโฮจิมินห์

Thanh Bao Nguyen, & Hung Minh Ngo

ชาวเวียดนามเริ่มมีแนวคิดที่มุ่งเน้นการตลาดในด้านอสังหาริมทรัพย์และมาตรฐานการครองชีพ  ย่านฝูไหมเฮิงและเถาเดี๋ยน ซึ่งพัฒนาขึ้นมาบนที่ดินเกษตรรกร้าง เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติในนครโฮจิมินห์  การพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวต่างชาติเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีดำเนินชีวิตในเมืองของชาวเวียดนามอย่างไรบ้าง  โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น โรงเรียนนานาชาติและร้านอาหารแบบตะวันตก เป็นสาเหตุสำคัญ  การปรากฏตัวของชาวต่างชาติช่วยยกระดับภูมิทัศน์และสภาพการดำเนินชีวิตของชาวท้องถิ่น

คำนำ

นับตั้งแต่เวียดนามเปิดประตูให้การลงทุนระหว่างประเทศในปี 1993 นครโฮจิมินห์ก็กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับกิจกรรมทางธุรกิจและสังคมของชาวต่างชาติ ทั้งในแง่ของบริษัทหรือบุคคล  ไม่ว่าเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจเปิดหรือการเข้ามาพำนักของชาวต่างชาติ หรือทั้งสองประการ ล้วนทำให้นครแห่งนี้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างผิดหูผิดตา โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจท้องถิ่น  ผู้อยู่อาศัยและธุรกิจนานาชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนำมาซึ่งกระแสการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ในย่านชานเมือง  อพาร์ตเมนต์ระดับบน อาคารทางการค้า และย่านขายปลีก มีการขยายตัวและพัฒนา โดยเฉพาะในย่านที่มีประชากรเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน อาทิ District 7 และ District 2 (Harms, 2016)  พื้นที่เหล่านี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับความต้องการของประชากรหลากหลายชาติ นำเสนอความสะดวกสบายที่ต้องตรงกับค่านิยม ซึ่งไม่ได้มีให้เห็นทั่วไปในเวียดนามในยุคก่อนนโยบายโด๋ยเม้ย และอาจไม่มีให้เห็นในช่วงเริ่มต้นของนโยบายโด๋ยเม้ยในปี 1987 ด้วย

รูป 1. ฝูไหมเฮิง(ซ้าย) และเถาเดี๋ยน (ขวา)
(Source: Arental VietNam, 2024)

ย่านที่อยู่อาศัยใหม่ เช่น ฝูไหมเฮิง (District 7) และเถาเดี๋ยน (District 2) ได้รับการพัฒนาให้เหมาะกับผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติในนครโฮจิมินห์มาตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน (รูป 1)  จากการสังเกตการณ์ภาคสนามและการทำแผนที่  บทความนี้จะทบทวนถึงการพัฒนาย่านฝูไหมเฮิงและเถาเดี๋ยนเพื่อทำความเข้าใจว่า เวียดนามจัดสรรที่อยู่อาศัยให้ชาวต่างชาติอย่างไร โดยใช้นครโฮจิมินห์เป็นตัวแทนของประเทศ

ตาราง 1.  เปรียบเทียบระหว่างฝูไหมเฮิงกับเถาเดี๋ยน

ลักษณะเด่นย่านฝูไหมเฮิง Tย่านเถาเดี๋ยน
ผู้พัฒนาบริษัทไต้หวันรัฐบาล
กลุ่มชาวต่างชาติหลักเอเชียยุโรป
ที่ตั้งDistrict 7นครถูดึ๊ก (Thu Duc City)
จำนวนชาวต่างชาติ13.00012.000
จำนวนโรงเรียนนานาชาติ917
ลักษณะที่อยู่อาศัยคอนโดและบ้านเดี่ยวคอนโด บ้านเดี่ยวและอาคารพาณิชย์
การดูแลและการรักษาความปลอดภัยเอกชน+รัฐรัฐ
พื้นที่ (เฮกตาร์)433375
การแบ่งเขตผังเมืองต้นแบบการพัฒนาแบบใช้พื้นที่ผสมผสานที่อยู่อาศัยกับการค้าต้นแบบการพัฒนาแบบใช้พื้นที่ผสมผสานที่อยู่อาศัยกับการค้า

กรณีศึกษา 1:ฝูไหมเฮิง

หลังจากเวียดนามกลับมารวมประเทศในปี 1975 นครโฮจิมินห์วางแผนพัฒนาย่านทางทิศใต้ของเมืองหรือไซ่ง่อนใต้ให้ครอบคลุมโครงการสำคัญสามโครงการด้วยกัน นั่นคือ : เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออก Tan Thuan Export Processing Zone, ย่านฝูไหมเฮิง และเขตอุตสาหกรรม Hiep Phuoc Industrial Park  โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ใหญ่กว่านั้น  (World Bank, 2017).

รูป 2. รายละเอียดของขั้นตอนการพัฒนาย่านฝูไหมเฮิง (Source: Erik Hams, 2011)

ห่งเวือง (Hưng Vượng) (รูป 3) คือตัวอย่างของการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับหรู ซึ่งตั้งอยู่ตรงใจกลางของย่านฝูไหมเฮิง  ในปี 2015 ย่านนี้ประกอบด้วยโครงการจัดสรรที่อยู่อาศัย 9 โครงการ รองรับบ้าน 354 หลังและผู้อยู่อาศัย 1300 คน (Le & Le, 2018)  ย่านที่อยู่อาศัยนี้มีลักษณะของชุมชนที่รั้วรอบขอบชิด ควบคุมทางเข้าออกด้วยกำแพงและยามเฝ้าประตู  ผังของโครงการจัดสรรมีสวนสาธารณะกลางแจ้ง ที่จอดรถร่วมกัน สนามเด็กเล่น และถนนภายในหมู่บ้าน

ระบบบริหารจัดการบังคับให้การอยู่อาศัยในเมืองมีระเบียบแบบแผน ซึ่งรวมถึงการไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดตามพื้น มีการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม มีการเก็บขยะ และห้ามจอดรถบนบาทวิถี  กฎกติกาเหล่านี้กำหนดรูปทรงของอาคาร การวางผังคอนโด และพฤติกรรมของชาวเมือง  ย่านฝูไหมเฮิงจัดทำกรอบกฎหมายเพื่อบริหารจัดการย่านและช่วงตึกต่างๆ ที่ซับซ้อนในเมืองอย่างเข้มงวด

ผังโครงการห่งเวือง. Source: rever.vn (1999)https://rever.vn/du-an/hung-vuong-1
โครงการและตึกอาคารต่างๆ ในปัจจุบัน. Source: Google Earth (2023) https://earth.google.com/web/search/Hung+vuong+1
รูป 3. โครงการจัดสรรที่เป็นชุมชนแบบล้อมรั้วในย่านฝูไหมเฮิง

โรงเรียนนานาชาติอันประกอบด้วย Korean International School of HCMC (KIS), Canada International School (CIS), ABC International School, Vietnam Australian (VAS), Vietnam Finland International School (VFIS), และ Saigon South International School (SSIS) คือเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ทำให้ชาวเกาหลีย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่  เนื่องจากสามารถเทียบโอนหน่วยกิตจากสถาบันการศึกษาในเวียดนามไปที่สถาบันการศึกษาในเกาหลีได้ เอื้อให้นักเรียนสามารถศึกษาต่อในเวียดนามได้อย่างราบรื่นเมื่อติดตามผู้ปกครองที่มาทำงานที่นี่ (Huynh, 2015)

เมื่อเปรียบเทียบกับย่านเกาหลีอื่นๆ ทั่วโลก ฝูไหมเฮิงเป็นการลอกแบบระบบสังคมเกาหลีที่ดีที่สุด (Kim, 2016)  กรรมการบริหารจัดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย ประกอบด้วยยาม รปภ. เอกชนประมาณ 300 คนสำหรับย่านนี้  พื้นที่นี้ปลอดภัยสำหรับคนแปลกหน้า ไม่มีความรุนแรงหรืออัตราอาชญากรรมสูง (Douglass & Huang, 2007)  มีร้านค้า ร้านอาหาร และตลาด พร้อมป้ายภาษาเกาหลีทุกหนแห่ง  ชาวเกาหลีสามารถดำเนินชีวิตในย่านฝูไหมเฮิงโดยไม่ต้องรู้ภาษาเวียดนามและรู้สึกปลอดภัยเหมือนอยู่บ้าน

ในปี 2015 ฝูไหมเฮิงมีผู้อยู่อาศัย 26,950 คน  56% เป็นชาวต่างชาติจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และจีน  27% เป็นชาวเกาหลี  กว่า 60% ของผู้อยู่อาศัยในฝูไหมเฮิงในปี 2018 ไม่ใช่ชาวเวียดนาม  ประชากรในย่านนี้เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คนในปี 2018  40,000 คนในปี 2020 และ 35,000 คนในปี 2023  ฝูไหมเฮิงเริ่มถดถอยจากการเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาวที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ผู้มาตั้งถิ่นฐาน ทั้งนี้เนื่องจากการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักจากศูนย์กลางของเมืองมาถึงที่นี่ (Huynh, 2015)  หลังจากโรคระบาดโควิด-19 ฝูไหมเฮิงมีชาวต่างชาติอยู่อาศัยเหลือแค่ 31% (Quy, 2023)  ในปี 2024 มีแนวโน้มที่ชาวเกาหลีนิยมย้ายไปเขตนครถูดึ๊ก (Thu Duc City) แทน  ชาวต่างชาติเริ่มละทิ้งฝูไหมเฮิงเพื่อไปอยู่อาศัยในย่านเถาเดี๋ยนในนครถูดึ๊ก (Lan & Huong, 2024)

กรณีศึกษา 2: เถาเดี๋ยน นครถูดึ๊ก

นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา ย่านเถาเดี๋ยน (รูป 4) ผ่านการจัดทำผังเมืองและการพัฒนาพอสมควร ทำให้มันกลายเป็นถิ่นน่าอยู่สำหรับชาวเวียดนามและนักท่องเที่ยว  ทางเท้ากว้าง ถนนมีต้นไม้ขนาบเรียงราย และพื้นที่สำหรับคนเดินเท้าเป็นความสำคัญอันดับแรกของส่วนการปกครองในเขตนี้  มีการลดความหนาแน่นของการจราจรและส่งเสริมการเดินและการขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ  บ้าน สำนักงาน และร้านค้าปลีก ตั้งอยู่ปะปนรวมกันในเถาเดี๋ยน  เนื่องจากบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา ผู้อยู่อาศัยจึงเข้าถึงร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจห้างร้าน และแหล่งบันเทิงได้ง่าย  พื้นที่นี้มีรูปแบบเชิงโครงสร้างและการจัดการของสถาปัตยกรรมและการออกแบบอาคารที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบระเบียบน้อยกว่าย่านฝูไหมเฮิง  ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์อันร่ำรวยของชาวยุโรป รวมทั้งลักษณะการออกแบบแบบยุโรปที่หลากหลายจากยุคสมัยต่างกันไป  ในปัจจุบัน เมื่อเขตนี้ถูกกำหนดให้มีการใช้สอยพื้นที่แบบผสมผสาน เถาเดี๋ยนจึงมีทั้งร้านอาหาร บาร์ และร้านค้าปลีกท่ามกลางอาคารพาณิชย์ต่างๆ  ผู้คนหลากหลายถิ่น ทั้งจากยุโรป อเมริกา แอฟริกา สิงคโปร์ เกาหลี และไต้หวัน อาศัยปนเปกันในบ้านเรือนที่มีการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมหลากหลาย  ย่านนี้อยู่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่  การออกแบบในย่านเถาเดี๋ยนมีความเป็นสมัยใหม่น้อยกว่าฝูไหมเฮิง  เถาเดี๋ยนพัฒนาขึ้นมาตามธรรมชาติ เพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้างใหม่ท่ามกลางอาคารเก่า  ส่วนฝูไหมเฮิงนั้นมีการออกแบบอย่างถี่ถ้วนและสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานการดำเนินชีวิตในเมืองที่กำหนดไว้ เช่น พื้นที่สีเขียวสำหรับสวนสาธารณะ พื้นที่สันทนาการ และพื้นที่ส่วนรวมของชุมชน เป็นต้น

รูป 4. เถาเดี๋ยน (นครถูดึ๊ก)

เช่นเดียวกับฝูไหมเฮิง  เถาเดี๋ยนก็มีโรงเรียนนานาชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนหลายแห่ง มีทั้งมาจากสหราชอาณาจักร อเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรป  โรงเรียนนานาชาติเหล่านี้รับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบถึง 18 ปี  ชาวต่างชาติเห็นว่าเถาเดี๋ยนน่าอยู่ สืบเนื่องจากมีชุมชนนานาชาติที่หลากหลาย  โรงเรียนเป็นเหตุผลน่าดึงดูดใจมากที่สุดสำหรับชาวต่างชาติในการพำนักที่ย่านเถาเดี๋ยน

เมื่อพิจารณาทางเลือกของที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมต่อวิถีชีวิตและปัจจัยทางการเงินที่แตกต่างกันไปของชาวต่างชาติ ทางเลือกของที่อยู่อาศัยหลายแห่งในเถาเดี๋ยนได้รับการปรับแต่งสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ  มันมักมีการออกแบบแบบตะวันตก พื้นที่อยู่อาศัยเปิดโล่งกว้างขวาง ครัวและห้องน้ำทันสมัย รวมทั้งการตกแต่งคุณภาพสูงในชุมชนล้อมรั้ว (Lan & Huong, 2024)  โดยทั่วไปแล้ว ชาวเวียดนามมักมีครัวขนาดเล็กแบบเก่าและห้องน้ำราคาถูก  เศรษฐีชาวเวียดนามในปัจจุบันกำลังรับเอาบรรทัดฐานของพื้นที่อยู่อาศัยแบบใหม่ที่ยกระดับมากขึ้นทั้งภายนอกและภายในตัวอาคาร  ตึกอพาร์ตเมนต์สูงลิบหรูหราราคาแพงให้ทิวทัศน์เมืองอย่างสวยงาม และเครื่องอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ เช่น ฟิตเนส สระว่ายน้ำ และมาตรการรักษาความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจสำหรับชาวเมือง  ในพื้นที่เดียวกัน บ้านเดี่ยวขนาดใหญ่ให้พื้นที่อยู่อาศัยหรูหราและมีความเป็นส่วนตัว พร้อมกับห้องนั่งเล่นกว้างขวาง  ทาวน์เฮาส์รุ่นใหม่ให้การผสมผสานที่ลงตัวระหว่างความเป็นส่วนตัวกับชุมชน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มองหาสภาพแวดล้อมที่มีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกมากขึ้น  ส่วนบ้านของชาวเวียดนามดั้งเดิมนั้นมักแคบและยาวและไม่มีสวน

เปรียบเทียบสองย่านในเชิงสัณฐานวิทยา

เถาเดี๋ยนเป็นที่รู้จักในแง่ของการมีบริการและความสะดวกสบายหลากหลายที่ออกแบบมาเพื่อผู้อยู่อาศัยนานาชาติ  อาทิ โรงเรียนนานาชาติ ร้านอาหารแบบตะวันตก และผู้ให้บริการที่พูดภาษาอังกฤษได้  สภาพแวดล้อมเช่นนี้ช่วยให้ชาวต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษปรับวิถีชีวิตให้กลมกลืนกับชีวิตในเวียดนามได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพในย่านนี้สูงกว่าย่านอื่น สืบเนื่องจากการกระจุกตัวของชาวต่างชาติที่เข้ามาพักอาศัย ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นี้สามารถจ่ายในราคาที่สูงกว่า

ส่วนฝูไหมเฮิงเป็นเขตเมืองหรูหราที่มีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในระดับดีเลิศ  โครงสร้างประชากรประกอบด้วยชาวต่างชาติกับชาวเวียดนามที่เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพผสมปนเปกัน  ฝูไหมเฮิงนำเสนอประสบการณ์ของเมืองที่ทันสมัยและวางแผนมากกว่า มีสวนสาธารณะและทะเลสาบกว้างใหญ่กว่า และทางเลือกที่อยู่อาศัยที่หลากหลายครอบคลุมกว่า (รูป 5)  ภาษาอังกฤษที่พูดกันในย่านฝูไหมเฮิงอาจไม่ได้พูดกันแพร่หลายเท่าในเถาเดี๋ยน แต่ก็มากเพียงพอ

ฝูไหมเฮิง
เถาเดี๋ยน
Fรูป 5. ภาพเปรียบเทียบแผนผังของช่วงตึก ในย่านฝูไหมเฮิง District 7 (ซ้าย) มีการแบ่งช่วงตึกเท่าๆ กันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนในเถาเดี๋ยน นครถูดึ๊ก (ขวา) การแบ่งช่วงตึกและลักษณะบ้านไม่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปในนครโฮจิมินห์ (Source: Google Earth,2024)

ฝูไหมเฮิงมีการออกแบบเมืองเป็นช่องเท่าๆ กันคล้ายตะแกรง ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในโครงการที่มีการวางแผน  โครงการสร้างเมืองสมัยใหม่และย่านที่อยู่อาศัยที่มีการนำมาพัฒนาใหม่มักออกแบบตามทิศทางนี้  การจัดลำดับชั้นของถนนอย่างชัดเจนและการแบ่งเป็นบล็อกๆ ทำให้การกำกับการจราจรและการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพทำได้ง่ายขึ้น  ทว่านี่มิใช่สิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในย่านเมืองเก่าของเวียดนาม ซึ่งมีเครือข่ายถนนซับซ้อนเหมือนใยแมงมุมและจำนวนบ้านไม่เท่ากันในแต่ละช่วงตึก  ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปในการตามหาบ้านของชาวเวียดนามสักคนในย่านที่อยู่อาศัยเก่า  แต่ในฝูไหมเฮิงนั้นทำได้ง่ายมาก

ผังเมืองของเถาเดี๋ยนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบล็อก ทั้งรูปทรงและขนาดของที่ดินแต่ละแปลงก็ไม่เท่ากัน  ชี้ให้เห็นการเติบโตตามธรรมชาติที่ปราศจากการวางแผนจากส่วนกลางหรือการวางผังเมือง  ทำเลต่างๆ อาจมีลักษณะเฉพาะตัวและสะท้อนถึงแบบแผนการเติบโตในอดีต แต่ความที่คาดทำนายไม่ได้อาจเป็นเหตุให้โครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการสาธารณะมีปัญหาไม่น้อย  ในแง่นี้ วิถีการพัฒนาในอนาคตของย่านเถาเดี๋ยนอาจคล้ายคลึงกับย่านเก่าแก่ในเมืองมากกว่า

วิธีการวางผังเมืองทั้งสองแบบต่างมีข้อดีและข้อเสีย  ผังเมืองแบบฝูไหมเฮิงสามารถจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ ได้ดีกว่า แต่มันอาจไม่มีเสน่ห์ตามธรรมชาติ  การออกแบบที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของเถาเดี๋ยนอาจสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมทั้งให้ประสบการณ์ในเมืองที่โดดเด่นเฉพาะตัว แต่มันต้องเผชิญปัญหาท้าทายด้านการบำรุงรักษาและการขนส่ง  เส้นทางพัฒนาแบบเถาเดี๋ยนอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายและความไม่มีระเบียบมากกว่า  กระนั้นก็ตาม ชาวต่างชาติกลับชอบการออกแบบที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของเถาเดี๋ยน

สรุป

ฝูไหมเฮิงและเถาเดี๋ยนเป็นย่านที่ส่วนหนึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับวิถีชีวิตของชาวต่างชาติ  ทั้งสองย่านให้ทางเลือกของที่อยู่อาศัยหลากหลาย มีทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และอพาร์ตเมนต์ตึกสูง ซึ่งออกแบบตามมาตรฐานพื้นที่แบบตะวันตก พร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคมที่ทันสมัย

ทั้งสองกรณีตัวอย่างคือวิถีทางใหม่ในการพัฒนาเมืองใหม่ในเวียดนาม  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไต้หวันที่ออกแบบฝูไหมเฮิงทุ่มเทเวลาและเงินจำนวนมากไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม (สวนสาธารณะ โรงเรียน) ก่อนที่จะเริ่มขายบ้านและที่ดิน  เถาเดี๋ยนก็เจริญรอยตามวิถีทางนั้นเช่นกัน มีการก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง  ผู้ซื้อที่มีกำลังทรัพย์เต็มใจจ่ายเงินเพื่ออยู่อาศัยในบ้านและที่อยู่อาศัยหรูหราราคาแพง เพราะที่อยู่อาศัยแบบนี้ให้สภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งชาวเวียดนามไม่เคยรู้จักก่อนทศวรรษ 1990

นครโฮจิมินห์มีความหลากหลายและมีระดับมาตรฐานการครองชีพที่แตกต่างกันมากมาย  มันค่อยๆ ให้ความสะดวกสบายแก่ชาวต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของย่านที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ซึ่งรองรับวิถีชีวิตของชาวต่างชาติ  รวมทั้งชนะใจชาวเวียดนามเองด้วย ซึ่งเลือกมาอยู่อาศัยในฝูไหมเฮิงด้วยความตั้งใจและมีเหตุผลในการเลือก  ด้วยเหตุนี้ ผลกระทบของนโยบายโด๋ยเม้ย อันประกอบด้วยการเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยในเวียดนาม ตลอดจนการพัฒนาเมือง จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองและจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอีกในระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร

Thanh Bao Nguyen and Hung Minh Ngo
Thanh Bao Nguyen และ Hung Minh Ngo สังกัด Van Lang University, Vietnam
Corresponding email: thanh.nb@vlu.edu.vn

Banner: Twilight on Ban Nguyet riverbank, cityscape of Phu My Hung, Dist 7, Ho Chi Minh. Photo: Dorothy Pham, Shutterstock

References

Douglass, M., & Huang, L. (2007). Globalizing the city in Southeast Asia: Utopia on the urban edge–the case of Phu My Hung, Saigon. International Journal of Asia-Pacific Studies, 3.
Harms, E. (2016). Luxury and Rubble: Civility and Dispossession in the New Saigon: University of California Press.
Huynh, D. (2015). Phu My Hung New Urban Development in Ho Chi Minh City: Only a partial success of a broader landscape. International Journal of Sustainable Built Environment, 4(1), 125-135. doi:https://doi.org/10.1016/j.ijsbe.2015.03.005
Kim, D.-Y. (2016). A Study on the Characteristics of the Planned New Town Apartments in Vietnam – Focusing on the Ho Chi Minh City the Phu My Hung Area. Korean Institute of Interior Design Journal, 25, 101-111. doi:10.14774/JKIID.2016.25.2.101
Lan, N. T. H., & Huong, L. T. T. (2024). Gated Community vs. Inclusive Urban Development: A Case Study of the Old District 2, Ho Chi Minh City, Vietnam. Paper presented at the Asian Urbanization Conference 2024, The Vietnamese-German University (VGU)-Ho Chi Minh City.
Le, T. T. H., & Le, T. T. H. (2018). Privatization of neighborhood governance in transition economy: a case study of gated community in Phu My Hung new town, Ho Chi Minh City, Vietnam. GeoJournal, 83(4), 783-801. doi:10.1007/s10708-017-9803-x
Quy, H. (2023). Hành Trình Khát Vọng. Tuoi Tre. Retrieved from https://tuoitre.vn/khu-do-thi-phu-my-hung-hanh-trinh-khat-vong-20230517172414994.htm
World Bank. (2017). Phu My Hung, Ho Chi Minh City, Vietnam – Case Study. Retrieved from https://www.thegpsc.org/sites/gpsc/files/3._ho_chi_minh.pdf