ปลุกคนแต่แยกขั้ว: บทบาทเยาวชนกับสื่อสังคมออนไลน์ในการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ปี 2022

ชาวฟิลิปปินส์จัดว่าเป็นประชากรผู้บริโภคเนื้อหาออนไลน์ที่กระตือรือร้นที่สุดชาติหนึ่งในโลก  ตามรายงานปี 2022 ของบริษัท We are Social ประเทศฟิลิปปินส์มีค่าเวลาเฉลี่ยต่อวันที่ใช้ไปกับโลกออนไลน์สูงที่สุดในโลก (10.5 ชั่วโมง)  องค์กรเดียวกันนี้ยังรายงานด้วยว่า 82.4% ของชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมดมีการใช้งานแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ 1  เรื่องที่ตรงกับการคาดการณ์ก็คือ จำนวนเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในหมู่เยาวชนอายุ 15-24 ปีมากกว่า 20 ล้านคน  งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า 94% ของเยาวชนชาวฟิลิปปินส์ใช้อินเทอร์เน็ตหรือมีสมาร์ทโฟน 2

ไม่น่าประหลาดใจที่ฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างชัดเจนของการมีความสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับการยุ่งเกี่ยวการเมืองของพลเมือง  อย่างน้อยที่สุด การมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวฟิลิปปินส์ผ่านการเลือกตั้งก็ค่อนข้างสูงทีเดียว กล่าวคือ มีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยเฉลี่ย 80% ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา 3 จุดเชื่อมต่อนี้เห็นได้ชัดจากลักษณะที่สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียในปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้แค่เป็นหนทางหนึ่งในการเชื่อมโยงสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพสำหรับการแบ่งพรรคแบ่งพวกทางการเมืองภายใต้เงื่อนไขของแยกขั้วที่ค่อนข้างอันตราย 4

Rizal park open air auditorium in Manila, Philippines.

มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางมาแล้วว่า การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 เป็น “การเลือกตั้งด้วยสื่อสังคมออนไลน์” กระแสหลักครั้งแรกในฟิลิปปินส์  ในการเลือกตั้งครั้งนั้น โรดริโก ดูแตร์เต กวาดคะแนนจนเข้าสู่ตำแหน่งได้ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มคนที่ดูเหมือนเป็น “กองทัพ” ของผู้ติดตามในสื่อสังคมออนไลน์ที่ทุ่มเททุกอย่างให้เขา  สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบในการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในระดับที่กำกับดูแลได้ลำบากในส่วนของผู้รับข่าวสารที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย สืบเนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว  อ้อมหนีกรอบการกำกับดูแลที่ล้าสมัย และหลบหลีกกลไกความมั่นคงได้ง่าย 5

ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่เหมาะต่อการปล่อยข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์เพื่อเป้าหมายในการเลือกตั้ง  สืบเนื่องจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระดับสูง การที่ชาวฟิลิปปินส์สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี และการเมืองที่แยกขั้วอย่างรุนแรง  ผู้บริหารระดับสูงของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์แห่งหนึ่งถึงกับนิยามประเทศนี้ว่า “ผู้ป่วยหมายเลขศูนย์ของโรคระบาดการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นอาวุธระหว่างการเลือกตั้ง” 6

อะไรคือบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ในการดึงดูดให้เยาวชนฟิลิปปินส์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2022 และอาจส่งผลให้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ตกเป็นของเฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์?  บทความชิ้นนี้ต้องการเสนอว่า สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญทางการเมืองสองประการด้วยกัน  ในด้านหนึ่ง มัน ปลุก คนหนุ่มสาวชาวฟิลิปปินส์ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นแหล่ง (บิดเบือน)ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง  สื่อสังคมออนไลน์ช่วยเชื่อมสะพานของวิถีการยุ่งเกี่ยวและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันจนนำไปสู่คูหาเลือกตั้ง  ในอีกด้านหนึ่ง การสร้างเรื่องเล่าแม่บทที่บิดเบือนข้อมูลซึ่งปรากฏขึ้นมาระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2022 ทำให้เกิดการ แยกขั้ว คนหนุ่มสาวผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงออกเป็นสองค่ายที่เป็นปฏิปักษ์กันอย่างรุนแรง โดยมีแกนกลางหลักของความแตกแยกอยู่ที่การสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายผู้มีชื่อเสียงเรียงนามเหมือนกับอดีตจอมเผด็จการของประเทศนี้  การสร้างเรื่องเล่าแม่บทที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันระหว่าง ความโหยหาระบอบอำนาจนิยมและความตาสว่างเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย สะท้อนก้องไปก้องมาในหมู่ชาวฟิลิปปินส์ที่อยู่ในโลกดิจิทัล จนกลายเป็นอิทธิพลสำคัญที่สนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้สมัครคนอื่นๆ ด้วย

การที่มาร์กอส จูเนียร์กวาดคะแนนเสียงมาได้ถึง 59% หรือมากกว่า 31 ล้านเสียง ชี้ให้เห็นอำนาจล้นเหลือของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งปี 2022 และอาจมีต่อการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไปในอนาคต  อิทธิพลในด้านการปลุกคนและแยกขั้วของสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการขยายขอบเขต มุ่งเป้าย่อย และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบิดเบือน ส่งผลกระทบกว้างไกลต่อสภาวะและความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์

Baguio, Benguet, Philippines. Photo: Nathaniel Sison, Unsplash

พลเมืองหนุ่มสาวชาวเน็ตที่เพิ่งถูกปลุกขึ้นมา

บริบทของการเลือกตั้งระดับชาติปี 2022 คือระบบนิเวศที่สื่อสังคมออนไลน์ฝังตัวลงไปมากขึ้นโดยที่ยังไม่มีระบอบกำกับดูแลเชิงนโยบาย  ชาวฟิลิปปินส์มีความเชื่อมโยงกันด้วยแอพพลิเคชั่น (หรือแอพ) สื่อสังคมออนไลน์มากยิ่งกว่ายุคสมัยไหน และใช้เวลาอยู่กับแอพเหล่านี้มากกว่าแต่ก่อน โดยใช้มันเพื่อรับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองและอาจใช้เพื่อบ่งบอกการเลือกลงคะแนนเสียงของตนด้วย 7 จากการสำรวจในหัวข้อ Young Adult Fertility and Sexuality Survey เมื่อปี 2021 หนุ่มสาวชาวฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนถึง 93% และผู้ตอบคำถามเกือบ 9 ใน 10 คนมีช่องทางเข้าถึงอินเทอร์เน็ต  จำนวนที่สูงมากนี้สูงกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วถึง 30% 8

ฟิลิปปินส์ยังเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่ “ชาวเน็ต” ใช้เวลาในโลกออนไลน์ไปกับสื่อสังคมออนไลน์ในสัดส่วนสูงมาก  ในปี 2021 ชาวฟิลิปปินส์ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 38.7% ของเวลาในโลกออนไลน์ทั้งหมดไปกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยระดับโลกที่ 36.1% เล็กน้อย 9 เฟสบุ๊กเคยเป็นแอพสื่อสังคมออนไลน์หลักที่ใช้กันมากที่สุดในประเทศก่อนที่ยูทูบจะเข้ามาแทนที่ในปี 2021 ตามรายงานของ We Are Social ในปีนั้น (โปรดดู ตาราง 1)

ตาราง 1. แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้กันมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ปี 2021

Social Media PlatformPercentage
YouTube97.2
Facebook96.8
Facebook Messenger92.1
Instagram73.4
Twitter ("X")62.7
TikTok48.8
Pinterest39.1
Viper36.9
Data: Simon Kemp, “Digital 2021: The Philippines,” 11 February 2021, https://datareportal.com/reports/digital-2021-philippines.

การสำรวจวิจัยเบื้องต้นบ่งชี้ว่า ภูมิทัศน์สื่อสังคมออนไลน์สำหรับการเลือกตั้งปี 2022 เริ่มหลากหลายมากขึ้นจากการที่มีแอพหน้าใหม่กว่าเข้ามามีบทบาทในสังเวียนการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น Tiktok, YouTube และแม้กระทั่งแอพส่งข้อความ เช่น Viber และ Facebook Messenger 10 Tiktok และ YouTube ดึงดูดหนุ่มสาวชาวฟิลิปปินส์ได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

แนวโน้มที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งซึ่งปรากฏในทุกแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งก็คือ อำนาจเหลือล้นของ “อินฟลูเอนเซอร์” ในสื่อสังคมออนไลน์ 11  ฟิลิปปินส์เป็นประเทศติดอันดับต้นๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามในปี 2022 ยอมรับว่า พวกเขาติดตาม “อินฟลูเอนเซอร์” ในสื่อสังคมออนไลน์  ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่แค่ 22.6% ส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวฟิลิปปินส์มีสัดส่วนถึง 51.4%

ตาราง 2. รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง
(Survey question: Here are some of the things that people do during elections to support their candidates of choice. Which of the following have you done in this lection period? Choose as many as you can.)

Voting Preference
Type of ParticipationMarcos, Ferdinand Jr. Others
Watched interviews/debates of candidates33%31%
House to House campaigns6%4%
Volunteer in campaign8%6%
Attend a rally19%13%
Talk to people to vote for your candidate/s of choice18%14%
Wore/used candidates' clothing merchandise13%11%
Put up posters13%13%
Leafleting2%2%
Monetary donation1%0%
Volunteer in campaign8%6%
None31%41%
Other2%1%

ดังที่เห็นในตาราง 2 ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น ความแตกต่างที่เห็นชัดอย่างหนึ่งในพฤติกรรมออฟไลน์ก็คือ กลุ่มผู้สนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์นิยมเข้าร่วมการชุมนุมฟังปราศรัยทางการเมืองและพูดคุยกับคนอื่นๆ เพื่อโน้มน้าวให้เลือกผู้สมัครฝ่ายตนมากกว่ากลุ่มฐานเสียงอื่น  ถึงแม้ค่าความแตกต่างกันจะไม่ได้มากมายเป็นพิเศษก็ตาม  การสำรวจความคิดเห็นยังพบด้วยว่า กลุ่มผู้สนับสนุนมาร์กอส จูเนียร์มีส่วนร่วมมากกว่า มีเพียง 31% เท่านั้นที่ตอบคำถามว่าไม่ได้แสดงการสนับสนุนผู้สมัครฝ่ายตนด้วยรูปแบบการมีส่วนร่วมใดๆ ที่ระบุไว้เลย  เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้สนับสนุนผู้สมัครคนอื่นที่ไม่ใช่มาร์กอส จูเนียร์ที่มีมากถึง 41%  ระดับการมีส่วนร่วมที่ใกล้เคียงกันในรายงานนี้คือการชมดูการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครและการติดโปสเตอร์

โดยรวมแล้ว ผลลัพธ์จากงานวิจัยบ่งชี้ว่า มีเพียงส่วนน้อยของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวฟิลิปปินส์ (น้อยกว่า 10%) ที่ใช้เวลาและความอุตสาหะในรูปแบบการมีส่วนร่วมที่ต้องเสียสละมากขึ้น เช่น การเป็นอาสาสมัครช่วยหาเสียง การแจกใบปลิว การบริจาคเงิน หรือการเดินเคาะประตูบ้านหาเสียง  อย่างไรก็ตาม สมาชิกหลายคนในกลุ่มเยาวชนชาวฟิลิปปินส์ที่กระตือรือร้นกับการหาเสียงแบบรากหญ้าของ Leni Robredo ซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้าน มักเข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าว 12

ข้อมูลข่าวสารบิดเบือนที่นำไปสู่การแยกขั้ว: คนชั่ว คนพิลึก และคนน่าเกลียด

สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นโรงละครที่เรื่องเล่าแม่บทซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารบิดเบือนมีชัยชนะเหนือข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเชื่อถือได้ในระดับและความกว้างไกลอย่างไม่เคยมีมาก่อน  การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบิดเบือนอย่างหนักหน่วงและกว้างขวางก่อให้เกิดบรรยากาศการเลือกตั้งที่แยกขั้วระหว่างการหาเสียงของมาร์กอส จูเนียร์กับผู้สมัครคนอื่นๆ โดยเฉพาะการหาเสียงของ Robredo

เรื่องเล่าแม่บทเรื่องหนึ่งที่แพร่หลายในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2022 ก็คือ ความโหยหา “ยุคทอง” ของการปกครองแบบอำนาจนิยมภายใต้ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้พ่อ  เว็บไซท์ Tsek.ph ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างแวดวงวิชาการ สื่อและภาคประชาสังคม พบว่ามีการเผยแพร่ข้อความต่อเนื่องยืดยาวเพื่อพยายามกอบกู้ภาพพจน์ของตระกูลมาร์กอส ด้วยการปฏิเสธประเด็นต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ อาทิ การเล่นพรรคเล่นพวก และการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งขยายภาพความสำเร็จของมาร์กอสผู้พ่อในสมัยเป็นประธานาธิบดีอย่างเกินความจริง 13 TikTok แพลตฟอร์มที่ใช้คลิปวิดีโอสั้นๆ ในการสื่อสาร ซึ่งถูกระบุว่าเป็นแพลตฟอร์มเกิดใหม่เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบิดเบือน เต็มไปด้วยเนื้อหาโหยหาระบอบอำนาจนิยม  ในรายงานบอกว่าหัวข้อบิดเบือนอันดับต้นๆ ก็คือ ฟิลิปปินส์เคยเป็น “ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย” ในสมัยที่มาร์กอสผู้พ่อเป็นประธานาธิบดี 14

คำขวัญในการหาเสียงของมาร์กอส จูเนียร์ ก็คือ “Babangon Muli” (รุ่งเรืองอีกครั้ง)  มันเป็นคำขวัญที่พยายามสร้างภาพเปรียบเทียบอ้อมๆ ระหว่างระบอบการปกครองภายใต้กฎอัยการศึกสมัยพ่อของเขากับการอ้างถึงความเสื่อมถอยของยุคสมัย “หลัง EDSA” หรือตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา  ตัวย่อ EDSA หมายถึงสถานที่ที่เกิดการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ที่ทำให้ระบอบเผด็จการมาร์กอสยุติลง  เรื่องเล่าแม่บทที่พบเห็นบ่อยที่สุดในประเด็นนี้เน้นย้ำไปที่ “ความล้มเหลว” ของระบอบเสรีนิยมหลังปี 1986 ภายใต้ “กลุ่มเสื้อเหลือง” (สีของตระกูลอากีโนที่เป็นผู้นำโค่นมาร์กอสลงจากอำนาจ) รวมทั้งงานสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ดำเนินไปได้ล่าช้าและความพยายามที่จะเชื่อมโยงลัทธิเสรีนิยมกับความอ่อนแอและไม่กล้าตัดสินใจ 15

ระหว่างการเลือกตั้งปี 2022 ประเด็นพูดคุยที่เป็นหัวใจสำคัญเหล่านี้ไม่เพียงเผยแพร่ด้วยการใช้เฟคนิวส์ แต่อาศัยการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจากอินฟลูเอนเซอร์รายย่อยๆ ใน Youtube และ Tiktok ด้วย  ยกตัวอย่างเช่น บางรายการเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์จงใจทำให้ผู้สนับสนุนผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคนดังตกเป็นเป้าของการวิจารณ์และเยาะเย้ย โดยไม่เคยเปิดเผยชัดเจนว่ารายการเหล่านี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากนักการเมือง

3 February 2022. Robredo-Pangilinan election campaign at Quezon Memorial Circle. Wikipedia Commons

บทสรุป

การเลือกตั้งระดับชาติในฟิลิปปินส์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 คือตัวอย่างชัดเจนที่แสดงให้เห็นบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ในหมู่คนหนุ่มสาวชาวฟิลิปปินส์  แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่า สื่อสังคมออนไลน์จะถูกมองว่าเป็นส่วนเสริมที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งที่จะประสบความสำเร็จและชนะในวงจรการเลือกตั้งในอนาคต  มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ยุทธศาสตร์การใช้สื่อสังคมออนไลน์จะมีการวางแผนตั้งแต่เริ่มแรก มีการใช้ข้อมูลอย่างเข้มข้น หลากหลาย ละเอียดยิบ และปรับให้เหมาะสมกับธรรมชาติของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกันไป  รวมทั้งมีการวิเคราะห์ลักษณะเด่นเชิงประชากรของผู้ใช้แพลตฟอร์ม ตลอดจนวิวัฒนาการของเทคโนโลยีด้วย

ประเทศฟิลิปปินส์แสดงให้เห็นว่า มีความเปราะบางอย่างมากต่อข้อมูลข่าวสารบิดเบือนในสื่อสังคมออนไลน์  เห็นได้จากการสร้างเรื่องเล่าแม่บทหลากหลายมาเผยแพร่กันอย่างหนักหน่วงเพื่อสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งของมาร์กอส จูเนียร์และบ่อนทำลายผู้สมัครคนอื่นๆ  ปริมาณและทิศทางของข้อมูลข่าวสารบิดเบือนเหล่านี้วาดภาพประวัติศาสตร์ที่เป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ กุข้ออ้างไร้สาระ และปฏิเสธปทัสถานของระบอบประชาธิปไตย  สำหรับเยาวชนในประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ด้านการศึกษา ผลพวงของข้อมูลข่าวสารบิดเบือนที่สร้างการแยกขั้วเช่นนี้ค่อนข้างร้ายแรงมาก  การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้พบว่า เยาวชนจำนวนมากขาดทักษะที่จะแยกแยะเฟคนิวส์ออกจากข้อเท็จจริง 16 ครั้งหนึ่งเยาวชนเคยได้รับการยกย่องเป็น “ความหวังของชาติ” ทว่าในเมื่อคนกลุ่มนี้ได้รับแต่ข้อมูลข่าวสารบิดเบือน แล้วพวกเขายังจะบรรลุศักยภาพตามความคาดหวังนี้ได้หรือ?

Aries A. Arugay
Professor and Chairperson of the Department of Political Science
University of the Philippines in Diliman

This piece is a modified version of the article by Aries A Arugay and Justin Keith A. Baquisal. 2022. “Mobilized and Polarized: Social Media and Disinformation Narratives in the 2022 Philippine Elections.” Pacific Affairs 95(3), 549-573. DOI: https://doi.org/10.5509/2022953549

Notes:

  1. ค่าเฉลี่ยทั่วโลกของเวลาในแต่ละวันที่คนใช้ไปกับอินเทอร์เน็ตคือเกือบ 7 ชั่วโมง Simon Kemp, “Digital 2022: April Global Statshot Report,” 21 April 2022, https://datareportal.com/reports/digital-2022-april-global-statshot.
  2. Gelo Gonzales, “Big divide in internet use in Philippines by age, education level – report,” Rappler, 3 April 2020, https://www.rappler.com/technology/256902-pew-internet-use-report-philippines-march-2020/.
  3. Björn Dressel, “The Philippines: How Much Real Democracy?” International Political Science Review 32, no.5 (2011): 529–545.
  4. Lee, Jae Kook, Jihyang Choi, Cheonsoo Kim, and Yonghwan Kim, “Social Media, Network Heterogeneity, and Opinion Polarization.” Journal of Communication 64, no. 4 (2014): 702–722; Jennifer McCoy and Murat Somer, “Toward a Theory of Pernicious Polarization and How It Harms Democracies: Comparative Evidence and Possible Remedies.” The ANNALS of the American Academy of Political and Social Science 681, no. 1 (2019): 234–271.
  5. Petros Iosifidis and Nicholas Nicoli. “The Battle to End Fake News: A Qualitative Content Analysis of Facebook Announcements on How It Combats Disinformation.” International Communication Gazette 82, no. 1 (February 2020): 60–81
  6. Craig Silverman, “The Philippines Was a Test of Facebook’s New Approach to Countering Disinformation. Things Got Worse,” Buzzfeed News, 7 August 2019, https://www.buzzfeednews.com/article/craigsilverman/2020-philippines-disinformation.
  7. “Filipinos remain most active internet, social media users globally—study,” Philippine Daily Inquirer, 1 February 2021, https://technology.inquirer.net/107561/filipinos-remain-most-active-internet-social-media-users-globally-study#ixzz7NZZqAlMI; “PH remains top in social media, internet usage worldwide – report,” Rappler, 28 January 2021, https://www.rappler.com/technology/internet-culture/hootsuite-we-are-social-2021-philippines-top-social-media-internet-usage/.
  8. University of the Philippines Population Institute (2022, October 14). Zoom in, zoom out: Filipino youth in focus [PowerPoint slides]. Population Institute, College of Social Sciences and Philosophy, University of the Philippines, https://www.uppi.upd.edu.ph/sites/default/files/pdf/YAFS5_National Dissemination_Slides_FINAL.pdf.
  9. Simon Kemp, “Digital 2022: Global Overview Report,” 26 January 2022, https://datareportal.com/reports/digital-2022-global-overview-report.
  10. การวิจัยเกี่ยวกับการใช้และแม้กระทั่งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบิดเบือนในแอพส่งข้อความเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกลุ่มพูดคุยต่างๆ ในแอพเหล่านี้ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ  ธรรมชาติของแอพสื่อสังคมออนไลน์ประเภทนี้ก็ทำให้การตรวจสอบข้อมูลและการกำกับดูแลยากลำบากตามไปด้วย  ตัวอย่าง โปรดดู “Viber says to fight ‘fake news’ as Halalan 2022 heats up,” ABS-CBN News, 17 January 2022, https://news.abs-cbn.com/business/01/17/22/viber-says-to-fight-fake-news-in-halalan-2022
  11. คำนิยามของอินฟลูเอนเซอร์ในสื่อสังคมออนไลน์คือ คนที่สั่งสมชื่อเสียงมาจากการมีความรู้ความเชี่ยวชาญในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง  คนเหล่านี้จะเผยแพร่ข้อความเป็นประจำในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ตนนิยมใช้ และมีผู้ติดตามจำนวนมากที่ให้ความสนใจต่อทัศนะความคิดเห็นของพวกเขาอย่างกระตือรือร้น โปรดดู https://influencermarketinghub.com/what-is-an-influencer/#toc-1
  12. Mara Cepeda, “‘Mulat na’: Young voters show off wit and grit for Leni in Isko’s turf.” Rappler, 3 March 2022, https://www.rappler.com/nation/elections/young-voters-show-off-wit-grit-robredo-moreno-turf-manila/.
  13. Tsek.ph, “Firehose of disinformation floods run-up to election”.
  14. Jose Lanuza, Rossine Fallorina, and Samuel Cabbuag, “Understudied Digital Platforms in the Philippines,” Internews, December 2021, https://internews.org/wp-content/uploads/2021/12/Internews_Understudied-Digital-Platforms-PH_December_2021.pdf.
  15. Mark Thompson,“Bloodied Democracy: Duterte and the Death of Liberal Reformism in the Philippines, Journal of Current Southeast Asian Affairs 35, no. 3 (2017): 39–68.
  16. Imelda Deinla, Ronald Mendoza, and Jurel Yap, “Philippines: diagnosing the infodemic,” Rappler, 1 December 2022, https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/philippines-diagnosing-infodemic.