ศักยภาพและความท้าทายของสื่อสังคมออนไลน์ในฐานะเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย

มาเลเซียผ่านกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอันยาวนาน พร้อมกับมีขบวนการสังคมใหญ่ที่สุดสองขบวนการในช่วงยี่สิบปีหลัง กล่าวคือ ขบวนการ Reformasi ซึ่งก่อตัวขึ้นในปี 1998 และการประท้วงต่อสู้เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมอย่างต่อเนื่องในชื่อเรียกว่า  BERSIH (2007-2016) จนทำให้มาเลเซียสามารถหลุดพ้นจากการเป็นรัฐพรรคเดียวที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งในโลก  แนวร่วมพรรคการเมืองที่เคยครองอำนาจรัฐมาอย่างยาวนานคือ Barisan Nasional (BN, National Front หรือที่เรียกกันว่าแนวร่วม Alliance ก่อนปี 1973) สิ้นสุดการครองอำนาจรัฐในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 (GE-14) ในปี 2018  การเปลี่ยนแปลงระบอบผ่านการเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยบางประการที่ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งผ่านระบอบอำนาจนิยมที่มีการแข่งขันคล้ายๆ กัน (Croissant, 2022; Levitsky & Way, 2010)  พร้อมกันนั้น ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอุตสาหกรรมและการขยายเมือง ซึ่งส่งผลให้ชนชั้นกลางก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น บวกกับข้อมูลข่าวสารที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจากช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ก็ได้รับการกล่าวถึงเช่นกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยหลักที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้เกิดขึ้น  อันที่จริง  ในกรณีของมาเลเซียนั้น กล่าวกันว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (Haris Zuan, 2020b, 2020a)

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ความพ่ายแพ้ของแนวร่วม BN ในปี 2018 การรณรงค์ที่เต็มไปด้วยอคติด้านเชื้อชาติกลับแพร่กระจายตามสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และ Tik Tok  จนเกิดการระดมมวลชนออกเดินขบวนครั้งใหญ่ตามท้องถนน โดยมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมมลายู-มุสลิมเป็นแกนนำ  การรณรงค์เช่นนี้อย่างต่อเนื่องทางสื่อสังคมออนไลน์ลงเอยด้วยผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 (GE-15) ซึ่งคะแนนเสียง 89% ของชาวมลายู-มุสลิมเทให้แก่แนวร่วม Perikatan Nasional (PN) ซึ่งเป็นแนวร่วมทางการเมืองปีกขวาอนุรักษ์นิยมที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรค Malaysian Islamic Party (PAS) และพรรค The Malaysian United Indigenous Party (BERSATU)  ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ว อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำแนวร่วม Pakatan Harapan และขบวนการ Reformasi จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งใช้เวลาถึง 24 ปีตั้งแต่ขบวนการ Reformasi ก่อตั้งขึ้น แต่สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ Tik Tok ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ก็ยังเต็มไปด้วยคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาปลุกปั่นเกี่ยวกับประเด็นเชื้อชาติ

ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามว่า ทำไมสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในตอนแรกได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตอนนี้กลับผูกโยงกับการรณรงค์เหยียดเชื้อชาติของกลุ่มปีกขวาอนุรักษ์นิยมล้าหลัง?  หรือว่าสื่อสังคมออนไลน์ในมาเลเซียมีผลกระทบที่แตกต่างออกไปต่อกลุ่มประชากรแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะต่อเยาวชน?  เราจะทำความเข้าใจบทบาทและข้อจำกัดของสื่อสังคมออนไลน์ในฐานะเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัฐที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านอย่างมาเลเซียอย่างไรดี?

The Malysian Parliament building in Kuala Lumpur. Photo: Jaggat Rashidi, Shutterstock

สื่อสังคมออนไลน์และการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในมาเลเซีย

มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยสัดส่วน 89.6% ของประชากร 32.98 ล้านคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต  เพื่อให้เห็นภาพเปรียบเทียบ ในปี 1999 อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนแค่ 12%  จากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 56% (2008), 66% (2012) และ 81% (2018)  การใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน  ตามข้อมูลทางสถิติของหลายสำนักที่เผยแพร่ในปี 2022 ชาวมาเลเซียจำนวนถึง 30.25 ล้านคน (91.7% ของประชากรทั้งหมด) เป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยใช้ Facebook (88.7%), Instagram (79.3%) และ TikTok (53.8%) เป็นแอพพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์หลักของตน  ในแง่ของซอฟต์แวร์การสื่อสารนั้น WhatsApp (93.2%), Telegram (66.3%) และ Facebook Messenger (61.6%) ได้รับความนิยมมากกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน

ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากปี 2008 สื่อสังคมออนไลน์ในมาเลเซียได้รับการกล่าวขานว่าเป็นสื่อกลางสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย  สื่อสังคมออนไลน์เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มนิยมฝ่ายค้านหัวก้าวหน้าที่ต่อต้านกลุ่มอำนาจเดิม กระทั่งสื่อกระแสหลักค่อยๆ สูญเสียอิทธิพลในการเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารหลักในหมู่ชาวมาเลเซีย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ที่สุดที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Azizuddin 2014; Haris Zuan, 2014)

แนวร่วมพรรครัฐบาล BN ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี โดยเฉพาะหลังจากเกือบแพ้การเลือกตั้งทั่วไป GE-12 (2008)  ดังนั้น เพื่อรับมือกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดมา นาจิบ ราซัก ซึ่งจะเป็นผู้นำแนวร่วม BN เข้าสู่สนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรก จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสื่อสังคมออนไลน์ ถึงขนาดเอ่ยว่า GE-13 จะเป็นการเลือกตั้งบนสื่อสังคมออนไลน์ครั้งแรกในมาเลเซีย  นาจิบ ราซักมีความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์อย่างมาก โดยมีผู้ติดตามหลายล้านคน  กระทั่งมีช่วงเวลาหนึ่งที่นาจิบติดอันดับ 15 ผู้นำรัฐบาลที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก ในทวิตเตอร์  ถึงแม้มีรายงานกล่าวว่า ประมาณ 50-70% ของผู้ติดตามเป็นบัญชีปลอมก็ตาม (Haris Zuan, 2014)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แนวร่วม BN ในตอนนั้นทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์ในการหาเสียงเลือกตั้ง GE-13 แต่การลงทุนอย่างหนักของแนวร่วม BN ในสื่อสังคมออนไลน์กลับไม่แปรผลออกมาเป็นคะแนนเสียง  แนวร่วม BN ทำคะแนนได้แย่ลงเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนด้วยซ้ำ  จากแนวโน้มนี้ กลุ่มผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงชาวมาเลเซีย ซึ่งกล่าวกันว่ามีแนวคิดอนุรักษ์นิยมและไม่ก้าวหน้า พากันปฏิเสธพรรคอัมโน (UMNO) ซึ่งเป็นแกนนำหลักของแนวร่วม BN ทั้งที่พรรคอัมโนเป็นศูนย์กลางในวัฒนธรรมทางการเมืองของมาเลเซีย ถึงขนาดได้รับการเรียกขานว่าเป็น “ผู้พิทักษ์” ของชาวมลายู  ในการเลือกตั้งปี 2022 ดร. มหาธีร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยและเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุด ซึ่งนับเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งใหญ่ในการเมืองมาเลเซีย ไม่เพียงพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซ้ำต้องสูญเสียตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย หลังจากไม่สามารถได้คะแนนเสียง 12.5% อันเป็นคะแนนเสียงขั้นต่ำสุด  นี่คือเรื่องที่คิดฝันไม่ได้เลยหากย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ประการที่สอง ถึงแม้มีการโฆษณาชวนเชื่อแบบเหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้นมากมาย แต่มาเลเซียได้เห็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่ค่อนข้างราบรื่นและสันติ  มีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลกที่สามไม่มากนักที่สามารถอ้างเช่นนี้ได้   และประการที่สาม มีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า วาทกรรมสาธารณะว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น ความซื่อตรงและธรรมาภิบาลกำลังขยายตัวมากขึ้นในมาเลเซีย  ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่แม้กระทั่งแนวร่วม PN ก็ยังใช้แนวคิดเรื่องรัฐบาลมือสะอาดเป็นแนวคิดหลักในการหาเสียง และถึงแม้จะมีการอ้างถึง Hudud ซึ่งเป็นกฎหมายในศาสนาอิสลามกันอย่างมากในมาเลเซีย  แต่แนวร่วม PN ก็ไม่เอ่ยคำว่า Hudud ในแถลงการณ์ของพรรคเลย

พัฒนาการที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งปรากฏให้เห็นเมื่อโรคระบาดโควิด-19 สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโลกในช่วงต้นปี 2020  มาเลเซียก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ส่งผลให้สมาชิกในชุมชนหลายแห่งถูกตัดขาดจากแหล่งอาหาร  ขบวนการเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นมาเองและมีเยาวชนรากหญ้าเป็นผู้นำโดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนาผุดขึ้นมาในสื่อสังคมออนไลน์พร้อมกับแฮชแท็ก #KitaJagaKita (มองหากันและกัน) และ #BenderaPutih (ธงขาว) เพื่อประสานกิจกรรมให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  แคมเปญนี้ช่วยให้ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งต่อคนอื่นทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า ตนต้องการความช่วยเหลือในด้านใดบ้างและคนที่มีกำลังช่วยได้สามารถติดต่อกับผู้ต้องการความช่วยเหลือโดยตรง  แคมเปญนี้แพร่หลายอย่างรวดเร็วและต่อมาภายในปีนั้นเองก็กลายเป็นช่องทางในโลกออนไลน์ให้ผู้ไม่พอใจรัฐบาลวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐในการจัดการโรคระบาด

แคมเปญออนไลน์เหล่านี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาเอง เป็นกิจกรรมเฉพาะกิจ มีที่มาจากประเด็นปัญหาและเหตุการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งในลักษณะเด่นของขบวนการสังคมใหม่  เราไม่สามารถนิยามขบวนการนี้ด้วยอุดมการณ์ที่ตายตัวและมีสมาชิกขบวนการเป็นชนชั้นทางสังคมชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เช่น ชนชั้นแรงงานหรือกรรมกร ได้อีกต่อไป  ขบวนการเหล่านี้เน้นย้ำสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยและการเป็นตัวแทน/อัตลักษณ์ทางสังคม/การเมือง ซึ่งเป็นแกนกลางของแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองแข็งขันและตื่นรู้ (active citizen)  (Haris Zuan, 2021)  ลักษณะเช่นนี้ชี้ให้เห็นคุณลักษณะสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์ในมาเลเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอำนาจในเชิงวิพากษ์วิจารณ์  ดังนั้น จึงเอื้อให้สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย  เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ประชาธิปไตยในประเทศมาเลเซียยุคปัจจุบันดีขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน  อันที่จริง มาเลเซียติดอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปี 2021 มาเลเซียติดอันดับ 6 ของภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลเชีย และอันดับที่ 39 ของโลก

ถ้าเช่นนั้น หากว่าสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในมาเลเซียดีขึ้นเรื่อยๆ  เราจะอธิบายอย่างไรต่อรายงานของสื่อกระแสหลักและคำกล่าวอ้างของนักการเมืองที่บรรยายถึงการรื้อฟื้นกระแสชาติพันธุ์-ชาตินิยมทางศาสนาที่ถูกปลุกขึ้นมาในมาเลเซีย

ข้อจำกัดและความท้าทายของสื่อสังคมออนไลน์กับการเป็นเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

โดยรวมแล้ว สื่อสังคมออนไลน์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพลวัตมากขึ้น  มันวิวัฒนาการขึ้นมาจากการสื่อสารด้วยตัวหนังสือง่ายๆ กระทั่งกลายมาเป็นการแชร์คอนเทนต์แบบมัลติมีเดีย  ในมาเลเซีย สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟสบุ๊ค  ช่วยลดอำนาจของรัฐในการควบคุมข้อมูลข่าวสาร ทำให้การกระจายข้อมูลข่าวสารมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม  อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสื่อสังคมออนไลน์แบบไมโครบล็อก (micro blog) มากขึ้น เช่น ทวิตเตอร์ และตอนนี้ก็คือแพลตฟอร์ม Tik Tok ที่มีลักษณะการสื่อสารเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ  บทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ที่เคยเป็นสื่อกลางการถกเถียงอภิปรายที่เน้นหนักเนื้อหาสาระอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ กลับเผชิญปัญหาท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม  สืบเนื่องจากธรรมชาติของสื่อสังคมออนไลน์เองที่ข้อมูลปริมาณล้นเกินผ่านมาและผ่านไปอย่างรวดเร็วจนเปิดช่องให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผิดๆ (misinformation) และข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน (disinformation)  กระนั้นก็ตาม วิวัฒนาการของสื่อสังคมออนไลน์เองไม่ใช่ปัญหาหลักที่ลดทอนศักยภาพในการเป็นเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงในกรณีของมาเลเซีย

สื่อสังคมออนไลน์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปริมณฑลสาธารณะ  ยิ่งในกรณีของมาเลเซียนั้น  เป็นเรื่องยากที่วาทกรรมทวนกระแสหลักจะประสบความสำเร็จหากหวังพึ่งแค่สื่อสังคมออนไลน์เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ปริมณฑลสาธารณะอื่นๆ ยังคงถูกครอบงำจากวาทกรรมกระแสหลักมากกว่า  ด้วยเหตุนี้ วาทกรรมทวนกระแสหลักต้องมีที่ทางในปริมณฑลสาธารณะทางกายภาพอื่นๆ ด้วย

ตัวอย่างที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของฟะฮ์มี เรอซา (Fahmi Reza) ศิลปินภาพกราฟิกการเมืองชื่อดัง ซึ่งทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งแก่เยาวชนระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป GE-15  แคมเปญของเขาเริ่มต้นใน TikTok  ถึงแม้ได้รับการตอบรับอย่างมาก แต่พอเขาพยายามจะเปิดชั้นเรียนให้ความรู้ทางการเมืองในมหาวิทยาลัยทั่วทั้งประเทศ เขากลับถูกสกัดจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง  อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มหัวก้าวหน้าไม่กี่กลุ่มที่สามารถออกมาดำเนินกิจกรรมนอกพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ (Mohd Izzuddin Ramli & Haris Zuan, 2018)  ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังมีแนวโน้มที่พรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาโหนกระแสและฉกฉวยประโยชน์จากความนิยมในการดำเนินกิจกรรมทางออนไลน์  ยกตัวอย่างเช่น แคมเปญ #KitaJagaKita ซึ่งต่อมาถูกพรรคฝ่ายค้านฉกฉวยไปเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งในการโจมตีรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงการสนับสนุนกิจกรรมนี้ในทางที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

เรื่องนี้แตกต่างจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมปีกขวาที่มีที่ทางเข้มแข็งในปริมณฑลสาธารณะต่างๆ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย และมัสยิด  ในมาเลเซีย พรรคปาส (PAS พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย) เป็นพรรคเดียวเท่านั้นที่มีการให้การศึกษาด้านการเมืองและระบบจัดตั้งกลุ่มยุวชนที่แพร่หลายมากที่สุด  พรรคปาสไม่ได้เป็นแค่พรรคการเมือง แต่ยังดำเนินกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ สอนศาสนา บริหารสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนอนุบาลจนถึงมัธยม และกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ  เรื่องนี้ทำให้พรรคปาสมีอิทธิพลมากในหมู่เยาวชนมาเลเซีย (Haris Zuan, 2018)

ความสัมพันธ์ที่พรรคปาสสร้างขึ้นมีมากกว่าการเมืองเรื่องเลือกตั้ง อีกทั้งการสร้างความมีส่วนร่วมผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ยิ่งมากเกินพอที่จะชนะใจกลุ่มผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงอายุน้อยเหล่านี้  ดังนั้น ในปี 2015 เมื่อพรรคปาสผละจาก Pakatan Rakyat แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านที่รวมตัวกันหลวมๆ ในตอนนั้น ช่องว่างในปริมณฑลสาธารณะจึงมิใช่จะเติมเต็มกันได้อย่างทันท่วงที  พรรค PKR และพรรค DAP พยายามสร้างโครงการพิเศษเพื่อให้การศึกษาด้านการเมืองแก่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงรุ่นเยาว์  แต่โครงการนี้เล็กเกินไปและระยะสั้นเกินไป  อันที่จริง พรรค PKR และพรรค DAP ยกเลิกโครงการนี้หลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป GE-14  พรรค PH และพรรคการเมืองตั้งใหม่ที่เน้นฐานเสียงคนหนุ่มสาว MUDA (ชื่อพรรคแปลตรงตัวว่า คนหนุ่มสาว) ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลักดันตามแถลงการณ์ในการเลือกตั้ง GE-14 จนสามารถลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจาก 21 ปี มาเป็น 18 ปี ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2019  แต่ทั้งสองพรรคกลับดูเหมือนสะเปะสะปะหลงทิศหลงทางในการระดมเสียงสนับสนุนจากเยาวชน

ประชากรของผู้ใช้งาน Tik Tok ในมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นคนรุ่น Gen Z และ Millennial อายุต่ำกว่า 24 ปี ซึ่งไม่ใช่คนรุ่นที่มาจากยุค Reformasi ปี 1998 หรือยุค BERSIH ปี 2008 ซึ่งเป็นขบวนการสังคมสองขบวนการที่ก่อให้เกิดความทรงจำร่วมกันของคนรุ่นนั้น  ในขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่มีความผูกพันเกี่ยวโยงกับสองขบวนการนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรค Pakatan Rakyat (PR) หรือพรรค Pakatan Harapan (PH)  คนรุ่น Tik Tok นี้มองว่า พรรค PR/PH ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ครองอำนาจ (ปกครองสองรัฐที่รวยที่สุดในมาเลเซียมาตั้งแต่ปี 2008 ก่อนเข้าร่วมรัฐบาลกลางในปี 2018)  ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของขบวนการสังคมที่เป็นตัวแทนของประชาชน  ทัศนะเช่นนี้ทำให้พวกเขาวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองทั้งสองฝ่าย และทำให้พวกเขาปฏิเสธพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายด้วย

Mid Valley Megamall in Kuala Lumpur, Malaysia. Wikimedia Commons

นอกเหนือปัญหาท้าทายที่สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลและพรรคการเมืองเข้ามา “แทรกซึม” แล้ว ความเป็นอิสระของสื่อสังคมออนไลน์ในฐานะเครื่องมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ยังถูกท้าทายด้วยอิทธิพลของลัทธิบริโภคนิยมด้วย  แนวโน้มนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และสามารถสืบสาวกลับไปได้นับตั้งแต่การเกิดกระบวนการโลกาภิวัตน์เมื่อปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา  ยิ่งมีพัฒนาการของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ฝังลงในสื่อสังคมออนไลน์ด้วย ลัทธิบริโภคนิยมก็ไต่ขึ้นไปสู่ระดับใหม่ โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน จนมีแนวโน้มที่จะทำให้พวกเขาขาดความสนใจต่อประเด็นทางการเมือง

บทสรุป

มาเลเซียต้องเผชิญหน้ากับทางแพร่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องสร้างรัฐบาลที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพพร้อมกับยกระดับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อีกด้านหนึ่งก็ถูกโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมปีกขวาในสื่อสังคมออนไลน์  เนื่องจากการจำกัดสื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือกที่รัฐบาลจะเลือกได้อีกแล้ว ในเมื่อรัฐบาลเองก็พยายามส่งเสริมการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง  รัฐบาลจึงควรมีปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับประชาชนทั้งในและนอกสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง  ภาคประชาสังคมควรสนับสนุนความพยายามนี้เพื่อต่อสู้กับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผิดๆ และข้อมูลข่าวสารบิดเบือน ด้วยการเพิ่มอำนาจให้พลเมืองสามารถจัดการข้อมูลข่าวสาว โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาว  การมีพลเมือง (และชาวเน็ต) ที่มีการศึกษาเท่านั้น จึงจะช่วยให้ประชาธิปไตยไปต่อได้

Haris Zuan
Institute of Malaysian & International Studies (IKMAS)
National University of Malaysia (UKM)

References

Azizuddin, M. Sani. (2014). The Social Media Election in Malaysia: The 13th General Election in 2013. Kajian Malaysia: Journal of Malaysian Studies, 32.

Croissant, A. (2022). Malaysia: Competitive Authoritarianism in a Plural Society. In: Comparative Politics of Southeast Asia. Springer Texts in Political Science and International Relations. Springer, Cham.

Haris Zuan. 2021. The Emergence of a New Social Movement in Malaysia: A Case Study of Malaysian Youth Activism. In: Ibrahim Z., Richards G., King V.T. (eds) Discourses, Agency and Identity in Malaysia. Asia in Transition, vol 13. Springer, Singapore.

Haris Zuan (2020a) ‘Youth in the Politics of Transition in Malaysia’, in Towards a New Malaysia?. NUS Press, pp. 131–148.

Haris Zuan (2020b) Transformasi Sosial dan Politik Belia Menelusuri Perubahan Budaya Politik Belia di Malaysia. Bangi: Penerbit UKM.

Haris Zuan (2018) Bersediakah Malaysia turunkan umur mengundi?[ Is Malaysia ready to lower the voting age]. Malaysiakini. https://www.malaysiakini.com/news/443829

Haris Zuan (2014) ‘Pilihan Raya Umum Ke-13: Perubahan Budaya Politik Malaysia Dan Krisis Legitimasi Moral Barisan Nasional [The 13th General Elections: Changes In Malaysian Political Culture And Barisan Nasional’s Crisis Of Moral Legitimacy]’, Kajian Malaysia, 32(2), pp. 149–169.

Levitsky, S., & Way, L. (2010). Competitive authoritarianism: Hybrid regimes after the Cold War. Cambridge University Press.

Mohd Izzuddin Ramli & Haris Zuan. 2018. ‘Cartoons and Graphic Arts: Resistance and Dissidence Within and Beyond Electoral Politics’ in James Gomez, Mustafa K. Anuar, and Yuen Beng Lee (eds.) Media and Elections Democratic Transition in Malaysia. SIRD: Petaling Jaya

The Economist Intelligence Unit (2016-2021). Democracy Index. https://www.eiu.com/