การมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของเยาวชนญี่ปุ่น

การสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า ในทุกกลุ่มช่วงวัยของประชากรทั้งหมด มีอัตราการใช้สมาร์ทโฟนเกิน 90% ในปี 2019 และอัตราการใช้ LINE ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศญี่ปุ่น เกิน 90% ในปี 2020 (Institute for Information and Communications Policy; IICP, 2022)  ทุกวันนี้ สื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมในญี่ปุ่น  ประชาชนใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเวลาและสถานที่  บทความนี้จะอภิปรายถึงบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในญี่ปุ่น โดยเน้นไปที่คนรุ่นหนุ่มสาวที่เรียกกันว่า “ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด” (digital native)  ในส่วนแรกจะอภิปรายถึงสภาพการณ์ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน  จากนั้นจะกล่าวถึงตัวอย่างของปฏิบัติการทางการเมืองที่โดดเด่นสองกรณีซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสื่อสังคมออนไลน์  ในส่วนสุดท้ายจะพิจารณาถึงความท้าทายของการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของคนรุ่นหนุ่มสาวในญี่ปุ่น

ภูมิทัศน์ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในหมู่เยาวชนญี่ปุ่น

เราสามารถให้คำจำกัดความของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนญี่ปุ่นว่า มีลักษณะของระดับความสนใจปานกลางและระดับความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่ำ  ประการแรก ลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นจากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งเป็นมาตรวัดทั่วไปของการมีส่วนร่วมทางการเมือง  ในญี่ปุ่น ตามสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาลญี่ปุ่น (Ministry of Internal Affairs and Communications; MIC, 2022) สัดส่วนร้อยละของการมาใช้สิทธิ์ออกเสียงในการเลือกตั้งระดับชาติสองครั้งอยู่ที่ 52% (ราชมนตรีสภา กรกฎาคม 2022) และ 56% (สภาผู้แทนราษฎร ตุลาคม 2021)  เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ  ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งชาวญี่ปุ่นที่เป็นคนหนุ่มสาวค่อนข้างไม่สนใจการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง  จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ในหมู่ประชาชนช่วงวัยที่ขึ้นต้นด้วยเลขสองสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป (การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป) อยู่ในอัตราต่ำสุดเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั้ง 18 ครั้งตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมา  ประชากรในวัยนี้ออกมาใช้สิทธิ์ครั้งล่าสุดแค่ราว 37% ซึ่งประมาณเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรวัยหกสิบที่ออกมาใช้สิทธิ์ (71% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ออกมาใช้สิทธิ์สูงสุด)  นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่พลเมืองอายุ 18 และ 19 ปี ได้รับสิทธิ์เลือกตั้งในปี 2016 แต่การออกมาใช้สิทธิ์ของคนวัยนี้กลับต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งระดับชาติ ยกเว้นในปี 2016 ซึ่งเป็นปีแรกที่พวกเขาได้รับสิทธิ์เลือกตั้ง  เราอาจอธิบายเรื่องนี้ได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากกระบวนการที่ขลุกขลักในการทำหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่สำหรับคนที่ย้ายไปอยู่ภูมิภาคอื่นเพื่อไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย (MIC, 2016)  กระนั้นก็ตาม ผลกระทบของประเด็นนี้ก็ดูเหมือนมีไม่มากนักในเชิงสถิติ

Voting venue for the 2014 House of Representatives election, 2014, Osaka, Japan. Wikipedia Commons

ประการที่สอง ทัศนะของคนหนุ่มสาวที่มีต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นเหตุผลที่ทำให้อัตราส่วนการไม่ออกไปใช้สิทธิ์อยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ดูเหมือนสะท้อนออกมาในการสำรวจความคิดเห็นเปรียบเทียบระหว่างประเทศ  รัฐบาลญี่ปุ่นทำการสำรวจเปรียบเทียบระหว่างประเทศโดยสุ่มตัวอย่างประชาชนอายุตั้งแต่ 13 จนถึง 29 ปีใน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดน (Cabinet Office; CAO, 2014)  ผลการสำรวจบ่งชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นที่สนใจการเมืองภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 50%  ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับผู้ตอบแบบสอบถามจากประเทศอื่นๆ  ผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่พอใจกับสังคมในประเทศของตนเอง  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไม่พอใจ แต่มีผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เหลือ

แนวโน้มดังกล่าวนี้ได้รับการตั้งข้อสังเกตมาอย่างสม่ำเสมอในการสำรวจความคิดเห็นเปรียบเทียบระหว่างประเทศครั้งอื่น ซึ่งเป็นการสำรวจในกลุ่มประชาชนวัย 17-19 ปีในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ 5 หรือ 8 ประเทศ (Nippon Foundation, 2019; 2022)  การสำรวจความคิดเห็นเหล่านี้บ่งชี้สอดคล้องกันว่า ในบรรดาประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็น เยาวชนญี่ปุ่นมีทัศนะเชิงลบต่ออนาคตของประเทศและของตนเองมากที่สุด รวมทั้งมีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำที่สุด  ทั้งนี้ไม่ได้สืบเนื่องจากการขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพที่จะควบคุมชีวิตของตัวเอง เพราะผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นครึ่งหนึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความสนใจในประเด็นต่างๆ ด้านสังคมและการเมือง  อีกทั้งเกินกว่าครึ่งมีสำนึกถึงศักยภาพในการควบคุมวิถีชีวิตของตน เช่น การเลือกเพื่อน คู่ชีวิต งาน ฯลฯ  ทัศนคติของหนุ่มสาวญี่ปุ่นที่มีต่อบทสนทนาทางการเมืองมีลักษณะแบบ “สนใจเงียบๆ – ฉันสนใจการเมืองแต่จะไม่คุยถึงมัน” ตามข้อสรุปที่ได้จากงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Kligler-Vilenchik et al., 2021 597).

สื่อสังคมออนไลน์กับการเป็นเครื่องมือสมัยใหม่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในญี่ปุ่น

วิธีการในการเข้าร่วมปฏิบัติการทางการเมืองของพลเมืองชาวญี่ปุ่นดูเหมือนจะมีจำกัดมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ  ในการสำรวจครั้งล่าสุดของ World Values Survey (Wave Seven; Haerpfer et al., 2022) ชี้ให้เห็นว่า นอกจากการลงชื่อในแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแบบออฟไลน์แล้ว มีชาวญี่ปุ่นน้อยคนมากที่จะเข้าร่วมในปฏิบัติการทางการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือออฟไลน์ อาทิ การคว่ำบาตร การเดินขบวนประท้วงอย่างสันติ การนัดหยุดงาน การค้นหาข้อมูลออนไลน์ การลงชื่อในแถลงการณ์ข้อเรียกร้องออนไลน์ การกระตุ้นให้ประชาชนคนอื่นๆ ออกมาแสดงบทบาททางออนไลน์ และการจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยอาศัยอินเทอร์เน็ต  อัตราส่วนของคนที่ตอบคำถามว่าเคยเข้าร่วมกิจกรรมเจ็ดประเภทที่กล่าวมานี้ในญี่ปุ่นต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อย่างน้อย 40 ประเทศจากจำนวน 63-65 ประเทศในการสำรวจครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกรณีในญี่ปุ่น  ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีปฏิบัติการทางการเมืองของพลเมืองชาวญี่ปุ่นที่โดดเด่นมาก โดยที่สื่อสังคมออนไลน์ถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มของการประท้วง  ในปี 2015 นักศึกษามหาวิทยาลัยในเขตมหานครโตเกียวร่วมมือกันก่อตั้งกลุ่มทางการเมืองชื่อ ‘Student Emergency Action for Liberal Democracy’ หรือที่รู้จักกันในตัวย่อว่า ‘SEALDs’  พวกเขาประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายด้านนโยบายความมั่นคงที่จะอนุญาตให้กองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่นสามารถใช้สิทธิป้องกันตนเองร่วม (rights of collective self-defence) ซึ่งนักศึกษามองว่า “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”  พวกเขาเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนหน้ารัฐสภาหลายครั้งก่อนที่ร่างกฎหมายนี้จะผ่านสภา รวมทั้งมีการเผยแพร่กิจกรรมของตนทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะทางทวิตเตอร์  ในขณะที่ SEALDs เป็นกลุ่มเชิงสัญลักษณ์ที่จัดตั้งโดยนักศึกษา แต่ก็มีประชาชนหลายหมื่นคนจากทุกกลุ่มอายุเข้าร่วม และกลุ่มต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายจัดประท้วงหลายครั้งในหลายพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น (Kingston, 2015)

SEALDs demonstration near the Diet building in Tokyo,  28 March 2016. Wikipedia Commons

ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2020 โดยมักเรียกกันว่า ‘Twitter demo’ (การประท้วงทางทวิตเตอร์)  กรณีนี้เป็นการประท้วงของพลเมืองเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนวิธีตีความกฎหมายและการยื่นร่างกฎหมายฉบับใหม่ของรัฐบาล ซึ่งตอนนั้นมีนายชินโซ อาเบะเป็นนายกรัฐมนตรี  การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการปูทางเพื่อเอื้อให้ฮิโรมุ คุโรคาวะ (Hiromu Kurokawa) ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการชั้นอุทธรณ์ประจำกรุงโตเกียวและเป็นผู้ที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลของนายอาเบะ เข้ารับตำแหน่งอธิบดีอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของอัยการ  กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์มองว่านี่เป็นกรณีที่ฝ่ายบริหารละเมิดความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ  ในวันที่ 8 พฤษภาคม เวลา 19.40 น. บัญชีนิรนามของเฟมินิสต์สตรีผู้หนึ่งที่ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาในโตเกียว ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 13,000 คนในตอนนั้น ได้เผยแพร่ทวีตหรือข้อความในทวิตเตอร์เกี่ยวกับประเด็นนี้ (Murakami & Yamamitsu, 2020)  ภายใต้ภาวะฉุกเฉินสืบเนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการประท้วงตามท้องถนน ข้อความในทวิตเตอร์ที่ประท้วงต่อต้านความพยายามของรัฐบาลในเรื่องนี้กล่าวว่า “ประท้วงคนเดียวทางทวิตเตอร์” และติดแฮชแท็กว่า “ฉันคัดค้านข้อเสนอที่จะแก้ไขกฎหมายกระทรวงยุติธรรม” ได้รับการแชร์ไปมากกว่า 4.7 ล้านครั้งเมื่อนับถึงเย็นวันที่ 10 พฤษภาคม (Asahi Shimbun, 2020)  ในวันที่ 18 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีอาเบะประกาศเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยอ้างว่า “ขาดการทำความเข้าใจกับสาธารณชน” และอีกสี่วันต่อมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติการลาออกของนายคุโรคาวะหลังจากมีรายงานข่าวว่าเขาทำผิดกฎหมายด้วยการเล่นพนันไพ่นกกระจอก  Toriumi (2021) ชี้ว่า ถึงแม้ข้อความในทวิตเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จำนวนถึงครึ่งหนึ่งได้รับการเผยแพร่จากบัญชีทวิตเตอร์เพียง 2% จากบัญชีทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง แต่บัญชีทวิตเตอร์ของบุคคลหลากหลายอาชีพ รวมทั้งของคนดังมากมาย มีส่วนร่วมในการกล่าวถึงประเด็นนี้ด้วย

A Tokyo train. Liam Burnett-Blue, Unsplash

ความท้าทายของสื่อสังคมออนไลน์ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ดังที่กล่าวมาข้างต้น ดูเหมือนทวิตเตอร์จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงผู้เข้าร่วมและผู้สนับสนุนการประท้วงบนท้องถนน รวมทั้งการเกิดขึ้นของการประท้วงในโลกออนไลน์  การสำรวจเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์ประจำปีครั้งล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่น (IICP, 2022) แสดงให้เห็นว่า 67% ของวัยรุ่นและ 79% ของประชากรในวัยขึ้นต้นด้วยเลขสองเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์ในญี่ปุ่น  ดังนั้น ทวิตเตอร์จึงน่าจะเป็น “สนาม” ที่มีศักยภาพสำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนญี่ปุ่น  อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายอยู่มากพอสมควร

ประการแรก ประชาชนอาจได้รับความคิดเห็นจากทัศนคติทางการเมืองเพียงด้านเดียวโดยไม่รู้ตัวในสื่อสังคมออนไลน์ และเรื่องนี้อาจถูกใช้เพื่อเบี่ยงเบนความคิดเห็นของสาธารณชน  กรณีของบริษัท Cambridge Analytica เป็นตัวอย่างหนึ่งในเชิงสัญลักษณ์  Cambridge Analytica บริษัทเอกชนสัญชาติอังกฤษ ได้ขุดค้นรวบรวม “ข้อมูลมหัต” (big data) จากเฟสบุ๊กและใช้มันเป็น “การชักใยเชิงจิตวิทยา” ในโลกออนไลน์เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา (Kleinman, 2018)  ในทวิตเตอร์ของญี่ปุ่น มีรายงานถึงสัญญาณของ “การโฆษณาชวนเชื่อแฝงเร้น” (stealth propaganda) ถึงแม้ผลกระทบของมันเป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน  Yoshida and Toriumi (2018) วิเคราะห์การรีทวีตของชาวญี่ปุ่นที่มีการเผยแพร่ก่อนและหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2017  พวกเขาชี้ให้เห็นว่า แม้กระทั่งผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ไม่ได้ติดตามบัญชีทวิตเตอร์ของพรรคการเมืองใดเลย ก็ยังได้รับข้อมูลข่าวสารจากพรรคการเมืองบางพรรค  Schäfer et al. (2017) ติดตามกิจกรรมของบ็อต (bot) หรือโปรแกรมอัตโนมัติในทวิตเตอร์ของญี่ปุ่นก่อนและหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2014 และได้ข้อสรุปว่า กิจกรรมของบ็อตเหล่านี้จะคอยเผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์ที่สนับสนุนนายชินโซ อาเบะ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น และคอยวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายที่วิจารณ์เขา  มีการสังเกตเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ในช่วงเวลาอื่นนอกเหนือจากช่วงเลือกตั้งระดับชาติในญี่ปุ่นด้วย  Fukuma et al. (2022) วิเคราะห์ให้เห็นว่า การแบ่งขั้วในทวิตเตอร์ที่เกิดขึ้นกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันญี่ปุ่น มีหลายครั้งที่เกิดจากอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยเสียงดังและกิจกรรมของบ็อต

ประการที่สอง การแบ่งขั้วของทัศนคติทางการเมืองอาจยิ่งเด่นชัดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งรวมถึงทวิตเตอร์ด้วย ดังที่มีตัวอย่างให้เห็นในหลายกรณีของประเทศอื่นๆ  สื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ช่วยให้มองเห็น “ทัศนคติของสาธารณชนในโลกออนไลน์” เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทางการเมือง และเอื้อให้ผู้ใช้สามารถส่งความคิดเห็นของตนแก่ผู้ใช้คนอื่นได้อย่างเสรี  ในแง่ดี นี่ช่วยให้ประชาชนมี “สภากาแฟ” ที่พวกเขาสามารถสนทนาการเมืองเมื่อไรและที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน  แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันอาจส่งเสริมให้ประชาชนเลือกเสพแต่ข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาที่ต้องตรงกับความคิดของตัวเองอยู่แล้วและมีการสื่อสารที่ก้าวร้าว  การแบ่งขั้วทางการเมืองในอินเทอร์เน็ตเป็นประเด็นที่มีการชี้ให้เห็นตั้งแต่การขยายตัวของบล็อก (blog) (Adamic & Glance, 2005) และ “ห้องเสียงสะท้อน” (echo chambers) ทางการเมืองในทวิตเตอร์ก็เป็นเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตถึง (อาทิ Bail et al., 2018; Conover et al., 2011; Colleoni et al., 2014; Yardi & Boyd, 2010)  ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้รับการรายงานถึงในญี่ปุ่นเช่นกัน ดังที่เห็นได้จากหัวข้อเฉพาะบางอย่างจะได้รับการกล่าวถึงเฉพาะภายในบางชุมชนและบางเครือข่ายของผู้ใช้ทวิตเตอร์เท่านั้น (Takikawa & Nagayoshi, 2017)

ประการที่สาม ในแง่ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง สื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์สามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมได้ แต่ไม่แน่ว่าสามารถเปลี่ยนทัศนคติของประชาชน  ดังที่อภิปรายไปแล้ว ดูเหมือนมีชาวญี่ปุ่นเพียงจำนวนน้อยที่ออกมาปฏิบัติการทางการเมือง และเยาวชนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำว่า ตนเองสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ อีกทั้งไม่ค่อยมีความปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้สามารถคาดการณ์การมีส่วนร่วมของพวกเขาทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้ค่อนข้างแม่นยำ (อาทิ Gil de Zúñiga et al., 2012)  การใช้ทวิตเตอร์ในญี่ปุ่นมีลักษณะเด่นตรงที่มีผู้ใช้ที่ไม่เปิดเผยตัวตนในอัตราสูงอย่างเห็นได้ชัด  จากการสำรวจเปรียบเทียบระหว่างประเทศของรัฐบาลญี่ปุ่น (MIC, 2014)  อัตราของผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวญี่ปุ่นที่ไม่เปิดเผยตัวตนมีสูงถึง 75%  ในขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ไม่เปิดเผยตัวตนของห้าประเทศอื่น (สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) มีอัตราเพียงแค่ 31% – 45%  นอกจากนี้ มีรายงานถึงแนวโน้มคล้ายๆ กันนี้ในอัตราส่วนของผู้ที่ลังเลจะใช้ชื่อจริงของตนในสื่อสังคมออนไลน์ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นวัยรุ่นและช่วงวัยที่ขึ้นต้นด้วยเลขสอง ทั้งๆ ที่กลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้เป็นคนรุ่นแรกของ “ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด”  เรื่องนี้น่าจะสะท้อนอุปสรรคทางจิตวิทยาของผู้ใช้ชาวญี่ปุ่นในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ

 

บทสรุป

จากสองกรณีที่หยิบยกเป็นตัวอย่างนั้น บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่สื่อสังคมออนไลน์จะกลายเป็นสนามในโลกความจริงเสมือนที่พลเมืองญี่ปุ่นสามารถมีส่วนร่วมทางการเมือง  เยาวชนญี่ปุ่นมักมีระดับความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำว่าตนเองสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและไม่ค่อยมีความเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ถึงแม้จะมีความกังวลสนใจต่อประเด็นต่างๆ ทางสังคมและการเมืองก็ตาม  อย่างไรก็ตาม ดังที่บทความชิ้นหนึ่งของสำนักข่าว Reuters (Murakami & Yamamitsu, 2020) บรรยายไว้ว่า “การประท้วงทางทวิตเตอร์” หรือ ‘Twitter demo’ ในปี 2020 เป็น “ความโกรธแค้นในโลกออนไลน์ที่นานๆ จะมีสักครั้ง”  ข้อความในทวิตเตอร์ที่เอ่ยถึงประเด็นทางการเมืองด้วยอารมณ์โกรธมักเป็นทวีตของผู้ใช้ที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ใช้อื่นๆ มักแสดงแค่ความกังวล (Uchida, 2018)  นอกจากนี้ สหสัมพันธ์ระหว่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในโลกออนไลน์และออฟไลน์เป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตพบในประเทศอื่นๆ (Leyva, 2017; Chen et al., 2016; Barberá & Rivero, 2015; Bekafigo & McBride, 2013; Vaccari et al., 2013)  ดังนั้น สื่อสังคมออนไลน์อาจเอื้อให้เฉพาะพลเมืองที่ทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่แล้วในประเทศญี่ปุ่นได้สร้างปฏิบัติการอย่างเป็นหมู่คณะ แต่ไม่ช่วยกระตุ้นให้พลเมืองกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วม ดังเห็นได้จากข้อมูลการสำรวจครั้งล่าสุดของ World Values Survey  ในอีกด้านหนึ่ง นักวิจัยบางคนชี้ให้เห็นด้วยว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไม่จริงจังมากนักในสื่อสังคมออนไลน์อาจช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเข้าร่วมปฏิบัติการทางการเมืองในโลกออฟไลน์ (Vaccari et al., 2015)  ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม คุณูปการของสื่อสังคมออนไลน์ที่จะมีต่อประชาธิปไตยสมัยใหม่ในญี่ปุ่นจำเป็นต้องอาศัยทัศนคติและพฤติกรรมที่กล้าแสดงออกมากขึ้นของคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้อาจสร้างขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางสังคม

Atsuhiko Uchida

Banner photo: Josh Soto, Unsplash

References

Adamic, L. A., & Glance, N. (2005). The political blogosphere and the 2004 US election: divided they blog. In Proceedings of the 3rd international workshop on Link discovery (pp. 36-43).

Asahi Shimbun. (2020). 4.7 million tweets blast revision bill to delay Abe ally’s retirement. Asahi Shimbun. Retrieved from https://www.asahi.com/ajw/articles/13362865

Bail, C. A., Argyle, L. P., Brown, T. W., Bumpus, J. P., Chen, H., Hunzaker, M. F., Lee, J., Mann, M., Merhout, F., & Volfovsky, A. (2018). Exposure to opposing views on social media can increase political polarization. Proceedings of the National Academy of Sciences, 115(37), 9216-9221.

Barberá, P., & Rivero, G. (2015). Understanding the political representativeness of Twitter users. Social Science Computer Review, 33(6), 712-729.

Bekafigo, M. A., & McBride, A. (2013). Who tweets about politics? Political participation of Twitter users during the 2011gubernatorial elections. Social Science Computer Review, 31(5), 625-643.

CAO. (2014). Heisei 25 nendo Waga Kuni to Shogaikoku no Wakamono no Ishiki ni kansuru Chosa [2013 Survey on Opinions of Young People in Japan and Foreign Counties]. CAO. Retrieved from http://www8.cao.go.jp/youth/kenkyu/thinking/h25/pdf_index.html

Chen, H. T., Chan, M., & Lee, F. L. (2016). Social media use and democratic engagement: a comparative study of Hong Kong, Taiwan, and China. Chinese Journal of Communication, 9(4), 348-366.

Conover, M., Ratkiewicz, J., Francisco, M., Gonçalves, B., Menczer, F., & Flammini, A. (2011). Political polarization on twitter. Proceedings of the international aaai conference on web and social media, 5(1), 89-96.

Colleoni, E., Rozza, A., & Arvidsson, A. (2014). Echo chamber or public sphere? Predicting political orientation and measuring political homophily in Twitter using big data. Journal of communication, 64(2), 317-332.

Fukuma, T., Noda, K., Kumagai, H., Yamamoto, H., Ichikawa, Y., Kambe, K., Maubuchi, Y., & Toriumi, F. (2022). How Many Tweets DoWe Need?: Efficient Mining of Short-Term Polarized Topics on Twitter: A Case Study From Japan. arXiv preprint arXiv:2211.16305.

Gil de Zúñiga, H., Jung, N., & Valenzuela, S. (2012). Social media use for news and individuals’ social capital, civic engagement and political participation. Journal of Computer‐Mediated Communication, 17(3), 319-336.

Haerpfer, C., Inglehart, R., Moreno, A., Welzel, C., Kizilova, K., Diez-Medrano J., M. Lagos, P. Norris, E. Ponarin & B. Puranen (eds.). (2022). World Values Survey: Round Seven – Country-Pooled Datafile Version 5.0. Madrid, Spain & Vienna, Austria: JD Systems Institute & WVSA Secretariat.

IICP. (2022). Reiwa 3 nendo Johotsushin Media no Riyojikan to Johokodo nikansuru Chosa [2021 Survey on Usage Time of Information and Communication Media]. MIC. Retrieved from https://www.soumu.go.jp/iicp/research/results/media_usage-time.html

Kingston, J. (2015). SEALDs: Students Slam Abe’s Assault on Japan’s Constitution. The Asia-Pacific Journal: Japan Focus, 13 (36).

Kleinman, Z. (2018). Cambridge Analytica: The story so far. BBC. Retrieved from https://www.bbc.co.uk/news/technology-43465968

Kligler-Vilenchik, N., Tenenboim-Weinblatt, K., Boczkowski, P. J., Hayashi, K., Mitchelstein, E., & Villi, M. (2022). Youth political talk in the changing media environment: a cross-national typology. The International Journal of Press/Politics, 27(3), 589-608.

Leyva, R. (2017). Exploring UK Millennials’ Social Media Consumption Patterns and Participation in Elections, Activism, and “Slacktivism”. Social Science Computer Review, 35(4), 462-479.

MIC. (2014). ICT no Shinka ga motarasu Shakai eno Impact nikansuru Chosakenkyu [Survey on the Social Impact of the Evolution of ICT.]. MIC. Retrieved from https://www.soumu.go.jp/johotsusintokei/linkdata/h26_08_houkoku.pdf

MIC. (2016). 18 sai Senkyoken ni kansuru Ishiki Chosa Houkokusho [Opinion Poll on Suffrage of 18 Years Old Report]. MIC. Retrieved from http://www.soumu.go.jp/menu_news/s-news/01gyosei15_02000153.html

MIC. (2023). Kokusei-senkyo no Nendaibetsu Touhyouritsu no Suii nitsuite [Change on Turnout of General Elections by Age]. MIC. Retrieved from http://www.soumu.go.jp/senkyo/senkyo_s/news/sonota/nendaibetu/index.html

Murakami, S. & Yamamitsu, E. (2020). Rare online outrage in Japan forces Abe to delay controversial bill. Reuters. Retrieved from https://jp.reuters.com/article/us-japan-politics-socialmedia/rare-online-outrage-in-japan-forces-abe-to-delay-controversial-bill-idUSKBN22X0Z8

Nippon Foundation. (2019). 18 sai Ishiki Chosa “Dai 20 kai: Kuni ya Shakai nitaisuru Ishiki” (9 kakoku) [18 Years Old Opinion Survey “20th: Attitudes towards Country and Society” (9 countries)]. The Nippon Foundation. Retrieved from https://www.nippon-foundation.or.jp/what/projects/eighteen_survey

Nippon Foundation. (2022). 18 sai Ishiki Chosa “Dai 46 kai: Kuni ya Shakai nitaisuru Ishiki” (6 countries) [18 Years Old Opinion Survey “20th: Attitudes towards Country and Society” (6 countries)]. The Nippon Foundation. Retrieved from https://www.nippon-foundation.or.jp/what/projects/eighteen_survey

Schäfer, F., Evert, S., & Heinrich, P. (2017). Japan’s 2014 general election: Political bots, right-wing internet activism, and prime minister Shinzō Abe’s hidden nationalist agenda. Big data, 5(4), 294-309.

Takikawa, H., & Nagayoshi, K. (2017). Political polarization in social media: Analysis of the “Twitter political field” in Japan. In 2017 IEEE international conference on big data (big data) (pp. 3143-3150). IEEE.

Toriumi, F. (2021). Quantitative Analysis of Diffusion in Bursting Phenomena: How the Twitter Demo Spread in Japan. Japan marketing journal, 40(4), 19-32.

Uchida, A. (2018). HOW DO JAPANESE PEOPLE TALK ABOUT POLITICS ON TWITTER? ANALYSIS OF EMOTIONAL EXPRESSIONS IN POLITICAL TOPICS ON JAPANESE TWITTER. Psychologia, 61(2), 124-157.

Vaccari, C., Valeriani, A., Barberá, P., Bonneau, R., Jost, J. T., Nagler, J., & Tucker, J. (2013). Social media and political communication: a survey of Twitter users during the 2013 Italian general election. Rivista italiana di scienza politica, 43(3), 381-410.

Vaccari, C., Valeriani, A., Barberá, P., Bonneau, R., Jost, J. T., Nagler, J., & Tucker, J. A. (2015). Political expression and action on social media: Exploring the relationship between lower-and higher-threshold political activities among Twitter users in Italy. Journal of Computer-Mediated Communication, 20(2), 221-239.

Yardi, S., & Boyd, D. (2010). Dynamic debates: An analysis of group polarization over time on twitter. Bulletin of science, technology & society, 30(5), 316-327.

Yoshida, M., & Toriumi, F. (2018). Do Political Detachment Users Receive Various Political Information on Social Media?. arXiv preprint arXiv:1806.10173.