ขบวนการพุทธศาสนาเวียดนามใต้ในช่วงทศวรรษ 1960 มักได้รับการจดจำผ่านภาพการประท้วงต่างๆ อาทิ ภาพประชาชนเดินขบวนพร้อมป้ายผ้าและพระภิกษุเผาตัวเองบนถนนในเมือง ชาวพุทธเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างที่มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐเวียดนาม เหตุการณ์ที่ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือ “วิกฤตการณ์พุทธศาสนา” ในปี 1963 เมื่อชาวพุทธหลายพันคนลงสู่ท้องถนนเพื่อประท้วงนโยบายของรัฐบาลและเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 1 สำหรับคณะที่ปรึกษาชาวอเมริกัน วิกฤตการณ์ครั้งนี้คือข้อพิสูจน์ว่าประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยมหมดความสามารถในการปกครอง เขาถูกกองทัพรัฐประหารโดยมีซีไอเอหนุนหลังในช่วงปลายปีนั้น นักประวัติศาสตร์หลายคนเคยเขียนถึงความเข้มแข็งและอิทธิพลของขบวนการพุทธศาสนา อาทิ Robert Topmiller, James McAllister, Edward Miller และ Sophie Quinn-Judge 2 อย่างไรก็ตาม งานวิชาการเกี่ยวกับรากฐานเชิงประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของขบวนการนี้ ตลอดจนพลวัตภายในขบวนการเอง ยังมีการเขียนถึงน้อยมาก
บทความนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะสร้างความกระจ่างมากขึ้นแก่แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังขบวนการพุทธศาสนา โดยสำรวจตรวจสอบงานเขียนของพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่ง นั่นคือ ติช นัท ฮันห์ (ทิก เญิ้ต หั่ญ) (1926-2022) ผู้ส่งเสริมแนวคิดพุทธศาสนาเพื่อสังคมในฐานะขบวนการรักชาติและขบวนการสร้างชาติโดยไม่ใช้ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ตลอดชีวิตช่วงต้นของเขาในเวียดนามภาคกลางและเวียดนามใต้ ติง นัท ฮันห์ตั้งข้อสังเกตว่า ศาสนาพุทธจารีตที่แยกตัวโดดเดี่ยวอยู่ในวัดไม่ได้สนใจคิดแก้ไขปัญหาทางโลกของประชาชน 3 เพื่อให้ศาสนามีความใกล้ชิดและรับใช้ประชาชนระหว่างสงครามกลางเมือง กลุ่มผู้นำชาวพุทธต้องเข้ามาพัวพันกับความทุกข์ของสังคมด้วย ช่างปลายทศวรรษ 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1960 ติช นัท ฮันห์เคยพยายามจนสุดท้ายเลิกพยายามที่จะปฏิรูปสถาบันพุทธศาสนาจารีต จากนั้นเขาหันไปหาเยาวชนในฐานะผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมแทน ในกรุงไซ่ง่อน เขาก่อตั้งโรงเรียนสำหรับให้การศึกษาด้านพุทธศาสนาและการทำงานเพื่อสังคม โดยมีจิตมุ่งหวังว่าจะเสริมสร้างอำนาจให้แก่คนรุ่นต่อไปเพื่อเปลี่ยนไปสู่วิถีใหม่ กล่าวคือ แทนที่จะทำสงคราม พวกเขาควรสร้างประเทศด้วยงานบริการสังคมและการปรองดองโดยไม่ใช้ความรุนแรง ในขณะที่กลุ่มเพื่อนภิกษุผู้เห็นต่างจากผู้มีอำนาจมุ่งประท้วงต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านสงคราม ติช นัท ฮันห์เป็นภิกษุรูปเดียวที่จัดตั้งขบวนการเยาวชนพร้อมด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาวเชิงบวกเพื่อพุทธศาสนาและชาตินิยมเวียดนาม
ส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวในพุทธศาสนาและพุทธศาสนาเพื่อสังคมในเวียดนาม
แนวคิดเกี่ยวกับพุทธศาสนาเพื่อสังคมเกิดขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูพุทธศาสนาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งดำเนินไปทั่วทั้งเอเชีย เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน ติช นัท ฮันห์ได้รับอิทธิพลอย่างแรงกล้าจากขบวนการฟื้นฟูนี้ 4 เขาเริ่มเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาเพื่อสังคมในช่วงทศวรรษ 1950 สนับสนุนให้มีการปฏิรูปสถาบันศาสนาและต่อมาก็สร้างแรงบันดาลใจแก่ขบวนการเยาวชนให้มีจิตวิญญาณด้านบริการสังคม
ติช นัท ฮันห์ต้องการให้สถาบันของศาสนาพุทธทำงานรับใช้ประเทศที่แตกแยกด้วยสงครามและส่งเสริมการสร้างชาติเวียดนามที่มีเอกราชและสันติภาพ เขาสนับสนุนการปฏิรูปอย่างสุดจิตสุดใจ ซึ่งเขาเชื่อว่าจะช่วยให้ชาวพุทธดำเนินการประสานกันในระดับชาติได้ ความหวังของเขาแสดงออกมาในวารสาร Vietnamese Buddhism [Phật Giáo Việt Nam] ซึ่งเขาทำหน้าที่หัวหน้ากองบรรณาธิการตั้งแต่ปี 1956 จนถึงปี 1958 วารสารฉบับนี้เป็นวารสารทางการของสมาคม General Buddhist Association [Tổng Hội Phật Giáo Việt Nam] ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 เพื่อประสานรวมกลุ่มชาวพุทธทั้ง 6 กลุ่มในเวียดนามภาคกลางและภาคใต้เข้าด้วยกัน
ติช นัท ฮันห์ใช้งานเขียนในฐานะหัวหน้ากองบรรณาธิการและภายใต้นามปากกา “สาถาว” (Dã Thảo) วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้นำชาวพุทธที่ไม่เต็มใจรวมตัวประสานงานและระดมพลังเพื่อประโยชน์ของสังคม เขาแจกแจงถึงการปฏิรูปที่เขาเชื่อว่าจำเป็น อันประกอบด้วย เชื้อเชิญกลุ่มชาวพุทธทุกกลุ่มมารวมตัวกันในสมาคม General Buddhist Association วางมาตรฐานการเรียนการสอน การจัดทำโครงการ และการแต่งกายของพระสงฆ์ในทุกภูมิภาค รวมทั้งสร้างศูนย์กลางการนำและการเงิน 5 ในเรื่องเหล่านี้ เขาใช้ภาษาแบบนักเคลื่อนไหวมากกว่าน้ำเสียงเป็นกลางแบบบรรณาธิการอาชีพ เขาเขียนว่า ชาวพุทธทั้งปวง “ต้องยอมรับว่าความกลมเกลียวอย่างแท้จริงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุดในยุคสมัยของเรา ศาสนาพุทธคือพลังเพื่อสันติภาพ และสมาคม General Buddhist Association คือแนวร่วมของเรา” 6 เขายังเรียกร้องอย่างเร้าอารมณ์ให้แกนนำของสมาคมออกมาแสดงบทบาท “ชื่อของพวกท่านจะได้รับการจารึกลงในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาเวียดนาม….สายตานับล้านคู่จับจ้องอยู่ที่พวกท่าน กัลยาณมิตรทั้งหลาย จงวางตัวให้สมกับชื่อเสียงความเป็นผู้นำที่ปราดเปรื่อง อย่าให้สาวกของพวกท่านต้องผิดหวัง” 7
การใช้วารสารของสมาคม General Buddhist Association เพื่อวิจารณ์แกนนำของสมาคมเอง ติช นัท ฮันห์อาจก้าวล้ำเส้นบทบาทในฐานะหัวหน้ากองบรรณาธิการ เขาถึงขนาดตีพิมพ์จดหมายฉบับหนึ่งเขียนรณรงค์ให้ผู้อ่านกดดันต่อสมาคม General Buddhist Association ให้ออกมาดำเนินการปฏิรูป 8 วารสารฉบับนี้ยุติการเผยแพร่หลังจากตีพิมพ์ได้สองปี สมาคมให้เหตุผลว่าเป็นเพราะขาดเงินทุน แต่ติช นัท ฮันห์ปักใจว่าแกนนำสมาคมสั่งยุติวารสารเพราะพวกเขาต้องการหยุดการวิพากษ์วิจารณ์และการรณรงค์ของเขา เขารู้สึกว่าการปิดตัวของวารสารเป็นการปฏิเสธแนวคิดของเขาอย่างชัดเจน และถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่สำหรับโอกาสของพุทธศาสนาในเวียดนามโดยรวม 9
ในสายตาของติช นัท ฮันห์ ศักยภาพอันไม่เหมือนใครของพุทธศาสนาเวียดนามต้องสูญเปล่าเพราะกลุ่มผู้นำทางศาสนาพอใจแค่การประกอบพิธีกรรมตามจารีตประเพณี พวกเขาไม่ยอมใช้เครือข่ายและอิทธิพลของตนมาแก้ไขความจำเป็นเร่งด่วนของชุมชน “การเทศน์ท่ามกลางชุมชนที่ตกทุกข์ได้ยากไม่มีความหมายอะไรเลย” เขาเขียนไว้ในเวลาต่อมา ขณะพรรณนาถึงบทบาทในอุดมคติของพุทธศาสนาเพื่อสังคม “การเทศน์ที่พึงมีอย่างแท้จริงคือการกระทำ การกระทำแบบที่สามารถยุติความทุกข์เรื้อรังได้ในโลกความเป็นจริง” 10 หลังจากแนวคิดของเขาเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันและการระดมพลังถูกเมินเฉยและถูกปฏิเสธจากผู้นำศาสนา ติช นัท ฮันห์ก็ย้ายจุดสนใจกับความหวังไปฝากไว้ที่ผู้กระทำการชุดใหม่ นั่นคือ พุทธศาสนิกเยาวชน
เยาวชนชาวพุทธกับการสร้างชาติ
ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ติช นัท ฮันห์เริ่มจัดตั้งและชักชวนเยาวชนชาวพุทธให้มาเป็นผู้นำทางไปสู่สังคมเวียดนามที่สันติสุขและรุ่งเรือง ในบทความชุดหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า “คำปรารภต่อเยาวชนผู้อยู่ในช่วงวัยยี่สิบ” [“Nói Với Tuổi Hai Mươi”] เขาเรียกร้องให้ผู้อ่านเข้ามารับช่วงการปฏิวัติแนวทางสันติวิธีครั้งใหม่ เขาจินตนาการว่าคนรุ่นต่อไปมีความกระหายหาทางออก อีกทั้งมีกำลังวังชาและพลังที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
บทความชุด “คำปรารภต่อเยาวชน” นี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Preserving the Fragrance of the Motherland [Giữ Thơm Quê Mẹ] รวม 8 ตอนด้วยกัน แต่ละตอนเน้นหัวข้อต่างกันไป ประกอบด้วย ความเหงา [cô đơn], อุดมคติ [lý tưởng], การศึกษาวิชาการ [học hành], ความรัก [thương yêu] และศาสนา [tôn giáo] เนื้อหาในบทความสลับไปมาระหว่างการหยิบยกปัญหาในชีวิตประจำวันขึ้นมากล่าวถึงอย่างนุ่มนวลกับการเรียกร้องให้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเร่าร้อน ดูเหมือนติช นัท ฮันห์ต้องการทั้งปลอบใจและปลุกเร้าคนหนุ่มสาวที่กำลังแสวงหาความหมายของชีวิตท่ามกลางสงครามกลางเมืองไปพร้อมกัน เขาต้องการให้คนหนุ่มสาวรู้สึกว่ามีคนเข้าใจพวกเขา พร้อมกันนั้นก็กระตุ้นให้คนหนุ่มสาวคัดค้านสงครามและโครงสร้างอำนาจยามสงคราม ความสันติในชาติจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อคนรุ่นต่อไปเลือกที่จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยความรักและความเมตตา “ถ้าท่านรู้จักรักและให้อภัย เมื่อนั้นจิตวิญญาณของประเทศเราจะถูกปลุกให้ฟื้นตื่น….ปืนและลูกกระสุนจะถอนลมหายใจแห่งความโล่งอก เครื่องบินรบจะหลั่งน้ำตา ลูกระเบิดจะเงียบเสียง และบ้านเกิดของเราจะสิ้นสุดการเป็นสมรภูมิเสียที” 11
บทความชุดนี้หนุนให้เยาวชนลุกขึ้นต่อต้านผู้มีอำนาจรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อการก่อสงคราม แต่เป็นการต่อต้านที่ปราศจากความขุ่นแค้น รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างสังคมใหม่ “มีเพียงการออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นหมู่คณะของเยาวชนเท่านั้น….ที่มีพลังอำนาจพอจะรื้อโครงสร้างสังคมทั้งในจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก” เขากล่าวเช่นนั้น เพื่อแปรวิสัยทัศน์นี้เป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ติช นัท ฮันห์จึงก่อตั้งโรงเรียนให้นักศึกษาวัยมหาวิทยาลัยได้ศึกษาศาสนาและการทำงานเพื่อสังคมก่อนออกไปทำโครงการพัฒนาและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในชนบท
The School of Youth for Social Service (SYSS) [Trường Thanh Niên Phụng Sự Xã Hội] ก่อตั้งขึ้นในไซ่ง่อนเมื่อปี 1964 นักศึกษาที่นี่ได้รับการฝึกฝนให้ทำงานพัฒนาในชนบท ตั้งแต่การขุดบ่อ การสอนอ่านเขียนหนังสือ การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน และการแนะนำวิธีการเกษตรกรรมสมัยใหม่ นอกจากนี้ พวกเขายังนำความช่วยเหลือไปให้สถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกทิ้งระเบิดและน้ำท่วมด้วย เป้าหมายคือเพิ่มอำนาจแก่พุทธศาสนิกเยาวชนให้เป็นผู้กุมชะตากรรมในอนาคตของเวียดนาม พวกเขาจะสร้างประเทศในอุดมคติของตนขึ้นมาทีละครัวเรือน ทีละโรงเรียน และทีละหมู่บ้าน 12 โรงเรียน SYSS อาศัยวัดเป็นตัวกลางเชื่อมโยงนักศึกษากับหมู่บ้านต่างๆ ทั่วทั้งเวียดนามภาคกลางและเวียดนามใต้ “ศาสนาควรเป็นผู้เชื่อมโยง มิใช่สถาบันอำนาจนิยมที่แบ่งแยกประชาชนออกจากกัน” ติช นัท ฮันห์เขียนไว้เช่นนี้ เขาอาจกำลังพาดพิงถึงประสบการณ์ของตนที่มีกับสมาคม General Buddhist Association ก็เป็นได้ 13
โครงการพัฒนาและบรรเทาทุกข์ที่เยาวชนเป็นผู้นำมีขนาดเล็ก มีผู้จบการศึกษาจากโรงเรียน SYSS น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนตลอดช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่โรงเรียนนี้เปิดดำเนินการ กระนั้นพวกเขาเปรียบเสมือนภาพที่ฉายออกมาจากวิสัยทัศน์การสร้างชาติอันยิ่งใหญ่กว่านั้นของติช นัท ฮันห์ โรงเรียนนี้เป็นขบวนการรากหญ้า ได้รับแรงบันดาลใจจากหลักการพุทธศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งพยายามสร้างรากฐานทางจิตวิญญาณและวัตถุแก่เวียดนาม เราไม่มีทางรู้ว่าโครงการพุทธศาสนาเพื่อสังคมดังเช่นโรงเรียน SYSS นี้จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและจิตวิญญาณขนาดใหญ่ดังที่ติช นัท ฮันห์เชื่อว่าจำเป็นต้องเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เขารู้ว่า เยาวชนไม่สามารถพึ่งพิงสถาบันทางศาสนาที่ชักช้าหรือรัฐบาลที่ตั้งหน้าตั้งตาจะสร้างชาติด้วยการก่อสงคราม “โรงเรียน School of Youth for Social Service ก่อตั้งด้วยเจตจำนงว่าเราไม่จำเป็นต้องรอคอยรัฐบาล” เขากล่าวไว้เช่นนั้น 14 เขามีความหวังอย่างยิ่งกับนักศึกษาและคณะทำงานของโรงเรียน เขาเคยเขียนในเชิงย้อนทบทวนถึงการทำงานของคนเหล่านั้นว่า “คนหนุ่มสาว….กำลังนำทางไปสู่ความคิดและการปฏิบัติแบบชาวพุทธกระแสใหม่ พวกเขากำลังให้กำเนิดพุทธศาสนาเพื่อสังคมขึ้นมา” 15
บทสรุป
ตลอดสิบปีของการให้การศึกษาและจัดตั้ง ติช นัท ฮันห์ เพื่อนร่วมงานของเขาและบรรดานักศึกษา ช่วยกันหว่านเมล็ดพันธุ์ของพุทธศาสนาเพื่อสังคมทั้งภายในและภายนอกเวียดนาม ในปี 1966 ขณะที่สงครามเวียดนามยึดครองพาดหัวข่าวและสร้างความสะเทือนใจแก่คนหลายล้านคนทั่วโลก ติช นัท ฮันห์ก็เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่การต่อต้านสงครามของชาวพุทธเวียดนาม นักศึกษาของเขายังคงทำงานต่อไปหลังจากเขาลี้ภัยไปแล้ว ด้วยการศึกษา งานพัฒนา และงานการทูต พวกเขาปฏิบัติการสร้างชาติในรูปแบบที่พยายามธำรงคุณธรรมแบบชาวพุทธ อันประกอบด้วยความเมตตา การไม่ใช้ความรุนแรง และการปรองดอง
ขบวนการพุทธศาสนาในเวียดนามใต้ต้องต่อสู้กับการแบ่งแยกและความไม่ลงรอยภายใน ตลอดจนการกดขี่ปราบปรามด้วยความรุนแรงจากรัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามด้วย โรงเรียน SYSS ประสบปัญหารุมเร้าทั้งด้านการเงินและความปลอดภัย นักศึกษาและคณะทำงานหลายคนได้รับบาดเจ็บ ถูกลักพาตัวหรือถูกสังหาร ถึงแม้ต้องเผชิญอุปสรรคท้าทายเช่นนี้ ชาวพุทธก็ยังคงเคลื่อนไหวแสดงบทบาทจนสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975 ไม่ว่าจะเป็นการจัดประท้วง การยื่นข้อเรียกร้อง การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงการเปิดโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า พวกเขาแสดงให้เห็นว่า การประกอบกิจทางศาสนาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวัดวาอาราม ตรงกันข้าม พวกเขาทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่เกี่ยวข้องกับสงคราม รัฐบาล และภาคประชาสังคม ความพยายามของพวกเขามีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการเมืองภายในประเทศและทัศนคติของนานาชาติ
Adrienne Minh-Châu Lê
Columbia University
References
DeVido, Elise Anne. “Buddhism for This World: The Buddhist Revival in Vietnam, 1920 to 1951, and Its Legacy,” in Modernity and Re-Enchantment: Religion in Post-Revolutionary Vietnam, by Philip Taylor, ed. Lanham: Lexington Books, 2007.
Lê, Adrienne Minh-Châu. “Buddhist Social Work in the Vietnam War: Thích Nhất Hạnh and the School of Youth for Social Service,” in Republican Vietnam, 1963-1975: War, Society, Diaspora by Trinh Lưu and Tường Vũ, eds. University of Hawai’i Press, 2023.
McAllister, James. “‘Only Religions Count in Vietnam’: Thich Tri Quang and the Vietnam War,” Modern Asian Studies 42, no. 4 (July 2008): 751-782.
Miller, Edward. “Religious Revival and the Politics of Nation Building: Reinterpreting the 1963 ‘Buddhist crisis’ in South Vietnam.” Modern Asian Studies 49, no. 6 (November 2015): 1903-1962.
Topmiller, Robert J. The Lotus Unleashed: The Buddhist Peace Movement in South Vietnam, 1964-1966. Lexington: University Press of Kentucky, 2002.
Notes:
- Edward Miller, “Religious Revival and the Politics of Nation Building: Reinterpreting the 1963 ‘Buddhist crisis’ in South Vietnam.” Modern Asian Studies 49, no. 6 (November 2015): 1903-1962. ↩
- Robert Topmiller, The Lotus Unleashed: The Buddhist Peace Movement in South Vietnam, 1964-1966 (Lexington: University Press of Kentucky, 2002); James McAllister, “‘Only Religions Count in Vietnam’: Thich Tri Quang and the Vietnam War,” Modern Asian Studies 42, no. 4 (July 2008): 751-782; Sophie Quinn-Judge, The Third Force in the Vietnam War (London: I.B. Tauris, 2017); ibid. ↩
- โปรดดูบทความภายใต้นามปากกา Dã Thảo ได้ใน Phật Giáo Việt Nam (1956-1958); และต้นฉบับที่เป็นข้อเขียนส่วนตัวตามวารสารต่างๆ ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำใน Nẻo Về Của Ý (Hà Nội: Nhả Xuất Bản Hồng Đức, 2017). ↩
- Elise Anne DeVido, “Buddhism for This World: The Buddhist Revival in Vietnam, 1920 to 1951, and Its Legacy,” in Modernity and Re-Enchantment: Religion in Post-Revolutionary Vietnam, ed. Philip Taylor (Lanham: Lexington Books, 2007), 251. ↩
- Dã Thảo (Nhất Hạnh), “Thống Nhất Toàn Vẹn,” Phật Giáo Việt Nam (PGVN) 9 & 10 (April-May 1957), 12-13. ↩
- PGVN (Nhất Hạnh), “Vấn Đề Thống Nhất,” PGVN 3 (October 1956), 5. ↩
- PGVN, “Vấn Đề Thống Nhất,” 5. ↩
- PGVN, “Thực Hiện”, PGVN 11 (June 1957), 3-4. ↩
- Nhất Hạnh, Nẻo Về Của Ý (NVCY) (Hà Nội: Nhả Xuất Bản Hồng Đức, 2017), 17. ↩
- Nhất Hạnh, “The Struggle for Peace in Vietnam,” in Religious and International Affairs, ed. Jeffrey Rose and Michael Ignatieff (Toronto: House of Amans, 1968), 130. ↩
- Nhất Hạnh, “Nói Với Tuổi Hai Mươi” Giữ Thơm Quê Mẹ (GTQM) 4 (October 1965): 56-61. ↩
- Adrienne Minh-Châu Lê, “Buddhist Social Work in the Vietnam War: Thích Nhất Hạnh and the School of Youth for Social Service,” in Republican Vietnam, 1963-1975: War, Society, Diaspora ed. Trinh Lưu and Tường Vũ (University of Hawai’i Press, 2023). ↩
- Nhất Hạnh, “Nói Với Tuổi Hai Mươi” GTQM 11 (May 1966): 69-73. ↩
- Nhất Hạnh, “History of Engaged Buddhism: A Dharma Talk by Thich Nhat Hanh” lecture delivered in Hanoi, Vietnam, May 6, 2008, in Human Architecture 6, no. 3, (Summer 2008): 35. ↩
- Nhất Hạnh, NVCY, 286. ↩