มนตรากับความทรงจำ: พินิจเรื่องราวชีวิตในศาสนาพุทธของหมอพเนจรสมัยสาธารณรัฐเวียดนาม

Quảng Huyền

เมื่อต้องเขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธสมัยสาธารณรัฐเวียดนาม ประสบการณ์ในชีวิตจริงของปัจเจกบุคคลอาจช่วยจุดประกายความเข้าใจได้มากขึ้นเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนที่ล้อไปกับเค้าโครงของเรื่องเล่าระดับที่ใหญ่กว่า  ในที่นี้ เราจะพินิจเรื่องราวเช่นนี้เรื่องหนึ่ง นั่นคือ ประวัติชีวิตของหมอพเนจรและพระอาจารย์ด้านพุทธศาสนา เหงวียน วัน กว๋าง (Nguyễn Văn Quảng, ประมาณ 1950-ปัจจุบัน)  ตามที่เขาเขียนเล่าอัตชีวประวัติของตนโดยมีโกสต์ไรเตอร์ชาวอเมริกัน Margorie Pivar ช่วยเรียบเรียงให้ในหนังสือชื่อ Fourth Uncle in the Mountain: A Memoir of a Barefoot Doctor in Vietnam (2004)  ในบันทึกความทรงจำเล่มนี้ กว๋างเล่าย้อนถึงชีวิตในเวียดนามภาคใต้ (Nam Bộ) นับตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กในอำเภอโจ๋วลัค (จังหวัดเบ๊นแจ) และได้รับการฝึกอบรมตอนเป็นวัยรุ่นในแถบ Seven Mountains ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำตะวันตกในภาคใต้ของเวียดนาม จนกระทั่งเขาเติบใหญ่เป็นเจ้าอาวาสของวัดพุทธศาสนาระหว่างช่วงปีท้ายๆ ของสาธารณรัฐที่สองของเวียดนาม (1967-1975)  การปรับตัวของเขาเพื่อประกอบอาชีพแพทย์ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์หลังปี 1975 และมาสิ้นสุดที่การหลบหนีออกจากเวียดนามอย่างน่าหวาดเสียวในปี 1987 1 วิถีชีวิตอันผกผันของกว๋างตลอดช่วงสี่ทศวรรษอันผาดโผนนี้ช่วยให้เรามีมุมมองในเชิงท้องถิ่นและส่วนบุคคลเกี่ยวกับความหมายของการเป็น “ชาวพุทธ” ในเวียดนามใต้ ประสบการณ์ของการดำรงชีวิตท่ามกลางและการเดินทางผ่านภูมิประเทศต่างๆ ของดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในภาคใต้ รวมทั้งความเชื่อมโยงเชิงชุมชนในหมู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ  ตลอดเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ กว๋างและผู้ประพันธ์ร่วมของเขาสอนบทเรียนให้เราเกี่ยวกับวัยเยาว์ ความทรงจำ และความสูญเสีย

1 Bảo Trương— บูรพาจารย์ (Tổ sư) Bảo Trượng  พระอาจารย์คนแรกของอาจารย์ของผู้เขียนในช่วงสาธารณรัฐที่สองของเวียดนาม (ได้รับอนุญาตจาก  Chùa Xá Lợi  วัดในบ้านเกิดของผู้เขียนและผู้ตีพิมพ์เผยแพร่รูปถ่ายนี้)

เหงวียน วัน กว๋างคือใคร?  แม้แต่พระครูแพทย์ก็ไม่แน่ใจ  ตอนเป็นทารกในปี 1950 กว๋างถูกทิ้งอยู่ที่ตลาดอำเภอโจ๋วลัค  พ่อแม่ของเขาน่าจะเป็นชาวพุทธนิกายใดนิกายหนึ่งที่มีปัญหากับฝรั่งเศส ทั้งสองถูกยิงตายไม่นานนักหลังจากมีคนพบตัวกว๋างอยู่ใต้เสาธง  เนื่องจากการสูญเสียพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและน่าจะยังเศร้าเสียใจจากความสูญเสียนี้ กว๋างจึงมักจินตนาการว่า “ต้นตะขบ” (cây trng cá, Muntingia calabura) คือแม่ของเขา ส่วนพ่อบุญธรรมของเขาคือ พระภิกษุแพทย์แผนโบราณชื่อ เหงวียน วัน เทิว (Nguyễn Văn Thâu, 1886-1983) ซึ่งเป็น “หมอผีที่ทรงอำนาจมากที่สุดในเวียดนาม”  ชะตากรรมที่เชื่อมโยงกว๋างกับเหงวียน วัน เทิวคือสิ่งที่กำหนดวิถีชีวิตของเขา  นับตั้งแต่อายุ 9 ขวบ กว๋างก็ลาจากหมู่บ้าน Cái Mơn (อำเภอโจ๋วลัค จังหวัดเบ๊นแจ) ซึ่งป้าช่วยเลี้ยงดูเขาแทนเหงวียน วัน เทิว เพื่อไปฝึกอาชีพด้านการแพทย์และศาสนาจากบิดาบุญธรรม  ด้วยเหตุนั้น กว๋างจึงเป็นผู้สืบทอดสายสกุลศาสนาอันทรงเกียรติ  เหงวียน วัน เทิวเป็นบุตรของเหงวียน วัน กี่ (Nguyễn Văn Kỳ , 1842–1946)  เหงวียน วัน กี่คือผู้ที่เดินทางไปสู่ดินแดน Seven Mountains ในปี 1867 เพื่อศึกษากับพระภิกษุรุ่นแรกที่ได้รับอิทธิพลจากคำสอนเกี่ยวกับขบวนการพระศรีอาริย์ของดว่าน มิญ เอวียน (Đoàn Minh Huyên , 1807–1856)  ดังนั้น เหงวียน วัน กี่จึงเริ่มเข้ารับการฝึกอบรมทางศาสนาในเวลาเดียวกับที่ท่านผู้บัญชาการ (Đức Cố Quản) เจิ่น วัน แท่ญ (Trần Văn Thành , ?–1973?) ผู้นำนักรบขบวนการพระศรีอาริย์ ริเริ่มก่อการกบฏที่ Bảy Thưa (1867–1873) และท่านพระอาจารย์อาวุโสห้าบัตร (Đức Bổn sư, Năm Thiếp) โงเหลิ่ย (Ngô Lợi ,1831–1890) มีนิมิตครั้งแรกถึงนิกาย T Ân Hiếu Nghĩa ซึ่งเขาจะก่อตั้งอย่างเป็นทางการอีก 9 ปีต่อมาในหมู่บ้าน Ba Chúc (อำเภอจิโตน จังหวัดอานซาง)  ซึ่งเหงวียน วัน กี่คือหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งและรับหน้าที่เป็น ông gánh หรือผู้นำชุมชนศาสนาชุมชนหนึ่งของนิกายนี้

วัด Vạn Linh บน Forbidden Mountain (author’s collection, 2006)

กว๋างได้รับการสั่งสอนอบรมหกปีแรกในเขตอำเภอโจ๋วลัค  เขาได้อยู่กับบิดาบุญธรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในหมู่บ้าน  Bến Cát (อำเภอ Định Trung จังหวัดเบ๊นแจ)  อย่างไรก็ตาม  เหงวียน วัน เทิวเป็นพ่อที่ไม่ได้อยู่ดูแลบุตร  เขาถูกเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสจับกุมคุมขังเกือบในทันทีหลังจากรับกว๋างเป็นบุตรบุญธรรม  แล้วหลังจากนั้น อาชีพแพทย์พื้นบ้านพเนจรและความระแวงของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำให้เหงวียน วัน เทิวต้องโยกย้ายที่อยู่ตลอดเวลา  ด้วยเหตุนั้น เหงวียน วัน เทิวจึงฝากกว๋างไว้ให้ผู้อื่นช่วยสั่งสอนอบรมเป็นส่วนใหญ่  กว๋างเริ่มต้นด้วยการเรียนภาษาจีน ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในหลักสูตรการแพทย์แผนโบราณและพระสูตรทางพุทธศาสนา  เขาเรียนภาษาจีนกับญาติคนหนึ่งในอำเภอโจ๋วลัค และฝึกศิลปะการต่อสู้กับลุง  ในปี 1862 กว๋างย้ายไปอยู่ในชุมชนชาวจีนในอำเภอก๊ายแบ่ (จังหวัดเตี่ยนซาง) เขาพำนักอยู่ในวัดจีนที่บูชาเจ้าแม่หม่าโจ้ว (ม่าจ้อโป๋) เทพีแห่งท้องทะเล และสมัครเป็นนักเรียนในโรงเรียนใกล้วัด  สองปีหลังจากนั้น เหงวียน วัน เทิวพากว๋างไปลิ้มรสบทเรียนแรกอันยากลำบากของชีวิตนักบวชในพุทธศาสนา ด้วยการให้เขาปลงผมบวชที่วัด Kỳ Viên Vihāra ซึ่งเป็นวัดตั้งใหม่ในอำเภอโจ๋วลัค และอาศัยอยู่กับพระสงฆ์ที่มีจริยวัตรเข้มงวดในนิกายพระภิกขาจาร (Buddhist Mendicant Sect หรือ Phật giáo Khất sĩ) ซึ่งก่อตั้งโดยมิญ ดัง กวาง (เหงวียน แถ่ญ ดาต) (Minh Đăng Quang [Nguyễn Thành Đạt, 1923–1954?]) ซึ่งเคยบำเพ็ญพรตเป็นฤษีในเขต Seven Mountains และนิกายพระภิกขาจารเถรวาทในกัมพูชา 2

ในปี 1965 เมื่ออายุได้ 15 ปี กว๋างเริ่มต้นช่วงเวลาอันยาวนานในการศึกษาพระธรรมในเขต Seven Mountains  เขาไปพักอาศัยที่วัด Tam Bủu บน Elephant Mountain (núi Tượng, Ba Chúc)  ที่ Elephant Mountain นี้ กว๋างมีครูทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ครูสอนภาษาจีน ครูสอนฝังเข็ม และครูสอนสมุนไพร รวมทั้งอง จี๋น (Ông Chín) อาจารย์ด้านศิลปะการต่อสู้ที่เกษียณตัวเองแล้ว นอกจากนี้ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องรางของขลังและการอยู่ยงคงกะพัน (bùa gng) ชาวกัมพูชาชื่อเล่นว่า Tattoo  อีกทั้งหมอผีลึกลับเจ้าเล่ห์ที่เรียกกันว่า Ông Ba Chì หรือ “Lead Lips”  หลังจาก ông gánh ของวัด Tam Bửu มรณภาพในปี 1967  กว๋างก็ย้ายไปอยู่วัด An Sơn ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากของ Elephant Mountain  ที่นี่เขาอาศัยอยู่กับอง นัม (Ông Năm) ผู้เคยเป็นศิษย์ร่วมสำนักกับเหงวียน วัน เทิวสมัยที่ศึกษาพระธรรมกับเจ้าอาวาสคนก่อนของวัดนี้

Parrot Mountain ใน Seven Mountains (Author’s collection, 2006)

กว๋างได้รับการฝึกฝนอบรมระดับเข้มข้นที่สุดที่ Forbidden Mountain (หมู่บ้าน núi Cấm ตำบล An Hảo อำเภอติ้ญเบี๋ยน จังหวัดอานซาง)  ในปี 1970 เหงวียน วัน เทิวพากว๋างไปที่นั่นเพื่อพบกับฤษีผู้อยู่อาศัยในถ้ำ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “ลุงที่สี่”  ลุงที่สี่สอนกว๋างวิชาอายุวัฒนะและการถอดจิต โดยเฉพาะวิชาที่เรียกว่า “embryonic breathing” ซึ่งเป็นการฝึกลมปราณชนิดหนึ่งที่มาจากลัทธิเต๋าสำนักฉวนเจินหรือฉวนเจินเต้า  เป้าหมายคือการหลอมรวมพลังหยิน (หญิง) และหยาง (ชาย) ภายในร่างกายของตนจนกระทั่งก่อกำเนิดเป็น “ตัวอ่อนของวิญญาณ” ที่สามารถเจริญเติบโตจนเดินทางออกจากร่างกายภาพของเจ้าของได้ 3 ดังนั้น ลุงที่สี่จึงเคยเป็น (หรือยังเป็น?) หนึ่งในนักพรตที่ Đỗ Thiện เรียกว่า “นักพรตเต๋าจากภูเขา” 4

หลังจากผ่านไปสามปี กว๋างก็ปรากฏตัวออกมาจาก Forbidden Mountain ในฐานะพระอาจารย์พุทธศาสนา  ในวัย 24 ปี เขาได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด Quốc Thới (หมู่บ้าน Long Thới, อำเภอโจ๋วลัค) ใกล้กับบ้านพักที่ใช้ชีวิตในวัยเด็ก  เขาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้ตั้งแต่ปี 1974-1977  ณ ที่นี้ เขาได้เป็นประจักษ์พยานต่อการที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองเวียดนามใต้ ประสบการณ์ที่ทำให้เขาหวั่นไหวที่สุดน่าจะเป็นการค้นพบว่า ลูกศิษย์ 4 ใน 10 คนของตนเป็นสายลับจากขบวนการคอมมิวนิสต์  หลังจากนั้น กว๋างคิดจะถอนตัวจากทางโลกเข้าไปอาศัยอยู่ใน Seven Mountains  แต่เมื่อมาถึงหมู่บ้าน Ba Chúc เขาต้องพบกับความโศกเศร้ายิ่งกว่านั้น กล่าวคือ ชุมชนต่างๆ รอบ Elephant Mountain ที่เขาผูกพันรักใคร่ถูกทำลายยับเยินจากการรุกรานของเขมรแดงในปี 1978  หลังจากนั้น เขาถูกเกณฑ์เข้าไปอยู่ในสถาบันการแพทย์สมัยใหม่ที่เข้มงวด  เริ่มต้นด้วยคลินิกแห่งหนึ่งในอำเภอโจ๋วลัค  แล้วย้ายไปอยู่ค่ายทหารในอำเภอกู๋จี  ที่นี่กว๋างได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกับระเบิดที่ถูกทิ้งไว้  แต่ชีวิตหลังสงครามของกว๋างก็ไม่ได้มีแต่เรื่องทุกข์โศกไปหมด  ในปี 1981 เขาพบกับมาย (Mai, 1961-ปัจจุบัน)  ซึ่งเขาแต่งงานด้วยในปีถัดมา  จากนั้นในปี 1985 หลังจากป้าและพ่อบุญธรรมถึงแก่กรรม กว๋างก็วางแผนหนีออกจากเวียดนาม  เขาลงเรือหนีมาถึงประเทศไทยในปี 1987

วัด Tây An ตั้งอยู่ตรงเชิงเขา Sam Mountain ใน Seven Mountains (Author’s collection, 2006).

เรื่องราวชีวิตของกว๋างบอกให้เรารู้อะไรมากมายเกี่ยวกับความหมายของการเป็น “ชาวพุทธ” ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง  ถึงแม้กว๋างมักกล่าวซ้ำๆ ว่า T Ân Hiếu Nghĩa เป็น “ศาสนาของฉัน” แต่เขาก็รับและเข้าร่วมในจารีตความเชื่ออื่นๆ อีกมากมายโดยไม่รังเกียจ ไม่ว่าจะเป็นนิกายพระภิกขาจาร เทพีแห่งท้องทะเลของจีน และพรตลัทธิเต๋า รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องรางของขลัง หมอผี และหมอผียาสมุนไพรที่ไร้สังกัดชัดเจน  ครูของเขาแต่ละคนก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป  อาทิเช่น อง นัมคิดว่าคำสอนของลุงที่สี่ไม่มีเหตุผลและตามใจตัวเอง  อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว ประสบการณ์ของกว๋างมีลักษณะไม่แบ่งแยกนิกาย ถึงขนาดที่กว๋างสามารถสวมจีวรเหลืองของพระดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในวัดกระแสหลักได้ทั้งที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์  ในอีกกรณีหนึ่ง เมื่อกว๋างกับเหงวียน วัน เทิวล้มป่วยเพราะถูกสาป พ่อหมอก็หาทางเยียวยาโดยอาศัยคนทรงผู้หญิง  เราได้เห็นด้วยว่าพระภิกษุแต่งงานได้และถูกคาดหวังให้แต่งงาน ดังที่กว๋างได้รับข้อเสนอแต่งงานหลายครั้งขณะที่เป็นเจ้าอาวาสวัด Quốc Thới  ในประการสุดท้าย สำหรับพระพเนจรอย่างกว๋าง ศาสนาพุทธเป็นจารีตของการเคลื่อนย้ายไม่อยู่กับที่ ทำให้เขาระเหระหนไปทั่วดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพื่อแสวงหาการบรรลุอรหัตผลทางศาสนาพร้อมกับช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความเจ็บป่วยและความทุกข์

นอกจากนี้ เรื่องราวชีวิตของกว๋างยังทำให้เราได้เห็นมุมมองที่มีต่อชาวบ้านในชุมชนทางศาสนาต่างๆ ของเวียดนามใต้  Shawn McHale เคยบันทึกเกี่ยวกับรอยร้าวระหว่างชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีก่อนกว๋างเกิด 5 อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นจากบันทึกความทรงจำของกว๋างว่า ความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์เหล่านี้มักมลายหายไปในระดับท้องถิ่นและระดับบุคคล  กว๋างอาศัยอยู่ในหมู่ชาวจีนในช่วงเยาว์วัย  และคนจำนวนไม่น้อยในชุมชน Elephant Mountain ที่เขาเคยอยู่ด้วยก็เป็นชนกลุ่มน้อยเขมร  อันที่จริง สิ่งแรกที่คนเราต้องละทิ้งเมื่อ “ลาจากบ้าน” มาเป็นพระพเนจรก็คืออัตลักษณ์ของตนเอง  นี่คือสิ่งที่ Đỗ Thiện ตั้งข้อสังเกตต่อการเดินทางของปู่ไปสู่ Seven Mountains ในปี 1938  ซึ่งปู่ของเขาได้เรียนรู้วิชาจากชนกลุ่มน้อยชาวไทยที่เชี่ยวชาญภาษาเวียดนามและคาถาอาคมเขมร 6ในทำนองเดียวกัน ครูของผู้เขียนเองซึ่งสังกัดศาสนาพุทธนิกาย Seven Mountains ก็เคยเล่าว่า เขาสงสัยว่าพระอาจารย์พเนจรของตนน่าจะเป็นคนเขมรถ้าดูจากรูปลักษณ์ภายนอก แต่ก็ไม่แน่ใจเพราะอาจารย์ของเขาพูดหลายภาษาได้คล่อง

วัด Tam Bửu บน Elephant Mountain ใน Seven Mountains (author’s collection, 2006)

ในประการสุดท้าย Fourth Uncle เป็นบทเรียนในความทรงจำ  ผู้เขียนเติบโตมากับการฟังนิทานปรัมปราเกี่ยวกับปู่ ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านพเนจรและจาริกไปสู่ Seven Mountains เช่นเดียวกับกว๋าง  ในบรรดาเรื่องเล่าเหล่านี้จะมีนิทานป่าเขาเกี่ยวกับ “โกศจุฬาลัมพาเลือด” (huyết ngi) สมุนไพรวิเศษที่สามารถกินไก่ได้ทั้งตัว  ผู้เขียนฉุกใจคิดว่ากว๋างเองก็เล่าถึงฤษีป่าฉายา “Lead Lips” ว่าปลูกพืชลึกลับแบบนี้ไว้เหมือนกัน  ดังที่กว๋างชี้ให้เราเห็นว่า สำหรับหมอสมุนไพรและหมอผีสมุนไพร พืชพรรณในป่าล้วนมีวิญญาณ  อันที่จริง ป่ามีสถานะพิเศษในความทรงจำสมัยสงครามในเวียดนาม  จุดที่เรื่องเล่าย้อนอดีตของกว๋างมีความจับใจที่สุดคือการที่เขาเทียบเคียงดินแดนป่าเขาอาถรรพณ์กับวัยเยาว์ของตน  ตรงกันข้ามกับงานเขียนอันน่าพรั่นพรึงของ Bảo Ninh เรื่อง “Wilderness that Beckons Souls” (truông Gi Hn) 7 ดินแดน Seven Mountains ในความทรงจำของกว๋างเปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นวัยเด็ก  ดังที่ Olga Dror ให้คติแก่เราใน Making Two Vietnams (2018) ว่า เยาวชนมีความยืดหยุ่น  วัยเด็กไม่เคยปราศจากเรื่องมหัศจรรย์และคาถาอาคม  แต่ถึงที่สุดแล้ว ถึงแม้กว๋างจะสารภาพถึงความปรารถนาที่จะเร้นกายกลับสู่ครรโภทรของขุนเขา แต่เขาก็ถูกตัดขาดจากอดีตอย่างมิอาจแก้ไขกลับกลายได้อีกแล้ว  เขาได้พบเห็นการทำลายล้างโลกแห่งมนตราลงอย่างน่าโศกเศร้า  ในบันทึกความทรงจำช่วงที่เจ็บปวดที่สุดและได้รับความสนใจน้อยที่สุดของเขา กว๋างเล่าย้อนด้วยประโยคเรียบๆ ประโยคเดียวถึงการที่พวกเขมรแดงปลิดชีพทั้งรักแรกและ Grenade ซึ่งคาถายิงแทงไม่เข้าของเขาน่าจะทำให้เขาเป็น “หมอผีที่ทรงอำนาจที่สุด”

ขณะที่กว๋างลงเรือหนีจากเวียดนาม มีนางพรายน้ำเปลือยอกสองตนมาเยี่ยมเยือนและชักชวนยั่วยวนให้เขาตามลงไปสู่ก้นทะเลอันปั่นป่วน  เช่นเดียวกับตัวเอกของ Bảo Ninh ที่ชื่อ เกียน ซึ่งพบเจอผีของเฟือง คนรักของเขา ในแดนกันดารแห่งความทรงจำนั้น คนรักของเขาไม่ใช่ทั้งผีหรือผู้หญิง  และตัวละครของ Nguyễn Huy Thiệp ชื่อเจืองที่ตื่นจากมนตร์สะกดก็ว่ายน้ำเปลือยเปล่าและไร้จุดหมายไปหาลูกสาวของภูตแม่น้ำ (น่าแปลกที่เธอชื่อเฟืองเหมือนกัน) 8 กว๋างเปิดอกให้เรารับรู้การต่อสู้กับความฝัน ความหวังและความสูญเสียของเขา  เขาให้คติแก่เราว่า มนตราของวัยเยาว์ไม่มีวันหวนกลับมา  แม้ว่ามันยังมีชีวิตอยู่ในความทรงจำ  จากเรื่องราวชีวิตของเขา กว๋างวาดภาพให้เห็นชัดเจนถึงความมหัศจรรย์ของวัยเยาว์ในดินแดน Seven Mountains และทิ้งเรื่องนี้ไว้เป็นมรดกแก่ความกระหายใคร่รู้ของคนรุ่นต่อไปในอนาคต

Quảng Huyền
VinUniversity, Hanoi

Reference

Bảo Ninh. Nỗi buồn chiến tranh. Thành phố Hồ Chí Minh: NXB Trẻ, 2011.

Đỗ, Thiện. “Daoists from the Mountain.” Vietnamese Supernaturalism: Views from the Southern Region, chapter five. London: RoutledgeCurzon, 2003.

Dror, Olga. Making Two Vietnams: War and Youth Identities, 1965-1975. Cambridge: Cambridge University Press, 2018.

Ho Tai, Hue-Tam. Millenarianism and Peasant Politics in Vietnam. Cambridge, MA: Harvard University Press, 1983.

Komjathy, Louis. Cultivating Perfection: Mysticism and Self-Transformation in Early Quanzhen Daoism. Leiden: Brill, 2007.

McHale, Shawn Frederick. The First Vietnam War: Violence, Sovereignty, and the Fracture of the South, 1945–1956. Cambridge: Cambridge University Press, 2021.

Nguyễn Huy Thiệp, “Con gái Thu thần.” In Tuyển tập Nguyễn Huy Thiệp: truyện ngắn, edited by Anh Trúc, 102–148. Hà Nội: NXB Phụ nữ, 2001.

Thích Giác Toàn, ed. Buddhist Mendicancy Tradition of Vietnam. Ho Chi Minh City: Minh Đăng Quang Dharma Institute, 2017.

Notes:

  1. ในปัจจุบัน เหงวียน วัน กว๋าง อาศัยและประกอบอาชีพแพทย์แผนโบราณเวียดนามในเมือง Brattleboro รัฐเวอร์มอนต์
  2. hích Giác Toàn, ed., Buddhist Mendicancy Tradition of Vietnam (Ho Chi Minh City: Minh Đăng Quang Dharma Institute, 2017).
  3. Louis Komjathy, Cultivating Perfection: Mysticism and Self-Transformation in Early Quanzhen Daoism (Leiden: Brill, 2007), passim.
  4. Thiện Đỗ, “Daoists from the Mountain,” chapter five of Vietnamese Supernaturalism: Views from the Southern Region (London: RoutledgeCurzon, 2003), 165–206.
  5. Shawn Frederick McHale, The First Vietnam War: Violence, Sovereignty, and the Fracture of the South, 1945–1956 (Cambridge: Cambridge University Press, 2021), 94–105.
  6. Thiện Đỗ, “Daoists from the Mountain,” 180.
  7. Bảo Ninh, Nỗi buồn chiến tranh (Tp Hồ Chí Minh: NXB Trẻ, 2011).
  8. Nguyễn Huy Thiệp, “Con gái Thủy thần,” in Tuyển Tập Nguyễn Huy Thiệp: Truyện Ngắn, ed. Anh Trúc. (Hà Nội: NXB Phụ nữ, 2001), 106–108.