การทำให้ระบบเผด็จการดิจิทัลกลายเป็นอาวุธของรัฐบาลฟิลิปปินส์ช่วงโรคระบาดโควิด-19

Celito Arlegue

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคที่รู้กันดีว่ามักใช้นโยบายแบบแข็งกร้าวในการรับมือกับวิกฤตการณ์ในอดีต  การเกิดโรคระบาดโควิด-19 กลายเป็น “โอกาสในการบังคับใช้กฎหมายฉุกเฉินและกฎหมายชั่วคราว สั่งระงับการทำกิจกรรมในระบอบประชาธิปไตย ปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง รวมทั้งนำแอพพลิเคชั่นเก็บข้อมูลและติดตามตรวจสอบการเคลื่อนไหวมาใช้เพื่อละเมิดความเป็นส่วนตัว” 1 แทนที่จะยึดถือสิทธิมนุษยชนเป็นลำดับแรกในการรับมือกับโรคระบาด รัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับฉวยโอกาสใช้วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขครั้งนี้มาสร้างความเข้มแข็งในการครองอำนาจและปราบปรามผู้มีความคิดเห็นคัดค้านทางการเมือง

ผ่านมากว่าสองปีนับตั้งแต่เริ่มเกิดโรคระบาดโควิด-19 การณ์ปรากฏชัดเจนแล้วว่า เมื่ออยู่ในเงื้อมมือของนักชาตินิยมชาติพันธุ์ นักประชานิยมและนักอำนาจนิยม วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขถูกใช้เป็น “ข้ออ้างในการใช้มาตรการกดขี่เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด” 2

“Tales of Future Cities” Lea Zeitoun @the.editing.series Instagram

ฟิลิปปินส์คือประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ที่การรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 สามารถนิยามได้ว่า “มีลักษณะแบบทหารอย่างสูง” 3 ฟิลิปปินส์ใช้นโยบายที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แต่กระนั้นประเทศนี้ก็ยังมีอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตเกี่ยวเนื่องกับโรคระบาดโควิด-19 ที่สูงที่สุดประเทศหนึ่ง  ในเดือนมีนาคม 2022 ฟิลิปปินส์จัดอยู่อันดับที่ 26 ในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อ 4 และอันดับที่ 21 ในแง่ของการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับโรคระบาดโควิด-19 5 ผลลัพธ์จากการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดและความล้มเหลวในการจัดการการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวถึง 9.5% ในปี 2020 6 ถือเป็นการหดตัวครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  และเมื่อเปรียบเทียบแล้ว ก็จัดว่าย่ำแย่ที่สุดในหมู่ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 7 นอกจากผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจแล้ว “วัฒนธรรมล็อคดาวน์เป็นพิษ” ที่รัฐบาลนำมาใช้ส่งผลให้มีการปฏิบัติที่มีลักษณะแบบทหารอย่างสูง โดยมีวิธีรับมือโรคระบาดโควิด-19 ในลักษณะของการรักษาความสงบเรียบร้อยมากกว่าเป็นวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข  รัฐบาลยังใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการแก้ต่างปกป้องการตัดสินใจของรัฐบาล รวมทั้งกลบทับเสียงคัดค้านต่างๆ ก่อให้เกิดบรรยากาศสั่นคลอนที่เป็นผลร้ายต่อการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน

วัตถุประสงค์ของบทความนี้คือการอธิบายการมีผลกระทบซึ่งกันและกันระหว่างมาตรการรับมือโรคระบาดโควิด-19 แบบทหารของฟิลิปปินส์ ระบบเผด็จการดิจิทัลในประเทศและการละเมิดสิทธิมนุษยชน  บทความนี้มุ่งหวังจะตอบคำถามที่เฉพาะเจาะจงยิ่งกว่านั้นก็คือ “มาตรการรับมือโรคระบาดแบบทหารของฟิลิปปินส์ โดยอาศัยระบบเผด็จการดิจิทัล มีส่วนส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ในขอบเขตมากขนาดไหน?”

Philippines: Manila Ninoy Aquino Stadium quarantine facility at Rizal Memorial Sports Complex. Wikipedia Commons

วิธีจัดการโควิด-19 แบบทหารของดูแตร์เต

นับแต่เริ่มต้น รัฐบาลมีกรอบการมองวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ว่าเป็นสงครามรูปแบบหนึ่ง ทำให้การบังคับสร้างสถานการณ์แบบกฎอัยการศึกและการข่มขู่ว่าจะลงโทษอย่างรุนแรงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้มากกว่าปรกติ 8 ในการปราศรัยต่อสาธารณชนครั้งหนึ่ง ประธานาธิบดีถึงกับแนะนำให้กองทัพและตำรวจใช้นโยบายผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ รวมทั้งเตือนผู้ฝ่าฝืนว่าอาจถูกยิงเป้าถ้าจับได้ว่าละเมิดข้อบังคับเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19  วิธีการรับมือวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขเช่นนี้ไม่น่าประหลาดใจเท่าไร ทั้งนี้เพราะคณะทำงานเฉพาะกิจด้านโควิด-19 มีบุคลากรจากกองทัพและนายตำรวจเกษียณมาคอยบัญชาการ 9 ในขณะที่วิธีการแบบทหารเช่นนี้แทบไม่มีผลลัพธ์เชิงบวกให้โอ้อวดได้เลย แต่รัฐบาลดูแตร์เตก็คอยแก้ต่างปกป้องให้วิธีการนี้โดยอาศัยอาวุธใกล้มือที่มีอยู่แล้ว นั่นคือ ระบบเผด็จการดิจิทัล

ในช่วงเดือนแรกๆ ของโรคระบาด ฟิลิปปินส์ออกรัฐบัญญัติ Republic Act 11469 หรือ ‘Bayanihan to Heal as One Act’  รัฐบัญญัติฉบับนี้มีบทบัญญัติหนึ่งเกี่ยวกับความผิดทางอาญาของการเผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดเสียงโต้แย้งอย่างมาก  บทบัญญัตินี้ระบุว่า บุคคลใดที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไม่ถูกต้อง ซึ่งมี “ผลกระทบอย่างไม่สมควรหรือไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน และมีเจตนาชัดเจนที่จะกระตุ้นให้เกิดความแตกตื่น ความอลหม่าน ภาวะจลาจล ความกลัวและความสับสน” จะมีโทษจำคุกไม่เกินสองเดือนหรือถูกปรับไม่เกินหนึ่งล้านเปโซ” (ประมาณ 700,000 บาท)

Talamayan แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ดูเหมือนพยายามควบคุมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อปิดบังความบกพร่องในมาตรการรับมือกับโรคระบาดของตน 10 สำนักข่าว Rappler ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลดูแตร์เตใช้สื่อสังคมออนไลน์มาผลักดันความเชื่อว่า ประเทศฟิลิปปินส์รับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี  สำนักข่าวนี้ตั้งข้อสังเกตว่า “ในโลกออนไลน์นั้น ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากกล่าวอ้างข้อมูลปลอมว่า มีบุคคลหรือสื่อต่างประเทศยกย่องหรือยอมรับดูแตร์เตว่ามีภาวะความเป็นผู้นำในการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19  คำกล่าวอ้างเหล่านี้ถ้าไม่ปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นมาก็เอาความจริงมาบิดเบือน” 11 Conde ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลระดับชาติและท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินจากโรคระบาดโควิด-19 เพื่อกดขี่ปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยอ้างว่าพวกเขาเพียงแค่ปราบปราม “พวกปั่นข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19” 12 โดยเนื้อแท้แล้ว กลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่เหล่านี้อย่างง่ายดาย

ในระยะหลัง เป็นเรื่องธรรมดาที่นักการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งในฟิลิปปินส์จะว่าจ้างกองทัพนักเลงคีย์บอร์ดจำนวนมากไว้คอยใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามและสรรเสริญเชิดชูตนเอง 13 เราอาจกล่าวได้ด้วยซ้ำไปว่า การที่ดูแตร์เตก้าวขึ้นสู่อำนาจได้ ส่วนหนึ่งก็มา  จากผลงานของระบบเผด็จการดิจิทัล โดยเฉพาะบริษัท Strategic Communications Laboratories ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทให้คำปรึกษาทางการเมืองที่มีชื่อเสียงอื้อฉาว นั่นคือ บริษัท Cambridge Analytica 14

Nic Gabunada อดีตผู้บริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากดูแตร์เตไม่มีเงินทุนสำหรับการประชาสัมพันธ์ทางการเมืองในสื่อกระแสหลัก ทีมหาเสียงของเขาจึงตัดสินใจที่จะ “แอบว่าจ้างกลุ่มต่างๆ ในสื่อสังคมออนไลน์” แทน 15 กลุ่มเหล่านี้ยังคงมีอยู่และขยายตัวด้วยซ้ำหลังจากดูแตร์เตได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว  พวกเขาคือเครื่องมือขาประจำในการใส่ร้ายป้ายสีเพื่อสร้างภาพชั่วร้ายให้แก่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี อาทิ รองประธานาธิบดี Leni Robredo  วุฒิสมาชิก Leila de Lima  และ Maria Ressa ซีอีโอของสำนักข่าว Rappler และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลประจำปี 2021  งานศึกษาวิจัยในปี 2017 ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดระบุว่า มีการใช้เงินประมาณ 10 ล้านเปโซ (ประมาณ 7,000,000 บาท) เพื่อโฆษณาชวนเชื่อในเชิงสนับสนุนประธานาธิบดีดูแตร์เตและโจมตีฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์เขา  งานวิจัยชิ้นนี้ยังบอกด้วยว่า กลไกโฆษณาชวนเชื่อออนไลน์ของดูแตร์เตนั้นประกอบด้วยพรรค Partido Demokratiko Pilipino-Lakas ng Bayan ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของเขา  Gabunada ผู้จัดการด้านสื่อสังคมออนไลน์ของดูแตร์เต กลุ่มอาสาสมัคร และนักรบไซเบอร์รับจ้าง 16

ในปี 2021 วุฒิสมาชิกหลายคนเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อกล่าวหาว่ามีการใช้กองทุนสาธารณะไปจ่ายให้แก่การทำงานของแหล่งซ่องสุมนักเลงคีย์บอร์ด  เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากมีวุฒิสมาชิกคนหนึ่งกล่าวหาว่า “รัฐมนตรีช่วยคนหนึ่งในรัฐบาลมีบทบาทในการจัดตั้งแหล่งซ่องสุมนักเลงคีย์บอร์ดขึ้นมาทั่วประเทศ เพื่อมุ่งเป้าใส่ร้ายคู่แข่งทางการเมืองหรือใครก็ตามที่ไม่เห็นพ้องกับรัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต”  ยิ่งกว่านั้น ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการตรวจสอบสืบเนื่องจากกระทรวงการคลังใช้งบประมาณ 909,122 เปโซ (630,000 บาท) ในการทำสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การสื่อสารกับผู้ทำธุรกิจประชาสัมพันธ์รายหนึ่ง ซึ่งเฟสบุ๊คติดป้ายว่าเป็น “ผู้ปฏิบัติการเบื้องหลังเครือข่ายบัญชีผู้ใช้ปลอมที่คอยสนับสนุนดูแตร์เต ซึ่งเฟสบุ๊คปิดบัญชีเหล่านี้ไปในเดือนมีนาคม 2019” 17

กรณีต่างๆ ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การปั่นเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์เป็นวิถีปฏิบัติของรัฐบาลดูแตร์เต  ด้วยเหตุผลนี้เอง การที่ประธานาธิบดีดูแตร์เตเพิ่งใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายซิมการ์ด (เมษายน 2022) ที่จะกำหนดข้อบังคับให้บุคคลต้องใช้ชื่อจริงในการลงทะเบียนซิมการ์ด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจมากนักเมื่อคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการทำงานของแหล่งซ่องสุมนักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลาย 18

City checkpoint at Maasin City, Southern Leyte, The Philippines, 2020. Photo: Pascal Canning, Shutterstock

ผลกระทบที่มีต่อสิทธิมนุษยชน

การรับมือโรคระบาดด้วยวิธีการแบบทหารของรัฐบาลดูแตร์เตนำไปสู่การจับกุมผู้ฝ่าฝืนระเบียบการกักตัวประมาณ 120,000 รายระหว่างช่วงเดือนแรกๆ ที่เกิดโรคระบาด 19 นอกจากนี้ มีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานหลายชิ้นเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่อย่างไม่ถูกต้องของทหารและตำรวจที่ประจำการตามด่านตรวจและคอยกำกับดูแลประชาชนให้ปฏิบัติตามระเบียบการกักตัว  มีรายงานว่าผู้ถูกกักขังบางคนถูกลงโทษด้วยการขังไว้ในกรงสุนัข โลงศพ และปล่อยให้พวกเขาตากแดดร้อนจัด 20 ผู้ถูกกักขังจำนวนหนึ่งถูกขังรวมกันในห้องขังและในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงว่าไวรัสจะแพร่ระบาดยิ่งกว่าภายนอก

นอกจากการล็อคดาวน์ในช่วงโรคระบาดโควิด-19  การรณรงค์ “สงครามปราบยาเสพติด” ของประธานาธิบดีดูแตร์เตยังเพิ่มความเข้มข้นขึ้นระหว่างช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย  ในรายงาน Human Rights Watch ประจำปี 2021 รายงานระบุว่าการฆาตกรรมเพิ่มขึ้นถึง 50% ระหว่างช่วงเกิดโรคระบาด  สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “ยุทธวิธีข่มขู่ทางการทหาร” โดยเฉพาะที่มุ่งเป้านักกิจกรรมทางสังคม เกิดขึ้นไม่หยุดยั้งเลยในช่วงล็อคดาวน์เพราะโรคระบาดโควิด-19 21

บทสรุป

 ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า การรับมือกับโรคระบาดด้วยวิธีการแบบทหารที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความล้มเหลวที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  เมื่ออาศัยระบบเผด็จการดิจิทัลมาหนุนเสริม วิธีการรับมือแบบนี้ยิ่งส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายกรณีในช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดสูงสุด  โดยรวมแล้ว ในระยะหลัง เราได้เห็นพัฒนาการหลายประการที่เกี่ยวข้องกับระบบเผด็จการดิจิทัลในฟิลิปปินส์ ซึ่งน่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง  ช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เราได้เห็นการนำเครื่องมือคุกคามที่มีอยู่แล้วมาใช้เป็นอาวุธบ่อนทำลายประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศฟิลิปปินส์

Celito Arlegue
Celito Arlegue เป็นผู้อำนวยการบริหารของ Council of Asian Liberals and Democrats (CALD) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคของพรรคการเมืองในเอเชีย  นอกจากนี้ เขายังเป็นอาจารย์ที่  School of Diplomacy and Governance, De La Salle – College of St. Benilde ในเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

Banner: A woman wearing a face mask with a message of ousting the Philippine President Rodrigo Duterte in a protest on the 34th Anniversary of Mendiola Massacre in Mendiola, Manila on January 22, 2021. Kel Malazarte, Shutterstock

Notes:

  1. Asia Centre, COVID-19 and democracy in Southeast Asia, last modified 4 December 2020, https://asiacentre.org/covid-19_and_democracy_in_southeast_asia/
  2. Antonio Guterres, We are all in this together: Human rights and COVID-19 response and recovery, last modified 23 April 2020, https://www.un.org/en/un-coronavirus-communications-team/we-are-all-together-human-rights-and-covid-19-response-and
  3. Michelle Bachelet, Exceptional measures should not be cover for human rights abuses and violations – Bachelet,  last modified 27 April 2020, https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=25828&LangID=E
  4. Statista, Number of novel coronavirus (COVID-19) cases worldwide by country, accessed 15 March 2022, https://www.statista.com/statistics/1043366/novel-coronavirus-2019ncov-cases-worldwide-by-country/
  5. Statista, Number of novel coronavirus (COVID-19) deaths worldwide by country, accessed 15 March 2022,  https://www.statista.com/statistics/1093256/novel-coronavirus-2019ncov-deaths-worldwide-by-country/
  6. Beatrice Laforga, Philippines GDP shrinks by record 9.5% in 2020, Business World, 29 January 2021, https://www.bworldonline.com/philippine-gdp-shrinks-by-record-9-5-in-2020
  7. Philippines to be Southeast Asia’s worst performer this year, Business World, 11 December 2020,  https://www.bworldonline.com/philippines-to-be-se-asias-worst-performer-this-year/
  8. Karl Hapal, The Philippines’ COVID-19 response: Securitizing the pandemic and disciplining the pasaway, Journal of Current Southeast Asian Affairs, last modified 18 March 2021, https://doi.org/10.1177/1868103421994261
  9. Delfin Lorenzana รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั่งเป็นประธานของคณะทำงานเฉพาะกิจแห่งชาติเพื่อต่อต้านโรคระบาดโควิด-19   นายพล Carlito Galvez Jr. อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพของฟิลิปปินส์ (Armed Forces of the Philippines –AFP)  มีชื่อเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานในการรับมือกับโรคระบาดของรัฐบาล  นายพลเกษียนจากกองบัญชาการเหล่าทัพของฟิลิปปินส์อีกคนหนึ่ง นั่นคือ นายพล Rodolfo Ano รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่เป็นรองประธานของ Inter-Agency Task Force on Emerging Infectious Diseases (IARF-EID)  ด้วยตำแหน่งนี้ เขาแนะนำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นมาเป็นผู้นำของ Joint Task Force COVID Shield ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้กองกำลังตำรวจสนธิกำลังกันเพื่อบังคับใช้ระเบียบปฏิบัติของ IATF-EID  โปรดดู  Simon Levien, Meet the generals leading COVID response in Indonesia and the Philippines, Rappler, last modified 25 August 2020, https://www.rappler.com/newsbreak/iq/meet-generals-leading-covid-response-philippines-indonesia/
  10. Fernan Talamayan, Statistical (in)capacity and government (in)decisions: The Philippines in the time of COVID-19, Conflict, Justice, Decolonization: Critical Studies of Inter-Asian Societies (2020), last modified 23 March 2021, https://papers.ssrn.com /sol3/papers.cfm?abstract_id=3808937/ 
  11. 12 times social media boosted Duterte’s lies, Rappler, last modified 2 July 2021, https://www.rappler.com/newsbreak/iq/times-social-media-boosted-rodrigo-duterte-lies-false-statement/
  12. Carlos Conde, Killings in the Philippines up 50% during the pandemic, last modified 8 September 2020,  https://www.hrw.org/news/2020/09/08/killings-philippines-50-percent-during-pandemic
  13. Shashank Bengali, S. and Evan Halper, Troll armies, a growth industry in the Philippines, may soon be coming to an election near you, Los Angeles Times, last modified 19 November 2019, https://www.latimes.com/politics/story/2019-11-19/troll-armies-routine-in-philippine-politics-coming-here-next
  14. Raissa Robles, How Cambridge Analytica’s parent company helped ‘man of action’ Rodrigo Duterte win the Philippine election, South China Morning Post, last modified 4 April 2018, https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/2140303/how-cambridge-analyticas-parent-company-helped-man-action
  15. Trolls and triumph: a digital battle in the Philippines, BBC News, last modified 7 December 2016, https://www.bbc.com/news/blogs-trending-38173842
  16. Mikas Matsuzawa, Duterte camp spent $200,000 for troll army, Oxford study finds, Philippine Star, last modified 24 July 2017, https://www.philstar.com/headlines/2017/07/24/1721044/duterte-camp-spent-200000-troll-army-oxford-study-finds
  17. 12 senators seek investigation into troll farms, Philippine Senate, last modified 12 July 2021, https://legacy.senate.gov.ph/press_release/2021/0712_pangilinan2.asp
  18. ประธานาธิบดีดูแตร์เตอ้างเหตุผลการใช้อำนาจยับยั้งนี้ โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล  ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนบทบัญญัติในการลงทะเบียนซิมการ์ดกล่าวว่า เงื่อนไขนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร การเป็นนักเลงคีย์บอร์ด และการประกอบอาชญากรรมอื่นๆ ที่ใช้การสื่อสารเป็นช่องทาง
  19. Michelle Bachelet, Exceptional measures should not be cover for human rights abuses and violations – Bachelet,  last modified 27 April 2020, https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=25828&LangID=E
  20. World Report 2021, Human Rights Watch (2021), https://www.hrw.org/sites/default/files/media_2021/01/2021_hrw_world_report.pdf
  21. Freedom in the world 2021: Democracy under siege, Freedom House (2021), https://freedomhouse.org/report/freedom-world/2021/democracy-under-siege