พลวัตทางการเมืองและเศรษฐกิจของความร่วมมือ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ระหว่างอินโดนีเซีย-จีน

Noto Suoneto

การตรวจสอบสถานะของอินโดนีเซียบนเวทีระหว่างประเทศควรพิจารณาจากการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศที่เป็นรูปธรรม  ในบรรดาองค์ประกอบหลายประการของนโยบายต่างประเทศนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจัดเป็นจุดศูนย์ถ่วงที่สำคัญ  การที่ประธานาธิบดีโจโกวีให้ความสำคัญอันดับต้นแก่การตอบสนองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสะท้อนออกมาให้เห็นในลำดับความสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซีย นั่นคือ การส่งเสริม “การทูตด้านเศรษฐกิจ” ให้อยู่แถวหน้าสุดในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน  วาระการทูตด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียสอดคล้องต้องตรงกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ภายในประเทศ  ซึ่งหลักใหญ่ใจความคือการมุ่งสู่เป้าหมายระดับชาติที่จะยกระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  การตัดสินใจทางการทูตด้านเศรษฐกิจที่โดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของโจโกวีคือ ความร่วมมือ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้น” ระหว่างอินโดนีเซีย-จีน (Indonesia-China Belt and Road Initiative  ต่อไปจะเรียกว่า BRI)  บทความนี้จะวิเคราะห์ความร่วมมือ BRI ของอินโดนีเซียและพลวัตทางการเมือง-เศรษฐกิจบางประการที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้

จุดยืนและมุมมองของอินโดนีเซียต่อ BRI

ระหว่างที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาเยือนอินโดนีเซียในปี 2013 เขาประกาศว่ารัฐบาลจีนมีความสนใจที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางทะเลผ่านกลไก “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Maritime Silk Road–MSR) 1 ในตอนนั้น อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน  ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาทางทะเลจึงได้รับความสนใจน้อยมากในลำดับความสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของเขา  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทั้งสองประเทศต่างก็ถือเป็นพันธกิจที่จะยกระดับความร่วมมือนี้ให้ถึงขั้น “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership)

เมื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2014 ทำให้ประธานาธิบดีโจโกวีก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนต่อมา  ลำดับความสำคัญในนโยบายต่างประเทศของอินโดนีเซียก็เปลี่ยนแปลงตามวิสัยทัศน์ของผู้มาแทนตำแหน่ง  นโยบายต่างประเทศในสมัยแรกของโจโกวีให้น้ำหนักส่วนใหญ่ไปที่วิสัยทัศน์ในการขยายอิทธิพลและอำนาจทางทะเล ซึ่งสอดคล้องกับคำขวัญในการหาเสียงเลือกตั้งของเขา  กล่าวคือ โจโกวีนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “แกนกลางทางทะเลของโลก” หรือ “poros maritim dunia” เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าให้อินโดนีเซียกลายเป็นชาติทางทะเล  จีนตอบรับวิสัยทัศน์ของโจโกวีทันที โดยถือเป็นประตูที่จะเปิดสู่การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทวิภาคีที่แนบแน่นยิ่งขึ้น

จีนถือเป็นประเทศแรกที่โจโกวีไปเยือนหลังจากทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ครั้งนั้นคือการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) และพบปะกับผู้นำประเทศอื่น   นอกเหนือจากแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแกนกลางทางทะเลให้โลกเห็นแล้ว โจโกวียังประกาศคำมั่นที่จะเข้าร่วมธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank–AIIB) ที่มีจีนเป็นผู้นำ และผนวกรวมวิสัยทัศน์ทางทะเลโลกของอินโดนีเซียเข้ากับเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน 2 การเยือนครั้งนี้เปิดประตูให้แก่ความร่วมมืออินโดนีเซีย-จีนภายใต้กรอบของ BRI  การพบปะครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2015 ที่งานประชุมเอเชียโป๋อ่าว (Boao Forum for Asia)  ในครั้งนี้ โจโกวีกับสีจิ้นผิงได้แถลงการณ์ร่วมกันและเน้นย้ำคำมั่นสัญญาว่าจะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางทะเลให้เข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit–EAS) ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา  ประธานาธิบดีโจโกวีเน้นย้ำอีกครั้งถึงวิสัยทัศน์ “ศูนย์เชื่อมโยงทะเลโลก” (global maritime nexus) ซึ่งเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนย่อมช่วยส่งเสริมวาระทางทะเลอันเป็นความใฝ่ฝันของโจโกวี  ดังที่ยูซุฟ วานันดีวิเคราะห์ไว้ 3 ข้อริเริ่ม BRI มีผลดีต่ออินโดนีเซียอย่างชัดเจน แต่จะมีผลดีขนาดไหนย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของโจโกวีในการพัฒนาให้วาระแผนการภายในประเทศมีการประสานกำลังเชื่อมโยงกับ BRI   ความร่วมมือที่มีศักยภาพมากที่สุดต้องอาศัย “แผนปฏิบัติงานนโยบายมหาสมุทรของอินโดนีเซีย 2016-2019” (Action Plan of Indonesia Ocean Policy 2016-2019) ซึ่งสอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการร่วมมือกับ BRI ของจีน

วิธีการที่ช่วยให้เข้าใจจุดยืนของอินโดนีเซียต่อ BRI ได้ดีขึ้น ก็คือลองทบทวนสิ่งที่โจโกวีและรัฐบาลของเขาแถลงการณ์ต่อสาธารณะ  ในการประชุม BRI Forum ครั้งที่ 1 ในปี 2017 โจโกวีแสดงออกถึงการมองอนาคตสดใสและสนับสนุนว่า BRI จะส่งผลลัพธ์ให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในภูมิภาคนี้ อีกทั้งชื่นชมข้อริเริ่มนี้ว่าอยู่กับความเป็นจริงและมีความเป็นรูปธรรม 4 ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว South China Morning Post (SCMP) โจโกวีกล่าวย้ำอีกครั้งว่าความสัมพันธ์ของอินโดนีเซียกับจีนจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคการผลิตดังที่เป็นจุดเด่นของ BRI 5

นับแต่นั้นเป็นต้นมา อินโดนีเซียมีความคงเส้นคงวาในการยกระดับความร่วมมือภายใต้กรอบ BRI  อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยจนกระทั่งปี 2018 อินโดนีเซียกับจีนก็ยังไม่มีข้อตกลงในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมใดๆ เกิดขึ้น สืบเนื่องจากมุมมองที่แตกต่างกันว่าโครงการ BRI คืออะไร  จีนมองว่าโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดคือความร่วมมือ BRI  ในขณะที่อินโดนีเซียนับเฉพาะโครงการที่ให้คำมั่นสัญญากันในสมัยของสีจิ้นผิงกับโจโกวี 6 ตั้งแต่จุดนี้ต่างหากที่ข้อผูกมัดทางการเมืองระหว่างสองประเทศในด้านความร่วมมือ BRI จึงมีความคืบหน้า

ในปี 2018 ลูฮูต ปันด์จัยตัน ทูตพิเศษประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลอินโดนีเซีย เดินทางมาเยือนประเทศจีน และแสดงความคิดเห็นว่าทั้งสองประเทศต่างเป็นหุ้นส่วนกันอย่างแท้จริงในความร่วมมือ BRI   ปันด์จัยตันร่วมกับหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ให้คำมั่นว่าทั้งสองประเทศจะปฏิบัติตามฉันทามติความร่วมมือ BRI อย่างเต็มที่และผลักดันการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Corridors) ของอินโดนีเซีย ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากข้อริเริ่ม BRI ด้วย  ลูฮูตถึงกับกล่าวว่า ความสัมพันธ์กับจีนเป็นทิศทางที่พิเศษอย่างยิ่งในความสัมพันธ์กับต่างประเทศของจาการ์ตาเสมอมา 7 บ่งบอกเป็นนัยๆ ว่าโจโกวีมีความยินดีกับปักกิ่งเป็นอย่างยิ่ง

หนึ่งปีต่อมา อินโดนีเซียเสนอ 28 โครงการ มูลค่า 91.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้นักลงทุนจีนพิจารณาโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ BRI 8 ในการประชุมคู่ขนานระหว่างอินโดนีเซีย-จีนระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ที่ญี่ปุ่นในปี 2019  ประธานาธิบดีโจโกวีได้ร้องขอการสนับสนุนทางการเงินเป็นพิเศษจากประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เมื่อเห็นว่าอินโดนีเซียไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจาก BRI  รัฐมนตรีต่างประเทศมาร์ซูดีแถลงในปี 2019 ว่า อินโดนีเซียให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อข้อริเริ่ม BRI และคาดหวังว่าจะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านโครงการนี้ 9 การได้เห็นแถลงการณ์เช่นนี้จากเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของอินโดนีเซีย นั่นหมายความว่าอินโดนีเซียให้คุณค่าอย่างยิ่งต่อความเป็นหุ้นส่วน BRI และไม่มีความคลุมเครือใดๆ ในจุดยืนของจาการ์ตาเกี่ยวกับเรื่องนี้

Map indicating locations of China (green) and Indonesia (orange). Wikipedia Commons

เสียงวิพากษ์วิจารณ์และเสียงคัดค้านภายในประเทศต่อข้อริเริ่ม BRI ของจีน

อย่างไรก็ตาม  มีประเด็นและความคิดเห็นด้านลบหลายประการกำลังท้าทายจุดยืนและมุมมองของอินโดนีเซียที่มีต่อ BRI  ข้อริเริ่มนี้กำลังเผชิญกับความคิดเห็นด้านลบมากมายภายในประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นของกับดักหนี้สิน การสูญเสียอำนาจอธิปไตย และการอนุญาตให้แรงงานจีนเข้ามาทำงานในอินโดนีเซีย 10 การศึกษา CSIS ชี้ให้เห็นว่า การขาดความตระหนักรู้และข้อมูลเกี่ยวกับ BRI ส่งผลให้เกิดความวิตกบานปลายว่าอินโดนีเซียจะพึ่งพิงจีนมากเกินไป 11

อินโดนีเซียเริ่มระมัดระวังมากขึ้นในการเข้าหาข้อริเริ่มนี้ ทั้งนี้เพราะอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการพัฒนาตามโครงการ BRI ก็คือความคิดเห็นของสาธารณชน  เนื่องจากสาธารณชนสามารถประเมินการพัวพันกับต่างประเทศของอินโดนีเซียได้ตามระบอบประชาธิปไตย ความวิตกของชาวอินโดนีเซียโดยรวมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง  อันที่จริง ปัญหาเกี่ยวกับ BRI ที่โจโกวีต้องเผชิญมาจากฐานเสียงในประเทศโดยตรง  ในช่วงสามปีติดต่อกัน โจโกวีพบเจอกับการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องให้ปิดประตูไม่ต้อนรับแรงงานชาวจีนในโครงการของ BRI  นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอินโดนีเซียอย่างไฟซาล บาสรีและเอมิล ซาลิมก็วิพากษ์วิจารณ์บางแง่มุมของ BRI หลายครั้งหลายหน เช่น เรื่องคุณภาพการลงทุนและการนำแรงงานชาวจีนเข้ามาในประเทศ

รองประธานสภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซีย ฟัดลี ซอน ถึงกับเตือนโจโกวีว่า BRI เป็นภัยคุกคามต่อการเมืองแห่งชาติและอธิปไตยทางเศรษฐกิจ  ริซาล รามลี อดีตรัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลของโจโกวีเอง ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้ก่อนหน้าลูฮูต เขียนเตือนว่า BRI เป็นดาบสองคม เพราะแบบแผนของการ “ให้กู้เพื่อครอบครอง” จะเปิดโอกาสให้ปักกิ่งช่วงชิงการควบคุมสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซีย 12

นอกเหนือจากความเสี่ยงของกับดักหนี้สินแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบที่โครงการ BRI จะมีต่อสิ่งแวดล้อม  ในปี 2019 องค์กรภาคประชาสังคม 240 องค์กรคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนพลังน้ำของ BRI บนเกาะสุมาตราเหนือ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อลิงอุรังอุตังที่เป็นสัตว์ป่าประจำถิ่นในพื้นที่นั้น 13 โครงการ BRI อีกโครงการหนึ่ง กล่าวคือ รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าขาดการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม  สถาบัน Indonesian Forum for Environment หรือ WALHI ซึ่งเป็นสถาบันด้านสิ่งแวดล้อมแถวหน้าของอินโดนีเซีย ก็แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลงทุนของ BRI ในโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสกปรกและการอุดหนุนเงินทุนแก่การทำเหมืองถ่านหิน 14 เมื่อต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นชุดอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ โครงการ BRI ภายในประเทศอินโดนีเซียจึงตกอยู่ท่ามกลางความท้าทายอย่างยิ่งยวด

Indonesian President Joko Widodo meeting Chinese President Xi Jinping, March 2015. Wikipedia Commons

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนรับรู้ถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ BRI และตอบสนองด้วยการเสนอหนทางแก้ไข  ในการประชุม BRI Forum ครั้งที่ 1 สีจิ้นผิงเสนอให้ก่อตั้ง International Coalition for Green Development 15 เพื่อบูรณาการวาระการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเข้ากับโครงการของ BRI ทั่วโลกเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติกับกระทรวงนิเวศวิทยาของจีน  นอกจากนี้ สีจิ้นผิงยังเรียกร้องให้ข้อริเริ่ม BRI มีความ “เปิดกว้าง สีเขียวและสะอาด” ในสุนทรพจน์ที่เขาปราศรัย ณ การประชุม Belt and Road Forum ครั้งที่ 2 ในปี 2019 16

รัฐบาลปักกิ่งมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมวาทกรรมความเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและต้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยแนวทางการส่งเสริมข้อริเริ่ม Green Belt and Road Initiative และแผนการ Belt and Road Ecological and Environmental Cooperation Plan 17 ในการประชุมประจำปีเอเชียโป๋อ่าว (Boao Forum for Asia (BFA)  2021 ครั้งล่าสุด สีจิ้นผิงเน้นย้ำอีกครั้งถึงพันธกิจของจีนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานและการเงินภายใต้ร่มของ BRI 18

อินโดนีเซียเองก็พยายามดักทางข้อวิจารณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไว้แล้วล่วงหน้าด้วยการให้คำมั่นหลายประการด้วยกัน  รัฐมนตรีลูฮูตอ้างว่า อินโดนีเซียกำลังเรียกร้องให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและจะไม่ยอมให้ใช้เทคโนโลยีด้อยคุณภาพที่สร้างผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศในโครงการ BRI  ริดวัน จามาลูดดิน รัฐมนตรีช่วยของลูฮูต ก็แถลงเช่นกันว่า ถึงแม้รัฐบาลเสนอการลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าให้จีน แต่อินโดนีเซียจะรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในข้อตกลงกับปักกิ่ง พร้อมกับกล่าวว่าจาการ์ตามาถูกทางแล้ว  ในส่วนประเด็นกับดักหนี้สินของ BRI นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ อาร์มานาธา นาซีร์ โต้แย้งโดยกล่าวว่า โจโกวีให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นเจ้าของและแนวทางที่ชาติเป็นผู้กำกับควบคุมในข้อตกลงกับจีน 19 กล่าวคือ BRI จะปฏิบัติตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติ ไม่ใช่เดินตามการกำกับของโลกหรือผู้ให้กู้ระยะยาว

ดังนั้น ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความร่วมมือ BRI จึงมีอิทธิพลต่อมุมมองที่ชาวอินโดนีเซียมีต่อจีน  จากการสำรวจความคิดเห็นของ Pew Research Center ชาวอินโดนีเซียซึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อจีนมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นว่าจาการ์ตาพึ่งพิงปักกิ่งมากเกินไป  จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามในปี 2018 มีความเชื่อมั่นในความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งขึ้นระหว่างจีนกับอินโดนีเซีย ลดลงจาก 66% ในปี 2014 20 การสำรวจอีกชุดหนึ่งจากสถาบัน Lingkaran Survei Indonesia (LSI) พบว่า 36% ของชาวอินโดนีเซียมองว่าจีนมีอิทธิพลในทางที่ไม่ดีต่ออินโดนีเซีย 21 ข้อเท็จจริงเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ปักกิ่ง-จาการ์ตากำลังเผชิญความท้าทายภายในประเทศและอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความร่วมมือ BRI ที่แนบแน่นยิ่งขึ้น

เนื่องจากมีเนื้อหาและความเสี่ยงทางการเมืองสูง การทูตด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจึงปล่อยให้กระทรวงการต่างประเทศบริหารจัดการเป็นหลัก  โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ BRI นั้น อินโดนีเซียเองก็พยายามระวังความเสี่ยงเกี่ยวกับกับดักหนี้สินด้วยการเน้นย้ำกลไกแบบภาคธุรกิจต่อภาคธุรกิจ (business-to-business หรือ B2B) มากกว่าความเป็นหุ้นส่วน BRI  รัฐมนตรีลูฮูต ในฐานะกระบอกเสียงของความสัมพันธ์อินโดนีเซีย-จีน ได้กล่าวไว้หลายครั้งว่า ด้วยการบริหารจัดการแบบ B2B เช่นนี้ อินโดนีเซียจะไม่ติดกับดักที่เป็นผลพวงด้านลบของ BRI  อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงว่า BRI ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของรัฐบาลจีน จึงยากที่จะแยกมันออกจากแรงจูงใจทางการเมืองเบื้องหลัง หรือสิ่งที่ Stromseth เรียกว่า “การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการต่อรองระหว่างประเทศ” (economic statecraft) ของปักกิ่ง 22 และ Dunst ก็ชี้ให้เห็นว่า นี่คือประตูในการขยายอิทธิพลของจีนในโลกและเป็นช่องทางเข้าออกสำหรับหน่วยงานทางการเมืองเพื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกา 23

เมื่อพิจารณาถึงความเกี่ยวข้องของภาคธุรกิจหรือรัฐวิสาหกิจภายในความเป็นหุ้นส่วน BRI แล้ว การทูตด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้องกับ BRI ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับจัดการของกระทรวงการต่างประเทศอย่างเต็มที่ แต่มีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพัวพันด้วย  ยกตัวอย่างเช่น ลูฮูต ปันด์จัยตันเป็นรัฐมนตรีที่มีบทบาทมากที่สุดในการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วน BRI โดยเขามีตำแหน่งอื่นหนุนหลังอีกทีในฐานะผู้ประสานงานความร่วมมือกับจีนและรัฐมนตรีประสานงานกิจการทางเศรษฐกิจ

เนื่องจากตระหนักดีว่าประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองได้ง่าย  รัฐบาลของโจโกวีจึงแก้ต่างว่า BRI ผ่านการปรับเปลี่ยนให้เป็นข้อตกลงที่สมประโยชน์ทุกฝ่าย  รัฐบาลพยายามดึงให้ BRI เป็นเรื่องของการค้า ไม่ใช่เรื่องการเมือง  การผลักดันโครงการ BRI ด้วยวิธีบริหารจัดการแบบ B2B คือวิธีการหนึ่งที่สนับสนุนวาทกรรมนี้  โจโกวีเน้นย้ำแบบแผนการหาเงินทุนสนับสนุนที่ไม่ใช่ของรัฐบาล  โรซาน รูสลานี ประธานหอการค้าอินโดนีเซียหรือ KADIN สนับสนุนจุดยืนของรัฐบาลเกี่ยวกับ BRI โดยเสนอแนะว่า อินโดนีเซียจะได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนผลประโยชน์ด้านการพาณิชย์อื่นๆ 24 การที่โจโกวีเลือกใช้แนวทางที่แยกห่าง BRI ออกจากเรื่องการเมือง ทำให้ความไม่พอใจภายในประเทศยังควบคุมไว้ได้  แม้กระทั่งในช่วงโรคระบาด โจโกวีและสีจิ้นผิงก็ยังสานต่อความเป็นหุ้นส่วน BRI ในภาพรวมต่อไป

ความร่วมมือ BRI ของอินโดนีเซียกับจีนต้องเผชิญพลวัตทางการเมืองหลากหลายประการภายในประเทศ  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของโจโกวีก็พยายามบริหารจัดการโครงการนี้ภายใต้ความร่วมมือแบบสมประโยชน์ทุกฝ่าย โดยมีภาคธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน  รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามแยกมิติทางการเมืองออกห่างจากความเป็นหุ้นส่วน BRI ของจีน มิฉะนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาปั่นป่วนมากมาย  BRI ในอินโดนีเซียไม่มีทางปลอดพ้นจากคำวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านทางการเมืองจากกลุ่มต่างๆ  ตราบใดที่ทั้งสองรัฐบาลไม่ดำเนินการความร่วมมือนี้ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการต่อรองระหว่างประเทศ” ถ้าเช่นนั้น BRI ก็น่าจะอยู่รอดยั่งยืนต่อไป

Noto Suoneto
Noto Suoneto is a foreign policy analyst and host of Foreign Policy Talks Podcast. He is also part of Y20 (G20 Engagement Group) Indonesian Presidency 2022.

 

Notes:

  1. http://www.asean-china-center.org/english/2013-10/03/c_133062675.htm.
  2. https://www.thejakartapost.com/news/2014/11/09/jokowi-world-stage-first-stop-beijing.html
  3. https://www.thejakartapost.com/news/2017/05/13/insight-belt-and-road-initiative-seizing-new-opportunities.html.
  4. https://jakartaglobe.id/news/jokowi-optimistic-about-chinas-belt-and-road-initiative/
  5. https://www.scmp.com/news/asia/article/1746628/widodo-aims-use-china-visit-boost-ties-and-seek-details-maritime-silk-road
  6. Negara, Siwage Dharma, and Suryadinata. 2018. Indonesia and China’s Belt and Road Initiatives : Perspectives, Issues and Prospects. Singapore: ISEAS Yusof Ishak Institute.
  7. https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjb_663304/zzjg_663340/yzs_663350/gjlb_663354/2716_663436/2718_663440/t1607266.shtml
  8. https://www.thejakartapost.com/news/2019/03/20/billions-offer-belt-and-road.html#google_vignette
  9. https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1658181.shtml
  10. Yuliantoro, Nur Rachmat. 2019. “The Belt and Road Initiative and ASEAN-China Relations: An Indonesian Perspective.” In The Belt and Road Initiative: ASEAN Countries’ Perspectives, by Yang Yue: Li Fuijian, pp. 81-102. Beijing: Institute of Asian Studies and World Scientific Publishing Ltd.
  11. Damuri, Yose Rizal, Vidhyandika Perkasa, Raymond Atje, and Fajar Himawan. 2019. Perceptions and Readiness of Indonesia Towards the Belt and Road Initiative. Jakarta: Center for Strategic and International Studies (CSIS) Indonesia.
  12. https://thediplomat.com/2021/07/the-risks-of-favoring-china/
  13. https://www.ft.com/content/dddcf70c-fbcd-11e9-98fd-4d6c20050229
  14. https://www.walhi.or.id/belt-and-road-initiative-bri-will-impose-more-burdens-to-the-indonesian-people
  15. http://2017.beltandroadforum.org/english/n100/2018/0306/c25-1038.html
  16. https://www.dw.com/en/chinas-belt-and-road-is-green-and-clean-says-xi/a-48495226
  17. Coenen, Johanna, Simon Bager, Patrick Meyfroidt, Jens Newig, and Edward Challies. 2021. “Environmental Governance of China’s Belt and Road Initiative.” Environmental Policy and Governance Volume 31 Issue 1 pp. 3 -17.
  18. http:\www.xinhuanet.com\english\2021-04\20\c_139892721.htm
  19. https://www.medcom.id/internasional/asia/3NOB86mK-indonesia-bawa-isu-sawit-di-belt-and-road-initiative-forum
  20. https://www.pewresearch.org/fact-tank/2019/04/04/indonesians-optimistic-about-their-countrys-democracy-and-economy-as-elections-near/
  21. http://www.lsi.or.id/riset/448/rilis-survei-lsi-12-januari-2020
  22. Stromseth, Jonathan R. 2021. “Navigating Great Power Competition in Southeast Asia.” In Rivalry and Response- Assessing Great Power Dynamics in Southeast Asia, by Jonathan R. Stromseth, pp. 1-31. New York: Brookings Institution Press.
  23. Dunst, Charles. 2020. Battleground Southeast Asia: China’s Rise and America’s Options. London: London School of Economics and Political Science (LSE) Ideas.
  24. https://www.antaranews.com/berita/2116222/kadin-sebut-indonesia-diuntungkan-dari-belt-and-road-initiative