ซ่อมสร้างความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ : มุมมองจากฝั่งกัมพูชา

Kimkong Heng

กัมพูชากับสหรัฐอเมริกาฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 70 ปีในปี 2020 ที่ผ่านมา  การฉลองวาระครบรอบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่ไว้วางใจและความคลางแคลงที่พอกพูนขึ้นระหว่างสองประเทศ  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ ค่อนข้างผันผวนขึ้นๆ ลงๆ สืบเนื่องจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน อันประกอบด้วยผลประโยชน์ด้วยภูมิศาสตร์การเมืองและยุทธศาสตร์ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และในระยะหลังก็คือปัจจัยจีน (China Factor) 1 อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สายสัมพันธ์ทวิภาคียิ่งเสื่อมถอยลงเพราะการกล่าวหา การเผชิญหน้าและความไม่ไว้วางใจ  ในปี 2017  กัมพูชากล่าวหาสหรัฐฯ ว่าสมรู้ร่วมคิดกับพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party–CNRP) ต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา  พรรคสงเคราะห์ชาติคือพรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ของกัมพูชา ซึ่งตอนนี้ถูกยุบพรรคไปแล้ว  ในปี 2019 สหรัฐอเมริกากล่าวหากัมพูชาว่าลงนามในสัญญาลับกับจีน อนุญาตให้กองทัพจีนเข้าถึงฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาในจังหวัดพระสีหนุ  ทั้งสองประเทศต่างฝ่ายต่างก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาของอีกฝ่ายและพยายามหาทางกระชับสัมพันธไมตรีขึ้นมาอีกครั้ง แต่กระนั้นดูเหมือนความสัมพันธ์ของสองประเทศกลับติดขลุกขลักอยู่ในขาลงมาตลอด

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะตรวจสอบสายสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างกัมพูชากับสหรัฐฯ ในระยะหลัง และให้ข้อเสนอแนะว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้างเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ในบริบทที่จีนกำลังเรืองอำนาจและการเป็นคู่แข่งกันระหว่างสหรัฐฯ-จีนนับวันจะเข้มข้นยิ่งขึ้น

ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างกัมพูชา-สหรัฐอเมริกา

นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ ถดถอยลงสู่จุดต่ำสุดครั้งใหม่  ในเดือนมกราคม 2017 กัมพูชาขอยกเลิกการฝึกทหารร่วมกันกับสหรัฐฯ ในชื่อปฏิบัติการ “อังกอร์เซนทิเนล” (Angkor Sentinel) โดยอ้างว่าตนติดภารกิจการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  ในเดือนกุมภาพันธ์ 2017  วิลเลียม ไฮท์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงพนมเปญในตอนนั้น กล่าวว่ากัมพูชาควรจ่ายคืนหนี้สงครามจำนวน 500 ล้านดอลลาร์  นี่เป็นข้อเรียกร้องที่รื้อกลับขึ้นมาใหม่ ก่อให้เกิดเสียงโวยวายไม่พอใจในหมู่ประชาชนชาวกัมพูชา โดยเฉพาะบรรดาผู้นำทางการเมือง ซึ่งมองว่าหนี้ก้อนนี้ “สกปรก” และ “เปื้อนเลือด” 2

ปลายปี 2017 ศาลมีคำสั่งยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ  ในสายตาของสังคมวงกว้างมองว่าเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของรัฐบาลที่จะกวาดล้างสื่ออิสระ ภาคประชาสังคมและกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม  การกวาดล้างครั้งนี้เอื้อให้พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ไม่มีคู่แข่งในการเลือกตั้งปี 2018  เปิดช่องให้พรรคนี้ชนะหมดทั้ง 125 เก้าอี้ในสมัชชาแห่งชาติ  หลังจากการเลือกตั้งและการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามที่ตามมาส่งสัญญาณบ่งบอกถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เสื่อมทรามลงและระบอบประชาธิปไตยที่ถดถอยลงของกัมพูชา สหรัฐอเมริกาสั่งระงับวีซ่าและอายัดทรัพย์สินของข้าราชการอาวุโสและเจ้าพ่อนักธุรกิจชาวกัมพูชาหลายคนที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซนโดยอ้างเหตุผลเรื่องการคอร์รัปชั่น  ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้กฎหมายแมกนิตสกีฉบับครอบคลุมทั่วโลก (Global Magnitsky Act) กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรพลเอกฮิงบุนเฮียง ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารรักษาความปลอดภัยของฮุนเซน และพลเอกคุนคิม อดีตหัวหน้าคณะเสนาธิการร่วมกองทัพกัมพูชา  สหรัฐอเมริกายังสั่งคว่ำบาตรบริษัทธุรกิจของจีนชื่อ Union Development Group (UDG) ด้วยข้อหาบุกรุกยึดริบและรื้อทำลายที่ดินของชาวบ้านกัมพูชา 3 บริษัท UDG เป็นผู้ดำเนินโครงการดาราสาคร (Dara Sakor) มูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสนามบินนานาชาติพร้อมรันเวย์ขนาดยาวเพียงพอที่จะรองรับเครื่องโบอิ้ง 747 หรือเครื่องบินทหาร

121024-N-NJ145-024 GULF OF THAILAND (Oct. 24, 2012) Royal Cambodian Navy patrol crafts (PC 1141 and PC 1142) participating in the at sea phase with USS Vandegrift (FFG 48), during Cooperation Afloat Readiness and Training (CARAT) Cambodia 2012. Wikipedia Commons

ในเดือนธันวาคม 2020 สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่สหรัฐอเมริกาเคยให้แก่กัมพูชาหมดอายุลงและการต่ออายุใหม่ก็ยังคาราคาซังอยู่  ผู้สันทัดกรณีบางคนเตือนว่า กัมพูชาอาจถูกตัดสิทธิ์ GSP เนื่องจากความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในกัมพูชาช่วงระยะหลัง 4 ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย Cambodia Democracy Act ในปี 2019 และอีกครั้งในเดือนกันยายน 2021  ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการประกาศเป็นกฎหมาย จะส่งผลให้มีการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐระดับอาวุโสของกัมพูชาที่มีส่วนในการบ่อนทำลายประชาธิปไตยของกัมพูชาเพิ่มขึ้นอีกหลายคน

ในเดือนมิถุนายน 2021 สหรัฐอเมริกาตัดสินใจยุติโครงการช่วยเหลือเพื่อต่อสู้การตัดไม้ทำลายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Prey Lang ของกัมพูชา ซึ่งเป็นการยุติโครงการก่อนกำหนดเวลา โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลกัมพูชาไม่สามารถหยุดยั้งการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่คุ้มครอง 5 การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากหน่วยงานรัฐของกัมพูชาจับกุมนักกิจกรรมเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมหลายคน  ในปี 2020 สวีเดนก็ปฏิบัติตามด้วยการตัดสินใจค่อยๆ ยกเลิกความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่รัฐบาลกัมพูชาและหันเหทิศทางไปให้การสนับสนุนกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มภาคประชาสังคมแทน

ในเดือนพฤศจิกายน 2021 วอชิงตันสั่งคว่ำบาตรนายทหารอาวุโสชาวกัมพูชาอีกสองคน  หนึ่งในนั้นคือพลเรือเอกเตีย วิญ ผู้บัญชาการกองทัพเรือกัมพูชา สืบเนื่องจากข้อหาคอร์รัปชั่นที่เชื่อมโยงกับการก่อสร้างฐานทัพเรือเรียม ซึ่งเป็นฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา  การคว่ำบาตรนี้เกิดขึ้นภายหลังกรณีที่กัมพูชารื้อทำลายอาคารซึ่งได้รับเงินทุนอุดหนุนจากสหรัฐฯ ที่ฐานทัพนี้ในเดือนกันยายน 2020 และความกังวลมากขึ้นในวอชิงตันเกี่ยวกับการมีกองทัพจีนอยู่ในกัมพูชา 6

ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการที่จีนมีอิทธิพลทางทหารเพิ่มขึ้นในกัมพูชา  ในเดือนธันวาคม 2021 วอชิงตันจึงดำเนินการคว่ำบาตรพนมเปญอีกชุดหนึ่ง อันประกอบด้วยการสั่งห้ามขายอาวุธและจำกัดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ  นายกรัฐมนตรีฮุนเซนตอบโต้การคว่ำบาตรครั้งนี้ด้วยการสั่งให้กองทัพกัมพูชารวบรวมอาวุธของสหรัฐฯ ในประเทศทั้งหมดไปเก็บในโกดังหรือทำลายทิ้งเสียเลย 7

การคว่ำบาตร การตอบโต้และเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างพนมเปญกับวอชิงตัน บ่งบอกถึงความไม่ไว้วางใจที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองประเทศ  อย่างไรก็ตาม ประเด็นใหญ่ที่สุดคือ สหรัฐฯ กล่าวหาว่ากัมพูชาอนุญาตให้ปักกิ่งใช้บางส่วนในฐานทัพเรือเรียมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร  ประเด็นเรื่องที่อาจจะมีกองทหารของจีนอยู่ในกัมพูชาเป็นเรื่องน่าวิตก เพราะมันจะยิ่งซ้ำเติมให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐฯ ที่ตึงเครียดอยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม  มันจะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนและความหวาดระแวงระหว่างสองชาติ โดยเฉพาะท่ามกลางความกังวลในประเด็นใหญ่กว่านั้นเกี่ยวกับการมีกองทัพจีนอยู่ในกัมพูชาและอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาแสดงความไม่สบายใจมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางของกัมพูชาที่หันเหไปทางระบอบอำนาจนิยมมากขึ้นและการมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน ประเด็นปัญหาอีกมากมายดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นจะยิ่งผุดขึ้นมาและส่งผลกระทบต่ออนาคตของกัมพูชา  เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่กัมพูชาควรหันทิศทางกลับไปหาระบอบประชาธิปไตยและดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศให้รัดกุมและระมัดระวังมากขึ้น  ในบริบทที่การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีความเข้มข้น กัมพูชาพึงหลีกเลี่ยงการติดกับดักอยู่ระหว่างการแข่งขันของมหาอำนาจครั้งนี้  มิฉะนั้น กัมพูชาอาจจะต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมดังที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน 8

The US delivers Janssen COVID-19 vaccines to Cambodia as part of the COVAX program in 2021. Wikipedia Commons

หนทางแก้ไขมีอะไรบ้าง?

เพื่อซ่อมสร้างปรับปรุงความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ นักวิเคราะห์บางคนเสนอแนะว่า สหรัฐฯ ควรพัวพันกับกัมพูชานอกเหนือจากปัจจัยจีนเพื่อสร้าง “เงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจกันมากขึ้น” 9 นี่เป็นคำแนะนำที่ดี  แต่ผู้เขียนขอแย้งว่าความรับผิดชอบในเรื่องนี้น่าจะตกอยู่ที่รัฐบาลกัมพูชามากกว่า  รัฐบาลกัมพูชาควรทำให้คณะวางนโยบายของสหรัฐฯ เกิดทัศนคติในทางที่ดี ฟื้นฟูความไว้วางใจและความเชื่อมั่นเพื่อให้ความสัมพันธ์กลับมาแน่นแฟ้นเช่นเดิม  เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องพิจารณาการกระทำบางอย่าง โดยเฉพาะในส่วนของรัฐบาลกัมพูชา ทั้งนี้เพราะกัมพูชาเป็นฝ่ายเสียมากกว่าสหรัฐฯ ในกรณีที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีของสองประเทศยังเสื่อมทรามด้วยความไม่ไว้วางใจและการเผชิญหน้ากันเช่นนี้

ประการแรก กัมพูชาต้องแก้ไขภาพพจน์ที่ด่างพร้อยของตน  เนื่องจากความแนบแน่นกับจีน กัมพูชาจึงถูกขนานนามว่าเป็นรัฐบริวารหรือรัฐตัวแทนของจีน 10 ความล้มเหลวไม่เป็นท่าของอาเซียนในปี 2012 เมื่อกัมพูชาเป็นประธานอาเซียน ถือเป็นการตอกย้ำทัศนคติว่ากัมพูชาเป็นแค่รัฐตัวแทนของจีน  ถึงแม้กัมพูชาจะโต้แย้งปฏิเสธเป็นพัลวันก็ตาม  แต่ทัศนคตินี้ยังคงอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในกัมพูชาและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม  ด้วยเหตุนี้ กัมพูชาจึงต้องคำนวณปัจจัยจีนให้รอบคอบและรัดกุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการระหว่างประเทศและปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองในภาพใหญ่  กัมพูชาควรทรงตัวให้ดีและเดินไต่เชือกทางการทูตอันละเอียดอ่อนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลกับจีนและสหรัฐฯ  แทนที่จะกระโดดขึ้นรถไฟขบวนเดียวกับจีนโดยไม่คำนึงถึงเสถียรภาพในระยะยาว

Cambodia’s embassy in Washington D.C. Wikipedia Commons

ประการที่สอง รัฐบาลกัมพูชาควรงดเว้นจากการกระทำใดๆ ที่อาจกระตุ้นความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ โดยไม่ตั้งใจ  ในช่วงไม่กี่ปีหลัง เพื่อตอบโต้ต่อการคว่ำบาตรและแรงกดดันจากสหรัฐฯ  เจ้าหน้าที่รัฐและนักการทูตอาวุโสของกัมพูชามักโจมตีสหรัฐฯ ด้วยวิธีการที่ไร้ชั้นเชิงทางการทูต 11 การกระทำเช่นนี้อาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกด้านลบต่อสหรัฐฯ ในหมู่ประชาชนชาวกัมพูชา  นี่เป็นอันตรายต่อสายสัมพันธ์กับสหรัฐฯ  ในแง่นี้ เจ้าหน้าที่รัฐและนักการทูตกัมพูชาไม่ควรใช้แนวทางการทูตแบบ “แข็งกร้าวข่มขู่” หรือที่เรียกว่าการทูตแบบ “กองพันหมาป่า” (“wolf warrior” diplomacy)  ตรงกันข้าม พวกเขาควรส่งเสริมความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อนโยบายต่างประเทศและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ  อีกทั้งหาทางปรับตัวตามนโยบายดังกล่าวและแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมืองในประเทศของตน

ประการที่สาม ในสายตาของโลกภายนอก ระบอบประชาธิปไตยที่เยาว์วัยและเปราะบางของกัมพูชากำลังถอยหลังนับตั้งแต่มีการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติ  การถอยห่างออกจากความเป็นประชาธิปไตยเช่นนี้แสดงให้เห็นเส้นทางระหกระเหินที่ทำให้กัมพูชายากจะพัวพันอย่างมีความหมายกับกลุ่มประเทศและองค์กรประชาธิปไตยเสรีนิยม เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป  การที่สหภาพยุโรปถอดกัมพูชาออกจากสิทธิพิเศษทางการค้าบางส่วนในโครงการ Everything but Arms ในปี 2020 และการคว่ำบาตรหลายครั้งที่สหรัฐฯ ดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงของกัมพูชา คือตัวอย่างสำคัญที่บ่งชี้ชัดเจนถึงความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอยลงระหว่างกัมพูชากับกลุ่มประเทศใหญ่ๆ ในค่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม 12 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่กัมพูชาควรหวนคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตยเพื่อให้ความหวังทั้งแก่ประชาชนในประเทศและหุ้นส่วนการพัฒนา ซึ่งเคยช่วยกันทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยขึ้นมาระดับหนึ่งในประเทศนี้

ประการที่สี่ เมื่อคำนึงถึงบทบาทของการเป็นประธานอาเซียนปี 2022  กัมพูชามีโอกาสที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตของตนกับสหรัฐฯ และขยายความสัมพันธ์ของอาเซียน-สหรัฐอเมริกา  เพื่อยกระดับความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ กัมพูชาต้องยึดหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและการดำรงความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ  ถึงแม้เป็นเรื่องยากสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างกัมพูชาที่จะต้านทานอิทธิพลจากภายนอก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มหาอำนาจกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด  แต่จะเป็นการดำเนินการที่ฉลาดกว่าถ้ากัมพูชาจะใช้วิถีปฏิบัติแบบวางตัวเป็นกลางและพหุภาคีต่อประเด็นปัญหาในภูมิภาคและระหว่างประเทศ  ถ้ากัมพูชาสามารถพิสูจน์ให้เห็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มั่นคงและเป็นอิสระในปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีน ในการประชุมระดับสูง เช่น การประชุมสุดยอดอาเซียน  ก็จะช่วยให้สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ ที่มีไมตรีมากกว่านี้ได้

ประการที่ห้า สหรัฐอเมริกาเองก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและปรับปรุงความสัมพันธ์กับกัมพูชา  สหรัฐฯ ต้องพัวพันกับกัมพูชามากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง  และดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ยิ่งกว่าเดิม 13 นอกเหนือจากมองกัมพูชาให้มากกว่าปัจจัยจีนแล้ว โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในกัมพูชาและภูมิภาคนี้ สหรัฐฯ ยังต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นด้วย โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำของกัมพูชา  เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ มีความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะต้องเพิ่มการพัวพันกับกัมพูชานอกเหนือจากประเด็นเรื่องประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชน  การให้ความสนับสนุนเพิ่มขึ้นต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโรคระบาดจะช่วยพลิกฟื้นและเพิ่มความเข้มแข็งแก่สายสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐฯ

กล่าวโดยสรุป ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์สหรัฐฯ-กัมพูชา  แต่เป็นฝ่ายกัมพูชาต่างหากที่ควรเริ่มต้นก่อนในการปรับปรุงสายสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐฯ  การเป็นประเทศเล็ก มีอำนาจและการต่อรองจำกัด  มันจึงมีความเป็นไปได้น้อยที่กัมพูชาจะใช้อิทธิพลบีบให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายต่างประเทศตามที่ตนต้องการ  กระนั้นก็ตาม กัมพูชาสามารถดำเนินการเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน  พนมเปญต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์กับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกด้วยความยืดหยุ่น รอบคอบและรัดกุม  อีกทั้งยังต้องคำนึงว่าตนเองจะแสดงภาพพจน์อย่างไรในเวทีระดับภูมิภาคและนานาชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตีตราเป็นรัฐตัวแทนของจีน เพราะภาพพจน์แบบนี้ย่อมสร้างความเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ในขณะที่ฝ่ายหลังกำลังรณรงค์จำกัดอำนาจอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยรวม   สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัมพูชา-สหรัฐฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้เข้มแข็งขึ้นในกัมพูชา  ส่วนความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดจะทำให้กัมพูชามีแต่อนาคตที่ไม่แน่นอน

Kimkong Heng
Kimkong Heng is an Australia Awards scholar and a PhD candidate at the University of Queensland, Australia. He is also a co-founder and chief editor of the Cambodian Education Forum and a visiting senior research fellow at the Cambodia Development Center.

Notes:

  1. Leng, Thearith, and Vannarith Chheang, “Are Cambodia-US Relations Mendable?,” Asia Policy 28, no. 4 (2021): 124-133. https://muse.jhu.edu/article/836215/pdf
  2. Chheang, Vannarith, “Cambodia Rejects Paying ‘Dirty Debt’ to the US,” Al Jazeera, March 21, 2017, https://www.aljazeera.com/opinions/2017/3/21/cambodia-rejects-paying-dirty-debt-to-the-us.
  3. US Department of the Treasury, “Treasury Sanctions Chinese Entity in Cambodia Under Global Magnitsky Authority,” September 15, 2020, https://home.treasury.gov/news/press-releases/sm1121
  4. Suy, Heimkhemra, “Trade Holds the Key to the Renewal of US-Cambodia Ties,” The Diplomat, May 27, 2021, https://thediplomat.com/2021/05/trade-holds-the-key-to-the-renewal-of-us-cambodia-ties/
  5. Mech, Dara, “Updated: US Ends Funding in $21M Prey Lang Project, Citing Continued Logging,” VOD English, June 17, 2021, https://vodenglish.news/us-ends-funding-to-21m-prey-lang-project-citing-continued-logging/
  6. Ali, Idrees, “Cambodia Demolished U.S.-Built Facility on Naval Base: Researchers,” Reuters, October 3, 2020, https://www.reuters.com/article/us-usa-cambodia-military-idUSKBN26N39O
  7. Bangkok Post, “Angry Hun Sen Orders US Weapons Destroyed,” December 10, 2021, https://www.bangkokpost.com/world/2230015/angry-hun-sen-orders-us-weapons-destroyed
  8. Vann, Bunna, “As US-China Rivalry Grows, Will Cambodia’s Tragedy Return?,” Politikoffee, June 28, 2021, https://www.politikoffee.com/en/politik/5685
  9. Sao, Phal Niseiy, “US Engagement with Cambodia Needs to Move Beyond the ‘China Factor,’” The Diplomat, June 4, 2021, https://thediplomat.com/2021/06/us-engagement-with-cambodia-needs-to-move-beyond-the-china-factor/
  10. Heng, Kimkong, “Rethinking Cambodia’s Foreign Policy Towards China and the West,” International Policy Digest, May 31, 2019, https://intpolicydigest.org/rethinking-cambodia-s-foreign-policy-towards-china-and-the-west/
  11. Heng, Kimkong, “Cambodia in 2019 and Beyond: Key Issues and Next Steps Forward,” Cambodian Journal of International Studies 3, no. 2 (2019): 121-143. https://uc.edu.kh/cjis/CJIS%203(2)%20Heng%20paper%20abstract.pdf
  12. Heng, Kimkong, “The West’s Cambodia Dilemma,” Pacific Forum, October 13, 2020, https://pacforum.org/publication/pacnet-56-the-wests-cambodia-dilemma
  13. Heng, Kimkong, “The West’s Cambodia Dilemma,” Pacific Forum, October 13, 2020, https://pacforum.org/publication/pacnet-56-the-wests-cambodia-dilemma