การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงด้านสังคม-สิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ร้ายแรงที่สุดประการหนึ่งในศตวรรษที่ 21 งานเขียนหลายชิ้นที่ได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญล้วนยืนยันว่า เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (extreme weather event) การสูญเสียถิ่นที่อาศัย ภัยพิบัติต่อพืชผลทางการเกษตร ชายฝั่งและเกาะที่จมลงใต้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นถี่กว่าเดิมและมีขนาดใหญ่กว่าเดิม ภายใต้การแนะแนวทางของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change–UNFCCC) เพื่อรักษาความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศให้มีค่าคงที่และรักษาความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพปรกติจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศไทยตอบรับแนวทางนี้เป็นอย่างดีด้วยการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593 (Thailand Climate Change Master Plan 2015–2050—TCCMP) 1 แผนแม่บทนี้น่าชื่นชมในระดับนโยบายระหว่างประเทศ แต่การที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสและโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยและภัยแล้งขั้นร้ายแรงมีเพิ่มขึ้น 15% สภาพเช่นนี้ส่งผลกระทบจริงๆ ต่อคนไทยอย่างไรกันแน่?
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือในภาษาอังกฤษคือ Climate Change เป็นประเด็นที่ทำความเข้าใจได้จากหลายแง่มุม แทนที่จะนับค่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศแบบนักวิทยาศาสตร์ ในมุมมองของเกษตรกรคนหนึ่ง เขาอาจรู้จักการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภัยพิบัติต่อพืชผลทางการเกษตรสืบเนื่องจากสภาพของฤดูกาลที่ไม่เอื้ออำนวย การแก้ปัญหาอาจต้องอาศัยพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อเอาใจเทวดาฟ้าดินหรือซื้อปุ๋ยเพิ่มขึ้น สำหรับพระในศาสนาพุทธ วิธีการแก้ไขสภาพอากาศไม่ดีต้องอาศัยการชำระล้างจิตใจเพื่อฟื้นฟูศีลธรรมกลับคืนสู่ธรรมชาติ พวกเขาเชื่อว่าปัญหาของสภาพอากาศที่แปรปรวนสามารถแก้ไขได้ในท้องถิ่น แก้ได้ด้วยตัวเองและไม่ต้องพึ่งพาองค์กรระหว่างประเทศใดๆ อีกทั้งไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายคาร์บอนต่ำ (Vaddhanaphuti 2020) 2 คำถามก็คือ วิถีปฏิบัติที่ได้แรงบันดาลใจจากศาสนาเช่นนี้สมควรนับว่ามีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่จะเป็นวิธีการแก้ไขบรรเทาปัญหาหรือไม่?
บทความนี้จะชี้ให้เห็นภูมิทัศน์ของความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศและการจัดทำนโยบายในประเทศไทย ผู้เขียนจะสำรวจดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศ รวมทั้งการรับรู้และปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมุมมองต่างๆ ในขณะที่คนกลุ่มต่างๆ มีการอธิบายความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย แต่ดูเหมือนความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศของไทยกลับถูกลดทอนเหลือแค่การลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ระบบการจัดการภูมิอากาศเชิงเทคโนแครตในระดับชาติและนานาชาติเท่านั้น ส่วนความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศในรูปแบบอื่นๆ ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบ ผู้เขียนสรุปบทวิเคราะห์ด้วยการสำรวจดูนัยยะทางจริยธรรมและการเมืองที่เกิดจากโครงร่างแบบนี้ เพื่อชี้ให้เห็นความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศในแบบพหุนิยมและความเป็นธรรมในการจัดทำนโยบายด้านภูมิอากาศ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด บทความนี้จึงมุ่งเน้นแค่บริบทของการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นหลัก
การสร้างความรู้และนโยบายเกี่ยวกับภูมิอากาศในประเทศไทย
ประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยเริ่มต้นจากวงการวิชาการในช่วงต้นทศวรรษ 2540 เนื่องจากความวิตกต่อผลกระทบทางกายภาพและเศรษฐกิจที่มีต่อความความหลากหลายทางชีวภาพของป่าและผลิตภาพของพืชผลทางการเกษตร ประเด็นเหล่านี้ปรากฏในงานวิจัยที่นิยามว่าเป็นการศึกษาแบบ “ทำนายเพื่อปรับตัว” โดยมีจุดโฟกัสที่การปรับแต่งการคาดการณ์ภูมิอากาศที่จำเป็นต่อการทำนายสภาพอากาศให้แม่นยำ มากกว่าจะเป็นการสำรวจตรวจสอบสาเหตุทางสังคมและการเมืองอันเป็นต้นตอของความเปราะบางดังกล่าว (Chinvanno and Kersuk 2012) 3 การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมิติทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคเมือง เกษตรกรรมและชายฝั่ง (โปรดดูได้จากเชิงอรรถนี้ 4) ในปี 2554 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตีพิมพ์รายงานชื่อ “รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 1” (Thailand’s First Assessment Report on Climate Change–TARC) 5 เพื่อทบทวนสถานะของความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศในประเทศไทย รายงานของ TARC เป็นการเจริญรอยตามลักษณะและโครงสร้างรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change–IPCC) 6 ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศในสังกัด UNFCCC ซึ่งมีเป้าหมายสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศระดับโลก รายงาน TARC ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมเขียนรายงานของ IPCC “รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2” ตีพิมพ์ออกมาในปี 2559 มีข้อสรุปว่า ยังมีการศึกษาวิจัยน้อยเกินไปในด้านการตอบสนองแบบข้ามมิติของขนาด (cross-scale) และหลากหลายทิศทาง (multidirectional) ต่อแรงกดดันด้านภูมิอากาศ นิเวศ สังคมและเศรษฐกิจ (โปรดดูตัวอย่างของงานศึกษาที่เป็นข้อยกเว้น อาทิ Forsyth and Evans 2013 7 และ Marks 2019 8)
ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาอยู่ในเวทีสาธารณะและสื่อไทยประมาณปี 2550 โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการเผยแพร่รายงานของ IPCC ซึ่งมีการแปลออกเป็นหนังสือคู่มือภาษาไทยหลายเล่มและการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์หลายครั้ง รวมทั้งจากอิทธิพลของภาพยนตร์เรื่อง “An Inconvenient Truth” ของอัล กอร์ ยิ่งกว่านั้น โครงการเกี่ยวกับภูมิอากาศทั้งในระดับข้ามชาติ ระดับประเทศและข้ามมิติของขนาดก็เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง ตัวอย่างเช่น START 9 มูลนิธิฮักเมืองน่าน 10 TEI 11 ACCRN 12 GIZ 13 USAID 14 CARE 15 เป้าหมายร่วมกันขององค์กรเหล่านี้ก็คล้ายคลึงกับนโยบายภูมิอากาศระดับชาติที่จะบรรยายถึงต่อไป นั่นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์อันหลากหลาย เช่น เมือง พื้นที่ชนบทและชายฝั่ง รวมทั้งในภาคเกษตรกรรม แหล่งน้ำ พลังงานและการวางนโยบาย
ประเทศไทยตอบรับเสียงเรียกร้องของ UNFCCC ด้วยการสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กับหน่วยงานด้านการพัฒนาของเยอรมนี Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) จากความร่วมมือนี้ทำให้มีการเปิดตัวแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593 (Thailand Climate Change Master Plan 2015–2050—TCCMP) 16 อย่างเป็นทางการ ซึ่งตั้งเป้าหมายที่จะสร้างสังคมคาร์บอนต่ำโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% จากเส้นฐานคาดการณ์ “จากการดำเนินงานตามปรกติ” ในปี 2573 และพัฒนาแผนปฏิบัติการรองรับความเสี่ยงที่เกิดจากภูมิอากาศ พร้อมกับรักษาความสามารถในการแข่งขันในด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจ การผลิตในภาคเกษตรกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม นโยบายเกี่ยวกับภูมิอากาศและ TCCMP ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าตั้งเป้าหมายสูงเกินจริง ไม่ชัดเจน ละเลยบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อมและการเมืองที่ข้ามมิติของขนาด รวมทั้งมองข้ามกลุ่มคนชายขอบด้วย (Eucker 2014 17; Lebel et al. 2009 18;. Wongsa 2015 19)
แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภูมิอากาศที่กล่าวไปแล้วข้างต้น มีเป้าหมายที่จะยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิอากาศในหมู่ประชาชนไทยผ่านการสอนความแตกต่างระหว่างคำว่า “อากาศ” “ภูมิอากาศ” และ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ไม่ว่าจะเป็นภาษาท้องถิ่นของภูมิภาคใด คำศัพท์สองคำหลังจัดเป็นศัพท์เทคนิค ไม่ค่อยได้ใช้พูดกันจริงๆ ในภาษาประจำวัน มันเป็นคำที่บัญญัติขึ้นเพื่อแปลศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงเป็นการจัดวางอากาศของท้องถิ่นลงในบริบทของการเปลี่ยนแปลงระยะยาวในระบบภูมิอากาศโลก (Vaddhanaphuti 2020 20) เมื่อเปรียบเทียบกับคำบอกเล่าของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือของประเทศไทยที่กล่าวถึงไว้ในตอนต้นของบทความ สิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับภูมิอากาศทำก็คือลบบุคลิกลักษณะเชิงประสบการณ์ วัฒนธรรมและจิตวิญญาณออกจากอากาศ และเปลี่ยนให้อากาศกลายเป็นวัตถุนามธรรมที่วัดเชิงปริมาณได้
ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติต่อความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศนอกแวดวงวิทยาศาสตร์แบบไหน ในเวทีเสวนาสาธารณะที่จังหวัดน่านเมื่อปี 2557 (Vaddhanaphuti 2017 21) ตัวแทนจากชุมชนชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งอ้างว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้านของเขาสามารถช่วยนักวิทยาศาสตร์สังเกตสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ พร้อมกันนั้นก็โต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรกล่าวโทษวิถีการดำรงชีพเรียบง่ายของเขาว่าเป็นตัวการเผาป่าและสร้างมลพิษทางอากาศ คำพูดของเขาได้รับการปรบมือจากผู้ฟัง แต่ในคำให้สัมภาษณ์ของตัวแทนจากองค์กรด้านภูมิอากาศที่มีแนวทางเชิงเทคนิควิทยาศาสตร์สองแห่ง ซึ่งให้สัมภาษณ์แยกกันคนละครั้ง คนหนึ่งยินดีตอบรับหากจะมีการบูรณาการความรู้กัน ส่วนอีกคนหนึ่งเห็นว่าความรู้ท้องถิ่นไม่มีประโยชน์ต่อโครงการของพวกเขา สำหรับผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ มันง่ายกว่าที่จะสวมบทบาทเทคโนแครตนักวิชาการในการกำหนดว่าจะนิยาม เข้าใจและตอบสนองต่ออากาศและภูมิอากาศอย่างไร ขณะเดียวกันก็ลดทอนความน่าเชื่อถือของธรรมเนียมการปฏิบัติในท้องถิ่นและความเชื่อที่ไม่เป็นไปตามตรรกวิทยา
ถึงที่สุดแล้ว ความเป็นจริงอันหลากหลายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยมีการถ่ายทอดบอกเล่าแตกต่างกันไปเสมอ ขึ้นอยู่กับว่ามาจากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ ตัวแทนสื่อ ชาวบ้าน ผู้ปฏิบัติงานด้านภูมิอากาศ พระ ฯลฯ ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงแตกต่างหลากหลายอย่างยิ่ง อาทิ มันคือความเป็นจริงที่สังเกตได้และจัดการได้ มันเป็นแนวคิดที่มาจากตะวันตกและอธิบายโดยผู้เชี่ยวชาญ มันเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน มันเป็นโอกาสใหม่ในการพัฒนา มันเป็นตัวอย่างของการทำลายธรรมชาติที่เป็นผลจากความเสื่อมโทรมของศีลธรรม และมันเป็นปัญหาท้องถิ่นที่ต้องอาศัยการแก้ไขทางจิตวิญญาณ (Vaddhanaphuti 2020 22) อย่างไรก็ตาม ควรบันทึกไว้ด้วยว่าเรื่องเล่าแม่บทเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน เรื่องเล่าแม่บทหรือหลักปฏิบัติเกี่ยวกับภูมิอากาศหนึ่งๆ จะได้รับการยอมรับอย่างดีหรือถูกปิดปากให้เงียบไปย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้ปฏิบัติการ ผู้พูดกับผู้ฟัง ในภูมิทัศน์ของความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศในประเทศไทยในปัจจุบัน ดูเหมือนความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และการแทรกแซงแบบบริหารจัดการจะเป็นผู้ชนะ
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? แน่นอน การที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีสถานะเหนือกว่าไม่พึงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยไม่ตั้งคำถาม ตรงกันข้าม ที่มันเป็นเช่นนี้เป็นผลมาจากชุดการปฏิบัติงานในสถานการณ์ในหลายพื้นที่ที่แตกต่างกันไป (Mahony and Hulme 2018 23) ความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศเกิดมาจากการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติของอากาศที่ผันแปรตลอดเวลาทั่วโลก แนวทางนี้จึงตัดขาดจากศีลธรรม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ ความเบี่ยงเบนระยะยาวจาก “สภาพปรกติ” ทำให้ UNFCCC มีกรอบการมองว่ามันเป็นปัญหาสากลระดับโลก แนวทางที่ค่อนข้างลดทอนและเน้นการบริหารจัดการเช่นนี้แทบไม่เหลือที่ทางให้ความรู้และปฏิบัติการแบบท้องถิ่นที่นอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสั่งสมความสามารถในการฟื้นคืนสู่สภาพปรกติเพื่อรองรับผลกระทบต่างๆ (Hulme 2015 24) การทำงานของความร่วมมือเชิงนโยบายด้านภูมิอากาศระหว่างไทย-เยอรมันก็เช่นกัน รวมทั้งองค์กรด้านภูมิอากาศบางองค์กรที่ดึงประเทศไทยเข้าไปเป็นสมาชิกระบอบภูมิอากาศโลก พร้อมกับปฏิบัติตัวเป็นผู้เล่นสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาด้านภูมิอากาศ (Ober and Sakdapolrak 2020 25) แนวทางนี้บรรลุผลสำเร็จได้ในสองระดับ กล่าวคือ อาศัยการประชุมเชิงปฏิบัติการหลายๆ ครั้ง ทำให้มีการสอนศัพท์เทคนิคและแผนภาพซ้ำๆ และอาศัยงานด้านเอกสารต่างๆ ที่มีการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อยื่นให้ GIZ และ UNFCCC ประเมินตรวจสอบ กระบวนการจัดการพื้นที่และการสร้างความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศโลกเกิดขึ้นภายใต้การก่อตัวของระบอบเทคโนแครตที่ครอบงำความคิดทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติ ในทางกลับกัน ระบอบความรู้นี้ก็ย้อนไปปั้นแต่งกำหนดความหมายของความรู้และการตอบสนองต่ออากาศที่ผันแปรในบริบทของท้องถิ่น
ระบบการจัดการภูมิอากาศอันยุ่งเหยิง: ข้อคำนึงด้านจริยธรรมและการเมือง
Klenk et al. (2017 26) แนะนำว่า การสะท้อนทบทวนตัวเองในด้านจริยธรรมและการเมืองควรเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตความรู้ในการจัดทำนโยบายด้านภูมิอากาศ ความหมายก็คือแทนที่จะกำหนดนิยามล่วงหน้าว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไรและควรตอบสนองรับมืออย่างไรจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่คับแคบเพียงอย่างเดียว บางทีอาจมีประโยชน์มากกว่าหากความรู้ด้านภูมิอากาศในประเทศไทยจะวางรากฐานอยู่ในท้องถิ่น ปลดแอกจากตรรกะแบบตะวันตกและใช้ความรู้ที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพที่แท้จริง การบรรลุสิ่งนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยการปรับโครงสร้างการจัดการเชิงสถาบันให้สอดคล้องกับสิ่งที่อาจเคยคิดกันว่าอยู่นอกขอบเขตหรือพ้นไปจากนโยบายภูมิอากาศ
หากประชาชนกับสภาพอากาศมีความเกี่ยวร้อยกันอย่างแยกไม่ออก การทำลายชั้นบรรยากาศก็คือการสูญเสียทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกัน การละเลยความหลากหลายด้านชาติพันธุ์เท่ากับละเลยความรู้ที่ผู้คนใช้เพื่อมีชีวิตอยู่ร่วมและจัดการธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงสภาพอากาศด้วย พหุนิยมทางความรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขช่องว่างนี้ ยกตัวอย่างเช่น การสังเกตสภาพอากาศของชนพื้นเมืองน่าจะช่วยเติมเต็มความรู้ในสถานที่ที่สถานีตรวจวัดขาดหายไป (Lebel 2013 27) หากมองในแง่ดียิ่งกว่านั้น ความรู้ด้านภูมิอากาศของคนไทยทั่วไปอาจช่วยส่งสัญญาณให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในกล่องดำ นำไปสู้การก่อเกิดความรู้ที่ผลิตร่วมกันซึ่งตอบโจทย์ให้ลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น (Lane et al. 2011 28) การปรับตำแหน่งของคนธรรมดากับผู้เชี่ยวชาญเสียใหม่ในกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมจะเป็นหลักประกันให้มีการรับฟังเสียงของคนในและคนชายขอบ อีกทั้งความรู้เกี่ยวกับภูมิอากาศบางรูปแบบไม่ถูกละเลยหรือตีความผิด หน่วยงานนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ ( Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services – IPBES 29) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติและเป็นองค์กรที่เปรียบเสมือนน้องของ IPCC เริ่มดำเนินการตามแนวทางนี้แล้วและพยายามให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในขอบเขตที่กว้างกว่าเดิม อันกอปรด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์และตัวแทนชาวพื้นเมืองที่ได้รับเชิญให้มาร่วมสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ (Beck et al. 2014 30) บางทีการถือกำเนิดใหม่ของการวิจัยไทบ้านที่มีจุดมุ่งเน้นด้านสภาพอากาศ ภูมิอากาศและการดำรงชีพอาจดูน่าเชื่อถือมากขึ้น งานวิจัยของชาวบ้านแบบนี้ ซึ่งเคยมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น อาจช่วยเปิดพื้นที่ให้ชาวเมือง เกษตรกรหรือพระนักนิเวศ 31 ได้บอกเล่าถึงวิถีความรู้และการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมสิ่งแวดล้อมที่คาดทำนายไม่ได้ในแบบของตนเอง เพื่อให้แนวทางนี้เกิดขึ้น จำต้องอาศัยการจัดการเชิงสถาบันที่มีการสะท้อนทบทวนตัวเองให้มากกว่านี้ รวมทั้งต้องทำให้รูปแบบความรู้ต่างๆ และผู้กระทำการที่ผลิตความรู้เหล่านั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นคู่สนทนาทางปัญญาที่ชอบธรรมและเท่าเทียมกันด้วย
ระบบการจัดการชั้นบรรยากาศรูปแบบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกลายเป็นโอกาสที่รัฐเทคโนแครตและรัฐบาลที่ถือหางข้างวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยพยายามเข้ามาควบคุมและแปรทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้า โดยมีระบบราชการเป็นศูนย์กลางและมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Forsyth and Walker 2008 32) การขยายอำนาจของรัฐบาลไทยจากพื้นที่ราบต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูงและไปจนถึงท้องฟ้าคือการพยายามเปลี่ยนทั้งชาวบ้านคนธรรมดาสามัญและอากาศในชีวิตประจำวันของพวกเขาให้กลายเป็นวัตถุที่บริหารจัดการได้ อีกทั้งยังผลักไสพวกเขาไปอยู่ชายขอบของการผลิตความรู้ด้านภูมิอากาศ ทำให้พวกเขามีปากเสียงน้อยมากในการวางนโยบาย ชั้นบรรยากาศจึงกลายเป็นพื้นที่ของการช่วงชิง ครอบงำและเบียดขับทางการเมือง
ในกรณีนี้ การตรวจสอบและทบทวน TCCMP ที่มีลักษณะแยกส่วนและมีเป้าหมายเฉพาะกิจที่คับแคบ (Wongsa 2015 33) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเรามองว่า TCCMP เป็นเสมือนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่ง จุดมุ่งเน้นของ TCCMP ก็ต้องขยายให้ครอบคลุมมากกว่าประเด็นด้านภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว แทนที่จะลดทอนทุกกิจกรรมในทุกภาคส่วนให้เหลือแค่เป้าหมายการปล่อยก๊าซระดับประเทศ การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากมุมมองรากหญ้าขึ้นมาหมายถึงการเข้าไปคลี่คลายประเด็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ แต่เป็นเรื่องที่พัวพันกับอำนาจอย่างยิ่ง อาทิ การพัฒนาที่เหลื่อมล้ำและการขูดรีดของระบบทุนนิยม ความไม่เท่าเทียมและการถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบ ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง กรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพศภาวะและชาติพันธุ์ ฯลฯ (Forsyth and Evans 2013 34) แนวทางนี้จะช่วยเพิ่มอำนาจให้กลุ่มชาวบ้านท้องถิ่นในการรับมือกับปัญหาด้านสังคมสิ่งแวดล้อมจากมุมมองของพวกเขาเอง ซึ่งอาจมีคุณูปการโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อการบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศและมาตรการปรับตัวต่างๆ การทำความเข้าใจมิติทางจริยธรรม วัฒนธรรม จิตวิญญาณและอารมณ์ ซึ่งเป็นความเปราะบางของปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม ยังขาดหายไปในงานวิจัยและนโยบายปรับตัวด้านภูมิอากาศของไทย เพื่อรับมือกับปัญหาซับซ้อนที่เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับแนวทางนี้มากขึ้น แทนที่จะใช้แต่สูตรสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาของชั้นบรรยากาศแบบปัจจุบันทันด่วน มิฉะนั้นแล้ว ก็อาจเสี่ยงต่อการผลิตซ้ำสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ทั้งด้านสังคม สถาบันและการเมืองเหมือนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังตอกย้ำความเปราะบางข้ามมิติของขนาดด้วย (Lebel et al. 2011 35; Scoville et al. 2020 36)
ชยา วรรธนะภูติ
อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Notes:
- https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/07/CCMP_english.pdf ↩
- https://www.taylorfrancis.com/books/e/9780429276453/chapters/10.4324/9780429276453-8 ↩
- https://www.weadapt.org/sites/weadapt.org/files/legacy-new/knowledge-base/files/1145/51219c4e349ddthailand-web.pdf ↩
- http://www.thailandadaptation.net/ ↩
- https://www.trf.or.th/div3download/default.html ↩
- https://www.ipcc.ch/ ↩
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0305750X12002896 ↩
- https://assets.ctfassets.net/4wrp2um278k7/2YNi3VyBXZjxDC04a3HaJM/cd763836b1292548a4a0857539b3ebeb/9789048544912_ToC_Intro.pdf ↩
- http://www.start.chula.ac.th/start/index.php ↩
- https://www.hugmuangnan.org/ ↩
- http://www.tei.or.th/en/area_project.php?area_id=1 ↩
- https://www.acccrn.net/country/thailand ↩
- https://www.thai-german-cooperation.info/en_US/topic/topic-climate-change/ ↩
- https://www.iucn.org/asia/thailand/countries/thailand/usaid-mekong-adaptation-and-resilience-climate-change ↩
- https://careclimatechange.org/where-we-work/thailand/ ↩
- https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/07/CCMP_english.pdfp ↩
- https://brill.com/view/book/edcoll/9789004273221/B9789004273221_012.xml ↩
- https://www.taylorfrancis.com/books/e/9781849770743/chapters/10.4324/9781849770743-18 ↩
- https://brill.com/view/book/edcoll/9789004274204/B9789004274204-s014.xml ↩
- https://www.taylorfrancis.com/books/e/9780429276453/chapters/10.4324/9780429276453-8 ↩
- https://kclpure.kcl.ac.uk/portal/en/theses/experiencing-and-knowing-in-the-fields(bde5ab82-6082-4a32-870a-b1b2b3095c7c).html ↩
- https://www.taylorfrancis.com/books/e/9780429276453/chapters/10.4324/9780429276453-8 ↩
- https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/0309132516681485 ↩
- https://www.journals.uchicago.edu/doi/10.1086/661274 ↩
- https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/sjtg.12309 ↩
- https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/wcc.475 ↩
- https://link.springer.com/article/10.1007/s11027-012-9407-1 ↩
- https://rgs-ibg.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1475-5661.2010.00410.x ↩
- https://ipbes.net/ ↩
- https://www.ingentaconnect.com/content/oekom/gaia/2014/00000023/00000002/art00004;jsessionid=g5jhf7dssqqf4.x-ic-live-01 ↩
- https://news.mongabay.com/2018/08/ecology-monks-in-thailand/ ↩
- https://silkwormbooks.com/products/forest-guardians-forest-destroyers ↩
- https://brill.com/view/book/edcoll/9789004274204/B9789004274204-s014.xml ↩
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0305750X12002896 ↩
- https://link.springer.com/article/10.1007/s10113-010-0118-4 ↩
- https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0305750X19303316 ↩